วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การฝึกอบรมเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก

มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาในระบบวัฒนธรรม และได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสังคม โดยกระบวนการฝึกอบรมที่เรียกว่าการสั่งสมทางวัฒนธรรม(enculturation) และโดยวิธีนี้ วัฒนธรรมจะถูกถ่ายทอดไปสู่สมาชิกในสังคม

การทำงานเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ที่ได้มีการฝึกอบรมและพัฒนาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี จนมีผู้กล่าวว่า เมื่อใดที่พบว่าคนในสังคมไม่มีสมรรถภาพและไม่พอใจที่จะทำงาน เราสามารถบอกได้เลยว่า มีสาเหตุมาจากสถาบันครอบครัวและหรือ สถาบันการศึกษา แหล่งใดแหล่งหนึ่ง

บทบาทของสถาบันครอบครัว เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในหมู่นักสังคมศาสตร์และจิตวิทยาว่า สถาบันครอบครัวมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพของคน ลักษณะต่างๆของพ่อแม่ทั้งที่ดีและไม่ดี จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังตัวเด็ก โดยการอบรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ความเชื่อและวิะีการต่างๆ ที่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูลูก มีความสำคัญต่อการสร้างบุคคล ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคมมาก

ความแตกต่างในระดับการพัฒนา และระบอบการปกครองประเทศ อาจจะสืบไปได้ถึงความแตกต่าง ในวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ใช้กันอยู่ในสังคมนั้นๆ

เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่รู้จักเลี้ยงดูและอบรมเด็กอย่างถูกต้อง เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนไม่ถูกต้อง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีของสังคม

ฉะนั้นการจะเสริมสร้างลักษณะประจำชาติ ให้มีลักษณะส่งเสริมการพัฒนานั้น วิธีการที่ได้ผลที่สุด จะต้องเริ่มที่วิธีการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กจะมีอิทธิพลอยู่มาก

สำหรับสังคมไทย จะเน้นพฤติกรรมของคนในวัยต่างๆไม่เหมือนกัน ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว จะเน้นหนักในเรื่องการเที่ยวเล่นสนุกสนาน หาความสุขจากการรื่นเริงบันเทิงต่างๆ  ในวัยกลางคน จะเน้นหนักในเรื่องการทำงาน การสร้างหลักฐานให้แก่ครอบครัว การเที่ยวเพื่อความสนุกสนานจะลดน้อยลง ส่วนวัยชราจะเน้นหนักในเรื่องการทำบุญ สะสมบุญ ซึ่งเปรียบเสมือนการแสวงหาทรัพย์สินติดตัวไปใช้ในชาติหน้า

ซึ่งจะเห็นว่า ในวัยเด็ก เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงาน หรือเห็นความสำคัญของการทำงานเท่าที่ควร เพราะเห็นว่าไม่ถึงวัยที่เหมาะสม

นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก แต่ถูกสอนให้พึ่งผู้อื่น เพื่อความพอใจของตนเอง  เด็กจะถูกสอนให้รู้จักแหล่งที่พึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่

เด็กจะถูกสอนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า แม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แม่เป็นผู้มีบุญคุณต่อลูก ซึ่งเป็นการเน้นการพึ่งแม่มากขึ้น เด็กกำพร้าจึงเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาก เนื่องจากไม่มีที่พึ่ง

เด็กไทยเติบโตขึ้นมาด้วยความดีของคนอื่น ด้วยการนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ การที่เด็กเชื่อในความฉลาดและการคุ้มครองของผู้ใหญ่  เด็กจะได้รับความรักจากผู้ใหญ่ และเป็นเด็กดีตามความหมายของสังคมไทย

จากการวิจัยพบว่า ความนิยมในการพึ่งตนเองของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัฒนธรรมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูง

ในสังคมไทย การฝึกอบรมให้เด็กช่วยตนเองมีบ้าง แต่เป็นการฝึกเพื่อประโยชน์ของพ่อแม่ เช่น การแบ่งเบาภาระ มากกว่าที่จะให้เด็กเห็นคุณค่าของการช่วยตัวเอง หรือมากกว่าที่จะเป็นการฝึกหัด เพื่อช่วยสร้างสรรค์ลักษณะบุคลิกภาพที่ดีงามแก่เด็ก

