วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สังคมกำลังเปลียนแปลงอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของชีวิต  จนกระทบกระเทือนต่อปัจเจกบุคคล ทั้งในฐานะคนทำงานและในฐานะพลเมือง ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว คือการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้ เทคโนโลยี และรูปแบบทางสังคม

ในด้านอาชีพ มีเพิ่มเครื่องมือเครื่องใช้ที่อัตโนมัติมากขึ้น  เพิ่มทักษะในการสื่อสาร ความสามารถในการวางแผน ความสามารถในการแสวงหาและเพิ่มทักษะ ตลอดจนสมรรถภาพในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น คนทำงานในยุคปัจจุบันจะต้องมีความสามารถในการประยุกต์และความยืดหยุ่น

นอกจากนั้น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ยังส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย

นักจิตวิทยาชื่อ Karl Menninger กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ค่านิยมด้านคุณธรรมและความสำนึกที่รับผิดชอบทางสังคมหายไป อันนำไปสู่การเกิดปัญหาทางสังคมที่สำคัญๆ เช่น ปัญหาคอรัปชั่น ความรุนแรงทางสังคม ฯลฯ เขาเห็นว่า บ้าน ชุมชน โรงเรียน และองค์กรอื่นๆ จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างการพึ่งตนเองกับความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น

จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันทางสังคม ที่จะต้องพัฒนาด้านคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้

ในขอบเขตของเศรษฐกิจ คนทำงานจะต้องเพิ่มการมีสมรรถนะในการแก้ปัญหาและในฐานะปัจเจกบุคคล จะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่หรือเตรียมตัวเพื่อทำงานที่แตกต่างออกไป ในด้านมนุษยสัมพันธ์ บุคคลจำเป็นจะต้องมีทักษะมนุษยสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการเพิ่มจำนวนของงานบริการ ได้แก่ งานสอน  งานที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม งานเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม งานที่เกี่ยวกับสันทนาการ งานรัฐบาล ฯลฯ

ในขอบเขตของการเมือง  การเปลี่ยนแปลงทำให้พลเมืองทุกคน ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องตระเตรียมเพื่อมีส่วนร่วมด้วยความรับผิดชอบ และในการแก้ปัญหาวิฤตการณ์ทางสังคม  ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้อย่างดี ก็โดยการเจรจาต่อรอง ประนีประนอม  รวมทั้งคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ในฐานะพลเมืองจะต้องเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า มองถึงปัญหาของท้องถิ่น ปัญหาของชาติ และปัญหาของโลก พลเมืองที่มีการศึกษาควรได้รับการเตรียมตัวที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางทางการเมือง มากกว่าการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว

ในขอบเขตของสังคม บุคคลแต่ละคนจะต้องเพิ่ม ทัศนคติ ค่านิยม และทักษะที่จำเป็น สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ อันมีผลมาจากความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกเป็นศัตรู และการปฏิเสธความแตกต่าง สังคมที่มีประสิทธิผล ต้องการคนหลายๆกลุ่มทำงานร่วมกัน เพื่อสนองความต้องการร่วมกัน ทั้งในเรื่อง การศึกษา การทำงานอาชีพ การขนส่ง สันทนาการ การบริการส่วนบุคคล และความปลอดภัยทางกายภาพ

ในขอบเขตของบุคคล บุคคลจำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพ จะต้องเรียนรู้ที่จะอดทน เพื่อทนต่อความกดดันของสังคม ความไม่ลงรอย และความไม่แน่นอน บุคคลจะต้องเข้าใจและอดทนที่จะทำงานกับคนอื่น หรือการจัดการกับสังคมที่ซับซ้อน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน กุญแจสำคัญในการพัฒนาบุคคล ก็คือการปล่อยให้เกิดค่านิยม ความสนใจ และรูปแบบของการจัดการปัญหาส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่หลากหลาย เพราะสังคมในยุคปัจจุบัน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีเสรีภาพในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นหน้าที่ของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทุกระดับ  จะต้องช่วยกันพัฒนาคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเินนชีวิต ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
                ---------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                     You can't get lost if you don't know where you're going.
                           ----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การบริหารจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล หมายถึงโรงเรียนที่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกิจ จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่คำนึงว่าใช้ทรัพยากรทางการศึกษามากหรือน้อยเพียงใด

