วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทยก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร

ทุกลักษณะของสังคม  มีทั้งก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย  ต่างกันที่อยู่ที่ว่าจะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน  ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทยก็เช่นกัน   มีทั้งที่ก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย

สำหรับผลเสีย อันเนื่องมาจากลักษณะยกย่องผู้มีความรู้ของคนไทย อาจจำแนกได้ดังนี้

ประการแรก   ผู้มีความรู้อาจนำความศรัทธาที่ผู้อื่นมีต่อตน  ไปใช้ในทางที่ผิด  ใช้เพื่อปรโยชน์ของตนเอง  แทนที่จะใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคี  เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร มีความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ประการที่ 2   ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ อาจถูกผู้มีความรู้ชักจูงได้ง่าย โดยชักจูงไปในทางที่ผิด ประพฤติตนผิดพลาด ทำให้เกิดภาวะชงักงันทางเศรษฐกิจและการเมืองในส่วนรวมได้

ในปัจจุบันนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย  ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ได้ออกมาชี้นำทางการเมือง ด้วยการทำตัวเป็นแกนนำ ก็มี ตั้งเป็นกลุ่มเพื่อทำงานการเมือง ก็มี บทบาทเหล่านี้ จะต้องนำมวลชนหรือกลุ่มชนให้หลอมรวมไปในทิศทางเดียวกัน แน่นอนว่าผู้มีความรู้เหล่านี้ จำเป็นจะต้องบิดเบือนความรู้ที่เรียนมา หรือตีความไม่เป็นไปตามหลักวิชา  หรือพูดความจริงเพียงบางส่วน  โดยมีเจตนาที่จะนำมวลชนหรือกลุ่มชนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการให้ได้

อีกหลุ่มหนึ่ง ที่จัดว่าเป็นผู้มีความรู้  คือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือของคนไทยมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันมีพระสงฆบางส่วน บางรูป บางวัดได้ใช้ไสยศาสตร์ผสมกับพุทธศาสตร์ ทำให้เกิอการสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธเจ้า  เกิดการชี้นำไปในทางที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะไม่ควร เป็นความศรัทธาที่มีพื้นฐานอยู่บนความงมงาย ที่นำไปสู่การมีทรัพย์สินเงินทองของวัดอย่างมากมายมหาศาล

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง  ที่อยากจะบอกว่า อย่าเชื่อตามผู้มีความรู้โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรอง เพราะการชี้นำของผู้มีความรู้ในบางเรื่อง บางลักษณะ ทำให้เกิดการหลงผิดได้  การที่จะเชื่อผู้รู้คนใด  นอกจากจะต้องใช้สติปัญญาไตร่ตรองแล้ว  ยังจะต้องดูอดีตความเป็นมา  การประพฤติปฏิบัติของผู้มีความรู้เหล่านั้น อย่าตัดสินจากสิ่งที่เขาชี้นำเพียงอย่างเดียว เมื่อใช้ปัญญา และเหตุผลแล้ว อาจทำให้เชื่อได้ทั้งหมด เชื่อเพียงบางส่วน หรือไม่เชื่อเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญของผู้ที่ถูกชี้นำเป็นสำคัญ

การเชื่อผู้มีความรู้ทั้งหมด โดยขาดการใช้สติปัญญาของตนประกอบ  อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งส่วนตนและของสังคมจนยากที่จะแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม  ผลเสียของลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมอย่างอื่นประกอบด้วย  การมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้เพียงลักษณะเดียว อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยมากน้อยเพียงใด
                                        -----------------------------------------------

                                                                สาระคิด

           ผู้ใดช้าในกาลที่ควรช้า และรีบด่วนในกาลที่ควรรีบด่วน  ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต

                                                                                             พุทธสุภาษิต
                                                          -----------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนไทยกับลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้:ก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ เป็นการยอมรับและศรัทธาผู้มีความรู้  ก่อให้เกิดผลดี  ที่อาจจำแนกได้เป็น 2 ประการ

