หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ระยะแรกๆ อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของคณะราษฎร์ สับเปลียนกันปกครองบ้านเมือง ต่อมา ก็มีทหารที่ได้อำนาจมาด้วยการทำรัฐประหาร สลับกับพลเรือนซึ่งเป็นอดีตข้าราชการบ้าง ขึ้นมามีอำนาจ แต่อาจกล่าวได้ว่าอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่อยู่ในมือทหาร จนถึงปัจจุบันอำนาจทางการเมืองได้ตกอยู่ในมือของนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่
ถามว่านักการเมืองที่เป็นทหาร มีการคอรัปชั่นหรือไม่ คำตอบคือว่ามี แต่มีขนาดของการคอร์รัปชั่นไม่เท่า ในยุคที่นักธุรกิจมีอำนาจ คอร์รัปชั่นของรัฐบาลทหารส่วนใหญ่ เป็นการกินหัวคิว จากสัมปทานและงบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลเป็นหลัก เป็นการแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทหารกับนักธุรกิจ ส่วนในยุคที่นักธุกิจมีอำนาจทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่าง กว้างขวาง ซับซ้อน และมีหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นระบบและและกินตามน้ำเล็กๆน้อยๆ ในลักษณะที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ โดยเริ่มตั้งแต่ระดมทุนตั้งพรรคการเมือง ซื้อเสียงเลือกตั้ง พยายามคุมอำนาจนิติบัญญัติ องค์การอิสระ และระบบราชการ แบบเบ็ดเสร็จ
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้สรุปว่าการคอร์รัปชั่นในยุคปัจจุบัน ที่นักธุรกิจมีอำนาจทางการเมือง มีลักษณะที่สำคัญๆ 15 ประการ กล่าวคือ
1. การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยสร้างความขาดแคลนเทียม เช่นการขาดแคลนนำ้ตาล
2. เคลพโตเครซี (Kleptocracy) ซึงเป็นระบบการปกครองที่ผู้ปกครองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มุ่งแสวงหาอำนาจและเข้าครอบครองกลไกรัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัว เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
3. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นสถานการณ์ที่นักการเมืองผู้มีอำนาจหน้าที่ มีผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อิทธิพลทางการเมือง
4. การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ โดยการปั่นราคาหุ้นของตัวเอง
5. ปกปิดการบริหารที่ไม่ถูกต้อง การปกปิดข้อมูล และให้การเท็จ เช่นการทุจริตลำไยและกล้ายาง
6. การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ อย่างมีอคติลำเอียง เช่น กรณี CTX และการตรวจสอบคุณภาพข้าว
7. การใช้อิทธิพลทางการค้า จากการค้าต่างตอบแทน การแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศคู่ค้า
8. การใช้ทรัพยากรของรัฐ ไปในทางมิชอบ ตลอดจน การใช้กองทุนของรัฐเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น การใช้ธนาคารของรัฐในโครงการประชานิยม
9. ไม่กระทำการด้วยตนเอง แต่ใช้พรรคพวกทำการแทน เช่น การจัดฮั้วประมูล
10. การให้และรับสินบน การขู่เข็ญบังคับตลอดจนให้สิ่งล่อใจ เช่น สั่งการให้ข้าราชการทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสัญญาว่าจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นการตอบแทน
11. การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น เช็คของขวัญและสินบนมูลค่าสูง
12. ผู้บริหารประเทศทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของประเทศ โดยการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อการสนับสนุนของประชาชน เป็นการซื้อความนิยมจากประชาชน
13.ใช้อำนาจตำรวจ ทหาร และข้าราชการ ในทางที่ผิด เช่น ขุ่มขู่คุกคามและทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัว ในกรณีการชุมนุมประท้วงต่างๆ
14. ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง และทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ
15. บริจาคหรือช่วยเหลือการรณรงค์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การบริจาคแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้มีอิทธิพลต่อการออกกำหมายหรือการกำหนดนโยบาย
ขอย้ำว่าการคอร์รัปชั่นนั้น ไม่จำเป็นจะต้องไ้ด้รับเป็นเงินอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการรับผลตอบแทนอย่างอื่นด้วย
ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในยุคที่นักธุกิจมีอำนาจทางการเมือง เป็นการคอร์รัปชั่น ที่สลับซับซ้อน ยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้ และมีลักษณะที่บูรณาการทั้งวิธีการและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
---------------------------------------
สาระคิด
ตราบใดที่ประชาชนยังไม่รู้เท่าทันนักการเมือง การด่านักการเมืองที่คอร์รัปชั่นก็ไม่เกิดประโยชน์
แต่อย่างใด เพรามีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาปกป้อง
-------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น