วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมตัวกำหนดการพัฒนาประเทศ

เดิมเชื่อกันว่าประเทศชาติจะก้าวหน้าพัฒนาไปได้  จะต้องมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  แต่พบว่า มีหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เอเซียใต้ หรือเอเซียอาคเนย์  ต่างก็มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกจัดให้เป็นได้แค่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศในโลกที่สาม 

นักสังคมศาตร์จึงได้พยามศึกษาเพื่อหาว่า  อะไรคือตัวกำหนดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในที่สุดพบว่า มนุษย์หรือเรียกให้เป็นวิชาการหน่อยว่า องค์ประกอบเชิงมนุษย์นั่นเอง เป็นตัวกำหนดการพัฒนา
 
กล่าวคือ  การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการกระทำของมนุษย์  และตัวที่กำหนดการกระทำของมนุษย์คือวัฒนธรรม จึงไม่ผิดที่จะสรุปว่า วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการพัฒนา 

โดยนักสังคมศาสตร์มีความเห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคและทางวัตถุ  จะต้องสอดคล้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ แนวความคิด ค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชน

การพัฒนาประเทศ  คือการเปลี่ยนแปลงแบบแผนชีวิตในด้านต่างๆ ของคนที่อยู่ร่วมกันในประเทศ

การพัฒนาจะได้ผล จะต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม  ถ้าการเปลี่ยนแปลงใดไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม  การเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปได้ยาก และหากจำเป็นต้องเปลียนแปลงหรือพัฒนาจะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเป็นเบื้องต้น

ส่วนคำถามที่ว่า  เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศและไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ คำตอบคือว่าประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้เกิดการพัฒนาเร็วช้าต่างกัน

ในประเทศพัฒนา คนในสังคมพอใจอย่างสูง ที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคม มีความเชื่อว่าสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ใช่เป็นส่ิ่งขวางกั้นที่ทำให้เกิดความหมดหวัง  แต่เป็นสิ่งท้าทายความเฉลียวฉลาดของคน และเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำได้สำเร็จเกือบจะทุกอย่าง

ในประเทศพัฒนา  มีค่านิยมที่จะผลักดัันให้แต่ละบุคคลแสวงหาความก้าวหน้า ค้นหาความสามารถเฉพาะตัว แล้วนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่รังเกียจงานและยกเลิกการถือชั้นวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

ในประเทศพัฒนา  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบุคคลที่ถือหลักเหตุผล  มีความตั้งใจที่จะรอเพื่อสนองความพอใจที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต  เน้นผลสัมฤทธิ์มากกว่าสถานภาพและเกียรติยศ  มีความสำนึกต่อส่วนรวม มีความสามารถทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน

ในประเทศพัฒนา  ศาสนาถูกตีความไปในทางที่สอนให้คนรับผิดชอบต่อตนเอง  และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต ทำงานหนัก และไม่ยอมปล่อยตนให้หลงใหลในความฟุ่มเฟือย

ในประเทศพัฒนา คนส่วนใหญ่จะมีทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่่อในการที่จะยอมรับสิ่งใหม่ ยอมรับการริเริ่ม ที่จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการพัฒนา  ตลอดมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง

ในประเทศพัฒนา คนส่วนใหญ่มีความจริงจัง  และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต  มีความกระเหม็ดกระแหม่ ประหยัด และทำงานหนัก วัดคุณค่าของคนจากการทำงานไม่ใช่จากชาติตระกูล

ส่วนประเทศด้อยพัฒนา จะมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไปอีกรูปแบบหนึ่ง  มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา  และบางสังคมมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นอุสรรคต่อการพัฒนาด้วยซ้ำไป

ในประเทศด้อยพัฒนา จะมีประเพณีซึ่่งประกอบด้วยศาสนา ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีค่านิยมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าคุณค่าทางวัตถุ เน้นความสำคัญของชีวิตหลังจากที่ตายไปแล้วหรือชีวิตในชาติหน้า มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต

ในประเทศด้อยพัฒนา คนในสังคมมีความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคมต่ำมาก อย่างกรณีน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ก็เชื่อว่าเกิดจากธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจแก้ไขได้

ในประเทศด้อยพัฒนา มีลักษณะทางวัฒนธรรมหลายประการ  ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การคิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน  ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน  ทำงานเป็นกลุ่มไม่เป็น มีการใช้จ่ายเพื่อพิธีกรรมสูง ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลอง เป็นต้น

