วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ

ประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ จะมีชาวต่างประเทศเข้ามาคำเนินการทางธุรกิจ นับตั้งแต่การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าจนถึงธุรกิจบริการต่างๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้นๆว่าเอื้อต่อการรับการลงทุนจากต่างประเทศมากน้อยเพียงใด 

สำหรับปัญหาที่ว่า ทำไมชาวต่างประเทศจึงเข้ามาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา คำตอบมีดังนี้

1. ต้องการกำไร วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็คือ หวังจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในประเทศของตน

2. แสวงหา รักษา และการขยายตลาด เป็นการลงทุนเพื่อหวังจะจำหน่ายสินค้าของตน เพื่อลดข้อเสียเปรียบในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ เพื่อแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ และแข่งขันกับชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

3. แสวงหา รักษา และการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบ  ชาวต่างประเทศที่เข่ามาลงทุนต่างก็หวังที่จะใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ไม้ น้ำมัน ฯลฯ เพื่อนำไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนามีแหล่งวัตถุกิบที่มีราคาถูกเป็นจำนวนมาก

4. ค่าแรงงานถูก เนื่องจากประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ขาดแคลนแรงงาน หรือมีค่าแรงงานสูง จนมีผลทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศนั้นสูงตามไปด้วย แต่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะมีแรงงานอยู่มาก มีการว่างงาน และค่าแรงงานต่ำ ชาวต่างประเทศจึงเข้ามาลงทุน เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำสามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นๆได้

5. ผลประโยชน์ทางอ้อม การลงทุนจากชาวต่างประเทศบางครั้งไม่ได้มุ่งกำไร แต่มุ่งประโยชน์ทางอ้อม เช่น เพื่อรักษาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อสร้างตลาดสำหรับสินค้าออกประเภทเครื่องจักรกล และเพื่อรักษาตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค

6. หลีกเลี่ยงความแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน

7. หลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าเดียวกันในประเทศของตน

8. เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการลงทุนเป็นตัวเร่งให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา  เกิดการยกระดับรายได้ เป็นการกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้าประเทศทุนจากประเทศที่ออกไปลงทุน

และเพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาจะให้สิทธิพิเศษต่างๆเพื่อเป็นการจูงใจ เช่น

          1) งดเว้นภาษีรายได้ธุรกิจที่เก็บจากผลกำไรของบริษัทในระยะเวลาหนึ่งหลังจากเริ่มกิจการ

          2) ยกเว้นหรือลดอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิต.ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบที่สั่งเข้ามา

          3) ตั้งกำแพงภาษีคุ้มครอง หรือวิธีอื่นๆที่คล้ายๆกัน

          4) สามารถนำเข้าหรือส่งเงินตรากลับประเทศ

          5) สามารถนำช่างเทคนิคต่างชาติ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริม

          6) รัฐบาลไม่ตั้งรัฐวิสาหกิจเข้าแข่งขัน

          7) อนุญาตให้ส่งออกสินค้าที่ผลิตได้

          8)ไม่มีการโอนกิจการเป็นของรัฐ

          9) ให้เช่าที่ดินเพื่อตั้งโรงานอุตสาหกรรมในระยะยาว

          10) ให้สามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้

ซึ่งสิทธิพิเศษที่กล่าวมา ประเทศกำลังพัฒนาจะให้แก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศแตกต่างกันไป ตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศนั้นๆ

จะเห็นว่า การที่ชาวต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ชาวต่างประเเทศจะได้รับ และเมื่อใดก็ตาม ที่ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษลดลง ประเทศพัฒนาจจะอ้างเหตุผลต่างๆนานาเพื่อที่จะย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่นที่ให้ผลประโยชน์มากกว่า นั่นคือ ถ้าไม่ได้รับผลประโยชน์คุ้มค่า ชาวต่างประเทศจะไม่เข้ามาลงทุน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

การที่ชาวต่างประเทศเป็นการเข้าลงทุนก็เพื่อมาหาผลประโยชน์ การให้สิทธิพิเศษใดๆ อย่างไร อย่ามุ่งแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังด้วย

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นอย่างไร

ระบบเศรษฐกิจ หมายถึง กลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการกระทำคล้ายคลึงกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

เป็นหน้าที่ของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องสร้างกลไกหรือองค์กร เพื่อทำหน้าที่ (1)ตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าและบริการชนิดใด (2)ตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้ามากน้อยเพียงใด (3) ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการผลิตอย่างไร และ (4) ตัดสินใจว่าจะแบ่งปันผลิตผลที่ผลิตขึ้นมาอย่างไร ทั้งนี้เพราะทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีมากมายไม่สิ้นสุด

