วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

ข้อคิดเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา

ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ได้ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า การศึกษาที่ดีกว่าและมีคุณภาพสำหรับทุกคนเท่านั้น ที่จะทำให้ความยากจนหมดไปและทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาเหล่านี้ ไม่อาจจัดการศึกษาในลักษณะที่มากขึ้นแต่เหมือนเดิม( more of the same) ได้อีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อสังคมให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการศึกษามากชึ้น การวิจารณ์การศึกษาในแง่มุมต่างๆจึงเกิดขึ้นตามมา

มีผู้วิจารณ์ว่าการศึกษาสมัยนี้เสื่อมลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งผู้วิจารณ์ประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่มองแต่เรื่องดีๆในอดีต ในช่วงที่ผู้วิจารณ์กำลังเรียนหนังสืออยู่ เช่น วิจารณ์ว่าสมัยก่อนหลักสูตรมีเนื้อหาที่เป็นแก่นสาร ครูทุ่มเทในการสอน ครูมีความสำนึกต่อหน้าที่ ครูเป็นผู้รักษาวินัย และเรียกร้องเรื่องมาตรฐาน นักเรียนเองก็เรียนอย่างจริงจัง ทำงานหนักและมีความรู้ที่แน่นกว่าเด็กสมัยนี้ คำวิจารณ์ลักษณะนี้ตั้งอยู่บนความคิดของคุณภาพที่หยุดนิ่งอยู่กับที่

เป็นความคิดที่ผูกติดอยู่กับมาตรฐาน ซึ่งผู้วิจารณ์ถือว่าเป็นความจริงอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นความคิดที่ผู้วิจารณ์ยึดถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามและถูกต้องทุกสมัย ทุกสถานที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและกฎเกณฑ์ที่ยึดถือมาตั้งแต่ดังเดิมจึงเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาโดยความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน สัมพันธ์ในแง่ของเวลา ผู้เรียน และสถาพแวดล้อม อะไรเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาในฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือไทย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แน่นอนว่าไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันหรือผู้เรียนในคริสต์ศตวรรษที่ 21

การตัดสินว่าระบบการศึกษาใดมีคุณภาพหรือไม่ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าเป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร จึงเป็นความผิดพลาดที่เปรียบเทียบเรื่องคุณภาพการศึกษา ระหว่างระบบการศึกษาของประเทศที่แตกต่างกัน หรือแม้ประเทศเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก็ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้

นอกจากนั้น มักจะเข้าใจผิดว่าการจัดการศึกษามากๆจะเป็นการศึกษาที่แย่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะการศึกษาเพื่อมวลชนย่อมจัดการได้ยากกว่าการจัดการศึกษาเพื่อชนชั้นสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาเพื่อมวลชนจะทำให้มีคุณภาพไม่ได้

การประเมินการปฏิบัติงานของโรงเรียนเช่นกัน มักจะมีแนวโน้มที่จะประเมินปัจจัยภายในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ราวกับว่าโรงเรียนอยู่ในสูญญากาศทางสังคม จริงอยู่ปัจจัยภายในโรงเรียนมีความสำคัญมาก แต่ปัจจัยภายนอกก็มีความสำคัญต่คุณภาพและมาตรฐานของสถาบันการศึกษาเช่นกัน

ปกติปัญหาคุณภาพการศึกษาเกิดจากเหตุเบื้องต้น 2 ประการ คือ

      1. เกิดจากความแข็งตัวของระบบการศึกษา ที่ไม่ปล่อยให้หลักสูตรและเนื้อหาวิชาได้ก้าวหน้า ในขณะที่โลกแห่งความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่รวดเร็ว

      2. เกิดจากการที่ประเทศกำลังพัฒนานำรูปแบบการศึกษามาจากประเทศพัฒนา ซึ่งไม่เหมาะกับความต้องการ สภาพแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศอย่างอย่างแท้จริง

เหล่านี้เป็นสาเหตุเบื้องต้น ที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

นั่นคือ การจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เป็นการศึกษาเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร ไม่ใช่คิดแต่จะลอกเลียนระบบการศึกษาจากประเทศพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ จนนำไปสู่การสูญเปล่าทางการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                           The enemy of the best is often the good.