นั่นคือ  หากต้องการจะพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิม และเสริมสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนา  หากไม่มีการเริ่มในลักษณะดังกล่าว  การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการพัฒนาดังกล่าวแล้ว
                                 -----------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

 การมุ่งแต่อนุรักษ์วัฒนธรรมโดยไม่ยอมปรับเปลี่ยน  อาจจะกลายเป็นการอนุรักษ์ความด้อยพัฒนาก็ได้

                                                      ----------------------------

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความสำคัญของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมนั้นมีควบคู่กับสังคม  ถ้าไม่มีสังคมจะไม่มีวัฒนธรรม และหากไม่มีวัฒนธรรมสังคมก็อยู่ไม่ได้ ต้องสูญสลายไป  นี่เป็นข้อความสั้นๆ  แต่สามารถอธิบายถึงความสำคัญของวัฒนธรรมได้อย่างดี
 
สำหรับความสำคัญของวัฒนธรรม  มีรายละเอียด ดังนี้

วัฒนธรรมมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมของมนุษย์  คือมนุษย์นั้นดีกว่าสัตว์ในแง่ที่ว่า มนุษย์มีมันสมองใหญ่กว่าสัตว์  ทำหน้าที่ได้ดีกว่าสมองสัตว์  ส่วนอวัยวะอื่นๆสู้สัตว์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยวเล็บตลอดจนความแข็งแรง  หากมนุษย์ไม่มีวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง มนุษย์ก็ไม่อาจดำเนินชีวิตได้อยา่งปกติสุข ไม่อาจต่อสู้แข่งขันกับสัตว์อื่นได้ และอาจสูญพันธ์ุในที่สุด

วัฒนธรรมเป็นระบบของความคาดหวัง   คือวัฒนธรรมช่วยให้เกิดความคาดหวังได้ว่าพฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วจะได้รับรางวัล พฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วจะถูกลงโทษ  กิจกรรมใดที่ทำแล้วทำให้เกิดความอิ่มใจ พฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วก่อให้เกิดความคับข้องใจ เช่น หากลูกคนไหนเชื่อฟังพ่อแม่ ก็สามารถคาดเดาได้ได้เลยว่าลูกคนนั้น  จะเป็นที่รักใครของพ่อแม่  ในทางตรงกันข้ามหากลูกดื้อร้ั้นอยู่เสมอ ก็จะกลายเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก ขออะไรก็ไม่ค่อยจะได้ ในทำนองเดียวกัน หากชายหญิงก่อนจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยา จัดพิธีแต่งงานสมฐานะ จะทำให้เป็นที่พอใจของพ่อแม่และคู่สมรสเอง  ในทางตรงกันข้ามหากหนีตามกันไป จะได้รับการติฉินนินทางจากสังคม สร้างความทุกข์ให้กับตนเองและพ่อแม่

วัฒนธรรมจะช่วยแนะแนวทางชีวิตแก่สมาชิกของสังคมในทุกๆเรื่อง  วัฒนธรรมช่วยให้สมาชิกทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถทำนายพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมที่มีต่อสถานการณ์เดียวกันได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนช่วยให้สมาชิกในสังคมสามารถทำนายได้ว่าพฤติกรรมใดเมื่อกระทำลงไปแล้วจะได้รับการโต้กลับอย่างไร  ในขณะเดียวกันหากสมาชิกในสังคมทำตามวัฒนธรรม ย่อมจะได้รับผลตอบแทนในทางที่ดี  เช่น สั งคมไทยเป็นสังคมเป็นสังคมที่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ เจอผู้ใหญ่ที่รู้จักกันก็ทำนายได้ว่าเด็กต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่   และผู้ใหญ่ที่ดีก็จะรับไหว้เด็ก หากเด็กคนใดเจอผู้ใหญ่แล้วยกมือไหว้หรือแสดงความเกรงใจผู้ใหญ่ จะได้รับการชื่นชมว่าเป็นเด็กดีมีสัมมาคารวะ  พ่อแม่สั่งสอนมาดี เป็นต้น

วัฒนธรรมจะกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม  วัฒธรรมสามารถใช้อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมได้ เช่น อธิบายได้ว่าทำไมคำที่ใช้แทนตัวเองในสังคมไทยจึงมีหลายคำ เช่น กู ฉัน  กระผม ฯลฯ แต่ชาติอเมริกัน มีคำเดียว คือ  I  ซึ่งอธิบายได้ว่า สังคมไทยมีชนชั้น แต่สังคมอเมริกันไม่มี เป็นต้น