ประการที่ 1 ก่อให้เกิดผลดีกับตนเอง ในด้านต่างๆ  กล่าวคือ

ด้านเศรษฐกิจส่วนบุคคล  สำหรับผู้มีความรู้เอง สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่  ทำมาหากิน เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน  ส่วนคนที่มีความรู้น้อย อ่อนด้อยในด้านความรู้  ก็จะยอมรับคำแนะนำไปถือปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของแต่ละคนเช่นกัน  มีผลทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น
 
ด้านสังคม  ผู้ที่มีความรู้จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นในสังคม ส่วนผู้ที่มีความรู้น้อย ก็จะเชื่อถือผู้มีความรู้มาก  ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้  สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  มีแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกัน

ด้านวิทยาการ  เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้  ได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลที่มีความรู้  เกิดแรงจูงใจศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น  เพื่อรักษาความเป็นผู้มีความรู้ไว้  ในขณะเดียวกัน  ผู้ืั้ที่มีความรู้น้อย  จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้เป็นที่ยกย่องนับถือของคนอื่นๆบ้าง

ประการที่ 2 ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ  ประเทศใดถ้าพลเมืองมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้เป็นลักษณะประจำชาติแล้ว  จะทำให้ประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ กล่าวคือ
 
ด้านเศรษฐกิจ  การมีลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้  ทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น  ผู้มีศรัทธาในความรู้จะเป็นผู้มีเหตุผล  มีความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ  มีการเสี่ยงอย่างมีเหตุผล  และส่งผลให้มีการกระจายรายได้ที่ยุติธรรมในที่สุด
 
ด้านการเมือง  การพัฒนาทางการเมือง  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  การมีความรู้และการยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้พลเมืองเป็นผู้มีเหตุผล  รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสมอภาค มีขอบเขต มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามระบบและเกณฑ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตกลงกันไว้  อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ด้านสังคม  การยกย่องผู้มีความรู้ ทำให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้มีเหตุผลดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความสามมัคคีในสังคม  เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  และมีเป้าหมายทางสังคมร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้ จะเกิดผลดีในลักษณะดังกล่าวได้  ผู้มีความรู้จะต้องใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรมกำกับ ไม่ใช้อย่างมีอคติ ลำเอียง หรือใช้ความรู้ในลักษณะบิดเบือนเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวก  
                                        ----------------------------------------------

                                                             สาระคิด

     ใครก็ตามที่เลือกจะขึ่หลังเสือ  จะต้องยอมรับว่าสักวันหนึ่ง   อาจจะต้องจบชีวิตลงในท้องเสือ

                                                                                   คำอินเดียโบราณ
                                                      ---------------------------

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนไทยกับลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้

การยกย่องผู้มีความรู้  เป็นลักษณะที่มีอยู่ประจำในคนไทย เป็นลักษณะที่มีมานาน แต่จะนานเท่าไรนั้นยากที่จะบอกได้

ถ้าเราอ่านพงศาวดารหรือประวัติชาติไทย  หรือแม้แต่หนังสือนิทานต่างๆ จะพบว่าในสมัยก่อน จะมีนักปราชญ์ราชปุโรหิตประจำราชสำนักคอยถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน คำปรึกษามีทั้งที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ราชประเพณี  จนถึงข้อราชการงานเมือง และปรากฎว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้น เป็นที่ยอมรับนับถือของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย
 
ปัจจุบันผู้มีความรู้ ยังคงได้รับการยกย่องนับถืออยู่  ที่เห็นได้ชัดเจนคือ  ในชนบทครูเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือกว่าคนอื่นๆในละแวกนั้น มีปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆก็มักจะมาหาครูเพื่อขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่าครูเป็นผู้มีความรู้ 

แต่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมาก   มีสาขาวิชาต่างๆมากมายและแตกต่างกันไป จำนวนคนมีความรู้จึงมีมากกว่าแต่ก่อน   จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปพบปะสนทนาสอบถามหรือทดสอบว่าใครมีความรู้มากกว่าใคร  มีความรู้มากน้อยเพียงใด   คนทั่วไปจึงทึกทักเอาว่าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร  เป็นเครื่องแสดงว่าใครมีความรู้มากน้อยเพียงใด และมีความรู้ความชำนาญในสาขาใด
 
