วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์ มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายในความต้องการการเรียนรู้มีสาเหตุมาจาก ความต้องการเรียนเพื่อแสวงหาความรู้ เพื่อการนำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสันติสุข และเพื่อให้ตนเองอยู่ได้อย่างอิสระ

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น มนุษย์ต้องการการเรียนรู้อันเนื่องมาจากปัจจัยต่อไปนี้

เศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการค้านานาชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆของคนงานหลายล้านคน ซึ่งมีทั้งผู้จัดการ วิศวกร นักวิจัยทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

ในหลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา มีคนเป็นจำนวนนับล้านที่ต้องสร้างงานใหม่ขึ้นมา และเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ คนงานจะต้องมีสมรรถภาพในการแก้ปัญหา และมีมนุษยสัมพันธ์ในฐานะปัจเจกบุคคล รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่ที่แตกต่างวออกไป

ในประเทศอุตสากรรมเอง ก็มีการเพิ่มความต้องการการเรียนรู้มากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะทุกบ้านจำเป็นจะต้องมีเครื่องทุนแรง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความสะอาด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องดูแลรักษาด้วยตนเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ชำนาญในเครื่องมือเหล่านั้น จึงต้องเรียนรู้ทั้งการซ่อมและติดตั้ง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา รายได้ของครอบครัวเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ที่สำคัญ คือเรียนเพื่อต้องการรายได้เพิ่ม และเรียนเพราะไม่มีโอกาสเรียนในระบบโรงเรียน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน นอกจากนั้นโอกาสการมีงานทำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

การเมือง เป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคน ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความรับผิดชอบ ในการที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง เป็นผู้ที่มีความกระจ่างแจ้งและสนใจประเด็นปัญหาต่างๆ ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

อนึ่ง ประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผล ต้องการพลเมืองที่ยอมรับว่า ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ก็โดยการเจรจาต่อรองประนีประนอม และคำนึงถึงประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆที่แตกต่างออกไป

พลเมืองในระบอบประชาธิแปไตย ต้องการการเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า สามารถที่จะเห็นปัญหาของท้องถิ่น ปัญหาของชาติ และปัญหาของโลกในระยะเริ่มแรก เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการอยู่รอด

พลเมืองควรได้รับการศึกษา เพื่อเตรียมตัวที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทาง และย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลง มากกว่าที่จะปรับตัวตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงประการเดียว

สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะแต่ละบุคคลจำเป็นจะต้องเพิ่ม ทัศนคติ ค่านิยม และทักษะที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพราะสังคมปัจจุบันกำลังเพิ่มการแบ่งแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิผล ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างกัน

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือระหว่างชาติ มีผลมาจากการขาดการสร้างและรักษาความพอใจที่จะเกิดจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ความไม่เชื่อถือต่อกัน ความเป็นศัตรู และการปฏิเสธ เหล่านี้จะต้องแก้ไขด้วยการเรียนรู้

เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอของเทคโนโลยี การเพิ่มสมรรภาพของการสื่อสารของโลก และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแรงงานที่ทำงานในภาคทันสมัยเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมขนาดย่อม ช่างฝีมือ และประชาชนในภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลทำให้เพิ่มความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆมากขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อการเป็นทรัพยากรมนุษย์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการการเรียนรู้ จะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศตนเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะลอกเลียนแบบการศึกษาของประเทศอื่น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะจะเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้เกิดการแปลกแยกและเกิดปัญหาต่างๆตามมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                              การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
                                   แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ ก็สามารถทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประเทศกำลังพัฒนากับความสัมพันธ์ที่ถูกครองงำ

คำว่า ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Developing Countries  เป็นคำที่เกิดขึ้นหลังคำว่า ประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Underdeveloped Countries  โดยถือเอาสภาพทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด ยึดเอามาตรฐานของประเทศอุตสาหกรรมเป็นเกณฑ์ ในการที่จะบอกว่าประเทศใดด้อยหรือไม่ด้อยพัฒนา

ส่วน ประเทศพัฒนาแล้ว   ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Developed Countries หมายถึง ประเทศที่ร่ำรวย มีลักษณะทางเศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรม เช่น ประเทศใน ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย เป็นต้น

แต่เมื่อประเทศด้อยพัฒนา มีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น คำว่า ประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายไม่ดี (derogatory) คำว่า ประเทศกำลังพัฒนา จึงถูกนำมาใช้แทน อันเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในช่วงของการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นคำที่ได้รับการยอมรับ และนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ความหมายของคำว่า ประเทศกำลังพัฒนา จึงหมายรวมถึง ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อย ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศล้าหลัง  และ ประเทศยากจน  ข้อแตกต่างที่สำคัญของประเทศเหล่านี้ อยู่ที่ความมากน้อยของความยากจน