ยังพบต่อไปว่า แม่ไทยมักจะปกป้องเด็กมากเกินไป ถ้าหากแม่ไทยมองเห็นคุณค่าของความอิสระของลูกมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองมากขึ้น ก็คาดหวังได้ว่า เด็กจะพัฒนาบุคลิกภาพที่มีความกล้าเสี่ยง กล้าเผชิญ และกล้าที่จะแสดงตัวมากกว่าเดิม

บางคร้ังพ่อแม่ยังสร้างค่านิยมผิดๆให้เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ถ้าลูกไปโรงเรียนแล้วกลับมาบ้าน จะไม่ยอมให้ทำงานอื่น เพื่อให้เด็กได้พักผ่อน ทำให้เด็กคิดว่าเด็กมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ยังไม่ถึงวัยที่ต้องทำงาน

บทบาทของสถาบันการศึกษา การใช้ระบบการศึกษาเพื่อการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อการผลิต เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต โดยพัฒนาคุณภาพของแต่ละคนให้เจริญเต็มที่ มีความสมารถในการผลิต

ในประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจะต้องยอมรับว่า การศึกษาและการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และควรเริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

จริงอยู่ ความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพในการทำงานของมนุษย์ สามารถพัฒนาได้หลายทาง แต่ที่เด่นที่สุด ก็คือ การพัฒนาโดยอาศัยการศึกษาในระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา การศึกษาจะสร้างค่านิยม ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อการทำงาน

สำหรับการศึกษาไทย มีสภาพไม่แตกต่างจากการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  ระบบการศึกษาไทยไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม  ไม่สัมพันธ์กับความต้องการอันจำเป็นของท้องถิ่นและตลาดแรงงาน อีกทั้งหลักสูตรในระดับต่างๆก้ไม่จบในตัวเอง ทำให้ต้องเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้คนจำนวนมากละทิ้งท้องถิ่นและอาชีพเดิมเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในสังคมอื่น

ระบบการศึกษาไทย ทำให้ดูเหมือนว่ามีการแยกเรื่องวิชาการและการปฏิบัติออกจากกัน ซึ่งนอกจากจะมีผลทำให้เกิดงานสองประเภทในสังคม คืองานใช้สมองและงานที่ใช้แรงงานแล้ว ยังเป็นผลทำให้เกิดความคิดว่า ผู้ทำงานประเภทแรกเป็นบุคคลชั้นสูง และประเภทหลังเป็นบุคคลชั้นต่ำ

การเน้นเนื้อหาหนักในด้านวิชาสามัญ  ทำให้เด็กมุ่งเรียนสูงขึ้น เพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้เมื่อสำเร็จการศึกษา

โรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญของไทย จัดอยู่ในรูปแบบเพื่อการจำ โรงเรียนแบบนี้จะเน้นหนักไปในทางศึกษาความดีที่มีมาในอดีต ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเรียนรู้ กิจกรรมในโรงเรียน คือการจำแบบนกแก้วนกขุนทอง นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และ เขียน กิจกรรมของครูคือบรรยาย อบรมความประพฤติ และให้งานนักเรียนทำ  โดยนักเรียนจะทำกิจกรรมเหมือนๆกัน

การปฏิบัตตามที่เป็นอยู่จริงในชีวิตในระบบการสอนมีอัตราส่วนที่น้อยมาก เด็กไทยจึงไม่อาจทำงานใดๆได้ เมื่อจบขั้นตอนของการศึกษาแต่ละระดับ

การวัดผลการเรียนมิได้วัดผลของการพัฒนา แต่เป็นการวัดผลเพื่อหาคำตอบว่าได้หรือตก การแก้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาได้อาศัยแต่เพียงคำพูด

ในที่สุดการศึกษาเล่าเรียน จึงกลายเป็นกระบวนการท่องจำ และแสดงความคิดเห็นจากการท่องจำเท่านั้น

ในการบริหารหลักสูตร พบว่า ปัญหาที่มีมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือการไม่สามารถจัดบริหารตามหลักสูตรได้เต็มที่ เพราะมีปัญหาต่างๆ เช่น ครู อุปกรณ์ และสถานที่  เป็นต้น โรงเรียนไม่สามารถปลูกฝังนิสัยหนักเอาเบาสู้ ไม่รังเกียจงานหนักให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ นักเรียนยังรังเกียจงานที่ทำด้วยมือหลายอย่าง เช่น การล้างคอกสัตว์ การให้อาหารสัตว์ ฯลฯ

จากการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอิสระยังพบว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระดับการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมศึกษา ส่วนกลุ่มผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระมีผู้ที่ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนถึงร้อยละ 10 แต่ในกลุ่มผู้ว่างงานกลับไม่มีเลย
                       ------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์)  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                        --------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย มีหลักต้องปฏิบัติ 3 ประการ คือ ทำทุกสิ่งทุกอย่างแทนเด็กโดยเฉพาะเด็กผู้ชาย  คุ้มครองไม่ให้เด็กเกิดอันตราย และให้ความสนุกสนานแก่เด็ก
                                                                           Henry M. Graham
                      ******************************************************

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (4)

4. คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีวินัยในการทำงาน

จากผลการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า คนไทยนั้น ขาดระเบียบวินัย ชอบทำตามความพอใจของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ของสังคมและองค์การ 

โดยทั่วไป การทำงานของคนไทย เห็นได้ชัดจากการแสดงออกทางพฤติกรรม ในลักษณะต่อไปนี้

                    1) รักพวกพ้องมากกว่าระเบียบแบบแผน ยอมสละระเบียบแบบแผนเพื่อช่วยลูกน้อง

                     2) เคารพบุคคลมากกว่าระเบียบข้อบังคับ เช่น ถนนหนทางกำลังก่อสร้าง ห้ามออก ห้ามเข้า แต่ถ้าเป็นคนรู้จักกันก็ยินยยอมให้ผ่านได้

                     3) เลือกที่จะผิดข้อบังคับมากกว่าผิดประเพณี

                     4) ไม่มีระเบียบ เห็นได้ชัดในงานพิธีต่างๆ ทั้งพิธีเล็กและใหญ่ เช่น งานศพ งานแต่งงาน แม้แต่งานพิธีสำคัญ แต่งกายเต็มยศ พอเลิกก็แย่งกันออกประตู

                      5) กฎเกณฑ์ต่างๆของระบบราชการไทย ไม่เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายพฤติกรรมที่แท้จริงของข้าราชการได้เพียงพอ ข้าราชการจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ ข้าราชการไทยศรัทธาในกฎระเบียบต่างๆน้อยกว่าความศรัทธาในความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

                      6) การทิ้งขยะลงบนถนน การขับรถฝ่าไฟแดง หรือจอดรถในที่ห้ามจอด  ซึ่งคนที่ทำก็รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ แต่คนไทยก็ยังทำ ทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

                      7) ในการทำงาน คนไทยอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำงานไปตามที่ตนพอใจ เพราะคนไทยมีลักษณะการทำงานเป็นของตนเอง

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนไทยยึดตนเองเป็นศูนย์ และมองสิ่งต่างๆตามที่ปรากฎในปัจจุบัน  มากกว่าที่จะมองถึงประโยชน์ที่ได้ในอนาคต

ความมีระเบียบวินัย เป็นลักษณะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ทั้งที่ทำงานคนเดียวและทำงานเป็นกลุ่ม เพราะช่วยให้มีการวางแผน เป็นการทำงานที่มุ่งอนาคต  ตลอดจนก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน

การที่พบว่าคนไทยไม่มีวินัยในการทำงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งถึงสาเหตุ และแนวทางแก้ไขโดยรีบด่วน มิฉะนั้นแล้ว การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆจะเป็นไปได้ยาก เพราะนับแต่นี้ต่อไป การทำงานจะยิ่งมีความซับซ้อนและเป็นระบบมากขึ้น
                    -------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                     --------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

การถือระเบียบวินัยนั้น  คนไทยชอบเอาประโยชน์ของตนมาก่อน เมื่อใดหลักการหรืออุดมการณ์สนับสนุนผลประโยชน์ของตน คนไทยจะถือหลักการ  แต่ถ้าถือตามหลักการหรืออุดมการณ์นั้น ขัดประโยชน์ของตนเองหรือเห็นผลช้า คนไทยจะพักการถืออุมการณ์นั้นไว้ก่อน
                                                                                    ล้วน นักพรรษา
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (3)

3. คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม

จากการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารซึ่งใช้เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า คนไทยโดยทั่วไปชอบทำอะไรตามลำพังตนเอง มากกว่าที่จะรับผิดชอบทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม 