เลยสรุปเอาว่าใครมีประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรยาวๆมากๆหรือสูงกว่าคนอื่นๆ  ก็ถือว่ามีความรู้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ถ้าประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรนั้น  เขียนด้วยภาษาต่างประเทศที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถเข้าใจ  ก็ยิ่งแสดงว่ามีความรู้มากเป็นทวีคูณ
 
ความเข้าใจเช่นนี้ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบางครั้งประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร  เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงความยาวนาน  ที่ใช้เวลาในการอยู่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น หาได้แสดงว่า มีความรู้ความสามารถตามประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรแต่อย่างใด จนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกบางคน  ถึงกับต้องประกาศว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริงๆ  เพราะกลัวสังคมจะไม่เชื่อ
 
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้คนไทย กำลังนิยมยกย่องประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร แทนที่จะยกย่องผู้มีความรู้อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
 
ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้คืออะไร ลักษณะการยกย่องผู้มีความรู้หมายถึงการยอมรับ การให้เกียรติ ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ แสดงออกด้วยการยอมรับ การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้มีความรู้ด้วยความเต็มใจ มีศรัทธา

ผู้มีความรู้ในสังคมไทยหลายคนที่มีอิทธิพลต่อการคิดการกระทำของคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันแม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
 
ในปัจจุบันก็มีบุคคลจำนวหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าเป็นราษฎรอาวุโส ออกมาแสดงความเห็นเชิงชี้นำสังคมคมบ่อยๆ  แต่บางคนก็ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควรเพราะมีอคติในการชี้นำสังคม
 
สำหรับคนในชนบทนอกจากจะยอมรับครูว่าเป็นผู้มีความรู้แล้ว ยังจะยอมรับและเชื่อข่าวสารและความคิดเห็นจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เพราะคิดว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ เป็นผู้มีความรู้
 
ในสมัยนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการแย่งกันให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ตนและพรรคพวก การยกย่องผู้มีความรู้หรือเชื่อโดยขาดเหตุผล ขาดการไตร่ตรองพิจารณา อาจจะำไม่เกิดผลดีแก่ตนเองและบ้านเมืองได้
                                             -------------------------------------
                                                             สาระคิด 

                       ไม่มีใครเลี้ยงอาหารใครเปล่าๆ โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน

                                                                  สามก๊ก
                                                          ---------------

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มหาลัยมหาหลอก?

ในหลายปีที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทั้งที่ขยายเป็นวิทยาเขตและตั้งขึ้นใหม่  ประกอบกับมีการยกฐานะสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย  ทำให้ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐรวมทั้งวิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ  เฉลี่ยโดยประมาณจังหวัดละ 2 มหาวิทยาลัย  และถ้านับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน จะพบว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมากมายและทั่วถึง  ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการทางการศึกษาในระดับนี้

หากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่  ทำภาระกิจโดยเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ  เชื่อว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าพิจารณาถึงสาเหตุว่าทำไมจึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  เห็นจะตอบได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุ  2  ประการ กล่าวคือ  ประการแรก ก็เพื่อขยายโอกาสให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา  โดยเชื่อว่าการศึกษายิ่งมากยิ่งดี เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีคุณภาพ
ประการที่สอง ก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะการที่นักการเมืองคนหนึ่ง สามารถวิ่งเต้นให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขตขึ้นในจังหวัดของตนได้  แสดงถึงความสามารถอย่างหนึ่งของผู้แทนราษฎร เป็นเครดิตทางการเมือง  เป็นศักดิ์ศรีของจังหวัด  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มหาวิทยาลัยส่วนกลาง ไปตั้งวิทยาเขตในจังหวัดไกลๆ

เมื่ออัตราการเพิ่มของมหาวิทยาลัย  เพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของผู้เรียน การแข่งขันย่อมจะสูงขึ้นเป็นธรรมดา  จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง จะทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง  อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการศึกษาไทย  ตลอดจนเสนอโครงการต่างๆเพื่อดึงดูดนักศึกษามากขึ้น

ความสำเร็จของผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนนักศึกษา นับตั้งการแข่งขันเพื่อรับนักศึกษาภาคปกติ จนถึงการรับนักศึกษาภาคพิเศษหรือภาคนอกเวลา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้พิเศษที่สำคัญของมหาวิทยาลัย

