วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทยเป็นอย่างไร

นักมานุษยวิทยายอมรับว่า ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ค่านิยมเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทำหน้าที่กำหนดวิถีการดำเนินชีวิต เป็นแกนของระบบสังคม เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับบุคคลในสังคมที่จะเข้าใจ และรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ในสังคม

ค่านิยมเป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก เป็นตัวกำหนดว่า  อะไรถูก  อะไรเหมาะ  ที่จะปฏิบัติ    ที่จะเชื่อ ค่านิยมจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกของบุคคล ตลอดจน บอกให้ทราบถึงความต้องการและเป้าหมายของบุคคลและสังคม

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากคนเราจะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญที่จูงใจคนเราให้ทำงานคือค่านิยม

วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดค่านิยมในการทำงานให้แตกต่างกัน และเนื่องจากแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน

สำหรับค่านิยมเกี่ยวกับการทำงาน จากการศึกษาพบว่า ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทยมีลักษณะ ดังนี้

ระบบค่านิยมแบบไทย มีแนวโน้มในทางส่งเสริมพฤติกรรมทางจิตและสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางจิตใจ  อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเจริญแก่จิตใจมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีค่า อะไรที่มีค่าต่อจิตใจมาก คนไทยจะนิยมมาก การเน้นคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ค่านิยมทางวัตถุลดความสำคัญลง ซึ่งจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ทำให้การทำงานมีความสำคัญน้อยลงเช่นเดียวกัน

สังคมไทยมีค่านิยมที่เน้นการวางเฉย คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น วางเฉยต่อสถานการณ์ทุกอย่าง ลักษณะการวางเฉยทำให้เกิดลักษณะการทำงานที่เน้นอิสระ ขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน และลักษณะการวางเฉยทำให้ขาดความกระตือตือร้นที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ

คนไทยมีค่านิยมต้องการความสนุก การดำเนินชีวิตแบบไทยจึงเน้นความสนุกเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก คนไทยจะหลีกเลี่ยงการกระทำหรือกิจกรรมที่ไม่สนุก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก หรือที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสมำ่เสมอ เป็นกิจกรรมที่ไม่สนุก คนไทยจึงไม่ต้องการจะทำ

ความสนุกเป็นค่านิยมของคนไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก เป็นค่านิยมที่ต้องการความพอใจและความสุข ไม่ว่าในขณะพักผ่อนหรือทำงาน คนไทยอาจหยุดปฏิบัติภาระหน้าที่ที่มีประโยชน์ ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่ทำให้เกิดความพอใจหรือสนุก

คนไทยถือว่า ความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงต่างๆเป็นกำไรของชีวิต ถ้าขาดสิ่งเหล่าสนี้ ชีวิตก็เหลือแต่ทุนหรือขาดทุน ซึ่งหมายถึงชีวิตต้องอยู่ในสภาพเคร่งขรึมเอาจริงเอาจังตลอดเวลา อยู่อย่างเงียบๆเหงาหงอย ซึ่งแน่นนอนว่าค่านิยมในลักษณะนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงาน อันเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม

คนไทยนั้นให้ความสำคัญของค่านิยมส่วนบุคคล จึงทำให้เกิดลักษณะปัจเจกชนนิยม คนไทยจึงแทบจะไม่ผูกมัดกับเป้าหมายของสังคม เกิดการวางเฉย ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่จำเป็นสำหรับสังคมที่จะเข้าไปสู่ภาวะทันสมัย

คนไทยยังมีค่านิยมค่อนข้างสูงสำหรับผู้ที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ได้รวดเร็ว  แต่ไม่ค่อยนิยมคนที่สร้างโอกาสด้วยความยากลำบาก หรือร่วมมือกับคนอื่นๆเพื่อใช้ความพยายามทำอะไรสักอย่างหนึ่ง

คนไทยชอบฟังคำสั่งมากกว่าจะริเริ่มเอง ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ ชอบปะทะคารม แต่ไม่ชอบการทำงาน ไม่ค่อยรับผิดชอบในการทำงาน แต่ชอบเงิน  ชอบลงทุนในกิจกรรมสนุกมากกว่ากิจกรรมพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

คนไทยไม่นิยมขวนขวายต่อสู้ดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในชีวิต คนไทยชอบทำงานเบาๆที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชอบมีฐานะขึ้นอยู่กับคนอื่น มีเงินเดือนกิน ไม่นิยมทำงานที่ใช้มือใช้แรงงาน และการใช้ความสามารถที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ

คนไทยไม่นิยมเป็นพ่อค้า ถ้าจะดำเนินงานทางธุรกิจ คนไทยจะยึดความโก้เก๋ในการดำเนินงานมากกว่าเนื้อหาของงานที่แท้จริง งานที่เป็นกำไรจากประสิทธิภาพและความยืนนานของกิจการนั้นๆ

คนไทยเลือกงานเป็นอันมาก ไม่ชอบเดินทางในที่ห่างไกลความเจริญหรือห่างครอบครัว คนไทยต้องการทำงานที่เป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่ชอบประกอบธุรกิจด้วยตนเองให้เป็นล่ำเป็นสัน  แต่ชอบทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ชอบเสี่ยง หนักไม่เอาเบาไม่สู้

สังคมไทยนั้นมีค่านิยมในความสะดวกสบาย เป็นค่านิยมที่แพร่หลายและปลูกฝังกันโดยไม่รู้สึกกัน นอกจากนั้น คนไทยยังมีค่านิยมที่จะทำกิจกรรมแต่พอเสร็จ ไม่มุ่งความเยี่ยมยิ่ง นิยมอภัยความบกพร่องกันง่ายๆ ในครอบครัวไทยทั่วๆไป มีค่านิยมที่ไม่ต้องทำอะไรให้เรียบร้อยบริบูรณ์ เด็กๆเห็นการกระทำเช่นที่ว่านี้บ่อยๆ  เกิดความเคยชินกับความไม่เรียบร้อยบริบูรณ์

นักศึกษาเรียนระดับปริญญา เพราะต้องการทำงานที่มีรายได้สูง มีสถานภาพในสังคม นักศึกษาไทยมีค่านิยมสูงสุดกับความมั่นคง  นักศึกษาชอบเป็นข้าราชการ ซึ่งให้ทั้งความมั่นคงและสถานภาพมากกว่าทำงานธุรกิจที่ต้องเสี่ยง แม้ว่างานธุรกิจนั้นจะมีโอกาสที่จะมีรายได้มากกว่า

เมื่อถามถึงความต้องการของแม่ พบว่าแม่ต้องการให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เพื่อจะได้ออกไปรับราชการ หรือประกอบอาชีพนั่งโต๊ะ ซึ่งถือว่าเป็นงานมีเกียรติไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ตลอดจน แสดงความปรารถนาให้ลูกมียศฐาบรรดาศักดิ์และมีอำนาจ ดังที่แม่คนหนึ่งบอกถึงความต้องการของตนว่า "อยากให้ลูกเรียนเยอะๆ อยากให้มันเป็นนายร้อยนายพัน ข้าหลวง ทำราชการ มีงานเบา เรียนเยอะๆมันจะได้ไม่ต้องไปไถนา"

จากทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่า คนไทยต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ไม่ต้องรับผิดชอบ มีความมั่นคง เป็นงานที่มีอิสระ  เป็นงานสบายๆไม่เครียด ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา หากต้องการพัฒนาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเสริมสร้าง ค่านิยมเหล่านี้ให้เป็นค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                          ระบบค่านิยมเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนา

                                                                        Eliezer  B. Ayal
 ****************************************************************




วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

แนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำงานของคนไทยเป็นอย่างไร

แนวความคิดและความเชื่อ  จะเกี่ยวข้องกับความเข้าใจ การรับรู้ ทัศนะ และการยอมรับของบุคคล ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ตามข้อมูลที่บุคคลนั้นมีอยู่

วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดแนวความคิดและความเชื่อต่างๆ ให้แต่ละคนในสังคม แต่ละสังคมจึงมีโลกทัศน์ การรับรู้ และทัศนะ ที่มีต่อสิ่งต่างไม่เหมือนกัน มีผลให้บุคคลในแต่ละสังคมมีพฤติกรรมการทำงานแตกต่างกันไป

สำหรับแนวความคิดและความเชื่อของคนไทยที่เกี่ยวกับการทำงาน จากการศึกษาพบว่า แนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำงานของคนไทย มีลักษณะดังต่อไปนี้

คนไทยไม่ยอมเชื่อว่า การทำงานเป็นความดีในตัวมันเอง ในทางตรงกันข้าม คนไทยจะให้ความสนใจอย่างมากกับสิ่งที่ให้ความสนุกสนาน การทำให้เกิดความสนุกสนาน ถ้าทำให้เกิดบ่อยๆคนไทยถือว่าเป็นสิ่งที่ดี คนไทยจึงคิดแต่จะหาความสนุกมากกว่าคิดจะทำงาน

