วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน  เป็นศาสนาแห่งการฝึกอบรมตน

การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา  เป็นการนำคำสอนทางพุทธศานา  ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาตน  ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้

คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการพัฒามีอยู่ 3 คำ ได้แก่ สิกขา ภาวนา และทมะ

          สิกขา หมายถึง การฝึกอบรม การศึกษา การรู้จักเลือกมาใช้ประโยชน์ เอามาฝึกฝนปรับปรุงตน แบ่งออกเป็น 3 ประการ เรียกว่า ไตรสิกขา  ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา  เป็นการฝึกฝนให้มีศีลยิ่งๆขึ้นไป การฝึกฝนเรื่องจิตให้ยิ่งๆขึ้นไป และการฝึกฝนให้มีปัญญายิ่งๆขึ้นไป

          ภาวนา หมายถึง การทำให้เกิด ทำให้มีขึ้น หรือการทำให้เจริญขึ้น ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า พัฒนา ได้แก่
                 กายภาวนา หรือ การพัฒนากาย  เป็นการพัฒนาใน 2 ลักษณะ คือฝึกฝนในแง่ของการใช้งาน พัฒนาให้มีความเฉียบคม มีความว่องไว มีความคล่องและมีความชัดเจน กับฝึกฝนให้เลือกรับเอาสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เข้ามาให้ชีวิต ป้องกันไม่ให้รับสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นโทษเข้ามา
                 ศีลภาวนา หรือ การพัฒนาศีล เป็นการพัฒนาให้บุคคลมีระเบียบในการดำเนินชีวิต  สามารถ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี
                 จิตภาวนา หรือ การพัฒนาจิต อาจแบ่งได้เป็น 3 ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพของจิต เป็นการพัฒนาให้จิตมีคุณธรรมต่างๆ การพัฒนาสมรรถภาพจิต  เป็นการพัฒนาความสามารถของจิตให้เข้มแข็งพอที่จะใช้งานได้ดี เป็นจิตที่มีสมาธิ มีสติ และมีความเพียรพยายาม กับ การพัฒนาสุขภาพจิต เป็นการพัฒนาให้จิตมีความสุข เบิกบาน มีความอิ่มใจ
                 ปัญญาภาวนา หรือการพัฒนาปัญญา คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความคิดเหตุผล การหยั่งรู้ความจริง จนปลอดจากความทุกข์  ปราศจากปัญหา

           ทมะ หมายถึง  การฝึก หรือการฝึกอบรมตนเอง ให้เจริญก้าวหน้าในคุณความดีจนถึงที่สุด ซึ่งการฝึกตนเองสามารถทำได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ  ขั้นตอนที่ 1.การบังคับควบคุมใจไว้ไม่ให้ยอมตามกิเลส ที่ดึงไปสู่ความชั่วร้าย  ตลอดจนรูู้จักระงับความเคยชินที่ชั่วร้ายได้ ขั้นตอนที่ 2 การปรับปรุงตนเองให้มีคุณความดีให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป  มีความเจริญงอกงาม

คำว่า สิกขา ภาวนา และทมะ สามารถใช้แทนกันได้ เพราะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาตน

                          ------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

      จิตเป็นเบื้องต้นของกรรมทั้งปวง เป็นเบื้องต้นของ ความดี ความชั่ว ความสุข และความทุกข์

                                                                    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
       


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น