วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ชีวิตที่สมดุลสำหรับผู้สูงวัย

สมัยนี้รู้สึกว่าผู้คนไม่ค่อยจะยอมแก่  สังเกตได้จาก  อาหารเสริม วิตามิน หรือหนังสือหนังหาเกี่ยวกับวิธีที่ช่วยในการชะลอวัยมักจะขายดี  ตามสวนสาธารณะต่างๆ  มีคนออกกำลังกายมากขึ้น  วิ่งบ้างเดินบ้าง  ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับตน

เอาเหอะเมื่อไม่อยากแก่  ก็ไม่ต้องแก่ ชีวิตเป็นของเรา เลือกได้

สำหรับผู้สูงวัย  แม้จะยากสำหรับการชะลอวัย แต่การใช้ชีวิตที่สมดุล  จะช่วยทำให้ชีวิตมีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามควรแก่วัย  ไม่เป็นภาระกับลูกกับหลานมากนัก

หลายคนคงเอาใจใส่เรื่อง  อาหาร  อากาศ  อารมณ์  ออกกำลังกาย  และอุจจาระ  ซึ่งหากถือปฏิบัติอย่างจริงจัง  ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้เหมือนกัน

ส่วนการใช้ชีวิตที่สมดุล  ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่  เพียงแต่เอาคติไทยมาปรับใช้  กล่าวคือคนไทยเรานั้น แบ่งชีวิตออกเป็น 4 วัย คือ วัยเล่น วัยเรียน วัยทำงาน และวัยทำบุญ

วัยเล่น เป็นวัยที่เน้นหนักไปในทำกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ทั้งการเคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหวร่างกาย  เด็กคนไหนไม่เล่นก็จะกลายเป็นเด็กที่แปลก  ผิดปกติ

วัยเรียน เน้นที่การแสวงหาความรู้ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน  เพื่อการทำงานประกอบอาชีพ ใครไม่เรียนก็จะถูกประณามว่าเป็นเด็กขี้เกียจ  ไม่เอาถ่าน

วัยทำงาน ก็มุ่งแต่งานไม่เรียนไม่เล่น ไม่อ่าน ไม่ฟัง จบโรงเรียนออกมาห้าปีขึ้นไปกลับไปโง่เท่าเดิม

วัยทำบุญ  ก็มุ่งแต่ทำบุญเข้าวัดเข้าวา ถือศีลกินเจ มีอะไรก็ถวายวัด หวังจะขึ้นสวรรค์เมื่อตายไป  โดยหารู้ไม่ว่า จริงๆแล้วตอนนี้สวรรค์ค่อนข้างจะเงียบเหงา  กลับไปคึกคักอยู่ที่นรก

ผู้สูงวัยถ้าถือตามคติไทย จะเข้าวัดทำบุญก็เป็นเรื่องที่ควรทำ  แต่ถ้าอยากมีชีวิตที่ดี  จะต้องทั้งเล่น เรียนทำงาน และทำบุญควบคู่กันไป อย่างสมดุล  การละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้ชีวิตเสียสมดุล  ปัญหาต่างๆก็จะเกิดตามมมา  แต่จะเกิดปัญหาเรื่องใดนั้น  ขึ้นอยู่กับว่าขาดดุลในเรื่องใด

ไม่เล่นไม่เคลื่อนไหว ร่างกายก็จะไม่แข็งแรง  ไม่เล่นไม่ทำงาน  แต่ละวันนั่งรอให้พระอาทิตย์ตกดิน  อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า เพราะวันๆคิดแต่เรื่องตัวเอง  ซึ่งนับวันจะแก่เฉาลงทุกที ไม่ทำบุญทำทานเสียเลย ก็จะหลงงมงายอยู่ในวงเวียนชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ใครที่ไม่เคยดูหนังฟังเพลง  หรือออกกำลังกาย ก็ควรทำบ้าง ชีวิตจะได้สดชื่น

ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร  ถ้าไม่ติดตามข่าวสารบ้างจะตกยุค  ถ้าไม่อยากตกยุค ก็ควรแสวงหาความรู้บ้าง  พูดอะไรออกไปลูกหลานจะได้เชื่อถือ อินเตอร์เนตถ้าใช้เป็นก็จะดี เพราะมีทั้งความรู้และเรื่องสนุกสนาน  แต่ระวังอย่าติดเน็ตตอนแก่  จะเสียคน