ในความคิดของคนไทย ความสนุก และความสวยงาม ควรได้รับการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม คนไทยส่วนใหญ่มีความปรารถนา และมีความสามารถในการหาความสนุกได้สูง

คนไทยมีลักษณะเป็นคนใจเย็น เป็นคนมีจิตใจสงบ ซึ่งรวมถึงมีจิตใจสงบต่อการทำงาน ความรับผิดชอบ และความยากลำบาก  ทั้งนี้ เพราะคนไทยมีความเชื่อว่า โดยพื้นฐานโลกไม่ได้โหดร้ายต่อมนุษย์

คนไทยมีลักษณะเฉื่อย มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่กระตือรือร้นขวนขวายการทำงาน จะทำงานเฉพาะเท่าที่จำเป็นในการครองชีพ การมีลักษณะเฉื่อย ทำให้คนไทยไม่คิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ไม่กล้าทำงานเสี่ยงที่ให้ผลไม่แน่นอน ความเฉื่อยของคนไทยทำให้ดูเป็นคนขี้เกียจ แต่คนไทยสามารถข่มความเฉื่อยไว้ได้ ถ้ามีผลประโยชน์มากกว่า คนไทยจึงอาจทำงานได้นาน และทำงานหนักได้ตามเงื่อนไขที่จำเป็น

คนไทยส่วนมากคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังไม่แน่นอน  คนไทยไม่คิดว่าความสำเร็จในการทำงานจะมีความสำคัญ คิดว่าความสำเร็จในการทำงานเป็นเกมส์ ไม่ได้เกิดจากการทำงานจริงๆจังๆ ความคิดลักษณะนี้ ทำให้คนไทยไม่ค่อยจะจริงจังกับการทำงาน จึงทำงานไปด้วย หาความสนุกไปด้วย

คนไทยเชื่อว่า เมื่อเกิดมาแล้วต้องหากำไรจากชีวิต เพราะไม่ช้าไม่นานก็ตาย ตายแล้วก็ไม่สามารถจะนำสมบัติติดตัวไปได้ แนวความคิดในลักษณะนี้ ทำให้คนไทยขาดการดิ้นรน

คนไทยไม่ได้ทำงานหนักเพียงเพื่อสะสมทรัพย์ไว้ เพราะการทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่โง่ เงินทองทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำงาน ควรจะใช้จ่ายเพื่อหาความสนุกและความสุขให้กับชีวิต

สังคมไทยไม่ได้สอนให้คนช่วยเหลือตนเอง แต่มีการแนะนำให้ทำบุญ และมีเมตตากรุณา ไม่สอนให้ต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโลก

คนไทยมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ความพยายามที่จะเอาชนะสภาวะแวดล้อมเป็นการกระทำที่หลง และเป็นคนที่เห็นแก่ตัว และคนไทยมีความเชื่อว่า กฎพื้นฐานที่คุ้มครองจักรวาลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิธีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ จะต้องเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม

คนไทยมีความคิดว่า การใช้แรงกาย หรือสติปัญญา เพื่อแก้ปัญหาไม่ได้รับการสรรเสริญ หรือได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ความดีหรือความเลวของมนุษย์ทั้งมวล เป็นผลมาจากความดีหรือความชั่วในอดีต

คนไทยเชื่อว่า การทำบุญทำให้เกิดความมั่งคั่ง คนที่มีความมั่งคั่ง แสดงว่าได้ทำบุญมามาก การทำบุญเป็นความเชื่อที่คนไทยใช้อธิบายสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน สุขภาพอนามัย ความทุกข์ยาก และความสุข ว่าเกิดจากการทำบุญในอดีต คนไทยเชื่อเรื่องบุญมากกว่าเชื่อในการใช้ความพยายามอย่างมีระบบ เพื่อการสะสมทุน อันนำไปสู่การลงทุนเพื่อการผลิตทางเศรษฐกิจ

คนไทยคิดว่าการทำบุญไม่เท่ากัน ทำให้เกิดฐานะทางสังคมไม่เท่ากัน คนที่ทำบุญมากจะมีสถานภาพทางสังคมสูง  ความเชื่อที่ว่าสภาพปัจจุบันมีผลมาจากอดีต เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยคิดที่จะทำงานเพื่อแก้ไขสภาพการณ์ต่างๆให้ดีขึ้น

