วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

การพัฒนาสังคม

คำว่า"การพัฒนา"มีการใช้อย่างกว้างขวาง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ในความหมายที่ว่าเป็นการทำให้หลุดพ้นจากสภาพด้อยพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่ต่อมาพบว่า การพัฒนาที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ได้แก่ ปัญหาความยากจน การถูกกีดกันทางสังคม การเลือกปฏิบัติ การไม่มีส่วนร่วม การแสวงหาผลประโยชน์ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การติดยาเสพติด อาชญากรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง การบริโภคทรัพยากรมากเกินไป และการตัดสินใจโดยคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจ

แนวคิดการพัฒนาสังคมครั้งสำคัญเกิดจากการประชุม "World Summit for Social Development" ที่ได้ข้อสรุปสาระสำคัญของการพัฒนาสังคม คือการให้ความสำคัญกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เพราะคนเป็นองค์ประกอบของสังคม เป็นทั้งผู้ถูกพัฒนาและผู้พัฒนาสังคม

การพัฒนาสังคม จะต้องเริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ การศึกษา สาธารณสุข การผลิต การบริโภค โดยเน้นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานเดิมของสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าว และนำไปสู่การมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้นของประชากรทั้งมวล

ในการพัฒนาสังคม มียุทธวิธีที่สำคัญๆดังนี้

          1. ยุทธวิธีการกระจาย เป็นยุทธวิธีที่มุ่งไปสู่ความเสมอภาคในกระบวนการพัฒนาประเทศ  อันได้แก่ ความเสมอภาคในการกระจายรายได้ กระจายทรัพยากร และความมั่งคั่ง  รวมทั้งความเสมอภาคในโอกาสการทำงาน การบริโภค และการรับบริการทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาในอนาคต

          2. ยุทธวิธีการมีส่วนร่วม เป็นยุทวิธีการพัฒนาสังคมด้วยการปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกส่วนของกระบวนการพัฒนา อันได้แก่ ร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมให้การสนับสนุน และร่วมตัดสินใจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

          3. ยุทธวิธีการพัฒนามนุษย์ มนุษย์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม ในฐานะที่เป็นทรัพยากร เป็นตัวกระทำการพัฒนา และผู้ได้รับผลประโยชน์จาการพัฒนา  ในการพัฒนามนุษย์นั้น มุ่งที่การปรับปรุงเงื่อนไขและคุณภาพชีวิตให้ดีชึ้น โดยพัฒนามนุษย์ทุกด้าน อันได้แก่ ความสามารถในการผลิต ทักษะการมีส่วนร่วม ประสบการณ์เกี่ยวกับสังคม โดยมนุษย์ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน จะต้องได้รับการพัฒนา

          4. ยุทธวิธีการบูรณาการทางสังคม  การพัฒนาสังคมจำเป็นจะต้องใช้วิธีที่ก่อให้เกิดการบูรณาการ ด้วยการนำกลุ่มต่างๆ ชุมชนต่างๆ และภาคต่างๆ มาก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ   ยุทธวิธีการบูรณาการยังมุ่งที่จะลดหรือทำให้ความไม่เสมอภาคระหว่าง ภาค กลุ่ม หรือชุมชนหมดไป

จะเห็นว่า การพัฒนาสังคมให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่ถูกพัฒนาและผู้พัฒนา อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ปลอดจากความยากจน ความไม่รู้ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความหิวโหย ทั้งนี้ จะต้องให้มนุษย์ตระหนักถึง ศักยภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และความพึงพอใจในชีวิตของตนด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                       Nothing great was ever achieved without enthusiasm.

                                                           Ralph Waldo Emerson
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาของไทย

การพัฒนาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เป้าหมาย เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ

แต่จากการศึกษาการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่ากระบวนการพัฒนามีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อไปนี้

               1) ปัญหาการขาดดุลการค้าและภาระหนี้สินกับต่างประเทศ
               2) ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
               3) ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน
               4) ปัญหาค่านิยมในการใช้สินค้าไทย
               5) ปัญหาความไม่สามารถพึ่งตนเองได้
               6) ปัญหาการสร้างเสริมประชาธิปไตย
               7) ปัญหาการฉ้อราษฎรบังหลวง
               8) ปัญหาการบริโภคของคนไทย
               9) ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ที่มีการผลิตแบบใหม่ แต่ขายแบบเก่า
               10) ปัญหาการกระจายรายได้สู่ชนบท
               11) ปัญหาการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน
               12) ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป
               13) ปัญหาการขาดระเบียบวินัยของคนในชาติ
               14) ปัญหาคนอพยพเข้าเมืองเกิดปัญหาชุมชนแออัด

ซึ่งนักวิชาการการพัฒนาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการพัฒนาของไทยที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. ไทยมีแนวคิดการพัฒนาที่แคบเกินไป โดยมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ได้ละเลยเรื่อง สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

          2. เป็นการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ มีผลทำให้การพัฒนาเกิดความล้มเหลว
               2.1. การกระจายรายได้และทรัพยากร รวมทั้งการกระจายอำนาจ
               2.2. การผลิตโดยมวลชน แต่กลับส่งเสริมการผลิตเพื่อมวลชน
               2.3. การพึ่งตนเอง ยิ่งพัฒนายิ่งต้องพึ่งภายนอกมากขึ้น
               2.4. การพัฒนา ความคิดความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมที่มีผลต่อพฤติกรรมของคนไทย

          3. เป็นวิธีการพัฒนาที่นำเข้าจากต่างประเทศ กล่าวคือ แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทฤษฎียึดตัวแบบ(Imitation Theory) เป็นการพัฒนาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสังคมที่ยึดเป็นตัวแบบ พูดง่ายๆก็คือเลียนแบบการพัฒนาของสังคมอื่น และกลุ่มทฤษฎีสร้างตัวแบบ(Creative Theory) เป็นการพัฒนาตามแนวทางที่สอดคล้องกับสังคมที่เป็นอยู่  โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบ เป็นการพัฒนาที่สร้างตัวแบบขึ้นมาเอง

สำหรับการพัฒนาของไทยนั้น ใช้กลุ่มทฤษฎียึดตัวแบบ โดยยึดแนวทางการพัฒนาของชาติตะวันตกเป็นสำคัญ จนกล่าวได้ว่า เป็นการพัฒนาเพื่อให้เหมือนสังคมตะวันตก(Westernization) โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบริบททาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไทยมากนัก

ในเรื่องของการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็มีการเลียนแบบเช่นกัน โดยเลียนแบบระบบการศึกษาของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และล่าสุดดูเหมือนจะพยายามจะเลียนแบบระบบการศึกษาของสิงคโปร์ อะไรที่คิดว่าดีกับประเทศเหล่านั้น ไทยพยามที่จะนำมาใช้ในระบบการศึกษาไทย จนลืมไปว่าระบบการศึกษาของประเทศใดย่อมเหมาะสำหรับการพัฒนาคนของประเทศนั้นทำให้เกิดปัญหาดังที่เห็นๆกันอยู่

ด้วยกระบวนการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดปัญมากมาย ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้นมาอีก ในการพัฒนา ไทยจะต้องสร้างตัวแบบการพัฒนาขึ้นมาเอง และจะต้องเป็นตัวแบบที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

     If you do not know where you are going, every road will get you nowhere.

                                                               Henry Kissinger
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

ความทันสมัยกับการพัฒนาประเทศ

ความทันสมัยในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่ การพูดภาษาอังกฤษคำไทย มีชื่อรายการโทรทัศน์เป็นภาษาอังกฤษ หรือมีมือถือรุ่นล่าสุดใช้ ซึ่งความทันสมัยในลักษณะนี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนา มากกว่าที่จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้ เป็นความทันสมัยที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ความทันสมัยในที่นี้ เป็นความทันสมัยที่เกิดจากความสัมพันธ์ของตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทฤษฏีการพัฒนาที่อธิบายในเรื่องนี้คือ ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย(The Modernization Theory ) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ใช้อยู่ โดยเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย แต่สังคมดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ นักทฤษฎีกลุ่มนี้ที่สำคัญมี  David McClelland และ Alex Inkeles เป็นต้น

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย มีความเห็นว่า

          1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย มีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ตลอดจนมีความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม

          2. สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยมที่ทันสมัย

          3. โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมตลอดจนการเมืองดั้งเดิมในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส

          4. ประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนา  เกิดจากขาดแคลนทุนเพื่อการลงทุน คนไม่มีค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนขาดทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ความทันสมัยดังต่อไปนี้ จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน  จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน ได้แก่

