วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษาพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างไร

การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม  เป็นการพัฒนาระบบความสัมพันธ์ หน้าที่ ปทัสถาน แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่กันอย่างปกติสุข

สำหรับการจัดการศึกษเพื่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมนั้น  เป็นการจัดเพื่อให้ระบบการศึกษาได้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

การถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม  เพราะวัฒนธรรมเป็นมรดกทางสังคม  จึงเป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับผู้เรียน  เพื่อให้สังคมรักษาไว้  เพราะหากไม่มีวัฒนธรรม  ความเป็นสังคมและความเป็นชาติจะหมดไปในที่สุด  อย่างก็ตาม  วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดนั้นจะต้องมีการเลือกสรรอย่างดี เพื่อจะได้ถ่ายทอดเฉพาะแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เอื้อต่อความอยู่รอดของสังคม เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยให้สังคมเกิดความก้าวหน้า และดำรงไว้ซึ่งความมีเอกลักษณ์ของชาติ

การเปลี่ยนแปลง การศึกษาจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และปทัสแบบดั้งเดิมบางอย่าง  ที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนา เป็นต้นว่า การไม่เห็นความสำคัญของเวลา การเชื่อในอำนาจภายนอก การมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ การไม่มีวินัย  รังเกียจงานใช้มือ การมุ่งในปัจจุบัน ฯลฯ เหล่านี้  การศึกษาจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลง  เพราะลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้น  ไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเท่านั้น  ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมาอีกด้วย

การสร้างเสริม  ถ้าหากจะให้การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมดำเนินไปด้วยดี  การศึกษาจะต้องทำหน้าที่สร้างเสริมลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา  ให้เกิดขึ้นในตัวสมาชิกของสังคม  เป็นต้นว่า การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความมีศรัทธาในความสามารถของตนเอง  ความมีวินัย การรักการทำงาน การมุ่งประโยชน์ส่วนรวม  มีค่านิยมในเชิงเสมอภาค การมุ่งอนาคต ฯลฯ เพราะลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นลักษณะที่ช่วยให่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อสังคมจะได้อยู่กันอย่างปกติสุขและมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้สมบูรณ์  ก็ต่อเมื่อระบบการศึกษามีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านบริหาร การเรียนการสอน การจัดกิจกรรม ตลอดจนการวัดผลการศึกษา เพื่อไม่ให้การศึกษาเป็นตัวแทนของความด้อยพัฒนา ที่สร้างเสริมและอนุรักษ์ความด้อยพัฒนาให้คงอยู่ในสังคม
                                  ---------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด 
   
ระบบการศึกษาที่ด้อยพัฒนา  ไม่อาจสร้างลักษณะที่เอื้อพัฒนาขึ้นมาในตัวผู้เรียนได้  การพัฒนาประเทศ  จึงต้องเริ่มด้วยการพัฒนาระบบการศึกษา

                                                           ------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ยุทธวิธีเพื่อการเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาประเทศ  ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ ด้านวัฒนธรรม  เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง  เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน มีเป้าหมาย  และมีทิศทางที่แน่นอน
 
ซึ่งยุทธวิธีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้มีดังนี้

ยุทธวิธีการปฏิบัติด้วยเหตุผล ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและจะทำตามเหตุผลที่ตนคิดว่าถูกต้อง  ฉะนั้นการ เปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในสังคมมีความเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดความพึงพอใจและดีกว่าเดิม  ด้วยความคิดที่มีเหตุผลในลักษณะดังกล่าว    จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของมนุษย์     อันนำไปสู่การเปลี่ยนสังคมโดยรวม
              
          ยุทธวิธีตามข้อนี้ มีหลักการคือ การวิจัยและการแสวงหาความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า  การเลือกสรรบุคคลให้เหมาะกับงาน ตลอดจนการจัดการทำงานอย่างเป็นระบบ

ยุทธวิธีการสร้างปทัสถานใหม่ ยุทธวิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า  ทุกสังคมมีปทัสถานที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนของพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ โดยที่ปทัสถานทางสังคมได้รับอิทธิพลจากทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนของพฤติกรรมของคนในสังคม จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงปทัสถานจากแบบเดิมไปสู้แบบใหม่ สร้างปทัสถานขึ้นมาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และระบบความสัมพันธ์ที่สำคัญๆด้วย
                
