วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แรงงานกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

แรงงานเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อการผลิตและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณของแรงงาน ชั่วโมงการทำงาน ความตั้งใจในการทำงาน ตลอดจน ความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงาน จะเป็นตัวกำหนดปริมาณของผลผลิตและระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น แรงงานไม่เป็นแต่เพียงปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ฯลฯ จะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตได้เลย หากไม่มีแรงงานเป็นส่วนประกอบในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีทักษะ มีความชำนาญในสาขาต่างๆ เช่น ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การจัดการ การตลาด การเงิน และการบัญชี เป็นต้น

แรงานในระบบเศรษฐกิจ เป็นบุคคลที่ทำงานประกอบอาชีพในการผลิตสินค้าและบริการ แรงงานมีตั้งแต่ผู้ที่ทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถระดับสูง จนถึงผู้ที่ทำงานด้วยการใช้แรงกายและงานไร้ฝีมืออื่นๆ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพของแรงงานมีความสำคัญมาก เพราะถ้าแรงงานมีคุณภาพสูง การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคุณภาพของแรงงานขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

          1) ความเหมาะสมทางกายภาพ ความเหมาะสมทางกายภาพของแรงาน มีผลมาจากแรงงานได้รับการดูแลอย่างดี  มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีอาหารเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีเครื่องพักผ่อ่นอย่อนใจ  และมีบริการสาธาณะสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพ แต่ประเทศด้อยพัฒนามักจะจะขาดปัจจัยที่จำเป็นเหล่านี้ จนส่งผลกระทบต่อแรงงานของประเทศ

         2) การพัฒนาทางด้า่นสติปัญญา คุณภาพด้านสติปัญญา มีความสำคัญต่อแรงงานมาก เพราะแรงงานที่มีสติปัญญาจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสติปัญญาของแรงงาน สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรม

          3) ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา แรงงานที่มีคุณภาพ จะต้องได้รับการกระตุ้นให้มีความปรารถนาที่จะทำงานด้วยความเต็มใจ มีความกระตือรือร้นที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น

         4) การจัดองค์การที่เหมาะสม  การจัดองค์การทางด้านแรงงานที่เหมาะสม จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ทำให้การใช้แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจ  แรงงานมีบทบาทสำคัญ  เพราะหากไม่มีแรงงานการผลิตสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แรงงานจะต้องได้รับการดูแลและได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้แรงงานที่คุณภาพ อันจะนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยดี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

กำลังคน(Man power)  หมายถึง บุคคลที่ทำงานประกอบอาชีพสาขาต่างๆ นับตั้งแต่ผู้ที่ใช้ความรู้ความชำนาญอย่างสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ฯลฯ จนถึงผู้ที่ทำงานด้วยแรงกาย อันได้แก่กรรมกรและคนงานไร้ฝีมืออื่นๆ

กำลังแรงงาน(Labour force) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ที่มีงานทำและไม่มีงานทำ แต่ประสงค์จะทำงานและสามารถทำงานได้

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อันได้แก่ ดิน สินแร่ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ตลอดจน อากาศ และฝน

สำหรับความคิดเห็น ในเรื่องบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่

นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ญึ่ปุ่น หรือ อิสราเอล ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศไปได้ และก็มีหลายประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศได้ ทั้งๆที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอยู่มากมาย

แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มที่หนึ่งเห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติกำหนดแนวทางแห่งความก้าวหน้า ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จะสามารถก้า่วหน้าไปได้ในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศที่ขาดทรัพยากรธรรมชาติ จะเห็นว่าประเทศมั่งคั่งส่วนใหญ่ ล้วนแต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ

แม้จะมีความเห็นแย้งในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจเลย การมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอ ยังส่งผลให้มีการขยายการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม การจ้างงาน รายได้ และการไหลเข้ามาของเงินตราต่างประเทศ

ประเทศที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น จำเป็นจะต้องมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่พอสมควร เพราะทรัพยากรธรรมชาติช่วยในการเริ่มต้นการพัฒนา และเป็นปัจจัยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

ในประเทศกำลังพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติมีบทบาทสำคัญ ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหาร เป็นรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปและเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆตามมา

สำหรับประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจส่วนมาก เป็นประเทศที่ทรัพยากรธรรมชาติยังไม่ได้รับการพัฒนา ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ความจำเป็นประการหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ก็คือความสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่า แม้จะมีความขัดแย้งในทางความคิดกันอยู่ เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจว่ามีมากหรือน้อย แต่ยากที่จะปฏิเสธถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถของแต่ละประเทศ และต้องยอมรับความจริงว่าประเทศด้อยพัฒนาส่วนมากไม่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้เต็มที่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

               การลงทุนจากต่างประเทศ เป็นทางออกสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมขาติที่มากพอ
               แต่ขาดความรู้ความสามารถในการที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

การพัฒนาเศรษฐกิจ มีความหมายมากกว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้มีเป้าหมายแค่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ หรือ การเพิ่มรายได้ แต่มุ่งถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ศาสตราจารย์ ดร เทียนฉาย กีระนันท์ สรุปว่า  การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนามีเป้าหมายดังต่อไปนี้

1.เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติและผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปกติต้องการที่จะให้ผลผลิตมวลรวมแห่งชาติสูงขึ้นในอัตราที่เร่งรัด ซึ่งความต้องการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต เช่น การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงการผลิตที่ใช้แรงงาน และที่ดิน มาเป็นการผลิตที่ใช้ทุน โดยส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าประเภททุนมากขึ้น ตลอดจน การปรับปรุงระบบและวิธีการบริหาร การตลาด การจัดการ เพื่อเร่งการผลิตและการขยายตัวของตลาด ซึ่งการยกระดับรายได้ของประชากรให้สูงขึ้น มีผลทำให้อำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย อันนำไปสู่การสร้างอุปสงค์รวมของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

2.เพื่อสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจ จนรายได้ประชาชาติสูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่หากรายได้และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นตกอยู่กับกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึี่งเพียงกลุ่มเดียว จะเป็นการไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยากจน และมีมาตรฐานการครองชีพอยู่ในระดับต่ำอย่างเดิม ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกกิจ ต้องมีการกระจายรายได้ให้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ เพื่อลดความแตกต่างฐานะเศรษฐกิจของประชากรให้น้องลง

3. เพื่อลดภาวะการว่างงานการมีงานทำและการทำงานไม่เต็มที่ ระบบเศรษฐกิจจะมั่นคงได้นั้น บุคคลในระบบต้องมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างเพียงพอ แม้ว่าปัญหาการไม่มีงานทำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกระบบเศรษฐกิจ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีลักษณะการทำงานไม่เต็มที่ด้วย โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรกรรม ดังนั้น เมื่อระบบเศรษษฐกิจต้องการจะยกระดับผลผลิตของชาติและรายได้ประชาชาติให้สูงขึ้น จะต้องขจัดปัญหาการว่างงาน การไม่มีงานทำ และการทำงานไม่เต็มที่ไปด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต

3. เพื่อยกระดับสังคมและมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น การทำให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ดี มีภาวะโภชนาการดี มีการศึกษาและอนามัยดี ตลอดจนการมีชีวิตที่ยืนยาว เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะจะช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

ะเห็นว่าการพัฒนาเศราฐกิจ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการมีรายได้ การเพิ่มผลิตมวลรวมของชาติแล้ว การมีงานทำ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดจนการช่วยเหลือดูแลให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น หากละเลยเป้าหมายเหล่านี้ การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                        การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทำได้
        แต่ควรเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ ความรู้ความสามารถของกำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความเป็นมาของการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยทั่วไป การพัฒนาเศรษฐกิิจ(economic development) และการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ(economic growth)  มีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก ในบางกรณีสามารถใช้แทนกันได้ แต่ถ้าจะหาความแตกต่างของคำทั้งสามแล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างในลักษณะต่อไปนี้

การเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของระบบ อันมีผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็๋นอยู่ดีขึ้น

จากคำอธิบายทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งกว้างและครอบคลุมถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นคำที่ใช้อย่างกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดจากการที่ประเทศยากจนมองเห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์มั่งคั่งกับความเป็นอยู่ที่ยากแค้น ทำให้เกิดความตื่นตัว ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น

