วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คนแบบไหนที่สามารถพัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ

มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาตนด้วยตนเองได้  ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่ามีคนเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สามารถพัฒนาตนด้วยตนเองได้เต็มศักยภาพ

สำหรับคนที่สามารถตนได้เต็มศักยภาพนั้น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

มีการรับรู้ที่ถูกต้องมากกว่าคนอื่น คือสามารถรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้อง และตรงกับความเป็นจริง มีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวลและไม่มองโลกในแง่ร้าย

ยอมรับตนเองผู้อื่นและธรรมชาติของโลกอย่างที่มันเป็น เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตนและผู้อื่นไม่เกินความจริง อิสระจากการถูกครอบงำ  ยอมรับว่าธรรมชาติมันเป็นเช่นนั้นเอง

มีความเป็นตัวของตัวเองและสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น มีพฤติกรรมที่ไม่เสแสร้ง  แม้บางครั้งจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น

ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง  คือจะมุ่งแก้ที่สาเหตุของปัญหา โดยไม่เอาความรู้สึกของตนเข้าไปเกี่ยว  มีชีวิตเพื่อการทำงาน และทำงานตามเต็มที่ตามหน้าที่และพันธกิจ

ชอบปลีกตัวและต้องการความเป็นส่วนตัว  ไม่กลัวที่จะอยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน ชอบอยู่คนเดียว  ไม่สร้างความผูกพันหรือพึ่งพาคนอื่นมากนัก  เพราะเชื่อในความสมบูรณ์ของตนเอง

ชอบความใหม่มากกว่าแบบเดิมๆ  ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองหรือสิ่งแวดล้อม

เป็นผู้มีวินัยในตนเองและรู้จักกำหนดวิถีชีวิตด้วยตนเอง  เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตน สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้  แม้จะต้องเผชิญกับการปฏิเสธหรือไม่เป็นที่นิยม

เข้าใจมนุษย์และสังคม มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมนุษยชาติ  มีความรักในเพื่อนมนุษย์  มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือคนอื่น  โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนกลุ่มใด

มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์และรักคนไม่มาก  ต้องการเพื่อนแท้ โดยเฉพาะกับคนที่มีลักษณะคล้ายๆกัน  และเมื่อไม่พอใจก็แสดงออกอย่างเปิดเผย

มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตย มีความเคารพผู้อื่นและเห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน  มีความเป็นเพื่อนโดยไม่ยึดเชื้อชาติศาสนา

รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าหมาย  สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของเป้าหมายที่ต้องการกับวิธีที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นได้

มีอารมณ์ขันอย่างมีสติ  เป็นอารมณ์ขันที่ไม่ก่อให้เกิดศัตรู  หรือทำให้คนอื่นเสียหาย ไม่สร้างสถานการณ์ขบขันที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด

มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่าคนอื่น และแสดงออกทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน บุคลิกภาพ และในการทำงาน

การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ มาสโลว์ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา เชื่อว่า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ  แม้สติปัญญาจะช่วยในการพัฒนาก็ตาม  และไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่สมบูรณ์ทุกอย่าง  สำคัญอยู่ที่บุคคลนั้นต้องเข้าใจตนเอง  เข้าใจโลกและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเครื่องชี้นำชีวิตไปสู่ความสุขและความสำเร็จ
                         ------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

การควบคุมตน คือ กระบวนการที่บุคคลใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใดหรือหลายวิธีรวมกัน  เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
                                                           -------------------------------------

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความแตกต่างของมนุษย์

ในทางจิตวิทยามีคำกล่าวว่า No two are exactly alike. คือไม่ใครสองคนที่เหมือนกันทุกประการ ในขณะเดียวกันก็กล่าวว่า No two are exactly different. ไม่มีใครสองคนที่แตกต่างกันทุกประการ แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะมีธรรมชาติและสามัญนิสัยของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ก็ตาม

จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่ามนุษย์มีความแตกต่างในเรื่องต่อไปนี้

 รูปร่างหน้าตา มนุษย์จะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปตามเชื้อชาติ พันธุกรรม และสภาวะแวดล้อม เช่นบุคคลที่มีพ่อแม่สูงใหญ่ ลูกหลานจะสูงใหญ่ไปด้วย  คนแถบขั้วโลกจะมีผิวขาว เป็นต้น