           ยุทธวิธีตามข้อนี้ อาศัยอิทธิพลจากภายนอกในการที่จะสร้างปทัสถานใหม่ โดยอาศัย การปรับปรุงความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบสังคม ปรับปรุงกระบวนการและเทคนิควิธีและนำหลักการแก้ปัญหาโดยวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลี่ยนแปลง

ยุทธวิธีการใช้อำนาจบังคับ  ยุทธวิธีนีี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ถ้าหากมีการใช้อำนาจบางอย่าง  เช่น อำนาจทางการเมืองการปกครองและอื่นๆ  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ อำนาจดังกล่าว ปกติมักจะอาศัยการบังคับด้วยกฎหมาย  ยุทธิวิธีนี้เป็นงานระดับชาติ มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการวางแผน และตรากฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่กำหนดไว้
  
          ยุทธวิธีตามข้อนี้ ดำเนินการในลักษณะที่ไม่ใช้มาตรการที่รุนแรง แต่อาจใช้วิธีต่อต้านอย่างสงบหรือการอภิปรายถกเถียง โดยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ต่อจากนั้น จะใช้สถาบันการปกครองเพื่อให้บรรลุถึงการเปลี่ยนแปลง โดยตราเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา

จะเห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องวิชาความรู้และเทคโนโลยี หรือการใช้กฎหมายแต่เพียงประการเดียว แต่จะต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปทัสถาน ค่านิยม ทัศนคติและความเชื่อของคนในสังคมประกอบด้วย  ควบคู่กันไป  การเปลี่ยนแปลงจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
                                    -----------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

           ปทัสถาน (Norm) หมายถึง  กฎ หรือ แบบแผน หรือ มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม
                                                    ------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษากับการพัฒนาประเทศ:พัฒนาอะไร

ต่อคำถามที่ว่า การศึกษากับการพัฒนาประเทศ พัฒนาอะไร ตอบง่ายๆก็จะได้ว่า เป็นการใช้การศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือพัฒนาคน เพื่อให้คนมีลักษณะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ตอบได้แต่ก็ไม่ค่อยจะชัดเจน

การพัฒนาประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่า  จะต้องพัฒนาทั้งประเทศหรือทั่วประเทศเท่านั้น  แต่อาจจะพัฒนาบางส่วนหรือบางด้านของประเทศ ก็ได้ จะพัฒนาในระดับจุลภาคหรือระดับมหภาค ก็ได้ กล่าวคือจะพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือพัฒนาทั้งประเทศ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศ ทั้งนั้น

นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ จำแนกการพัฒนาประเทศออกเป็น 3 ด้าน คือ

           1) การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

            2) การพัฒนาการเมือง เป็นการพัฒนาในเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กัยสมาชิกในสังคม

            3) การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเกี่ยวกับผลิตและการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ

จะเห็นว่า  การพัฒนาประเทศ คือการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

ส่วนการศึกษาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างไรนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 2 แนวทาง คือ

การพัฒนาการศึกษา  เป็นการพัฒนาระบบการศึกษา เป็นเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ ให้ลดความสูญเปล่าลง ในขณะเดียวกัน ก็ปรับปรุงการดำเนินงานของระบบการศึกษา  ให้สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้มากขึ้น เป็นระบบที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะเมื่อผู้เรียนได้ศึกษาเล่าเรียนจากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว  ย่อมเชื่อได้ว่า จะเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปได้  หรืออย่างน้อยก็ไม่มีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง เช่น ผลิตคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรู้และทักษะในการที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจน เป็นสมาชิกที่ดีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ในฐานะที่เป็นสถาบัน การศึกษา ก็สามารถพัฒนาประเทศได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยที่กำนดไว้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัย นอกจากจะมีหน้าที่สอนและวิจัยแล้ว ยังจะต้องมีหน้าที่บริการทางวิชาการแก่ชุมชน  และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อีกด้วย

ที่กล่าวมา พอจะตอบคำถาม ได้ชัดเจนว่า การศึกษาพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาเองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ทำหน้าที่พัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีลักษณะที่เอื้อต่อ การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม  การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 
                            ------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

