วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (2)

2. คนไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบ

จากการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำงานที่ต้องรับผิดชอบ พฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบในการทำงาน เช่น ปล่อยงานที่ยังไม่เสร็จทิ้งไว้  ทำงานแต่ให้พอเสร็จ ไม่ต้องการความเรียบร้อยบริบูรณ์

ความไม่รับผิดชอบในการทำงานของคนไทย แสดงให้เห็นได้ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ นักเรียนมีหน้าที่เรียนหนังสือ กลับหนีโรงเรียน ครูมีหน้าที่สอนกลับไม่สอนเต็มที่ ตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมายแต่กลับทำผิดกฎหมายเสียเอง  ผู้มีครอบครัวมีหน้าที่ดูแลครอบครัวให้มีความสุข กลับสร้างปัญหาจนครอบครัวแตกแยก

คนไทยนั้นขาดความรับผิดชอบ ตั้งแต่งานง่ายๆจนถึงงานที่ยาก และยังขาดความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวมอีกด้วย

ความรับผิดชอบการทำงานมีความสำคัญมาก  เพราะความรับผิดชอบทำให้คนมีใจจดจ่ออยู่กับการทำงาน และพยายามทำงานให้ดีที่สุด

ความรับผิดชอบทำให้คนไม่ทิ้งงาน งานที่ต้องรับผิดชอบ ปกติมักเป็นงานที่ยากและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่สนุก  ความไม่รับผิดชอบจึงเป็นเหตุให้มีการเลือกงานขึ้นอีกสาเหตุหนึ่ง
                            ----------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                -----------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

นักธุรกิจคนหนึ่งบ่นว่า คนงาน(ไทย)ลางานมาก ทั้งนี้ เพราะคนงานขาดจริยธรรมการทำงานแบบสังคมอุตสาหกรรมตะวันตก ความรับผิดชอบของคนงาน(ไทย)อยู่ที่ครอบครัวและเพื่อน ความจำเป็นของครอบครัว สังคม และศาสนา  มีความสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุนี้ คนงานจะลาป่วยบ่อยๆ ไม่ว่าเขาจะป่วยจริงหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อไปทำกิจธุระของตน เช่น ช่วยเพื่อนเตรียมอาหารเพื่อการแต่งงานหรือทำบุญ ไปซื้อของกับญาติที่มาจากต่างจังหวัด ฯลฯ การมีส่วนร่วม ความผูกพัน และความรับผิดชอบของคนงาน  จะอยู่ที่คน มากกว่าอยู่ที่งานหรือโรงงาน

                                                           Klausner and Klausner

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (1)

1. คนไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ

จากการวิเคราะห์เอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่างพบว่า คนไทยขาดความอดทนที่จะทำงานติดต่อกันนาน ไม่สามารถที่จะสู้อะไรที่ต้องใช้กำลังใจนานๆ ขาดความมานะพยายาม  ไม่เสมอต้นเสมอปลาย  ไม่พยายามทำสิ่งที่เห็นว่ายาก เมื่อทำงานหากเจออุปสรรคมักจะเลิก หรือเลี่ยงไม่ทำงานนั้น ขาดการใช้ความพยายามในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

ความต้องการที่จะทำงานในลักษณะดังกล่าว มีผลทำให้หาคนทำงานที่ยากแต่มีคุณค่าไม่ค่อยจะได้ เพราะแต่ละคนมุ่งแต่ทำงานที่ทำสำเร็จได้ง่ายๆ

สังคมใดประกอบด้วยคนที่ต้องการทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้มากๆ  เป็นสังคมที่ไม่อาจแก้ปัญหายากๆได้ ต้องตกเป็นภาระหน้าที่ของคนจากสังคมอื่น ที่ได้รับการฝึกอบรมให้พร้อมที่จะทำงานหนัก

ความรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆที่ใช้เพื่อการพัฒนา จะสั่งเข้าจากต่างประเทศ  แทนที่จะคิดค้น หรือพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพของสังคมนั้นๆ
                  -------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก:ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