อารมณ์และความรู้สึก  บุคคลแต่ละคนจะมีอารมณ์ต่างกัน บางคนมีอารมณ์ขัน บางคนมีอารมณ์เคร่งเครียด   อารมณ์และความรู้สึกนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่วัยเด็ก และได้รับการปรุงแต่งจากสภาพแวดล้อมให้แตกต่างกันไป   นอกจากนั้น  ยังพบว่ามนุษย์มีความอดทนต่อความกดดันทางอารมณ์และความรู้สึกต่างกัน ตลอดจนฉลาดในการใชัอารมณ์ต่างกันด้วย

ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ  อาจมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ด้านอารมณ์ ตลอดจนอาจเห็นคุณค่าของตนต่ำ  ส่วนคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง อาจมีเพื่อนฝูงมาก สุขภาพกายดี แต่อาจมีปัญหาไปอีกอย่างที่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำไม่มี  ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกัน

สติปัญญาและความสามารถ  ความแตกต่างของสติปัญญาและความสามารถ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและการศึกษาอบรม  การมีสติปัญญาและความสามาถต่างกัน ทำให้มนุษย์แตกต่างกัน คนที่มีสติปัญญาและความสามารถสูง อาจแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่า ทำอะไรก็สำเร็จ ส่วนคนที่มีสติปัญญาและความสามารถต่ำ จะแก้ปัญหาได้ช้า บางครั้งทำให้ชีวิตประสบความล้มเหลว

ความต้องการ ความต้องการทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะทำหรือไม่ทำกิจกรรม การที่แต่ละคนมีความต้องการต่างกัน ทำให้มีพฤติกรรมต่างกัน จริงอยู่มนุษย์อาจมีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกัน เช่น มีความต้องการอาหารเหมือนกัน  แต่บางคนชอบกินข้าว  บางคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น และหากเป็นความต้องการในระดับสูง จะยิ่งเห็นความแตกต่างของความต้องการของนุษย์ได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนั้น จาก การวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์  พบว่ามนุษย์มีความแตกต่างในเรื่องต่อไปนี้ คือ คิดต่างกัน ตัดสินใจต่างกัน ใช้เวลาต่างกัน ทำงานเร็วช้าต่างกัน สื่อสารต่างกัน จัดการกับอารมณ์ต่างกัน จัดการกับความเครียดต่างกัน จัดการกับความขัดแย้งที่เกี่ยวกับความคิดต่างกัน

จะเห็นว่า แม้ปัจจัยสำคัญต่อการเป็นมนุษย์จะมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่มนุษย์ก็มีความแตกต่างกันในหลายมิติ ความเข้าใจถึงความแตกต่างของมนุษย์  จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่น  ซึ่งจะช่วยให้การดำรงอยู่ของสังคมมนุษยดำเนินไปได้ด้วยดี
                        -----------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

                        ชีวิตมนุษย์มีการสร้างสรรค์ตลอดเวลา เพื่อมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ของชีวิต

                                                                                   Carl Jung
                                                    ------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมชาติของมนุษย์

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์ถูกมองในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตวิทยาซึ่งต้องทำงานเกี่ยวกับมนุษย์ ได้พยายามศึกษาและวิเคราะห์มนุษย์ ได้มองเห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆดังนี้

         พลาโต  มองว่าธรรมชาติของมนุษย์  เกิดจากการที่มนุษย์ได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อม  และจิตมนุษย์เป็นตัวกำหนดให้ร่างกายดำเนินไปตามความต้องการ  ธรรมชาติของนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความอยาก ซึ่งเป็นความต้องการทางร่างกายของมนุษย์ อารมณ์ เป็นความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ เช่น ความกลัว ความเกลียด ความรัก ฯลฯ เหตุผล เป็นความสามารถในการใช้เหตุผล เป็นสติปัญญาของมนุษย์

         ฮอบส์ เห็นว่ามนุษย์มีธรรมชาติป่าเถื่อน เห็นแก่ตัว โอ้อวด ยื้อแย่งกันโดยไม่มีขอบเขต เอาแต่ใจหยาบคาย ต่ำช้า และอายุสั้น  แต่เมื่อพบกับความทุกข์ยาก มนุษย์จะลดความเห็นแก่ตัว  และสังคมจะช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น

        ลอค กลับมองว่า โดยธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ตัว เป็นคนดี ส่วนที่มนุษย์ไม่ดีนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม

        เลวิน พีอาเจท์ และ โคลเบอร์ก นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการปรับตัวในสภาพแวดล้อม

        ฮัลและสกินเนอร์ นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการเรียนรู้

        โรเจอร์สและมาสโลว์ นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม  เชื่อว่ามนุษย์ดีได้ด้วยตนเอง พฤติกรรมของมนุษย์เป็นผลผลิตของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เอง