การทำงานก็เช่นกัน คนที่มีกิจการส่วนตัวก็ทำไป แต่อย่าหักโหมให้มาก ส่วนคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน พ้นวัยทำงานแล้ว ก็ควรหางานทำบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นการทำงานเพื่อเงิน  แต่ทำเพื่อไม่ให้ชีวิตฟุ้งซ่าน  ทำงานอะไรก็ได้ตามที่ชอบ ที่อยากทำซึ่งเมื่อก่อนไม่มีเวลาทำ  หากไม่รู้จะทำอะไร ก็ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านก็ยังดี

ส่วนการทำบุญ แน่นอนว่าทำให้รู้สึกดีๆกับตนเองและคนรอบข้าง  การนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมใครที่ไม่เคยก็น่าจะลอง  เพราะทำให้จิตใจสงบนิ่ง

อย่างไรก็ตาม  การจะเล่น เรียน ทำงาน หรือทำบุญ จะต้องคำนึงถึงวัย และบุคลิกภาพของตน  อย่าให้เกินกำลัง และที่สำคัญต้องทำอย่างสมดุล แล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น

เชื่อไม่เชื่อก็น่าจะลอง ไม่เสียหายอะไรไม่ใช่หรือ
                                        ----------------------------------------
                                                                สาระคำ

คอร์รัปชั่นเชิงนโบาย  หมายถึง  ผู้กำหนดนโบายมีผลประโยชน์ทับซ้อน และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่  หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมายเป็นเครื่องมือ  อาจไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม
                                                   ---------------------------

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเมืองที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่ต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง  พลเมืองได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค  มีความเป็นธรรมในสังคม  และจะต้องไม่สร้างความหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้เหตุผล หรือบิดเบือนอุดมการณ์ ปัญหาด้านการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ความรู้พื้นฐานทางการเมืองของประชาชน  ประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และความสนใจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย  ที่ได้รับอำนาจมาโดยการรับมรดกตกทอด  หรือโดยใช้กำลัง  หรือโดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือได้อำนาจมาโดยวิธีการทุจริต  หรืออำนาจอื่นใดที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม  ชนชั้นนำเหล่านี้ มักใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก  มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม  เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ลักษณะทางการเมืองการปกครองลักษณะนี้  ทำให้ประชาชนบางส่วนถูกกีดกัน เกิดการผูกขาดตัดตอน  ประชาชนต้องรับภาระในด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างไร้เหตุผล

การลอกเลียนแบบระบบการเมืองจากต่างประเทศ   ชนชั้นนำของประเทศมีความเชื่อว่า  ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยแสดงถึงความทันสมัย  เป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการของระบอบการเมือง ประกอบกับประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น  สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้น   ทำให้คนจำนวนมากมีส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้น  จึงได้เลียนแบบระบบการเมืองของประเทศที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงมาใช้  โดยไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบการเมืองนั้นๆหรือไม่ จึงได้นักการเมืองที่ขาดอุดมการณ์ ที่นำอุมการณ์ประชาธิปไตยมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประโยชน์ตน เครือญาติ และพรรคพวก หนังสือพิมพิมพ์ขาดความรับผิดชอบ มีการเขียนข่าวโดยขาดความเป็นธรรม  รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน  ต้องมีการเลือกตั้งบ่อยๆ ทำให้นโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง เศรษฐกิจชงักงันเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน

การใช้อำนาจทางการเมือง   เนื่องจากผู้นำทางการเมืองไม่ได้อำนาจมาด้วยการสนับสนุนของประชาชนอย่างสุจริต มีการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อมีอำนาจทางกาเมือง  มักจะใช้อำนาจของตนไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทางทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง  ผลประโยชน์จึงตกแก่ตนและพรรคพวกมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ มีการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการฉ้อฉลเบียดบังเงินของรัฐและเอกชนนำไปสู่ปัญหาตามมา 2 ประการ คือ  ผู้นำทางการเมืองมักมีผลประโยชน์ในบางบริษัทร่วมกับเอกชน การทำงานจึงพะวงในการหาผลประโยชน์ มากว่าที่จะทำเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจทางเมืองมักจะใช้อำนาจปกป้องคุ้มครองธุรกิจที่ตนมีหุ้นส่วน หรือที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้ตนอยู่  เกิดการผูกขาดแอบแฝง ทำให้ไม่มีการแข่งขันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการลดต้นทุนการผลิต  ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ไม่เป็นธรรม คนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางการเมืองจะได้เปรียบ ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์

