วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น:ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยในยุคนี้  มีการคอร์รัปชั่นค่อนข้างจะกว้างขวาง และมีทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อมวลชน วงการครู  ตลอดจนวงการศาสนา บางครั้งกล่าวกันว่า เงินงบประมาณถึง ร้อยละ 30 ที่ต้องสูญเสียไปจากการคอร์รัปชั่น  และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางเศรษฐกิจ  การคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบ    ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากมายหลายด้าน ดังนี้

          1. ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น ในปีหนึ่งๆ รัฐต้องเสียงบประมาณ หลายหมื่นล้านบาท อันสืบเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่น ในเรื่องต่างๆ  ทั้งที่เป็นการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการประจำ  ทำให้รัฐไม่สามารถใช้เงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

          2. ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  เมื่อมีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น  ผู้ได้รับประโยชน์จากการคอร์รัปชั่น  หากเป็นเงินก้อนโต จะนำเงินไปฝากต่างประเทศ  หรือลงทุนนอกประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะเงินไหลออก ส่วนผู้ที่นำเงินมาลงทุนในกิจการอุตสาหกรรม หรือบริษัทผู้รับเหมาต่างๆ  หากมีการคอร์รัปชั่นจะต้องบวกเงินที่ต้องจ่ายเงินสินบน เข้าไว้ในต้นทุนด้วย  เป็นการเพิ่มทุนโดยไม่จำเป็น

          3. ทำให้การประเมินผลทางเศรษฐกิจผิดพลาด การคอร์รัปชั่นทำให้เกิดความล้มเหลว ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่นำมาใช้ในการประเมินผลผิดพลาด บางครั้งกลายเป็นการปิดบังการคอร์รัปชั่นมิให้ปรากฎ

          4. ทำให้สินเปลืองทักษะและความชำนาญ  ถ้าข้าราชการและนักการเมือง ใช้เวลาและกำลังแรงงานเพื่อหวังความร่ำรวยจากการคอร์รัปชั่น  ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ทำให้ ต้องเสียเวลา กำลังแรงงาน ให้หมดไปกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

          5. เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือจากต่างประเทศ  หากประเทศผู้ให้การช่วยเหลือ เห็นว่ามีการคอรั์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง  การพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือ  จะมีรายละเอียดเพื่อการพิจารณาซับซ้อนมากขึ้น  หรือบางครั้งอาจถึงกับงดการช่วยเหลือไปเลย  เว้นแต่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือนั้นจะหวังผลตอบแทนในด้านอื่น

          6. ทำให้เกิดอภิสิทธิ์ในทางเศรษฐกิจ  ทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็น ไม่สอดรับกับการลงทุนด้านอื่นๆ  กล่าวคือ การคอร์รัปชั่นทำให้เกิดอิทธิพล  มีอำนาจเหนือการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองผู้มีอำนาจ  มีผลทำให้เกิดการก่อสร้างหรือการลงทุนที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง  ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีพรรคพวกอยู่ในวงราชการหรือวงการเมือง หรือไม่มีเงินมากพอที่จะติดสินบน ก็อาจจะไม่ได้รับงานอันเกิดจาการลงทุนของรัฐ

         7. ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษี  ประเมินไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้สูญเสียภาษีที่พึงจะได้

              ด้วยความที่การคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว  การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลทุกวันนี้  มักจะถูกเพ่งเล็งตรวจสอบจากฝ่ายค้านอย่างจริงจัง  แม้แต่เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่พิจารณาอยู่ในสภาฯขณะนี้ ก็เป็นที่สงสัยของฝ่ายค้าน ว่าโครงการใช้เงินดังกล่าว นำไปสู่การคอร์รัปชั่นหรือไม่ เพราะรัฐบาลได้ร่างระเบียบขึ้นมาดูแลการใช้เงินโดยเฉพาะ   แทนที่จะใช้ใช้ระเบียบการที่มีอยู่เดิม  มีผลทำให้ยากต่อการตรวจสอบ
                            ----------------------------------------------------
                                                      สาระคิด

               อยากเห็นการทำงานที่เป็นระบบ     แต่ตนเองไม่ทำตามระบบ
               อยากเห็นความเท่าเทียมกันในสังคม    แต่ตนเองชอบใช้อภิสิทธิ์
               อยากเห็นความมีระเบียบวินัย     แต่ตนเองชอบทำแต่สิ่งที่ถูกใจ
               อยากเห็นความยุติธรรม    แต่ตนเองชอบตัดสินปัญหาตามอารมณ์
               อยากเห็นการมีคุณธรรม     แต่ตนเองไม่เคยยึดถือปฏิบัติ
                        ถ้าหากท่านเป็นอย่างนี้ ท่านก็จะต้อง "อยาก"ต่อไปอีกนาน
                                    -------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

คนไทยกับการคอร์รัปชั่น

เมื่อพูดถึงการคอร์รัปชั่น จะพบว่ามีลักษณะของคนไทยและสังคมไทยบางประการ ที่อาจจะเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น  ซึ่งอาจจำแนกให้เห็นเป็นข้อๆได้ดังนี้

