การเมือง เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของอำนาจ การแสวงหาอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ และการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม การเมืองเป็นกระบวนการของอำนาจ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือความคิดเห็น และพฤติกรรมของคนอื่น ส่งผลให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ระบอบการเมืองที่รู้จักกันทั่วไป คือระบอบการเมืองแบบเผด็จการ และระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย
ระบอบเผด็จการได้อำนาจมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร ส่วนระบอบประชาธิปไตยได้อำนาจมาโดยคนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนดผู้ปกครองและนโยบายของรัฐบาล โดยผ่านการเลือกตั้ง
นักการเมืองทั้งระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยของไทย ล้วนแต่มีข้อครหาว่ามีการคอร์รัปชั่น เพียงแต่นักการเมืองที่มาจากการทำรัฐประหาร มีการคอร์รัปชั่นไม่กว้างขวางเท่านัการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พอสรุปได้ดังนี้
ความมีอำนาจ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา นักการเมืองมีอำนามากมาย ไม่มีขอบเขต มีอำนาจเหนือข้าราชการประจำ พ่อค้าและประชาชน เป็นเหตุให้นักการเมืองใช้อำนาจในทางทุจริต เพื่อประโยชน์ตนเองและพรรคพวก จึงพบเสมอว่านักการเมืองไทย นับตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนถึงนายกรัฐมนตรีมีการทุจริตคอร์รัปชั่น
ความไม่แน่นอนของการเมือง ประชาธิปไตยไทยได้มาจากการปฏิวัติของคณะราษฎร์ หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติรัฐประหารเรื่อยมา รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน จะถูกรัฐประหาร ส่วนพวกที่ทำรัฐประหารก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกรัฐประหารซ้ำอีกเมื่อไร จึงใช้อิทธิพลต่างๆนานา เพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นัการเมืองเป็นนักฉวยโอกาส หาประโยชน์ใส่ตน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น จนสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจ ทำให้การคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น
พรรคการเมือง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวแล้ว พรรคการเมืองเกิดง่ายตายง่าย ที่ยืนยาวอยู่ได้นานเห็นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นล้มลุกคลุกคลาน เมื่อมีการยุบพรรคก็ตั้งขึ้นใหม่ การรวมเป็นพรรคการเมือง แทนที่จะรวมกันด้วยอุดมการทางการเมือง กลับรวมกันด้วยบารมีของหัวหน้าพรรค หากหัวหน้าพรรคไม่มีบารมีก็รวมกันโดยใช้เงิน บางครั้งถึงกับต้องจ่ายเป็นรายเดือนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาในสังกัด ก็มี จึงทำให้นักการเมืองภักดีกับใครก็ได้ที่มีเงิน ส่วนผู้ใหญ่ในพรรค เมื่อมีอำนาจขึ้นมา ก็กอบโกยทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อดอยากปากแห้ง ตลอดจนรักษาเสียงสนับสนุนของตนไว้อย่างเหนียวแน่นและยาวนาน พรรคการเมืองในปัจจุบันจึง อาจจำแนกตามองค์กรทางธุรกิจได้เป็น พรรคแบบบริษัทจำกัด เป็นพรรคที่ร่วมทุนกันหลายคน อำนาจมากน้อยขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ลงไป พรรคแบบสหกรณ์ เป็นพรรคที่ไม่มีนายทุนเฉพาะ อำนาจอยู่ที่กรรมการบริหาร และ พรรคส่วนตัว เจ้าของพรรคมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนพรรคแบบไหนจะคอร์รัปชั่นมากกว่าก้น ก็คงหาคำตอบได้เอง
การทุจริตในการเลือกตั้ง ต้องยอมรับความจริงว่าการเลือกตั้งในบ้านเรามีการทุจริต โดยเฉพาะการซื้อเสียง ใช้เงินในการเลือกตั้งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อได้รับการเลือกตั้งจึงต้องหา ทางถอนทุนคืน และเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประกอบกับในการเลือกตั้งต้องอาศัย นักธุรกิจ พ่อค้า หรือบุคคลผู้มีอิทธิพล เมื่อได้อำนาจรัฐ จึงต้องปล่อยหรือเอื้อบุคคลที่สนับสนุน กระทำการทุจริตเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ
นักการเมืองไทยกับการคอร์รัปชั่นจึงกลายเป็นของคู่กัน และมีการกระทำที่ซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น
-----------------------------------------
สาระคิด
กินทวนน้ำ หรือกินตามน้ำ
ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือ พรรคพวกตัวเอง ก็คอร์รัปชั่น
อานันท์ ปันยารชุน
--------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น