วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

การมีเพื่อนสนิท การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว จะทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในสมรรถนะและคุณค่าของตน 

เพราะบุคคลเหล่านั้นจะช่วยให้ตนประสบความสำเร็จ ด้วยการให้ข้อมูลที่มีคุณค่า ช่วยแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ยาก ช่วยฟังปัญหาและให้ข้อมูลป้อนกลับ ช่วยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดจนช่วยให้สามารถต่อสู้กับการท้าทายและบรรลุเป้าหมายในที่สุด ด้วยเหตุนี้ การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

สำหรับเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีดังนี้

1. เชิ้อเชิญผู้อื่น การจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่ารอเพื่อรับการเชื้อเชิญ แต่จะต้องเริ่มด้วยการเชิญผู้อื่นทำสิ่งต่างๆร่วมกัน เช่น เชิญเพื่อนร่วมงานมารับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เพราะมนุษย์ชอบให้ผู้อื่นเชิญมากกว่าที่จะเชิญผู้อื่น

2. แสดงความสนใจผู้อื่น ทรัพยากรที่มีพลังที่สุดสำหรับสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ ความสนใจ เมื่อบุคคลใดสนใจผู้อื่น บุคคลนั้นจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น  ซึ่งการแสดงความสนใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงแต่ถาม ซึ่งจะถามเรื่องอะไรก็๋ได้ เช่น ถามเรื่องงานอดิเรก ความรู้สึกที่มีต่อชุมน ฯลฯ  และให้ความสนใจเป็นพิเศษในสิ่งที่ผู้อื่นอยากทำให้สำเร็จ

3. ทำให้ผู้อื่นเป็นผู้ชนะ  เป็นเรื่องง่ายในการที่จะทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเป็นผู้ชนะ  เพียงแต่สังเกตุในสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีแล้วให้คำวิจารณ์ในเชิงบวก โดยใช้เวลาไม่นานเพียง 1 นาที บุคคลนั้นก็จะรู้สึกว่าเป็นผู้ชนะแล้ว

4. พร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเราช่วยให้ผู้อื่นบรรลุเป้าหมาย บุคคลนั้นก็พร้อมที่จะช่วยเรา การช่วยเหลือบุคคลอื่น ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความพยายามมาก บางครั้งง่ายพอๆกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการแนะนำให้คนรู้จักกัน ลองคิดดูซิว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยผู้อื่นได้ แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยเหลือจริงๆ แต่ก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดี

5. ขอคำแนะนำ  เมื่อเราขอคำแนะนำจากบุคคลใด จะทำให้บุคคลผู้นั้นมีความรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่ามีความสำคัญ จะเกิดความผูกพัน และต้องการเห็นผู้ที่ขอคำแนะนำประสบความสำเร็จ

นอกจากนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่า การจะมีเพื่อนจะต้องเริ่มด้วยการเป็นเพื่อน ด้วยเหตุนี้ จงเริ่มด้วยการเป็นเพื่อนเพื่อจะได้มีเพื่อน ซึ่งการจะมีเพื่อนนอกจากจะใช้เทคนิคดังกล่าวแล้ว ยังสามารถทำได้ดังนี้

          1) เป็นคนน่ารัก ปฏิบัติในสิ่งที่คนอื่นชอบ

          2) ริเริ่มแนะนำตนเองก่อนในทุกโอกาส

          3) เรียกชื่อคนอื่นให้ถูกต้อง

          4) อย่าหวังว่าคนอื่นจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ จงยอมรับข้อแตกต่าง และข้อจำกัดของมนุษย์

          5) ค้นหาลักษณะที่น่าพอใจของคนอื่น

          6) สนทนาโดยการกระตุ้นให้คนอื่นพูด

          7) เป็นคนสุภาพอ่อนโยนตลอดเวลา

          8) ยอมรับผู้อื่นตามที่เขาเป็น การยอมรับอย่างมีเงื่อนไขจะเป็นการทำลายความเป็นเพื่อน

