วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของปีเตอร์ ดรัคเกอร์

ในปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ทางด้านบริหาร ได้เขียนหนังสือชื่อ Post Capitalist Society   หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไว้ดังนี้

          1. โลกในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ความเชื่อ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนโลกทัศน์ ซึ่งในยุคปัจจุบันคาดไม่ถึง โดยมีความรู้เป็นทรัพยากรและเป็นรากฐานที่สำคัญ

          2. สังคมแห่งการเรียนรู้  เป็นสังคมยุคหลังทุนนิยม เป็นสังคมที่ต้องใช้ความรู้ในการทำงาน  ผู้บริหารที่มีความรู้  จะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการผลิต แบบเดียวกับที่นายทุนเคยใช้ทุนให้เกิดประโยชน์ ความรู้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตควบคู่ไปกับทุนและแรงงาน

          3. ผลิตภาพของความรู้ เป็นตัวกำหนดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และสังคม ของแต่ละประเทศ

          4. การปฏิวัติด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเเรียนการสอน และจะเปลี่ยนแปลงไปจนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบการศึกษา

           5. ในสังคมแห่งความรู้ ผู้คนจะต้องเรียนรู้ที่จะเรียน สังคมยุคหลังทุนนิยมต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้  มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าปราศจากความรู้พื้นฐานแล้ว จะไม่สามารถมีสมรรถภาพระดับสูงในสังคมหลังทุนนิยมและสังคมแห่งความรู้ได้

ทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์ อัลวิน ทอฟเฟลอร์ และปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ที่กล่าวมาทั้งหมด  จะเห็นว่ามีแนวคิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจแตกต่างในรายละเอียด
  
อย่างไรก็ตาม จากทัศนะของนักอนาคตวิทยาทั้ง 3 ท่าน สามารถสรุปแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้ดังนี้

                  1) สังคมในอนาคต เป็นสังคมแห่งความรู้  สังคมแห่งการเรียนรู้  หรือสังคมสารสนเทศ

                  2) เทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างของครอบคัว การทำงาน และการเรียนรู้เปลี่ยนไป

                  3) ความรู้ สารสนเทศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิต และเป็นที่มาของอำนาจ

                  4) ความรู้ทางศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ สตรีเป็นผู้นำมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และมีการพึ่งตนเองมากขึ้น

                   5) มีเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจเสรี เป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน มีการแข่งขันแบบเสรีทั่วโลก

                   6) การบริหารจัดการ  มีการกระจายอำนาจ มีความสัมพันธ์แบบเครือข่าย และมีการตัดสินใจร่วมกัน

                   7) การปกครองจะเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

                   8) สถาบันการศึกษาและรูปแบบการศึกษา จะมีความแตกต่างไปจากปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเห็นได้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ
               ---------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                    ธรรมะคือ หน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ  ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
                                                                                          พุทธทาสภิกขุ
                                -------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ อัลวิน ทอฟเฟลอร์

อัลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) ได้เขียนหนังสือชื่อ The Third Wave   โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ 2523 (ค.ศ.1980) โดยกล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม หลังจากผ่านคลื่นลูกที่หนึ่งคือสังคมเกษตร และคลื่นลูกที่สองคือสังคมอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่สามคือสังคมเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

          1. อุตสาหกรรม  จะไม่อาศัยเพียงเครื่องจักรกลไฟฟ้าอีกต่อไป แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ผสมผสานวิธีการทางวิทยาศาตร์แขนงใหม่ๆ  เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะในการผลิตสูงขึ้น และมีการวิจัยควบคู่ไปกับการผลิต
 
           2. คอมพิวเตอร์  ถูกใช้เชื่อมต่อ ธนาคาร ร้านค้า บ้าน องค์การรัฐบาลและสถานที่ทำงาน  ทำให้เกิดวงจรทางธุรกิจ มีผลทำให้ลักษณะการทำงาน และโครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนไป คอมพิวเตอร์จะกลายเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน

           3. โครงการพัฒนา จะควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี และจะส่งผลต่อการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนสารสนเทศมากมายมหาศาล  จนเข้าสู่สังคมสารสนเทศ

           4. บ้าน จะกลายเป็นทั้งสถานที่ทำงาน สถาบันครอบครัว และโรงเรียน

           5. การกระจายอำนาจ  กลายเป็นคำที่แพร่หลายในการจัดการ องค์การขนาดใหญ่จะปรับให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้มีอิสระมากขึ้น  และสามารถหากำไรเลี้ยงตัวเองได้ ลำดับชั้นในองค์การและผู้บริหารระดับสูงจะน้องลง

            6. วัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ใช้ในทุกอุตสาหกรรมคือสารสนเทศ  และสารสนเทศจะกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิตมากกว่าเดิม ทำให้โครงสร้างทางการศึกษาและระบบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป

             7. ระบบการศึกษา  จะเปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน มากกว่าภายในห้องเรียน ระยะเวลาของการศึกษาภาคบังคับจะสั้นลง การศึกษาจะปะปนและเกี่ยวพันกับการทำงานมากขึ้น และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต

             8. คนในยุคคลื่นที่สาม ต้องการความสมดุลในชีวิต  ระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนหย่อนใจ ระหว่างการผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายกับการผลิตเพื่อบริโภค  และระหว่างงานใช้สมองกับงานใช้มือ

ในปีพศ.2533 (ค.ศ.1990) เขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อ Power Shift โดยมุ่งที่จะกล่าวถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ 3 แหล่ง คือ ความรุนแรง ความมั่งคั่ง และความรู้ แต่อำนาจที่มีคุณภาพ  คืออำนาจที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

สังคมในอนาคต นอกจากความรู้จะทำให้เกิดอำนาจแล้ว ความรู้ยังทำให้เกิดความมั่งคั่ง  ควบคุมสังคม และเป็นแหล่งอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
                    ---------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                         ความเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดปัญหาทุกชนิด
                       ปัญหาใดๆ วิกฤตการณ์ใด ที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัวนั้นไม่มี
                                                                   พุทธทาสภิกขุ
                                            ------------------------------------------------------

       

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์ และ อเบอร์ดีน

ในปีพ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) จอห์น ไนซ์บิตต์ และ อเบอร์ดีน (Aburdene) ได้เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ "Megatrends 2000" โดยเพิ่มแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงชุดที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดังนี้

          1. ตั้งแต่ ค.ศ.1990 เศรษฐกิจโลกไร้พรมแดนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ประเทศต่างๆจะหันมาสนใจด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านการเมือง  มีการแข่งขันเสรีทั่วโลก โทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญ ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติและภาษีจะลดต่ำลง ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะมีขนาดเล็กลง  เงินเฟ้อและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การบริโภคในทวีปเอเซียจะเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของประชาธิปไตยและวิสาหกิจ ความเสี่ยงของสงครามมีจำกัด มีความตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมมากขึ้น

           2. มีการฟื้นฟูศิลปะใหม่ๆ เพราะความมั่งคั่งทำให้คนสนใจศิลปะมากขึ้น

           3. เกิดระบบสังคมนิยมตลาดเสรี  เศรษฐกิจแบบตลาดเสรีจะกลายเป็นเป้าหมายของประเทศสังคมนิยม

           4. เกิดรูปแบบของชีวิตโลกไร้พรมแดนและมีวัฒนธรรมแบบชาตินิยมในหลายส่วนของโลก  มนุษย์จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมแบบชาตินิยมขึ้นใหม่

           5. มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะเปลี่ยนสวัสดิการของรัฐไปเป็นของเอกชน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆทั่วโลก

           6. ประเทศชายขอบมหาสมุทรแปซิฟิก (The Pacific Rim)  จะมีความมั่งคั่ง มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 5 เท่าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

