วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ข้อเตือนใจในการที่จะเอาชนะปัญหา

ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ ชีวิตจะพัฒนาไปด้วยดี

กระบวนการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับทักษะ ซึ่งทักษะเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา จะต้องเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่การตระหนักว่ามีปัญหา จนไปถึงการประเมินผล

และจะต้องเชื่อว่าปัญหาคือโอกาส และทุกปัญหามีวิธีแก้ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่เคยปลอดจากปัญหา เครื่องหมายแห่งความสำเร็จคือการจัดการกับปัญหาอย่างมีประสิทธิผล

สำหรับข้อเตือนใจที่การที่จะเอาชนะปัญหาสรุปได้ดังนี้

1. อย่ากลัวปัญหา เพราะความกลัวเป็นความคิดในเชิงลบ และความคิดในเชิงลบไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา จิตใจที่สงบ จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าจิตใจที่วิตกกังวล

2. รู้จักศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา  หากคิดเองไม่ได้ ให้ขอคำแนะนำ รู้จักรับความจริงและทำประเด็นของปัญหาให้ชัดเจน

3. เน้นที่วิธีแก้ปัญหา คนส่วนมากสนใจแต่ปัญหา ไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา และอย่าพยายามตำหนิตนเอง คนอื่น หรือสิ่งแวดล้อม  เพราะหากพิจารณาให้รอบคอบ จะพบว่าปัญหาใหม่ๆหลายปัญหา สามารแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ

4. ดำเนินการแก้ปัญหาจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่ไม่รู้ จงใช้ความรู้ที่มีอยู่และวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้ เพื่อนำมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน

5. เลือกวิธีแก้ปัญหาที่เกิดผลดีกับคนอื่นและตนเอง เพราะจะช่วยสร้างความสัมพันธ์และเกิดผลดีกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง

6. ลงมือแก้ปัญหา ยิ่งลงมืแก้ปัญหาเร็วเท่าไรปัญหาจะยิ่งแก้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น จงลงมือแก้ปัญหาแม้ว่าจำเป็นจะต้องเสี่ยง

เมื่อใดที่มีปัญหาและทำให้เกิดความท้อถอย ขอให้ไปที่โรงพยาบาล หรือไปหาเพื่อนที่มีปัญหามากกว่า แล้วจะพบว่าปัญหาที่ตนเองมีอยู่ไม่มากกมายหรือซับซ้อนเท่ากับปัญหาของคนเหล่านั้น

การแก้ปัญหาที่สนุกจะเพิ่มรสชาติให้กับชีวิต ข้อสำคัญคืออย่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่จงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีแก้ปัญหา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

             คนที่ฉลาด คือคนที่สามารถแก้ปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะใหญ่โตจนไม่สามารถที่จะแก้ไขได้

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง เป็นวิธีการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา จะได้สนองความต้องการของแต่ละคน การแก้ปัญหาวิธีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดปัญหาใหม่ ทางเลือกใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เหลื่อมล้ำกันอยู่  เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะไม่มีใครต้องเสีย ไม่มีใครต้องยอม เนื่องจากทุกคนหรือทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์

วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา สามารถนำไปใช้ได้ทั้งปัญหาระหว่างบุคคล ครอบครัว องค์การ และระหว่างสังคม วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ทักษะการฟัง การยืนยัน และวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาในรูปของความต้องการไม่ใช่ในรูปของวิธีแก้ปัญหา การกำหนดปัญหาที่ถูกต้องจะทำให้ขั้นตอนการแก้ปัญหาในขั้นตอนอื่นๆดำเนินไปได้ และเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายหรือทุกฝ่ายเป็นฝ่ายชนะ(win/win outcome) จึงต้องกำหนดปัญหาในรูปของความต้องการ สนองความพอใจทุกคน การรู้ความต้องการ จะช่วยให้ทราบปัญหาและความต้องการของแต่ละคน ขั้นกำหนดปัญหาจึงเป็นขั้นที่สำคัญและใช้เวลามาก สิ่งที่ต้องยึดถือในขั้นนี้คือ แต่ละคนจะต้องยึดมั่นในความต้องการของตน ฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายอื่น จนกระทั่งเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วใช้ความต้องการทั้งหมดสรุปปัญหา โดยใช้ประโยคยาวๆ ปัญหาที่กำหนดไว้อย่างดี จะสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ครึ่งหนึ่ง

ขั้นที่ 2 การระดมสมอง การระดมสมองเป็นวิธีการที่ช่วยให้ได้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องสร้างความชัดเจน และไม่ต้องประเมิน เป็นความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้มากที่สุด การระดมสมองก็เพื่อแสดงว่า วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะไม่ได้มีวิธีเดียว

ขั้นที่ 3 เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายได้ดีที่สุด วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจะต้องเป็นวิธีการที่ได้รับฉันทามติที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน  ตลอดจนสามารถตรวจสอบผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