                  อำนาจนั้นมีจำกัด ถ้าใช้โดยขาดคุณธรรมและความถูกต้อง  จะหมดเร็ว
                                           -------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาหรือสร้างทุนมนุษย์ในประเทศใดประเทศหนึ่ง  ก่อนจะเริ่มการพัฒนาจำเป็นจะต้องมีการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อทราบปัญหาและความต้องการกำลังคนที่แท้จริง โดยจะต้องชัดเจนว่า ต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าไร  ตลอดจนจะพัฒนาด้วยวิธีการใด เมื่อชัดเจนแล้วจึงจะดำเนินการพัฒนา 

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.การให้การศึกษา  เป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะให้กับมนุษย์โดยตรง ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น

           1.1 การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือสถานศึกษา  เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จัดกันอย่างแพร่หลาย เป็นวิธีการที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจำแนกเป็น
                  1.1.1.  การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เน้นความรู้ทั่วๆไป  ตลอดจนเป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับสูงและการประกอบอาชีพ
                   1.1.2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพโดยตรง เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ

             1.2. การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน  เป็นการศึกษาที่จัดให้ผู้อยู่นอกวัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้กำลังทำงาน เป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ  แต่ก็มีเหมือนกันที่เรียนเพื่อเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แบ่งออกได้เป็น
                     1.2.1. การฝึกอบรมในระหว่างประจำการ เป็นการฝึกอบรมผู้ที่กำลังทำงานอาชีพอยู่  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้น อาจเป็นความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างหรือความรู้สามารถทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
                      1.2.2. การพัฒนาตนเอง  เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหาความรู้  ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง  ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ  เช่นจากการอ่าน เรียนจากตำรา  วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่นๆ  ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การจัดให้มีบริการสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น  อันจะทำให้สมรรถภาพในการทำงานดีขึ้นด้วย  ทำการผลิตได้นานและผลิตได้มากขึ้น

3. การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในขณะปฏิบัติงาน เพื่อจะได้เป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีแรงจูงใจที่จะทำงาน

4. การปรับปรุงภาวะโภชนการ  เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรู้จักรับประทานอาหารที่มีคุณค่า อันส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นในที่สุด

5. การอพยพย้ายถิ่น เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้กำลังแรงงานมีประสบการณ์ใหม่ๆ   และเป็นการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการผลิดในระบบเศรษฐกิจ

จากวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าว จะเห็นว่าวิธีการให้การศึกษาเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด จัดกันมากที่สุด เพียงแต่จะต้องเป็นการจัดการศึกษา ที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เป็นแค่การจัดการศึกษาเพื่อการศึกษา
                                       ---------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

กำลังแรงงาน (Labour force) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ที่มีงานทำและไม่มีงานทำ แต่ประสงค์จะทำงานและสามารถทำงานได้
                                                         ---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สาเหตุของการศึกษาที่สูญเปล่า

ความสูญเปล่าของการศึกษา อยู่ที่การไม่สามารถพัฒนาคนให้มีลักษณะตามที่สังคมต้องการได้ กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นในสังคม  นักการศึกษาได้พยายามศึกษาวิเคราะห์ว่า เหตุใดการศึกษาจึงสูญเปล่า พบว่า

การวางแผนการศึกษาไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงและความต้องการทางสังคม  ปกติการจัดการศึกษาจะต้องเริ่มด้วยการวางแผน แต่พบว่าเป็นการวางแผนที่ขาดข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน  หรือมีการวางแผนแต่ไม่ปฏิบัติตามแผน ผลก็คือ การศึกษาไม่ได้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามที่ต้องการ กลายเป็นการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของผู้ปกครองประเทศมากกว่าเพื่อมวลชน

เป็นระบบการศึกษาที่นำรูปแบบมาจากแหล่งอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของประเทศตะวันตก เพราะเชื่อว่าระบบการศึกษาในประเทศเหล่านั้นทำให้ประเทศพัฒนา หากนำมาใช้บ้างก็น่าจะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้เช่นกัน  แต่พบว่าระบบการศึกษาที่นำเข้า ไม่สอดคล้องกับระบบสังคมวัฒนธรรม ระบบครอบครัว ระบบเศรษฐกิจและค่านิยม มีผลทำให้ขาดบูรณาการระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนกับชีวิตการทำงาน  เป็นการศึกษาที่ไม่สนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่สนองความต้องการของคนในเมืองใหญ่  เป็นคนกลุ่มเล็กๆที่มีอิทธิพล  ที่ควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ส่วนระดับอุดมศึกษาก็มุ่งสนองความต้องการทางด้านบริหารและการค้า แทบจะไม่สนใจปัญหาชนบท ระบบการศึกษาที่นำเข้าจึงไม่เพียงแต่ไม่สนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะพิการขยายความด้อยพัฒนาให้กว้างขวางออกไป

