วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของคนไทย

การจะบอกว่าการทำงานของคนไทยมีปัญหาหรือไม่ จำเป็นจะต้องมีการเปรียบเทียบถึงการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปรียบเทียบกับประเทศที่มีลักษณะคล้ายๆกัน หรือมีจุดเริ่มต้นการพัฒนาใกล้เคียงกัน หรือมีทรัพยากรมากน้อยพอๆกัน เพราะความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจบอกให้ทราบถึงประสิทธิภาพในการทำงานของคนในประเทศนั้นๆ

ประเทศแรก ที่ขอเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับไทยมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มีการปกครองแบบรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเหมือนๆกัน เมื่อก่อนไทยมีเศรษฐกิจดีกว่าญี่ปุ่น แต่หลังจากที่ไทยและญี่ปุ่นพยายามสร้างชาติให้เจริญตามแนวตะวันตกด้วยฐานทางเศรษฐกิจพอๆกัน  พบว่า ในปี พ.ศ.2515 ญี่ปุ่นมีผลผลิตประชาชาติ ประมาณปีละ 4,000,000 ล้านบาท ส่วนไทยมีเพียงปีละ 100,000 ล้านบาท จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีผลผลิตประชาชาติมากกว่าไทยถึง 40 เท่า และในปัจจุบันญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ากว่าไทยมาก

ประเทศต่อไป ที่จะเปรียบเทียบ คือประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่า ขณะที่ไทยเริ่มพัฒนาแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ยังเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก และในบรรดาประเทศเหล่านี้ อินโดเนเซียมีทรัพยากรธรรมชาติมากว่าประเทศอื่นๆ  ส่วนประเทศสิงคโปร์แทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่จากการสำรวจรายได้ของประชาชนในปี พ.ศ. 2519 พบว่า ประชาชนสิงคโปร์มีรายได้สูงสุด ส่วนไทยมีรายได้เกือบลำดับสุดท้าย มากกว่าประเทศอินโดเนเซียเพียงประเทศเดียว

หากพิจารณาจากระบบเศรษฐกิจไทยอย่างพินิจพิจารณา จะพบว่าผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง คือ คนจีน ญี่ปุ่น และฝรั่งชาติตะวันตก ในบรรดาชาติเหล่านี้ ดูเหมือนว่า คนจีนจะมีอิทธิพลเหนือระบบเศรษบกิจของไทยมากที่สุด ธุรกิจการค้า นับตั้งแต่ค้าเล็กๆน้อยๆ จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร และการอุตสาหกรรมล้วนอยูในมือของคนจีน ส่วนญี่ปุ่น จะเกี่ยวข้องทางด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสากรรมประกอบรถยนต์และอีเล็คโทรนิคส์ สำหรับฝรั่งชาติตะวันตก จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าคนของชาติต่างๆเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะมีอำนาจเหนือระบบเศรษบกิจเท่านั้น แต่มีอำนาจเหนือระบบสังคมและการเมืองของไทยด้วย

ปัญหาที่กล่าวมานี้ ถ้าพิจารณาโดยยึดหลักที่ว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหาและเป็นผู้แก้ปัญหาแล้ว จะเห็นว่าในการแก้ปัญหา จำเป็นจะต้องอาศัยวิธีการทำงานที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีลักษณะการทำงานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหา

แต่การทำงานของคนไทยนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในทำนองที่ว่าคนไทยแม้จะมีมีพลัง และความกระตือรือร้น แต่ไม่ค่อยจะจริงจังในการทำงาน   ไม่ยอมรับว่าการทำงานจะมีความดีในตัวมันเอง  คนไทยไม่ชอบการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก จะเลี่ยงการทำงานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้สมองอย่างลึกซึ้ง และใช้แรงกายหรือแรงงานอย่างหนัก เพราะการทำงานหนักไม่ใช่เรื่องสนุก

คนไทยจะให้ความสนใจอย่างมากกับสิ่งที่ให้ความสนุกสนาน การทำให้สนุกสนานบ่อยๆเป็นสิ่งที่ดี งานที่เกี่ยวกับความสนุกรื่นเริงต่างๆ อาทิ งานบุญ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงต่างๆ คนไทยจะจัดอย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากและสิ้นเปลือง เข้าลักษณะ "งานทำเป็นเล่น แต่เล่นกลับทำเป็นรงาน"

