วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การลงทุนทางการศึกษา

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ กระบวนการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการทางการศึกษา

สินค้าที่กระบวนการศึกษาผลิต จัดอยู่ในประเภทสินค้าสาธารณะ(public goods) และสินค้าสังคม(social goods) เพราะทำให้เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะตัวผู้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นในสังคมอีกด้วย

นอกจากนั้น ผลผลิตของกระบวนการศึกษายังเป็นสินค้าที่เป็นคุณ(merit goods) เพราะการศึกษาช่วยขจัดความโง่เขลา ช่วยยับยั้งผู้บริโภคการศึกษาไม่ให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ชั่ว

ในทางเศรษฐศาสต์ ยังมองว่าการศึกษาเป็นการผลิตเพื่อการบริโภค ด้วยเหตุที่ว่า การศึกษาสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความพอใจ เกิดความสุข เช่นเดียวกับที่ได้บริโภคสินค้าและบริการอื่นๆ

ส่วนที่มองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนนั้น ก็เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์  และในอนาคตผลผลิตทางการศึกษาจะก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะการสร้างสมทุนมนุษย์มีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนทางการศึกษาจึงเป็นภาระจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในการลงทุนทางการศึกษา มีต้นทุนซึ่งสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

          1. ต้นทุนการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น เงินเดือนครูอาจารย์ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น

          2. ต้นทุนการเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล เป็นการเสียโอกาสที่บุคคลจะมีรายได้ที่ควรจะได้ แต่ต้องเสียไปในขณะที่ศึกษาเล่าเรียน

          3. ต้นทุนที่เกี่ยวกับการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน เช่น ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง  ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

เนื่องจากการศึกษาเป็นการลงทุน แน่นอนว่าจะต้องมีค่าตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนนั้น ผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการลงทุนทางการศึกษา จำแนกได้ดังนี้

          1. ประโยชน์ส่วนบุคคล คือการศึกษาช่วยให้บุคคลมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ฯลฯ ซึ่งความสััมพันธ์ระหว่างรายได้กับการศึกษานั้น จากการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า

              1.1. รายได้มีความสัมพันธ์อย่างสูงกับการศึกษาทุกระดับอายุ ผู้มีการศึกษาสูงจะมีรายได้สูงกว่าผู้มีการศึกษาที่ต่ำกว่า

              1.2. ลักษณะ(profile)ของเส้นรายได้ของกำลังแรงงานที่มีการศึกษาสูง จะชันกว่าของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า จุดสุดยอดของคนทำงานที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าจะสูงกว่าคนทำงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า

              1.3. รายได้ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าจะถึงจุดสุดยอดช้ากว่าผู้มีการศึกษาน้อยกว่า บางกรณี รายได้ของแรงงานที่มีการศึกษาสูงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งเกษียณ

          2. ประโยชน์แก่สังคม การศึกษาทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรม เพราะการศึกษาช่วยให้คนรู้จักรับผิดชอบชั่วดีเพิ่มขึ้น

นั่นคือ การลงทุนทางการศึกษาจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนบุคคลและสังคม เป็นการสร้างทุนมนุษย์อันจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าการศึกษาเพื่อการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

คนในประเทศด้อยพัฒนา เชื่อว่าการศึกษาเป็นวิถีทางที่ทำให้ตนเองห่างไกลจากจากการทำงานที่ต้องใช้มือ หรืองานที่ต้องใช้แรงกาย การศึกษาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำงานเบาๆในสำนักงาน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คุณสมบัติทางเศรษฐกิจของสถาบันการศึกษา

ในทางเศรษฐศาสตร์ สถาบันการศึกษาเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตบริการทางการศึกษา โดยใช้ทรัพยากรพิเศษชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ครูอาจารย์ ผู้บริหาร อาคารเรียน หลักสูตร  และอุปกรณ์ต่างๆ

บริการการศึกษาที่สถาบันการศึกษาจัดขึ้นนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่ได้เป็นการให้บริการฟรี เพราะการให้บริการทางการศึกษาต้องมีค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต และต้องมีอุปทานทางการศึกษา

ในการผลิตบริการเพื่อสนองความต้องการทางการศึกษา จะต้องจำแนกให้ชัดเจนว่า การศึกษานั้นเป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค การศึกษาเพื่อการลงทุน หรือ เป็นการศึกษาทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุน

ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการบริโภค เราต้องศึกษาพฤติกรรมของพลเมืองในฐานะผู้บริโภค แต่ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการลงทุน เราต้องจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงผลตอบแทน และการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในฐานะที่สถบันการศึกษาเป็นหน่วยเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ผลิตบริการทางการศึกษา สถาบันการศึกษาจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วย