          1. ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ หมายถึง ความสามารถในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม การพัฒนาสังคมเมือง และการกระจายความเจริญสู่ชนบท ตลอดจนการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในด้านสาธารณูปโภคและกิจกรรมเพื่อการผลิตโดยตรง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ผลที่ตามมาทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดความทันสมัย

          2. ความทันสมัยทางสติปัญญา เป็นการพัฒนาและใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มาปรับใช้กับชีวิตมนุษย์ทุกๆด้าน ตลอดจนพัฒนาสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมให้กว้างไกลและทันสมัย

          3. ความทันสมัยทางสังคม  คนในสังคมมีการเปลี่ยนค่านิยม มีบุคลิกภาพที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันท้ังในแง่กฎหมายและพฤติกรรมทางสังคม

          4. ความทันสมัยทางการเมือง มีการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างมีเหตุผล และเหมาะสม ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกระดับมากขึ้น

หากความทันสมัยทั้ง 4 ด้าน เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะก่อให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกันดังกล่าวแล้ว

จะเห็นว่า ในการพัฒนาประเทศ จะต้องเริ่มต้นด้วยการให้สถาบันทางสังคมสร้างความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และแรงจูงใจที่ทันสมัยให้เกิดขึ้นในสังคม หากสามารถทำได้สำเร็จ การจะนำความทันสมัยไปสู่การพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าความทันสมัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศจะต้องมีความสมดุล เพราะหากไม่มีความสมดุลก็จะมีปัญหาตามมา และการพัฒนาประเทศก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

Knowing is not enough we must apply. Willing is not enough we must do.

                                                         Goethe
*****************************************************************





วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

เทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง

ทุกคนคงเคยทำการเจรจาต่อรองมาบ้าง ถ้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็เรื่องอาชีพการงาน อาจเจรจาต่อรองในการซื้อขายสินค้า หรือเจรจาต่อรองเพื่อที่จะทำงานให้แตกต่างไปจากเดิม

หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่รู้สึกว่าการเจรจาต่อรองมีความยุ่งยากซับซ้อนจนเราผิดหวัง

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง ทีช่วยให้การเจรจาต่อรองเกิดประสิทธิผล ไม่ว่าจะเจรจาต่อรองกับลูกค้า แม่ค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือในสถานการณ์อื่นๆ

การเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการที่จะต้องมีคน 2 ฝ่าย หรือมากกว่า ที่มีความต้องการและเป้าหมายต่างกัน มาร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหา ที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน

เนื่องจากการเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการระหว่างบุคคล ในการเจรจาต่อรองแต่ละเรื่องแต่ละครั้งจึงแตกต่างกัน นอกจากนั้น การเจรจาต่อรองแต่ละครั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทักษะ ทัศนคติ และวิธีการของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างกัน

มีบ่อยเหมือนกันที่เราไม่ค่อยชอบการเจรจาต่อรอง เพราะมันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วการเจรจาต่อรองไม่ได้มีลักษณะที่จะนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันหรือต้องโกรธกัน

อุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้การเจรจาต่อรองประสบความสำเร็จ

มองว่าการเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการเผชิญหน้า ความจริงการเจรจาต่อรองไม่ใช่การเผชิญหน้า แต่เป็นการให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา มากกว่าที่จะให้แต่ละฝ่ายพยายามที่จะเอาชนะตามความตั้งใจของฝ่ายตน ในการเจรจาต่อรองจะต้องระลึกเสมอว่า ไม่ว่าทัศนคติที่เป็นศัตรูกัน หรือร่วมมือกัน จะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน และถ้ามองว่าการเจรจาต่อรองเป็นการเผชิญหน้า แน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสู้เกิดขึ้น

พยายามทำทุกอย่างที่จะเอาชนะ แน่นอนว่าเมื่อมีฝ่ายชนะก็ต้องมีฝ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึงว่าจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น ภาพรวมที่ดีที่สุดของการเจรจาต่อรอง คือให้ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้ชนะ  พยายามอย่าให้การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องของการแข่งขันที่นำไปสู่ชัยชนะ

เกิดอารมณ์ในระหว่าเจรจรจาต่อรอง เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ในระหว่างเจรจาต่อรอง แต่อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีอารมณ์มากเท่าไร จะยิ่งทำให้การเจรจาต่อรองอย่างสร้างสรรค์ลดน้อยลงทุกที ฉะนั้น ในการเจรจาต่อรองจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้