สังคมไทยเป็นสังคมเจ้่านาย   การเป็นเจ้าคนนายคน มีความหมายมากสำหรับคนไทย  คนไทยมักแสดงออกถึงความมีอำนาจวาสนาของตนเสมอ  เท่าที่โอกาสและสถานที่จะอำนวย  ดังที่แสดงออกมาในรูปของการชอบรับราชการ ชอบสั่ง ชอบพิธีการ พยายามรักษาระบบอาวุโส ชอบเลี้ยงบริวารสมุน ดำเนินชีวิตเกินฐานะ  ลักษณะเหล่านี้  ทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นแบบระบบเจ้าขุนมูลนาย ผู้บังคับบัญชาถือว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นบริวารส่วนตัว  การปกครองเป็นแบบแผ่เมตตาบารมี รวบอำนาจการตัดสินใจที่สำคัญๆไว้ ตลอดจนพยายามสร้างอาณาจักรขึ้นในหน่วยงาน เป็นก๊กเป็นเหล่า มีการส่งเสริมและช่วยเหลือกันและกัน  ซึ่งแน่นอนว่า  ลักษณะดังกล่าวนี้ เอื้อต่อการคอร์รัปชั่นอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดการลูบหน้าปะจมูก เกิดระบบพรรคพวก เกิดการฝากเนื้อฝากตัวเพื่อรับการค้ำจุน อันนำไปสู่ระบอบอุปถัมภ์นั่นเอง

สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบนับญาติ  คนที่อายุสูงกว่า ก็เรียก พี่ ป้า น้า อา ลุง หรือตา ส่วนที่อายุน้อยกว่าก็เรียก ลูก หลาน น้อง การเรียกในลักษณะนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นญาติพี่น้องกัน ไม่กระทำอะไรที่รุนแรงต่อกัน  มีอะไรต้องช่วยเหลือกัน ในวงการทหารมีการถือคติว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ถ้าน้อง เพื่อน หรือ นาย คอร์รัปชั่น ก็คงช่วยเหลือกันให้พ้นผิด หรือได้รับโทษที่เบาลง ส่วนอีกคติหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทยคือ "มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี่" อันแสดงถึงความสำคัญของเงินทอง แม้การจะเป็นญาติกันได้ ก็ต้องมีเงินมีทอง ไม่คำนึงว่าจะมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากไหน มีประวัติชั่วร้ายอย่างไรแน่นอนการถือคติดังกล่าวนำไปสู่การพยายามหาเงินทองด้วยวิธีการต่างๆ ที่อาจจะเกิดจากการคอร์รัปชั่น

สังคมไทยมีปรัชญาชีวิตที่สงบสุข  อันเป็นแนวคิดจากพุทธศาสนา เชื่อในบุญกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมเป็นเครื่องจำแนกบุคคล  ฉะนั้นเมื่อเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารบ้านเมือง  ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่อยากจะทำอะไรที่รุนแรง เพราะกลัวบาปกรรม  หรือถ้าคิดว่าการคอร์รัปชั่นเป็นความชั่วจริง สักวันหนึ่งกรรมคงจะตอบสนองบุคคลนั้นเอง ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า  จึงทำให้การคอร์รัชั่นในสังคมไทยอยู่ในลักษณะธุระไม่ใช่ ถูกปล่อยปละละเลย   ไม่ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง

ค่านิยมบางประการของคนไทย  ค่านิยมในสังคมไทยบางประการ ส่งผลต่อการะทำของบุคคลในสังคม พบว่า ค่านิยมในสังคมไทยที่เอื้อต่อการคอรัปชั่น ได้แก่ การถือเอาความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเครื่องตัดสินการให้คุณให้โทษคนอื่น ค่านิยมศักดินา ที่นำไปสู่การจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาโดยขาดเหตุผล การเคารพผู้อาวุโสกว่าโดยไม่มีข้อแม้  การถืออำนาจที่ถือว่าผู้ใต้บัคับบัญชาเป็นเพียงผู้รับคำสั่งนำไปปฏิบัติ การยกย่องเงินตรา การยกย่องอำนาจ รักพวกรักพ้อง อภัยกันง่าย  นิยมวัตถุสิ่งของ  รักความสนุกสนาน ขาดระเบียบวินัย  ลืมง่าย นิยมบุคคลมากกว่าอุดมการ เหล่านี้ เป็นต้น

      ขอย้ำว่า ลักษณะของคนไทยและสังคมไทยดังกล่าวนี้ เป็นแต่เพียงบอกว่าเป็นลักษณะที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่น แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยทุกคนจะคอร์รัปชั่น และหากประสงค์จะแก้ปัญการคอร์รัปชั่น อย่างจริง  จะต้องเริ่มด้วยการแก้ลักษณะต่างๆของสังคมและคนไทยตามที่กล่าวมานี้
                                        -----------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

