วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนา

คำว่า "การพัฒนา" เป็นคำที่มีการใช้อย่างกว้างขวาง แต่มีความหมายแตกต่างกันไปหลายอย่าง บางประเทศ หมายถึง การทำให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม บางประเทศ หมายถึง การประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ บางประเทศ หมายถึง ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่บางประเทศ หมายถึง การจับบุคคลที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมและการเมืองไปกักขังไว้

ส่วนนักวิชาการก็ให้ความหมายแตกต่างกันไปเช่นกัน กล่าวคือ

นักสังคมวิทยา มีแนวโน้มที่จะคิดว่า การพัฒนาหมายถึง กระบวนการที่นำประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยเน้นการปรับปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถาบันทางสังคมและการเมือง

นักเศรษฐศาสตร์ ใช้ความหมายของการพัฒนา ไปในแง่ความเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ อันหมายรวมถึง การออม การลงทุน รายได้ประชาชาติ การผลิต และดุลชำระเงิน

นักการศึกษา การพัฒนา หมายถึง การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการให้บุคคลรับข้อมูลใหม่ มีทักษะใหม่ ตลอดจน มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวิถีการดำเนินชีวิต

จากความหมายทั้งหมดสรุปได้ว่า การพัฒนา คือ กระบวนการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของบุคคลและสังคมอย่างมีเป้าหมาย

องค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาประกอบด้วย

          1. ความสามารถในการยังชีพ  เป็นความสามารถในการจัดหาความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ได้เพียงพอ

          2. การนับถือตนเอง หมายถึง ความรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความหมาย การนับถือตนเอง เป็นลักษณะของผู้ที่ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนอื่น เพื่อประโยชน์ของเขา

          3. เสรีภาพ หมายถึง การมีอิสระจากความเป็นทาส มีความสามารถในการที่จะเลือก  ไม่ตกเป็นทาสของเงื่อนไขทางสังคม อิสระจากความเป็นทาสของธรรมชาติ ความไม่รู้ ความหายนะ และความเชื่อที่ผิดๆ  ตลอดจนอิสระจากความเป็นทาสของคนอื่น

การพัฒนาเป็นการกระทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี การพัฒนาเป็นกระบวนการร่วมกัน ระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสถาบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า โดยมีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

               1. เพื่อเพิ่มการมีคุณค่าของชีวิตมนุษย์  มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

               2. เพื่อเพิ่มการมีเครื่องยังชีพอย่างกว้างขวาง อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และการป้องกันรักษา

               3. เพื่อยกระดับการครองชีพให้สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการมีรายได้สูง มีงานทำมากขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น ให้ความสนใจในคุณค่าของความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะสร้างความนับถือตนเองอีกด้วย

               4. เพื่อขยายทางเลือกทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล  โดยปลดปล่อยให้พ้นจากความเป็นทาสและการพึ่งพิง เป็นอิสระจากบุคคลอื่น ชาติอื่น ตลอดจน ความไม่รู้และความหายนะทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม  ทิศทางของการพัฒนา เป้าหมายของการพัฒนา ตลอดการมีชีวิตที่ดี จะเกี่ยวข้องกับค่านิยมของแต่ละสังคมที่จะกำหนด จุดมุ่งหมายของการพัฒนาในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด

จะเห็นว่า แม้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนา  แต่ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบเดียว การพัฒนาเป็นกระบวนการหลายมิติ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ทัศนคติของประชาชน และสถาบันของชาติ เพื่อต่อสู้กับความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

              --------------------------------------------------------------------------
                                                      สาระคำ

         การผัดวันประกันพรุ่ง คือการเลื่อนการปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ
                                      ---------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ลักษณะสำคัญของพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยนับถือศาสนาพุทธมานาน ประวัติของชาติไทยคือประวัติของชาติที่นับถือศาสนาพุทธ วิถีชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การประพฤติปฏิบัติ ฯลฯ จะผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สังเกตได้จากพิธีกรรมและความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของชีวิต แต่มีน้อยนักที่ตอบได้ว่าพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างไร

จากการศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนาของนักวิชาการอย่างจริงจัง ได้ข้อสรุปว่า พุทธศาสนามีลักษณะสำคัญดังนี้

          1. ศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม คือ ไม่เชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การจะเชื่อถือสิ่งใดต้องพิสูจน์ พิจารณาตามเหตุผลเสียก่อน การนับถือพุทธศานาจะต้องมีศรัทธาประกอบ เป็นศรัทธาที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่มีเหตุผล

          2. ศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นอเทวนิยม คือ ไม่เชื่อว่าเทพเจ้าจะมีอำนาจเหนือการกระทำของมนุษย์ แต่เชื่อว่ามนุษย์เป็นใหญ่ในตัวเอง กุมชะตาชีวิตของตนเอง มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้

          3. ศาสนาพุทธมีลักษณะเป็มนุษยนิยม คือ เชื่อว่าสุขทุกข์ของมนุษย์ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คุณค่าของมนุษย์มีเท่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์สามารถจะเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง

          4. ศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นปฏิบัตินิยม คือ เชื่อว่าแนวคิดหรือทฤษฎีที่มีประโยชน์จะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ ไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤกษ์ยาม ความสำเร็จหรือความสมหวังต่างๆ เกิดจากการปฏิบัติตน

          5. ศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือ เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ มนุษย์มีศักดิ์ศรี ในการอยู่ร่วมกันจะต้องมีคารวะธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม

          6. ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน เป็นศาสนาแห่งการฝึกอบรมตน คำสอนของพุทธศาสนาถูกประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาตน โดยพัฒนาทั้งกายและจิต ตลอดจนสอนและเน้นในเรื่องการพึ่งตนเอง รู้จักทำตนให้มีคุณภาพ

 ทั้งหมดเป็นลักษณะสำคัญทางพุทธศาสนา ที่อาจจะเริ่มลางเลือนไปบ้าง จนบางครั้งวงการศาสนาถูกครอบงำจากความคิดแบบทุนนิยม เน้นการสร้างวัตถุแทนการพัฒนาทางด้านจิตใจ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พุทธศาสนิกชน

ในโอกาสวันมาฆบูชา จึงอยากเสนอลักษณะสำคัญดังกล่าวมานี้ เพื่อให้ชาวพุทธอันประกอบด้วยภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ได้ทบทวนความเป็นมาและความเป็นไปของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ว่าที่ผ่านมาชาวพุทธได้ปฏิบติตามหลักสำคัญทางพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่พุทธศาสนาจะเสื่อมสลายไปจากประเทศไทย 
                    ---------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                        ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
                                                                 พุทธสุภาษิต
                         -----------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ภาวะหมดไฟของคนทำงาน

ภาวะหมดไฟ (burn out) เป็นภาวะการขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน เริ่มด้วยมีอาการเตือน เช่น รู้สึกคับข้องใจ ระเบิดทางอารมณ์ ถอยหนี มีปัญหาทางสุขภาพ รู้สึกแปลกแยก  การทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน  มีการใช้ยาตลอดเวลา ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เหล่านี้ เป็นต้น

ภาวะหมดไฟ ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยทางกาย หรือเป็นโรคประสาท แม้จะมีผลกระทบทางกายและทางจิตก็ตาม เป็นแต่เพียงไม่สามารถทำให้เกิดความสนใจเพียงพอที่จะทำงาน ความจูงใจที่จะทำงานหายไป

ภาวะหมดไฟมีอาการอย่างไร ภาวะหมดไฟจะมีอาการ ดังต่อไปนี้

          1. อารมณ์เชิงลบ คือมีความรู้สึกคับข้องใจ โกรธ กดดัน วิตกกังวล แม้ว่าอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องปกติของคนทำงาน  แต่คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟจะมีอารมณ์ในเชิงลบบ่อยมาก จนเรื้อรัง และจะบ่นถึงความเหนื่อยอ่อนทางอารมณ์อยู่เป็นประจำ