คนไทยนั้นต้องการได้อะไรมาโดยง่ายๆ  หรือที่เรียกว่าได้อย่างฟลุ๊คๆ ไม่ต้องใช้สติปัญญา หรือความพยามใดๆ ชอบเสี่ยงทายหรือแล้วแต่ดวง นอกจากนั้น คนไทยยังจับจด ขาดความจริงจังและสม่ำเสมอ เมื่อทำอะไรแล้วพบอุปสรรคมักจะละทิ้งเสียกลางคัน โดยมิได้ประเมินผลเพื่อหาทางบรรลุเป้าหมายให้ได้ มีโครงการประเภทที่เรียกว่า"ทดลอง" ทดลองไปสักพัก ก็เลิกทิ้งโดยไม่รู้ผลว่าเป็นอย่างไร

                                                                       ชม ภูมิภาค
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน

นักมานุษยวิทยายอมรับว่า ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของคน กล่าวคือ ค่านิยมเป็นมาตรฐาน ที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทำหน้าที่กำหนดวิธีการดำเนินชีวิต เป็นแกนของระบบสังคม เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับบุคคลในสังคม ที่จะเข้าใจและรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ในสังคม

ค่านิยมเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดมีค่าควรเลือก สถานการณ์ใดควรเลือกสิ่งใดจึงจะเหมาะ ค่านิยมจึงมีอิทธิพล ต่อการเลือกวิธีการ และเป้าหมายของการกระทำที่คนในสังคม อยากจะเป็น อยากจะทำ เป็นตัวกำหนดว่า อะไร "ถูก" อะไร "เหมาะ"ที่จะปฏิบัติ  ที่จะเชื่อ

ในแง่เศรษฐกิจ ค่านิยมทำหน้าที่ 2 ประการ ประการแรก ค่านิยมทำให้เกิดเป้าหมายส่วนบุคคลและสาธารณะ  ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการผลิต จริงอยู่เป้าหมายสูงสุดอาจจะไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจโดยตรง  แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดนั้น เป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็น การมีอำนาจ เกียรติ สวัสดิการ ฯลฯ ประการที่สอง ค่านิยมทำให้เกิดนิสัยชอบ  หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ความต้องการเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยม  ไม่ว่าความต้องการนั้นจะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน หรือเป็นความต้องการขั้นสูง และไม่ว่าความต้องการนั้นทำให้เกิดความกดดันมากหรือน้อย

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากมนุษย์จะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญ ที่จูงใจให้คนเราทำงานคือค่านิยม ค่านิยมมีอิทธิพลเหนือวิธีการทำงาน  การปฏิบัติต่อนายจ้าง ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาในการทำงาน และยังพบต่อไปว่า ค่านิยมยังเป็นตัวกำหนดคุณค่าในการทำงานให้แตกต่างกัน และค่านิยมที่เกี่ยวกับการทำงานในแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน

ระบบค่านิยมของสังคมไทย มีแนวโน้มส่งเสริมพฤติกรรมทางจิต และสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางจิต  ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเจริญแก่จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่า  อันไหนที่มีคุณค่าทางจิตใจมาก คนไทยจะนิยมมาก การเน้นคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ค่านิยมทางวัตถุลดความสำคัญลง  มีผลทำให้การทำงานน้อยลงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะการทำงานเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่การได้วัตถุ

สังคมไทยนิยมการวางเฉย คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น รวมทั้งวางเฉยต่อสถานการณ์ต่างๆ ลักษณะการวางเฉย ทำให้ขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจน ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

คนไทยมีค่านิยมสนุก จะเห็นได้จากการกระทำของคนไทยในหลายกรณี ในการดำเนินชีวิตแบบไทย จะเน้นความสนุกเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก คนไทยจะหลีกเลียงการทำงานที่ไม่สนุก  เช่นการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก หรือเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ คนไทยอาจจะหยุดปฏิบัติการกระทำตามภาระหน้าที่ ถ้าพบว่างานนั้นไม่สนุก