ความมีเสถียรภาพทางการเมือง  เนื่องจากการเมืองขาดเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารประเทศบ่อยครั้ง  ทำให้การบริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง  เมื่อมีผู้นำใหม่ขึ้นมา ก็คิดโครงการใหม่ขึ้นมาแทนที่ผู้นำคนก่อน โครงการเดิมถูกโละทิ้ง ทั้งๆที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ  นอกจากนั้น มีการบิดเบือนเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อประโยชน์ตนและผู้นำทางการเมืองอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และนำไปสู้การทุจริตฉ้อฉล

การตัดสินใจของผู้นำทางการเมือง  เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรจำกัด  การตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองจึงมีความสำคัญ  การตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การตัดสินใจเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง  การตัดสินใจที่เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้นำทางการเมืองโดยไม่อาศัยหลักวิชา  ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมในที่สุด

 ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การเมืองมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หากประเทศได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ  และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว  ไม่ลุ่มๆดอนๆอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
                                               ---------------------------------
                                                              สาระคิด 

บางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องถามตัวเองบ้างเหมือนกันว่า  นักการเมืองที่พวกท่านปกป้องคุมครองอยู่ มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองหรือไม่
                                                    -------------------------  

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รูปแบบของระบบการเมือง

การเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องของรัฐ  อำนาจ และการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  การเมืองเป็นกระบวนการของการใช้อำนาจ  ซึ่งเป็นอิทธิพลเหนือความคิดและพฤติกรรมของคนอื่น  ผลที่ตามมาคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อริสโตเติลนักปราชญ์ชาวกรีก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ  การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึี่่่่งในสังคมนุษย์              และเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนไปตามลักษณะของสังคมนั้นๆ   ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในเรื่องอำนาจของระบบการเมืองแต่ละระบบจะไม่เหมือนกัน  บางระบบรัฐบาลมีอำนาจมาก  บางระบบประชาฃนมีส่วนอย่างกว้างขวางในการเลือกผู้ปกครอง  ความแตกต่างเช่นนี้  ทำให้สามารถแบ่งประเภทของระบบการเมืองออกได้เป็นรูปแบบต่างๆตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ได้เป็น 2 ระบบ คือระบบการเมืองแบบเผด็จการ และระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย

ระบบเผด็จการ เป็นระบบการเมืองที่ปกครองโดยคนกลุ่มน้อย เป็นระบบการเมืองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น

ระบบการเมืองแบบอภิชนหรือแบบอภิชนาธิปไตย  เป็นการปกครองโดยชนชั้นนำ  ซึ่งมีสถานะภาพทางสังคมสูง ที่มีสมบัติและมีอำนาจทางการเมือง  เป็นระบบการเมืองของอังกฤษในศตวรรษ ที่ 18 และ 19

ระบการเมืองแบบคณาธิปไตย เป็นการปกครองโดยคนกลุ่มน้อย  ซึ่งอาจเป็นการปกครองโดยคณะทหาร  หรือการปกครองโดยมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ระบอบคณาธิปไตยแตกต่างจากอภิชนาธิปไตย ในแง่ที่ว่า  คณาธิปไตยเป็นการปกครองของคนกลุ่มน้อยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนชั้นสูง  แต่อาจเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้อำนาจทางการเมือง  โดยวิธีการต่างๆ  ระบบการเมืองแบบนี้มีอยู่ในประเทศลาติน
อเมริกา และบางประเทศในแอฟริกาและเอเซีย

ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม เป็นระบบการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ในการกำหนดนโยบาย  และผู้ปกครองประเทศไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง   หากมีพรรคการเมืองก็ปราศจากอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง

ระบบการเมืองแบบเผด็จการ  คล้ายคลึงกับแบบอำนาจนิยมมากและมักใช้แทนกันเสมอ  เป็นการปกครองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง  หรือมีอิทธิพลทางการเมือง  เป็นการปกครองที่เน้นที่ตัวผูนำ ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือกลุ่มคน  โดยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความฉลาดเพียงพอ

ระบบการเมืองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ  เป็นการปกครองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  ระบบพรรคเดียวที่เห็นชัดก็คือ ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ผูกขาดอำนาจทางการเมือง  เป็นระบบการเมืองที่ใช้อำนาจเผด็การอย่างกว้างขวาง  ใช้อำนาจเข้าไปดูแลทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นให้ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ของรัฐ  และทุกคนจะต้องจะต้องดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับอุดมการณ์นั้น

อย่างไรก็ตามระบบเผด็จการดังกล่าวนี้ บางระบบเลือนหายไปบ้าง  บางระบบก็มีการแปลงรูปหรือซ่อนรูปในแบบประชาธิปไตย  ที่ใช้องค์ประกอบแต่เพียงการเลือกตั้ง  หรือประเทศคอมมิวต์บางประเทศที่ยอมให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจภายใต้การชี้นำของรัฐบาล

