วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (1)

1. คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนในการทำงาน

จากการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า คนไทยทำงานโดยไม่มีการวางแผน แสดงออกทางพฤติกรรมการทำงานในลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ทำงานโดยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอให้เกิดปัญหาเสียก่อนแล้วจึงค่อยแก้ไข รวมทั้งการแก้ปัญหาก็มิได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา

การทำงานในหน่วยงานต่างๆ  มักจะรอให้หัวหน้าเสนอแนวทางปฏิบัติ  มากกว่าที่จะเสนอโครงการของตนเอง

การบริหารราชการก็เช่นเดียวกัน เป็นการบริหารที่มิได้มุ่งถึงโครงการ  แต่มุ่งรายละเอียดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้ เพราะระบบอุปถัมภ์และการมีเป้าหมายระยะสั้น เป็นเหตุให้คนไทยไม่มีการทำงานเพื่อเป้าหมายระยะยาวอย่างมีระบบ

การวางแผนเพื่อการทำงาน  เป็นพฤติกรรมที่จำเป็นสำหรับการทำงานอย่างมีเป้าหมายในระยะยาว เพราะการทำงานในระยะยาว เป็นการทำงานที่มีลักษณะต่อเนื่องและมีขั้นตอน ส่วนการทำงานไม่มีแผน เป็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

การที่คนไทยทำงานโดยไม่มีแผนในการทำงาน อาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จำเป็นจะต้องมีการวางแผนระยะยาวร่วมกัน มิฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆ จะขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน
                          --------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคิด

ระบบอุปถัมภ์ทำให้ผู้รับการอุปถัมภ์เกิดความรู้สึกว่า ผู้อุปถัมภ์จะเป็นผู้จัดการต่างๆให้ มีผลทำให้ผู้รับการอุปถัมภ์มีแรงจูงใจที่จะวางแผนต่ำ ระบบอุปถัมภ์ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับการอุปถัมภ์ มีผลทำให้ทรัพยากรต่างๆที่จะใช้เพื่อการพัฒนา ถูกใช้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ ทำให้คนไทยมองเห็นสิ่งใกล้ตัวในระยะสั้นๆ  แทนการวางแผนระยะยาว ที่จำเป็นในการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ

                                                                     Herbert J. Rubin

$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน

พฤติกรรมการทำงาน เป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่เกี่ยวกับการทำงาน  รวมทั้งการสั่งสอนอบรมเพื่อให้รู้จักการทำงาน แต่ละวัฒนธรรมจึงมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับพฤติกรรมการทำงานของคนไทยนั้น มีลักษณะแตกต่างไปจากพฤติกรรมการทำงานของชาวตะวันตก ของญึ่ปุ่น หรือของเวียดนาม ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือคนไทยมีพฤติกรรมปัจเจกชนนิยม ขาดความสม่ำเสมอ ขาดระเบียบวินัยโดยตั้งใจ และไม่ชอบทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดสำนึกเรื่องเวลาแบบที่มีอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม

ลักษณะปัจเจกชนนิยมของคนไทย เป็นลักษณะที่ถือตนเองเป็นใหญ่ แสดงพฤติกรรมในลักษณะที่มุ่งสนองความต้องการของตนเป็นสำคัญ ไม่เคารพระเบียบกฎเกณฑ์ และกฎหมายบ้านเมืองเท่าที่ควร ผู้ใดสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้  โดยไม่ถูกลงโทษ ถือว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือ แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่พยายามทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย กลับกลายเป็นคนโง่ คนซื่อ หรือคนเถรตรง คนประเภทนี้ แม้ว่าจะมีคนทั่วไปพูดถึงอยู่บ้าง แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยม เพราะเห็นว่าเป็นคนไม่"ฉลาด"

ตามคติของคนไทย  คำว่า"ฉลาด"ของคนไทย จึงมีความหมายรวมถึง การรู้จักเอาตัวรอดด้วยเสมอ และความสามารถในการเอาตัวรอดนี้ ไม่มีการจำกัดวิธี คือจะใช้วิธีการใดๆก็ได้ แม้ว่าจะต้องคดโกงหรือหลอกลวง  ขอแต่ให้บรรลุจุดหมายปลายทาง เพื่อความอยู่รอดของตนเป็นใช้ได้

ลักษณะปัจเจกชนนิยมของคนไทย ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าเป็นลักษณะความต้องการที่จะสนองความสำคัญของตน (ego-centrism) ซึ่งคนไทยเรียกว่า"ความเป็นไท" คือ การที่แต่ละคนจะคิดหรือทำอะไรได้ตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ มากกว่าที่จะผูกพันกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ

ลักษณะของความเป็นไท หรือความต้องการสนองความสำคัญของตนนี้มีอยู่ในสังคมไทย จะแสดงออกแตกต่างกันในเรื่องความมากน้อย ความนิยมยกย่องในเรื่องความเป็นไทนี้ มีอยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม จนมีคำพังเพยว่า"พูดได้ตามใจคือไทยแท้"

ในการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่าย คนไทยจะทำงานแตกต่างไปจากรูปแบบที่กำหนดไว้ จึงขาดวินัย ขาดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ คนไทยแต่ละคน มีวิธีการทำงานเป็นของตนเอง(very individualistic at work) จึงยากที่จะทำงานเป็นกลุ่ม

คนไทยอาจเปลี่ยนงานเพราะอยากมีรายได้สูง แต่พอลองทำดูแล้ว พบความยากลำบาก จะเลิกทำ กลับมาทำงานที่ได้เงินน้อยแต่สบาย และถ้าความสบายนั้นช่วยเพิ่มความเป็นตัวของตัวเองจะยิ่งชอบ คนไทยจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เห็นผลหรือไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของตน

คนไทยยอมรับว่า อุดมการณ์ หลักการ หรือกฎหมายมีความสำคัญ แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในประเทศไทย หาการกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายไม่ค่อยได้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักมีนิสัยติดตัวคล้ายคลึงกัน คือไม่ให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัย เพราะไม่มีระเบียบวินัยจนติดเป็นนิสัย เคยชินกับความหย่อนบ้างตึงบ้าง จึงเกิดค่านิยมถือความสะดวกสบายเป็นเกณฑ์ และไม่เกิดค่านิยมในทางที่กวดขันกับตัวเอง กิจกรรมต่างๆจึงทำแต่พอเสร็จ ไม่มุ่งความสมบูรณ์และความเยี่ยมยิ่ง

นอกจากนั้น ในการทำงานคนไทยยังขาดความพยายาม เช่น ข้าราชการไทยจะทำงานด้วยความกระตือรือร้นทำตามโครงการต่างๆเพียงระยะแรก หลังจากนั้น ความกระตือรือร้นจะหมดไป โครงการนั้นจะหยุด  การบริหารราชการพลเรือนของไทย จึงไม่ได้มุ่งถึงความสำคัญของโครงการมากนัก แต่กลับมุ่งถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

นักบริหารไทยเชี่ยวชาญยิ่งนักในเรื่อง"จริงจังครั้งเดียว" การวางแผนและการดำเนินงานตามแผนในระยะยาวเป็นคนละเรื่อง การปฏิบัติตามแผนไม่ค่อยจะยึดเป็นเรื่องจริงจังมากนัก

นอกจากนั้น การให้ความดีความชอบในวงราชการไทยเกือบจะไม่ได้ตั้งอยู่บนประสิทธิผลของการปฏิบัติตามโครงการ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันดีกับผู้บังคับบัญชามากกว่า

การแก้ปัญหาต่างๆในสังคมไทยนั้น เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าใช้สมรรถภาพในการทำงาน ยึดความสัมพันธ์ส่วนตัวไปสู่ความสำเร็จ มากกว่าใช้ปัจจัยอื่น

ในสังคมไทย การกำหนดปัญหาให้ชัดไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าจะแก้ปัญหาได้ หรือทำให้การแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น หรือทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น
                                -----------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                                 ---------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

การที่ต้องพิจารณาเรื่องใดๆในระยะยาว เป็นการกระทำที่ไม่ง่ายนักในประเทศไทย เพราะคนไทยนั้นจะสนใจกับอนาคตใกล้ๆ

                                                                        Nicholas Bennett
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (4)

4. คนไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่มีอิสระ

จากการวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า คนไทยต้องการทำงานที่มีอิสระ เป็นงานที่ส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง ทำงานได้ตามใจชอบ ไม่ผุกพันกับระเบียบกฎเกณฑ์ หรือถูกบังคับควบคุมมากนัก เพราะการถูกบังคับควบคุมทำให้เสียความเป็นไท ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทนได้ยาก

คนไทยจะชอบงานนั้นมากขึ้น ถ้างานนั้นทำให้รู้สึกว่ามีอิสระ ฉะนั้น งานใดก็ตาม ที่มีรายได้ดี แต่มีระเบียบจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คนไทยอาจจะลาออกจากงานนั้น  เพื่อทำงานที่มีอิสระมากกว่า

ความต้องการทำงานที่มีอิสระ เป็นความต้องการที่ควรส่งเสริม เพราะทำให้เกิดลักษณะพึ่งตนเอง มีความคิดที่จะสร้างงานใหม่ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

แต่ถ้าเป็นความอิสระที่มีอัตราสูงมากเกินไป จนไม่ผูกพันตนเอง กับ บทบาท กลุ่ม องค์การ หรือสถาบันแล้ว จัดเป็นลักษณะที่ควรเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการทำงานร่วมกัน

การทำงานที่มุ่งสนองความเป็นอิสระเพียงประการเดียว จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของสังคมโดยรวม
                           --------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต    (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์)   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                            ----------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

คนไทยมีความต้องการสนองความต้องการของตน(ego-centrism) ซึ่งคนไทยมักจะเรียกว่า"ความเป็นไท" คือการที่แต่ละคนจะคิดหรือจะทำอะไรได้ตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ

                                                                          สนิท  สมัครการ
 %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (3)

3. คนไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยง

จาการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่มีหลักประกันมั่นคง เช่น เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นลูกจ้าง ไม่ต้องการทำงานที่เสี่ยง เช่น ค้าขายหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

ลักษณะความไม่กล้าเสี่ยงของคนไทย  มีปรากฎให้เห็นแม้ในระดับผู้บริหาร

ความกล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผล เป็นลักษณะสำคัญของผู้ประกอบการ  ความกล้าเสี่ยงทำให้มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงาน มีการลงทุนทางธุรกิจ

การที่คนไทยไม่ต้องการทำงานที่เสี่ยง จึงเป็นค่านิยมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นค่านิยมที่อาจจะก่อให้เกิดลักษณะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และยากต่อการที่จะรับนวัตกรรมต่างๆ
                    -------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                      --------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

การค้าขายในประเทศไทย ตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ  ชาวนาไทยไม่ยอมเลิกทำนาซึ่งให้ความมั่นคง  มาทำการซื้อขายสินค้าเอากำไร ซึ่งเป็นงานที่ต้องเสี่ยง และเมื่อชาวนาทิ้งไร่ทิ้งนา  เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่า เขามักจะเลือกที่จะเป็นข้าราชการ

                                                                    Darling and Darling

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%