วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562

วัฒนธรรมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

วัฒนธรรม หมายถึงวิถึชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวล ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม

ส่วนการทำงานเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลผลิต สังคมใดที่สมาชิกในสังคมทำงานหนัก สังคมนั้นจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเป็นประเทศพัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด

แต่ระบบการทำงานของแต่ละสังคม จะถูกกำหนดโดยความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะกำหนดคุณค่าให้กับงาน แรงจูงใจที่จะะทำงาน และความหมายของการทำงานให้แตกต่างกันออกไป

ความแตกต่างของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จึงเกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่

ค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนา จะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

David C. McClelland  ผู้แต่งหนังสือ The Achieving Society. เห็นว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมักจะมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้

1. มีวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานแบบเดิมๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและวิธีการทำมาหากิน เต็มใจที่จะละทิ้งการกระทำแบบเดิมๆ และเทคนิคต่างๆที่ใช้อยู่เดิม แล้วหันไปรับสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม

2. มีการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ใช้ได้กับทุกคนในลักษณะที่เสมอภาค ยึดลัทธิสากลนิยม(universalism)

3. บุคคลในสังคมได้รับสถานภาพทางสังคมโดยอาศัยความสำเร็จส่วนตัว ส่วนในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญอย่างช้าๆ สถานภาพของบุคคลมักจะได้มาโดยกำเนิด

4. มักจะเน้นความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และการเป็นผู้รู้จักใช้จ่าย

5. เป็นสังคมที่ปราถนาความก้าวหน้า และเน้นบากบั่นการทำงานหนัก ว่าเป็นเครื่องช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายต่างๆ

หากนำความคิดเห็นของ McClelland มาวิเคราะห์สังคมไทยจะพบว่า มีหลายลักษณะของคนไทยที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ คนไทยไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง ไม่รู้จักประหยัดการใช้จ่าย และไม่ค่อยจะบากบั่นทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ซึ่งผลของการวิเคราะห์สอดคล้องกับผลของการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ที่พบว่า คนไทยมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะต่อไปนี้ คือ

1 แนวความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน มีดังนี้ (1)การทำงานเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความดีในตัวมันเอง (2) การทำงานและการหาความสนุกเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ (3)การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเอาชนะสภาพแวดล้อมเป็นการกระทำที่เป็นไปได้ยาก (4) การทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (5) การสะสมทรัพย์อันหามาได้จากการทำงานไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

2. ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ (2)ต้องการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (3) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยง (4) ต้องการทำงานที่มีอิสระ

3.พฤติกรรมการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ไม่มีการวางแผนในการทำงาน (2). มีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว (3) ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (4)ไม่มีวินัยในการทำงาน

4.การฝึกอบเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก มีลักษณะดังนี้ (1) ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง (2)ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ

จะเห็นว่า วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย อันได้แก ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมการทำงาน และการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก  มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนไทยตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความรับผิดชอบอย่างจริงจังของสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา  เศรษฐกิจไทยจึงจะพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน   
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มของผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การศึกษาเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สุด ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์เป็นทรัพยากรที่เอื้อต่อการพัฒนา 

ในขณะเดียวกัน หากมีการจัดการศึกษาแบบผิดๆ ไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และระบบการเมืองของประเทศ การศึกษาก็จะเป็นการเครื่องมือทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้เช่นกัน

สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศมีลักษณะดังนี้

1. ระบบการศึกษาและหลักสูตรไม่ควรลอกเลียนแบหรือนำเข้าจากต่างประเทศ หรือสังคมที่ต่างวัฒนธรรมออกไป แต่ควรสร้างขึ้นมาเอง เพื่อว่าระบบการศึกษาจะได้สนองตอบความต้องการและแก้ปัญหาที่ปรากฎอยู่ในสังคมได้มากขึ้น นั่นคือ ผู้สร้างหลักสูตรจต้องมีคำตอบเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้ก่อนที่จะสร้างหลักสูตร คือ