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะผูกพันพึ่งพิงอยู่กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในด้านการค้า การช่วยเหลือทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และปัจจัยประเภททุนต่างๆ  จึงทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอิทธิพลครอบงำเหนือประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับประเทศพัฒนา คือ การรับเอา ทัศนคติ มาตรฐานความเป็นอยู่  และรูปแบบของสถาบันต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาใช้

การรับเอารูปแบบโครงสร้างทางการศึกษาที่ไม่เหมาะสมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรหรือระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาก็เช่นเดียวกันกับการศึกษาในระดับอื่นๆ  คือไม่สามารถสนองตอบความต้องการเชิงพัฒนาได้  ความยอดเยี่ยมของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนานั้น ยังวัดจากความมีมาตรฐานทางวิชาการ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล มากกว่าที่จะวัดจากการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนมีการศึกษาสูง มีความรู้ มีประสบการณ์ และความชำนาญในแขนงวิชาชีพต่างๆ หาทางอพยพไปทำงานยังต่างประเทศ ก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพขึ้นในประเทศ  อันจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ขัดขวางความเจริญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

การนำเอารูปแบบขององค์การและสถาบันต่างๆทางการเมืองมาใช้ โดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศ ก็เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง จนอาจกล่าวได้ว่า ความวุ่นวายทางการเทืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ชนชั้นนำพยายามนำรูปแบบการปกครองประเทศแบบที่ใช้ในประเทศพัฒนามาใช้ แต่นำมาใช้อย่างบิดเบือน ความขัดแย้งในบ้านเมืองจึงเกิดขึ้น

รูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น การรับเอา ค่านิยม ทัศนคติ และมาตรฐานจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้ ก่อให้เกิดปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงและอื่นๆ จากชนชั้นอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง และเพื่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงสังคมที่พัฒนาแล้วนั่นเอง

การที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องพึ่งพิงประเทศที่พัฒนาแล้วแทบทุกด้าน ทำให้ความหวังที่จะพัฒนาให้รู้จักพึ่งพิงตนเองมีโอกาสน้อยลง  ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมักจะมีอิทธิพลเหนือประเทศกำลังพัฒนา และพยายามที่จะแสวงหาอำนาจและผลประโนชน์จากประเทศกำลังพัฒนา โดยออกกฎเกณฑ์ต่างๆแล้วอ้างว่าเป็นกติกาสากล ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์ของตน และที่น่าหดหู่มากกว่านั้น ก็คือการที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นโดยไม่มีเงื่อนไข หรือมีข้อสงสัยใดๆ กลับแสดงความภาคภูมิที่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

มื่อเป็นเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ตราบใดที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ยังถูกครอบงำ หรือยอมให้ประเทศพัฒนาครอบงำ จนจมปลักอยู่กับความคิดที่จะพัฒนาประเทศตามแนวทางที่ประเทศพัฒนาชี้นำ โดยไม่หันมาพัฒนาประเทศตามศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่  โอกาสที่จะพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาตนเอง ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

โลกาภิวัตน์อาจนำประเทศกำลังพัฒนาไปสู่โอกาสใหม่ๆ  เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำความเสี่ยงใหม่ๆเข้ามา เป็นความเสี่ยงที่สามารถทำลายความสมบูรณ์ของประเทศกำลังพัฒนาได้ เพราะโลกาภิวัตน์เป็นอุดมการณ์ที่ประเทศมั่งคั่งร่ำรวยสร้างขึ้นมา

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้เรียนต้องการอะไรจากการศึกษา

ผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการอันจำเป็น(need)อยู่จำนวนหนึ่ง เป็นความต้องการที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินชีวิตและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความต้องการเหล่านี้จะต้องได้รับการตอบสนองโดยระบบสังคมต่างๆในสังคม ชีวิตจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีความสุข

สำหรับระบบการศึกษา ผู้เรียนมีความต้องการที่จะได้รับการตอบสนองในเรื่องต่อไปนี้

          1. การรู้หนังสือ  เป็นความต้องการของผู้เรียน ในการที่จะสามารถอ่านออกเขียนได้โดยใช้ภาษาของตน อันจะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้  และช่วยให้สามารถค้นคว้าหาความรู้ที่ตนต้องการต่อไปได้

          2. การรู้จักหลักธรรมชาติ  เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะรู้และเข้าใจหลักความจริงของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ไม่หลงงมงายเชื่อถือโชคลาง หรืออำนาจลึกลับ การรู้จักหลักธรรมชาติจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล อันจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปโดยสอดคล้องกับธรรมชาติและมีความสุขได้