ที่น่าห่วงในสิ่งที่มหาวิยาลัยกำลังทำอยู่ คือห่วงว่าคุณภาพของบัณฑิตจะลดลง เพราะมีการดำเนินการแทบจะทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเรียนมากๆ  ถ้าพูดภาษาการตลาด  ก็จะได้ว่ามหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมการขายตลอดเวลา  เพียงแต่ว่าในทางธุรกิจใช้วิธีลด แลก แจก แถม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใช้วิธี ลด หย่อน ผ่อนผัน

โดยเริ่มตั้งแต่กาเปิดสาขาวิชายอดนิยม โดยมากเป็นสาขาทางสังคมศาสตร์และการบริหาร ทั้งการบริหารธุรกิจและการบริหารรัฐกิจ ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบจะไม่ค่อยมี  ทั้งๆที่ไทยค่อนข้างจะขาดแคลน

การเรียนการสอนก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดในเรื่องคุณภาพ  เข้าลักษณะจ่ายครบจบแน่ ในระดับปริญญาโทนักศึกษาไม่ค่อยจะเลือกเรียนในสาขาวิชาที่กำหนดให้ต้องทำวิทยานิพนธ์  ทั้งที่การวิจัยเป็นกระบวนวิธีที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่  และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็ตาม  หากจำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น การทำวิทยานิพนธ์ 1 ชื่อเรื่อง บางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ช่วยกันทำ 2-3 คนหรือช่วยกันถึง 5 คน ก็มี

มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีการให้สัญญาว่าจะให้จบภายในกี่ภาคเรียน ซึ่งยังไม่นับกลยุทธ์อื่นๆ  ที่มีเจตนาจูงใจนักศึกษาให้มาเรียนอีกมากมาย

เงื่อนไขเหล่านี้ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความด้อยคุณภาพของบัณฑิต จนลืมไปว่าการจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรสนใจเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น  แต่หากปล่อยปละละเลยอย่างที่เป็นอยู่ โดยอ้างความอิสระทางวิชาการแบบผิดๆ  ก็ไม่แน่ใจว่าผู้จบปริญญาเอกในอนาคต จะได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาเอก เพิ่มมาอีก 1 ใบ หรือได้ปริญญาบัตรระดับปริญญาตรีเป็น 3 ใบ

ปริญญาบัตรจะกลายเป็นเครื่องประดับบ้าน มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือใช้ทำมาหากิน  เมื่อถึงจุดนั้น มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นมหาหลอก  หลอกผู้เรียนและสังคมด้วยการเป็นแหล่งผลิดปริญญาบัตรที่ไม่มีศักดิ์และศรีตามใบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยออกให้
                                            ----------------------------------------------------
                                                                           สาระคิด

       ดวงอาทิตย์ทำให้ทุกสิ่งกระจ่างชัด   แต่เรายังต้องทำความเข้าใจในส่วนที่มืดซึ่งยังคงดำรงอยู่
                                                                                    ขงเบ้ง
                                                                -------------------------


วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาเพื่อปวงชน

จากการจัดการศึกษาที่ไม่ยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม  มีผลทำให้การศึกษาแทนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ   กลับกลายเป็นสาเหตุในการสร้างปัญหาต่อการพัฒนา ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า

การศึกษาที่จัดอยู่ ไม่สนองความต้องการในเชิงพัฒนา  เป็นการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ  และค่านิยม  ที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเพื่อการผลิตในสังคมนั้น  จบการศึกษาแล้วต้องไปทำงานที่อื่น  เพราะโรงเรียนไม่ได้สอนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมที่พวกเขามีชีวิตอยู่
ในขณะเดียวกัน  การศึกษาสอนให้เรียน เพื่อต่อบันไดการศึกษาให้สูงขึ้น  เป็นการเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อมัธยมศึกษา และเรียนมัธยมศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย

การเรียนการสอนใช้วิธีเรียนแบบท่องจำ ขยันเรียนเพื่อสอบ จนทำให้เกิด "โรคประกาศนียบัตร (disease diploma)" เป็นการเรียน ที่พ่อแม่และนักเรียนไม่ตั้งใจจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องนำแนวคิดและวิธีพัฒนามวลชนมาใช้  โดยมุ่งปรับสภาพการดำรงชีวิตของบุคคล ที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับล่าง  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาและเพื่อใช้ทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไป

สำหรับการศึกษาเพื่อปวงชน  อาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เป็นที่ยอมรับว่าคนมีการศึกษานั้น  มีประโยชน์ต่อการพัฒนา เพราะประชากรที่มีการศึกษา  จะมีความตั้งใจและสามารถเข้าร่วมกิจการทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจได้ดี  การศึกษาช่วยให้คนนำความคิดใหม่ๆไปใช้  เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงเพื่อรู้หนังสือ แต่เรียนรู้ที่จะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  ช่วยปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น  การศึกษาสำหรับทุกคน ควรเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะจากการวิจัยพบว่า ในประเทศ บังคลาเทศ เคนยา และโคลัมเบีย ถ้าแม่มีการศึกษา. ลูกจะมีอัตราการตายน้อยลง ในด้านโภชนาการ จากการวิจัยในประเทศบราซิล พบว่าครอบครัวที่แม่มีการศึกษา จะให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ลูก  และยังพบต่อไปว่า  การศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยให้ชีวิตมีความสมบูรณ์  รักความ
ยุติธรรมและความอิสระ

ปฏิรูปหลักสูตร  การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน จำเป็นจะต้องปรับทิศทางโปรแกรมการศึกษา  ให้สนองความต้องการของสังคม และตนเอง  ไม่ใช่เรียนด้วยการท่องจำหรือเรียนเพียงเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น  การเรียนการสอน จะต้องให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนการสอน หลักสูตรใหม่จะต้องเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตให้มากที่สุด  มีเนื้อหาทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนใช้ชีวิตอยู่  มีการบรรจุเนื้อหาสาระในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนสร้างให้นักเรียนมีความรู้และทักษะพื้นฐาน ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น โดยเน้นเรื่องการปรับปรุงสุขภาพ  โภชนาการ  และการประกอบอาชีพในท้องถิ่น

จะเห็นว่าการศึกษาเพื่อปวงชนนั้น จะต้องเป็นการศึกษาสำหรับทุกคน ให้มีความรู้และทักษะ ที่สามารถนำใช้ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่น ที่ตนอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ 
                                                 -----------------------------------------

                                                                       สาระคิด

                         คนที่ไม่เคารพกฎหมาย  ไม่อาจจูงใจให้คนอื่นเคารพกฎหมายได้
                                                               ---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  สำหรับการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  มีลักษณะดังต่อไปนี้

ระบบการศึกษาและหลักสูตร ไม่ควรลอกเลียนหรือนำเข้าจากต่างประเทศ  หรือสังคมที่ต่างวัฒนธรรมออกไป  แต่ควรสร้างขึ้นเอง  เพื่อว่าระบบการศึกษา  จะได้สนองตอบความต้องการ  และแก้ปัญหาที่ปรากฎอยู่ในสังคมนั้นได้มากขึ้น  นั่นคือผู้บริหารการศึกษา  จะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ก่อนจะสร้างหลักสูตรขึ้นมา
          จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม  ที่เราต้องการคืออะไร ทั้งนี้เพื่อสร้าง       หลักสูตรให้สนองความต้องการดังกล่าว
           เราต้องการให้เด็กของเราโตขึ้นเป็นพลเมืองประเภทใด

เป็นระบบการศึกษา  ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจในชุมชน สังคม และประเทศชาติของตน  เป็นการศึกษาที่สร้างความเข้าใจสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  การเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม

ส่วนหนึ่งของหลักสูตร ควรเน้นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด  ปัญหาที่มีส่วนสร้างความทุกข์เข็ญให้กับประชาชนส่วนใหญ่  การศึกษาจะต้องสอนและฝึกฝนทักษะพื้นฐานอันจำเป็น  ต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ประเทศมีปัญหาเรื่องความยากจน การศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้ทราบถึงสาเหตุ ตลอดจนแนวทางและทักษะในในการแก้ปัญหาความยากจน  เป็นต้น