          9) สร้างความสนใจร่วมกัน

          10) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะมีมิตรภาพที่ลึกซึ้งและยาวนาน

          11) เป็นคนเปิดเผย การเปิดเผยเป็นความเสี่ยงแต่จะได้รับรางวัลมหาศาล

          12) เป็นคนสนุกสนาน อันเป็นการแสดงถึงการมีความสุข

หากบุคคลใดต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น จะต้องเริ่มด้วยการสำรวจตรวจสอบตนเองว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน กับบุคคลในครอบครัว หรือในที่ทำงาน แล้วทำตามนั้นต่อไป  แต่หากบุคคลใดไม่มีลักษณะที่กล่าวมาข้อใดข้อหนึ่ง  จะตัองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำมาใช้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

           You can change the negative bias in your head, so that you interpret things more positively.

                                                              Dr.Jessamy Hibberd and Jo Usmar

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ภาษากาย:ภาษาที่จำเป็นสำหรับนักพูด

นักจิตวิทยาชื่อ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน (Albert Mehrabian) ได้ทำการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ.2514 ถึงความจำเป็นสำหรับการสื่อสารในการใช้ภาษากาย(Body Language) พบว่า ผู้ฟังได้ให้น้ำหนักการพูดที่ทำให้เกิดอารมณ์จากการแสดงสีหน้าและการเคลื่อนไหวกายของผู้พูด หรือ ที่เรียกว่า ภาษากาย ถึงร้อยละ 55 ของพลังคำพูดที่ทำให้เกิดแรงจูงใจ อันแสดงให้เห็นว่า ความมีประสิทธิภาพของการพูดขึ้นอยู่กับสิ่งที่มองเห็นมากกว่าภาษาที่ใช้ และสิ่งที่สำคัญรองไปจากภาษากาย ไม่ใช่คำพูดแต่เป็นคุณภาพของเสียงซึ่งได้แก่ น้ำเสียง ระดับเสียง และจังหวะการพูด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38

จากการศึกษาของ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน จะเห็นว่าประสิทธิผลของการพูดขึ้นอยู่กับวิธีนำเสนอถึงร้อยละ 93 ซึ่งได้แก่ ภาษากาย คุณภาพของเสียง ส่วนความหมายของคำพูด ทำให้เกิดประสิทธิผลได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้นเอง

ผลการศึกษาของ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ พูดกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งการพูดโอกาสต่างๆ เหล่านี้ จะปฏิเสธเรื่องภาษากายและคุณภาพของเสียงไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหว การแสดงออก และน้ำเสียง มีความสำคัญมากกว่าคำพุดที่ใช้

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปได้ว่า การสื่อสารโดยใช้ภาษากาย มีความจำเป็นต่อประสิทธิผลของการพูดมากกว่าเนื้อหาที่พูด 

สำหรับภาษากาย ที่จำเป็นสำหรับนักพูดมีกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. สร้างความประทับใจในการปรากฎตัวครั้งแรก ในการพูดทุกครั้ง ความประทับใจครั้งแรกมีความสำคัญ เพราะถ้าเริ่มพูดด้วยการที่ผู้พูดสามารถสร้างความประทับใจได้สำเร็จ การพูดจะดำเนินไปได้ด้วยดี

2. เดินอย่างสง่า ภาษากายจะเริ่มทำงานก่อนที่บุคคลจะพูดออกมา ฉะนั้น เมื่อเราเดินไปเพื่อจะพูดกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด จะต้องเดินอย่าสง่าแม้ตัวจะเตี้ยก็ตาม อย่าเดินแบบย่อตัว หลังโค้ง หรือทำตัวงอ

3.เริ่มต้นการพูดอย่างมีความมุ่งหมาย การเริ่มพุดอย่างมีความมุ่งหมายสามารถทำได้ด้งนี้

