การยกย่องผู้มีความรู้ เป็นลักษณะที่มีอยู่ประจำในคนไทย เป็นลักษณะที่มีมานาน แต่จะนานเท่าไรนั้นยากที่จะบอกได้
ถ้าเราอ่านพงศาวดารหรือประวัติชาติไทย หรือแม้แต่หนังสือนิทานต่างๆ จะพบว่าในสมัยก่อน จะมีนักปราชญ์ราชปุโรหิตประจำราชสำนักคอยถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน คำปรึกษามีทั้งที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ราชประเพณี จนถึงข้อราชการงานเมือง และปรากฎว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้น เป็นที่ยอมรับนับถือของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย
ปัจจุบันผู้มีความรู้ ยังคงได้รับการยกย่องนับถืออยู่ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในชนบทครูเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือกว่าคนอื่นๆในละแวกนั้น มีปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆก็มักจะมาหาครูเพื่อขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่าครูเป็นผู้มีความรู้
แต่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมาก มีสาขาวิชาต่างๆมากมายและแตกต่างกันไป จำนวนคนมีความรู้จึงมีมากกว่าแต่ก่อน จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปพบปะสนทนาสอบถามหรือทดสอบว่าใครมีความรู้มากกว่าใคร มีความรู้มากน้อยเพียงใด คนทั่วไปจึงทึกทักเอาว่าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร เป็นเครื่องแสดงว่าใครมีความรู้มากน้อยเพียงใด และมีความรู้ความชำนาญในสาขาใด
เลยสรุปเอาว่าใครมีประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรยาวๆมากๆหรือสูงกว่าคนอื่นๆ ก็ถือว่ามีความรู้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรนั้น เขียนด้วยภาษาต่างประเทศที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถเข้าใจ ก็ยิ่งแสดงว่ามีความรู้มากเป็นทวีคูณ
ความเข้าใจเช่นนี้ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบางครั้งประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงความยาวนาน ที่ใช้เวลาในการอยู่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น หาได้แสดงว่า มีความรู้ความสามารถตามประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรแต่อย่างใด จนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกบางคน ถึงกับต้องประกาศว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริงๆ เพราะกลัวสังคมจะไม่เชื่อ
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้คนไทย กำลังนิยมยกย่องประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร แทนที่จะยกย่องผู้มีความรู้อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้คืออะไร ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้หมายถึงการยอมรับ การให้เกียรติ ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ แสดงออกด้วยการยอมรับ การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้มีความรู้ด้วยความเต็มใจ มีศรัทธา
ผู้มีความรู้ในสังคมไทยหลายคนที่มีอิทธิพลต่อการคิดการกระทำของคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันแม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
ในปัจจุบันก็มีบุคคลจำนวหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าเป็นราษฎรอาวุโส ออกมาแสดงความเห็นเชิงชี้นำสังคมคมบ่อยๆ แต่บางคนก็ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควรเพราะมีอคติในการชี้นำสังคม
สำหรับคนในชนบทนอกจากจะยอมรับครูว่าเป็นผู้มีความรู้แล้ว ยังจะยอมรับและเชื่อข่าวสารและความคิดเห็นจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เพราะคิดว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ เป็นผู้มีความรู้
ในสมัยนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการแย่งกันให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ตนและพรรคพวก การยกย่องผู้มีความรู้หรือเชื่อโดยขาดเหตุผล ขาดการไตร่ตรองพิจารณา อาจจะำไม่เกิดผลดีแก่ตนเองและบ้านเมืองได้
-------------------------------------
สาระคิด
ไม่มีใครเลี้ยงอาหารใครเปล่าๆ โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
สามก๊ก
---------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น