ในขณะเดียวกันประเทศที่ร่ำรวยและเจริญก้าวหน้า ก็ถือเป็นความรับผิดชอบ และเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เพื่อให้ประชาชนในประเทศยากจนเหล่านั้น มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเเกิดมีการใช้คำว่า "การพัฒนาเศรษฐกิจ"ขึ้นมา และเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในด้านวิชาการและด้านการปฏิบัติ

เดิม การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึง ความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศ ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติสูงขึ้น โดยเชื่อว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโตขึ้นแล้ว ปัญหาความยากจน กระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การว่างงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ จะค่อยๆหมดไป

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  จะประสบความสำเร็จในการทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโต ในอัตราที่สูงตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งรายได้ที่แท้จริงต่อหัวก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ไม่ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป ยังคงมีปัญหาแบบเดิมๆ หรือเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป  ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ไว้แต่เดิมนั้นแคบไป

ในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรมีความหมายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยสม่ำเสมอ และในระยะเวลา อันยาวนาน โดยทำให้รายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามลดหรือขจัดสภาวะที่ไม่พึงปรารถณาของสังคม เช่น ความยากจน การว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน  ตลอดจนมาตรฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆที่ยังต่ำอยู่เหล่านั้น ให้หมดสิ้นไป

จะเห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจนั่้น จะต้องเป็นกระบวนการหลายด้านที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สถาบันต่างๆ ตลอดจนทัศนคติ ความเชื่อเก่าๆของประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่คำตอบ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

         การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นแค่กระบวนการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น
               แต่จะต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันควบคู่ไปด้วย

********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สังคมต้องการอะไรจากการศึกษา

สังคมประกอบด้วยประชาชน หรือกลุมผู้คน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่จะดำเนินไปด้วยกัน แต่ละสังคมจะมีความต้องการอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อให้สังคมหรือกลุ่มคนดำรงต่อไปได้ โดยที่ยังมีวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกัน

หากความต้องการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง กลุ่มผู้คนเหล่านั้นอาจแตกสลาย ไม่สามารถรวมกลุ่มได้ กลายเป็นต่างคนต่างอยู่่ ไม่อาจเป็นสังคมอีกต่อไป

ในบรรดาความต้องการของสังคมจำนวนทั้งหมดนั้น  มีอยู่ส่วนหนึ่งที่สังคมควรได้รับการตอบสนองโดยระบบการศึกษา ได้แก่

          1. การรู้หนังสือ หมายถึง การที่กลุ่มของผู้คนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม สามารถอ่านออกและเขียนภาษาที่ใช้อยู่ในสังคมนั้นได้ อันจะช่วยให้การติดต่อระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน ในกิจการที่ต้องทำร่วมกันสามารถดำเนินไปได้

          2. ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและเทคโนโลยี  เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องให้การศึกษาอบรมคนในสังคมรู้หลักธรรมชาติ ไม่งมงายอยู่กับ โชคลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์  อภินิหาร หรืออำนาจลึกลับ และการศึกษาจะต้องช่วยให้คนในสังคมจำนวนหนึ่ง มีความรู้ลึกซึ้งในวิชาการแต่ละสาขาที่มีประโยชน์ ซึ่งความรู้ทั้งสองประการนี้  จะข่วยให้ให้การดำเนินชีวิตในสังคมราบรื่นไปได้
             
          3. ความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ  หมายถึง การอบรมสั่งสอนให้ที่สมาชิกในสังคมโดยรวม มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับการดำเนินชีวิต จนบรรลุผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นกลุ่มคนที่เกียจคร้าน ท้อถอย งอมืองอเท้า หรือเหนื่อยหน่าย อันจะยังผลให้สังคมไม่ก้าวหน้า เป็นความมุ่งมั่นที่ระบบการศึกษาจะต้องปลูกสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนตั้งแต่วัยเด็ก และหากลักษณะดังกล่าวมีอยู่ในสมาชิกของสังคมใด จะทำให้สังคมนั้นรุ่งโรจน์ในด้านต่างๆที่สังคมต้องการ