          2. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเหี่ยวแห้งทางอารมณ์ ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทั้งในบ้านและที่ทำงานลำบากมากขึ้น และเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้เป็นเหยื่อของภาวะหมดไฟ  จะมีปฏิกริยาโต้กลับเกินกว่าเหตุ ด้วยการระเบิดทางอารมณ์ หรือทำตัวเป็นศัตรูอย่างจริงจัง ทำให้การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวเพิ่มความลำบาก ผู้เป็นเหยื่อของภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่จะหนีจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ปลีกตัวไปอยู่เงียบๆคนเดียว

          3. ปัญหาสุขภาพ เนื่องจากไม่มีอารมณ์และคุณภาพของความสัมพันธ์เลวลง  ทำให้ความยืดหยุ่นทางกายลดลง เกิดความเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น เป็นหวัด ปวดหัว นอนไม่หลับ  เกิดขึ้นบ่อยๆ จนรู้สึกเหนื่อยและเพลียเป็นประจำ

           4. การปฏิบัติงานลดลง ขณะที่อยู่ในภาวะหมดไฟ บุคคลจะรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่มีความตื่นเต้นกับโครงการต่างๆ ในบางกรณี ถึงกับขาดความมุ่งมั่นในการทำโครงการต่างๆ  ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน  มีคุณภาพของผลผลิตลดลง

          5. ใช้สารที่เป็นโทษ เพื่อแก้ปัญหาความเครียดอันเกิดจากความขัดแย้งในการทำงาน บุคคลจะดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารมากหรือน้อยเกินไป ใช้ยามากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น ตลอดจนดื่มกาแฟมากขึ้น มากจนทำให้เกิดสารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย

          6. ควารู้สึกไร้ความหมาย  เป็นความรู้สึกว่าทำไปทำไม ทำไปก็เท่านั้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรู้สึกของผู้มีภาวะหมดไฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนที่กระตือรือร้นและอุทิศตนเพื่องาน กลายเป็นคนทำงานที่ขาดเป้าหมาย ทำไปวันๆ

ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร สถานะการณ์ในที่ทำงานในลักษณะต่อไปนี้ สนับสนุนให้เกิดภาวะหมดไฟ กล่าวคือ

               1. การวิจารณ์ของเจ้านาย ไม่ว่าจะทำงานหนัก หรือทำงานดีอย่างไร เจ้านายจะมีเรื่องตำหนิอยู่เสมอ

               2. การทำงานมีปัญหาที่แก้ไม่ได้

               3. ขาดการยอมรับ แม้ว่าจะมีผลงานดีอย่างไร ก็ไม่เป็นที่สังเกตของผู้บังคับบัญชา ถึงเวลาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งก็ไม่ได้รับการพิจารณา

               4. คลุมเครือ คือไม่สามารถตอบได้ว่างานที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร อันเนื่องมาจากขาดข้อมูล ข่าวสาร  หรือมีเป้าหมายไม่ชัดเจน

               5. เป็นภาะกิจที่ไม่มีโอกาสจะสิ้นสุด เป็นงานที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด

               6. ไม่มีสถานการณ์ที่จะได้รับชัยชนะ เป็นงานที่ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไร จะต้องมีคนไม่พอใจเสมอ

               7. งานหนักเกินไป ปกติการทำงานหนัก ตัวมันเองไม่ทำให้ขาดแรงจูงใจ ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้  อาจจะเหนื่อยแต่แรงจูงใจยังคงอยู่ แต่หากตนเองรู้สึกว่าทำงานหนักเกินไป จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดภาวะหมดไฟ

ภาวะหมดไฟถ้าไม่มีการแก้ไข อาการเหล่านี้จะขยายจนเกิดอาการกลัวที่จะไปทำงาน และหากเลวร้ายกว่านั้น  ภาวะหมดไฟจะกระจายไปทั่วทุกเรื่องของชีวิต เพราะไม่มีใครที่มีภาวะหมดไฟในที่ทำงาน จะมีพลังและความกระตือรือร้นเมื่ออยูที่บ้าน

จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในการทำงานจะต้องปรับตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้เวลา ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์การ โดยทำงานตามความคิด ความเชื่อ และค่านิยมขององค์การ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความคับข้องใจ ความกดดัน ฯลฯ อันจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟ
                   --------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                   No one can make you feel inferior without your consent.

