การจะบอกว่าประเทศหรือสังคมพัฒนาเพียงใดหรือไม่ นอกจากจะวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายการพัฒนาแล้ว ยังจะดูได้จากความยากจน การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน ว่าได้ลดลงหรือไม่ และลดลงมากน้อยเพียงใด ตามทัศนะของเชียร์ส(Dudley Seers)
ส่วนคำถามที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่คำตอบที่จะบอกว่าประเทศพัฒนาหรือไม่อย่างไร เป็นคำถามตามทัศนะของ โทเดโร (Michael P. Todaro) ได้แก่
1. ระดับการครองชีพ ความยากจนสัมบูรณ์ ความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ ระดับการมีงานทำ ธรรมชาติและคุณภาพของการศึกษา สุขภาพ และการบริการทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่
2. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้ส่งเสริมให้บุคคลนับถือตนเอง นับถือกลุ่มบุคคลในประเทศของตนเองและของประเทศอื่นหรือไม่
3. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ขยายทางเลือกของประชาชน ประชาชนมีอิสระจากการพึ่งพิงสังคมภายนอกอื่นๆ ตลอดจน ความรู้สึกเป็นทาสของบุคคลและสถาบันอื่นๆหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนการพึ่งพิงจากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น เปลี่ยนจากการพึ่งพิงทางวัฒนธรรม เป็นการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ
คำถามทั้ง 3 ข้อนี้ หากได้คำตอบว่า"ใช่"ทั้งหมด ก็เชื่อได้ว่าเป็นคำตอบที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประเทศใดที่มีลักษณะดังกล่าวครบ จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยไม่ต้องสงสัย
แต่ถ้ามีเพียงคำถามข้อแรกเท่านั้นที่ได้รับคำตอบในทางบวก ส่วนอีก 2 ข้อที่เหลือได้รับคำตอบในทางลบ กล่าวได้ว่า ประเทศนั้นเป็นประเทศพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจมากกว่า แต่ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาตามความหมายพื้นฐานการพัฒนา จึงเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ร่ำรวย แทนที่จะเรียกว่าประเทศพัฒนา
ส่วนการจะตัดสินว่าเป็นประเทศพัฒนาหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์จากสังคม การเมือง และวัฒนธรรมประกอบด้วย
และหากสังคมใดที่คำถามข้อ 2 และข้อ 3 ได้รับคำตอบในทางลบ เช่น ประชาชนมีความนับถือตนเองและการยอมรับศักดิ์ศรีของตนน้อย ตลอดจน เสรีภาพในการที่จะเลือกถูกจำกัด แม้ว่าประเทศนั้นจะมีเครื่องยังชีพเพียงพอ ระดับการครองชีพได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ตาม ก็ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้
นั่นคือ การจะบอกว่าประเทศใดพัฒนาแล้วหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่ดูเพียงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูปัจจัยทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในแง่ของการนับถือตนเอง การยอมรับศักดิ์ศรีของตน ความอิสระจากการพึ่งพิงสังคมภายนอก ตลอดจน เสรีภาพในการที่จะเลือกของประชาชนถูกจำกัดหรือไม่ประกอบด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
ความยากจนสัมบูรณ์ หรือความยากจนข้นแค้น หมายถึง บุคคลที่ขาดความต้องการที่จำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ น้ำจืดและอาหารที่สะอาด โภชนาการ การสาธาณสุข การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
การนับถือตนเอง หมายถึง บุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง มีความซื่อสัตย์ มีความภูมิใจในความสำเร็จของตน
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น