คนไทยเชื่อว่าชะตาหรือโชคชะตาเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของแต่ละคน ความสำเร็จอันเกิดจากการวางแผนมีน้อยมาก แม้จะวางแผนดีอย่างไร ถ้าโชคไม่ดีบุคคลจะประสบความล้มเหลว คนไทยเชื่อว่า ความสำเร็จส่วนบุคคลไม่ว่าเรื่องใดขึ้นอยู่กับโชคชะตา

คนไทยคิดว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามและกำลังใจของมนุษย์ แต่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ การทำบุญ และโชคชะตา

แนวความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงานที่กล่าวมานี้ เป็นความคิดและความเชื่อที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ หากต้องการให้การพัฒนาตนเองไปได้ด้วยดี การพัฒนาประเทศชาติเป็นไปได้ด้วยดี จำเป็นอย่างที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง สร้างเสริม แนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำงานขึ้นมาใหม่ เป็นแนวความคิดและความเชื่อที่เอื้อต่อการพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

  ในบางวัฒนธรรมการทำงานเป็นคุณความดี ความสำเร็จในการทำงานเป็นสิ่งที่มีค่า
                      แต่ในบางวัฒนธรรมการทำงานเป็นความจำเป็นที่ชั่วร้าย

                                                             Henry  C. Triandis

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

ลักษณะทางวัฒนธรรมของประเทศด้อยพัฒนา

วัฒนธรรมนั้นมีอิทธิพลต่อการพัฒนา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมให้เป็นไปได้ทั้งในลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ดังนั้นการพัฒนาจะได้ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม

ประเทศด้อยพัฒนา เพราะะมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการพัฒนา และมีบางประเทศที่ลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ลักษณะด้อยพัฒนา เกิดจากวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เป็นตัวกำหนดปทัสถานบางอย่าง โดยผ่านกระบวนการสร้างสมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะะทางเศรษฐกิจ และความต้องการทางเทคโนโลยีของสังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน

ความล้มเหลวของการพัฒนาในโลกที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเซียใต้ และเอเซียอาคเนย์ เกิดจากการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเพณี หรือมีประเพณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ เป็นประเพณีซึ่งประกอบด้วยศาสนา ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคน และการใช้ประเพณีต่างๆเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ประเทศแถบเอเซียใต้และเอเซียอาคเนย์ มีค่านิยมที่ขัดแย้งกับเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการยกระดับการดำเนินชีวิตให้สูงขึ้น มีค่านิยมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจมากว่าคุณค่าทางวัตถุ เน้นความสำคัญของชีวิตหลังจากที่ตายไปหรือชีวิตในชาติหน้า มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่น สะสมเพชรนิลจินดาต่างๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆแทนที่จะทำงาน

นอกจากนั้น ยังพบว่าในสังคมด้อยพัฒนา มีอัตราที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคมต่ำมาก คนส่วนมากเชื่อว่า ความแห้งแล้ง หรือน้ำท่วมเป็นการกระทำของพระเจ้า หรือของวิญญาณที่โกรธแค้น ที่มนุษย์จะต้องยอมรับและไม่สามารถควบคุมได้

ลักษณะการรักสันติสุข และไม่นิยมความรุนแรง การเชื่อฟังอำนาจ และการหาความสงบสุขทางจิตใจ ทำให้คนในสังคมไม่คิดจะศึกษาค้นคว้าหาความเร้นลับของธรรมชาติและเอาชนะธรรมชาติ ไม่ทำให้คนในสังคมชอบการผจญภัยและการต่อสู้แข่งขัน

คนส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่มีความสงบสุขท่ามกลางญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ส่วนการมีระเบียบวินัยและการทำงานหนักมีความสำคัญรองลงไป

ในสังคมสังคมด้อยพัฒนา จะมีลักษณะทางวัฒนธรรมต่อไปนี้เป็นลักษณะสำคัญ ได้แก่ การคิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบในการทำงาน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อพิธีกรรม หรือรายจ่ายอื่นที่ไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจ ไม่รู้จักหน้าที่ ตลอดจนไม่ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

วัฒนธรรมในประเทศด้อยพัฒนาส่วนมาก จึงไม่ช่วยส่งเสริมสร้างลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา ประเทศที่มีวัฒนธรรมในลักษณะดังกล่าวได้แก่ ประเทศในทวีปอาฟริกา เอเซียใต้ เอเซียอาคเนย์ ทวีปอเมริกาใต้