        ฟรอยด์และฟรอมม์ นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ เชื่อเรื่องจิตและการวิเคราะห์จิต  ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายใน

สรุปแล้ว มนุษย์มีธรรมชาติอย่างไร  คำตอบคือว่า ธรรมชาติทุกๆอย่างที่นักจิตวิทยากล่าวมา เป็นธรรมชาติโดยรวมของมนุษย์ ในลักษณะผสมผสาน และลักษณะใดจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล

การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี  แต่ความเชื่อที่ต่างกัน ทำให้มนุษย์เข้าใจตนเองและผู้อื่นตางกัน  เช่น  ถ้าเชื่อว่ามนุษย์ดี มนุษย์ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นคนดี และคนอื่นก็เป็นคนดี ในทางตรงกันข้าม ถ้ามองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เลว จะเข้าใจว่าตนเองเป็นคนเลว และคนอื่นก็เป็นคนเลว ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ ยังมีผลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์โดยรวมอีกด้วย

                                -----------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

มนุษย์เหมือนจักรยาน จะรักษาดุลยภาพได้ก็ต่อเมื่อเคลื่อนไปข้างหน้า  การพยายามรักษาดุลยภาพ โดยให้จักรยายจอดนิ่งๆอยู่กับที่ จักรยานจะล้ม ไม่สามารถรักษาดุลยภาพได้

                                                                          มอลท์ซ
                                                    --------------------------------------

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

นิสัยมนุษย์

นิสัย หมายถึงพฤติกรรมที่เคยชิน ในที่นี้ จะกล่าวถึงนิสัยมนุษย์ ที่มนุษย์กระทำเป็นประจำ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่อง เพศ ชาติ และศานา เป็นความประพฤติที่มนุษย์ทำเหมือนๆกัน  ซึ่งมีผู้ศึกษานิสัยมนุษย์และรวบรวมไว้ดังนี้

          มนุษย์ทุกคนไม่ชอบให้ใครตำหนิ เพราะมีความเชื่อมั่นว่าพฤติกรรมที่แสดงออกไปนั้นถูกต้องแล้ว

          มนุษย์ทุกคนอยากมีชื่อเสียง  เพราะมนุษย์ทุคนอยากมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ว่าเป็นคนเก่งคนดี

          มนุษย์ทุกคนจะทำสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ  เพราะสิ่งที่ต้องการทำให้เกิดแรงจูงใจ  ทำให้เกิดแรงขับ ทำให้เกิดพลัง

          มนุษย์ทุกคนสนใจตนเองมากกว่าคนอื่น เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์จะเห็นแก่ตัวมากบ้างน้อยบ้าง

          มนุษย์ทุกคนชอบคนยิ้มแย้มมากกว่าคนหน้าบึ้ง เพราะคนยิ้มแย้มทำให้ผู้ที่พบเห็นรู้สึกสบายใจ

          มนุษย์ทุกคนสนใจชื่อตนเอง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อที่เพราะที่สุด สำคัญที่สุด

          มนุษย์ทุกคนต้องการให้คนอื่นฟังเมื่อตนพูด เพราะพูดแล้วมีคนฟัง แสดงถึงว่าคำพูดนั้นมีความสำคัญ มีความหมาย เป็นที่ยอมรับสมควรแก่การฟัง

          มนุษย์ทุกคนชอบให้คนอื่นพูดในเรื่องที่ตนสนใจ  เพราะทำให้รู้สึกสนุก ตั้งใจฟังและมีปฏิกริยาโต้ตอบ เกิดความพอใจทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

          มนุษย์ทุกคนไม่ชอบให้ใครโต้เถียง  เพราะการโต้เถียงแสดงถึงความขัดแย้ง เป็นการไม่ยอมรับในเหตุผลของตน

          มนุษย์ทุกคนชอบเห็นการรับผิดเมื่อทำผิด เพราะการรับผิดแสดงถึงความซื่อสัตย์ ความกล้า

          มนุษย์ทุกคนต้องการความเป็นกันเอง เพราะความเป็นกันเองจะสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตร  การให้เกียรติซึ่งกันและกัน

          มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาว่าสิ่งที่เป็นผลดีนั้นเป็นความคิดของตน เพราะมนุษย์ต้องการการยกย่องสรรเสริญ

          มนุษย์ทุกคนอยากให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับความคิดของตน เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าความคิดของตนถูก

นิสัยทั้งหมดนี้ หากใครนำไปปฏิบัติจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีมรรยาท มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถเข้ากับมนุษย์อื่นได้ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ
                                   -----------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                               มนุษย์มีศักยภาพที่จะเอาชนะตนเองและธรรมชาติได้