                                                                           Stephen R.Covey.

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

ทีมงานเพื่อคุณภาพเป็นอย่างไร

การจัดการคุณภาพทั้งองค์การ จำเป็นจะต้องมีการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้เพราะกระบวนการในการปฏิบัติงานไม่ว่าในวงการธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และการศึกษา มีความซับซ้อนอยู่เหนือการควบคุมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงบุคคลเดียว วิธีการที่มีประสิทธิภาพวิธีเดียวที่จะปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น หรือสามารถจะแก้ปัญหาได้ก็โดยอาศัยการทำงานเป็นทีม

การใช้ทีมงานสามารถแก้ปัญหาได้หลายลักษณะ ดังนี้

     1. ปัญหาที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ใหญ่โต เหนือสมรรถนะของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่ง สามารถแก้ไขได้จากการระดมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของทีมงาน

     2. ปัญหาที่ต้องการความหลากหลายของความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และต้องการที่จะแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการได้โดยใช้ทีมงาน

     3. วิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยการทำงานเป็นทีม จะสร้างความพอใจให้กับสมาชิกในทีมมากกว่า และจะสร้างขวัญ สร้างความเป็นเจ้าของ ด้วยการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ

     4. สามารถแก้ปัญหาที่ข้ามแผนก หรือข้ามขอบข่าย หรือข้ามหน้าที่ได้ง่ายขึ้น ความขัดแย้งที่แท้จริงหรือศักยภาพของความขัดแย้ง สามารถระบุได้ง่ายกว่า และสามารถแก้ปัญหาได้

     5. การแนะนำหรือข้อเสนอแนะสามารถนำไปใช้กับทีมงานได้ มากกว่าการแนะนำเป็นรายบุคคล ทำให้คุณภาพในการตัดสินใจในการทำงานมีสูง

อย่างไรก็ตาม ทีมงานที่สามารถทำงานเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ จะต้องเป็นทีมงานที่มีประสิทธิผล

สำหรับทีมงานที่มีประสิทธิผลมีลักษณะดังนี้

     1. เป้าหมาย ทีมงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการสร้างเป้าหมายร่วมกัน และเป้าหมายมีความสำคัญสำหรับแต่ละบุคคลในกลุ่ม

     2. การมีส่วนร่วม ผู้รวมทีมทั้งหมดมีความกระตือรือร้น และรับฟังซึ่งกันและกัน

     3 ความรู้สึก ผู้ร่วมทีมจะต้องมีความรู้สึกอิสระในการแสดงออก และการแสดงออกนั้นจะต้องได้รับการสนองตอบ

     4. ปัญหาของกลุ่ม จะต้องได้รับการวินิจฉัย ได้รับการดูแล และได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ

     5. ความเป็นผู้นำ ผู้นำจะต้องแสดงออก เพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะบางอย่าง

     6. การตัดสินใจ การตัดสินใจของทีมเกิดจากความเห็นพ้องต้องกัน และใช้ความคิดเห็นของทีม เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้ดีขึ้น

     7. ความเชื่อถือ สมาชิกในทีมงานจะต้องเชื่อถือซึ่งกันและกัน สามารถแสดงปฏิกิริยาในทางลบโดยปราศจากความเกรงกลัว

     8. การสร้างสรรค์ ทีมงานจะต้องแสวงหาวิธ๊การใหม่ๆและดีกว่าอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ทีมงานจะมีประสิทธิผลได้จะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และสามารถเข้าไปตวจสอบได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                     Your boss is your customer. Your colleagues are the competition.