จากการศึกษา พบว่าการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิผลมียุทธวิธีดำเนินการ ดังต่อไปนี้

          1. ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นโรงเรียนที่พยายามสนองตอบนักเรียนทั้งหมด มีการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือนักเรียน ยอมรับความแตกต่างของนักเรียน ให้ความสำคัญกับความจำเป็นและสวัสดิการของนักเรียนเป็นอันดับแรก โรงเรียนจะใช้อาสาสมัครของชุมชน ผู้ปกครอง ครู และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล  ตลอดจนมีบรรยากาศของความไว้วางใจที่สร้างขึ้นระหว่างนักเรียนและครู

          2. มีโปรแกรมทางวิชาการให้เลือกหลากหลาย การพัฒนานักเรียนและการจัดโปรแกรมทางวิชาการที่หลากหลาย เป็นเป้าหมายที่สำคัญของโรงเรียน หลักสูตรมีเนื้อหาที่ลุ่มลึก  มีโปรแกรมเสริมหลักสูตร และมีการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนอย่างเหมาะสม

          3. มีการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนที่มีประสิทธิผล มีโครงสร้างที่สนับสนุนการสอนที่โดดเด่น  ครูและผู้บริหารเชื่อในความสามารถของตนเอง ว่ามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และเชื่อว่านักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ มีการปรับปรุงการสอนให้สนองความต้องการของนักเรียน โดยใช้ยุทธวิธีการสอนหลายอย่าง ตลอดจน ยอมรับและให้รางวัลนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ

          4. มีบรรยากาศในเชิงบวก โรงเรียนที่มีประสิทธิผล จะมีโครงสร้างที่ชัดเจน ด้วยการะบุพันธกิจ เป้าหมาย ค่านิยม และมาตรฐานของการปฏิบัติงาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากครูอย่างสม่ำเสมอ ครูและหัวหน้าสถานศึกษาอุทิศตนเพื่อการนำไปสู่ความเสมอภาค สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่เป็นมิตร สร้างวินัยนักเรียนโดยใช้วิธีการในเชิงบวก โดยมีพฤติกรรมของผู้บริหารเป็นตัวแบบที่สำคัญ

          5. ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน มีการสร้างสภาพแวดล้อมทางวิชาชีพที่อำนวยความสะดวกให้การทำงานประสบความสำเร็จ  ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ครูมีอิสระในการทำงาน  แต่มีการควบคุมอย่างมีเหตุผล โดยครูทำงานร่วมกันเพื่อวางแผนหลักสูตรและการสอน

          6. มีการพัฒนาบุคลากรอย่างกว้างขวาง  ระบบการประเมินผลครู จะถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยให้ครูได้ปรับปรุงทักษะให้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอน มีการฝึกอบรมเพื่อสนองความต้องการเฉพาะของครูแต่ละคน  ใช้การฝึกอบรมในการสร้างสภาพแวดล้อมของความร่วมมือ  ครูและผู้บริหารจะต้องจัดการฝึกอบรมในระหว่างประจำการ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาอย่างกว้างขวางต่อไป

          7. มีการใช้ความเป็นผู้นำร่วมกัน ความเป็นผู้นำในเชิงสร้าสรรค์  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหัวหน้าสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่  แต่เกิดจากผู้บริหารโรงเรียนใช้ท่าทีของความเป็นผู้นำอย่างเหมาะสม คือแก้ปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือ มีการใช้ทีมหรือกลุ่มตัดสินใจ  มีการมอบอำนาจ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ทั้งของครูและนักเรียน ใช้ความเป็นผู้นำเพื่อสร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทางของโรงเรียน ให้ความสะดวกในการทำงานของครู ตลอดจนให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น การสร้างเป้าหมาย พันธกิจ เป็นต้น