ดังนั้น การพัฒนาจะสำเร็จได้ บุคคลในประเทศด้อยพัฒนา จะต้องมีการกระทำที่เปลี่ยนไปจากนิสัยและการปฏิบัติที่เคยทำอยู่เป็นประจำ  ถ้ารับความคิดการพัฒนา แต่ไม่ยอมรับการกระทำที่ต้องกระทำเพื่อการพัฒนา ก็เท่ากับปฏิเสธการพัฒนา การพัฒนาประเทศ ประชาชนจะต้องเปลี่ยนแบบแผนการดำเนิชีวิตเสียใหม่ จะต้องยอมรับค่านิยม ทัศนคติ และนิสัยในการทำงานใหม่  เป็นค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงาน อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ

นั่นคือ ถ้าต้องการจะพัฒนาประเทศ จะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่กำหนดแบบแผนของพฤติกรรมของบุคคลในสังคมนั้นๆ ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

                    การมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้มีวิธีการในการแก้ปัญหาต่างกัน

                                                                      Robert  L. Mole
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ความรู้เรื่องวัฒนธรรม

วัฒนธรรมคืออะไร

เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรม คนไทยส่วนใหญ่จะหมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญ ความถูกต้องดีงาม จนบางครั้งถึงกับกล่าวว่า ใครก็ตามคนที่กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม เป็นคนไม่มีวัฒนธรรม

ความจริงแล้ว คำว่า วัฒนธรรม หรือ Culture มีความหมายและความคิดรวบยอดแตกต่างกันออกไปมากมาย มีมากกว่า 167 ความหมาย และไม่ปรากฎว่ามีความหมายใดที่เหมือนกันทุกประการ วัฒนธรรมจึงมีความหมายไม่แน่นอน มีการใช้คำว่า วัฒนธรรมในความหมายที่แตกต่างกันออกไป

เนื่องจากคำว่าวัฒนธรรมมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปมากมายดังกล่าวแล้ว ถ้าเอาความหมายเหล่านั้นมารวมไว้ด้วยกัน จะได้เล่มสมุดใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีความหมายใดที่ชัดเจน

วัฒนธรรมเป็นคำที่ Tylor ใช้เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1871 โดยให้ความหมายว่า "วัฒนธรรมคือ สิ่งทั้งหมดที่มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งได้รวมเอาความรู้ ความเชื่อ จริยธรรม กฎหมาย ขนบธรรมเนียม สมรรถภาพ และนิสัย ที่บุคคลได้ไว้ในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคม"  เป็นความหมายแรก ที่คนทั่วไปยอมรับกันมาก แต่ในทางปฏิบัติมักจะตีความหมายไปคนละทางสองทาง  ปัจจุบันความหมายของคำว่าวัฒนธรรมจึงมีมากมาย และมักจะให้ความหมายในลักษณะกว้างๆ โดยไม่บ่งว่าวัฒนธรรมประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ความหมายคำว่าวัฒนธรรมต่อไปนี้ เป็นความหมายที่นิยมนำมาอ้างอิงเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรม เป็นความหมายที่ช่วยให้เข้าใจคำว่าวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น

วัฒนธรรม หมายถึง วิถึชีวิตของสังคมโดยรวม วัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา วัฒนธรรม หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ทั้งมวลที่อยู่ในสังคมนั้น แม้แต่การล้างจาน และการขับรถยนต์ ก็จัดรวมอยู่ในวัฒนธรรม (Linton.1945)

วัฒนธรรม คือ พฤติกรรมที่เกิดจาการเรียนรู้ อันเป็นพฤติกรรมที่ทำกันทั่วไปในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน (Kluckhohn.1966)

วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกเรียนรู้รับถ่ายทอดกัน โดยการสั่งสอนอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อม (พัทยา สายหู.2514)

วัฒนธรรม หมายถึง พฤติกรรมทั้งมวลของมนุษย์ อันเกิดจากการเรียนรู้ และพฤติกรรมนั้นถูกกำหนดจากประเพณี (Herskovits.1952)

วัฒนธรรม เป็นลักษณะของพฤติกรรมทั้งมวลที่เกิดจาการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ปรากฎออกมาและสมาชิกในสังคมใช้ร่วมกัน (Hoebel.1956)