คนไทยจะทำงานเฉพาะเท่าทีจำเป็นกับในการครองชีพ ถ้าเป็นงานหนักแม้จะมีรายได้สูง คนไทยก็ไม่อยากจะทำ ถ้าเป็นงานสบาย แม้จะได้เงินทองตอบแทนน้อยก็พอใจที่จะทำ คนไทยจะให้การยกย่องค่อนข้างสูงสำหรับผู้ที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จด้วยการทำงานอย่างอุตสาหะวิริยะ

เพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายในการทำงาน คนไทยจะทำงานแตกต่างไปจากรูปแบบที่กำหนดไว้เดิม โดยทำงานตามวิธีการของตนเอง เมื่อใดที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  มักจะมีปัญหาเสมอ เพราะขาดความสำนึกถึงกฎเกณฑ์ ขาดวินัยในการทำงาน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่น กิจกรรมสหกรณ์มักจะประสบแต่ปัญหาอุปสรรค

ลักษณะการทำงานของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง คือขาดความพยายามอย่างสม่ำเสมอ ทำอะไรไม่ค่อยเสมอต้นเสมอปลาย คนไทยยอมแพ้งายๆ ทำงานครึ่งๆกลางๆ คนไทยทำงานโดยไม่ค่อยวางแผน วิธีการใดที่มีลักษณะเห็นผลและใช้ได้ทันที คนไทยจะยอมรับและลองใช้ แต่ถ้าวิธีการนั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ต้องดำเนินการไปในอนาคตนานๆ คนไทยไม่ชอบทำ แลจะล้มเลิกในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง

เมื่อพิจาณาจากลักษณะการทำงานของคนไทยดังที่กล่าวมา จะพบว่าการทำงานของคนไทย นอกจากจะไม่เหมาะ ต่อการทำงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว  ยังอาจจะเพิ่มความรุนแรงและความยุ่งยากในการแก้ปัญหาด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือ การเมือง ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาเล่านี้อย่างจริงจัง จำเป็นจะต้องแก้ที่ลักษณะการทำงานของคนไทยก่อน มิฉะนั้นแล้วจะไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆในสังคมไทยได้เลย
                           --------------------------------------------

อ้างอิงจาก:ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 -------------------------------------------------------------------------------------------------                                                                          
                                                         สาระคิด

เมื่อใดที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม เช่น งานพัฒนา หรือการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของกลุ่ม มักจะมีปัญหาเสมอ เพราะคนไทยนั้นยากที่จะรวมกลุ่มโดยสมัครใจ
                                                                      Robert L.Mole
                              %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

วัฒนธรรมการทำงานกับการพัฒนา

ปัญหาที่ว่า ทำไมบางสังคมสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว แต่บางสังคมพัฒนาไปได้ช้า บางสังคมมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความก้าวหน้า แต่บางสังคมมีพฤติกรรมต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  ปัญหานี้ได้มีผู้ศึกษากันหลายแง่หลายมุม เพื่อจะหาว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แต่ละสังคมมีการพัฒนาแตกต่างกันไป

นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้ศึกษาตัวกำหนดการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม พบว่า องค์ประกอบเชิงมนุษย์ อันได้แก่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อของแต่ละบุคคล ที่ยอมรับของใหม่ ยอมรับการสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง เพราะลักษณะของบุคคลในสังคมดังกล่าวนี้ จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการพัฒนา

นอกจากนั้น นักสังคมวิทยาได้ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่ไม่เกิดขึ้นในหลายประเทศ คำตอบส่วนหนึ่ง ก็คือ ประเทศเหล่านั้นมีโครงสร้างทางสังคมและวัฒธรรมต่างกัน และการพัฒนากับวัฒนธรรมนั้นมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกัน  ฉะนั้น การพัฒนาให้ได้ผลจำเป็นจะต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม

ในสังคมพัฒนา คนในสังคมมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง มีความพอใจอย่างสูง ที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคม  มีความเชื่อว่า สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถณาไม่ใช่เป็นสิ่งขวางกั้นที่ทำให้เกิดความหมดหวัง แต่เป็นความท้าทายความเฉลียวฉลาดของคน

คนในสังคมพัฒนา เชื่อว่า มนุษย์สามารถทำได้สำเร็จเกือบทุกอย่าง คนในสังคมมีค่านิยมที่ผลักดันให้แต่บุคคลแสวงหาความก้าวหน้า และค้นหาความสมารถเฉพาะตัว แล้วนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