          8. สนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ครูในโรงเรียนที่มีประสิทธิผลไม่จำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นเรื่องท้าทาย และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ นอกจากนั้น ครูจะทำงานด้วยความรับผิดชอบ สร้างสรรค์ สม่ำเสมอและอย่างมืออาชีพ ทรัพยากรต่างๆ เช่น เวลา สิ่งอำนวยความสะดวก ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการเรียนการสอน

          9. เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะมีผู้ปกครองนักเรียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ โรงเรียนมีวิธีหลายอย่างที่จะสื่อสาร ตลอดจนทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน และกระบวนการตัดสินใจ โดยถือว่าผู้ปกครองและชุมชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยขยายขอบเขตการทำงานของโรงเรียน ในลักษณะที่ โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนสนับสนุนกันและกัน

จะเห็นว่า  โรงเรียนที่มีประสิทธิผล ไม่ได้เกิดจากผู้บริหารโรงเรียนแต่เพียงผู้เดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นสำคัญ โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
            -----------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคำ

การเรียนรู้ หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์
                          ----------------------------------------------------------------                  

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2530 (ค.ศ. 1987) เป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งจะแก้กระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งถูกครอบงำโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ มาเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขาในการที่จะสนองตอบความต้องการของเขาเอง

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ประกอบด้วยตัวแปรมากมาย ที่ทำให้บุคคลและชุมชนสร้างเอกลักษณ์แห่งตนที่มีลักษณะเฉพาะ และสร้างความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับโลกได้อย่างมีจุดหมายและความภาคภูมิใจ

การพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญในการที่จะแสดงออกและสนองตอบค่านิยมพื้นฐานของมนุษย์ โดยสังคมจะต้องรับผิดชอบและให้การประกันว่า มนุษย์จะต้องมีสวัสดิการระดับพื้นฐานและมีความเสมอภาค

การเปลี่ยนจุดเน้นไปสู่การสนองตอบความต้องการของมนุษย์นี้  ไม่ได้ปฏิเสธการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ  เป็นแต่เพียงเชื่อว่า การตอบสนองความต้องการของมนุษย์มีความสำคัญเท่าๆกับการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเน้นการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างกลมกลืนระหว่างบุคคลและชุมชน กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม   และการเมืองโดยรวม เป็นกระบวนการพัฒนาที่เน้นความเสมอภาคทางเพศ ศาสนา และความเสมอภาคระหว่างรุ่นอายุ

สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีกรอบการทำงาน ดังนี้

          1. จะต้องมีนโยบายเศรษฐกิจ ภาษี การค้า พลังงาน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และนโยบายอื่นๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

          2. จะต้องลงทุนทางการศึกษาและสุขภาพอย่างเพียงพอในรุ่นปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาทางสังคมในรุ่นต่อๆไป

          3. จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปในทิศทางที่ไม่สร้างหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่โลกผลิตทดแทนหรือรับภาระได้

          4. จะต้องการความสมดุลย์ระหว่างความจำเป็นในปัจจุบันกับความจำเป็นในอนาคต ระหว่างเอกชนกับรัฐ และระหว่า่งบุคคลกับสังคม

          5. จะต้องมีการปรับโครงสร้างของงบประมาณใหม่ จากการใช้จ่ายเพื่อกองทัพ เพื่อรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ มาสู่การลงทุนในมนุษย์ และเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

          6. จะต้องให้คนแต่ละยุคได้รับการตอบสนองความต้องการ โดยปราศจากการสร้างหนี้ที่เขาไม่ได้สร้างเอง ซึ่งหมายถึง หลีกเลี่ยงการสะสมหนี้ทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมลพิษหรือการใช้ทรัพยากรจนหมด  หนี้งบประมาณด้วยการยืมเงิน หนี้สังคมด้วยการละเลยการพัฒนามนุษย์  หนี้ประชากรโดยปล่อยให้เพิ่มประชากรด้วยการไม่ควบคุม ซึ่งหนี้เหล่านี้ จะปล้นลูกหลานของเราในอนาคต