วัฒนธรรมทำให้สังคมมีระบบ  วัฒนธรรมช่วยให้สมาชิกใหม่ปรับตัวได้ ชนชาติตะวันตกเมื่อมาอยู่เมืองไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบวัฒนธรรมไทยได้ จึงจะสามาถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจกฎเกณฑ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับมนุษย์ การอยู่ด้วยกันในสังคมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์กติกา สมาชิกจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่น การที่ชายหญิงจะอยู่กันเป็นสามีภรรยา มีกฎเกณฑ์ว่า ฝ่ายชายจะต้องสู่ขอต่อพ่อแม่ เพื่อเข้าพิธีแต่งงานกัน  แต่หากมีชายหญิงคู่ใดหนีตามกันไป ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคม ก็จะได้รับการลงโทษทางสังคม ด้วยการติฉินนินทา ในฐานที่ทำให้พ่อแม่ขายหน้า เป็นต้น

วัฒนธรรมเป็นแหล่งของแนวทางในการแก้ปัญหาสำเร็จรูป เป็นวิธีแก้ปัญหาที่คนในสังคมต้องใช้แก้ปัญหาอยู่เสมอ เช่น ทะเลาะกับผู้ใหญ่ ก็ต้องไปขอโทษ เป็นต้น

จะเห็นว่าถ้าเราเข้าใจวัฒนธรรม จะสามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างในสังคมได้เป็นอย่างดี

กรณีการเกิดปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ ก็เช่นเดียวกัน สามารถอธิบายได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติตะวันตก แต่คนไทยนำมาใช้แทนวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมของไทย แต่พบว่าถึงแม้จะมีการใช้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมาถึง 80 กว่าปีีแล้ว แต่การเมืองไทยก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีการตีความวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไปต่างๆนานาคนละทิศคนละทางตามผลประโยชน์ส่วนตน  การบริหารบ้านเมืองไทยแทนที่จะเป็นประชาธิปไตยกลายเป็นคณาธิปไตยไป จนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้

ดังนั้น หากจะปกครองบ้านเมืองแบบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก จะต้องเริ่มด้วยการเข้าใจวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วค่อยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยดังกล่าว  การเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี
                                      ----------------------------------------------

                                                        สาระคิด

การเปลี่ยนแปลงสังคม หากเริ่มด้วยการการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

                                                   ----------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความรู้เรื่องวัฒนธรรม

คำว่า"วัฒนธรรม"  ในทาง มานุษยวิทยา มีคความหมายแตกต่างออกไปมากมาย  แต่สามารถสรุปได้ว่า "วัฒนธรรม  หมายถึง  วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวลที่ได้จาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม"

อนึ่่ง ในการให้ความหมายของวัฒนธรรมได้ยึดหลักสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก วัฒธรรมไม่ได้หมายรวมถึงพฤติกรรมที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางชีววิทยา เหมือนกับอธิบายเรื่องความหิว การเจริญเติบโตของร่างกาย ฯลฯ ประการที่ 2 วัฒนธรรมเล็งไปที่การดำเนินชีวิตของกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น วิธีการทำงาน พิธีแต่งงาน การรับประทานอาหาร ฯลฯ

จะเห็นว่าการกระทำของมนุษย์  ที่นอกเหนือไปจากการกระทำทางชีวภาพแล้ว  ถือว่าเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น  เช่น  ความหิวไม่ใช่วัฒนธรรม แต่การกินเป็นวัฒนธรรม เพราะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมที่ต่างกัน

วัฒนธรรมนั้นได้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ส่วนที่มองเห็นได้  อันได้แก่การกระทำและสิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น  เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับวัตถุ เช่น จาน ช้อน อาคาร ฯลฯ  กับ ส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งได้แก่ แนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ  วัฒนธรรมส่วนนี้เป็นตัวกำหนดรูปแบบและรูปร่างของวัฒนธรรมทั้งหมด

เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมชัดเจนขึ้น จะขอกล่าวถึงลักษณะที่สำคัญๆของวัฒนธรรม ไว้ดังนี้

วัฒนธรรมจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมของมนุษย์  มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากวัฒนธรรมไม่ได้ เพราะไม่อาจต่อสู้กับสัตว์อื่นได้  และจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งติดตัวมาแต่กำเนิด วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ถ่ายทอดโดยผ่านทางพันธุกรรม แต่เกิดจาการอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาอบรม วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น