          3.1 ทุกครั้งที่จะมีการพูด จะต้องเตรียมความมุ่งหมายและจุดหมายของการพูดให้พร้อม

          3.2 ระลึกเสมอว่าข่าวสารแรกที่ส่งไปคือภาษากาย ซึ่งในการพูดจะต้องเตรียมพร้อมเรื่องนี้เป็นพิเศษ

4. ยิ้ม การเดินอย่างสง่าจะต้องมีรอยยิ้มปรากฎให้เห็น เพราะการเข้าไปหาบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยปราศจากรอยยิ้ม จะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่าพอที่จะติดต่อด้วย คนที่หน้าบึ้งย่อ่มจะประสบความสำเร็จในการสื่อสารได้ยาก อย่างไรก็ตาม การยิ้มจะต้องยิ้มอย่างจริงใจ เป็นธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้ได้รับการตอบสนองอย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติเช่นกัน

5 สบตา ทันทีที่พบบุคคลที่ต้องการพบ หรือต้องการที่จะสื่อสารด้วย จะต้องสบตากับบุคคลผู้นั้น การสบตาหมายถึงความเปิดเผยและซื่อสัตย์ นอกจากนั้น การสบตายังเป็นการถ่ายทอดพลังงานและจุดประกายความรู้สึก ฉะนั้น จงสบตาทันทีก่อนที่จะพูดคำแรกออกมา

6.จับมือ การจับมือเป็นการสื่อความรู้สึกต่อกัน การสัมผัสมือที่ดีจะต้องให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นมีพลัง ไม่ใช่จับมือแบบจืดชืดเย็นชา การจับมือจะต้องถ่ายทอดความรู้สึกไปยังบุคคลที่จับมือด้วย ว่าเรามีความจริงใจ เปิดเผย และมีความต้องการที่จะสื่อสารด้วย และในขณะที่จับมือจะต้องสบตากับบุคคลที่เราจับมือด้วย

7. คิดก่อนที่จะนั่ง เมื่อเข้าไปในที่ชุมนุมหรือห้องประชุม อย่ารีบนั่ง การรีบนั่งแสดงถึงว่ามีความกระวนกระวาย และที่สำคัญ ถ้าบุคคลในห้องประชุมนั่งอยู่ การยืนชั่วครู่ทำให้มองเห็นสถานการณ์ได้ทั่วถึง นอกจากนั้น ในการยืนขณะที่คนอื่นนั่ง แสดงถึงความีอำนาจ แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆก็ตาม และก่อนจะนั่งลงควรคิด ถ้าสามารถเลือกที่นั่งได้ควรเลือกนั่งเก้าอี้ไม้มากกว่าเก้าอี้นวมหรือเก้าอี้ที่นุ่มๆ การนั่งเก้าอี้ไม้ทำให้สามารถนั่งตัวตรง ลำตัวตั้งตรง ไม่ใช่เก้าอี้ที่นั่งแล้วตัวเราจมไปเกือบทั้งตัว ถ้าจำเป็นต้องนั่งที่โต๊ะ ถ้าหากไม่ใช่ประธานในที่ประชุมก็ไม่ควรนั่งหัวโต๊ะ เพราะหัวโต๊ะทั้ง 2 เป็นตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงถ้าสามารถทำได้

8. ถ่ายทอดพลังความผ่อนคลาย พลังงานเป็นคุณภาพเชิงบวก ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยการใช้ภาษากาย และไม่มีใครประสงค์ที่จะถ่ายทอดพลังของความกระวนกระวายหรืออาการทางประสาท พลังที่ควรถ่ายทอด คือพลังของความผ่อนคลายรวมกับความกระตือรือร้นและความเชื่อมั่น  ซึ่งความผ่อนคลายจะต้องเริ่มด้วยการหายใจลึกๆ แต่เมื่อใดที่ผิดหวัง หวั่นใจ การหายใจจะตื้น สั้น และหายใจเร็ว ซึ่งคนอื่นสามารถมองเห็นได้ การฝึกหายใจช้าๆลึกๆแม้ในขณะที่ตื่นเต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะสามารถควบคุมอาการตื่นเต้นแล้ว ยังจะช่วยให้ความตื่นเต้นลดลงด้วย