                                        อย่าทำตัวฉลาดหรือรู้มากกว่าผู้ที่อยู่ด้วยกัน

                                                                   Lord Chesterfield
                                                         --------------------------------

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

กฎหมายกับการคอร์รัปชั่น

กฎหมายคอร์รัปชั่นในสังคมไทย มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง  ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวง บทพระไอยการอาญาหลวง ซึ่งเป็นบทลงโทษข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ  เป็นกฎหมายเื่พื่อการควบคุมความประพฤติของข้าราชการสมัยในนั้น โดยเฉพาะข้าราชการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆในหัวเมือง บทพระไอยการอาญาหลวง มีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ ตัดมือตัดเท้า เอามะพร้าวห้าวยัดปาก เป็นต้น

หลังจากนั้นกฎหมายเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนทางสังคม
 
แต่การคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน กลับมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น และไม่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่คอร์รัปชั่น นักการเมืองผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้แทนปวงชน เมื่อมีอำนาจก็คอร์รัปชั่นไม่น้อยกว่ากัน อาจแตกต่างในเรื่องวิธีการและจำนวนทรัพย์สินที่รัฐต้องสูญเสียไป

กฎหมายจะธำรงความยุติธรรม เที่ยงตรง มีความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่เพียงใด  ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้  หากกฎหมายถูกพลิกแพลงบิดพริ้ว ด้วยอคติ ด้วยเจตนาทุจริต กฎหมายก็จะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง  กลับกลายเป็นพิษเป็นภัยต่อทรัพย์สินของรัฐได้

สำหรับสาเหตุทางกฎหมายในยุคปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น อาจแบ่งได้ ดังนี้

กฎหมายให้ประโยชน์แก่จำเลยมากไป  ตามหลักกฎหมายทางอาญา การกล่าวโทษผู้ใดทุจริตคอร์รัปชั่น โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์อย่างชัดแจ้ง  เพราะหลักการสำคัญในทางคดีอาญา   มีอยู่ว่า  กรณีใดก็ตามที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ หรือคลุมเครือ ให้ยกประโยชน์แก่จำเลย หรือ ปล่อยคนผิดสักสิบคนดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว และการพิสูจน์ในเรื่องคอร์รัปชั่นทำได้ยากมาก เพราะไม่มีใบเสร็จ จึงไม่มีใครอยากเสี่ยงเป็นโจทก์  เพราะดีไม่ดีอาจถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย

กฎหมายมีบทลงโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ เกิดความสมดุลย์ในตัวบทกฎหมายเอง คือหากมีการให้สินบน ผู้ให้สินบนก็ผิดเช่นเดียวกับผู้รับสินบน ผู้ให้สินบนจึงจำเป็นต้องปกปิด ทำให้หลักฐานซึ่งหายากอยู่แล้ว
กลับยากยิ่งขึ้น

กฎเกณฑ์บางอย่างเป็นเครื่องอำนวยให้เกิดคอร์รัปชั่น การคอร์รัปชั่นบางอย่างหาผู้เสียหายไม่ได้ เช่นกรณีของผู้รับเหมาก่อสร้าง กับผู้อนุญาตสมคบกันคอร์รัปชั่นเงินค่าก่อสร้าง  เจ้าของเงินคือรัฐจะร้องทุกข์เองไม่ได้ คดีทุจริตจึงไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีผู้เสียหาย

การตัดสินคดีคอร์รัปชั่นมีความยุ่งยากซับซ้อน  ทำให้เป็นผลดีแก่ผู้คอร์รัปชั่น ในการพิจารณาตัดสินทั้งในทางคดีอาญาและทางวินัย ทั้งสองกรณีมักต้องการประจักษ์พยาน  จะต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน คดีคอร์รัปชั่นจึงฟ้องร้องได้ยาก เพราะแทบจะไม่มีการคอร์รัปชั่นใดที่มีผู้รู้เห็นถึงสองคน ยิ่งกว่านั้นในการพิจารณาของศาล ยังนิยมที่จะสืบหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด  เพื่อความยุติธรรม จึงเป็นการยากที่พยานบุคคลจะจำเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียด

จะเห็นว่าการจะลงโทษทางวินัย หรือทางอาญากับข้าราชการหรือนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นจึงแพร่หลาย กระจายอย่างกว้างขวาง เป็นเสมือนโรคร้ายทำลายบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะนัการเมือง  ขนาดศาลตัดสินว่าทุจริต ยังกล่าวหาว่าเป็นศาลมิ๊กกี้เม้าส์ ไม่มีความยุติธรรม หรือพยามอธิบายว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่ทำในสิ่งที่กฎมายห้าม  เฉไฉไปจนได้
                                                 -------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หมายถึง สถานการณ์ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งสาธารณะ มีผลประโยชน์ส่วนตัว อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อิทธิพลทางการเมือง
                                                      --------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

นักการเมืองคอร์รัปชั่นกันอย่างไร?

