วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

กฎหมายกับการคอร์รัปชั่น

กฎหมายคอร์รัปชั่นในสังคมไทย มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง  ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวง บทพระไอยการอาญาหลวง ซึ่งเป็นบทลงโทษข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ  เป็นกฎหมายเื่พื่อการควบคุมความประพฤติของข้าราชการสมัยในนั้น โดยเฉพาะข้าราชการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆในหัวเมือง บทพระไอยการอาญาหลวง มีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ ตัดมือตัดเท้า เอามะพร้าวห้าวยัดปาก เป็นต้น

หลังจากนั้นกฎหมายเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนทางสังคม
 
แต่การคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน กลับมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น และไม่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่คอร์รัปชั่น นักการเมืองผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้แทนปวงชน เมื่อมีอำนาจก็คอร์รัปชั่นไม่น้อยกว่ากัน อาจแตกต่างในเรื่องวิธีการและจำนวนทรัพย์สินที่รัฐต้องสูญเสียไป

กฎหมายจะธำรงความยุติธรรม เที่ยงตรง มีความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่เพียงใด  ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้  หากกฎหมายถูกพลิกแพลงบิดพริ้ว ด้วยอคติ ด้วยเจตนาทุจริต กฎหมายก็จะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง  กลับกลายเป็นพิษเป็นภัยต่อทรัพย์สินของรัฐได้

สำหรับสาเหตุทางกฎหมายในยุคปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น อาจแบ่งได้ ดังนี้

กฎหมายให้ประโยชน์แก่จำเลยมากไป  ตามหลักกฎหมายทางอาญา การกล่าวโทษผู้ใดทุจริตคอร์รัปชั่น โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์อย่างชัดแจ้ง  เพราะหลักการสำคัญในทางคดีอาญา   มีอยู่ว่า  กรณีใดก็ตามที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ หรือคลุมเครือ ให้ยกประโยชน์แก่จำเลย หรือ ปล่อยคนผิดสักสิบคนดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว และการพิสูจน์ในเรื่องคอร์รัปชั่นทำได้ยากมาก เพราะไม่มีใบเสร็จ จึงไม่มีใครอยากเสี่ยงเป็นโจทก์  เพราะดีไม่ดีอาจถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย

กฎหมายมีบทลงโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ เกิดความสมดุลย์ในตัวบทกฎหมายเอง คือหากมีการให้สินบน ผู้ให้สินบนก็ผิดเช่นเดียวกับผู้รับสินบน ผู้ให้สินบนจึงจำเป็นต้องปกปิด ทำให้หลักฐานซึ่งหายากอยู่แล้ว
กลับยากยิ่งขึ้น

กฎเกณฑ์บางอย่างเป็นเครื่องอำนวยให้เกิดคอร์รัปชั่น การคอร์รัปชั่นบางอย่างหาผู้เสียหายไม่ได้ เช่นกรณีของผู้รับเหมาก่อสร้าง กับผู้อนุญาตสมคบกันคอร์รัปชั่นเงินค่าก่อสร้าง  เจ้าของเงินคือรัฐจะร้องทุกข์เองไม่ได้ คดีทุจริตจึงไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีผู้เสียหาย

การตัดสินคดีคอร์รัปชั่นมีความยุ่งยากซับซ้อน  ทำให้เป็นผลดีแก่ผู้คอร์รัปชั่น ในการพิจารณาตัดสินทั้งในทางคดีอาญาและทางวินัย ทั้งสองกรณีมักต้องการประจักษ์พยาน  จะต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน คดีคอร์รัปชั่นจึงฟ้องร้องได้ยาก เพราะแทบจะไม่มีการคอร์รัปชั่นใดที่มีผู้รู้เห็นถึงสองคน ยิ่งกว่านั้นในการพิจารณาของศาล ยังนิยมที่จะสืบหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด  เพื่อความยุติธรรม จึงเป็นการยากที่พยานบุคคลจะจำเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียด

จะเห็นว่าการจะลงโทษทางวินัย หรือทางอาญากับข้าราชการหรือนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นจึงแพร่หลาย กระจายอย่างกว้างขวาง เป็นเสมือนโรคร้ายทำลายบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะนัการเมือง  ขนาดศาลตัดสินว่าทุจริต ยังกล่าวหาว่าเป็นศาลมิ๊กกี้เม้าส์ ไม่มีความยุติธรรม หรือพยามอธิบายว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่ทำในสิ่งที่กฎมายห้าม  เฉไฉไปจนได้
                                                 -------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หมายถึง สถานการณ์ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งสาธารณะ มีผลประโยชน์ส่วนตัว อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อิทธิพลทางการเมือง
                                                      --------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น