วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของระบบการเมือง

ระบบ หมายถึง ปฎิสัมพันธ์ของส่วนย่อยๆหลายๆส่วน เพื่อให้ระบบดำเนินไปตามปกติ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับความกระทบกระเทิอน จะส่งผลไปถึงส่วนอื่นด้วย

ระบบการเมือง หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่า่งส่วนย่อยๆในทางการเมือง เพื่อให้ระบบการเมืองดำเนินไปตามปกติ

ระบบการเมืองประกอบด้วยหน่วยสำคัญ 3 หน่วย คือ 1) รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหลาย ได้แก่ รัฐบาลและกลไกของรัฐ 2) รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมือง อันได้แก่ ประชาธิปไตย เผด็จการ และ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และ 3) กลุ่มคนที่อยู่รวมกันและมีความภักดีต่อหน่วยการเมืองหน่วยเดียวกัน เช่น เมื่ออยู่ในประเทศไทยจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไทย

Gabriel A. Almond นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้แบ่งความสามารถหรือสมรรถนะของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ออกเป็น ดังนี้

1. ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ 

ในการรักษาโครงสร้างต่างๆทางการเมือง  ตลอดจนกลไกการดำเนินงานบริหารรัฐ จำเป็นจะต้องมีทรัพยากร ทั้งที่เป็นวัตถุและมนุษย์ เป็นเครื่องสนับสนุนรัฐ ที่จะต้องให้บริการแก่สมาชิกของสังคม

การให้บริการเหล่านี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยิ่งรัฐขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวางออกไปมากเท่าใด ความสามารถในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมมาใช้ก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

2. ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครองป้องกันคนในสังคม เพราะปกติคนและกลุ่มคนในสังคมมีผลประโยชน์และความต้องการที่แตกต่างกันและมีความขัดแย้งอยู่เสมอ

การควบคุมกลุ่มคนไม่ให้ขัดแย้งกันจนเป็นเหตุทำให้สังคมระส่ำระสาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขแรกของการดำรงอยู่ของสังคม

3. ความสามารถในการแจกจ่าย 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดการแบ่งสรรปันส่วนสิ่งที่สังคมเห็นว่ามีคุณค่า เช่น การแบ่งสรรปันส่วนสินค้าและบริการต่างๆ การให้โอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะได้รับบริการของรัฐ เช่น บริการทางการศึกษาและสาธารณูปโภค

ความสามารถในการแจกจ่ายเป็นหน้ที่ที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน แม้จะเป็นหน้าที่ที่สำคัญ แต่การแบ่งปันผลประโยชน์โดยระบบการเมืองอาจกระทำได้ไม่ทั่วถึง หรือมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มหรือบางท้องถิ่น

ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งได้แก่การใช้กฎหมาย  และความสามารถในการแจกจ่ายผลประโยชน์ มีความสมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

ความสามารถในการแบ่งสรรผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำทรัพยากรมาใช้ และถ้าระบบการเมืองไม่มีความสามารถในการใช้กฎหมายบังคับ หน้าที่ในการเก็บภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำทรัพยากรในสังคมมาใช้ ก็เป็นไปได้ยาก

4. ความสามารในการใช้สัญลักษณ์ทางการเมือง 

สัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนความชอบธรรมของผู้ปกครองและตัวระบบการเมือง ซึ่งสัญลักษณ์ทางการเมืองได้แก่ ธงชาติ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ พิธีการต่างๆ เช่น วันสำคัญของชาติ เป็นต้น

ในสังคมที่ไม่มีความแตกต่างทางด้านศาสนามากนัก ศาสนาประจำชาติก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดรวมแห่งความจงรักภักดีของคนในสังคม สถาบันกษัตริย์ก็จัดเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ในบางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน และต่อมาสามารถเรียกร้องเอกราชได้สำเร็จ ผู้นำทางการเมืองอาจใช้สัญลักษณ์บางประการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียกร้องนั้น

5. ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชน 

เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อการมีปฏิกิริยาของระบบการเมืองต่อความเคลื่อนไหวของสภาพแวดล้อมทางการเมือง

ความสามารถของระบบการเมืองข้อนี้อยู่ที่ความฉับไวในการตอบสนองความต้องการ ถ้าระบบการเมืองละเลยหรือปล่อยให้กลุ่มชนเกิดความคาดหวังและความต้องการโดยไม่ได้รับการตอบสนอง  ในระยะยาว ความตึงเครียดจะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้


Gabriel A. Almond ไม่ได้สรุปว่า รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง  แบบประชาธิปไตย แบบเผด็จการ หรือ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ แบบใดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่ากัน

ความสามารถของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 5 ประการนีึ้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะจะก่อความไม่สมดุลขึ้นในระบบการเมือง และเมื่อระบบขาดความสมดุล ปัญหาทางการเมืองจะเกิดตามมาอีกมากมาย และอาจนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                                 What you want in the state , you must put into the school.