          1. จะต้องตัดสินใจว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดผลิตอะไร ผลิตกำลังคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร หรือจะผลิตบริการอะไร จึงจะสนองความต้องการทางการศึกษา ที่สังคมเห็นว่าสำคัญและจำเป็น ทั้งนี้ เพราะสถาบันการศึกษาไม่อาจผลิตบริการทางการศึกษาให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่สมาชิกในสังคมต้องการได้

          2. จะต้องตัดสินใจว่า จะผลิตอย่างไร ใช้วิธีการผลิตอย่างไร จึงจะประหยัดที่สุดเท่าที่ประหยัดได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และได้กำลังแรงงานที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด

          3. จะต้องตัดสินใจว่า จะจำแนกแจกจ่ายสินค้าและบริการที่ผลิตนั้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้รับสินค้าและบริการนั้นๆ ในจำนวนเท่าใด และรับบริการอย่างไร ในแง่ของการศึกษาสถาบันการศึกษาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะให้บริการกับใคร  จำนวนเท่าใด และจะรับบริการได้อย่างไร และเมื่อได้รับบริการการศึกษาแล้ว จะไปก่อให้เกิดผลิตภาพต่อไปอีกได้อย่างไร

เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้

          1. กฎอุปสงค์และอุปทาน ในทางการศึกษาอุปสงค์เป็นความต้องการที่จะใช้กำลังคน ส่วนอุปทานเป็นความต้องการที่จะผลิตกำลังคน  สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงกฎข้อนี้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เป็นต้นว่า ปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา อันเกิดจากการผลิตกำลังคนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ

          2. ค่าเสียโอกาส สถาบันการศึกษาจะต้องคำนึงว่า การที่ผู้เรียนต้องเรียนในเรื่องหรือโปรแกรมนั้นๆ ผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปเท่าไร และคุ้มกับประโยชน์ที่ต้องเสียไปหรือไม่  นอกจากนั้น ปัจจัยการผลิตทุกชนิดต่างก็มีต้นทุนแห่งค่าเสียโอกาส  กล่าวคือ เมื่อนำปัจจัยการผลิตไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการอย่างหนึ่ง ก็ย่อมจะหมดโอกาสที่จะนำไปใช้อย่างอื่น  จะต้องคำนวณผลตอบแทนให้กับปัจจัยการผลิตนั้นด้วย

          3. การจัดบริการหลายประเภท  การจัดบริการทางการศึกษาก็เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ คือสินค้าและบริการนั้นควรจะมีความแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือก เกี่ยวเรื่องนี้ สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องให้มีบริการหลายชนิด เพื่อสนองความต้องการของบุคคลและตลาดแรงงาน

          4. ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือสถาบันการศึกษาจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเพิ่มขนาดการผลิต โดยไม่ต้องเพิ่มทุนแลค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เป็นการทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง  เพราะการผลิตจำนวนมากทำให้ประหยัดโดยอาศัยขนาด

 จะเห็นว่า สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตบริการการศึกษา จะต้องตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและหลักเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับหน่อยผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปโดยใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนองความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

อุปสงค์ (Demand) หมายถึง ความต้องการสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคต้องการจะซื้อภายในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้า หรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการซื้อ)

อุปทาน (Supply) หมายถึง ความต้องการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้ผลิตต้องการผลิตในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการขาย)

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับเศรษฐกิจ

หากมองว่าสังคมเป็นระบบใหญ่ การศึกษาและเศรษฐกิจจะเป็นระบบย่อย ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยความสามารถในทางการศึกษาและความสามารถในทางเศรษฐกิจจะมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อกัน

สังคมใดที่มีเศรษฐกิจดี แสดงว่าระบบเศรษฐกิจในสังคมนั้นประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วแน่นอนว่าจะช่วยให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

ผลที่ได้จาการศึกษาเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพราะบุคคลผู้มีการศึกษาเหล่านั้นนอกจากจะเป็นกำลังแรงงานแล้ว ยังเป็นผู้ตัดสินใจในการนำปัจจัยการผลิตอื่นๆมาลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นผู้เลือกวิธีการในการดำเนินการทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาจะทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำหน้าที่สร้างทุนมนุษย์ของระบบเศรษฐกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ในระบบเศรษฐกิจ มนุษย์มีความสำคัญที่สุด เนื่องจ ากในบรรดาปัจจัยผลิตทั้ง 4 ประการ อันประกอบด้วย ที่ดินและทรัยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการนั้น มนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตถึง 2ใน 4 คือเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ

การศึกษาได้สร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการอันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  จนกล่าวได้ว่าโครงการทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือขนาดเล้ก จะต้องมีการศึกษาสนับสนุนจึงจะประสบความสำเร็จ

ประเทศเปรู มีโครงการปฏิรูปการเกษตร แต่ในการทำโครงการต้องประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้เพราะโครงการเหล่านั้นไม่มีการศึกษาและการฝึกอบรมสนับสนุน