เป็นระบบการศึกษา  ที่เกื้อหนุนให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเอง มีศรัทธาในความสามารถของตนเอง (self-reliance) โดยเชื่อว่าตนสามารถจะทำอะไรก็ได้  หากใช้ความพยายาม  เชื่อว่าความสำเร็จของชีวิต  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือพรหมลิขิต

เป็นระบบการศึกษา  ที่ส่งเสริมให้มีการศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง  มีทักษะที่จำเป็นต่อการที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป็นระบบการศึกษา  ที่มุ่งพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพในการทำงาน เปลี่ยนค่านิยมในการทำงาน รู้จักเลือกงาน สามารถสร้างงาน และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้

เป็นระบบการศึกษา  ที่สร้างบุคลิกภาพเื่พื่อส่วนรวม (collective personality)  คือเป็นผู้ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมควบคู่ไปกับประโยชน์ส่วนตนเสมอ เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม

เป็นระบบการศึกษา  ที่สร้างรูปแบบของพฤติกรรมใหม่ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนา  สถานศึกษาจะต้องขยายขอบข่ายความเข้าใจ และความสนใจของผู้เรียนให้กว้างขวางออกไป  เน้นความคิด กิจกรรม และความเป็นไปได้ใหม่ๆ  นอกจากนั้น  โรงเรียนควรเพิ่มทางเลือกให้แก่นักเรียน ในการทำงาน การเลือกเพื่อน การเรียนต่อ ฯลฯ

เป็นระบบการศึกษา  ที่จัดการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับการทำงาน  ด้วยการรวมการเรียนการสอนให้เข้าเป็นหน่วยเดียวกับโลกของการทำงาน  เน้นเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้เพื่อการทำงาน  สอนในสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  เพื่อว่าผู้จบการศึกษาสามารถทำงานได้ทันที
 
หากการศึกษาไทย จัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้  จะลดปัญหาเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  ตลอดจน  สามารถพัฒนาประเทศชาติอย่างมีเป้าหมาย  นำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้น
                                           --------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด 

       การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม  จะนำความเสื่่อมศรัทธามาสู่ตนเองและองค์กรที่ตนเองสังกัด

                                                              -------------------------

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ดังได้ทราบแล้วว่า การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม  จัดขึ้นเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ให้มีลักษณะที่สังคมต้องการ  ในทางตรงกันข้าม การศึกษาแบบผิดๆก็จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาได้เช่นกัน  สำหรับการศึกษาที่ไม่เอื้อต่การพัฒนา จะมีลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาที่นำเข้าหรือลอกเลียนจากสังคมอื่น  โดยมากจะลอกเลียนจากสังคมที่พัฒนาแล้ว  เช่นลอกเลียนจากประเทศตะวันตก  การศึกษาลักษณะนี้  ไม่สนองตอบความต้องการหรือแก้ปัญหาของประเทศได้  เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนขาด ความรู้ ความเข้าใจ  และทักษะที่จำเป็น ต่อการแก้ปัญหาสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่  เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นในตัวบุคคล  ส่วนผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ  มักจะออกไปประกอบอาชีพในต่างประเทศหรือสังคมอื่น  เพราะที่เล่าเรียนมา ไม่สามารถนำมาใช้ในสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ได้

การศึกษาที่มุ่งให้คนมีลักษณะเหมือนกัน   เป็นการศึกษาที่กำหนด"คนดีในสังคม"ไว้แล้ว  เป็นการกำหนดโดยผู้มีอำนาจหรือชนชั้นสูง และการศึกษาพยายามที่จะผลิตคนให้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้นั้น คนที่จบการศึกษาจะมีลักษณะเหมือนๆกัน หรือพยายามทำตัวไม่ให้แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

การศึกษาที่เน้นเนื้อหาหลักสูตรซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพในอดีต  เป็นสภาพในอดีตของประเทศในยุคสมัยที่รุ่งเรือง หรือเน้นสภาพสังคมที่น่าภาคภูมิใจ  แทนที่จะเน้นการสร้างภาพอนาคตของประเทศ

การศึกษาที่มีระบบการเรียนการสอนซึ่งเน้นการบรรยายและการท่องจำ  เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้คนมีความคิดริเริ่ม  การเป็นผู้นำ หรือยอมรับการเปลี่ยนแปลง และในทางตรงกันข้ามกลับสร้างลักษณะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวผู้เรียน  ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้ยาก