ระบการเมืองแบบประชาธิปไตย  เป็ระบบการเมืองที่ปกครองโดยคนส่วนมาก  เป็นระบบการเมืองที่ประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เป็นผู้กำหนดผู้ปกครองและนโยบายของรัฐบาล  โดยส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีการเลือกตั้ง  ซึ่งเป็นไปโดยเสรีและเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และให้มีการหมุนเวียนผู้ที่เป็นรัฐบาล  เพื่อมิให้ผูกขาดอำนาจนานเกินไป  องค์ประกอบสำคัญๆของประชาธิปไตยที่เป็นระบบการเมือง คือการเลือกตั้ง  เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน  หลักการปกครองโดยกฎหมาย และการใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แต่ต้องฟังเสียงข้างน้อย

 เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของระบบการเมืองรูปแบบต่างๆแล้ว ชวนให้สงสัยว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบใดกันแน่  เพราะแม้แต่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นป้ายหาเสียงว่า "ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ" ยังได้รับการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาล  หรือว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ฉลาดเพียงพอ  ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายตามระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
                                   --------------------------------------------------------------
                                                                 สาระคิด 

ใครก็ตามที่เลือกจะขี่หลังเสือ  ย่อมรู้ตัวดีอยู่แล้วว่า  พวกเขาจะต้องจบชีวิตลงในท้องเสืออย่างแน่นอน

                                                                             คำกล่าวของอินเดียโบราณ
                                                    ------------------------------------


วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ระบบการศึกษา

ถ้ามองการศึกษาในเชิงระบบ (System Approach)  จะเห็นว่าระบบการศึกษาประกอบด้วย

ปัจจัยป้อน เป็นส่วนของระบบการศึกษาที่เป็นวัตถุดิบ  เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตทางการศึกษา ปัจจัยป้อนของระบบการศึกษา  ประกอบด้วย ผู้เรียน ครูหรือผู้สอน อาคารเรียน ห้องเรียน สื่อ วัสดุเพื่อการเรียนรู้ งบประมาณ ผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการ เป็นส่วนของระบบการศึกษา  ที่ทำหน้าที่ดำเนินการเอาปัจจัยป้อน มาจัดกระทำให้เกิดผลผลิตตามวัตถุประสงค์  ส่วนที่เป็นกระบวนการ  ประกอบด้วย การเรียนการสอน  การพัฒนาสื่อการเรียน ตารางสอน กิจกรรม การวัดและการประเมินผล  การจัดการ การควบคุมคุณภาพ การวิจัย เป็นต้น

 ส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการ  จัดเป็นปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษา

ผลผลิต  เป็นส่วนของระบบ ที่เป็นผลได้จากการกระทำของระบบการศึกษา  ส่วนที่เป็นผลผลิต เป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ  และมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้  คือมีคุณสมบัติเหมาะสม ในฐานะที่เป็นบุคคล  สมาชิกในครอบครัว  ผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจ  สมาชิกของชุมชน ผู้สืบทอดวัฒนธรรม และเป็นสมาชิกของชุมชนโลก

จะเห็นว่า ผลผลิตของระบบการศึกษา จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต คือส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็น
กระบวนการ  ถ้าส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการมีคุณภาพ ผลผลิตคือผู้จบการศึกษา จะมีคุณภาพด้วย  ในทำนองเดียวกัน การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาจะต้องแก้ปัญหาที่ปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ  จึงจะเรียกว่าแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

จากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ภูมิหลังทางครอบครัวและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นตัวกำหนด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่สำคัญกว่าตัวแปรภายในโรงเรียน  ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จะสัมพันธ์กับตำราเรียนมากกว่าตัวแปรอื่นๆ

ผลการวิจัยนี้อธิบายได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการศึกษา ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาในแต่ละประเทศย่อมจะแตกต่างกันด้วย   การพยายามที่จะเอาอย่างการจัดการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว  นอกจากไม่อาจสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้อีกด้วย

ปัจจุบันนี้ มีการวิพากย์วิจารณ์  ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ ด้อยกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ ก็ควรรับฟัง และหากจะแก้ปัญหาอย่างจริง จะต้องเริ่มที่การตรวจสอบ วิเคราะห์ปัจจัยการผลิตทางการศึกษา แล้วแก้ไขในสิ่งที่พบว่ายังบกพร่องอยู่  มากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยการเสาะแสวงหาว่า ประเทศอื่นๆเขาจัดการศึกษาอย่างไร แล้วไปลอกเลียนเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย   เพราะการทำเช่นนั้นไม่อาจแก้ปัญหาคุณภาพของการศึกษาไทยได้
                                    ----------------------------------------------------
                                                               สาระคิด