คนไทยเน้นความสำคัญของค่านิยมส่วนบุคคล ทำให้เกิดลักษณะปัจเจกชนนิยม คนไทยจึงแทบจะไม่ผุกพันกับเป้าหมายของสังคม เกิดความเฉย ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่จำเป็นสำหรับสังคมที่จะเข้าไปสู่ภาวะทันสมัยทางอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น คนไทยยังให้คุณค่าค่อนข้างสูงกับคนที่รู้จักฉวยโอกาส แต่ไม่ค่อยให้คุณค่ากับคนที่สร้างโอกาสด้วยความยากลำบาก

คนไทยชอบฟังคำสั่งมากกว่าริเริ่มเอง  ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ ชอบปะทะคารม แต่ไม่ชอบทำงาน ไม่ค่อยรับผิดชอบในการทำงานแต่ชอบเงิน  ชอบลงทุนในกิจกรรมที่สนุกมากกว่ากิจกรรมที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

คนไทยไม่นิยมขวนขวายต่อสู้ดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในชีวิต ชอบทำงานเบาๆที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชอบมีฐานะที่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น มีเงินเดือนกิน ไม่นิยมการทำงานที่ใช้มือ ใช้แรงงาน ไม่นิยมเป็นพ่อค้า  ถ้าจะดำเนินงานธุรกิจจะยึดความโก้เก๋ในการดำเนินงานมากกว่าเนื้อหาของงาน

ส่วนคนที่จบจากต่างประเทศต้องการที่จะเป็นหัวหน้างาน ไม่พยายามที่จะร่วมกันทำงานเพื่อเสริมสร้างสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น แต่พยายามใช้ประโยชน์จากการที่เคยอยู่ต่างประเทศเพื่อหาตำแหน่งที่ตนพอใจ

คนไทยเลือกงานมาก ไม่ชอบทำงานที่ห่างไกลความเจริญหรือห่างครอบครัว ต้องการทำงานที่จะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่ชอบเสี่ยง  หนักไม่เอาเบาไม่สู้ นิยมทำกิจการต่างให้พอเสร็จ ไม่มุ่งความเยี่ยมยิ่ง นิยมอภัยความบกพร่องกันง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยในระยะที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนไทยนิยมเรียนบริหารธุรกิจในอเมริกามากขึ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะหนีจากการเป็นข้าราชการ  เตรียมทำงานเพื่อเงินมากขึ้น
                                 -----------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 -------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคิด

ค่านิยมแบบปัจเจกชนนิยมผสมกับค่านิยมเล็งผลปฏิบัติ มีส่วนทำให้คนไทยเปลี่ยนงาน จนกว่าจะได้งานที่ทำง่ายและมีรายได้ดี ถ้างานนั้นหนัก คนไทยจะกลับไปทำงานที่ง่าย แม้รายได้จะน้อยกว่า  ระหว่างงานรายได้ดีแต่หนักกับงานที่มีรายได้ต่ำแต่เป็นงานที่ง่าย คนไทยจะเลือกทำงานหลัง

                                                                       อดุล  วิเชียรเจริญ
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน (5)

          5. การสะสมทรัพย์อันหามาได้จากการทำงานไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

จากการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า เหตุที่คนไทยมีแนวความคิดและความเชื่อว่า การประหยัดไม่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ เพราะเหตุต่อไปนี้

                    1) คนไทยชอบบริโภคและมุ่งบริโภคทันที

                    2) คนไทยขาดความสำนึกเรื่องเงิน

                    3) คนไทยพอใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน

                    4) คนไทยนิยมการกระทำที่แสดงออกถึง"ความหรูหราฟู่ฟ่า" เพื่อแสดงว่าเป็นคนชั้นสูง เป็นคนมีเงิน คนไทยนิยมใช้เงินเพื่อเสริมเกียรติเสริมฐานะ