การศึกษาซึ่งมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไม่สมดุล  ส่วนใหญจะมีกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมระบบใดระบบหนึ่งมากเกินไป เช่น ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางระบบสังคมและเศรษฐกิจ  แต่งดเว้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางระบบการเมือง เป็นต้น

การศึกษาที่ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  จนบางครั้ง ผู้ที่ประสบความล้มเหลวด้านการเรียน กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ในสังคม

สำหรับการศึกษาไทย  จะพบว่า ไม่มีความแตกต่างจากลักษณะที่กล่าวมากนัก คือในสมัยแรกเริ่มที่มีการศึกษาในระบบ ไทยก็ได้ลอกเลียนแบบการศึกษาจากอังกฤษ  และในทุกวันนี้ดูเหมือนจะเลียนแบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่  ส่วนการเรียนการสอนก็เน้นการบรรยายและการท่องจำ กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ และงดเว้นกิจกรรมทางการเมือง  ด้วยเหตุนี้ประชาธิปไตยที่นำเข้าจากตะวันตก เมื่อมาเจอการเรียนการสอนแบบบรรยาย ขาดการจัดกิจกรรมทางการเมือง ประชาธิปไตยของไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน จนถึงทุกวันนี้
 
การจัดการศึกษา  ที่ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน  ทำให้การศึกษาของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง  กลายเป็นการศึกษาเพื่อการศึกษา  เป็นการเรียนเพื่อเรียนสูงขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาทบทวนอย่างจริงจัง
                                                           ------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

                                          หากจะพัฒนาการเมือง  เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
                                          จะต้องไม่ผลักกิจกรรมทางการเมืองออกจากสถาบันการศึกษา
                                                                           -------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เพลง ของขวัญจากก้อนดิน

การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาอบรมเป็นกุญแจสำคัญ  ที่ไขไปสู่การพัฒนา เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  หรือการสร้างทุนมนุษย์ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์  ทั้งนี้ เพราะนอกจากการศึกษา  จะช่วยให้มนุษย์มีความรู้และพัฒนาทักษะแล้ว  ยังจะช่วยเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ  ที่มีต่อการทำงานและสังคมอีกด้วย

แต่จากการศึกษาระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา พบว่า ผลการศึกษาของประเทศเหล่านั้น ไม่เป็นไปดังที่กล่าวมา  ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือนอกจากจะผลิตกำลังคนในระดับต่างๆ  ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการแล้ว  ยังพบว่า  ผลผลิตทางการศึกษาที่ได้นั้น  ยังมีแนวความคิด ทัศนคติ และค่านิยม  ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอีกด้วย

สำหรับการจัดการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา  แต่ละประเทศแตกต่างกันไปในลักษณะต่อไปนี้

 การศึกษาเพื่อการศึกษา  เป็นการจัดการศึกษา  เพื่อให้ประชาชนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น  มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงว่า  ความรู้ที่ได้นั้นสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

การศึกษาเพื่อประเพณี  เป็นการจัดการศึกษา  ที่เน้นสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตของสังคม  มุ่งให้ผู้เรียนภูมิใจในชาติกำเนิดของตนเป็นสำคัญ

การศึกษาเพื่อเศรษฐกิจ  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการและเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมกิจการทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การจำหน่าย และการบริโภค เป็นต้น  เมื่อจบการศึกษา ผู้เรียนจะมีความรู้ ทักษะ ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

การศึกษาเพื่อการเมือง  เป็นการจัดการศึกษา  ที่มุ่งจะปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง  เตรียมเข้าสู่ระบบการเมือง  ตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่พึงประสงค์

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาแต่ละปะเภทที่กล่าวมานี้ มุ่งเน้นไปคนละอย่าง  ไม่ได้มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าต่อทุกระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังคน หรือได้กำลังคนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษา แต่การพัฒนาในด้านต่างๆ  ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เช่น ศรีลังกา อินเดีย และฟิลิปปินส์  ประเทศศรีลังกาและอินเดียนั้น มีพัฒนาทางการเมืองค่อนข้างสูง  แต่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  ส่วนประเทศฟิลิปปินส์มีรายได้ประชาฃาติสูงกว่าประเทศทั้งสอง  แต่การพัฒนาทางการเมืองยังด้อยกว่า