จะเห็นว่า ความยั่งยืนเป็นความจำเป็นของกระบวนการพัฒนา และจะต้องเป็นความยั่งยืนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของบุคคล เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องได้รับโอการที่จะพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต
               ------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

      มนุษย์ไม่ได้เป็นเครื่องมือของการพัฒนา แต่เป็นผลสุดท้ายของการพัฒนา
                                 ---------------------------------------------------------




วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

องค์ประกอบที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์

ความเชื่อเรื่องการพัฒนามนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นความเชื่อและการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถือว่าเป็นยุทธวิธีที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะเล็งเห็นว่ามนุษย์เป็นส่วนสำคัญในทุกกระบวนการของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

การพัฒนามนุษย์นั้น สามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งให้การศึกษา  การให้บริการสาธารณะสุข การให้สวัสดิการ การปรับปรุงภาวะโภชนาการ  และการย้ายถิ่น แต่จะใช้วิธีการใดก็ตาม จะต้องยึดองค์ประกอบของการพัฒนาดังต่อไปนี้

          1. ความเสมอภาค การพัฒนามนุษย์ จะต้องเป็นการขยายทางเลือกให้กับมนุษย์  และมนุษย์จะต้องมีความเสมอภาคในโอกาส การพัฒนาที่ปราศจากความเสมอภาค เป็นการจำกัดทางเลือกของบุคคลในสังคม

ความเสมอภาคในโอกาส ไม่ได้เกี่ยวกับผลที่ได้รับ ความเสมอภาคในโอกาสไม่ได้หมายความว่า จะมีทางเลือกหรือหรือผลที่ได้รับคล้ายกัน ความเสมอภาคในโอกาสนำไปสู่การได้รับผลที่ไม่เท่าเทียมกันก็ได้

ความเสมอภาคในโอกาส ทางเศรษฐกิจและการเมือง  เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

          2. ความยั่งยืน ความยั่งยืนในที่นี้ หมายถึง ความยั่งยืนของทุนทุกรูปแบบ  ได้แก่ ความยั่งยืนทางกายภาพ ทุนมนุษย์ การเงินการคลัง ตลอดจนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติทุกสิ่งไว้ตามสภาพเดิมๆ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยสร้างสิ่งทดแทนทรัพยากรธรรมชาติได้ และถ้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ จะทำให้ทางเลือกของมนุษย์ในอนาคตมีความยิ่งยืน  โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยโลกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ความยั่งยืน เป็นการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ต้องรักษาไว้อย่างยั่งยืน คือโอกาสของชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่ความยากลำบากของมนุษย์

          3. ผลิตภาพ องค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการพัฒนามนุษย์อีกประการหนึ่ง คือความสามารถในการผลิต ความสามารถที่จะผลิตได้เต็มศักยภาพ เป็นผลิตภาพในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้พัฒนา ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการพัฒนา

          4. ความมีอำนาจ การพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่เป็นการให้การเลี้ยงดูหรือการจัดสวัสดิการให้เต็มที่ แต่มุ่งพัฒนาให้มนุษย์มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนา ที่จะปรับปรุงชีวิตของตนให้ดีขึ้น

นโบายที่แย่ที่สุด ก้คือการทำให้คนยากคนจน อยู่ในความดูแลของรัฐตลอดไป

ความมีอำนาจ หมายถึง การพัฒนาให้มนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกตามที่ตนต้องการได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางเศรษฐกิจหรือการเมือง

ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์ดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ  ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม ในการพัฒนามนุษย์จะต้องตรวจสอบเสมอว่า เป็นการพัฒนาที่ยึด ความเสมอภาค ความยั่งยืน ผลิตภาพและความมีอำนาจหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่ จัดว่าเป็นการพัฒนามนุษย์ที่ล้มเหลว นำไปสู่ปัญหาในอนาคต
                     -------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

สังคมด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการด้อยพัฒนา ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนเกิดจากมนุษย์ที่ด้อยพัฒนาทั้งสิ้น
                                       ------------------------------------------