วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาไทย พ.ศ.2517

การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2517ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา"

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่พิจารณาการศึกษาทั้งระบบและกระบวนการเพื่อตรวจสอบปัญหา พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง ให้การศึกษาสามารถสนองตอบความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย และเหมาะสมแก่กาลสมัย

คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอเอกสารชื่อ "แนวทางปฏิรูปการศึกษาสำหรับรัฐบาลในอนาคต"  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. สาเหตุที่ต้องปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการเห็นว่าควรมีการปฏิรูปการศึกษา ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

          1.1 ปัญหาอันเกิดจากการเปลียนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ คือสภาพสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่การศึกษาไม่ได้จัดเพื่อปรับปรุงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพและการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างทางฐานะ เศรษฐกิจ และละทิ้งคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรให้ล้าหลัง

          1.2 ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้แนวความคิดของคนไทยเปลี่ยนไป เกิดแนวคิดเรื่องชนชั้น ความเสมอภาคในสังคม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ แนวคิดเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รู้จักใช้เหตุผลพิจารณาปัญหาอย่างลึกซึ้ง

          1.3 ปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง คือจุดมุ่งหมายการศึกษาของไทยมุ่งสร้างคนเพื่อรับราชการ และต่อมาเพื่อสร้างแรงงานชั้นสูงและชั้นกลาง เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ส่วนแนวคิดใหม่ทางการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างของระบบการศึกษาใหม่เป็นระบบเปิด หลักสูตรควรสอดคล้องกับวุฒิภาวะของเด็ก และตั้งอยู่บนความจริงของแผ่นดินไทย

2. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเสนอแนะไว้ดังนี้

          2.1 ลักษณะการศึกษาที่พึงประสงค์ จะต้องเป็นการศึกษาที่เสริมสร้างความรู้ ความคิด และความชำนาญ ให้คนไทยทุกคนรู้จักตนเอง รู้จักชีวิตและเช้าใจสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ตนร่วมอยู่ เพื่อให้สามารถครองชีวิตและประกอบกิจการงานได้ด้วยความรู้เท่าทัน แก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมได้ดีขึ้นอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

         2.2 ความมุ่งหมายการศึกษาที่พึงประสงค์ ได้แก่

               1) จะต้องสร้างสำนึกของความเป็นไทย และเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ

               2) ปลูกฝังให้บุคคลยึดมั่นในความสามารถ ความยุติธรรม รักอิสรภาพ รักการแสวงหาความจริง เคารพกฎหมาย และเคารพความเสมอภาคในสังคม

               3) ช่วยให้บุคคลเข้าใจและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรับผิดชอบตอ่สังคมและตนเอง

               4) เสริมสร้างความรู้ความสามารถแก่บุคคลในสังคมเดียวกัน ให้สื่อสารเข้าใจกัน

               5) เสริมสร้างบุคคลให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีศีลธรรม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดริเริ่ม และรู้จักใช้ความสามารถของตนให้เกิดผลดีต่อสังคม

               6) เสริมสร้างความรู้ความชำนาญ ความนิยมนับถือในงานอาชีพต่างๆ สามารถประกอบกิจการงานด้วยความรอบรู้เท่าทันและแก้ปัญหาได้

               7) เสริมสร้างให้บุคคลมีความรู้ความซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม และวิทยาการต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์

          2.3 ผู้ที่ควรได้รับความสนใจและได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดการศึกษาของรัฐ รัฐจะต้องจัดการศึกษาเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน และมีโอกาสเท่าเทียมกันในการรับการศึกษา

          2.4 แนวทางในการบริหารจัดการศึกษา มีดังนี้

               1) จะต้องเน้นความเสมอภาคทางการศึกษา

               2) จะต้องจัดให้มีเอกภาพในการบริหารการศึกษา

               3) จะต้องเลือกสรรทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ

               4) จะต้องจัดให้มีการประสานสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาในโรงเรียนกับการศึกษานอกโรงเรียน

               5) จะต้องจัดให้มีสาระ กระบวนการเรียนรู้ มีความผสมผสานความงอกงามทางคุณภาพ จริยธรรม และปัญญา กับความเจริญทางวัตถุ