หลักสูตรส่วนมากจะเน้นหนักทางด้านวิชาการ  เป็นหลักสูตรที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพในอดีตที่เจริญมากกว่าจะเป็นภาพอนาคตของประเทศ  เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ แต่เน้นการเตรียมตัวเพื่อการเรียนต่อในชั้นสูง  จนทำให้คนที่พลาดโอกาสไม่ได้เรียนสูงๆ กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ของสังคม  ระบการศึกษากลายเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความแปลกแยกระหว่างผู้เรียนกับชีวิตจริง

ระบบการศึกษามีแนวโนมที่จะผลิตกำลังคนเพื่อทำงานในเมือง นอกจากจะเป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตของผู้เรียน และความต้องการเชิงพัฒนาสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่  ยังพบว่าเป้าหมายของการศึกษา มุ่งที่จะสร้างชนชั้นกลางเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การได้ออกจาการใช้ชีวิตในชนบทกลายเป็นแรงจูงใจของการศึกษาอย่างหนึ่ง

มีรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มของการพัฒนา  การเรียนการสอนใช้วิธีการจำเป็นสำคัญ  จำแบบนกแก้วนกขุนทอง โดยจำสิ่งที่ดีที่สุดในอดีต ความดีที่เป็นมาในอดีต  ผลก็คือ ผู้จบการศึกษา จะมีความเชื่อฟังต่อระเบียบ มีจิตใจที่จะรักษาสิ่งที่ดีๆไว้  มีสติปัญญาตามรูปแบบ ยอมรับอดีต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พอใจที่ได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตเพื่อประโยชน์ของอดีต  นอกจากนั้น ยังพบว่าการเรียนการสอน มุ่งเน้นการฝึกหัดรับการถ่ายทอดข้อมูล แทนการสร้างความเข้าใจและการสร้างสรรค์

ผลของการศึกษาในลักษณะดังกล่าว  จึงเป็นการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ คนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง  ทำอะไรไม่ค่อยเป็นหรือไม่ค่อยกล้าที่จะทำอะไร  รวมทั้งไม่ชอบทำงานหนัก  จึงไม่อาจใช้การศึกษาผลิตคนเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าตามที่ต้องการได้ นับว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง
                          -------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

             การศึกษาเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งมากยิ่งดี แต่การศึกษาแบบผิดๆ  จะทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                                   --------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สภาพของการศึกษาที่สูญเปล่า

เป็นที่ยอมรับกันว่า  การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ใช้ในการพัฒนามนุษย์ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  แต่การศึกษาที่มีสภาพต่อไปนี้ จัดว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า เป็นการศึกษาที่ไม่สนองตอบความต้องการกำลังคนของประเทศ กล่าวคือ

เป็นการศึกษาที่มีลักษณะแคบ (insular) เป็นการเรียนการสอนที่ขาดการวางแผนล่วงหน้า  เป็นการสอนอย่างหยาบๆ  โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน และเขียน กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำและสอบ เป็นการเรียนการสอนตามทฤษฎี ที่ไม่ได้สร้างทักษะที่จำเป็น

โรงเรียนมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย เป็นแหล่งของอำนาจวาสนาทางสังคม  ทั้งๆที่ เชื่อว่าการศึกษานั้นสามารถสนับสนุนเป้าหมายของการพัฒนา สร้างความเป็นพี่น้องของคนในชาติ และส่งเสริมเกียรติของความเป็นมนุษย์ได้ก็ตาม

ผูู้บริหารประเทศและประชาชนมีเป้าหมายทางการศึกษาที่ต่างกัน กล่าวคือ ผู้บริหารประเทศหวังจะใช้การศึกษา เพื่อให้สถานะภาพของประเทศสูงขึ้นในสายตาของชาวโลก  ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ทัศนคติใหม่ๆที่ทันสมัย  ส่วนประชาชนหวังว่าการศึกษาจะช่วยทำให้ตนเองห่างไกลจากการทำงานที่ต้องใช้มือหรือใช้แรงงาน  เห็นการศึกษาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำงานเบาๆในสำนักงาน เป็นเสมียนหรือข้าราชการ