          3. การมีงานทำและมีรายได้  เป็นความต้องการของผู้เรียน ในการที่จะได้รับการฝึกฝนทางด้านอาชีพ และสามารถประกอบอาชีพการงานได้ ตลอดจนมีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ อย่างน้อยก็มีรายได้ขั้นต่ำ  อันจะเป็นเครื่องประกันว่า บุคคลจะไม่ต้องประกอบมิจฉาชีพ และมีช่องทางที่จะเจริญก้าวหน้าไปในสายอาชีพของตน

          4. สุขภาพและอนามัย เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการแนะนำและฝึกฝนให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติในการรักษาความสะอาดและสุขภาพของตน อันจะนำไปสู่การดำรงชีพที่ผาสุกวิธีหนึ่ง

          5. ความสามารถในทางศิลปะและดนตรี เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการสอนและฝึกฝน ให้รู้จักหาความเพลิดเพลินจากการฟัง การชม หรือการแสดงด้วยตนเอง จากงานศิลปะและดนตรี หรือการร้องรำต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลหาความเพลิดเพลินอารมณ์ได้ และเข้าสมาคมกับผู้อื่นได้

          6. ความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการสั่งสอนอบรมให้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล และสอดคล้องกับสถาบันต่างๆในสังคม อันจะนำไปสู่ความราบรื่นผาสุกในการดำรงชีพในสังคม

           7. การจักแก้ปัญหา เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการฝึกการอบรมสั่งสอนให้รู้วิธีการและมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับตน ซึ่งจะช่วยแก้ไขสิ่งที่เป็นทุกข์ให้หมดไป หรือมีเหลือน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นสุขได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการจะได้จากการศึกษา เพื่อการดำรงชีพที่มีความสุข หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งชีวิตก็จะมีความสุขได้ยาก

แต่จาการศึกษา พบว่าการศึกษาไทยไม่ได้ตอบสนองความต้องการต่อไปนี้ได้มากเท่าที่ควร ได้แก่ ความต้องการการรู้หนังสือ การทำงานและมีรายได้ และความต้องการการรู้จักแก้ปัญหา

การรู้หนังสือ   พบว่าผู้เรียนที่เรียนจบระดับประถมศึกษาจำนวนมาก ที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ดีเท่าที่ควร  แต่มีความพยายามจัดให้ผู้เรียนในระดับประถมศึกษาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมาอีก โดยอ้างความจำเป็นต่างๆนานา ผลสุดท้ายเด็กไทย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความจริงการรู้ภาษาต่างประเทศไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ค่อยเรียนในชั้นมัธยมศึกษาน่าจะดีกว่า เพราะภาษาไทยเป็นภาษาของชาติ มีความจำเป็นต้องใช้มากกว่าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ

การทำงานและมีรายได้ การศึกษาไทยแทบทุกระดับ สอนหนักไปในทางทฤษฎี ละเลยการปฏิบัติ  ตลอดจนไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งสอนให้ผู้เรียนเรียนเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น จนผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำงานในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ได้ จัดได้ว่าการศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่ผลิตคนเพื่อทำงานในเมือง  เป็นการศึกษาที่ไม่อาจเปลี่ยนค่านิยมการทำงานที่รังเกียจงานใช้มือได้

การรู้จักการแก้ปัญหา พบว่าผู้จบการศึกษาไทยแทบทุกระดับเป็นคนคิดไม่เป็น ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่รู้จักการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะ การศึกษาไทยแทบทุกระดับ มีวิธีสอนที่ครูอาจารย์มีหน้าที่บอก ผู้เรียนมีหน้าที่จด จำและนำไปปฏิบัติ โดยไม่ได้รับการฝึกฝนให้รู้จักการแก้ปัญหาหรือศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เมื่อจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น ก็แสดงความคิดเห็นตามตำรา  ซึ่งหลายครั้งที่ไม่ตรงกับบริบทของสังคมไทย จนเกิดความขัดแย้งขึ้น หาความสุขได้ยาก


นั่นคือ ถ้าต้องการให้คนไทยดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติสุข การศึกษาไทยจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวแล้ว โดยเพิ่มความสำคัญในการตอบสนองความต้องการการรู้หนังสือ การมีงานทำและมีรายได้ และความต้องการการรู้จักแก้ปัญหาให้มากกว่าชึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                     การศึกษาที่ให้คนเรียนรู้ แล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้นั้น เป็นการศึกษาที่สูญเปล่า
                         เป็นการศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสังคมทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมได้