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475  ระยะแรกๆ อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของคณะราษฎร์  สับเปลียนกันปกครองบ้านเมือง ต่อมา ก็มีทหารที่ได้อำนาจมาด้วยการทำรัฐประหาร สลับกับพลเรือนซึ่งเป็นอดีตข้าราชการบ้าง  ขึ้นมามีอำนาจ แต่อาจกล่าวได้ว่าอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่อยู่ในมือทหาร จนถึงปัจจุบันอำนาจทางการเมืองได้ตกอยู่ในมือของนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่

ถามว่านักการเมืองที่เป็นทหาร  มีการคอรัปชั่นหรือไม่ คำตอบคือว่ามี  แต่มีขนาดของการคอร์รัปชั่นไม่เท่า ในยุคที่นักธุรกิจมีอำนาจ  คอร์รัปชั่นของรัฐบาลทหารส่วนใหญ่ เป็นการกินหัวคิว จากสัมปทานและงบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลเป็นหลัก  เป็นการแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทหารกับนักธุรกิจ ส่วนในยุคที่นักธุกิจมีอำนาจทางการเมือง  การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่าง กว้างขวาง  ซับซ้อน  และมีหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นระบบและและกินตามน้ำเล็กๆน้อยๆ  ในลักษณะที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ  โดยเริ่มตั้งแต่ระดมทุนตั้งพรรคการเมือง ซื้อเสียงเลือกตั้ง พยายามคุมอำนาจนิติบัญญัติ องค์การอิสระ และระบบราชการ แบบเบ็ดเสร็จ

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์  ได้สรุปว่าการคอร์รัปชั่นในยุคปัจจุบัน ที่นักธุรกิจมีอำนาจทางการเมือง  มีลักษณะที่สำคัญๆ 15 ประการ กล่าวคือ

          1. การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยสร้างความขาดแคลนเทียม เช่นการขาดแคลนนำ้ตาล

          2. เคลพโตเครซี  (Kleptocracy) ซึงเป็นระบบการปกครองที่ผู้ปกครองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  มุ่งแสวงหาอำนาจและเข้าครอบครองกลไกรัฐ  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัว เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

          3. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน  เป็นสถานการณ์ที่นักการเมืองผู้มีอำนาจหน้าที่ มีผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อิทธิพลทางการเมือง

          4. การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์  โดยการปั่นราคาหุ้นของตัวเอง

          5. ปกปิดการบริหารที่ไม่ถูกต้อง  การปกปิดข้อมูล และให้การเท็จ เช่นการทุจริตลำไยและกล้ายาง

          6. การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ อย่างมีอคติลำเอียง เช่น กรณี CTX และการตรวจสอบคุณภาพข้าว

          7. การใช้อิทธิพลทางการค้า จากการค้าต่างตอบแทน การแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศคู่ค้า

          8. การใช้ทรัพยากรของรัฐ ไปในทางมิชอบ ตลอดจน การใช้กองทุนของรัฐเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น การใช้ธนาคารของรัฐในโครงการประชานิยม

          9. ไม่กระทำการด้วยตนเอง แต่ใช้พรรคพวกทำการแทน เช่น การจัดฮั้วประมูล

         10. การให้และรับสินบน การขู่เข็ญบังคับตลอดจนให้สิ่งล่อใจ เช่น สั่งการให้ข้าราชการทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสัญญาว่าจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นการตอบแทน

         11. การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น เช็คของขวัญและสินบนมูลค่าสูง

         12. ผู้บริหารประเทศทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของประเทศ โดยการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อการสนับสนุนของประชาชน  เป็นการซื้อความนิยมจากประชาชน

         13.ใช้อำนาจตำรวจ ทหาร และข้าราชการ ในทางที่ผิด เช่น ขุ่มขู่คุกคามและทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัว ในกรณีการชุมนุมประท้วงต่างๆ

         14. ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง และทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ

         15. บริจาคหรือช่วยเหลือการรณรงค์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การบริจาคแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้มีอิทธิพลต่อการออกกำหมายหรือการกำหนดนโยบาย

ขอย้ำว่าการคอร์รัปชั่นนั้น ไม่จำเป็นจะต้องไ้ด้รับเป็นเงินอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการรับผลตอบแทนอย่างอื่นด้วย
 
ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในยุคที่นักธุกิจมีอำนาจทางการเมือง เป็นการคอร์รัปชั่น ที่สลับซับซ้อน ยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้  และมีลักษณะที่บูรณาการทั้งวิธีการและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
                                        ---------------------------------------
                                                          สาระคิด
ตราบใดที่ประชาชนยังไม่รู้เท่าทันนักการเมือง   การด่านักการเมืองที่คอร์รัปชั่นก็ไม่เกิดประโยชน์
                        แต่อย่างใด เพรามีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาปกป้อง
                                               -------------------------




วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น:สาเหตุจากระบบราชการ

ระบบราชการ หมายถึง  กลุ่มของระบบการทำงานหลายๆระบบ ที่มีลักษณะประสานกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ โดยมีการสั่งการตามลำดับขั้นของการบังคับบัญชา