คนในสังคมพัฒนา ไม่รังเกียจงาน ไม่ถือชั้นวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน มีการสะสมทุน ทำงานหนัก ร่วมมือกันทำงาน และการยอมทำงานตามระบบ

สังคมพัฒนา เป็นสังคมที่ยึดหลักเหตุผล เน้นผลสัมฤทธิ์มากกว่าสถานภาพ และเกียรติยศ มีความสำนึกต่อส่วนรวม มีความสามารถที่จะทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน  และไม่ยอมปล่อยตนให้หลงใหลในความฟุ่มเฟือย

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่ง คนญึ่ปุ่นทำงานหนัก ประหยัด มีความจริงจัง และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต เป็นคนที่ปฏิบัติตามกฏหมายและระเบียบวินัยข้อบังคับ โดยไม่มีการอะลุ่มอล่วยหรือลูบหน้าปะจมูก

สหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเทศพัฒนาอีกประเทศหนึ่ง ที่นักสังคมศาสตร์มีความเห็นต้องกันว่า คนอเมริกันนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นคนประหยัด ทำงานหนัก และมีสมรรถวิสัยในการที่จะอดได้รอได้ เพื่อสิ่งทีดีกว่าในโอกาสข้างหน้า

อาจสรุปได้ว่า สังคมที่พัฒนานั้น จะต้องมีลักษณะทางวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น ทำงานหนัก ประหยัด มีความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคสูง นิยมการแข่งขัน รู้จักทำงานร่วมกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวม เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนประเทศด้อยพัฒนา จะประกอบด้วยคนที่มีลักษณะแตกต่างจากสังคมพัฒนา คือคนส่วนใหญ่ ไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน คิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อพิธีกรรม หรือรายจ่ายอื่นๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ไม่รู้จักหน้าที่และไม่มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม  มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ เชื่อฟังอำนาจ และหาความสุขทางจิตใจ  เชื่อว่าชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่มีความสุขท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง

ประเทศที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ส่วนมากเป็นประเทศใน ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เอเซียใต้ และเอเซียอาคเนย์

มาเลเซีย เป็นตัวอย่างของประเทศที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้สมาชิกในกลุ่มมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

ประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม ที่มีเชื้อสายต่างกัน คือ ผู้มีเชื้อสายมาเลย์  จีน และอินเดีย คนเชื้อสายมาเลย์เป็นคนพื้นเมืองเดิม ส่วนคนจีนและอินเดียเพิ่งจะอพยพเข้ามาในตอนหลัง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน แต่เนื่องจากมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน ผลจึงปรากฎว่า แทนที่จะเป็นคนมาเลย์ กลับเป็นคนจีนที่คุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปัจจุบัน และในกรณีของประเทศไทยก็ไม่แตกต่างไปจากกรณีของมาเลเซียเช่นกัน

จะเห็นว่า วัฒนธรรมมีอิทธิพลเหนือการทำงานและการพัฒนา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการทำงาน ให้เป็นไปได้ทั้งที่เอื้อ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ในการพัฒนาประเทศ ประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตเสียใหม่ โดยจะต้องยอมรับค่านิยม ทัศนคติและนิสัยการทำงานแบบใหม่ เป็นทัศนคติและค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การพัฒนาประเทศจะได้ผล จำเป็นจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลทำให้แบบแผนพฤติกรรมการทำงานของบุคคลในสังคมนั้นๆ มีลักษณะที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

                                  ----------------------------------------------

อ้างอิงจาก:ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต(สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                --------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคำ

วัฒนธรรม คือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เป็นพฤติกรรมที่ทำกันทั่วไปในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง พฤติกรรมเหล่านั้น เป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
                                  ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

วัฒนธรรมกับการทำงาน

พฤติกรรมทางวัฒนธรรม หมายถึง พฤติกรรมทั้งหมดของแต่ละบุคคล ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะสังเกตเห็นได้หรือไม่ก็ตาม จะเป็นพฤติกรรมทางกายภาพหรือพฤติกรรมทางจิตใจก็ได้ พฤติกรรมทางวัฒนธรรมนั้น เริ่มตั้งแต่การกระทำอย่างง่ายๆ เช่น การกินอาหารด้วยส้อมหรือตะเกียบ ไปจนถึงการกระทำยากๆ 

การกระทำของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ  ถ้าไม่ใช่เป็นการกระทำทางชีวภาพแท้ๆ เช่นกระพริบตา สะอึก จาม ฯลฯ แล้ว  จะเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น