                                                                               Richard Templar

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

บ้านแห่งคุณภาพเป็นอย่างไร

บ้านแห่งคุณภาพ( The House of Quality)  เป็นการเปรียบเทียบความคิดรวบยอดและหลักการพื้นฐานที่สัมพันธ์กับคุณภาพทั้งองค์การกับบ้าน ซึ่งโดยปกติบ้านจะต้องมีหลังคา เสา พื้นฐาน และฐานราก ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้ของบ้านมีความแข็งแรงหรือมีคุณภาพ บ้านจะมีคุณภาพด้วย

องค์การที่มีคุณภาพก็เช่นเดียวกับบ้านแห่งคุณภาพ ที่จะต้องมีหลังคา เสา พื้นฐาน และฐานรากที่มีคุณภาพจึงจะดำรงความเป็นบ้านแห่งคุณภาพอยู่ได้

Ralph G. Lewis  และ Douglas H. Smith  อธิบายว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับบ้านแห่งคุณภาพมีดังนี้

1. หลังคา (Roof) เป็นโครงสร้างใหญ่อันประกอบด้วยระบบย่อย 3 ระบบ คือ

          1.1 ระบบสังคม(Social system) โดยพื้นฐานแล้ว ระบบสังคมคือวัฒนธรรมขององค์การนั่นเอง ระบบสังคมมีผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีม การจูงใจ การสร้างสรรค์ และการเสี่ยง ระบบสังคมรวมถึงโครงสร้างของรางวัล สัญลักษณ์ของอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม สิทธิพิเศษ ทักษะ รูปแบบโครงสร้างของอำนาจ การปรับปรุงบรรทัดฐานและค่านิยม ตลอดจนองค์ประกอบเชิงมนุษย์

          1.2 ระบบเทคนิค(Technical system) เป็นระบบที่เกี่ยวกับการเลื่อนไหลของงานทั้งองค์การ เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงาน ไม่ว่างานนั้นจะทำโดยใช้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ หรือใช้มนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นงานใช้มือหรือใช้สมอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในโรงงานหรือในสำนักงาน ล้วนจัดอยู่ในระบบเทคนิคทั้งสิ้น

          1.3 ระบบการจัดการ(The management system) เป็นระบบที่ทำให้เกิดบูรณาการ เป็นระบบที่กำหนดวิธีการปฏิบัติ การดำเนินการ พิธีการ และนโยบายในการสร้างและบำรุงรักษา เป็นระบบขององค์การที่บอกว่าวิธีการต่างๆจะดำเนินไปได้อย่างไร

2. เสา(Four pillars) บ้านแห่งคุณภาพประกอบด้วยเสา 4 เสา คือ ความพอใจของลูกค้า การปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพูดตามข้อเท็จจริง และเคารพในผู้ใช้บริการ

3. พื้นฐาน(Foundation) ประกอบด้วยการจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการกระบวนการ การจัดการโครงการ และการจัดการภารกิจของแต่ละบุคคล

4. ฐานราก(Four cornerstones) ประกอบด้วยพันธกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยม และวัตถุประสงค์ ที่สนับสนุนและมีบูรณาการกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การวางแผนปฏิบัติการ การวางแผนโครงการ และการวางแผนเชิงคุณภาพ ที่ค้ำยันการจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการกระบวนการ การจัดการโครงการ และการจัดภารกิจของแต่ละบุคคลอีกชั้นหนึ่ง

องค์ประกอบทั้ง 4 แห่งบ้านคุณภาพ จะมีผลต่อคุณภาพของบ้าน ถ้าองค์ประกอบทั้ง 4 มีคุณภาพ บ้านก็จะมีคุณภาพด้วย ในเชิงประยุกต์ คุณภาพขององค์การหรือสถาบันต่างๆจะมีคุณภาพหรือไม่จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้ง 4 เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                Good listening is a skill, a special talent, that you will have to practise and learn.

                                                                                Richard Templar

*********************************************************************************