9. ใช้ศีรษะและหน้า ไม่มีภาษากายใดที่สื่อความหมายได้ดีกว่าศีรษะและหน้า จึงต้องรู้จักใช้ศีรษะและหน้าให้เป็น เช่น การเอียงศีรษะไปทางหนึ่งทางใดแสดงว่าตั้งใจฟัง พยักหน้าแสดงว่าเห็นด้วย การส่ายหน้าแสดงว่าไม่เห็นด้วย เหล่านี้เป็นต้น

10 ใช้มือ ถัดจากศีรษะและหน้า มือมีความสำคัญต่อภาษากายรองลงมา  เพราะการใช้มือนอกจากจะช่วยลดความวิตกกังวลแล้ว การใช้มือยังช่วยให้เข้าใจความหมายในสิ่งที่พูดดีขึ้น ตัวอย่างการใช้มือ เช่น การถูมือด้วยกันสื่อถึงความคาดหวังในเชิงบวก เป็นต้น

11. ยึดกฎเบื้องต้น เมื่อพุดในที่สาธารณะภาษากายเบื้องต้นที่ควรใช้ในการสื่อสารประจำวัน สามารถนำไปใช้ในการพูดในที่สาธาณะได้ ซึ่งได้แก่ สบตาผู้ฟัง  ยิ้มให้บ่อยเท่าที่ทำได้ ใช้มือให้เป็น และยืนที่แท่นพูดอย่างมั่นคง ตัวตรง และอยู่ในท่าสบายๆ

12 สื่อสารด้วยเสื้อผ้า การแต่งกายเป็นการสื่อสารที่เป็นภาษากายอย่างหนึ่ง จึงต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับบริบท เพราะการแต่งตัวแบบหนึ่งอาจจะเหมาะสมในบริบทหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับบริบทอื่นๆ

13 เรียนรู้การใช้เสียง การใช้เสียงต่ำโน้มน้าวใจได้ดีกว่าเสียงสูงๆ ฉะนั้น ถ้ามีระดับเสียงสูงจะต้องฝึกการใช้เสียงต่ำจนกว่าจะใช้ได้สะดวก นอกจากนั้น ในการใช้เสียงเพื่อสื่อความหมาย จะต้องเป็นเสียงที่ดังเพียงพอ และไม่ควรพูดเร็ว คือไม่เกิน 150 คำต่อวินาที

อนึ่ง ภาษากายต่อไปนี้ เป็นภาษากายที่ไม่ควรใช้เพื่อการสื่อสาร ซึ่งได้แก่ เดินมือล้วงกระเป๋า เดินโดยเอามือกอดอก เดินโดยการก้มหัวลง การหลบตา ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด กัดริมฝีปาก การสั่นศีรษะแสดงการปฏิเสธ ทำมือในลักษณะผลัก และ การนั่งโดยการเอามือกุมศีรษะ

ภาษากายที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นภาษากายที่จำเป็นสำหรับการพูดที่มีประสิทธิผล หากผู้พูดนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกล่าวสุนทรพจน์ พูดกับบุคคล กลุ่มบุคคล พูดในที่ประชุม หรือพูดในที่สาธารณะ  จะทำให้การพูดแต่ละครั้งประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายอย่างแน่นนอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

ภาษากาย หมายถึง การสื่อสารโดยไม่ใช้ถ้อยคำ ทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้กันโดยใช้อากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง สายตา หรือวัตถุ ที่สามารถแปลความหมาย และทำความเข้าใจต่อกันได้
*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารีกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

โจเซฟ ลุฟท์ (๋Joseph Luft) และ แฮรี่ อิงแฮม(Harry Ingham) ทั้งสองคนเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้คิดทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี (The Johari Window Theory) ขึ้นในปี พ.ศ.2498 เป็นทฤษฎีที่มุ่งอธิบายถึงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ด้วยการเข้าถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