คนที่ไม่ได้ทำงานเพราะรัก  แต่ทำเพื่อเงิน มักจะไม่สามารถสร้างเงิน และความสุขในชีวิตได้มากนัก

                                                                            Charles Schwab
                                                  ----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รูปแบบการศึกษา

เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องจัดการให้คนในสังคม ได้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพที่จำเป็น  เพื่อประโยชน์ของตนเองและสังคม  ซึ่งวิธีการที่คนในสังคมจะได้ความรู้  ทักษะ และสมรรภาพดังกล่าวนั้น มีหลายวิธี  มีหลายกระบวนการ มีทั้งที่จัดเป็นรูปองค์กรเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะ ก็มี หรือเรียนรู้เอาจากสภาวะแวดล้อม หรือสื่อต่างๆโดยทางอ้อม ก็มี รูปแบบการศึกษาสามารถ จำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

การศึกษาในระบบ (Formal Education)  เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน วิทยาลัย  และมหาวิทยาลัย  เป็นรูปแบบการศึกษาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะ  เป็นรูปแบบการศึกษาที่มีการกำหนดอายุ มีการเรียนเต็มเวลา  มีการแบ่งการเรียนออกเป็นระดับชั้นต่างๆ โดยมุ่งสู่การได้รับประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร หรือวุฒิบัตรอื่นๆ  เป็นรูปแบบการศึกษาเพื่อคนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่  ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามรูปแบบนี้สามารถวัดได้ และผู้จบการศึกษาจะมีลักษณะคล้ายๆกัน

ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง  เพราะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือในการสร้างชนชั้นนำ เป็นตัวกำหนดความมั่งคั่ง สถานภาพ และอำนาจ  อย่างไรก็ตาม  การศึกษานั้นมีทั้งพลังสร้างสรรค์และพลังทำลาย  จึงเป็นไปได้ที่การศึกษาในระบบจะสร้างลักษณะที่ไม่ดี ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคม

การศึกษานอกระบบ (Informal Education)  เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถือเอาความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ  เป็นการศึกษาระบบเปิด ที่จัดการศึกษาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องการรับเข้าเรียน หลักสูตร สถานที่เรียน วิธีสอน และระยะเวลา เป็นการศึกษาที่สร้าง ความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบนั้น มีองค์กรที่รับผิดชอบหลายองค์กรทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน ค่าใช้จ่าย ผู้เรียน และผู้จบการศึกษา ไม่อาจกำหนดได้แน่นอน บ้างก็เตรียมคนเพื่อการประกอบอาชีพ  บ้างก็เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาสที่พลาดโอกาสจากการการศึกษาในระบบ  ตลอดจนช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่การศึกษาในระบบสร้างขึ้น

มีความเข้าใจผิดว่า การศึกษานอกระบบเป็นการศึกษาสำหรับคนจน คนด้อยโอกาส หรือเหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ความเป็นจริง ประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีโปรแกรมและกิจกรรมของการศึกษานอกระบบอย่างกว้างขวางและหลากหลาย  ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม  และเทคโนโลยี

การศึกษาแบบปกติวิสัย(Informal Edcation) หรือการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการศึกษาไม่มีระบบ เป็นกระบวนการศึกษาตลอดชีวิต เป็นการศึกษาที่เป็นอิทธิพลจากทางบ้าน สังคม  สื่อต่างๆ ภาพยนต์ และองค์กรอื่นๆโดยทางอ้อม  บางครั้งก็รับไปโดยไม่รู้ตัว เป็นรูปแบบการศึกษาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งแม้จะไม่ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็ตาม  ทั้งนี้ เพราะการศึกษาแบบปกติวิสัย ช่วยสร้างสม เจตคดิ
ค่านิยม ทักษะ  ความรู้และ ประสบการณ์ที่ได้ในชีวิตประจำวันแต่ละวันนั่นเอง