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา  การจัดการศึกษาของไทยก็ไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  เป็นการจัดการศึกษา ที่ไม่สนองตอบการพัฒนาทุกระบบ ขาดการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาที่ชัดเจน  เช่น ประเทศต้องการกำลังคนระดับช่างฝีมือ  แต่กลับเปิดสอนระดับอุมศึกษาอย่างกว้าง มุ่งผลิตปริญญา จนเกิดมีปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา  เรามีปัญหาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  แต่การเรียนการสอน  มุ่งให้ผู้เรียนเชื่อโดยไม่ต้องคิด เหล่านี้เป็นต้น  จนมีผลทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ทิศทาง  หากจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง จึงตอบโจทย์การพัฒนาได้
                                            -------------------------------------------------
                                                                     สาระคิด

             ถ้าต้องการเปลี่ยนชีวิต  ต้องลงมือเดี๋ยวนี้  ลงมือทำอย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อยกเว้น

                                                                              William James
                                                           ---------------------------

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เพลงตื่นเถิดชาวไทย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  การศึกษาเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคม  การเข้าใจการศึกษาอย่างแจ่มแจ้ง  จะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบ  จุดมุ่งหมาย  และระบบการศึกษา  ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยต่อไปนี้

ภูมิศาสตร์  การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถมีชีวิตในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาตร์นั้นๆได้  ไม่ว่าจะมีภูมิอากาศร้อนหรือหนาวจัด  สภาพภูมิศาสตร์จะเป็นป่าเขาหรือทะเล

เศรษฐกิจ  การศึกษาในระบบ  เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์  อย่างสังคมอุตสาหกรรม  ส่วนในสังคมที่มีเศรษฐกิจแบบยังชีพยากที่ประชาชนจะมีเวลาเพื่อการศึกษา นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า  ทำไมประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนาเด็กจึงมีการศึกษาน้อย  ในขณะที่ประเทศอุสาหกรรมสามารถจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนให้กับเด็กอย่างทั่วถึง

ศาสนา   ศาสนามีอิทธิพลต่อกระบวนการการศึกษามาก เพราะศาสนา เข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ ระบบการศึกษาของผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และอิสลาม  จะแตกต่างกันไป  กรณีของไทยคงเคยได้ยินกับคำว่า "บวร" ในการจัดการศึกษา  แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน  ซึ่งแรกเริ่มโรงเรียนของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัด

การเมือง  อุดมการณ์ทางการเมือง  มีอิทธิพลเหนือการกำหนดจุดมุ่งหมาย  และระบบการศึกษามานาน  การมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย  สังคมนิยม  เผด็จการ หรือคอมมิวนิสต์ จะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกัน  ชาติที่เป็นเมืองขึ้นก็จะมีระบบการศึกษาที่ไม่แตกต่างจากประเทศผู้ปกครอง  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศผู้ปกครอง  เช่น  ระบบการศึกษาแบบอังกฤษจะปรากฎอยู่ในระบบการศึกษาของอินเดีย เป็นต้น

ทางสังคม  การศึกษาจะสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของสังคมนั้นๆ  การขยายตัวทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี จะกระทบต่อชีวิตและมีปัญหาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้การศึกษาทุกระดับต้องปรับเปลี่ยนตาม

ภาษา  ภาษาเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้การศึกษาเจริญเติบโต ชาติที่มีภาษา
เ้ดียวจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกว่าชาติที่มีหลายภาษา  ไม่ว่ามีภาษาเดียวหรือหลายภาษาล้วนมีผลต่อการจัดการศึกษาไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง

จะเห็นว่า  การจัดการศึกษาจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยต่างๆมากมาย  การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าวนี้  เป็นการศึกษาที่ไม่มีประโยชน์
                                     ----------------------------------------------
                                                            สาระคิด

                    ปัญหานำมาซึ่งประสบการณ์  และประสบการณ์นำมาซึ่งสติปัญญา

                                                                                 นิรนาม
                                                    -----------------------------