                                                                                   บรรจง ชูสกุลชาติ
                                                                       อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทำไมการศึกษาของแต่ละประเทศจึงต้องแตกต่างกัน

ประเทศที่มองตัวเองว่าด้อยพัฒนา มักพยายามจัดการศึกษาด้วยการกำหนด รูปแบบ จุดมุ่งหมาย และระบบการศึกษา ให้เหมือนการศึกษาในประเทศพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศพัฒนาทั้งหลาย

ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะความจริงแล้ว แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในหลายปัจจัย การจัดการศึกษาจะต้องจัดให้สอดคล้องกับความแตกต่างของปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละประเทศ ซึ่งได้แก่

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา  เช่น การจัดการศึกษาของประเทศแถบทะเลทราย จะต้องแตกต่างไปจากประเทศที่อยู่ติดกับทะเล การศึกษาในประเทศที่มีอากาศหนาว จะต้องแตกต่างไปจากการศึกษาในประเทศที่มีฝนตกชุก เป็นต้น มิฉะนั้นมนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์นั้นๆได้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการจัดการศึกษาที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือ ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะสามารถจัการศึกษาได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงทุกระดับการศึกษา มีอุปกรณ์การศึกษา ครูอาจารย์ อาคารสถานที่ครบถ้วน พร้อมที่จะให้บริการการศึกษาที่ดี ส่วนประเทศที่มีฐานะยากจน ก็อาจมีปัญหาในการจัดการศึกษา โดยไม่อาจจัดการศึกษาเหมือนประเทศที่มีเศรษฐกิจดีได้ อาจจะขาดแคลนอุปกรณ์การศึกษา ครูบาอาจารย์ ไม่พร้อมที่จะให้บริการเหมือนประเทศที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย อีกประการหนึ่ง การศึกษามีหน้าที่สำคัญในการผลิตกำลังคน เพื่อการผลิตและบริการในภาคเศรษฐกิจ  เป็นกำลังคนที่มีความรู้ และทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศนั้นๆ ประเทศที่คนส่วนส่วนใหญ่ทำการเกษตร การศึกษาก็ต้องให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งแตกต่างจากประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องต้องผลิตกำลังคนไปอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แตกตต่างไปจากเศรษฐกิจการเกษตร

ปัจจัยทางศาสนา ศาสนามีอิทธิพลต่อกระบวนการศึกษามาก เพราะศาสนาเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ ระบบการศึกษาของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ผู้นับถือศาสนาคริสต์ และของผู้นับถือศานาอิสลาม ย่อมจะต้องแตกต่างกัน ทั้งเพราะแนวทางการสอน การประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นคนดีในสังคมแตกต่างกัน บางศาสนาอาจมีพระเจ้า แต่บางศาสนาอาจไม่มี

ปัจจัยทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง มีอิทธิพลเหนือจุดมุ่งหมายของระบบการศึกษามานานแล้ว การมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม  คอมมิวนิสต์ จะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกัน การศึกษามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศ  ทั้งนี้เพื่อความมีอุดมการณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว และรักษาความชอบธรรมของผู้มีอำนาจทางการเมือง

ปัจจัยทางสังคม การศึกษาจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ เพราะสถาบันการศึกษาเป็นสังคมย่อยของสังคมในประเทศ  ระบบการศึกษาในสังคมแบบดั้งเดิมจะต้องแตกต่างจากระบบการศึกษาของสังคมสมัยใหม่    แต่หากสังคมใดประชาชนสนใจที่จะรู้หนังสือเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้การศึกษาทุกระดับได้รับการปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น

ปัจจัยทางภาษา ภาษาเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้การศึกษาเจริญเติบโต ชาติที่มีภาษาเดียวจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกว่าชาติที่มีหลายภาษา  จะเห็นว่าเมื่อประเทศที่มีหลายภาษาพยายามใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาประจำชาติ จะได้รับการต่อต้านจากลุ่มที่ใช้ภาษาอื่น เกิดความแตกแยก  นอกจากนั้น การสอนภาษาที่แตกต่างย่อมมีวิธีสอนที่แตกต่างกันไปด้วย

ด้วยปัจจัยดังกล่าว การจัดการศึกษาของแต่ละประเทศจึงต้องแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้จบการศึกษา ที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา ไม่ก่อปัญหาให้กับประเทศชาติอันเนื่องมาจากการจัดการศึกษาแบบผิดๆ อันเกิดจากการลอกเลียนรูปแบบการศึกษาจากประเทศพัฒนามาใช้ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

                                 การลอกเลียนการศึกษาจากประเทศพัฒนา
                                 เป็นวิธีที่ง่าย  แต่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ

*****************************************************************