การศึกษาทั้ง 3 รูปแบบนี้ มีความเหมือนกันและต่างกัน  สำหรับความแตกต่างระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ กับการศึกษาแบบปกติวิสับนั้น จะเห็นได้จากการจัดองค์กรและลักษณะการเรียนรู้ ส่วนการศึกษาแบบปกติวิสัยนั้น จัดขึ้นโดยไม่มุ่งให้เกิการเรียนรู้เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็ผลพลอยได้  เป็นการรับการศึกษาโดยทางอ้อม ส่วนการจัดองค์กรนั้น การศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ มีการจัดองค์กรและกำหนดทิศทางอย่างมีเป้าหมาย  เป็นการจัดการศึกษาแบบตั้งใจ  ส่วนการศึกษาแบบปกติวิสัยนั้นส่วนมากไม่มีการจัดองค์กรที่ชัดเจน  และเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

มีอย่างไรก็ตาม   เมื่อดูจากรูปแบบของการศึกษาแล้วจะพบว่า สมาชิกในสังคมทุกคนล้วนได้รับการศึกษา เพียงแต่ว่าเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือเป็นการศึกษาแบบปกติวิสัย  แต่ละรูปแบบมีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด รูปแบบเหล่านี้ มีทั้งส่วนที่ทำให้สมบูรณ์ มีส่วนที่ส่งเสริม และมีส่วนที่จูงใจซึ่งกันและกัน
                                                     ---------------------------------------------

                                                                                 สาระคำ

             การเรียนรู้  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจากการ มีประสบการณ์
             ความรู้  หมายถึง  ผลบวกของประสบการณ์
            ประสบการณ์  หมายถึง  ผลที่ได้จาการการสัมผัส  ด้วยอวัยวะสัมผัส
                                                                          -----------------------

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความมุ่งหมายของการศึกษา

การศึกษาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  โดยพัฒนาความสามารถที่ติดตัวมนุษย์แต่ละคน การเรียนในโรงเรียนก็ดี กระบวนการสอนก็ดี เป็นเพียงวิธีการที่จะนำไปสู่ผล  ฉะนั้น การใดที่ทำให้บุคคลมีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจ มีทักษะ และทำให้นิสัยเปลี่ยนไปในทางที่ดีงาม ที่ถูกต้อง ที่สังคมยอมรับ ถือได้ว่าเป็นการศึกษาทั้งสิ้น

การศึกษาก็เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ ที่จะต้องมีความมุ่งหมาย   บางครั้งความมุ่งหมายการศึกษาแสดงออกในลักษณะที่คลุมเครือ กว้างขวาง และเป็นนามธรรม  บางครั้งมีลักษณะเป็นคำแถลงการณ์  บางครั้งก็เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความมุ่งหมายจะมีลักษณะอย่างไร ย่อมจะชี้นำทางการศึกษาทั้งสิ้น
 
โดยปกติประเทศต่างๆ  จะกำหนดความมุ่งหมายเป็นประเด็นกว้างๆ ดังนี้

ด้านบุคคล  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาอำนาจ  และความสามารถภายในของบุคคล

ด้านเศรษฐกิจ  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนา ความรู้ ทักษะ  ของแต่ละบุคคล ให้สามารถมีบทบาทที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในฐานะผู้ประกอบอาชีพ

ด้านสังคมและจริยธรรม  การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาค่านิยม  และเจตคติ  อันจะก่อให้เกิดความซื่อสัตย์ และการมีส่วนร่วมอย่างมีความรับผิดชอบต่อชีวิตและสังคม

ด้านการเมือง การศึกษามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาความรู้สึก  ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ  และสร้างความสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม

จากประสบการณ์ของธนาคารโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนทางการศึกษา มานานหลายทศวรรษ พบว่าการศึกษาช่วยสนองตอบความมุ่งหมายต่อไปนี้

            1. สนองความต้องการขั้นพื้นฐานด้านความรู้ของมนุษย์  ช่วยให้มนุษย์มีเครื่องมือและวิธีการ  ที่จะช่วยสนองความต้องการด้านอื่นๆ   ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา

            2. การศึกษาทำให้มีกำลังคนที่มีทักษะที่จำเป็น เพื่อการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจด้านต่างๆ การศึกษาช่วยให้มีวิธีการพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในการผลิตของกำลังแรงงาน  เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเจตคติที่ทันสมัย  และเป็นบุคคลที่มีความหวัง

           3. การศึกษากำหนดรายได้ของบุคคลในปัจจุบัน ช่วยกระจายรายได้และการจ้างงานในอนาคต  ในทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ระดับมัธยมศึกษา ระดับช่างเทคนิคหรืออุดมศึกษาเท่านั้่นที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ  แต่การศึกษาในระดับประถมศึกษา การศึกษานอกระบบ ตลอดจนการฝึกอบรมล้วนมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสิ้น