ในแง่ของการคอร์รัปชั่น ระบบราชการไทยอาจเอื้อต่อการคอรัปชั่นในลักษณะต่อไปนี้

การรวบอำนาจไว้ส่วนกลาง  โดยภาพรวม  ประเทศไทยมีระบอบการปกครอง  ที่รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง จริงอยู่ในระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  แต่ในทางปฏิบัติ  การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ส่งมาจากส่วนกลางไปปกครองจังหวัดต่างๆ  ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีอำนาจมาก  มากจนประชาชนในท้องถิ่นไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้  จนทำให้เกิดระบบที่ทุจริตคอร์รัปชั่นในที่สุด

การขาดดุลย์อำนาจที่ถูกต้อง  แต่ละหน่วยงานในระบบราชการ  ไม่สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกัน ข้าราชการชั้นผู้น้อย มีผู้บังคับบัญชา  ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงหัวหน้าหน่วยงาน  คอยควบคุมตรวจสอบ แต่ผู้บริหารดังกล่าว ไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดคอยตรวจสอบ นอกเหนือผู้บังคับบัญชาที่อยู่ระดับสูงขึ้นไป  ซึ่งหมายถึงว่าข้าราชการชั้นผู้น้อย  ไม่สามารถตรวจสอบผู้บังคับบัญชาได้ เป็นการจรวจสอบทางเดียว ระบบดังกล่าวทำให้เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมาก

มีระบบการทำงานที่ล่าช้า   เนื่องจากข้าราชการในชั้นต้นๆ มีแต่หน้าที่  แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ  การติดต่อกับราชการบางเรื่อง ต้องผ่านบุคคลหลายฝ่าย หลายโต๊ะ  จึงจะเสร็จเรียบร้อย ทำให้เกิดความล่าช้า ประชาชนบางคนที่ต้องการความรวดเร็ว จึงได้ติดสินบน เสียค่าบริการ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  มีผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นในระบบราชการตามมา

มีระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติในระบบราชการ  การพิจารณาความดีความชอบ  การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง  จะพิจารณาจากคนใกล้ชิด  โดยไม่ได้พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ และความรับผิดชอบในการทำงาน  จึงทำให้ข้าราชการที่หวังความก้าวหน้า  แทนที่จะแข่งขันกันด้วยการทำงาน แต่แข่งขันชิงดีกันด้วยการประจบสอพลอ  หาสิ่งของมาบำรุงบำเรอเจ้านาย  สิ่งของยิ่งมีราคาแพงเท่าไรเจ้านายยิ่งชอบมากขึ้นเท่านั้น  บางครั้ง มีการซื้อขายตำแหน่งในราคาแพงๆ  ซึ่งแน่นอนว่าเงินเหล่านั้น ย่อมได้มาโดยวิธีการที่มิชอบ ทั้งนี้  เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า  ข้าราชการมีเงินเดือนน้อยแทบไม่พอกับการดำรงชีพ

สาเหตุดังกล่าวนี้ มีผลทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ  และบางยุคบางสมัยสาเหตุเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง
                       --------------------------------------------------------------
                                                                 สาระคิด

                                        ทุกคนขอบอำนาจ  ถึงแม้จะใช้ไม่เป็น

                                                                    Disraelli
                                                 -----------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

การเมืองกับการคอร์รัปชั่น

การเมือง  เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของอำนาจ การแสวงหาอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ และการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  การเมืองเป็นกระบวนการของอำนาจ  ซึ่งมีอิทธิพลเหนือความคิดเห็น และพฤติกรรมของคนอื่น ส่งผลให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ระบอบการเมืองที่รู้จักกันทั่วไป คือระบอบการเมืองแบบเผด็จการ และระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย
ระบอบเผด็จการได้อำนาจมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร  ส่วนระบอบประชาธิปไตยได้อำนาจมาโดยคนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนดผู้ปกครองและนโยบายของรัฐบาล  โดยผ่านการเลือกตั้ง

นักการเมืองทั้งระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยของไทย  ล้วนแต่มีข้อครหาว่ามีการคอร์รัปชั่น เพียงแต่นักการเมืองที่มาจากการทำรัฐประหาร  มีการคอร์รัปชั่นไม่กว้างขวางเท่านัการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พอสรุปได้ดังนี้

 ความมีอำนาจ    ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา นักการเมืองมีอำนามากมาย ไม่มีขอบเขต        มีอำนาจเหนือข้าราชการประจำ พ่อค้าและประชาชน  เป็นเหตุให้นักการเมืองใช้อำนาจในทางทุจริต   เพื่อประโยชน์ตนเองและพรรคพวก  จึงพบเสมอว่านักการเมืองไทย  นับตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จนถึงนายกรัฐมนตรีมีการทุจริตคอร์รัปชั่น