          1.1 จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่ประเทศต้องการคืออะไร ทั้งนี้เพื่อจะได้สร้างหลักสูตรให้สนองตอบความต้องการดังกล่าว

          1.2 เราต้องการให้เด็กของเราโตขึ้นเป็นพลเมืองประเภทใด

2. เป็นระบบการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนภูมิใจในชุมชน สังคมและประเทศชาติของตน เป็นการศึกษาที่สร้างความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม

3. ส่วนหนึ่งของหลักสูตรควรจะเน้นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ ปัญหาที่มีส่วนสร้างความทุกข์เข็ญให้กับประชาชนส่วนใหญ่ การศึกษาจะต้องสร้างทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความยากจน การศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้ทราบถึงสาเหตุ ตลอดจนแนวทางและทักษะในการแก้ปัญหาความยากจน  เป็นต้น

4. เป็นระบบการศึกษาที่เกื้อหนุนให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตัวเอง(self-reliance) โดยเชื่อว่าตนเองสามารถทำอะไรก็ได้ หากใช้ความพยายาม เชื่อว่าความสำเร็จของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือพรหมลิขิต

5. เป็นระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีทักษะที่จำเป็นต่อการที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

6. เป็นระบบการศึกษาที่มุ่งเพัฒนาความรู้ ทักษะ ค่านิยม และสมรรถภาพในการทำงาน โดยเปลี่ยนค่านิยมในการทำงาน การเลือกงาน สามารถสร้างงานและประกอบอาชีพอิสระได้

7. เป็นระบบการศึกษาที่สร้างบุคลิคภาพเพื่อส่วนรวม(collective personality)  คือเป็นผู้มุ่งประโยชน์ส่วนรวมควบคู่ไปกับประโยชน์ส่วนตนเสมอ เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรรม

8. เป็นระบบการศึกษาที่สร้างรูปแบบของพฤติกรรมใหม่ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนา โรงเรียนจะต้องขยายขอบข่ายความเข้าใจและความสนใจของผู้เรียนให้กว้างขวางออกไป เน้นความคิด สถานที่ กิจกรรมและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะลดความสำคัญของอดีตลง ตลอดจนสิ่งต่างๆที่ประชาชนสัมพันธ์อยู่เองตามธรรมชาติ นอกจากนั้น โรงเรียนควรเพิ่มทางเลือกให้แก่นักเรียน ซึ่งได้แก่การทำงาน เพื่อน ฯลฯ

9. เป็นระบบการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับการทำงาน ด้วยการรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับโลกของการทำงาน เน้นเนื่อหาที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติ เพื่อว่าผู้จบการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีหลังจากจบการศึกษา

หากประเทศจัดการศึกษาในแนวทางดังกล่าวนี้ จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติเป็นส่วนรวม แต่หากจัดการศึกษาในลักษณะตรงกันข้าม จะเกิดความสูญเปล่า ที่ไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคำ

ทุนมนุษย์ เป็นพลังงาน ทักษะ พรสวรรค์ และความรู้ของประช่าชน ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและบริการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
                                                                         Frederick  Harbison

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

การเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่หากการศึกษามีรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะต่อไปนี้ จัดเป็นการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา

การเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมต่อแนวโน้มของการพัฒนา เริ่มจากการเรียนการสอนซึ่งใช้วิธีการจำเป็นสำคัญ โดยจะจำสิ่งที่ดีที่สุดในอดีต เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งศึกษาความดีที่มีมาในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรที่จะเรียนรู้ กิจกรรมการเรียน คือการจำแบบนกแก้วนกขุนทอง นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และเขียน  โดยนักเรียนมีกิจกรรมเหมือนๆกัน

กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำ และสอบ โดยครูใช้วิธีการควบคุมความประพฤติ ซึ่งผลที่ได้จาการเรียนแบบท่องจำ คือ