วัฒนธรรมแต่ละสังคมแตกต่างกัน  เป็นความแตกต่างที่ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ว่าวัฒนธรรมใดดีหรือเลวกว่ากัน  เพราะแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีความถูกต้องเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคมซึ่งแตกต่างกัน

วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเวลาเปลี่ยน  สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน
 
วัฒนธรรมมีการใช้ร่วมกัน เมื่อมนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา วัฒนธรรมนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับหรือเห็นพ้องกันของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคม และมีการใช้วัฒนธรรมนั้นร่วมกัน เพื่อว่าวัฒนธรรมนั้นจะได้อยู่ยั่งยืนต่อไป

วัฒนธรรมอาจสลายได้   เมื่อวัฒนธรรมใดไม่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อ หรือถูกกลืนจากอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่แข็งกว่า วัฒนธรรมก็จะหายไป และเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาแทน

วัฒนธรรมมีลักษณะบูรณาการ  คือรวมเอาหลายสิ่งหลายอย่างไว้ด้วยกัน เป็นการรวมเอาแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือวัฒนธรรมย่อยของท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมย่อยตามอาชีพ มารวมกันเป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

จะเห็นว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่คู่กับสังคม ในทางมานุษยวิทยา วัฒนธรรมไม่ได้บอกถึงความดีงาม หรือบอกว่าวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งดีกว่าวัฒนธรรมของอีกสังคมหนึ่ง  และที่สำคัญ  วัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนได้เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป
                                       ---------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

ความล้าหลังทางวัฒนธรรม  หมายถึง  สถานการณ์ที่วัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนก่อให้เกิดการขาดสมดุลย์และความไม่กลมกลืนขึ้นในสังคม

                                                       --------------------------------

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หน้าที่ของสังคม

การที่สังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่นและมั่นคงได้นั้น สังคมจะต้องจัดให้มีการทำหน้าที่ที่จำเป็นต่างๆ  เพื่อให้สมาชิกในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิผล   หน้าที่ของสังคมที่จำเป็๋นจะต้องมีเพื่อความอยู่รอดของสังคม  ได้แก่

สังคมจะต้องจัดให้มีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การปฏิบัติการทางเพศของสมาชิก เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีการเพิ่มสมาชิกด้วยวิธีการสืบพันธุ์  เป็นการบำรุงรักษาความต่อเนื่องทางชีวภาพของสมาชิก  การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หมายรวมถึง การรักษาระดับจำนวนสมาชิกให้มีขนาดพอเหมาะ  คือไม่ให้มีสมาชิกมากหรือน้อยเกินไป  สังคมจะต้องส่งเสริมความสนใจในการผลิตสมาชิกใหม่ในอัตราที่พอเพียงแก่การดำรงอยู่ของสังคม ส่วนสมาคมหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นสังคมย่อยๆก็จะต้องหาวิธีที่จะเพิ่มสมาชิกด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกัน

หน้าที่ในการอบรมสั่งสอนหรือแนะนำสมาชิกใหม่  เพื่อให้สมาชิกใหม่รู้จักกฎเกณฑ์ข้อกำหนดในการประพฤติปฏิบัติ ที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ในสังคม สมาชิกใหม่จะได้ปฏิบัติถูกต้อง สะดวกและรวดเร็ว

หน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร  คือสังคมจะต้องจัดให้มีภาษาร่วมกันสำหรับสมาชิกของสังคม  ทั้งนี้เพราะสังคมจะอยู่ไม่ได้ หากสังคมนั้นไม่มีระบบการติดต่อสื่สาร ที่สมาชิกในสังคมสามารถเข้าใจกัน เรียนรู้และรับรู้ร่วมกัน  หากขาดระบบการติดต่อสื่อสาร มนุษย์จะแสดงออกได้เฉพาะอารมณ์ขั้นพื้นฐาน เช่น แสดงความโกรธ เกลียด กลัว ฯลฯ

หน้าที่ทางเศรษฐกิจ  เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องให้มีการผลิต การแลกเปลี่ยน การกระจายรายได้ และการบริโภค ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของสมาชิก  สังคมใดจัดการเรื่องเศรษฐกิจดี มีอาหารและทรัพย์สินเพียงพอ สังคมนั้นจะมีความสมบูรณ์ สมาชิกจะไม่โยกย้ายไม่อยู่สังคมอื่น