ที่ใช้ชื่อว่า Johari Window เพราะตัวแบบที่ใช้มีลักษณ์คล้ายกับบานหน้าต่าง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า window ส่วน Johari มาจากคำว่าJoseph และ Harry ซีัึ่งเป็นชื่อต้นของเจ้าของทฤษฎี ซึ่งฟังแล้วสอดคล้องกว่าการใช้ Joe-Harry

ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี แบ่งหน้าต่างออกเป็น 4 ส่วน คือ ตนที่เปิดเผย ตนที่บอด ตนที่ซ่อนเร้น และตนที่ไม่รู้ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ พฤติกรรม เจตคติ ความรู้สึก ความปรารถณา การจูงใจ แนวความคิด และอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีทั้ง 4 ส่วน  คือมีทั้งส่วนที่เปิดเผย ที่บอด ที่ซ่อนเร้น และที่ตนไม่รู้  และในแต่ละบุคคลส่วนทั้งสี่ไม่จำเป็นจะต้องเท่ากัน

1. ตนที่เปิดเผย(The Open Self)  เป็นตนที่ตัวเองรู้และคนอื่นรู้ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ตนเปิดเผย ซึ่งแต่ละบุคคลจะเปิดเผยตนโดยผันแปรไปตามเวลาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง บางเวลาอาจจะเปิดเผยตนมากกว่าอีกเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเปิดเผยตนแล้วได้รับความเจ็บปวด บุคคลจะปิดมากกว่าปกติ ในทำนองเดียวกัน ถ้าตนมีความรู้สึกสบายและได้รับการยอมรับ จะมีการเปิดเผยตนมากขึ้น ขนาดของตนที่เปิดเผยจะมีความสัมพันธ์กับความใกล้ชิดของบุคคล และความแตกต่างระหว่างบุคคล อย่างไรก็ดี คนส่วนมากจะเปิดเผยตนกับบางคน ในบางเรื่อง และ บางโอกาสเท่านั้น

2. ตนที่บอด(The Blind Self)  เป็นตนที่ตัวเองไม่รู้แต่คนอื่นรู้ คนบางคนมีตนที่บอดนี้ใหญ่จนไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง และบางครั้งคิดว่าเป็นความดีด้วยซำ้ไป วิธีเดียวที่จะลดขนาดของตนที่บอดก็ด้วยการแสวงหาข้อมูลในส่วนที่คนอื่นมี แต่เราไม่มี แม้ว่าขนาดของส่วนที่บอดจะลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่า ตนจะเห็นในส่วนนี้ เท่าๆกับคนอื่น การบังคับให้ตนและบุคคลอื่นรู้เท่าๆกัน จะทำให้เกิดความเจ็บปวด เพราะเกิดการลงโทษตัวเอง เกิดความอิจฉาริษยา และตั้งข้อรังเกียจ หากไม่มีความพร้อมทางจิตใจ

3. ตนที่ซ่อนเร้น (The Hidden Self) เป็นตนที่ตัวเองรู้แต่คนอื่นไม่รู้ เป็นส่วนที่ตนเก็บไว้เป็นความลับ สุดโด่งของตนที่ซ่อนเร้น คือปิดมากเกินไป จะไม่บอกอะไรเลย คือ มีความรู้เกี่ยวกับตนมาก แต่ปฏิเสธที่จะพูดออกมาให้คนอื่นรู้