 ความไม่แน่นอนของการเมือง     ประชาธิปไตยไทยได้มาจากการปฏิวัติของคณะราษฎร์  หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติรัฐประหารเรื่อยมา  รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน  จะถูกรัฐประหาร  ส่วนพวกที่ทำรัฐประหารก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกรัฐประหารซ้ำอีกเมื่อไร  จึงใช้อิทธิพลต่างๆนานา เพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนทางการเมือง  ทำให้นัการเมืองเป็นนักฉวยโอกาส หาประโยชน์ใส่ตน  อย่างไรก็ตาม  ในระยะหลัง นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น  จนสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจ     ทำให้การคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น

 พรรคการเมือง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวแล้ว พรรคการเมืองเกิดง่ายตายง่าย ที่ยืนยาวอยู่ได้นานเห็นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นล้มลุกคลุกคลาน  เมื่อมีการยุบพรรคก็ตั้งขึ้นใหม่ การรวมเป็นพรรคการเมือง แทนที่จะรวมกันด้วยอุดมการทางการเมือง   กลับรวมกันด้วยบารมีของหัวหน้าพรรค หากหัวหน้าพรรคไม่มีบารมีก็รวมกันโดยใช้เงิน บางครั้งถึงกับต้องจ่ายเป็นรายเดือนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาในสังกัด  ก็มี จึงทำให้นักการเมืองภักดีกับใครก็ได้ที่มีเงิน    ส่วนผู้ใหญ่ในพรรค  เมื่อมีอำนาจขึ้นมา  ก็กอบโกยทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อดอยากปากแห้ง  ตลอดจนรักษาเสียงสนับสนุนของตนไว้อย่างเหนียวแน่นและยาวนาน   พรรคการเมืองในปัจจุบันจึง อาจจำแนกตามองค์กรทางธุรกิจได้เป็น พรรคแบบบริษัทจำกัด   เป็นพรรคที่ร่วมทุนกันหลายคน      อำนาจมากน้อยขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ลงไป พรรคแบบสหกรณ์ เป็นพรรคที่ไม่มีนายทุนเฉพาะ     อำนาจอยู่ที่กรรมการบริหาร  และ พรรคส่วนตัว  เจ้าของพรรคมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนพรรคแบบไหนจะคอร์รัปชั่นมากกว่าก้น ก็คงหาคำตอบได้เอง

  การทุจริตในการเลือกตั้ง    ต้องยอมรับความจริงว่าการเลือกตั้งในบ้านเรามีการทุจริต โดยเฉพาะการซื้อเสียง ใช้เงินในการเลือกตั้งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด  เมื่อได้รับการเลือกตั้งจึงต้องหา   ทางถอนทุนคืน และเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป  ประกอบกับในการเลือกตั้งต้องอาศัย   นักธุรกิจ  พ่อค้า หรือบุคคลผู้มีอิทธิพล เมื่อได้อำนาจรัฐ จึงต้องปล่อยหรือเอื้อบุคคลที่สนับสนุน   กระทำการทุจริตเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ

นักการเมืองไทยกับการคอร์รัปชั่นจึงกลายเป็นของคู่กัน  และมีการกระทำที่ซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น
                                           -----------------------------------------

                                                          สาระคิด

                                               กินทวนน้ำ หรือกินตามน้ำ
     ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือ พรรคพวกตัวเอง  ก็คอร์รัปชั่น

                                                                อานันท์ ปันยารชุน
                                                    --------------------------------

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น:สาเหตุทางเศรษฐกิจ

การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยมีสาเหตุหลากหลาย  แต่ละสาเหตุมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  เศรษฐกิจก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณา  สังคมไทยเป็นสังคมที่คนในสังคม มีสถานะภาพทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก คือ คนมีเงินก็ร่ำรวยอย่างมหาศาล มีความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย

ประกอบกับคนไทยมีค่านิยมชอบหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว จึงมีการแข่งขันกันในทีว่าใครหรูหรากว่าใคร  ใครมีของใช้ดีกว่า แพงกว่า ยี่ห้อจากต่างประเทศดีกว่า  ส่วนคนจนนั้นก็ยากจนเสียจนไม่มีอาหารเพียงพอที่จะกินสามมื้อ ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น

คนจนจึงต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาเลี้ยงชีพ  มีของใช้เทียมหน้าเทียมตาคนอื่นเขาบ้าง  แม้ไม่มีเงินก็พยายามแสดงตนว่าเป็นผู้มีเงิน เพราะคนมีเงินเป็นผู้มีเกียรติตามทัศนะทางสังคม  ไม่ว่าเงินนั้นจะได้มาโดยวิธีใด
 
ฉะนั้น ข้าราชการจึงคอร์รัปชั่น เพื่อจะได้มีเงินพอกับการดำรงชีพ จะได้เป็นผู้มีเกียรติเป็นที่ยอมรับของสังคม
 
หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า สาเหตที่ทำให้ต้องคอรัปชั่น จำแนกได้ดังนี้