งานใดก็ตามที่คนไทยทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายของกลุ่มในระยะยาว งานนั้นมักจะเหลว หรือดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ยาก เช่น กลุ่มชาวนา สหกรณ์ พรรคการเมือง สมาคมอาชีพ หรือ แม้แต่คณะรัฐมนตรี

ยังพบว่า คนไทยรวมกลุ่มเป็นองค์การเมื่อไร ความไร้ประสิทธิภาพจะปรากฎให้เห็นทันที งานพัฒนาชุมชนจึงมักจะล้มเหลว เพราะคนไทยทำงานเป็นกลุ่มเพื่อส่วนรวมไม่เป็น

กลุ่มในสังคมไทย มักเป็นกลุ่มชั่วคราว เป็นกลุ่มของเครือญาติ  และเมื่อใดที่บรรลุเป้าประสงค์แล้ว กลุ่มจะสลายทันที ที่เป็นเช่นนี้ มีสาเหตุมาจาก

                    1) คนไทยมีลักษณะ anomic individualism คือเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ผูกพันกับสังคมหรือสถาบัน

                    2) คนไทยมีลักษณะ self-oriented behavior เป็นพฤติกรรมที่มุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ

                    3) คนไทยมีความรู้สึกตามสบาย ไม่ผูกพันกับสิ่งที่ลดความสบายลง

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนไทยไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม

การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นพฤติกรรมการทำงานที่จำเป็นมาก เพราะทำให้เกิดพลัง ในการทำงานที่ยากและมีปริมาณมากให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติงานดังกล่าวนั้น ถ้าต่างคนต่างทำจะสำเร็จได้ยากหรือสำเร็จได้ช้า

การที่คนไทยไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน จึงเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกันอย่างมาก ทำให้ขาดองค์การทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
                       --------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์  วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต  (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                        --------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

ความล้มเหลวของพรรคการเมืองในประเทศไทย เกิดจากความยากลำบากที่จะรวมคนไทยเข้าเป็นกลุ่ม เพราะคนไทยสนใจผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าที่จะมีอุดมการณ์ร่วมกัน พฤติกรรมที่มุ่งตนเอง เป็นเหตุให้คนไทยขาดความร่วมมือ

                                                                          อดุล วิเชียรเจริญ
*****************************************************************


วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (2)

2. คนไทยส่วนใหญ่มีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว

จากการวิเคราะห์เอกสารซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า คนไทยมีสมรรถภาพในการทำงานไม่แพ้ชาติอื่นใด แต่เป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะ

               1) การทำงานคนเดียว มีโอกาสแสดงฝีมือได้เต็มที่

               2) คนไทยมีลักษณะมุ่งตนเอง (self-oriented) ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่สุด

               3) คนไทยเชื่อว่ากิจกรรมทั้งหลายจะต้องพึ่งความสามารถของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ คนไทยส่วนใหญ่จึงมีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว นอกจากนั้น การทำงานคนเดียวสำหรับคนไทย ยังช่วยให้การทำงาน "คล่องตัวกว่า" มีอิสระดี "สบายใจ" และ "ได้รับผลตอบแทนเต็มที่"

การมีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว เป็นลักษณะของพฤติกรรมการทำงานที่น่าจะส่งเสริม เพราะจะช่วยให้ได้ใช้ความสามารถของแต่ละบุคคลได้เต็มที่

แต่ถ้าการทำงานนั้นมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมแล้ว นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรจะแก้ไข เพราะไม่มีสังคมใดสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยต่างคนต่างทำไม่มีการร่วมมือกัน
                               ------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์
การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                                 -------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

ถ้าศึกษาสถานภาพของคณะรัฐมนตรีไทยชุดต่างๆในอดีต ก็พบเห็นอย่างชัดเจนว่า "ความไม่มั่นคง" ของคณะรัฐมนตรี  มีสาเหตุเหมือนๆกัน คือ คณะรัฐมนตรีส่วนมากประกอบด้วยบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆในพรรคเดียวกัน แม้แต่สมัยรัฐบาลทหาร  ความไม่มั่นคงก็ยังมีอยู่ ความไม่มั่นคงจึงเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ทั้งนี้เพราะ  คนไทยขาดทักษะการทำงานร่วมกันเป็นองค์การ (organizational skills)
                                                                                   สมพร  แสงชัย
*****************************************************************