                                                                            Carl Rogers
                                                    ---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน  เป็นศาสนาแห่งการฝึกอบรมตน

การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา  เป็นการนำคำสอนทางพุทธศานา  ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาตน  ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้

คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการพัฒามีอยู่ 3 คำ ได้แก่ สิกขา ภาวนา และทมะ

          สิกขา หมายถึง การฝึกอบรม การศึกษา การรู้จักเลือกมาใช้ประโยชน์ เอามาฝึกฝนปรับปรุงตน แบ่งออกเป็น 3 ประการ เรียกว่า ไตรสิกขา  ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา  เป็นการฝึกฝนให้มีศีลยิ่งๆขึ้นไป การฝึกฝนเรื่องจิตให้ยิ่งๆขึ้นไป และการฝึกฝนให้มีปัญญายิ่งๆขึ้นไป

          ภาวนา หมายถึง การทำให้เกิด ทำให้มีขึ้น หรือการทำให้เจริญขึ้น ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า พัฒนา ได้แก่
                 กายภาวนา หรือ การพัฒนากาย  เป็นการพัฒนาใน 2 ลักษณะ คือฝึกฝนในแง่ของการใช้งาน พัฒนาให้มีความเฉียบคม มีความว่องไว มีความคล่องและมีความชัดเจน กับฝึกฝนให้เลือกรับเอาสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เข้ามาให้ชีวิต ป้องกันไม่ให้รับสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นโทษเข้ามา
                 ศีลภาวนา หรือ การพัฒนาศีล เป็นการพัฒนาให้บุคคลมีระเบียบในการดำเนินชีวิต  สามารถ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี
                 จิตภาวนา หรือ การพัฒนาจิต อาจแบ่งได้เป็น 3 ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพของจิต เป็นการพัฒนาให้จิตมีคุณธรรมต่างๆ การพัฒนาสมรรถภาพจิต  เป็นการพัฒนาความสามารถของจิตให้เข้มแข็งพอที่จะใช้งานได้ดี เป็นจิตที่มีสมาธิ มีสติ และมีความเพียรพยายาม กับ การพัฒนาสุขภาพจิต เป็นการพัฒนาให้จิตมีความสุข เบิกบาน มีความอิ่มใจ
                 ปัญญาภาวนา หรือการพัฒนาปัญญา คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความคิดเหตุผล การหยั่งรู้ความจริง จนปลอดจากความทุกข์  ปราศจากปัญหา

           ทมะ หมายถึง  การฝึก หรือการฝึกอบรมตนเอง ให้เจริญก้าวหน้าในคุณความดีจนถึงที่สุด ซึ่งการฝึกตนเองสามารถทำได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ  ขั้นตอนที่ 1.การบังคับควบคุมใจไว้ไม่ให้ยอมตามกิเลส ที่ดึงไปสู่ความชั่วร้าย  ตลอดจนรูู้จักระงับความเคยชินที่ชั่วร้ายได้ ขั้นตอนที่ 2 การปรับปรุงตนเองให้มีคุณความดีให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป  มีความเจริญงอกงาม

คำว่า สิกขา ภาวนา และทมะ สามารถใช้แทนกันได้ เพราะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาตน

                          ------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

      จิตเป็นเบื้องต้นของกรรมทั้งปวง เป็นเบื้องต้นของ ความดี ความชั่ว ความสุข และความทุกข์

                                                                    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
       


วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จริตมนุษย์

จริต หมายถึง ความประพฤติของคนที่กระทำอย่างสม่ำเสมอเป็นอาจิณ  จนเป็นพื้นเพของจิต การทราบจริตของคน จะช่วยให้กำหนดวิธีพัฒนากายและจิตได้เหมาะสมกับจริต ทำให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ

ในทางพระพุทธศาสนา  จริตแบ่งได้เป็น 6 จริต เรียกว่า จริต 6 ได้แก่

          1. ราคจริต  มีความประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม มีความเรียบร้อย นุ่มนวล ไม่รีบร้อน มีความสะอาดสวยงาม มีระเบียบ ชอบอาหารทีมีรสหวาน มัน สีสันชวนรับประทาน  เสียงไพเราะ ชอบตลกขบขัน มีความเป็นคนเจ้าเลห์ โอ้อวด  แง่งอน พิถีพิถัน ชอบยกยอ