ข้าราชการมีเงินเดือนน้อย ไม่เพียงกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ  ยิ่งยุคนี้กล่าวกันว่าแพงทั้งแผ่นดิน  ความจำเป็นจะต้องเลี้ยงครอบครัว ทำให้ข้าราชการต้องคอร์รัปชั่น เพื่อไม่อดตาย สามารถดำรงความเป็นผู้มีเกียรติในสังคมอยู่ได้

มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว  เวลาเป็นเงินเป็นทอง ผู้ที่มาติดต่อทางราชการ  ต้องการความรวดเร็ว ทำให้มีการมีการให้รางวัล หรือติดสินบน หรือค่าน้ำร้อนน้ำชา แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  ที่ให้บริการ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว  แต่ทรัพยากรและการให้บริการมีจำกัด จึงทำให้เกิดการแก่งแย่ง เพื่อที่จะได้ทรัพยากรหรือบริการนั้น ด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมาย เกิดการคอร์รัปชั่น

การเติบโตของระบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภค  เน้นวัตถุแข่งขันกันมีวัตถุและสิ่งฟุ่มเฟือย สร้างนิสัยการอยากได้อยากมี  เมื่อรายได้ไม่เพียงพอ ก็หาทางใช้อำนาจไปในทางทุจริต

โดยสรุป   การคอร์รัปชั่นเกิดจากการมีเงินไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และการดำรงตนอย่างผู้มีเกียรติในสังคมทุนนิยม

โดยสรุป  ในท                -------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                การที่มนุษย์จะมีความสุขหรือมีความทุกข์  ก็แล้วแต่การกระทำของมนุษย์นั่นเอง

                                                                                       พุทธทาสภิกขุ
                                                               -----------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

รัฐธรรมนูญ 2550กับความพยายามแก้ปัญหาสภาผัวเมีย

จากพฤติกรรมของสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งที่มาจาการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทำให้วุฒิสภากลายเป็น"สภาทาส" "สภาผัวเมีย" และ"สภาผู้แทนสาขา 2"

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งได้ร่างขึ้นมาใหม่ พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน แทนการเลือกตั้งทั้งหมด และได้กำหนดเงื่อนไขในมาตราต่างๆไว้ดังนี้

มาตรา 115 (5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
                   (6)ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่ง และพ้นจากกสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆในพรรคการเมืองมาแล้วไม่เกินห้าปีถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
                   (9)ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองอื่นซึ่งมิใช่สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็น แต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี

มาตรา 116 (วรรคสอง) บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้

มาตรา  117 (วรรคสอง) สมาชิกภาพของวุฒิสภามีกำหนดคราวละ หกปี โดยสมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้

มาตราเหล่านี้ตราขึ้น  เพื่อป้องกันไม่ให้วุฒิสภากลายเป็น สภาผัวเมีย สภาทาส หรือ สภาผู้แทนสาขา 2 เหมือนในอดีต  แต่ก็มีบ้างที่สมาชิกบางคนที่มาจาการเลือกตั้ง ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่โจ่งแจ้งเหมือนวุฒิสมาชิกที่ผ่านมา โดยพยายามทำตัวเป็นนักประชาธิปไตยและนักปรองดอง  แต่มีเหมือนกันที่เผยธาตุแท้ออกมาในบางครั้ง

ที่เชื่อกันว่า  ในระบอบประชาธิปไตยตำแหน่งต่างๆจะต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน เห็นจะไม่จริง เพราะประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ ประเทศคอมมิวนิสม์ หรือสังคมนิยมก็อ้างว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยเหมือนกัน

ในทำนองเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภาหลายประเทศก็ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง ส่วนจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำหนดให้สมาชิกมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน หลายประเทศที่มีการแต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่เพียงแค่กลั่นกรองกฎหมาย
 
จึงไม่จำเป็นว่าทุกตำแหน่งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลของการเมืองไทย  นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตามจากความพยายามที่จะแก้ไขมาตราต่างๆดังกล่าวของสมาชิก  ทราบว่าบัดนี้ความพยายามของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ประสบความสำเร็จ  โดยมีสมาชิกรัฐสภา ออกเสียงเห็นชอบให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว ด้วยคะแนน 316 ต่อ 3 เสียง

ซึ่งหมายถึงว่า  การสมัครสมาชิกวุฒิสภาได้เปิดกว้าง ต่อไปนี้ คู่สมรส บุพการี หรือเครือญาติ  รวมทั้งส.สและ.ส.วไม่ต้องเว้นวรรค สามารถสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันได้เลย

ส่วนวุฒิสภา จะกลับมาเป็นสภาผัวเมีย สภาทาส หรือสภาผู้แทนสาขา 2 อีกหรือไม่ ต้องดูว่าวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้น ทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ชาติ ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป
                                         -------------------------------------------------------
                                                                              สาระคำ
               ถ้าเกิดมาเพื่อเบียดเบียนกัน  มันก็เลวร้ายกว่าโลกสัตว์เดรัจฉาน  ซึ่งเบียดเบียนกันน้อยที่สุด                                                                   ถ้าไม่จำเป็นมันก็ไม่กัดกัน