               6) จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทฐานะของครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

               7) จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดเวลา

3. เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา มี 2 ประการ คิอ

          3.1 จะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งในหลักการ ระบบ และกระบวนการ มีการกำหนดเวลาและขั้นตอนให้เหมาะสม

          3.2 จะต้องปฏิรูประบบแลโครงสร้างอื่นที่สัมพันธ์กับการศึกษา โดยให้เกื้อกูลซึ่งกันและกันกับการจัดการศึกษาตามแนวใหม่

จะเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2517 มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดลอม ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนไทย และปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาเอง และด้วยเหตุจากการเปลี่ยนแปงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และการศึกษาเพื่อชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคำ

                                          คนชั่วไม่เพียงทำลายผู้อื่น แต่ทำลายตัวเองด้วย

                                                                                             โสเครตีส

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความจริงการปฏิรูปการศึกษา เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางการเมือง หรือการคุกคามของของจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเริ่มต้นคุกคามเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง กับปัจจัยทางสติปัญญาหรือการท้าทายทางความคิดของตะวันตก ซึ่งท้าทายระบบสังคมแบบโบราณของไทย 

อันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 พระองค์ทรงตระหนักถึงภัยของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเห็นความสำคัญของความคิดของตะวันตก จึงเริ่มมีการปรับปรุงการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ทำให้เกิดระบบโรงเรียน อันเป็นตัวแบบของการจัดการศึกษาไทยในสมัยปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอใเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2411 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้จำเป็นจะต้องปรับปรุงการทหารให้มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันชายแดนพระราชอาณาจักร การศึกษาแผนใหม่ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 ก็เพื่อสนองการป้องกันประเทศเช่นเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาการต่างๆของตะวันตกที่ไทยเริ่มรู้เห็นความสำคัญจึงเป็น ปืนใหญ่ เรือกลไฟ และการจัดระเบียบกองทัพ ความรู้ตะวันตกที่นำมาใช้ส่วนมากเป็นเทคนิคในการจัดกองทัพ เพื่อใช้อาวุธมากกว่าเทคนิคการผลิตอาวุธ ในสมัยรัชกาลที่ 5 การจัดตั้งโรงเรียนแผนใหม่ขึ้น แต่ในระยะแรกส่วนใหญ่จึงเป็นสถานศึกษาสำหรับวิชาทหาร

2. ความต้องการกำลังคนที่มีความรู้เข้ารับราชการ การที่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องการคนเข้ารับราชการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีสาเหตุมาจาก

          2.1นโยบายสร้างชาติ โดยการโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กลไกของรัฐขยายตัว ทำให้ต้องส่งคนไปทำหน้าที่ตามหัวเมืองมากขึ้น

          2.2 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในมรสุมของลัทธิล่าอาณานิคม จำเป็นต้องมีผู้นำ การสร้างข้าราชการที่พร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการนำประเทศไปสู่ความเจริญ

          2.3 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น  ทำให้ต้องการข้าราชการมากขึ้น การเปิดประเทศทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าขาย และการขยายตัวทางการค้า ทำให้เกิดเมืองต่างๆ มีผลทำให้เกิดความต้องการข้าราชการจำนวนมาก ที่จะไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองเหล่านั้น

3. พระบาทสมเด็พระเจ้าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกจากผู้ถวายความรู้ซึ่งเป็นคนตะวันตก นอกจากนั้น พระองค์ยังได้เสด็จประพาสยุโรป ทรงเห็นความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และทรงเห็นว่า เหตุของความเจริญทั้งหลายมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.2440 ทำให้เกิดแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก ในชื่อว่า "โครงการศึกษา พ.ศ.2441"

4. ความคิดและความรู้ใหม่ๆที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาเผยแพร่ เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ การนำเครื่องพิมพ์มาใช้  ตลอดจนการตั้งโรงเรียนของหมอสอนศาสนา