          4. น้ำใจสร้างชาติ หมายถึง การที่สมาชิกในสังคมได้รับการสั่งสอนอบรมให้สมาชิกในสังคมมีความสำนึก และมีความตั้งใจร่วมกันสร้างชาติซึ่งเป็นที่อยู่ของสังคมของตน ให้มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆอย่างครบถ้วนบริบูรณ์  ไม่น้อยหน้าชาติอื่น อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงในชาติ

          5. ความสำนึกในความถูกต้อง หมายถึง การที่สมาชิกในสังคมได้รับการสั่งสอนอบรมให้คนในสังคมมีความสำนึก และประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เช่น การทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  ไม่ควรรับประโยชน์ที่ไม่ควรจะได้ ไม่คอรัปชั่น  มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ความสำนึกในความถูกต้องหากมีอยุ่ในสังคมใด สมาชิกในสังคมจะมีความอุ่นใจ ว่าทุกคนในสังคมจะได้รับความยุติธรรม เกิดความไว้วางใจกันและกัน ไม่เกิดความเคียดแค้นขึ้นในสังคม

           6. สุขภาพและอนามัย หมายถึง การที่สังคมโดยทั่วไปมีสุขภาพดี ใส่ใจเรื่องสุขภาพ  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน การที่ผู้คนในสังคมรู้จักรักษาอนามัย ทำให้สังคมประหยัด และช่วยสังคมโดยรวมมีอาณาบริเวณที่อยู่อาศัยน่าอยู่

          7. การมีงานทำ เป็นหน้าที่ของการศึกษา ที่จะต้องเตรียมคนให้พอเหมาะพอดีกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในแต่ละรายอาชีพ หรือมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระ ระบบการศึกษาจะต้องทำการคาดคะเนกำลังคนที่ต้องการในระบอบเศรษฐกิจ  เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงาน อันจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา

         8.การผลิต เพื่อสนองตอบสังคม เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องฝึกสอนสมาชิกในสังคมให้มีความสามารถผลิตสินค้าและบริการอย่างมีคุณภาพ สามารถเทียบเคียงกับต่างประเทศได้ และเพียงพอกับความต้องการ เพื่อประเทศจะได้ไม่เสียดุลการค้า ซึ่งระบบการศึกษาจะต้องคาดคะเนให้ได้ว่า สังคมต้องการเพิ่มผลผลิตสินค้าด้านใด แล้วจัดการฝึกอบรมผู้คนด้านนั้นให้เพียงพอกับตวามต้องการ

         9. ความใกล้เคียงในฐานะทางสังคม  การศึกษาเล่าเรียนนำไปสู่ฐานะทางสังคมของคน การศึกษาจึงต้องให้โอกาสคนในสังคมได้เล่าเรียนอย่างใกล้เคียงกัน  โรงเรียนในที่ต่างๆจะต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกัน  การได้เล่าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้สมาชิกในสังคมมีฐานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน ไม่ทิ้งห่างกันจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความชิงชัง ไม่สามัคคึกัน

          10 บูรณาการในสังคม หมายถึง การที่สมาชิกรวมกันโดยไม่มีส่วนใดหลุดแยกออกไป อันเนื่องจากเหตุต่างๆ เช่น ขัดกันเพราะศาสนา  ขัดกันเพราะลัทธิการเมือง  ขัดกันเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ การศึกษาจะต้องช่วยเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่สมาชิกในสังคมยังเยาว์วัยอยู่  ให้มีและใช้วัฒนธรรมของสังคมร่วมกันได้  การเลือกสรรและถ่ายทอดวัฒนธรรม จึงเป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่จะต้องดำเนินการ เพื่อบูรณาการทางสังคมที่นำไปสู่สังคมสันติสุข

สิ่งที่สังคมต้องการจากการศึกษาดังที่กล่าวมา ในการจัดการศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษาจะต่้องเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจทางการศึกษาจะต้องตระหนักให้มาก ว่าระบบการศึกษาได้สนองความต้องการทางสังคมควบคูู่กับความต้องการของผู้เรียน ได้มากน้อยเพียงใด  เพราะหากละเลยความต้องการเหล่านี้ ก็จะเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ เป็นการศึกษาเพื่อการศึกษา ที่ไม่อาจแก้ปัญหาของประเทศได้ กลับสร้างปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

การศึกษา เป็นกระบวนการทางสังคม เพื่อทำหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถณา

*********************************************************************************