ในหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ขยายเป็นวิทยาเขตและตั้งขึ้นใหม่ ประกอบกับมีการยกฐานะสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ทำให้ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐรวมทั้งวิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เฉลี่ยโดยประมาณจังหวัดละ 2 มหาวิทยาลัย และถ้านับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน จะพบว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมากมายและทั่วถึง ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการทางการศึกษาในระดับนี้
หากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ ทำภาระกิจโดยเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าพิจารณาถึงสาเหตุว่าทำไมจึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นจะตอบได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ก็เพื่อขยายโอกาสให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเชื่อว่าการศึกษายิ่งมากยิ่งดี เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีคุณภาพ
ประการที่สอง ก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะการที่นักการเมืองคนหนึ่ง สามารถวิ่งเต้นให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขตขึ้นในจังหวัดของตนได้ แสดงถึงความสามารถอย่างหนึ่งของผู้แทนราษฎร เป็นเครดิตทางการเมือง เป็นศักดิ์ศรีของจังหวัด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มหาวิทยาลัยส่วนกลาง ไปตั้งวิทยาเขตในจังหวัดไกลๆ
เมื่ออัตราการเพิ่มของมหาวิทยาลัย เพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของผู้เรียน การแข่งขันย่อมจะสูงขึ้นเป็นธรรมดา จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง จะทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการศึกษาไทย ตลอดจนเสนอโครงการต่างๆเพื่อดึงดูดนักศึกษามากขึ้น
ความสำเร็จของผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนนักศึกษา นับตั้งการแข่งขันเพื่อรับนักศึกษาภาคปกติ จนถึงการรับนักศึกษาภาคพิเศษหรือภาคนอกเวลา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้พิเศษที่สำคัญของมหาวิทยาลัย
ที่น่าห่วงในสิ่งที่มหาวิยาลัยกำลังทำอยู่ คือห่วงว่าคุณภาพของบัณฑิตจะลดลง เพราะมีการดำเนินการแทบจะทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเรียนมากๆ ถ้าพูดภาษาการตลาด ก็จะได้ว่ามหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมการขายตลอดเวลา เพียงแต่ว่าในทางธุรกิจใช้วิธีลด แลก แจก แถม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใช้วิธี ลด หย่อน ผ่อนผัน
โดยเริ่มตั้งแต่กาเปิดสาขาวิชายอดนิยม โดยมากเป็นสาขาทางสังคมศาสตร์และการบริหาร ทั้งการบริหารธุรกิจและการบริหารรัฐกิจ ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบจะไม่ค่อยมี ทั้งๆที่ไทยค่อนข้างจะขาดแคลน
การเรียนการสอนก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดในเรื่องคุณภาพ เข้าลักษณะจ่ายครบจบแน่ ในระดับปริญญาโทนักศึกษาไม่ค่อยจะเลือกเรียนในสาขาวิชาที่กำหนดให้ต้องทำวิทยานิพนธ์ ทั้งที่การวิจัยเป็นกระบวนวิธีที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็ตาม หากจำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น การทำวิทยานิพนธ์ 1 ชื่อเรื่อง บางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ช่วยกันทำ 2-3 คนหรือช่วยกันถึง 5 คน ก็มี
มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีการให้สัญญาว่าจะให้จบภายในกี่ภาคเรียน ซึ่งยังไม่นับกลยุทธ์อื่นๆ ที่มีเจตนาจูงใจนักศึกษาให้มาเรียนอีกมากมาย
เงื่อนไขเหล่านี้ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความด้อยคุณภาพของบัณฑิต จนลืมไปว่าการจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรสนใจเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น แต่หากปล่อยปละละเลยอย่างที่เป็นอยู่ โดยอ้างความอิสระทางวิชาการแบบผิดๆ ก็ไม่แน่ใจว่าผู้จบปริญญาเอกในอนาคต จะได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาเอก เพิ่มมาอีก 1 ใบ หรือได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาตรีเป็น 3 ใบ
ปริญญาบัตรจะกลายเป็นเครื่องประดับบ้าน มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือใช้ทำมาหากิน เมื่อถึงจุดนั้น มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นมหาหลอก หลอกผู้เรียนและสังคมด้วยการเป็นแหล่งผลิดปริญญาบัตรที่ไม่มีศักดิ์และศรีตามใบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยออกให้
----------------------------------------------------
สาระคิด
ดวงอาทิตย์ทำให้ทุกสิ่งกระจ่างชัด แต่เรายังต้องทำความเข้าใจในส่วนที่มืดซึ่งยังคงดำรงอยู่
ขงเบ้ง
-------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น