                                                                         Eleanor Roosevelt
                    ---------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนวทางการปรับปรุงนิสัยการทำงานและการใช้เวลา

หากสามารถปรับปรุงนิสัยการทำงานและการใช้เวลาให้ดีขึ้นได้ จะทำให้บุคคลสามารถปรับปรุงผลิตภาพในการทำงาน และทำให้ชีวิตส่วนตัวให้ดีขึ้น

มีหลายคนที่ถูกไล่ออกจากงาน เพราะมีนิสัยทำงานไม่ดี   มากกว่าถุกไล่ออกเพราะมีทักษะพื้นฐานไม่เพียงพอ

การปรับปรุงนิสัยการทำงานและการใช้เวลาให้ดีขึ้น สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ กล่าวคือ

          1. เอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง


          2. สร้างทัศนคติและค่านิยม ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิต

          3. การพัฒนาทักษะและเทคนิคเฉพาะ ที่นำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการผลิต

นเรื่องของการเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง และการพัฒนาทักษะและเทคนิคเฉพาะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะ เรื่องค่านิยมและทัศนคติที่มีผลต่อการสร้างนิสัยการทำงานและการใช้เวลาที่ดี

สำหรับค่านิยมและทัศนคติที่ช่วยให้บุคคลมีนิสัยการทำงานและการใช้เวลาที่ดี ประกอบด้วย

          1. สร้างเป้าหมายและจริยธรรมการทำงานที่แข็งแกร่ง เพราะการตั้งเป้าหมาย และการพัฒนาจริยธรรมในการทำงานที่แข็งแกร่ง ตลอดจนมีความเชื่อที่มั่นคงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของการทำงาน จะช่วยให้การปฏิบัติงานได้ดีขึ้น

          2. เห็นว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า คนที่เห็นคุณค่าของเวลา จะเป็นคนที่รู้จักใช้เวลาอย่างดี

          3. มีความตั้งใจที่ดีและตรงต่อเวลา  ความตั้งใจที่ดีและการตรงต่อเวลา มีความจำเป็นต่อการสร้างชื่อเสียงที่ดี ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ

          4. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ บุคคลไม่สามารถทำงาน  ตามลำดับความสำคัญของงานที่กำหนดไว้ได้  ถ้าปล่อยให้คนอื่นมายุ่งกับงานที่ทำอยู่โดยไม่จำเป็น

          5. พยายามทำงานให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ การทำงานได้ในปริมาณที่มากแต่เป็นงานที่ไม่มีคุณภาพ ไม่นับว่ามีนิสัยในการทำงานที่ดี เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้ นิสัยการทำงานที่ดี จึงต้องให้ความสำคัญทั้งปริมาณและคุณภาพ

          6. ถามตนเองอยู่เสมอว่า "จะใช้เวลาให้ดีที่ที่สุดได้อย่างไร" เพราะเป็นคำถามที่นำไปสู่การปรับปรุงการใช้เวลา และประสิทธิภาพในการทำงาน

          7. หลีกเลี่ยงลัทธิสมบูรณ์แบบ การพยายามเพื่อความเป็นเลิศเป็นเรื่องที่ดี แต่หากพยายามเพื่อความสมบูรณ์แบบ จะนำความพ่ายแพ้แทนชัยชนะมาสู่ตนเอง

          8. หลีกเลี่ยงการบ้างาน การทำงานจะต้องหลีกเลี่ยงทัศนคติ ที่จะทำงานให้มากเข้าไว้ เพราะเป็นการกระทำที่นำไปสู่ความเครียดและภาวะหมดไฟ ทำลายความสุขของตนเองและผู้อื่น  การรู้จักพักผ่อนที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการตื่นตัว แต่ละคนจึงควรรู้จักกำหนดภาวะสมดุล ระหว่างการทำงานและการพักผ่อน