          2.โทสจริต  มีความประพฤติหนักไปในทางโทสะ เป็นคนที่มักโกรธง่าย  ใจร้อน หงุดหงิด  มีอาการรีบเร่ง  ร้อนรน กระด้าง มีความสะอาดแต่ไม่เรียบร้อย  ไม่สำรวม มุ่งแต่ในสิ่งที่ต้องการ  อาหารชอบรสเปรี้ยว เค็ม ขม ฝาด รสจัด รับประทานเร็ว คำโต ชอบดูการชกต่อย ทะเลาะวิวาท มีความมักโกรธ ผูกใจเจ็บ ลบหลู่บุญคุณ ตีเสมอ มักริษยา

          3. โมหจริต  ประพฤติหนักไปในทางโมหะ  มักหลงงมงาย เซื่องซึม เหม่อลอย ทำงานหยาบ ไม่ถี่ถ้วน คั่งค้างเอาดีไม่ได้ เป็นชอบอาหารทุกรส ไม่เลือกอาหาร  รับประทานอาหารมูมมาม ชอบคล้อยตาม คนอื่นเห็นว่าดีก็ดีด้วย  เห็นว่าไม่ดีก็ไม่ดีไปด้วย มีลักษณะง่วงเหงาหาวนอน ช่างสงสัย เข้าใจอะไรยาก

          4. สัทธาจริต ประพฤติหนักไปทางความเชื่อ มักเชื่อง่าย  มีอาการแช่มช้อยละมุนละม่อม เป็นคนเรียบร้อยสวยงาม มีระเบียบ ชอบอาหารรสหวาน มัน หอม ชอบของสวยแบบเรียบๆ ไม่โลดโผน ชอบการทำบุญ

          5. พุทธิจริต ประพฤติหนักไปในทางความรู้ การใช้ความคิดพิจารณา มักเชื่อแต่ความรู้ของตน  มีความว่องไว ทำงานเรียบร้อย มีระเบียบและเป็นประโยชน์ ชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม พอประมาณ ไม่ชอบรสจัดมากนัก  จะดูสิ่งต่างๆด้วยการพินิจพิเคราะห์ เป็นคนว่าง่ายไม่ดื้อ มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร รู้เร็วเข้าใจง่าย

          6. วิตกจริต ประพฤติหนักไปในทางวิตกกังวล มักฟุ้งซ่าน  เป็นคนเชื่องช้าคล้ายโมหจริต มีงานการไม่เป็นหลักฐาน จับจด พูดเก่ง ชอบอาหารรสไหนก็ได้ มีความเห็นคล้อยตามคนหมู่มาก เป็นคน โลเล เกลียดง่าย รักง่าย ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ

ในแต่ละคนจะมีจริตหลายอย่างปนกันอยู่  หากประพฤติหนักไปทางใดจริตก็จะจัดเข้าลักษณะนั้น  การมอบหมายงาน การปฏิบัติตนกับคนที่มีจริตต่างกันก็ควรต่างกัน ในการพัฒนาตน คนที่มีจริตต่างกัน ควรใช้อุบายต่างกัน  การเข้าใจจริต 6 ยังช่วยให้เข้าใจตนเอง  อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาตน
                                          ---------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

สิกขา เป็นภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตใช้คำว่าศึกษา แปลว่า การสำเหนียก การฝึกอบรม การศึกษา

สำเหนียก หมายความว่า รู้จักจับ  รู้จักเลือกมาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ฝึกฝนปรับปรุงตนเอง

                                                                                      พระราชวรมุนี
                                                             --------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ประเภทของมนุษย์

มนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน   การเข้าใจถึงประเภทของมนุษย์  จะช่วยให้เข้าใจเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาชัดเจนขึ้น  เพราะมนุษย์บางประเภทสามารถพัฒนาตนเองได้ด้วยตนเอง  แต่มนุษย์บางประเภทต้องอาศัยคนอื่นช่วย  เพราะการอาศัยตนเองเพียงลำพังนั้นมีศักยภาพไม่เพียงพอ

คำว่า"มนุษย์" ตามความหมายทางพระพุทธศานา  มีความหมายหลายอย่าง เช่น ผู้มีจิตใจสูง ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ผู้เป็นเหล่ากอของผู้รู้  ผู้ที่เป็นมนุษย์ได้ จะต้องอาศัยธรรมะของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ศีล 5 และกุศลธรรมบถ 10 ผู้ใดขาดธรรมทั้ง 2 หมวดนี้ จัดว่าเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์

ในทางพระพุทธศานาแบ่งมนุษย์ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

          1.มนุสสเนรยิโก(มนุษย์สัตว์นรก) เป็นมนุษย์ทีดุร้ายหยาบคาย  ชอบฆ่าสัตวตัดชีวิต ปล้นทรัย์สินผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยอาการดุร้าย  เป็นมนุษย์แต่ชื่อ ส่วนความประพฤติทางกาย วาจา ใจ นั้นเลวทรามต่ำช้าหยาบคายเหมือนสัตว์นรก