           4. การศึกษามีอิทธิพลต่อสวัสดิการสังคม  มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ อัตราการเกิด ความยืนยาวของอายุ  ตลอดจนช่วยเพิ่มกำไรในการลงทุนทางสังคม  และทางกายภาพในรูปแบบอื่นๆ

 สรุปได้ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคน มีความมุ่งหมาย เพื่อประโยชน์ของบุคคล  เศรษฐกิจ  สังคม และการเมือง 
                                                   --------------------------------------
                                                                     สาระคำ
การลงทุนทางการศึกษา  เป็นการมองการศึกษาในแง่เศรษฐกิจ โดยถือว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่ลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด  และคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
                                                                ------------------

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของการศึกษา

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปถึงความสำคัญของการศึกษา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ในฐานะที่เป็นเครื่องมือและกระบวนการในการพัฒนามนุษย์  จอห์น เ้อฟ เคนเนดี้ (John F Kennedy) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ได้เคยกล่าวว่า "อารยธรรมเป็นการแข่งขันระหว่างการศึกษากับความหายนะ(Civilization is a race between education and catastrophe)" ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างชัดเจน ทุกวันนี้การศึกษาจึงเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์  การศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งในจำนวนสิ่งต่างๆในโลก  ที่ได้รับการยอมรับกันในกลุ่มชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ดี ไพร่ คนรวย หรือคนจน หรือกลุ่มคนที่ประสบความล้มเหลวจากกระบวนการศึกษา

ในส่วนของบุคคล  การศึกษามีบทบาทสำคัญในลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถ  ความเจริญก้าวหน้า  ช่วยนำเอาศักยภาพและสิ่งที่ซ่อนเร้นในตัวบุคคลออกมา  ช่วยเพิ่มลักษระของมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

การศึกษามีภาะรหน้าที่และบทบาทโดยตรง ในการที่จะต่อสู้กับความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีทางเลือกในการแก้ปัญหา เพื่อสนองความต้องการ

การศึกษาทำให้มนุษย์ได้ความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคดิ ที่ทำให้เขาเป็นเจ้านายตัวเอง สามารถควบคุมพลังและกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

การศึกษาช่วยให้มนุษย์มีโอกาสก้าวพ้นจากความยากจนค่นแค้น ด้วยการสร้างทัศนคติ ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ

การศึกษามีความสัมพันธ์กับความก้าวหน้า สัมพันธ์กับการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หลุดพ้นจากการครอบงำของประเพณีดั้งเดิม  ไปสู่การดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ดีกว่า

การศึกษาเป็นบันไดไปสู่การเลื่อนชั้น เลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคล  เลื่อนจากจากชาวบ้านธรรมดาเป็นชนชั้นปกครอง  เป็นสมาชิกของชนชั้นนำ มีอำนาจทั้งทางด้า่นเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนสถานะทางสังคมของบุคคลที่สำคัญ

การศึกษาช่วยให้มนุษย์ได้ประโยชน์จาการใช้เทคโนโลยี ในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความสุขสบายในชีวิต

ในส่วนของสังคม  การศึกษามีบทบาทสำคัญในลักษณะต่อไปนี้

การศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐาน ในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม  เป็นตัวแปรหลักในการกำหนดรูปแบบของสังคม

การศึกษามีบทบาท และสร้างพลัง  ในการพัฒนาการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

การศึกษาสร้างค่านิยมที่มีอิทธิพลในการทำงาน การร่วมมือกัน ตลอดจนความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

การศึกษาเป็นเครื่องมือปลูกฝังปรัชญาชนชั้น ปรัชญาการเมือง ที่มีอิทธิพลเหนือระบบการเมืองการปกครองของประเทศ  ตลอดจนดำรงค่านิยม ทัศนคติ และวัฒนธรรมของชาติ

การศึกษาช่วยดำรงรูปแบบของสังคม วิธีการปกครองบ้านเมือง    ไม่ว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใด ทุกสังคมย่อมใช้ประโยชน์จากการศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการนี้ทั้งสิ้น

การศึกษาช่วยในการรวมคน หรือเผ่าพันธุ์ต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกัน เพราะมนุษย์ำไม่อาจรวมเป็นชาติได้  หากคนเหล่านั้นไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา  สามารถสรุปได้ว่า   การศึกษาเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ หากขาดการศึกษา ความเป็นมนุษย์ก็จะขาดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
                                       --------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                   การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัยากรมนุษย์
                                                 -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฐมบทเรื่องการศึกษา