            7. สตรีจะเข้าสู่ตำแหน่งของความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น  โดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างลักษณะความเป็นผู้ชายเพื่อจะเป็นผู้นำอีกต่อไป

            8. ประเทศทั้งหลายจะเข้าไปสู่ยุคเทคโนโลยีชีวภาพ  โดยเปลี่ยนจากฟิสิกส์เป็นชีววิทยา  ซึ่งนำไปสู่ความสนใจที่จะดูแลสุขภาพ การปรับปรุงพืชพันธุ์ให้ดีขึ้น ตลอดจนมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ

            9. ความเชื่อทางศาสนาจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่  และจะมีความหนักแน่นมากขึ้น

           10.ในหลายประเทศ การทำงานเป็นกลุ่มได้สิ้นสุดลง ปัจเจกชนที่เป็นผู้ประกอบการจะมีอำนาจมากขึ้น  สามารถแสวงหาโอกาสเพื่อชับชนะในการประกอบธุรกิจได้มากขึ้น

แนวโน้มดังกลาวนี้  เป็นแนวโน้มเข้าสู่ยุคสารสนเทศ  เทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้รับการพัฒนาจะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น และการเรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ จนเกิดยุคการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี (Technology-Learning Era) ซึ่งจะผลักดันให้เกิดขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
                                 -------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                                       ผู้มีสติ  คือผู้ตื่นรู้

                                                                  ว.วชิรเมธี
                                                 --------------------------------------------
 

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะของ จอห์น ไนซ์บิตต์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีหลักฐานยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี และรูปแบบทางสังคม โดยเฉพาะเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามาก จนมีอิทธิพลเหนือระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

สำหรับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงนั้น  นักอนาคตวิทยา ได้เขียนหนังสือ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไว้หลายเล่ม เล่มแรกที่จะพูดถึง เป็นผลงานของ จอห์น ไนซ์บิตต์

จอห์น ไนซ์บิตต์ ได้เขียนหนังสือชื่อ  "Megatrends: Ten New Directions Transforming Our Lives" ในปี พ.ศ. 2525  กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงว่า ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง 10 แนวโน้ม ดังต่อไปนี้

แนวโน้มแรก จะเปลี่ยนแปลงจากสังคมอุตสาหกรรม  เป็นสังคมสารสนเทศ และทำให้มนุษย์หิวความรู้มากขึ้น

แนวโน้มที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการถูกบังคับด้วยเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สร้างระบบค่านิยมที่มีความเป็นส่วนบุคคลสูงขึ้น

แนวโน้มที่ 3 เศรษฐกิจ  จะเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจประเทศเป็นเศรษฐกิจโลก

แนวโน้มที่ 4 จะเปลี่ยนแปลงจากการจัดการที่มีการวางแผนระยะยาว  มาเป็นการจัดการที่วางแผนระยะสั้นเพื่อจะได้ทำกำไรรวดเร็ว

แนวโน้มที่ 5  สถาบันต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน จะเปลี่ยนจากองค์การที่รวบอำนาจมาเป็นการกระจายอำนาจมากขึ้น  ทำให้องค์การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

แนวโน้มที่ 6 มีการพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น การพึ่งตนเองเกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา และบริการพิเศษต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีและแหล่งข้อมูลที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น  ปัญหาสุขภาพหลายอย่างสามารถวินิจฉัยและรับบริการโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้าน การศึกษาอบรมพิเศษเพื่อปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น หรือเพื่อการอาชีพใหม่ๆ  สามารถกระทำได้โดยใช้เทคโนโลยี เช่น เครือข่ายดาวเทียม  การเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนทางไกล เป็นต้น

แนวโน้มที่ 7 จะมีการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ไปเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยคนที่ได้รับผลกระทบจาการการตัดสินใจทางการเมือง ขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