หน้าที่จัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม การที่สมาชิกอยู่รวมกันมากๆ จำเป็นจะต้องมีกฎข้อบังคับ และมีการควบคุมดูแลให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น การอยู่ร่วมกันของสมาชิก บางครั้งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง ขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน สังคมจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการจัดระเบียบภายใน ได้แก่การจัดให้มี ศาล อัยการ ตำรวจ ฯลฯ และการจัดระเบียบภายนอก เช่น การจัดให้มีกำลังทหาร และการดำเนินการทางการฑูต

หน้าที่ในการบำรุงขวัญและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติภาระกิจของสมาชิก การบำรุงขวัญ  การสร้างความหมาย และการจูงใจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่มีการกระทำดังกล่าว  สมาชิกจะเกิดความเฉื่อยชา เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติภาระกิจประจำวัน หรืออาจไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามสถานภาพอย่างเต็มที่  และการปล่อยให้สมาชิกมีความเข้าใจในเรื่องของชีวิตแตกต่างกันมาก ย่อมยากที่จะติดต่อสื่อสารทางสัญลักษณ์ สังคมจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะปราศจากการมีจุดหมายปลายทางร่วมกัน

หน้าที่ของสังคมดังกล่าวนี้ สังคมจะต้องจัดให้มีการทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  เพื่่อมิให้สังคมเสื่อมสลาย
                                           ---------------------------------------------------

                                                                        สาระคำ

สถานภา คือตำแหน่งของบุคคลในโครงสร้างทางสังคม สถานภาพเป็นสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นและสังคมส่วนรวม  แต่ละบุคคลอาจมีหลายตำแหน่งก็ได้
 
                                                                 ------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นเรื่องสังคม

สังคม  คือกลุ่มคนหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน มีความสัมพันธ์ซึ่งเกิดจากการติดต่อระหว่างกัน  มีความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน  และยอมรับแบบแผนการดำเนินชีวิตมาประพฤติปฏิบัติ โดยภาพรวมสังคมจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

อยู่รวมกันเป็นกลุ่มของคน โดยมีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ส่วนจะมากเท่าไรไม่มีข้อจำกัด

มีอาณาบริเวณ  เป็นอาณาบริเวณที่คนในสังคมต้องรับผิดชอบ อาณาบริเวณนี้จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนหรืออย่างหลวมๆก็ได้  โดยปกติบริเวณจะกว้างใหญ่แค่ไหน จะขึ้นอยู่กับจำนวนคนในสังคมนั้นๆ และขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่คนในสังคมนั้นจะทำร่วมกัน

รู้จักเป็นพวกเดียวกัน  คนในสังคมสามารถแยกแยะได้ว่า  คนไหนเป็นคนในสังคมเดียวกัน คนไหนไม่ใช่

มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  เป็นการมีปฏิสัมพันธ์โดยใช้สัญลักษณ์หรือภาษา ที่นำไปสู่ความเข้าใจต่อกัน

มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์นานพอสมควร และเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เกิดความรักใคร่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

มีการแบ่งหน้าที่กันทำและร่วมมือกัน  การแบ่งหน้าที่จะแบ่งตามความรู้ความสามารถ และมีการร่วมมือกันในบางเรื่องเพื่อทำงานให้สำเร็จ

มีระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และปทัสถานร่วมกัน  เพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติของสมาชิก จะได้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและคล้ายคลึงกัน คนในสังคมเดียวกันจึงมีระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และปทัสถานเดียวกัน

มีสถาบันที่ให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม โดยสถาบันจะกำหนดหน้าที่ กำหนดแบบแผนการดำเนินชีวิต  บุคคลที่จะดำเนินการ  และมีสถานที่ทำการเพื่อบรรลุประสงค์ของสถาบันนั้่นๆ  สถาบันทางสังคม ได้แก่  สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา เป็นต้น สถาบันต่างๆในสังคมจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน พึ่่งพาอาศัยกันและกัน เพราะต่างก็มีภาระหน้าที่เฉพาะที่มีความสัมพันธ์ต่อสถาบันอื่น  มีการจัดระเบียบระหว่างกันเพื่อทราบตำแหน่งแหล่งที่ในโครงสร้างของสังคม และเพื่อการดำรงอยู่ของสังคม