นอกจากนั้น มนุษย์ยังเป็นผู้สร้างอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าและบริการ ที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตขึ้นได้ และความต้องอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และให้ได้ผลผลิตสูงสุด

จะเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากทุนทางกายภาพเท่านั้นแต่เกิดจากทุนมนุษย์ด้วย  ฉะนั้นในขณะที่มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังแรงงานควบคู่ไปด้วย

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่ประชากรอ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้ จะมีระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย และไม่มีประเทศใดที่ทำให้มีผลผลิตต่อหัวสูงด้วยแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ

นอกจานั้นยังพบว่า การศึกษามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้

          1. ช่วยเพิ่มผลผลิต การเพิ่มความชำนาญให้แก่แรงงาน จะช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นจึงมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

          2. ช่วยลดต้นทุน การที่คนมีการศึกษาสูงขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ลดการกระทำผิด ลดความจำเป็นในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

          3. ช่วยยกระดับรายได้ การที่คนมีความรู้และทักษะในการผลิตสูงขึ้น จะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น  มีผลทำให้รายได้สูงขึ้น

          4. ช่วยเพิ่มสวัสดิภาพของประชาชน การที่คนมีรายได้สูงขึ้น มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนมีสวัดิภาพมากขึ้น

ะเห็นว่า ประสิทธิภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์  และประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการศึกษา และหากเกิดความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ย่อมสรุปได้ว่า เป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ การศึกษาและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงเป็นส่ิ่งสำคัญควบคู่กันไป และในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคม การศึกษาก็อาจทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงได้เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                             การพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม  นำไปสู่ปัญหาการว่างงาน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

คนเป็นทั้งทุน เจ้าของทุน ผู้ประกอบการ และแรงงาน ในระบบเศรษฐกิจ หากประเทศใดมีคนที่มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะพัฒนาไปได้ด้วยดี

สำหรับลักษณะของคนที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมีดังต่อไปนี้

          1. มีวินัย ความเป็นผู้มีวินัยทำให้เป็นผู้มีระเบียบในการใช้จ่าย ในการบริโภค ตลอดจนในการดำเนินชีวิต

          2. ประหยัด เป็นผู้รู้จักใช้จ่ายตามความจำเป็น มีผลทำให้เกิดการออม การสะสมทุน

          3. มีทัศนคติที่ทันสมัย เป็นคนที่ที่รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆได้ง่าย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นผู้ตระหนักถึงความสำคัญของเวลา กล้าที่จะริเริ่ม ไม่ย่อท้อต่อการที่จะต้องแข่งขัน ฯลฯ

           4. มีลักษณะมุ่งอนาคต การมุ่งอนาคตทำให้รู้จักวางแผนชีวิต รู้จักประหยัด

           5. ศรัทธาในความสามารของตนเอง ทำให้รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้ไม่รอรับการช่วยเหลือจาผู้อื่น โดยไม่ช่วยเหลือตนเองก่อน

           6. มีบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวม เป็นผู้ที่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวม และมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมควบคู่กับประโยชน์ส่วนตน

           7. มีความคิดและความเชื่อว่าการทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์  เกิดเป็นมนุษย์ต้องทำงาน เป็นคนรักการทำงาน และไม่เลือกงาน

อย่างไรก็ตาม การจะได้ประโยชน์สูงสุดจากคน สังคมและวัฒนธรรมจะต้องมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น  McClelland  สรุปว่ามีลักษณะดังนี้

           1.มีวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเพณีนิยม เต็มใจที่จะละทิ้งประเพณีบางอย่าง และเทคนิคต่างๆที่มีอยู่เดิม แล้วหันไปรับสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม

           2. บุคคลในสังคมจะได้รับสถานภาพทางสังคมโดยอาศัยความสำเร็จส่วนตน ซึ่งต่างกับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญอย่างช้าๆ สถานภาพของบุคคลจะได้มาโดยกำเนิด

           3. เป็นสังคมและวัฒนธรรม ที่มักจะเน้นความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และการเป็นผู้รู้จักใช้จ่าย

           4. เป็นสังคมที่ปรารถนาความก้าวหน้า และเน้นการบากบั่น การทำงานหนัก ว่าเป็นเคร่ื่องช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆ

            5. มีการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ใช้ได้กับทุกคน ในลักษณะที่เสมอภาค ยึดลัทธิสากลนิยม (universalism)

จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้ด้วยดี จะต้องถึงพร้อมทั้งลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้ยาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะมีลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยจะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กลับมีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

การทำงานแทบจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยว่า เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าในตัวมันเอง ชาวนา คนงาน แทบจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่การทำงานนั่งโต๊ะ หรือการเป็นเจ้าคนนายคนเป็นงานที่ดีกว่า การทำงานยิ่งห่างจากการใช้มือโดยตรงมากเท่าไร จะยิ่งมีเกียรติสูงขึ้นเท่านั้น

                                                                               Mulder

*********************************************************************************