                                                                                                     Plato

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การเมืองคืออะไร

คำว่า"การเมือง" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า"politics" เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก และที่ให้ความหมายตรงกันนั้นมีน้อย

อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกเป็นคนแรกที่พูดถึง "politics"โดยตั้งข้อสังเกตว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง การเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ และเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างจะซับซ้อนตามลักษณะของสังคมนั้นๆ การอธิบายหรือการให้ความหมายของคำว่า"การเมือง"ให้ครอบคลุมและตรงกันจึงเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม มีผู้พยายามจะให้ความหมายและอธิบายเกี่ยวกับการเมืองในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

เวบเบอร์(Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้อธิบายว่า การเมือง คือการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อใช้อำนาจแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือแบ่งสรรอำนาจระหว่างส่วนย่อยๆภายในรัฐนั้น การเมืองจึงเป็นกิจกรรมของรัฐ

ลาสส์เวลล์(Lasswell) อธิบายว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เกี่ยวกับใครจะได้อะไร ได้เมื่อไร และได้อย่างไร การเมืองเป็นเรื่องอิทธิพลของผู้มีอิทธิพล ขอบเขตของอำนาจหรืออิทธิพลจะมีกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นได้ใช้สิ่งที่มีคุณค่าที่ตนเองครอบครองอยู่ ในขอบเขตกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ซึ่งการใช้อำนาจหรืออิทธิพลนั้น อาจทำได้ทั้งการบังคับและการชักจูง

ลาสส์เวลล์ได้จำแนกคุณค่าในที่นี้ออกเป็น 2 ประการ คือ คุณค่าทางเกียรติศักดิ์(deference values) อันประกอบด้วย อำนาจ ความเคารพนับถือ ความถูกต้อง ความนิยมชมชอบ และคุณค่าทางสวัสดิการ(welfare values) ซึ่งได้แก่ ความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่ง ทักษะ และความรู้

ดาห์ล(Dahl) อธิบายว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ เป็นกฎเกณฑ์ หรืออำนาจที่ชอบธรรม ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอำนาจหรืออิทธิพลคือ ทรัพยากรทางการเมือง(political resources) ซึ่งได้แก่ ทรัพย์สมบัติ ฐานะทางสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงาน อำนาจในการใช้อาวุธหรือกำลัง การเข้าถึงข้อมูล เพศ การศึกษา การครองอำนาจรัฐ เหล่านี้เป็นต้น

การจะมีอำนาจทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า เขามีทรัพยากรทางการเมืองอยู่ในครอบครองมากน้อยเพียงใด มีความสามารถและมีทักษะในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อการเมืองมากน้อยเพียงใด และประการสุดท้าย บุคคลนั้นมีความสนใจในทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

อีสตัน(Easton) อธิบายว่า การเมือง คือการใช้อำนาจในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ชอบใช้กัน

จากคำอธิบายนี้ สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า สังคมประกอบด้วยคนซึ่งมีความต้องการสิ่งต่างๆ และสิ่งที่สังคมต้องการนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่มีปริมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจจัดสรรให้ตามความเหมาะสม

จากคำอธิบายถึงความหมายของการเมืองที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า การเมือง เป็นเรื่องของอำนาจ การแสวงหาอำนาจ และการใช้อำนาจ ในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม

อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองที่ได้มา จะต้องเป็นอำนาจทางการเมืองที่สังคมส่วนใหญ๋ให้ความเห็นชอบ และเมื่อมีอำนาจแล้ว จะต้องใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ปัญหาทางการเมืองจึงจะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมือง นักการเมืองจะต้องยึดแนวทางการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจดังที่กล่าวมา  การได้อำนาจทางการเมืองมาโดยวิธีการทุจริต ก็ดี การใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง ก็ดี เป็นการเร่งรัดให้อำนาจที่ได้มาหมดไปอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบในสังคมตามมา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

นักการเมือง คือ ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง ผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา

                                                                            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

Politician is a person involved in politics,especially national or international politics.