                    5) คนไทยนิยมความเป็นคนใจกว้าง แสดงออกด้วยการเลี้ยงคนอื่น

                    6) คนไทยขาดการวางแผนในการใช้จ่ายเงิน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนไทยมีแนวความคิดและความเชื่อว่า การประหยัดไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ การใช้จ่ายเงินเพื่อเหตุผลที่กล่าวแล้วมีความสำคัญมากกว่า

การมีแนวความคิดและความเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ประหยัด มุ่งแต่จะจ่ายทรัพย์ที่หามาได้ เพื่อการบริโภค เป็นการหาความสุขให้กับชีวิต

 การไม่ประหยัดทำให้ขาดเงินออม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ และเมื่อไม่มีการลงทุน คนจะไม่มีงานทำ เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปไม่ได้ มีผลทำให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง 
                                 ---------------------------------------------

อ้างอิงจาก: วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
             -----------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

เราคนไทยยังมีนิสัยของความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมตามเพื่อน ตามสบาย ใจง่าย ไม่ค่อยมีระบบ ไม่ค่อยมีการวางแผนงบประมาณส่วนตัว จึงทำให้ไม่สามารถประหยัดเงินไว้เพื่อการลงทุน
                                                               วีรยุทธ  วิเชียรโชติ

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน(4)

          4. การทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

จากการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า คนไทยมีความคิดและความเชื่อว่า การทำงานหนักหรือสมรรถภาพในการทำงาน  ไม่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในชีวิตการทำงาน  และความขี้เกียจก็ไม่จำเป็นที่จะทำให้ชีวิตประสบความล้มเหลว

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตการทำงานขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่อไปนี้

                     1) การทำบุญ บุญทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ การไม่ทำบุญชีวิตจะเกิดความล้มเหลว

                     2) โชคชะตา การทำงานใดๆก็ตาม จะต้องมีโชคช่วย  หากโชคไม่ช่วยการทำงานนั้นๆจะสำเร็จได้ยาก

                     3) ไสยศาสตร์ การทำงานถ้าต้องการความสำเร็จ จะต้องอาศัยอำนาจลึกลับทางไสยศาสตร์เข้าช่วย เช่น ต้องอาศัย "การเจิม" "ฤกษ์ยาม" ฯลฯ

                     4) การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นที่ทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจเหนือ

                     5) การรู้จักประชาสัมพันธ์ตนเอง ตามควรแก่โอกาส

                     6) ความสามารถในการที่จะรับรู้ และรู้จักเลือกวิธีการที่เหมาะสม

การที่คนไทยมีความคิดความเชื่อในลักษณะนี้  มีผลทำให้คนไทยไม่จริงจังกับการทำงาน ไม่ใฝ่ใจที่จะหาความรู้ ความชำนาญ ที่จะช่วยเพิ่มพูนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

ตลอดจนไม่มีใจมุ่งมั่นอยู่กับงาน คอยหาโอกาสที่จะก้าวหน้าด้วยวิธีการต่างๆแทนการทำงานหนัก

ลักษณะเช่นนี้ หากปรากฎในหน่วยงานใดหรือสังคมใด การทำงานจะชักช้าหรือบางครั้งเกิดภาวะชะงักงัน ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็วได้

อ้างอิงจาก: ไพศาล ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  ------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

คนไทยรับรู้ว่าการที่ตนจะอยู่รอด และดำรงชีพได้สุขสบายพอสมควรนั้น จะต้องยอมรับถึงความสำคัญของบุคคลอื่นด้วย พฤติกรรมทางสังคมต่างๆของคนไทยจึงมุ่งส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างบุคคล มากกว่าการแสวงหาความสำเร็จจากการทำงานโดยตรง มีตัวอย่างทางพฤติกรรมสนับสนุนข้อเสนอข้างต้นนี้มากมาย ในสังคมไทย คนที่มุ่งหน้าแต่จะทำงานอย่างเดียว แม้ว่าผลงานจะดีเลิศเพียงใด หากไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ดีพอ ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้

                                                                      สนิท สมัครการ
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%