เหล่านี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ.2414 เรียกว่าโรงเรียนหลวง เป็นการก้าวออกจากวงการศึกษาตามธรรมเนียมไทยโบราณ เป็นสถานที่เล่าเรียนที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ มีครูสอนตามเวลาที่กำหนด วิชาที่สอนมี ภาษไทย ภาษาต่างประเทศ และวิชาอื่นๆ มีการรับนักเรียนโดยเฉพาะเพื่อที่จะฝึกหัดเล่าเรียน เพื่อให้รู้หนังสือ รู้จักคิดเลข และธรรมเนียมราชการ และต่อมาระบบโรงเรียนได้พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

             คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา

                                                              พุทธศาสนสุภาษิต

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างไร

การปฏิรูป(Reformation) เป็นคำที่พบเสมอเมื่อต้องการบอกถึงการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง ฯลฯ 

อย่างคำว่าปฏิรูปสังคมในความหมายที่กว้าง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม อุดมการณ์ และโครงสร้างทางเมืองครั้งสำคัญ ปกติจะเกิดขึ้นขึ้นหลังจากปฏิวัติ หรือการยึดครองการเมืองที่รุนแรง

การปฏิรูปอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ การปฏิรูปบางครั้งถูกใช้ในความหมายของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ในทางการศึกษา การปฏิรูป หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการศึกษาของประเทศ โดยการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ซึ่งได้แก่
          1) การจัดสรรทรัพยากรให้กับการศึกษาสาขาต่างๆ
          2) การจัดสรรทรัพยากรให้กับระบบการศึกษาทุกระดับ
          3) ร้อยละของนักเรียนนักศึกษาซึ่งจบการศึกษาในระดับต่างๆ
          4) ร้อยละของนักเรียนนักศึกษาที่มาจากสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน หรือร้อยละของสตรีที่จบจากระบบการศึกษาในระดับต่างๆ
         5) จุดมุ่งหมายของหลักสูตรและเนื้อหาของหลักสูตร

การปฏิรูปการศึกษามักจะเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร  ตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเปลี่ยนจากการศึกษาแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการศึกษาของชนชั้นสูงให้เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคม เป็นผู้มีความสามารถในเชิงเหตุผล เปลี่ยนเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อประชาชนทั้่วไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการศึกษา มีผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรและหลักสูตร

ส่วนการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
          1) ความซับซ้อนของการปฏิรูป
          2) ความมุ่งมั่นของระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
          3) ความมีรูปแบบเดียวกัน
          4) ทรัพยากร

สำหรับยุทธวิธีในการปฏิรูปที่ใช้กันอยู่มี 2 ยุทธวิธี คือยุทธวิธีตรง เป็นยุทธวิธีที่ใช้อำนาจหรืออำนาจเชิงบริหารดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย กับ ยุทธวิธีโดยอ้อม เป็นยุทธวิธีที่ใช้สิ่งล่อใจ หรือชักชวนให้เห็นคุณค่าของการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริง การปฏิรูปจะประสบควาสำเร็จก็ต่อเมื่อใช้สองยุทธวิธีรวมกัน

การปฏิรูปการศึกษา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่และซับซ้อน จำเป็นจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองสูง และต้องมีงบประมาณสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ และการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เกิดจากข้าราชการระดับบนและนักการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากครู ครูใหญ่ ผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นอกจากจะต้องใช้ยุทธวิธีที่เหมาะสมแล้ว ผู้มีอำนาจและกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องรู้เป็นเบื้องต้นว่าการศึกษาคืออะไร ประเทศมีสภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างไร และต้องการกำลังคนคนระดับใด จำนวนเท่าไร  ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ใช้วิธีการลอกเลียนแบบการปฏิรูปการศึกษาจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะเป็นการปฏิรูปที่นำไปสู่ความล้มเหลวทางการศึกษา เป็นการศึกษาที่ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

การศึกษา เป็นกระบวนทางสังคมที่ทำหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอด สิ่งที่มีคุณค่าให้กับ                     สมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รูปแบบการศึกษาในยุคของการเปลี่ยนแปลง

ในยุคของการเปลี่ยนแปลง การศึกษาได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถานศึกษาต้องปรับปรุงตนเองให้มีระบบการเรียนที่เปิดกว้างขึ้น พ่อแม่สามารถเลือกสถานศึกษาให้ลูกได้มากขึ้น สถานศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจมากขึ้น มีการเปิดโปรแกรมวิชาเพื่อการแข่งขันมากขึ้น