          1. มีความจำที่ถูกต้องและแน่นอน มีความเชื่อฟังต่อระเบียบวินัย

          2. มีจิตใจที่จะเก็บรักษาสิ่งต่างๆได้ดี มีสติปัญญตามรูปแบบ

          3. มีลักษณะยอมรับอดีต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

          4.มีความพอใจที่ได้เรียนรู้เรื่องในอดีต เพื่อประโยชน์ของอดีต

จะเห็นว่า การเรียนการสอนแบบท่องจำ  ไม่ได้สนับสนุนการเป็นผู้นำหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กลับซ้ำร้ายกว่านั้น ยังพบว่า เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกหัดรับข้อมูล แทนที่จะเน้นการเข้าใจและการสร้างสรรค์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้เรียนส่วนมากใช้เวลาในโรงเรียนเพื่อสร้างสมและเก็บ"ความคิดเฉื่ิอย(inert ideas"ไว้ โดยไม่ได้นำไปใช้หรือทำการทดสอบ

ระบบโรงเรียนในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ถึงความจริงแท้ของชีวิตที่เป็นอยู่ในประเทศ จึงเป็นความล้มเหลวต่อการที่จะตอบสนองความต้องการทางสังคม

นอกจากนั้น ยังพบว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา เน้นการเรียนวิชาสามัญตามทฤษฎี  เพื่อออกไปเป็นเสมียนหรือข้าราชการที่มีทัศนคติต่การทำงานไม่ต่างไปจากผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษามากนัก มีผลทำให้เกิดลักษณะ ดังต่อไปนี้

          1. การเรียนการสอนไม่ได้สร้างทักษะที่เพียงพอ

          2. ระบบโรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะผู้จบการศึกษาไม่ได้รับการศึกษาอบรมเพื่องานอาชีพ

          3. วิชาการและการเรียนการสอนตามตำรา จะได้ผู้จบการศึษาที่มีทัศนคติชอบงานในสำนักงาน(white collar attitude)

เมื่อสภาพการเรียนการสอนเป็นเช่นนี้ จึงจัดเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า อันเนื่องมาจาก จุดมุ่งหมาย เนื้อหา วิธีการ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ป้อนเข้าในระบบการศึกษาไม่เหมาะต่อการพัฒนา

สิ่งที่ระบบการศึกษาทำได้ มักจะเป็นการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ คนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ทำอะไรไม่ค่อยจะเป็น หรือไม่กล้าทำอะไร รวมทั้งไม่ค่อยชอบทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้จบการศึกษาส่วนมากมีลักษณะไม่ค่อยจะสอดคล้องกับความต้องการแรงงาน

การเตรียมอาชีพโดยการให้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร เป็นการเตรียมที่ไม่เพียงพอกับโลกของการทำงาน เพราะไม่ช่วยให้คนมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ มีหลักในการทำงาน มีความคิดริเริ่ม มีความกระตือรือร้น มีความเสมอภาคในการปรับตัวและการเรียนรู้ อันจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความหมายมากขึ้น

นอกจากการศึกษาจะผลิตคนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพแล้ว บางครั้งยังมีแนวโน้มที่จะผลิตคนที่มีการศึกษาไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจออกมามากเกินไปอีกด้วย เช่น แทนที่จะผลิตคนที่มีความรู้ทางช่างเทคนิค หรือกำลังคนที่มีทักษะทางอาชีพต่างๆ กลับผลิตคนที่มีความรู้สายสามัญ

ในระดับกำลังคนระดับสูงก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะผลิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการเกษตร กลับผลิตบัณฑิตด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาตร์ นิติศาสตร์ และศิลปศาตร์ ออกมา เพราะผลิตได้ง่ายกว่าและสังคมยอมรับเท่ากัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา

กล่าวโดยสรุปก็จะได้ว่า การเรียนการสอนที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นระบบการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม กลับผลิตคนที่มีแนวความคิด ค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อแนวโน้มการพัฒนา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

        การทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใครที่ไม่ทำงาน ถือว่าผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

*********************************************************************************