          2.มนุสสเปโต(มนุษย์เปรต)  เป็นมนุษย์ที่มากด้วยความโลภ  มากด้วยตัณหา  ชอบลักเล็กขโมยน้อย โลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ชอบแย่งชิงวิ่งราว

          3.มนุสสดิรัจฉาโน(มนุษย์ดิรัจฉาน) ได้แก่มนุษย์ที่ขวางศีลขวางธรรม มีโมหะคือ ความหลง ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์และบุญคุณของผู้มีคุณ  เป็นมนุษย์ผู้ไร้ศีลธรรม

          4.มนุสสภูโต(มนุษย์แท้ๆ) เป็นมนุษย์เต็มตัว เป็นผู้รักษาศีล 5 เป็นนิตย์ เพราะถือว่าเป็นธรรมะของมนุษย์ ธรรมะที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์  แต่ไม่ได้บำเพ็ญกุศลจริยาอย่างอื่น  เช่น ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ฟังธรรมเป็นต้น

          5.มนุสสเทโว(มนุษย์เทวดา)  เป็นมนุษย์ผู้มีศีล 5 เป็นนิตย์  แล้วยังได้พยายามบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนบารมีอยู่เรื่อยๆ เช่น ให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัตธรรม ไหว้พระสวดมนต์  มีความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาปอยู่เสมอ

มนุษย์ทั้ง 5 ประเภท เป็นมนุษย์ที่จะต้องมีการพัฒนา แต่มนุษย์ประเภทที่พัฒนาตนเองได้และมีศักยภาพเพียงพอ ได้แก่ มนุสสภูโต มนุสสเทโว ส่วนมนุสสเนรยิโก มนุสสเปโต และมนุสสดิรัจฉาโน จำเป็นจะต้องอาศัยบุคคลอืนช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตน
                                    ---------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคำ

คำว่า "ภาวนา"มีความหมายตรงกับคำว่า "พัฒนา" คำว่า ภาวนา จึงหมายถึง การฝึกอบรม หรือ
การทำให้เจริญขึ้น ทำให้พอกพูนขึ้น

                                                                           พระราชวรมุนี
                                                   ------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำแนะนำสำหรับผู้บริหารมือใหม่

ผู้บริหาร  หมายถึงผู้ที่ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยบุคคลอื่่น  เพราะฉะนั้น นอกจากผู้บริหารจะมีความรู้ในเชิงบริหารแล้ว ยังจะต้องมีความประพฤติที่เหมาะสมอีกด้วย  การบริหารจึงจะประสบความสำเร็จ

ในฐานะที่เป็นผู้บริหารมือใหม่ มีหลักของความประพฤติง่ายๆที่ควรนำไปถือปฏิบัติ ได้แก่ ขยัน  ประหยัด เคร่งครัดวินัย ใจกรุณา แสวงหาความรู้  อยู่อย่างธรรมดา ซึ่งสามารถจะขยายความให้ชัดเจนได้ดังนี้

ขยัน ผู้บริหารจะต้องขยันเป็นพิเศษ จะต้องเป็นผู้ที่มาทำงานก่อนแต่กลับทีหลังเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงาน ในขณะเดียวกันเป็นการกระทำที่ทำให้เพื่อนร่วมงานเกรงใจ และถือเอาเป็นแบบแย่าง

ประหยัด ผู้บริหารที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเป็นหนี้สิน และการทุจริตคอร์รัปชัน จนกลายเป็นผู้บริหารที่มีปัญหาเรื่องเงินในที่สุด นำไปสู่ความล้มเหลวของการบริหาร การประหยัดนี้จะต้องประหยัดทั้งเงินส่วนตัวและเงินของหน่วยงานที่บริหารอยู่ หากผู้บริหารคนใดประหยัดเฉพาะเงินส่วนตัว แต่ฟุ่มเฟือยเงินของหน่วยงาน ก็จะถูกครหานินทาจากเพื่อนร่วมงานได้

เคร่งครัดวินัย การจะให้เพื่อนร่วมงานมีวินัย  ผู้บริหารเองจะต้องมีวินัย  โดยเฉพาะการมีวินัยในตนเอง คือรู้ด้วยตนเองว่าอะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ อะไรที่เพื่อนร่วมงานทำไม่ได้ ผู้บริหารก็ไม่ควรทำ เว้นแต่จะมีเงื่อนไขและระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน

ใจกรุณา คือให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเท่าที่จะช่วยได้  เอาใจใส่ทุกข์สุขของเพื่อนร่วมงาน  อย่างไรก็ตาม ความกรุณาบางอย่าง ก็ต้องอยู่ในกรอบในระเบียบของหน่วยงาน

แสวงหาความรู้ การที่ผู้บริหารมีความรู้เหนือเพื่อนร่วมงาน  จะทำให้สามารถนิเทศงานได้อย่างดี  สามารถเป็นผู้นำในทางวิชาการและการบริหาร  ไม่ใช่เป็นผู้บริหารประเภทที่ถามอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ที่นำไปสู่การเป็นผู้บริหารที่น่าเบื่อสำหรับเพื่อนร่วมงาน  ฉะนั้นการเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้

อยู่อย่างธรรมดา  คือหมายความว่าก่อนเป็นผู้บริหารเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น  ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยหรือสร้างความแตกต่างโดยไม่จำเป็น เป็นผู้ที่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้อย่างดี ถ้าเป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน ก็เป็นผู้ที่เข้ากับชุมชนได้อย่างดี

นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้บริหารที่มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ มักจะเป็นผู้บริหารที่ประสบความล้มเหลว ได้แก่

ผู้เย่อหยิ่่ง  เป็นผู้บริหารที่คิดว่าตนเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูกคนอื่นผิดหมด

บทบาทมาก  เป็นผู้บริหารที่ทำตัวให้เป็นจุดสนใจเสมอ

เจ้าอารมณ์  เป็นผู้บริหารที่่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และเอาแน่นอนอะไรไม่ได้

รอบคอบเกินเหตุ  เป็นผุ้บริหารที่เป็นคนขี้สงสัย ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวจะผิด

ไม่ไว้ใจใคร  เป็นผู้บริหารที่มองโลกในแง่ลบเท่านั้น

ตัดขาดจากโลก  เป็นผู้บริหารที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ตัดขาดจากผู้อื่น มีโลกส่วนตัวที่คนอื่นยากจะเข้าใจ

ชอบออกนอกกฎ  เป็นผู้บริหารที่คิดว่ากฎเกณฑ์มีไว้เพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติ ตนเองไม่เกี่ยว

ทำตัวไม่เหมือนใคร เป็นผู้บริหารที่รู้สึกสนุกที่ได้ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น

ต่อต้านด้วยความเงียบ เป็นผู้บริหารประเภทที่จะผิดจะถูกก็ไม่พูดออกมา บางครั้งความเงียบของผู้บริหารทำให้เพื่อร่วมงานเข้าใจว่าทำอะไรก็ได้ หรือเข้าใจผิดว่าการเงียบคือการเห็นด้วย

จอมสมบูรณ์แบบ เป็นผู้บริหารที่จัดการกับเรื่องเล็กๆน้อยๆเพื่อไม่ให้มีที่ติ แต่กลับพลาดในเรื่องใหญ่ๆ จนทำให้งานล่าช้าโดยไม่จำเป็น

นักเอาอกเอาใจ เป็นผู้บริหารที่ต้องการชนะใจคนทั้งโลก  กลัวการนินทาว่าร้ายของเพื่อนร่วมงาน จนไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่กระทบเพื่อนร่วมงาน แม้เพื่อนร่วมงานจะทำผิดอย่างไร ก็ไม่ว่ากล่าวตักเตือน

 ถ้าผู้บริหารมีความประพฤติตนอย่างเหมาะสม  คือประพฤติในสิ่่่งที่ควรประพฤติ และละเว้นในสิ่งที่ต้องละเว้น ตามที่กล่าวมา จะช่วยให้ผู้บริหารมือใหม่ซึ่งส่วนใหญ่มีศาตร์ในการการบริหาร  แต่มักจะขาดศิลปะ  สามารถบริหารงานไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จในการบริหารได้
                                                      ----------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

                                                   อำนาจนั้นมีจำกัด หากใช้ไม่เป็นจะหมดเร็ว
                                                                        --------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะของคนที่เอื้อต่อการพัฒนา

การพัฒนาแนวใหม่ยึดแนวความคิดที่ว่า   การพัฒนาประเทศจะต้องพัฒนาคน เพราะคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถพัฒนาคนให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา  ประเทศนั้นก็จะมีการพัฒนาไปได้ด้วยดี

สำหรับลักษณะคนที่เอื้อต่อการพัฒนานั้น Inkeles และ Smith ได้ศึกษาคนในประเทศพัฒนาและพบว่า  คนที่เอื้อต่อการพัฒนามีลักษณะดังต่อไปนี้