เป็นการศึกษาที่สร้างทัศนคติที่กระตุ้นให้เรียนสูงขึ้น ผู้จบระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มุ่งที่จะเรียนสูงในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อได้ปริญญา ส่วนมากเป็นปริญญาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ประกอบกับการศึกษาขั้นต่ำนั้นไม่จบในตัวเอง ไม่ช่วยให้ผู้เรียนทำงานได้ ถนนทางการศึกษาแทบทุกสายจึงมุ่งสู่ปริญญา จนเกิดปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูง

เป็นการศึกษาที่ไม่ได้จัดเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย ที่มุ่งสร้างชนชั้นนำเป็นสำคัญ

เป็นการศึกษาที่ปฏิเสธอดีตและไม่สนใจอนาคต เน้นการฝึกหัดรับข้อมูล แทนการสร้างความเข้าใจไม่สอนให้รู้จักคิดเพื่อแก้ปัญหา มีรูปแบบการเรียนการสอน  ที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มของการพัฒนา

โดยสรุป สภาพการศึกษที่สูญเปล่า เป็นระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม  กลับผลิตคนที่มีแนวความคิดและค่านิยมผิดๆที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ทั้งๆที่มีการทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาเป็นอับดับต้นๆ ก็ตาม
                   ----------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ  ที่จะช่วยให้การวางแผนสอดคล้องกับความเป็นจริง  สถาบันการศึกษาจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้
                                                                                George M. Foster
                                       --------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นพลังงาน ทักษะ พรสวรรค์และความรู้ของประชาชน  ที่สามารถนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

 การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
 และวัฒนธรรม หากประเทศใดไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวจะเป็นไปได้ยาก

ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่  จะประกอบด้วยพลเมืองที่ด้อยพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ การช่วยเหลือและการค้าขายกับต่างประเทศ แม้จะมีความสำคัญแต่ไม่เท่าทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนา

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าตัวบ่งชี้อื่นๆ  เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายตรงกับ การสร้างทุนมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์  ซึ่งหมายถึงกระบวนการให้ได้มา หรือ เพิ่มจำนวนของบุคคลที่มีทักษะทางการศึกษา และประสบการณ์ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ เป็นกระบวนการเพิ่มความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัยให้แก่มนุษย์ในสังคม

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม   การพัฒนามนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง  ติดยึดอยู่กับประเพณีดั้งเดิมน้อยลง

ในความหมายที่สั้นที่สุด การพัฒนามนุษย์ หมายถึงการเปิดประตูให้มนุษย์ไปสู่ความทันทันสมัย

จะเห็นว่า แนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง จะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนามนุษย์  ให้มนุษย์มีคุณค่าต่อการพัฒนา แม้ประเทศจะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม หากพลเมืองของประเทศส่วนใหญ่ด้อยพัฒนา  การพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ยาก
                            -----------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

ประเทศด้อยพัฒนาต้องการกำลังคนระดับสูงอย่างรีบด่วน  เท่าๆกับต้องการเงินทุน  ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่สามารถพัฒนากำลังคนระดับสูงขึ้นมาได้ตามที่ต้องการ  ก็ไม่อาจที่จะใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้

                                                                               Paul G. Hoffman

                                                   --------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนให้มีลักษณะที่สังคมต้องการ

การศึกษาในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ย่อมจะแตกต่างไปจากประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ

การศึกษาในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เป็นการศึกษาที่จัดโดยรัฐและเพื่อรัฐ ครูจะต้องโฆษณาชวนเชื่อและปลูกฝังในสิ่งที่ชนชั้นผู้ปกครองกำหนด ผู้เรียนจะไม่ได้รับการส่งเสริมให้รู้จักวิพากษ์วิจารณ์

ส่วนการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น   การศึกษาจะเน้นความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมือง เน้นความสำคัญของการทำงาน การริเริ่ม ความศรัทธาในตนเอง ฯลฯ จุดมุ่งหมายของการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  จึงควรมีลักษณะดังนี้

ผู้เรียนทุกคนควรได้รับการพัฒนาให้มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

สังคมทัศน์หรือมุมมองทางสังคมของผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนา

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนา ให้มีความสามารถในการที่จะคิดอย่างอิสระและสร้างสรรค์