                                                                             P.H.Collin

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะของคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ

อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการพัฒนาตนเต็มศักยภาพ อธิบายว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นการพัฒนาขั้นสุดท้าย เป็นความพยายามที่จะสนองความต้องการอย่างต่อเนื่อง เป็นระดับการพัฒนาส่วนบุคคลที่สูงที่สุด ผู้ที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพตามอุดมคติถือว่าเป็นคนที่สมบูรณ์

ซึ่งมาสโลว์ ได้จำแนกลักษณะของคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไว้ดังนี้

1. การรับรู้มีความถูกต้องมากกว่าคนอื่นๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพ สามารถที่จะรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง โดยไม่มองว่าความเป็นจริงเหล่านั้นเป็นปัญหาหรือบิดเบือนความเป็นจริงเหล่านั้น เป็นผู้มีความเข้าใจผู้อื่นและตัดสินผูัอื่นได้อย่างรวดเร็ว บุคคลที่สามารถรับรู้ความจริงได้ถูกต้อง จะมีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มองโลกในแง่ร้าย มีความอดทนต่อความผิดหวังและความไม่แน่นอนมากกว่าคนอื่น

2. ยอมรับตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติของโลกอย่างที่มันเป็น ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตนและผู้อื่นตามความเป็นจริง มีความอดทนต่อข้อบกพร่องของตน มีอิสระจากการถูกครอบงำ ยอมรับในธรรมชาติของโลกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งทั้งหลายจะมีธรรมชาติของมันเอง

3. ทำได้ด้วยตนเอง มีความเรียบง่าย และมีความเป็นธรรมชาติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นผู้มีจุดเด่นอยู่ที่การเป็นตัวของตัวเอง ทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น มีพฤติกรรมที่ไม่เสแสร้ง ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมบางอย่างอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น

4. ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา แต่มุ่งที่จะแก้ที่สาเหตุของปัญหา โดยไม่เอาความรู้สึกของตนเข้าไปเกี่ยว จะมีชีวิตเพื่อการทำงาน และอุทิศตนเพื่อการทำงานเต็มที่ตามหน้าที่และพันธกิจ

5. ชอบปลึกตัวและมีความต้องการเป็นส่วนตัว ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไม่กลัวที่จะอยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน ชอบที่จะอยู่คนเดียว ความต้องการลักษณะนี้จะมีมากกว่าคนอื่นๆ ไม่สร้างความผูกพันหรือพึ่งพาคนอื่นมากนัก เพราะเชื่อความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่เดือดร้อนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความเป็นมิตรอย่างลึกซึ้งกับคนไม่มาก ไม่ชอบเข้าสังคม ต้องการมีสมาธิอย่างจริงจังในเรื่องที่สนใจ

6. เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระจากวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความอิสระและไม่พึ่งบุคคลอื่น ไม่สร้างเงื่อนไขให้ความพอใจของตนขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เป็นผู้มีวินัยในตนเอง รู้จักำหนดวิถีชีวิตด้วยตนเอง เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตน สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เมื่อต้องเผชิญกับการปฏิเสธหรือไม่เป็นที่นิยม

7.ชอบความใหม่มากกว่าแบบเดิมๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แบบเดิมๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกี่ยวกับตนหรือสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน จะมองสิ่งต่างๆด้วยความสดชื่นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  สามารถมีความซาบซึ้งและสดชื่นกับสิ่งดีๆที่เป็นพื้นฐานของชีวิต

8. เข้าใจสิ่งลึกลับและจิตวิญญาณ แม้สิ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ตาม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความลึกซึ้งกับสิ่งลึกลับ ด้วยการศึกษาสิ่งลึกลับเหล่านั้น จะแสดงออกด้วยการหยั่งรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องลักษณะนี้สูง

9. เข้าในมนุษย์และสนใจสังคม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีความรู้สึกเป็นญาติและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมนุษยชาติ มีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น สนใจความเป็นอยู่ในสังคม มีความรู้สึกลึกๆและหนักแน่นต่อมวลมนุษย์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นมนุษยชาติทั้งมวล

10. มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์และรักคนไม่มาก ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งไม่มาก ต้องการเพื่อนแท้ โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษคล้ายๆกัน และเมื่อไม่พอใจ จะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างเปิดเผย

11. มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตย ผู้ที่พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ จะมีความสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีความเคารพตอ่ผู้อื่น และเห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นเพื่อนโดยไม่ยึดเชื้อชาติ ศาสนา แต่ตั้งอยู่บนความเป็นมนุษย์

12. รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าหมาย ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะยึดมั่นเป้าหมายดีงามที่เกิดขึ้น สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของเป้าหมายที่ต้องการกับวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น และมีความสุขที่ได้พบวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มีการพัฒนาทางจริยธรรมสูงและมีการปฏิบัติโดยยึดจริยธรรม

13. มีอารมณ์ขันอย่างมีสติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดศัตรู หรือทำให้คนอื่นเสียหาย เช่น ไม่มีอารมณ์ขันกับข้อบกพร่องหรือปมด้อยของผู้อื่น หรือไม่สร้างสถานการณ์ขบขันให้ผู้อื่นอับอาย หรือเจ็บปวด

14. มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนอื่น โดยแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวัน บุคลิกภาพ และในการทำงาน

15. ต่อต้านการทำอะไรเหมือนๆกันเพื่อให้เป็นไปตามวัฒนธรรม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยอมทำอะไรเพียงเพราะมีเหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ยินดีที่จะทำสิ่งใหม่ๆ รับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคม และมีความรู้สึกส่วนตัวที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคม

16. เข้าใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเข้าถึงธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมและความพอใจของตน

มาสโลว์ เชื่อว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ แม้ว่าสติปัญญาจะช่วยในการพัฒนา แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ และคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทุกอย่าง มีความสำเร็จสมปรารถนาทุกอย่าง หรือสามารถปรับตัวได้ดียิ่ง แต่สำคัญอยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเข้าใจตนเอง เช้าใจโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องชี้นำชีวิตตน ให้ประสบความสุขและความสำเร็จดีกว่าคนอื่น

มาสโลว์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เพราะถ้าบุคคลไม่เรียนรู้ ไม่แสวงหาความรู้ จะทำให้การพัฒนาเกิดการหยุดนิ่ง การศึกษาจึงเป็นกุญแจใขไปสู่การพัฒนาตน การศึกษาที่ดี จะช่วยให้บุคคลมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง คือ รู้ค่านิยมของตน ซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการพัฒนาตนไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมาย

สำหรับคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพแห่งตน  มาสโลว์เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Healthy Self, Self-actualzing Person, Fully Metamotivated Person, Alpsy, Fully Evolved Person และ Fully Human Person  ซึ่งหมายถึง การเป็นคนที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพทั้งสิ้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม  ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา เป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน

 *********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความต้องการตามลำดับขั้นของมนุษย์

อับราฮัม มาสโลว์ ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์ มีความเห็นว่า ระบบแรงจูงใจอันเกิดจากความต้องการ(need- motive system) เป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น แต่ละระดับเป็นกลุ่มของความต้องการ ไม่ใช่เป็นความต้องการเดี่ยวๆ ความต้องการเหล่านี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ

ตามทัศนะของมาสโลว์ ความต้องการแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานหรือความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลน(Basic or Deficiency Needs)  กับ ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการที่จะพัฒนา (Higher or Meta or Growth Needs)

ปกติความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลน จะมีอำนาจเหนือความต้องการพัฒนาหรือความต้องการเจริญเติบโต และความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลนทั้งหมดจะต้องได้รับการตอบสนองก่อน ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการพัฒนาจึงจะเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุที่มองว่าความต้องการเป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น ดังกล่าวแล้ว มาสโลว์ได้แบ่งความต้องการออกเป็นลำดับขั้นดังนี้

1. ความต้องการทางสรีระ(Physiological Needs)

เป็นความต้องการพื้นฐานเพื่อให้ชีวิตรอด ประกอบด้วยความต้องการทางชีวภาพและความต้องการทางจิต เป็นความต้องการขั้นต่ำสุดและมีอำนาจมากที่สุด ทำให้เกิดแรงขับทางสรีระหรือแรงขับขั้นต้น ความต้องการเหล่านี้เป็นทั้งความต้องการทั่วไป และความต้องเฉพาะ

ความต้องการทางสรีระ ประกอบด้วยด้วย ความต้องการ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ความต้องการทางเพศ ความต้องการที่จะฟื้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย  ความอบอุ่น การออกกำลัลกาย การหลับนอน การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน รสชาติ กลิ่น ฯลฯ ตลอดจนความต้องการต่างๆที่ก่อให้เกิดความสุขสบายทางกายและมีชีวิตรอด