แนวโน้มที่ 8  มีการเปลี่ยนรูปแบบจากองค์การที่มีลำดับชั้นตามแบบเดิม ไปเป็นองค์การที่ใช้กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือร่วมมือกันตัดสินใจ

แนวโน้มที่ 9 การเคลื่อนย้ายประชากรของสหรัฐอเมริกา จะเปลี่ยนจากการเคลื่อนย้ายไปทางเหนือและตะวันออก เป็นการเคลื่อนย้ายไปทางใต้และทางตะวันตก

แนวโน้มที่ 10 ชาวอเมริกันจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น การบริโภค การทำงาน และศิลปะ มีความสนใจที่หลากหลาย  เกิดสังคมที่มีพหุวัฒนธรรม

แนวโน้มทั้ง 10 ประการยนี้ จอห์น ไนซ์บิตต์ ได้ทำนายสังคมอเมริกันเป็นสำคัญ  แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่านอกจากแนวโน้มที่ 9 แล้ว แนวโน้มอื่นๆ สามารถจะเป็นแนวโน้มในอนาคตของโลกได้ทั้งสิ้น แม้แต่แนวโน้มที่ 10 ซึ่งเกี่ยวกับชีวิต จะมีทางเลือกมากขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
                       ------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                                    มันเป็นเรื่องที่ดีถ้าคนเราจะมีความสุขอย่างเรียบง่าย
                                                                                   Henry Miller
                                                              ----------------------------
                                 



วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในต่างประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพรวมของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานชัดเจนชึ้น  จะขอยกตัวอย่างการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของบางประเทศให้เห็นพอสังเขป ดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐานในเยอรมนี
           การบริหารจัดการ  การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ
           หลักสูตร  กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทางการศึกษาของแต่ละรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐไม่ขึ้นต่อกัน   การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง  มีการทบทวนหลักสูตรทุกปีโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นภายในแต่ละรัฐ

การศึกษาขั้นพื้นฐานในฝรั่งเศส
           การบริหารจัดการ การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ
           หลักสูตร หลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นหลักสูตรระดับชาติ  ใช้หลักสูตรเหมือนกันทั้งประเทศ  ทั้งในโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล  หลักสูตรมีรายละเอียดที่ชัดเจนทั้งเนื้อหาและวิธีสอน

การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร
           การบริหารจัดการ การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร มีสำนักงานการศึกษาส่วนท้องถิ่น  มีกรมการศึกษาและวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดูแลการศึกษาในระบบของอังกกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนการศึกษาในสก๊อตแลนด์ กรมการศึกษาของสก๊อตแลนด์เป็นผู้ดูแล  อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลกลางพยายามที่จะควบคุมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากขึ้น  การตัดสินเกี่ยวกับเนื้อหาในหลักสูตร เป็นความรับผิดชอบของแต่ละโรงเรียน  และสำนักงานการศึกษาส่วนท้องถิ่นพยายามที่จะชี้นำมากขึ้นเรื่อยๆ
           หลักสูตร   การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหราชอาณาจักร  ไม่มีหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในระดับชาติ หลักสูตรและกระบวนวิชามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  โดยการพิจารณาจากรายงานของสมาคมครูหรือองค์การต่างๆ

การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหรัฐอเมริกา
            การบริหารจัดการ  การศึกษาขั้นพื้นฐานในสหรัฐอเมริกา  อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ  และ District of Columbia  และมีหน่วยงานระดับเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารเบื้องต้น
             หลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ

จะเห็นว่า แต่ละประเทศมีรูปแบบการบริหารจัดการ  ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรแตกต่างกันไป  แต่มีแนวโน้มที่จะมอบภารกิจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่น  หรือท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
                   ---------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

คนเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด  จะมีคนที่มีสถานะสูงกว่าและมีสถานะต่ำกว่าเสมอ  เพราะเป็นธรรมดาโลก
                                          ---------------------------------------------------------