วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางการเมือง

การเมืองก็เหมือนกับระบบอื่นๆ ถ้าต้องการจะแสดงถึงความชัดเจนว่ามีการพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ก็ต้องมีดัชนีชี้วัด

สำหรับดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางการเมืองมี 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย

          1. การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) หมายถึง เสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วม ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

          2. ปกครองโดยกฎหมาย (Rule of law)  มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายคุ้มครองสิทธิของแต่ละบุคคลในการมีชีวิตอยู่ ความมีอิสระภาพ และความมั่นคง

          3. เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) บุคคลมีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และหรือเผยแพร่ สารสนเทศและแนวความคิด ทั้งโดยวาจา การเขียน หรือโดยอาศัยสื่ออื่นๆ  โดยปราศจาการกำหนดของรัฐ  เว้นแต่เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบของสาธาณะ สุขภาพของสาธารณะ หรือเพื่อปกป้องสิทธิ หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

          4. ไม่มีการจำแนก (Non-discrimination) บุคคลมีความเสมอภาคในโอกาส โดยไม่คำนึงถึง เพศ ศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ ถิ่นกำเนิด ภาษา หรือ ฐานะ

แต่จากการศึกษา พบว่า ไม่มีประเทศใดในโลก ที่ประชาชนมีเสรีภาพเต็มร้อย 

สำหรับประเทศไทย ถ้าศึกษาจากการบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยที่อ้างว่าเป็นการบริหารประเทศโดยระบอบประชาธิปไตย เป็นที่น่าสงสัยว่า มีการใช้เสรีภาพตามดัชนีชี้วัดหรือไม่ เพราะเริ่มตั้งแต่เข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง เมื่อมีอำนาจก็มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ เริ่มตั้งแต่การสรรหาจนถึงการทำหน้าที่ เพื่อให่เกิดประโยชน์ตนและพวกพ้อง มีการใช้กฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม มีการแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนและพวกพ้อง มีการปลุกระดมมวลชนเพื่อห้ำหั่นผู้ที่มีความคิดต่าง ไม่เปิดให้ผู้มีความคิดต่างได้ใช้สื่อของรัฐ ตลอดจนมีการเอื้อประโยชน์ให้กับสื่อที่สนับสนุนฝ่ายตน ฯลฯ

จึงขอถามว่า ที่ผ่านมาการใช้เสรีภาพทางการเมืองของไทย เป็นไปตามดัชนีชี้วัดทั้ง 4 กลุ่มหรือไม่ มีการใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าไม่จะต้องแก้ไขกันอย่างไร? 
                -----------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

              เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ นำไปสู่ความหายนะทางการเมือง
                                   -------------------------------------------------



วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการทำงาน

ในยุคปัจจุบันการจะทำงานให้สำเร็จจะต้องอาศัย สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นสำคัญ หากขาดปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานดังกล่าวเหล่านี้ ชีวิตการทำงานก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. สมรรถนะ  คนทำงานที่มีประสิทธิผล ก็คือ ผู้ที่สามารถใช้สิ่งต่อไปนี้เพื่อการผลิต ได้แก่

          1.1. ทรัพยากร เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ เวลา เงิน วัสดุ ที่ว่าง และเพื่อนร่วมงานที่ได้รับการจัดสรรให้ทำงานด้วยกัน

          1.2. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นผู้มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม การสอนบุคคลอื่น การบริการลูกค้า การนำ การเจรจาต่อรอง ตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

          1.3. สารสนเทศ  เป็นผู้มีความสามารถในการแสวงหาข้อมูลและการประเมินผลข้อมูล การจัดและการเก็บรักษาแฟ้มเอกสาร การแปลความหมายและการสื่อสาร ตลอดจนการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจัดกระทำข้อมูลสารสนเทศ

          1.4. ระบบ ในการทำงานจำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องระบบ อันได้แก่ ระบบสังคม ระบบองค์การ และระบบสารสนเทศ การเข้าใจระบบจะช่วยให้สามารถติดตาม  แก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน ตลอดจนออกแบบหรือการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น

          1.5. เทคโนโลยี เป็นผู้มีความสามารถในการเลือกอุปกรณ์และเครื่องมือ การประยุคต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อภาระกิจเฉพาะ ตลอดจนการรักษาและแก้ปัญหาเทคโนโลยี

2. พื้นฐานของทักษะ  ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนทักษะ ได้แก่

          1.1. ทักษะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน การเขียน เลขคณิต การพูด และการฟัง

          1.2. ทักษะการคิด ได้แก่ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเข้าใจความแตกต่างของจิตใจ การรู้วิธีเรียน และการใช้เหตุผล

          1.3. คุณภาพส่วนบุคคล ได้แก่ ความรับผิดชอบ การนับถือตนเอง ความสามารถทางสังคม การจัดการเกี่ยวกับตนเอง และการบูรณาการ

3. คุณลักษณะส่วนบุคคล หมายถึง ลักษณะทั้งหมดของบุคคล เช่น ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ การริเริ่ม ความสามารถที่จะทำงานคนเดียวและทำงานเป็นกลุ่ม การนับถือตนเอง ความร่วมมือ ความถ่อมตน ความพากเพียร ความมีหลักการ เป็นต้น

สมรรถนะ พื้นฐานของทักษะ และคุณลักษณะส่วนบุคคล ดังกล่าว มีความจำเป็นสำหรับคนทำงานในยุคนี้ โดยสถานศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างขึ้นมา ส่วนจะสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ผู้แทนจากอุตสาหกรรม ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา

แต่น่าเสียดายที่พบว่า ในเรื่องคุณลักษณะส่วนบุคคล ยิ่งเรียนสูงระบบการศึกษายิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง อันน่าจะส่งผลในเชิงลบต่อการทำงานอย่างแน่นอน
            -----------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