พฤติกรรมาทางวัฒนธรรม เป็นพฤติกรรมที่บุคคลได้เรียนรู้จากกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ใช่ทำได้เองโดยอัตโนมัติ จึงเป็นที่แน่นอนว่า แต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับ วัฒนธรรมการกิน  การนอน การแต่งงาน ฯลฯ

ระบบการทำงานของแต่ละสังคม จะถูกกำหนดโดยความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะกำหนดคุณค่าให้กับงาน แรงจูงใจที่จะทำงาน และความหมายของการทำงานให้แตกต่างกันออกไป

สำหรับพฤติกรรมการทำงาน วัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดให้การทำงานแตกต่างกันในเรื่องต่อไปนี้ คือ

                1. ความเหมาะสมของปริมาณงาน

                2. ช่วงเวลาของการทำงาน

                3. อัตราการทำงาน

                4. กิจกรรมที่สามารถจะทำควบคู่ไปกับการทำงาน

                5. งานใดควรทำในที่ลับ งานใดควรทำในที่สาธารณะ

                6. งานใดเหมาะกับเพศหรือวัยใด

ข้อกำหนดทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้มนุษย์มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนการอบรมสั่งสอน  เพื่อให้สมาชิกในสังคมรู้จักการทำงานแตกต่างกันออกไป

ในบางสังคมการทำงาน หมายถึง การใช้แรงกาย การทำงานเป็นความอยู่รอดของชีวิต

ในบางสังคมเชื่อว่า การทำงานเป็นความดี ความสำเร็จ  การทำงานเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีคุณค่า

แต่ในบางสังคมเห็นว่า การทำงานเป็นความจำเป็นที่เลวร้าย การทำงานเหมือนการลงโทษ ในสังคมที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้โดยง่าย การทำงานไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็นความดี

สังคมอเมริกัน เป็นสังคมที่เน้นการทำงาน การทำงานของสังคมอเมริกัน มิใช่เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานด้วยเหตุจูงใจอย่างอื่นด้วย เช่น ทำงานเพื่อตำแหน่งทางสังคม เพื่อประเพณี  เพื่อหน้าที่ หรือเพื่ออำนาจ การทำงานในสังคมอเมริกันมีคุณค่าสูงมาก คนร่ำรวยมากๆจะทำงานหนัก  ปัญญาชนและศิลปินจะทำงาน เพื่อสนองความพอใจของตนเอง มากกว่าที่จะทำเพื่อเหตุผลอื่น

จากการศึกษายังพบต่อไปว่า แต่ละวัฒนธรรมจะกำหนดท่าทีที่มีต่อการทำงานแตกต่างกันออกไป เช่น คนไทย  ชอบทำงานรัฐบาล ไม่ชอบทำงานที่ตนเองต้องเปื้อนสกปรก แต่ คน Afghans ไม่ชอบทำงานรัฐบาล คนอินเดีย เห็นว่าการทำงานที่ต้องสัมผัสกับอุจจาระเป็นงานต่ำ ส่วน คนโอกินาวา ของญี่ปุ่น ถือว่างานที่ต่ำมากที่สุดคืองานฆ่าหมู

Ramond Firth นักมานุษยวิทยา ได้ศึกษาวัฒนธรรมการทำงานของคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่ Tikopia ประเทศนิวซีแลนด์ คนกลุ่มนี้ มีแนวความคิดว่า การทำงานมีความหมายตรงกันข้ามกับการพักผ่อนหรือการร่วมเพศ และเชื่อว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ดี ความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นความผิดทางศาสนา การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นความดี การร่วมมือกันทำงานหนักถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดียิ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวก Siriono พวกนี้อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำ Amazon พวกนี้มีวัฒนธรรมการทำงานแตกต่างจากกลุ่มแรก  พวกนี้ มีแนวความคิดว่า การทำงานหมายถึง กิจกรรมต่อไปนี้คือ การสร้างบ้าน การเก็บฟืน การเพาะปลูก ฯลฯ คนกลุ่มนี้จะล่าสัตว์เพื่อเป้นอาหารทุกวัน และเมื่อใดเมื่อพวกเขามีอาหารเพียงพอ พวกเขาจะพักผ่อน กิน ร่วมเพศ นอนหลับ เล่นกับลูก ร้องเพลง เต้นรำ หรือดื่มน้ำเมา โดยสังคมไม่วิจารณ์ว่า การกระทำเหล่านี้แสดงถึงว่าเป็นคนขี้เกียจ