4.ตนที่ไม่รู้(The unknown Self) เป็นส่วนที่ตนเองและคนอื่นไม่รู้ คือไม่รู้ว่ามีลักษณะนั้นๆอยู่ในตน เป็นลักษณะที่ปรากฎอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะเป็นความคิด ความเชื่อฯลฯ แต่สามารถรู้ได้จากการใช้ยา การสะกดจิต การทด และการฝัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนของตนทั้ง 4 ส่วน ของแต่ละคน อาจจะไม่เท่ากันก็ได้ บางคนอาจมีส่วนที่ไม่รู้กว้าง แต่บางคนอาจจะมีส่วนที่ซ่อนเร้นกว้าง ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เข้ากับคนอื่นได้ดีเพียงไร เช่น ถ้าเป็นบุคคลที่มีส่วนที่ตนไม่รู้กว้าง แสดงว่าถึงการเป็นคนที่ไม่เข้าใจตนเอง และคนอื่นก็ไม่สามารถให้ข้อมูลป้อนกลับได้ หรือถ้ามีส่วนที่เปิดเผยตนกว้าง แสดงว่าเป็นคนที่รู้จักตนเองและเป็นที่รู้จักของคนอื่น ทำให้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี

ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือการสื่อสาร การจะมีประสิทธิภาพหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการเปิดเผยตน  ถ้าเราไม่อนุญาตให้ผู้อื่นรู้จักเรา การสื่อสารจะเป็นไปด้วยความยากที่สุด ในทางตรงกันข้ามการสื่อสารจะเต็มไปด้วยความหมาย ถ้าบุคคลทั้งสองรู้จักการเปิดเผยตนซึ่งกันและกัน 

ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงการสื่อสาร หรือการสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น บุคคลจะต้องเริ่มด้วยการเปิดเผยตนของตน

การเปิดเผยตน หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่ซ่อนเร้นไปยังส่วนที่เปิดเผย เป็นการส่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตนเองไปยังผู้อื่น เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่มีความหมายบางอย่างที่ผู้รับไม่รับรู้มาก่อน เป็นความรู้ใหม่ ทำให้ผู้รับเกิดความเข้าใจ

การเปิดเผยตนกับคนอื่น ทำให้เราได้ภาพใหม่เกี่ยวกับตัวเรา และมีความเข้าใจพฤติกรรมของตนได้ลึกซึ้งกว่าเดิม มีประโยชน์ในการปรับปรุงการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการรู้จักผู้อื่น นั่นคือ ถ้าปราศจากการเปิดเผยตน ความสัมพันธ์ที่มีความหมายจะเกิดขึ้นไม่ได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

ตน(self) หมายถึง ความรู้ ความรู้สึก แล ะแนวความคิด เกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล

ปัจเจกบุคคล หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล บุคคลแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตำแหน่งชีวิต:ตำแหน่งที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง

ตำแหน่งชีวิต (Life Position) บางครั้งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Basic Position หรือ Existential Position คือ ความรู้สึกที่มีต่อตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น ตำแหน่งชีวิตมีอิทธิพลต่อ วิธีคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์กับคนอื่น

ตำแหน่งชีวิต เกิดจากบุคคลได้รับจากประสบการณ์รอบตัวในวัยเด็ก โดยเริ่มรู้จักเปรียบเทียบความรู้สึกที่มีต่อตนเองกับคนอื่นตั้งแต่อายุ 2 ขวบย่างเข้า 3 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มรู้จักเหตุและผล และเมื่อเด็กตัดสินว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งอะไร ความรู้สึกที่มีต่อตนเองและผู้อื่นนั้น จะมีความมั่นคง แน่นอน สามารถคาดคะนได้ และมีความเสมอต้นเสมอปลาย การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กจึงมีความสำคัญ

ตำแหน่งชีวิตขั้นพื้นฐานมี 4 อย่าง คือ ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนดี  ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนไม่ดี ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนดี และ ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนไม่ดี

ตำแหน่งที่ 1 ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นดี (I'm OK-You're OK)

ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนดี เป็นตำแหน่งชีวิตที่ดี เป็นตำแหน่งของผู้ชนะ เป็นผู้ใหญ่ปกติและอยู่ในตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบ เป็นตำแหน่งของวีรบุรุษ วีรสตรี เจ้าหญิง และเจ้าชายอย่างแท้จริง