การศึกษามีมานานนับตั้งแต่เริ่มมีสังคมมนุษย์ แต่ในระยะเริ่มแรก   การศึกษาเป็นแบบง่ายๆ  มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้รู้จักการดำรงชีวิต ความอยู่รอดปลอดภัย และการดำรงอยู่ของหมู่คณะ  เนื้อหาที่นำมาอบรมสั่งสอนส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ ความรู้ที่จะแสวงหาและใช้ปัจจัยสี่  อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  เป็นการศึกษาที่จัดให้กับสมาชิกใหม่ของสังคมนั้นๆ   คือเด็กและเยาวชน  ทั้งนี้  เพื่อช่วยตระเตรียมสมาชิกใหม่เหล่านั้น ให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ  หรือสมาชิกเก่าได้อย่างดี

ในระยะแรกที่ไม่มีสถาบันการศึกษา   การถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรมและทักษะที่จำเป็น จะทำผ่านสถาบันอื่นๆในสังคม  อันได้แก่  สถาบันครอบครัว  และสถาบันศาสนา  และเมื่อสภาวะทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป  สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น  มีความจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับสังคมอื่นๆมากขึ้น เกิดแรงผลักดันให้เกิดสถาบันทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา  เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะ
สถาับันที่ว่านี้ คือสถาบันการศึกษา  อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาก็ไม่ได้เกิดในทุกสังคมพร้อมๆกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละสังคม

สถาบันการศึกษาในสมัยแรก  เป็นกิจกรรมของกลุ่มผู้นำของสังคม เป็นอภิสิทธิ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง  เื้นื้อหาสาระของการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนา ปรัชญา วรรณคดี และวัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ จุดเน้นอยู่ที่ความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตน
 
ต่อมา เมื่อเริ่มมีการขยายการจัดการศึกษาให้กว้างขึ้น จึงจะเปิดโอกาสให้แก่คนนอกแวดวงผู้นำ  แต่ก็มีกฎเกณฑ์มากมาย  เพื่อกลั่นกรองบุคคลให้เข้าสู่ระบบจำนวนแต่น้อย  และเมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไป  จึงได้ทำให้มีการศึกษาสำหรับคนธรรมดาสามัญขึ้น

ปัจจุบัน  ระบบการศึกษาได้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  การศึกษากลายเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สุด  ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านต่างๆ

ต่อคำถามที่ว่า การศึกษาคืออะไร เนื่องจากการศึกษามีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ความหมายของการศึกษาจึงกว้างมากและยากที่จะให้นิยามได้ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการด้านต่างๆ  ได้ให้ความหมายการศึกษา ดังนี้

ดิวดี้ (Dewey)  นักการศึกษาชาวอเมริกัน ให้ความหมายว่า การศึกษา  คือความเจริญงอกงาม เป็นความเจริญเติบโต ทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยมีทิศทางไปในทางที่สังคมปรารถนา

ไนเยเรเร (Nyerere) อดีตประธานาธิบดีของแทนซาเนีย ให้ความหมายการศึกษาว่า การศึกษา คือการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้  ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เรามีชีวิตอยู่   และวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนและใช้สภาพแวดล้อม  เพื่อปรับปรุงตัวเอง  และการศึกษาจะต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพลเมืองแต่ละคน 3 ประการคือ (1) มีจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น (2) มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากคนอื่น (3) เป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันของสังคม

ชูลท์ซ (Schultz)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน  ให้ความหมายการศึกษาว่า  การศึกษา  คือกิจกรรมในการเรียนการสอนและการเรียนรู้  ที่ทำให้เกิดความสามารถที่มีประโยชน์  สำหรับความสามารถที่มีประโยชน์นั้น ชูลท์ซ อธิบายว่า หมายถึง ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

สปินเลอร์ (Spindler)  นักมานุษยวิทยา มีความเห็นว่า การศึกษา คือกระบวนการถ่าทอดวัฒนธรรม  ซึ่งประกอบด้วยความชำนาญด้านต่างๆ  ความรู้  ทัศนคติ  ค่านิยม  และรูปแบบของพฤติกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี นักการศึกษาของไทย ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ห้า อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้

เมื่อประมวลความหมายของนักวิชาการสาขาต่างๆดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง  เสริมสร้าง  และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่า  ให้กับสมาชิกของสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา
                                         ------------------------------------------------------
                                                                     สาระคิด

           บ้านเมืองวุ่นวาย  เพราะผู้มีอำนาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตน  โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

                                                           -------------------------------