 เมื่อพิจารณาจากลักษณะต่างๆของสังคมที่กล่าวมา จะเห็นว่า่ ครอบครัว ชุมชน สมาคม หรือประเทศ ต่างก็เป็น สังคม แต่มีจำนวนสมาชิก อาณาบริเวณ  และความซับซ้อน แตกต่างกันไป
                                            ------------------------------------------------------

                                                                                สาระคำ

ปทัสถาน คือ ตัวกำหนดความประพฤติ หรือการกระทำ ของบุคคลในสังคม เป็นแนวทางสำหรับบุคคลยึดถือปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ
                                                                   -------------------------------

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเทศไทยกับโลกาภิวัตน์

ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป  ที่มุ่งจะเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ   เมื่อมีปรากฎการณ์เสรีทางการเงินการคลังเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์  ประเทศไทยก็ไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้  โดยไม่มองให้ทะลุว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร

ในปีพ.ศ.2523 ไทยเริ่มเปิดเสรีทางการเงิน  ด้วยการยอมรับพันธะ 8 ประการของกองทุนการเงินระหว่า่งประเทศ

ในปี พ.ศ.2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอบริการวิเทศธนกิจ  หรือที่รู้จักกันในชื่อ BIBF มีผลทำให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งทุนในต่างประเทศง่ายขึ้น โดยมีดอกเบี้ยถูกๆ  ทำให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  เพราะเงินทุนดังกล่าวนี้  ส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ในปีพ.ศ.2539 สัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฎขึ้น การส่งออกเริ่มชะลอตัว เหลือเพียงร้อยละ 0.2  ในขณะเดียวกัน  ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้คืน  ประกอบกับวิกฤติการเงินของเม็กซิโกส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทไทย มีการโจมตีค่าเงินบาทเพื่อเก็งกำไร ทำให้ค่าเงินบาทลดลง จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด  มีการลอยตัวค่าเงินบาท จนเงินบาทมีค่่า 50 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

ไทยตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสำรองเหลือพอที่จะชำระหนี้  ทำให้ไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  และต้องให้บริษัทข้ามชาติและบริษัทการเงินข้ามชาติเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี  ตลอดจนบีบบังคับให้รัฐบาลต้องทำหลายๆอย่างเพื่อนำเงินมาใช้หนี้

ปัจจุบันไทยได้เปิดเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ  มีผลทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด   จน  โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง  การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าข้ามชาติ ทำให้ร้านโชห่วยของไทยต้องยุบเลิกกิจการ

ในทางการเมือง ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมือง มีการต่อต้านรัฐบาล ปรากฎว่าทั้งสหรัฐอเมริกา และเลขาธิการสหประชาชาติ พยายยามที่จะเข้าเกี่ยวข้อง เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย  ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้เห็นเป็นใจ และพยายามเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า  ปัจจุบันนี้มีการประท้วงรัฐบาลในหลายประเทศ บางประเทศสหรัฐอเมริกาถือฝ่ายรัฐบาล บางประเทศก็ถือฝ่ายผู้ประท้วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐได้มากกว่ากัน

ในทางวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมต่างชาติหลั่งไหลเข้าอย่างกว้างขวาง ทั้งของชาติตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ และที่น่าสังเกต คือมีการใช้ภาษาอังกฤษในกิจกรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง แต่เป็นการใช้ที่ไม่ถูกกับงาน ไม่ถูกกับเรื่อง นึกว่าจะใช้ก็ใช้ เช่น ในการรณนรงค์ให้คนไทยทำหรือไม่ทำมีบ่อยๆที่ใช้ภาษาอังกฤษแทนที่จะใช้ภาษาไทย หรือวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับคนไทยด้วยกัน ก็มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ  ไม่ชื่อสถานีก็ชื่อรายการหรือทั้งสองอย่าง   เช่น NBT,  ThaiPBS เป็นต้น

ผลกระทบไทยจากกระแสโลกาภิวัตน์ ดังกล่าว  ถ้าไทยไม่รู้จักปฏิเสธโลกาภิวัตน์ หรือเลือกนโยบายโลกาภิวัตน์ด้วยความระมัดระวัง จะไม่สามาถสร้างโอกาสที่ดีที่สุดให้กับประเทศได้  เป็นการไม่ฉลาดนักที่ประเทศไทยจะกระโจนเข้าสู่โลกาภิวัตน์อย่างหลับหูหลับตา เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นการฉลาดมากว่าที่ไทยจะรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างสร้างสรร

ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าเป็นอันตรายอย่างมาก สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่จะปล่อยให้กับสิ่งที่เรียกว่าตลาดเสรีหรือสถาบันโลกช่วงชิงบทบาทของรัฐบาล  การปล่อยให้ตลาดเสรีหรือสถาบันโลกเข้ามามีบทบาทเหนือรัฐบาล  ย่อมแน่นอนว่าจะนำประเทศไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะไร้ระเบียบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด
                                                            ----------------------------------------

                                                                             สาระคำ

                                                 BIBF=Bangkok International Banking Facilities.