                                                                                                พุทธทาสภิกขุ
                                                            ----------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น:กรณีตัวอย่างจากอดีต

กรณีต่อไปนี้ เป็นการคอร์รัปชั่นที่ทราบทั่วไปในอดีต  เป็นข่าวที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นแทบทุกฉบับ เป็นการคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดเผยให้ประชาชนทราบ
 
ตัวอย่างการคอร์รัชั่นต่อไปนี้  เป็นสิ่งที่บอกให้ทราบว่า  การคอร์รัปชั่นในวงราชการไทยนั้น  มีอยู่ในทุกวงการและเป็นคนในทุกระดับ

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับป่าไม้  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการ (ป.ป.ป.)ในสมัยนั้น ได้พิจารณาสอบสวนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรในฐานะที่มีมลทินมัวหมอง เกี่ยวกับคดีรับมอบไม้สักของกลาง 9,625 ท่อน ที่อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก แล้วขายไม้สักที่จับกุมมาได้ให้กับผู้ต้องหา ได้มีมติปลดออกจากราชการโดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ  แต่อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง มีมติกลับให้ออกจากราชการโดยได้รับบำเหน็จบำนาญ  เพราะมีหลักฐานต่างกัน มีความผิดไม่ชัดแจ้ง คลุมเครือ จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

คอร์รัปชั่นด้วยการสร้างหลักฐานเท็จ  อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย (สมัยนั้นกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทย)  ได้มีคำสั่งปลดอดีตผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ และตำรวจชั้นสารวัตรออกจากราชการฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากทุจริตโดยสร้างหลักฐานเท็จ เบิกเงินนำจับสินค้าเถื่อน 990,000บาท  ความปรากฎขึ้นเพราะไม่แบ่งเงินให้ลูกน้อง

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับเหมืองแร่  ป.ป.ป. ได้ทำการสอบสวนการทุจจริตและความผิดของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เกี่ยวพันกับการทุจริตสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกภาคใต้ มูลค่านับล้านบาท ผลปรากฎว่า มีอดีตนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประมาณ 10 คนพัวพันกับการทุจริตครั้งนั้น

คอร์รัปชั่นการเกณฑ์ทหาร  จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้มีคำสั่งให้จำคุกข้าราชการมหาดไทยและนายทหารรวม 33 คน ในข้อหาสมคบกันทุจริตการเกณฑ์ทหาร โดยให้จำคุกตั้งแต่ 7 ถึง 25 ปี ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้ มีตั้งแต่ปลัดจังหวัด สาธารณะสุขจังหวัด นายอำเภอ และผู้ชัวยสัสดีอำเภอ

คอร์รัปชั่นในการประปานครหลวง สหภาพแรงงานการประปานครหลวง ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่าได้พบหลักฐานการทุจริตนับ1000 ล้าน โดยทำบัญชีเท็จว่า  การประปานตรหลวงมีกำไร หวังจะกู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย จำนวน 4,200 ล้านบาท  ทั้งๆที่ปีนั้น การประปานครหลวงขาดทุนถึง 86 ล้านบาท

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับน้ำมัน บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง จ่ายซองขาวให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นรายเดือน เพื่อสะดวกในการทำผิดเงื่อนไขสัญญา ทำให้บริษัทน้ำมันโกยเงินออกนอกประเทศได้ถึงปีละ 200ล้านบาท

คอร์รัปชั่นการเลือกตั้ง มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ได้จัดอันดับ 10 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยอดทราม เนื่องจากทุจริตคดโกงการเลือกตั้ง และมีความประพฤติส่วนตัวไม่สุจริต ซึ่ง นักการเมืองทั้งสิบคนแย้งว่า เป็นความเห็นของหนังสือพิมพ์  แต่ไม่มีนักการเมืองคนใดในสิบคนนั้นฟ้องหนังสือพิมพ์ในข้อหาหมิ่นประมาทเลย

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของกรณีคอร์รัปชั่น ทั้งข้าราชการและนักการเมือง จะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นในวงการรัฐบาลนั้น  มีมานาน และมีทุกวงการ   เหตุนี้กระมังในสมัยนี้ เมื่อมีการ กล่าวหาว่าทุจริต และหาเหตุผลแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้   ผู้ถูกกล่าวจึงมักจะพูดว่า ใครๆก็ทุจริต หรือผลโพลล์ที่ระบุว่า ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เป็นไร ถ้าเอามาแบ่งกัน ซึ่งเป็นผลโพลล์ที่น่ากลัวมากๆ
                                 -------------------------------------------------

                                                          สาระคำ

ป.ป.ป.= คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในวงราชการ (ปัจจุบันได้ยุบเลิกไปแล้ว)
ป.ป.ช.= คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป้องกันและปราบปรามนักการเมืองและข้าราชการตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไป)
ป.ป.ท.= คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  สังกัดกระทรวงยุติธรรม (ป้องกันและปราบปรามข้าราชการต่ำ่กว่าผู้อำนวยการกอง)
                                                 ---------------------------