          9. หลีกเลี่ยงการติดคอมพิวเตอร์  คอมพิวเตอร์ควรใช้เพื่อการทำงาน มากกว่าที่จะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการสันทนาการ อาจมีบ้างในเรื่องหาความเพลิดเพลินจากการใช้คอมพิวเตอร์แต่ไม่ควรใช้ในเวลาทำงาน เพราะจะทำให้เสียงาน

          10. พยายามหาสิ่งที่มาขวางกั้นความคิด นิสัยการทำงานที่ไม่ดีและการไม่รู้จักใช้เวลา บางครั้งเกิดจากปัญหาทางจิตใจ ที่นำไปสู่ปัญหาส่วนตัว การไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัวได้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า  การรู้จักเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง การสร้างค่านิยมและทัศนคติในการทำงานที่ดี ตลอดจน การพัฒนาทักษะและเทคนิคเฉพาะ  เป็นแนวทางที่นำไปสู่นิสัยการทำงานและการใช้เวลาที่ดี เป็นแนวทางที่บุคคลผู้หวังความสำเร็จ หวังความก้าวหน้า จะต้องนำไปถือปฏิบัติ 
                 -----------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

คนที่ไม่นับถือตนเอง จะเป็นคนที่ ชอบประณามคนอื่น ชอบจับผิดคนอื่น ต้องการความสนใจ ขาดเพื่อนสนิท และต้องการที่จะเอาชนะอย่างเดียว แพ้ไม่เป็น
                                       ------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นิสัยที่ทำให้เวลาสูญไปโดยเปล่าประโยชน์

เวลามีจำกัด หากเราไม่รู้จักปรับเปลี่ยนนิสัยต่อไปนี้ ยิ่งจะทำให้ยากที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งนิสัยที่ควรปรับเปลี่ยน ได้แก่

          1. ชอบผัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนการตัดสินใจออกไปบ่อยๆ

          2. พยายามทำงานให้สำเร็จ  ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

          3. ทำงานเพราะเคยทำ ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องทำ

          4. ยอมให้คนอื่นกวนใจ หรือขัดจังหวะโดยไม่จำเป็น

          5. ใช้โทรศัพท์อย่างไร้สาระ

          6. ประชุมทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องประชุม หรือประชุมนานเกินไป

          7. การมอบหมายงานประสบความล้มเหลว

          8. ขาดวินัยเรื่องเวลา

          9. ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญ ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง

          10. รื้องานเอกสารโดยไม่จำเป็น

          11. สังคมมากเกินไป

          12. ขาดสมาธิ ชอบฝันกลางวัน

          13. ขาดความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ

          14. ยืดเวลาพักออกไป

          15. ไม่ปฏิเสธสิ่งที่มาแทรกงานที่ได้จัดลำดับความสำคัญไว้แล้ว

          16. ทำผิดโดยสะเพร่า  ทำให้ต้องทำงานชิ้นนั้นใหม่

          17. มีการสื่อสารที่ขาดประสิทธิผล

          18. ไม่สามารถใช้เครื่องมือช่วยการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่

          19. มีระบบและกรรมวิธีที่ใหญ่เกินไป

          20. ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้เพื่อนร่วมงาน ทำงานในส่วนที่เขารับผิดชอบได้สำเร็จ

นิสัยทั้ง 20 ประการนี้ เป็นนิสัยที่ขะโมยเวลาของเราไป ขอให้สำรวจตัวเองว่าเรามีนิสัยตามข้อใดบ้าง แล้วเลิกนิสัยนั้นเสีย ท่านก็จะมีเวลาเพิ่มขึ้น มากพอที่จะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จชีวิตได้
             ------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

                  คนที่มีโต๊ะทำงานที่ยุ่งเหยิง มีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตที่ยุ่งเหยิง 
                                ---------------------------------------------