ไม่พยายามที่จะเข้าใจคนอื่น เนื่องจากการเจรจาต่อรองเป็นพยายามที่จะหาวิธีแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจและยอมรับถึงความต้องการของบุคคลอื่น ถ้าไม่รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ก็ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้อย่างเหมาะสม มีบ่อยๆหากมีการใช้พยายามที่จะเข้าใจบุคคลอื่น อาจพบว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรมากมาย

เน้นที่บุคลิกภาพของอีกฝ่ายแทนการเน้นที่ประเด็นเจรจาต่อรอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการไม่ชอบอีกฝ่ายมากๆ  ก็จะมีแนวโน้มที่จะออกนอกประเด็นการเจรจาต่อรอง หากคู่เจรจาต่อรองเน้นที่ความยุ่งยาก หรือความน่ารังเกียจที่อีกฝ่ายหนึ่งทำให้เกิดขึ้น  การเจรจาต่อรองที่มีประประสิทธิผลจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ในการเจรจรจาต่อรองจะต้องเน้นที่ประเด็นปัญหา อย่าสนใจในเรื่องชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่าย

การตำหนิคู่เจรจา ในการเจรจาต่อรอง แต่ละฝ่ายมีส่วนทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยดีหรือแย่ลง ถ้ามีการตำหนิอีกฝ่ายว่าทำให้เกิดความยุ่งยาก ก็จะสร้างบรรยากาศของความโกรธแค้นขึ้นมา ดังนั้น ถ้าต้องการจะแก้ปัญหา จำเป็นจะต้องสร้างความรู้สึกของความร่วมมือขึ้นมาให้ได้

เทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง มีดังต่อไปนี้

ขอร้องให้อีกฝ่ายบอกถึงความต้องการที่ชัดเจน ในสถานการณ์การเจรจาต่อรอง การใช้คำถาม ถามถึงความต้องการของอีกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อได้ยินคำตอบแล้ว เพื่อแสดงว่าเข้าใจถูกต้อง ผู้ถามจะต้องกล่าวย้ำในคำตอบนั้นอีกครั้งหนึ่ง

บอกถึงความต้องการของตน แน่นอนว่าในการเจรจาต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็ต้องการจะรู้ถึงความต้องการของอีกฝ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องบอกถึงความต้องการ และเหตุผลที่ต้องการของตนให้อีกฝ่ายทราบ เพราะมีบ่อยครั้งที่เกิดความไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร

เตรียมทางเลือกไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรอง ขอให้เตรียมทางเลือกเพื่อนำเสนอในการเจรจาต่อรอง หากทางเลือกนั้นไม่ได้รับการยอมรับ จะได้เข้าใจว่า ทำไมอีกฝ่ายไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น และจะได้หาทางเลือกใหม่ด้วยกันต่อไป

อย่าถกเถียงโต้แย้ง การเจรจาต่อรองเป็นการหาวิธีแก้ปัญหา แต่การถกเถียงโต้แย้งเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายผิด ถ้าหากการเจรจรจาต่อรองกลายเป็นการหาว่าใครผิดใครถูก การเจรจรจาต่อรองจะก้าวหน้าไปไม่ได้ อย่าเสียเวลาโต้แย้งดีกว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใดๆก็ให้ยืนยันอย่างสุภาพ อย่าพยายามแปลความหมายของอีกฝ่ายผิดๆ หรือต่อสู้เพื่อเอาชนะ

พิจารณาเรื่องเวลา เวลาที่ใช้ในการเจรจาต่อรองมีทั้งเวลาที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม  เวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ทั้ง2 ฝ่ายแสดงถึงความโกรธอย่างรุนแรง มีความเครียดสูงมาก เบื่อหน่ายกับการกระทำของอีกฝ่าย ติดขัดอยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดจนดำเนินต่อไปไม่ได้ ฯลฯ การเจรจาต่อรองควรหลีกเลี่ยงเวลาดังกล่าวนี้ และถ้าหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างเจรจาต่อรอง ควรขอเวลานอกหรือหยุดพักเพื่อให้สงบลง หรือไม่ก็นัดเวลาใหม่ที่เหมาะสมกว่านี้

โดยสรุปจะเห็นว่า การเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการซับซ้อน แต่ถ้าท่านคิดว่าท่านต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว ก็มีคุณค่าพอที่จะมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                              คนที่ไม่เคยลงน้ำ จะไม่มีวันว่ายน้ำเป็น

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%