ระบบเศรษฐกิจแบ่งออกได้เป็น ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ส่วนประเทศใดจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใดขึ้นอยู่กับ (1)ภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคม (2) ลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจดั้งเดิม (3)โครงสร้างการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้อย่างกว้างขวางแทบจะทุกประเทศ แบ่งออกได้เป็น

1. ระบบเศรษบกิจแบบทุนนิยม(Capitalism) หรือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี(Laissez-faire capitalism) มีลักษณะสำคัญคือ

          1.1. เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต สามารถใช้ทรัพย์สินเพื่อการผลิตหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์สินในการผลิตได้

          1.2 ครัวเรือนมีเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ตามอำนาจซื้อที่ครัวเรือนมีอยู่ และในขณะเดียวกัน หน่วยธุรกิจก็มีเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการตามจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่

          1.3 การตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าใด จำนวนเท่าไร  ผลิตโดยวิธีใด และผลิตเพื่อใคร เหล่านี้ดำเนินการโดยเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย

          1.4 รัฐบาลอาจเข้ามาดำเนินกิจการบางอย่างที่เอกชนไม่สามารถเข้ามาดำเนินการได้ เพราะต้องใช้ทุนอย่างมาก เช่น การประปา การคมนาคม การขนส่ง เป็นต้น

          1.5 ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีการแข่งขันกันมาก   ต่างก็พยายามลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้ต่ำลง เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพราะแรงจูงใจหลักของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือกำไร

          1.6 การแจกแจงสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เป็นไปตามอำนาจซื้อของแต่ละคน

จะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ กลไกที่จะช่วยการตัดสินใจในการผลิตสินค้าหรือบริการ คือ กลไกการตลาด โดยผู้บริโภคและผู้ผลิตทำการเสนอซื้อและการเสนอขายตามราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลง

จากการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบแบบทุนนิยม พบว่าก่อให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

          1) ปัญหาการเหลื่อมล้ำ อันเนื่องมาจากความสามารถโดยพื้นฐานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน  เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยยิ่งรวยขึ้น ในขณะที่คนจนยิ่งจนลง

          2) ในหลายกรณีกลไกการตลาด ยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ

          3) การใช้ระบบการแข่งขันหรือกลไกราคา อาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

          4) เจ้าของกิจการที่มีเงินทุนมากๆ มีการขยายการลุงทุนของตนเพื่อทำลายคู่แข่ง มีการกักตุนสินค้าเพื่อหวังกำไร

          5) รัฐมีอำนาจจำกัด และมักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ที่มั่งคั่ง และใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของพวกตน

 การที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ หรือระบบเศรษฐกิจแบบผสม

2. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่(Neo-capitalism) หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม(Mixed economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่นำลักษณะสำคัญของระบบแบบทุนนิยมและระบบแบบสังคมนิยมมารวมไว้ด้วยกัน  กล่าวคือ มีทั้งส่วนที่ปล่อยให้เอกชนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอง และส่วนที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมและวางแผนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ มีลักษณะสำคัญดังนี้

          2.1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ ยังคงยึดถือระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพยสินโดยเอกชน

          2.2.  รัฐบาลในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการควบคุมดูแลให้เศรษฐกิจของชาติดำเนินไปด้วยดี และยังเข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตในกิจการที่สำคัญๆอีกด้วย

          2.3. เกิดมีนักบริหารอาชีพ เข้ามาควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจแทนเจ้าของกิจการ ความเป็นเจ้าของกิจการและการบริหารกิจการจะค่อยแยกออกจากกันมากขึ้น

          2.4. เมื่อเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตมากขึ้น การแข่งขันมีแนวโน้มจะลดลง  เนื่องจากมีหน่วยธุรกิจใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการรวมกิจการเล็กๆเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การซื้อกิจการของคู่แข่ง เป็นต้น

          2.5. รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ในระบบศรษฐกิจแบบทุนนิยมเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาดูแลไม่ให้มีการผุกขาดในกิจการต่างๆ อันเป็นภัยต่อสังคม หรือมีการค้ากำไรเกินควร ตลอดจนเข้ามากำหนดราคาสินค้าที่จำเป็น

การมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้นโยบายเศรษฐกิจและระเบียบแบบแผนในการควบคุมแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบผสม ก็ยังไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า ความเจริญอย่างมั่นคงและความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครองของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจ ว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

สถาบันทางเศรษฐกิจ หมายถึง แบบแผนของการคิดการกระทำ เกี่ยวกับเรื่องผลิตสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆกับสมาชิกในสังคม

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

การพัฒนาเศรษฐกิจคืออะไร

เศรษฐกิจ เป็นเรื่องของความพยายามในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับ การแลกเปลี่ยน การจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ หรือ การบริโภค

ทั้งนี้เพราะ ทุกสังคมต่างก็อยู่ในสภาพที่ทรัพยากกรมีจำกัด แต่ประชากรมีความต้องการไม่สิ้นสุด จึงต้องหาวิธีการที่จะนำทรัพยากรที่อยู่มาใช้ในทางที่ประหยัดที่สุด และสามารถที่จะสนองความต้องการได้อย่างสูงสุดอีกด้วย

หากหน่วยเศรษฐกิจ เช่น ครอบครัวและหน่วยธุรกิจต่างๆ ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากดำเนินได้ผลดี ทำให้มีรายได้สูง ขายสินค้าได้ราคาสูง มีกำไร กล่าวว่ามีภาวะเศรษฐกิจดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าหน่วยเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ มีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย เรียกว่า มีภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

หรือพูดอย่างง่ายๆ จะได้ว่า เศรษฐกิจ หมายถึง การมีกินมีใช้ ในระยะเวลาใดที่ประเทศมีของกินของใช้มาก กล่าวได้ว่า ระยะนั้นประเทศมีเศรษฐกิจดี ในทางตรงกันข้าม ในระยะเวลาใดที่ประเทศมีของกินของใช้น้อย ระยะนั้นประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี

ส่วน การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Economic Development" เป็นคำที่ใช้อย่างกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากการที่ประเทศยากจน มองเห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์มั่งคั่งกับความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำให้เกิดความตื่นตัวที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น จึงเกิดมีการใช้คำว่า Economic Development ขึ้นมา และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในวงการวิชาการและด้านปฏิบัติ

เดิม การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึ ความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศ ซึ่งมีผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเชื่อว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวมเจริญเติบโตขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การว่างงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆจะหมดไปเอง เพราะเชื่อว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อไปยังส่วนต่างๆของระบบเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ อันมีผลให้ประชากรมีความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยทั่วหน้ากัน

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า แม้ประเทศทั้งหลายจะประสบความสำเร็จในการทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงตามเป้าหมายที่วางไว้  รวมทั้งมีรายได้ต่อหัวก็เพิ่มขึ้น ก็ตาม  แต่ไม่ทำให้ปัญหา ความยากจน การกระจายรายไดที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ หมดไป แถมยังมีปัญหาอยู่อย่างเดิมหรือเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ประสบการณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ไว้แต่เดิมนั้นแคบไป

ปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจ จึงมีความหมายว่า เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยสม่ำเสมอและเป็นระยะเวลานาน ทำให้รายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันจะต้องพยายามลดหรือขจัดภาวะที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม เช่น ความยากจน การว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนมาตรฐานทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆที่ยังต่ำอยู่ให้หมดไป

ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ ในความหมายใหม่ อาจสรุปเป็นข้อๆได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการ

          1. สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมในระยะยาว

          2. ลดหรือขจัดปัญหาความยากจน  แก้ปัญหาหรือลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน หรือความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ตลอดจนการแก้ปัญหาการว่างงาน

          3. เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  สถาบันทางสังคมอื่นๆ รวมทั้ง ทัศนคติของประชาชน

ในเวลาเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่จะมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกๆด้าน คือ

          1.การมีสิ่งสนองความต้องการสำหรับการดำรงชีพขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และบริการทางแพทย์และสาธาราณสุข

          2.การมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รู้คุณค่าของตนเอง และมีความนับถือตนเอง

          3.การมีอิสระที่จะเลือกและกำหนดจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตของตนเอง

จะเห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการหลายๆด้าน ที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง สถาบันต่างๆทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทัศนคติเก่าๆของประชาไปพร้อมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และ สามารถกำหนดจุดมุ่งหมายชีวิตของตนเองได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                  สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มผลผลิต  ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต อันมีผลให้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเบื้องต้นที่แท้จริง หรือรายได้ต่อหัวที่แท้จริงของประชาชนสูงขึ้น

********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง

การพัฒนาทางการเมือง โดยความหมายแล้วจะมุ่งเน้นที่การสร้างความสามารถของระบบการเมือง ในการที่จะสนองตอบความต้องการของประชาชน การพัฒนาทางการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองนั้นๆ มากกว่าที่จะระบุว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองระบบใดระบบหนึ่งโดยเฉพาะ

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาการทางการเมือง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะ วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นตัวกำหนดรูปแบบของพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคม

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง จะต้องเริ่มด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารในกรณีที่ระบบการศึกษาเดิมยังขาดประสิทธิภาพ

การจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทางการเมืองนั้น มีลักษณะดังนี้

1. เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา  

ในระดับประถมศึกษาควรสอนให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐบาล กฎหมาย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ในระดับมัธยมศึกษาควรมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น

ส่วนระดับอุดมศึกษาผู้เรียนจะต้องพร้อมทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง การเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาทางการเมืองทั้งสามระดับ จะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องและต่อเนื่อง

2. ปรัชญาการศึกษา 

ปรัชญาการศึกษาซึ่งเป็นตัวกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษา จะต้องระบุระบบหรือลัทธิการเมืองที่พึงประสงค์อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาอยู่ในกรอบเดียวกัน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานทางการเมืองในด้านความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนสร้างค่านิมทางการเมืองที่พึงประสงค์

3. จุดมุ่งหมายของการศึกษา 

การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทางการเมือง ควรมีจุดมุ่งหมายดังนี้

          3.1 ให้ผู้เรียนรู้จักหวงสิทธิของตน เพื่อให้เกิดความสำนึกในบทบาทของตน ในขณะเดียวกันจะไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

          3.2 ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม การเมืองเป็นสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล เพราะกลุ่มเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลัง การศึกษาจะต้องสร้างบุคคลให้เห็นความสำคัญของกลุ่ม ภักดีต่อกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อการต่อรองและรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตนและกลุ่ม

          3.3 ให้มีทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมืองจะต้องสอนให้คนรู้จักคิด รู้จักคาดคะเน และสามารถทำนายเหตุการณ์ต่างๆล่วงหน้าได้ นทางการเมืองบุคคลจะต้องรู้เหตุรู้ผล มิฉะนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของบุคคลอื่น

           3.4 มีความเป็นพลเมืองดี เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เอื้อต่อความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ เป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น

4. หลักสูตร 

หลักสูตรจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวิชาต่างๆให้ผู้เรียนได้รู้จักคุ้นเคยกับระบบการเมืองของประเทศ มีความผูกพันและเชื่อมั่นในรัฐบาลและระบบการเมือง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี

หลักสูตรเพื่อการพัฒนาทางการเมือง ควรจะเกี่ยวข้องกับการการเรียนรู้ทางการเมืองใน 2 ลักษณะคือ การศึกษาเรื่องหน้าที่ของพลเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมือง และการอบรมลัทธิทางการเมือง เพื่อให้ผู้เรียนมีอุดมการณ์ทางการเมืองตามที่รัฐต้องการ

หลักสูตรในส่วนที่เกียวข้องกับการเมือง อาจจัดเป็นวิชาเฉพาะหรือแทรกอยู่ในเนื้อหาของรายวิชาอื่นๆ หรืออาจจัดทั้ง 2 อย่าง

5. ผู้สอน 

ในการพัฒนาทางการเมือง ผู้สอนมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นผู้มีอำนาจในห้องเรียน เป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับทางตรงนั้น ผู้สอนมีหน้าที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่พึงประสงค์ โดยใช้เทคนิคการสอนต่างๆ ส่วนทางอ้อมนั้นเกิดจากการที่ผู้เรียนได้รับอิทธิพลจากบุคลิกของผู้สอน

หากความสัมพันธ์ระหว่าผู้เสอนกับผู้เรียนเป็นแบบประชาธิปไตย ผู้เรียนก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นประชาธิปไตย และในทางตรงกันข้าม หากครูผู้สอนมีลักษณะเป็นเผด็จการ ผู้เรียนจะมีลักษณะอำนาจนิยมเกิดขึ้นในตัว

เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการเมือง ผู้สอนจึงควรเป็นผู้มีความรู้ทางการเมืองอย่างดีและถูกต้อง ในขณะเดียวกัน จะต้องมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมอีกด้วย

6. การเรียนการสอน 

การเรียนการสอน เป็นการนำเนื้อหาวิชาจากหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ โดยผู้เรียนผู้สอนมีกิจกรรมร่วมกัน
การเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาการเมืองนั้น จะต้องเป็นการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทฤษฎีและมีทักษะในการปฏิบัติควบคู่กันไป

ในขณะเดียวกันการเรียนการสอน จะต้องเสริมสร้างค่านิยมพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบการเมืองของประเทศ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน การอภิปราย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทางการเมือง มีกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสมกับวัยและเนื้อหาวิชา

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง เป็นการจัดการศึกษาที่ใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะเอื้อต่อระบบการเมืองของประเทศ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เพียงแต่จะต้องมีความชัดเจนว่าระบบการเมืองของประเทศจะเป็นแบบใด ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนให้ไปทิศทางเดียวกัน ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาพลเมืองให้มีวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มีค่านิยม และพฤติกรรมที่ส่งเสริมระบบการเมืองของประเทศ

