ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ เป็นการยอมรับและศรัทธาผู้มีความรู้ ก่อให้เกิดผลดี ที่อาจจำแนกได้เป็น 2 ประการ
ประการที่ 1 ก่อให้เกิดผลดีกับตนเอง ในด้านต่างๆ กล่าวคือ
ด้านเศรษฐกิจส่วนบุคคล สำหรับผู้มีความรู้เอง สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่ ทำมาหากิน เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนคนที่มีความรู้น้อย อ่อนด้อยในด้านความรู้ ก็จะยอมรับคำแนะนำไปถือปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของแต่ละคนเช่นกัน มีผลทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น
ด้านสังคม ผู้ที่มีความรู้จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นในสังคม ส่วนผู้ที่มีความรู้น้อย ก็จะเชื่อถือผู้มีความรู้มาก ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกัน
ด้านวิทยาการ เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้ ได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลที่มีความรู้ เกิดแรงจูงใจศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้มีความรู้ไว้ ในขณะเดียวกัน ผู้ืั้ที่มีความรู้น้อย จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้เป็นที่ยกย่องนับถือของคนอื่นๆบ้าง
ประการที่ 2 ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ ประเทศใดถ้าพลเมืองมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้เป็นลักษณะประจำชาติแล้ว จะทำให้ประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ กล่าวคือ
ด้านเศรษฐกิจ การมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ผู้มีศรัทธาในความรู้จะเป็นผู้มีเหตุผล มีความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ มีการเสี่ยงอย่างมีเหตุผล และส่งผลให้มีการกระจายรายได้ที่ยุติธรรมในที่สุด
ด้านการเมือง การพัฒนาทางการเมือง หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การมีความรู้และการยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้พลเมืองเป็นผู้มีเหตุผล รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสมอภาค มีขอบเขต มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามระบบและเกณฑ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตกลงกันไว้ อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย
ด้านสังคม การยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้มีเหตุผลดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความสามมัคคีในสังคม เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี และมีเป้าหมายทางสังคมร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ จะเกิดผลดีในลักษณะดังกล่าวได้ ผู้มีความรู้จะต้องใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรมกำกับ ไม่ใช้อย่างมีอคติ ลำเอียง หรือใช้ความรู้ในลักษณะบิดเบือนเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวก
----------------------------------------------
สาระคิด
ใครก็ตามที่เลือกจะขึ่หลังเสือ จะต้องยอมรับว่าสักวันหนึ่ง อาจจะต้องจบชีวิตลงในท้องเสือ
คำอินเดียโบราณ
---------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น