จึงสรุปได้ว่า ในแต่ละสังคมจะมี ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติกรรมการทำงานต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการทำงานของสังคมนั้นๆ 
                                  -----------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                ----------------------------------------------------------------------------

                                               สาระคำ

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของสังคมโดยรวม ไม่ได้หมายเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา วัฒนธรรมเป็นกิจกรรมของมนุษย์ทั้งมวลที่อยู่ในสังคมนั้นๆ แม้แต่การล้างจานและการขับรถยนต์ก็จัดรวมอยู่ในวัฒนธรรม
                         -------------------------------------------------------


วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความสำคัญของการทำงาน

การทำงานเป็นกิจกรรมที่จำเป็น และเป็นกิจกรรมเฉพาะมนุษย์ มนุษย์เท่านั้นที่ต้องทำงาน และมนุษย์เท่านั้นที่ทำงานได้ ที่กล่าวเชนนี้ ก็โดยเหตุผลที่ว่า การทำงานของมนุษย์แตกต่างจากการกระทำตามสัญชาตญาณของสัตว์  กล่าวคือ การทำงานของมนุษย์นั้น จะมีผลของการกระทำเกิดขึ้นในสมองก่อนที่ลงมือทำจริงๆ เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมาย ทำตามทักษะ และความรู้สึก มีการตัดสินใจก่อนว่าจะทำอะไร ตลอดจน มีความตระหนักถึงผลที่จะกระทบต่อคนอื่น

ความสำคัญของการทำงาน อยู่ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถสนองความต้องการในด้านต่างๆ ดังนี้

          1. สนองความต้องการทางวัตถุ การทำงานเป็นการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้เป้นสิ่งที่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

          2. สนองความต้องการการนับถือตนเอง การทำงานเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มนุษย์นับถือตนเอง สมรรถภาพในการทำงาน ทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองสามารถเอาชนะได้ทั้งตนเองและสภาวะแวดล้อม ในทุกสังคม คนมีงานทำได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองเต็มขั้น ส่วนผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือไม่สามารถทำงานได้ จะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ลดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลง และยังพบต่อไปว่า  การนับถือตนเอง จะแตกต่างไปตามลักษณะอาชีพ และลำดับชั้นของตำแหน่งที่บุคคลนั้นครองอยู่

          3. สนองความต้องการการมีกิจกรรม มนุษย์ทุกคนต้องการทำกิจกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่าย การทำงานทำให้จิตใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นการช่วยลดความวิตกกังวล  อันเนื่องมาจากมีเวลาว่างมาก

          4. สนองความต้องการริเริ่มสร้างสรรค์ การริเริ่มสร้างสรรค์ในที่นี้ มิได้หมายถึง เฉพาะการริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์หรือศิลปะเท่านั้น  แต่หมายรวมถึงสิ่งแปลกๆใหม่ๆที่มนุษย์คิดสร้างขึ้นมา ซึ่งสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะการทำงานของมนุษย์ ที่ช่วยให้สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้สมบูรณ์มากขึ้น

การทำงานนอกจากจะช่วยให้มนุษย์สามารถสนองความต้องการดังกล่าวแล้ว  การทำงานยังช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่มั่นคง  เกิดผลงานทางวัฒนธรรมแและวิทยาศาสตร์ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เอง นอกจากนั้น สถานที่ทำงานยังช่วยให้มนุษย์ได้พบปะสร้างความเป็นมิตร  แลกเปลี่ยนทักษะ และความรู้ต่อกัน

จาการศึกษายังพบต่อไปว่า การทำงานยังช่วยสร้างกฎเกณฑ์ให้แก่ชีวิต สร้างรูปแบบของชีวิต ช่วยกำหนดจังหวะและแนวทางในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน และแต่ละปี ถ้าบุคคลไม่มีรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม จะเกิดความสับสนในการใช้เวลา การทำงานจึงทำให้โลกมีระเบียบ การทำงานยังช่วยให้คนมีศีลธรรมสูงขึ้น และที่สำคัญถ้าปราศจากการทำงาน ความเจริญต่างๆจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

จึงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า การทำงานคือชีวิต การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานคือการเปลี่ยนรูปแบบของชีวิต ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ใช้ความรู้ สติปัญญา และทักษะ เพื่อตอบสนองในโลกของการทำงาน
           ----------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

                               คนที่ผัดวันประกันพรุ่งมีแต่ความเสื่อม

                                                                        หัตถิปาลชาดก
                             -----------------------------------------------------