ขั้นที่ 4 วางแผนว่าใครจะทำอะไรที่ไหนและเมื่อไร ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจะต้องตัดสินใจว่า ใครทำอะไร ที่ไหนและเมื่อไร บางครั้งจะต้องตัดสินว่า จะใช้วิธีอะไรด้วย โดยเขียนข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งมีรายละเอียดว่า ใครจะทำอะไร เมื่อไร เพื่อไว้เตือนความจำ

ขั้่นที่ 5 นำแผนไปปฏิบัติ ในการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติให้เสร็จตามกำหนด และเป็นไปตามข้อตกลง

ขั้นที่ 6 ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา เป็นการประเมินเพื่อทราบผลของการแก้ปัญา ว่าดำเนินไปได้ดีเพียงใด  และหากการปฏิบัติตามแผนไม่ได้ผลดีควรมีการแก้ไขอย่างไร และจะมีการแก้ไขและวางแผนใหม่อย่างไร ซึ่งในขั้นนี้ ควรให้มีการอภิปรายประกอบการประเมิน ในเรื่องเกี่ยวกับ ความรู้สึกในกระบวนการแก้ปัญหา มีอะไรที่ชอบและที่ไม่ชอบ มีอะไรไที่ทำให้ไม่สบายใจ สิ่งที่อยากจะพุดแต่ไม่ได้พูด และมีอะไรที่จะทำให้ดีกว่านี้ในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าได้ดำเนินตาม 6 ขั้นตอนแล้วก็ตาม การแก้ปัญหาร่วมกันอาจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก

          1)ไม่จัดการแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ก่อนเริ่มการแก้ปัญหา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายหรือกลุ่มมีอารมณ์รุนแรง

          2) การกำนดปัญหาไม่เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน

          3)ในระหว่างระดมสมองมีการขัดจังหวะ ด้วยการประเมิน การวิจารณ์ หรือให้ผู้เสนอยกตัวอย่าง เหล่านี้ทำให้แนวคิดถูกขวางกั้น

          4) ทำรายละเอียดไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความไม่ร่วมมือกัน

          5).ไม่ติดตามผล ทำให้ไม่ทราบความก้าวหน้า

          6) มีการปิดบังซ่อนเร้นสาระสำคัญ เนื่องจากทุกคนไม่ได้เปิดเผยปัญหาและความต้องการของตนออกมาทั้งหมด มีการปิดบังซ่อนเร้น

          7) ดำเนินกระบวนการกลับไปกลับมา เพราะบางครั้งไม่สามารถหาฉันทานุมัติในการแก้ปัญหาได้ จึงต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนต้นๆ ทำให้เสียเวลา ทำให้การแก้ปัญหาต้องล่าช้า

จะห็นว่า การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิผลได้ นอกจากจะต้องดำเนินตามขั้นตอนในการแก้ปัญหาครบทั้ง 6 ขันตอนแล้ว ยังจะต้องขจัดสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลอีกด้วย การแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้งจึงจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

            บุคคลที่มีสติปัญญาเพื่อความสำเร็จ จะเผชิญกับปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาด้วยความรอบคอบ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

แนวทางการใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นวิธีแก้ปัญหา

นการแก้ปัญหา บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จะช่วยให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่มีความหมายมากขึ้น  สำหรับสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ได้แก่

           1. เปลี่ยนแปลงปัญหา เป็นการแก้ปัญหาด้วยการระบุปัญหาใหม่  แทนปัญหาเดิม แต่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพราะมีหลายครั้งที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการกำหนดปัญหาใหม่ให้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้

          2. เปลี่ยนแปลงวิธีกำหนดปัญหา เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มองปัญหาจากหลายมุมมอง เช่น หากมองในแง่สังคมศาสตร์อาจแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่พฤติกรรมศาสตร์ หรือมองในเชิงคุณภาพ อาจแก้ปัญหาได้ การเปลี่ยนแปลงวิธีกำหนดปัญหาในข้อนี้ แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงในข้อ 1 ในแง่ที่ว่า ข้อ 1 เปลียนแปลงที่ตัวปัญหา ส่วนข้อนี้ไม่ได้มองที่ตัวปัญหาอย่างเดียว แต่มองลึกลงไปในลักษณะของตัวปัญหา ว่าเป็นปัญหาหาลักษณะใด มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

           3. เปลี่ยนแปลงวิธีการ การแก้ปัญหาตามข้อนี้ มุ่งที่วิธีการแก้ปัญหา ว่าจะใช้วิธีใด หากวิธีแก้ปัญหาที่คิดไว้ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ ก็หาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ที่สามาถแก้ปัญหาได้ เป็นการมองที่วิธีแก้ปัญหา ก่อนที่จะพยายามแก้ปัญหา

          4.  เปลี่ยนแปลงเกณฑ์  เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยมองที่เกณฑที่ใช้ในการตัดสินว่า วิธีแก้ปัญหาวิธีใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยเปลี่ยนจากเกณฑ์ที่รับไม่ได้ มาเป็นเกณฑ์ที่สามารถรับได้ เช่น แทนที่จะใช้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับงบประมาณ หรือเทคโนโลยี  มาใช้เกณฑ์เกี่ยวกับเวลา