                                                                     -------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความล้มเหลวของโลกาภิวัตน์

โลกาภิวัตน์เป็นอุดมการณ์  เป็นแนวความคิด ที่จะทำให้ประเทศต่างๆในสังคมโลกมีประโยชน์ร่วมกัน เสมือนคนในหมู่บ้านเดียวกัน เสมือนคนในสังคมเดียวกัน แต่เนื่องจากแนวคิดโลกาภิวัตน์ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว  ประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ผลที่ตามมา จึงเกิดการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและมีการแทรกแซงทางการเมืองอย่างไร้พรมแดน

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ จากกระบวนการและนโยบายโลกาภิวัตน์ ทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่า โลกาภิวัตน์มีความจำเป็นสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งล่อใจทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่า จะทำให้ทุกประเทศมีความร่ำรวยเสมอหน้ากัน

แต่ในความเป็นจริง  แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวจะสูงขึ้นตลอดศตวรรษที่ 20  แต่ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจนกลับเพิ่มมากขึ้น

โลกาภิวัตน์ทำให้อัตราการลงทุนในประเทศที่ยากจนลดลง ผลผลิตลดลง ยกเว้นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ ที่เรียกว่ากลุ่ม จี 7 ที่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 0.4ในระหว่างปี ค.ศ.1971-1982 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.6 ในระหว่างปี ค.ศ. 1983-1994  ส่วนประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  มีรายได้ต่อหัวลดลงจากร้อยละ 3.3 ในระหว่างปี ค.ศ.1960-1973 เป็นร้อยละ 0.8 ในระหว่างปีคศ.1973-1995

โลกาภิวัตน์ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  คือเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน  และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจน

สภาพเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาแย่ลงหลายด้าน  ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีมากว่า 70 ประเทศ ที่มีรายได้ต่อหัวลดต่ำลง  ประชากรโลก3,000,000,000 คน มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 80 บาท และมีจำนวนถึง 800,000,000 คนที่มีปัญหาทุโภชนาการ

ความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา  เกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มอิทธิพลของประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวย
และประเทศกำลังพัฒนาเองก็ไม่เคร่งครัดในการไหลเข้าของเงินทุน ไม่พยายามแสวงหาทางเลือก กลับพยายามชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น  โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มการจ้างงาน
 
นอกจากนั้น  โลกาภิวัตน์ยังเพิ่มการกระจายทางการเงิน จนทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นในปี ค.ศ. 1980  โดยเริ่มที่ประเทศเม๊กซิโก แล้วลามไปยังทวีปเอเซีย
  
เพราะโลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่ช่วยบรรษัทข้ามชาติ จึงมีแต่ประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ธนาคารโลก ก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็ดี ต่างก็ได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนี้ โดยกำหนดให้ประเทศที่เป็นลูกหนี้  จะต้องถือเป็นความสำคัญอันดับแรก  ที่จะต้องจ่ายหนี้นอกประเทศ  ทำให้ประเทศที่เป็นหนี้ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณเพื่อพลเมืองในระดับรากหญ้าของประเทศ

ความล้มเหลวในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ในทางการเมือง พบว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้ส่งเสริมทางเลือกที่เป็นประชาธิปไตย  เพราะกระบวนการต่างๆถูกขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  นอกจากนั้นประเทศกำลังพัฒนาเอง ก็ยังช่วยเหลือให้บรรษัทข้ามชาติให้มีกำไรเพิ่มขึ้น การช่วยเหลือดังกล่าวกระทำภายใต้ร่มเงาของประชาธิปไตย  ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของประเทศที่มั่งคั่ง

การเพิ่มกำไรทางธุรกิจทำให้เพิ่มอำนาจทางการเมือง  ทำให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเงินของธุรกิจ  ผู้ประกอบการทางธุรกิจมีอำนาจเหนือรัฐบาล  มีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแออย่างสม่ำเสมอ มวลชนขาดอำนาจต่อรอง  ประชาธิปไตยไม่สามารถรับใช้สามัญชนได้อีกต่อไป  การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่มีความหมาย  ไม่มีแก่นสาร