         รับประสบการณ์ใหม่ๆได้ง่าย คนที่รับประสบการณ์ใหม่ได้ง่าย มักจะพร้อมที่จะตอบสนองตอบต่อโอกาสที่เปิดให้  ความพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่นี้เป็นลักษณะทางจิตใจ มากกว่าที่จะมองจากเทคนิคหรือทักษะที่บุคคลมีอยู่  การพร้อมที่จะรับประสบการณ์ใหม่ๆ  ไม่จำเป็นว่าจะประกอบอาชีพอะไร จะเป็นชาวนาหรือนักวิทยาศาสตร์ก็ได้

         พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  หมายถึงพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรทางสังคม  ซึ่งเกิดขึ้นรอบๆตัว โดยรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างอิสระ  เป็นคนที่เปลี่ยนแปลงง่าย และยึดติดอยู่กับประเพณีน้อย

         มีขอบเขตของความคิดเห็นกว้างขวาง คือเป็นคนที่พร้อมจะแสดงความคิดเห็นทั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัว  ในขณะเดียวกัน จะเป็นคนที่ยอมรับความหลากหลายของทัศนคติและความคิดเห็นที่แตกต่าง  ไม่ปิดกั้นตัวเองอยู่กับความเชื่อที่ว่าทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน  เป็นคนที่มีค่านิยมในทางบวกต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง

         แสวงหาข้อมูลอยู่เสมอ คือเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงและข้อมูล เพื่อเป็นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจ

         มีสำนึกเรื่องเวลา เป็นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องเวลา  และสนใจในปัจจุบันหรืออนาคตมากกว่าอดีต พร้อมที่จะปฏิบัติตามตารางเวลาที่กำหนดไว้  เป็นคนตรงเวลา

         เชื่อในความสามารถของตน  คนที่เอื้อต่อการพัฒนาจะเชื่อว่ามนุษย์สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวได้  จึงรู้จักกำหนดเป้าหมายของตนเอง แทนการยอมรับอิทธิพลจากคนที่มีอำนาจเหนือ หรือจากอิทธิพลของธรรมชาติ เป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการกับชีวิต ตลอดจนสิ่งที่ท้าทายตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ

          รู้จักวางแผน คือเป็นคนที่รู้จักวางแผนในระยะยาว ทั้งในเรื่องของส่วนรวมและชีวิตส่วนตัว ซึ่งลักษณะนี้จะสัมพันธ์กับความเชื่อในความสามารถของตนและความสำนึกเรื่องเวลา

          มีความสามารถในการคาดคะเน  เป็นคนที่มีความเชื่อว่าในโลกนี้สามารถทำนายได้  และเชื่อว่าคนและสถาบันที่อยู่รอบตัวช่วยให้ตนบรรลุวัตถุประสงค์ได้  เป็นผู้ไม่เชื่อว่าทุกสิ่งทุอย่างถูกกำหนดโดยโชคชะตา

          ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิค ซึ่งหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการชื่นชอบทักษะที่มีคุณค่าของสังคมดั้งเดิมมาเป็นทักษะที่ต่อสังคมอุตสาหกรรม ตลอดจนเชื่อว่าผลตอบแทนในสังคมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ตามทักษะทางเทคนิค มากกว่าที่จะกระทำตามอำเภอใจ  นั่นคือรางวัลควรจะสอดคล้องกับทักษะและผลผลิต  ใครมีทักษะและผลผลิตที่เหนือกว่าควรได้รับผลตอบแทนสูงกว่า

           มีความทะเยอทะยานเกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพ  คือเป็นคนที่ให้คุณค่าค่อนข้างสูงแก่การศึกษา  เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็น  ขณะเดียวกันเป็นผู้ที่อยากทำงานอาชีพที่ใช้วิธีการใหม่ๆ

           ตระหนักแลยอมรับในศักดิศรีของคนอื่น  มนุษย์ทุกคนต่างมีศักดิ์ศรี คนที่มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา นอกจากจะตระหนักถึงศักดิศรีของคนอื่นแล้ว ยังจะต้องปกป้องศักดิ์ศรีของคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ลูกจ้าง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา

           เข้าใจในการผลิต  คือเข้าใจในขั้นตอนและเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเพื่อการผลิต  ตั้งแต่ระดับพื้นฐานของการผลิต

ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมา  เป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หากต้องการให้การพัฒนาเป็นไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มพัฒนาคนในประเทศให้มีลักษณะดังกล่าวนี้
                                   ----------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

ผลที่ได้จาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุขเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ความมั่งคั่ง        
แต่เป็นการทำให้มนุษย์มีทางเลือกเพิ่มขึ้น
                                                                             Michael Todaro
                                                      -------------------------------------------