สำหรับสถานศึกษารูปแบบใหม่ในประเทศพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีการเพิ่มโรงเรียนเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่สอนเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาเลิศ(gifted child) โรงเรียนสำหรับเด็กที่ต้องเรียนพิเศษ ตลอดจนโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ

2. โรงเรียนที่มุ่งสอนเฉพาะภาษา เช่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยงบประมาณของรัฐและเงินทุนของเอกชน

3. เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ด้วยการเป็นแหล่งวิทยากร หุ้นส่วน ให้การสนับสนุน และโดยการร่วมกันสร้างหลักสูตรที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมมากขึ้น

4. การเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทโทรคมนาคมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการเรียนทางไกล

5. การขยายตัวของการเรียนการสอนที่บ้าน(home-schooling) เป็นการเรียนรู้ที่พ่อแม่เป็นผู้แนะนำ โดยการสนับสนุนของเทคโนโลยีสารสนเทศ พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาแก่บุตรของตนโดยเน้นความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้
          5.1 การสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยตนเอง
          5.2 การเรียนการสอนตามความถนัดของแต่ละบุคคล
          5.3 ความเป็นโรงเรียนแห่งอนาคตเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ
          5.4 การอาศัยพ่อแม่และครอบครัวสร้างบุคลิกภาพอันดีงามให้กับเด็ก

นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนระบบสัญญา(charter school) มีลักษณะเป็นโรงเรียนของรัฐที่ปรับกลไก เพื่อให้สามารถดำเนินการในลักษณะของเอกชนที่ต้องมีต้นทุนการดำเนินการ มีการแข่งขัน จึงต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอกับความต้องการ

โรงเรียนแม่เหล็ก(magnet school) เป็นรูปแบบโรงเรียนในสหรัฐอเมริการูปแบบหนึ่งในยุคของการเปลี่ยนแปลง  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างชนชั้น

โรงเรียนรูปแบบนี้เชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด โดยแต่ละแบบแต่ละโรงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน เช่น บางโรงอาจสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บางโรงอาจสอนวิจิตรศิลป์และศิลปะการแสดง หลักสูตรเป็นแบบสังคมย่อยลอกเลียนแบบสังคมในชีวิตจริง

การเข้าศึกษาโรงเรียนแม่เหล็กถือเกณฑ์ว่าใครมาก่อนได้ลงทะเบียนก่อน และประกันว่า่นักเรียนที่อยู่ในเขตการศึกษาของตนจะได้เข้าเรียนทุกคน หลักสูตรประกอบด้วยวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะซึ่งนักเรียนสามารถเรียนได้ตามความต้องการ ความสนใจ และความสามารถ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

 ในด้านงบประมาณโรงเรียนจะได้รับงบประมาณแบบเหมาจ่าย ซึ่งจะได้รับเงินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน และโรงเรียนมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณนั้นอย่างไร

มหาวิทยาลัยเสมือน (virtual university) เป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริการูปแบบหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นในยุคของการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยรูปแบบนี้เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดระบบ รูปแบบ และวิธีการศึกษาใหม่ขึ้นมา

มหาวิทยาลัยเสมือน เป็นมหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่มีระบบการเรียนการสอนที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ทุกๆวิชาจะมีเทคโนโลยีเป็นสื่อส่งผ่านความรู้ การเรียนการสอนใช้ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และวีดิทัศน์ปฏิสัมพันธ์(interactive video)เป็นอุปกรณ์หลัก

ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆดังกล่าว ทำให้เพิ่มศักยภาพในการนำการศึกษาไปถึงผู้เรียนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น จนกระทั่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกอย่าง ทุกแห่ง และทุกเวลา

จะเห็นว่าในยุคของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดการศึกษาในยุโรปและอเมริกาเหนือได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เป็นระบบการศึกษาที่ช่วยให้บุคคลได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาได้ทั่วถึง และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียนมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                                        To know and not to do is really not to know.

                                                                                Stephen R. Covey

*********************************************************************************