ผู้อยู่ในตำแหน่งนี้ จะแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีความคาดหวังเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น ยอมรับตนเองและผู้อื่นว่าโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนดี มีคุณค่าและมีความสำคัญในฐานะที่เป็นมนุษย์ มีความอิสระที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า

เป็นตำแหน่งชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างเสรีและมีความหมาย ไม่มีปมเด่นและปมด้อย คิดว่าตนเองและคนอื่นมีคุณค่า เป็นผู้มองโลกในแง่ดี

ตำแหน่งที่ 2 ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนไม่ดี (I'm OK-You're not OK)

ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนไม่ดี เป็นตำแหน่งของผู้มีภาวะเด็กที่ไม่ไว้วางใจผู้อื่น ไม่เชื่อถือคนอื่น ชอบตำหนิ มีปฏิกิริยาต่อโลกด้วยความโกรธหรือความคับข้องใจ เป็นตำแหน่งชีวิตที่คิดจะกำจัด โดยอาจจะ ปฏิเสธ หย่า และระดับสูงสุดคือฆ่า

ในการทำงาน จะมองตนเองว่าเป็นผู้มีประสิทธิผล แต่มองคนอื่นว่าขาดประสิทธิผล แทบจะไม่เคารพคนอื่น ชอบหาความผิดคนอื่นทั้งที่เป็นเพื่อนและที่เป็นศัตรู เป็นผู้สนับสนุนตนเอง ไม่ขอการสนับสนุนจากคนอื่น เป็นอิสระ

ตำแหน่งที่ 3 ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนดี (I'm not OK-You're OK)

ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนดี เป็นตำแหน่งของผู้มีภาวะเด็ก จะรู้สึกตนไม่มีค่า มีพฤติกรรมถอยหนี เมื่อใดที่ความต้องการไม่ได้รับการตอบสนองจะตัดสินว่าเป็นความผิดของตนเอง มีปมด้อย คิดว่าตนเองเป็นคนน่าเกลียด มีความกดดัน ความกลัว ความรู้สึกผิด และไม่ไว้วางใจผู้อื่น

บุคคลในตำแหน่งชีวิตนี้ จะมองว่าคนอื่นปรับตัวดี มีประสิทธิผล แต่ตัวเองมีลักษณะตรงกันข้าม มองตนเองว่าขาดที่พึ่ง มองผู้ใหญ่ว่ามีอำนาจ และตนเองมีอำนาจน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่ชอบการเผชิญหน้าหรือการแข่งขัน

ตำแหน่งที่ 4 ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนไม่ดี (I'm not OK-You're not OK)

ฉันเป็นคนไม่ไม่ดี-ท่านเป็นคนไม่ดี เป็นตำแหน่งของผู้มีภาวะเด็ก ที่มีความรู้สึกว่าไม่สามารถเอาชนะได้ ชีวิตไม่มีค่าพอที่จะทำอะไร เป็นคนที่คิดว่าชิวิตทั้งของตนและของคนอื่นไม่มีค่าเป็นตำแหน่งที่ยอมแพ้ หรือหาประโยชน์มิได้

คนที่อยูในตำแหน่งนี้จะวนเวียนอยู่ในคุก หรือสถาบันทางจิต การสื่อสารระหว่างบุคคลยากมาก เพราะดูถูกทั้งตนเองและผู้อื่น คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะไม่สนใจตนเองและผู้อื่น

คนส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่ง ฉันเป็นคนไม่ดี-ท่านเป็นคนดี และ ฉันเป็นคนดี-ท่านเป็นคนไม่ดี

บุคคลที่มีตำแหน่งชีวิตอยู่ในตำแหน่งใด จะมีแนวโน้มที่จะรับรู้โลกในแนวทางนั้น และพยายามรักษาความรู้สึกตามตำแหน่งนั้น จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนตำแหน่งชีวิตได้ โดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือด้วยการบำบัดทางจิตวิทยา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

             Look for ways around obstacles. Making tiny changes will add up to  a big difference.

                                                                                  Dr. Jessamy Hibberd and Jo Usmar

*********************************************************************************