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถภาพ  ในการที่จะกลั่นกรองเอาความถูกต้องจากความผิดพลาด มีสมรรถภาพที่จะแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริงอะไรคือโฆษณาชวนเชื่อ รู้จักปฏิเสธอันตรายอันเกิดจากความคลั่งไคล้และอคติ

ผู้เรียนควรได้รับการอบรมในเรื่องความมีเกียรติของการใช้แรงงาน

ทุกคนควรจะมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้เทิดทูนความยุติธรรมในสังคม  โดยตระหนักถึงความชั่วร้ายของสังคมที่ตักตวงเอาผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า

ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้รู้จักรักและยอมรับคนอื่นและเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์

ผู้เรียนควรได้รับการสอนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ควรพยายามสอนให้มีความรู้สึกว่ามนุษย์มีความเหมือนๆกัน

ผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นให้รู้จักการริเริ่มตลอดจนรู้จักประดิษฐ์คิดค้น

การเรียนการสอนควรแสดงให้เห็นถึงการมีทางเลือกด้านอาชีพอย่างกว้างขวาง

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น  ทุกคนมีความสำคัญ จึงควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งนี้ เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
                                 ----------------------------------------------------------------------

                                                                                     สาระคิด

                                                     ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนทั้งความสุขและความทุกข์
                                                                             ---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคง

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  จะต้องเริ่มด้วยการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์เป็นเบื้องต้น  จากการศึกษาพบว่า มนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในเรื่องต่อไปนี้
        
1.การยอมรับ การยอมรับมีความจำเป็นต่อการสร้างความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักพูดเสมอว่า การยอมรับผู้อื่นเป็นนโบายที่ดี  แต่การยอมรับนั้น จะต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี  และการแสดงถึงการยอมรับด้วยการไม่ดูหมิ่น การมีมรรยาทที่ดีต่อกัน ตลอดจนแสดงออกถึงความหวังดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ
             การมีมรรยาทดี สามารถใช้สร้างความสัมพันธ์กับบุคลอื่นได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยให้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นง่ายขึ้น และมีประสิทธิผล การมีมรรยาททำให้บุคคลอื่นอยากคุยด้วย  ทำให้คนอื่นสบายใจ
             กล่าวโดยสรุป การยอมรับบุคคลอื่น ก็คือ การแสดงต่อคนอื่นในฐานะที่คนอื่นเป็นมนุษย์ ปราศจาการดูถุกดูแคลน มีมรรยาทดี และแสดงออกถึงความหวังดี

2.ความยุติธรรม คนทุกคนอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตนอย่างยุติธรรม ปราศจากการลำเอียง ซึ่งแน่นอนว่าหาความยุติธรรมที่ตรงกันได้ยาก      เพราะบางคนใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินความยุติธรรม                 ความยุติธรรมที่ยอมรับกันทั่วไป  ก็คือ ความยุติธรรมที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือตามเหตุผล
             จงระลึกไว้เสมอว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเกิดจาการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างยุติธรรมและตรงไปตรงมา

3.ความซื่อสัตย์  ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ  เพราะความซื่อสัตย์เป็นผลมาจากการมีคุณธรรม การจะบอกว่าคนใดซื่อสัตย์หรือไม่  ให้ดูจาการปฏิบัติใน 3 สิ่งต่อไปนี้ว่าปฏิบัติอย่างสมำ่เสมอหรือไม่เพียงใด
           คนที่มีความซื่อสัตย์  พูดอะไรออกมาผู้พูดเองก็จะต้องเชื่อคำพูดนั้น คือไม่โกหกนั่นเอง
           คนที่มีความซื่อสัตย์  ไม่ดึงข้อมูลที่สำคัญๆไว้กับตน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลต่อความสำเร็จของคนอื่น โดยให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง  แม้ตัวเองจะต้องเสียประโยชน์ก็ตาม
           คนที่มีความซื่อสัตย์  จะต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่เสแสร้ง หรือหยิ่งยะโส

ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างยอมรับ ยุติธรรม และซื่อสัตย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว บุคคลอื่นจะรับรู้ด้วยประสบการณ์ของเขาเองว่า บุคคลนั้นเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้รักษาและเพิ่มความสัมพันธ์ที่มั่นคงตลอดไป

นั่นคือ การยอมรับ ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ เป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีความมั่นคง
                          -------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                           "การคิดถึงตัวเองน้อยลง" เป็นการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" อย่างหนึ่ง

                                                                                  Shigeta Saito
                                                  ------------------------------------------