          5. เปลี่ยนแปลงข้อจำกัด  เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มองปัญหา ด้วยการตรวจสอบข้อจำกัดก่อนที่จะลงมือแก้ วิธีง่ายๆในการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัด เช่น หากมีปัญหายุ่งยากวับซ้อน ก็ให้แก้ปัญหาด้วยการแบ่งปัญหาออกเป็นส่วนๆ  แล้วแก้ปัญหาที่ละส่วน หรือ มองปัญหาให้ไกลไปกว่ากรอบที่กำหนดไว้เดิม การทำอย่างนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัด ทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิผลมากขึ้น

จะเห็นว่า ปัญหาต่างๆนั้นสามารถแก้ได้ เพียงแต่ผู้ที่ต้องการจะแก้ปัญหา รู้จักที่จะใช้วิธีเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับปัญหานั้นๆ และจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่เพื่อหนีปัญหา การแก้ปัญหานั้นก็จะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                                          คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
                                    ส่วนใหญ่เป็นพวกที่แสวงหาปัญหาแล้วหาแนวทางที่จะแก้ไข

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

ความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติเป็นอย่างไร

ความต้องการในที่นี้ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Need เป็นความต้องการที่จำเป็นขาดไม่ได้ มีความหมายที่กว้าง และลึกกว่า want (ความต้องการ)  Desire (ความปรารถนา) และ Wish (ความมุ่งหวัง)

ความต้องการที่จำเป็น อาจแบ่งเป็น ตวามต้องการทางกาย  เช่น อาหาร น้ำ ฯลฯ ความต้องการทางจิตใจ เช่น ความรัก ความปลอดภัย ฯลฯ และ ความต้องการทางสังคม เช่น ความเป็นพวกเดียวกัน การยกย่องนับถือ ฯลฯ

ที่ว่าเป็นความต้องการที่จำเป็นขาดไม่ได้ ก็เพราะถ้าขาดจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ รุนแรงสุดก็ถึงแก่ชีวิต เบาหน่อย ก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติ

ความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติ ( neurotic needs) ในทัศนะของ Karen Horney ซึ่งเป็นจิตแพทย์ มีคตวามเห็นว่า เป็นความต้องการที่มีผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถูกรบกวน  เป็นความต้องการที่ทำให้เกิดความพอใจได้ยาก  เป็นความต้องการที่เป็นไปไม่ได้ เป็นความต้องการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในตน และจะทำให้ตนเองพ่ายแพ้ในที่สุด

Karen Horney ได้แบ่งความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติ ออกเป็น 10 ประการ  ได้แก่

          1) ความต้องการให้คนอื่นรัก และเห็นด้วยอย่างผิดปกติ

          2) ความต้องการที่จะมีคู่ชีวิตที่จะดูแลชีวิตตนเอง

          3) ความต้องการที่จะจำกัดตัวเองอยู่ในวงแคบๆอย่างผิดปกติ

          4) ความต้องการอำนาจอย่างผิดปกติ

          5) ความต้องการเอาเปรียบผู้อื่นจนผิดปกติ

          6) ความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียงจนผิดปกติ

          7) ความต้องการให้มีผู้นิยมตนจนผิดปกติ

          8) ความต้องการความสำเร็จเกินเหตุ

          9) ความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระจนผิดปกติ

         10) ความต้องการที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบ และไม่ยอมให่้ถูกโจมตีจากคนอื่น

จะเห็นว่า ความต้องการความสัมพันธ์ทั้ง 10 ประการ ล้วนแต่เป็นความต้องการความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ ซึ่งต่อมา  Horney ได้จำแนกความต้องการแบบผิดปกติ 10 ประการ ดังกล่าว ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ความต้องการเข้าหาคนอื่น ความต้องการหนีคนอื่น และ ความต้องการต่อสู้คนอื่น

ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองความต้องการแบบผิดปกติเหล่านั้น บุคคลจึงมุ่งไปที่ตนเองและผู้อื่น  ด้วยการที่ ตนเองวิตกกังวลว่าทำอย่างไรให้คนอื่นชอบเพื่อจะได้ไม่เจ็บปวด ทำอย่างไรตนเองจึงเป็นฝ่ายรุกที่ดี และหรือ ด้วยการไม่เข้าใกล้ชิดคนอื่นเพื่อจะได้ไม่เจ็บตัว ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการที่ไม่ปกติ และจะสร้างปัญหาให้กับบุคคลผู้มีความต้องการแบบผิดปกติเหล่านี้

บุคคลใดที่มีความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติในลักษณะดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก  เพราะเป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจอย่างมาก แต่ต้องใช้ความพยายาม เพราะหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                              สาระคิด

                                                    คนอื่นจะคิดอย่างไรกับคุณ ก็ไม่ใช่ธุระของคุณ

                                                                                                 เรจิีนา เบรตต์
*********************************************************************************
                                                                                                          ;