ทั้งหมดเป็นตัวอย่าง  ที่แสดงถึงความล้มเหลวของโลกาภิวัตน์ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นโลกใบเดียวที่มีประโยชน์ร่วมกันอย่างไร้พรมแดน
                                                     --------------------------------------------------
 
                                                                              สาระคำ

                OECD = Organization for Economic Cooperation and Development.
                กลุ่ม จี 7 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน แคนาดา และญี่ปุ่น
                                                                -----------------------------------          

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โลกาภิวัตน์เพื่อใคร

เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของโลกาภิวัตน์ จึงได้จัดให้มีสถาบันโลกขึ้น เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก องค์การค้าโลก  เป็นต้น   เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางให้กับประเทศกำลังพัฒนา
  
แต่ในทางปฏิบัติ  นโยบายเหล่านั้น สถาบันโลกเหล่านั้น  มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศที่ร่ำรวยมากกว่า  เพราะประเทศร่ำรวยมีอิทธิพลเหนือสถาบันเหล่านั้น

เพราะนโยบายต่างๆ ถูกกำหนดจากประเทศที่รำรวยฝ่ายเดียว  แต่นำไปใช้ทั่วโลก  ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา  ไม่สามารถเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมกับความจำเป็นของประเทศของตนได้  ผลก็คือ ประเทศกำลังพัฒนา  ต้องพบกับความยากลำบากอย่างมาก  ในการที่จะนำประเทศผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างรุนแรง

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ถือว่าเป็นทศวรรษแห่งความคับข้องใจ  หลายประเทศต้องรับประทานยาขม ที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศยื่นให้  เศรษฐกิจสังคมนิยมต้องล่มสลายไป   เศรษฐกิจของประเทศในอาเซีย เช่น เกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย  ซึ่งเคยได้รับการยกย่องก่อนหน้านี้ว่า  มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าอัศจรรย์  ต้องเผชิญกับภาวะขายหน้า  เนื่องจากเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นในปี ค.ศ. 1997  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกาภิวัตน์กำลังเฟื่องฟูเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก

คำถามจึงมีว่า  ถ้าโลกาภิวัตน์ช่วยเกื้อกูลประเทศที่ยากจนได้จริง  ทำไมจึงเกิดวิกฤติในประเทศเหล่านั้น

หลายประเทศ ที่เปิดประเทศให้สินค้าและเงินทุนไหลเข้าอย่างเสรี ผลที่ตามมา ก็คือเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลัง  และได้รับการปฏิบัติอย่างน่าผิดหวังจากธนาคารโลก  และกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเวลาถัดไป

ในปี ค.ศ. 1990 ประเทศแถบอเมริกาลาติน  ซึ่งเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างจริงจัง  พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก   อาร์เจนตินาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในแถบนี้ ที่เป็นตัวอย่างของความหายนะ  อันเกิดจากโลกาภิวัตน์

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ  แสดงให้เห็นว่า การเปิดตลาดเสรีแม้จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศที่ยากจน  แต่กฏเกณฑ์กติกาที่ใช้อยู่ไม่เอื้ออำนาย  ทั้งๆที่ประเทศเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎขององค์การค้าโลก แต่ได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงจากธนาคารโลก  หรือทั้งที่ยอมรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  ตามกฎเกณฑ์ที่ประเทศกำลังพัฒนากำหนดขึ้น  แต่ยังเกิดวิกฤติทางเศรษบกิจจนได้

นอกจากนั้น ประเทศกำลังพัฒนายังต้องเผชิญกับกับกำแพงภาษีศุลกากร  ที่่ประเทศพัฒนาตั้งไว้สูงสุด สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ยากจน
 
ส่วนสิทธิบัตรต่างๆที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  ทำให้ยารักษาโรคในประเทศกำลังพัฒนามีราคาแพงขึ้นอย่างมาก จนทำให้ประเทศที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นเหล่านั้นได้

วิกฤตการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า โลกาภิวัตน์เพื่อใคร เพื่อประเทศที่ยากจนหรือประเทศที่ร่ำรวย  เพื่อประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนา
                                             -----------------------------------------------

                                                                         สาระคิด 

                              หลักการหรืออุดมการณ์ดีๆ  ใช่ว่าจะดีสำหรับทุกสภาพการณ์
                              การจะนำไปใช้ต้องรู้จักประยุกต์  จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
                                                                 -------------------------