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นลักษณะรวมของพฤติกรรม และพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากการเรียนรู้ และมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง  (Barnouw.1964)

จากความหมายของคำว่าวัฒณธรรมที่กล่าวมา สรุปได้ว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวล ที่เกิดจาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม


พฤติกรรมทางวัฒนธรรมเป็นอย่างไร

พฤติกรรมในความหมายทางวัฒนธรรม จึงเป็นพฤติกรรมทั้งหมดของแต่ละบุคคล ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นเป็นพฤติกรรมทางกายภาพหรือพฤติกรรมทางจิตใจ

พฤติกรรมทางวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่การกระทำง่ายๆ เช่น การกินอาหารด้วยส้อม หรือด้วยตะเกียบ  ท่านั่ง นอน ยืน เดิน ฯลฯ ซึ่งกระทำเป็นประจำวัน ไปจนถึงการกระทำที่เป็นเรื่องใหญ่โต มีพิธีรีตอง นานทีปีหน ระดับชาติหรือระดับประเทศ เช่น พิธีบรมราชาภิเษกฯลฯ

นั่นคือ การกระทำของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ ถ้าไม่ใช่เป็นการกระทำทางกายภาพชีวภาพแท้ๆ เช่น กระพริบตา สะอึก จาม ฯลฯ ก็จะเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น 

วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร

วัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่สมาชิกในสังคมยอมรับ มีการถ่ายทอด และเกิดการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว วัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม

วัฒนธรรมจะแนะแนวทางอันจำเป็น แก่สมาชิกของสังคมในทุกเรื่องของชีวิต เป็นตัวกำหนดแบบแผนพฤติกรรม  ตลอดจนแนวความคิดต่างๆ  คนที่เกิดมาและเติบโตในวัฒนธรรมใด จะมีชีวิตจิตใจ นิสัย  และพฤติกรรมต่างๆ      จะเป็นไปตามคำบงการของวัฒนธรรมแห่งสังคมนั้น

วัฒนธรรมทำให้เกิดและกำหนดแนวทางพฤติกรรม ถ้าขาดวัฒนธรรม สมาชิกในสังคมจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบุคคลจะได้รับผลตอบแทนในทางที่ดี ถ้าสมาชิกในสังคมทำตามวัฒนธรรม

วัฒนธรรมมีอิทธิพลเหนือระบบการจูงใจของแต่ละบุคคล วัฒนธรรมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่บุคคลจะต้องเรียนรู้ เพื่อประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมยอมรับ วัฒนธรรมมีอิทธิพล และสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ของบุคคลที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้น

วัฒนธรรม ทำให้ความรู้สึกของบุคคลในสังคมไม่มีลักษณะที่เป็นกลาง แต่จะจำแนกปรากฏการณ์ต่างๆในรูป ดี เลว ต้องการ ไม่ต้องการ ถูก หรือผิด  การมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้คนมีวิธีการในการแก้ปัญหาต่างกัน

นั่นคือ วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อกระบวน ความรู้ ความคิด และบุคลิกภาพของคนในสังคม จนยากที่แยกออกว่า พฤติกรรมใดเป็นไปตามธรรมชาติ หรือเป็นพฤติกรรมที่เป็นไปตามบงการของวัฒนธรรม เพราะแม้แต่ การสนองความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ อาทิ การกิน นอน พักผ่อน ฯลฯ มนุษย์ก็มิได้ทำไปตามธรรมชาติแบบสัตว์อื่นๆ หากแต่ได้ใช้วิธีการทุกอย่างซึ่งตนได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมของตน ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากวิธีการ ของคนในวัฒนธรรมอื่น แม้แต่ในเรื่องเดียวกัน

จะเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม ที่ได้จาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากบุคคลรุ่นก่อน และมีความสำคัญต่อมนุษย์ในทุกมิติของชีวิต ทุกมิติของสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนสามารถใช้วัฒนธรรมในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม หรือ ในปรเทศนั้นๆ ได้โดยไม่ผิดพลาด การเข้าใจถึงวัฒนธรรม จะช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคคล
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคิด

วัฒนธรรมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะวัฒนธรรมเกิดจาการเรียนรู้ แต่การนำวัฒนธรรมจากสังคมอื่นมาใช้ ไม่รู้จักปรับแต่งใ้ห้เข้ากับความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมของคนในสังคม จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

*****************************************************************