          To learn is to change. Education is a process to change the learners.
                           -------------------------------------------------------



วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ทีมงานเพื่อคุณภาพเป็นอย่างไร

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ นอกจาผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีเป้าหมายแล้ว การทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งจำเป็น และต้องเป็นทีมงานที่มีประสิทธิผลในทุกระดับ

สำหรับทีมงานงานที่มีประสิทธิผล ทำงานเพื่อคุณภาพ ทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีลักษณะดังนี้

          1. เป้าหมาย จะต้องมีความชัดเจน เป็นเป้าหมายที่สร้างร่วมกัน และแสดงถึงความสำคัญของแต่ละบุคคลในทีม

          2. การมีส่วนร่วม ทุกคนในทีมจะต้องมีความกระตือรือร้น และรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

          3. การแสดงความรู้สึก เป็นไปโดยอิสระ และได้รับการตอบสนองจากเพื่อนร่วมทีม

          4. ปัญหาของกลุ่ม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในการทำงาน ถือว่าเป็นปัญหาของกลุ่ม ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัย ได้รับการดูแลและได้รับการแก้ไขตามสาเหตุ

          5. ความเป็นผู้นำ ผู้นำจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการตรวจสอบ อำนาจ และความรับผิดชอบ

          6. การตัดสินใจ ในการทำงานเป็นทีม การตัดสินใจเกิดจากการเห็นพ้องต้องกัน และมีการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้ดีขึ้น

          7. ความไว้วางใจ สมาชิกในทีมจะต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถแสดงปฏิกริยาในทางลบโดยปราศจากความกลัวเกรง

          8. ความคิดสร้างสรรค์ ทีมงานจะต้องแสวงหาวิธีการใหม่และดีกว่าอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ในการทำงานเป็นทีมเพื่อคุณภาพ ทีมงานจะต้องดำเนินงานในลักษณะต่อไปนี้

            (1) ทีมงานจะต้องให้สมาชิกเข้าใจบทบาทที่ชัดเจน

            (2) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ชัดเจน

            (3) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีทรัพยากรพื้นฐานเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ คน เวลา สถานที่ และพลังงาน

            (4) ทีมงานจต้องรู้ถึงการต้องถูกตรวจสอบ และข้อจำกัดของอำนาจ

            (5) ทีมงานจำเป้นจะต้องมีการวางแผนเพื่อการทำงาน

            (6) ทีมงานจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการทำงาน

            (7) ทีมงานจำเป็นจะต้องรู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับปัญหาและมีความสามารถในการแก้ปัญหา

            (8) ทีมงานจะต้องสร้างพฤติกรรมของทีมที่มีประโยชน์และมีคุณค่า

เมื่อดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมานี้ องค์การจะได้ทีมงานที่มีคุณภาพ ทำงานเพื่อคุณภาพ สามารถบริหารจัดการในเชิงคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิผล
          -------------------------------------------------------------------------------

                                              สาระคิด

                   People learn best when they feel the need to know.
                          ------------------------------------------------
   

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างไร

การจะบรรลุเป้าหมายขององค์กรใดๆก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์หรือการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเริ่มด้วยการระบุ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมที่ชัดเจน

วิสัยทัศน์เป็นภาพในอนาคตขององค์การ  ว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าองค์การจะมีลักษณะอย่างไร 

วิสัยทัศน์นำไปสู่การกำหนดพันธกิจ เป้าหมาย วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และการคุกคาม อันเป็นกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์

วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล จึงมีความจำเป็นต่อการดำเนินการไปสู่เป้าหมายขององค์การ

สำหรับวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล จะมีลักษณะดังนี้

          1.ท้าทาย เป็นวิสัยทัศน์ที่มีภาพในอนาคตชัดเจน แต่ไม่ยากจนเกินความรู้ความสามารถของคนในองค์การ ที่จะดำเนินการไปสู่ภาพในอนาคตนั้น

          2. ชัดเจน เป็นวิสัยทัศน์ที่คนในองค์การเข้าใจความหมายตรงกัน  ไม่เปิดให้มีการแปลความหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

          3. สามารถจำได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่มีข้อความไม่ควรยาวเกิน 20-25 คำ

          4. มีส่วนร่วม เป็นวิสัยทัศน์ที่คนในองค์การมีส่วนร่วม และสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่

          5. สอดคล้องกับค่านิยม เป็นวิสัยทัศน์ที่ผุกพันกับวิธีการดำเนินงานหรือวัฒนธรรมขององค์การ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นในองค์การ

          6. มองเห็นได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่สามารถแสดงได้ด้วยภาพให้เห็นได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามพันธกิจแล้ว อนาคตขององค์การเป็นอย่างไร

          7. ขับเคลื่อนได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยการร่วมมือ และสนองตอบจากทุกคนในองค์การ

          8. เป็นแนวทาง เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นแนวทาง ที่ทุกคนเกี่ยวข้องกับองค์การ สามารถประเมินได้ ว่ามีวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

          9. เชื่อมต่อกับความต้องการของลุกค้าหรือผู้ใช้บริการ เป็นวิสัยทัศน์ที่สัมพันธ์กับความต้องการ และความพอใจของลุกค้าหรือผู้ใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบขั้นสูงสุดของความมีประสิทธิผลของวิสัยทัศน์

กล่าวโดยสรุปจะได้ว่า ถ้าวิสัยทัศน์มีภาพในอนาคตชัดเจน ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วม ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการพอใจ ถือได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล
                --------------------------------------------------------------------------

                                              สาระคิด

      จะต้องระลึกเสมอว่า ความมุ่งมั่นในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความสำเร็จไม่เคยสมบูรณ์
                         ---------------------------------------------------------------