ในกรณีที่ระบบการเมืองของประเทศเป็นแบบประชาธิปไตย การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมืองจะต้องเริ่มอย่างจริงจัง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นกระบวนการศึกษาที่ชัดเจนทั้งในเรื่อง ปรัชญาการศึกษา จุดมุ่งหมายการศึกษา หลักสูตร ผู้สอน และการเรียนการสอน ที่จะพัฒนาพลเมืองของประเทศให้เป็นสมาชิกที่ดีในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

                                         เมื่อปราศจากธรรมะเสียแล้ว การเมืองก็เป็นเรื่องสกปรก

                                                            มุ่งแต่หาประโยชน์เพื่อตน หรือพรรคพวกภาคีของตนเท่านั้น

                                                                                                     พุทธทาสภิกขุ

*********************************************************************************

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ลักษณะร่วมที่แสดงถึงการพัฒนาทางการเมือง

นักรัฐศาสตร์ได้ศึกษาและให้ความหมายคำว่า การพัฒนาทางการเมือง แตกต่างกันไปมากมาย เช่น การพัฒนาการเมือง คือ ความทันสมัยทางการเมือง การพัฒนาทางการเมือง คือ การพัฒนากฎหมายและการบริหาร การพัฒนาการเมือง คือ การสร้างประชาธิปไตย เป็นต้น

ความหมายของการพัฒนาทางการเมืองที่ยกตัวอย่างมานั้น Lucian W. Pye ได้สรุปว่า การพัฒนาทางการเมืองแม้จะมีความหมายแตกต่างกันไป แต่จะมีลักษณะร่วมที่แสดงถึงการพัฒนา ดังนี้

1. ความเสมอภาค ความเสมอภาคทางการเมือง เป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นได้จาก

          1.1 ผู้อยู่ใต้การปกครองหรือประชาชน มีความสนใจที่จะเข้าไปร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าระบบการเมืองนั้น จะเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เผด็จการ หรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

          1.2  มีการใช้กฎหมายบังคับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของแต่ละบุคคล

          1.3. บุคคลแต่ละคน มีโอกาสที่จะได้รับการเลือกสรรเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน โดยยึดความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์สำคัญ และไม่ใช้คุณสมบัติดั้งเดิมที่ได้มาตั้งแต่กำเนิด

การพัฒนาด้านนี้ จะเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมือง

2. ความสามารถของระบบการเมือง หมายถึง ความสามารถของระบบการเมืองที่สามารถสนองตอบความต้องการด้านต่างๆ ของระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งความสามารถของรัฐบาล ในการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบบริหารที่ยึดหลักเหตุผล เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชำนาญในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน

เป็นระบบการพัฒนาการเมืองที่เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ

3. การแบ่งงานตามความรู้ความสามารถ  หมายถึง มีการกระจายโครงสร้างและการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม มีการแบ่งงานกันทำตามความรู้ความสามารถ หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ชัดเจน และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาด้านนี้ จะเกี่ยวกับโครสร้างทางสังคม ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้สัมพันธ์กับโครงสร้างทางการเมืองได้อย่างไร

ส่วนการพัฒนาทางการเมืองจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้ คือ การพัฒนาทางกฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ ความสามารถทางการบริหารในการรักษากฎหมายและความเรียบร้อยของสังคม การปฏิบัติตามนโยบายอย่างมีเหตุผลและเป็นกลาง ความเจริญของระบบสังคม และความเจริญของวัฒนธรรมทางการเมือง

สังคมหรือประเทศใดที่ขาดปัจจัยดังกล่าวนี้ การพัฒนาทางการเมืองจะเป็นไปได้ยาก และนำไปสู่ระบบการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ มีปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งหมดทีกล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาทางการเมืองมีลักษณะร่วมอยู่ 3 ปรการ คือ ความเสมอภาค ความสามารถของระบบการเมือง และการแบ่งงานตามความรู้ความสามารถ โดยไม่คำนึงว่าเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เผด็จการ หรือระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนจะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยูกับการพัฒนาทางกฏหมาย การักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเป็นกลาง ความเจริญของระบบสังคม และวัฒนธรรมทางการเมือง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

วัฒนธรรมทางการเมือง หมายถึง แบบแผนของทัศนคติ ความเชื่อ สภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่สั่งการและมีความหมายต่อกระบวนการทางการเมือง เป็นกรอบของพฤติกรรของระบบการเมืองนั้นๆ

                                                                                           Lucian W Pye

*********************************************************************************