2.ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs)

ความต้องการความปลอดภัยเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายและการคุกคามทางกาย รวมทั้งความต้องความรู้สึกปลอดภัยจากความเจ็บปวดทางกายและทางอารมณ์ ตลอดจนความปลอดภัยจากความกลัว

ความต้องการความปลอดภัยหรือความรู้สึกมั่นคง จะสังเกตได้ง่ายในวัยทารกและเด็กเล็กๆ เนื่องจากในวัยนี้ เป็นวัยที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และแม้จะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว ความต้องการความปลอดภัยยังคงมีอิทธิพลต่อบุคคล ศาสนาและปรัชญาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการใฝ่หาความแลอดภัยของมนุษย์

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ(Love and Belongingness Needs)

เป็นความต้องการขั้นที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระและความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว เป็นความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้แก่ คู่ครอง เพื่อน ฯลฯ

การได้รับการตอบสนองจากคนอื่นในขณะที่เครียด ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตลอดจน ความต้องการได้รับการยอมรับจากคนอื่น ล้วนจัดอยู่ในความต้องการขั้นนี้ ความเปล่าเปลี่ยวเป็นความเจ็บปวดของผู้ที่มีความต้องการในขั้นนี้ บุคคลที่ติดอยู่ในขั้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ตาม เพราะให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่จะเป็นเจ้าของและเลิกที่จะเป็นผู้นำ

4. ความต้องการมีคุณค่า(Esteem Needs)

เมื่อความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของได้รับการตอบสนอง มนุษย์จะเกิดความต้องการขั้นที่ 4 คือ ความต้องการมีคุณค่าหรือความต้องการเป็นคนสำคัญ(Ego Needs) ซึ่งความต้องการมีคุณค่าอาจแบ่งได้เป็น ดังนี้

          4.1 ความต้องการความแข็งแกร่ง ความรอบรู้ ความมีสมรรถนะ ความเชื่อมั่นในตน ความอิสระไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น และการประสบความสำเร็จ จัดอยู่ในความต้องการรู้คุณค่าแห่งตน(self-esteem)

          4.2 ความต้องการเกียรติยศ การยอมรับจากผู้อื่น ความต้องการสถานภาพ ชื่อเสียง การมีอำนาจ การมีศักดิ์ศรี การเห็นคุณค่าจากผู้อื่น จัดเป็นความต้องการรู้คุณค่าจากคนอื่น((public -esteem)

การรู้คุณค่าจะเกิดจากความเพียรพยายามของบุคคล ความต้องการนี้อาจมีอันตราย ถ้าบุคคลนั้นต้องการมีคุณค่าจากคนอื่นเกินความเป็นจริง

5. ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ(Self-actualization)

เมื่อความต้องการขั้นต้นๆได้รับการตอบสนอง หรือความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลนได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจ ความต้องการเจริญเติบโตเพื่อพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพจะเกิดขึ้น
การพัมนาตนให้เต็มศักยภาพมาสโลว์ระบุว่ามีความสัมพันธ์กับทฤษฎีของของจุง แอดเลอร์ ฮอร์นาย และทฤษฎีของโรเจอร์

ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นภาวะสุดท้าย เป็นความต้องการที่อยู่ในระดับสูงสุด เป็นการพัฒนาตนเพื่อความสมบูรณ์ของตนตามที่ตนเองมีศักยถาพ เป็นการพัฒนาเพื่อให้มีศักยภาพสูงสุด มีสมรรถภาพตามที่บุคคลสามารถเป็นได้

เกี่ยวกับความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ มีข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

          1) เมื่อความต้องการในขั้นต่ำกว่าได้รับการตอบสนอง ความต้องการในขั้นที่สูงกว่าจึงจะเกิดขึ้น

          2. เมื่อความต้องการในขั้นที่สูงกว่าเกิดขัดข้อง บุคคลจะถอยไปอยู่ขั้นที่ต่ำกว่าลงไปอีก จนกว่าจะได้รับการตอบสนองจนพอใจ

          3)มีการเข้าใจผิดว่า ในเวลาเดียวกันบุคคลสามารถตอบสนองความต้องการได้ทีละขั้นและทีละอย่าง  และเข้าใจว่าความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ เป็นความต้องการของมนุษย์ที่สนองตอบได้ทั้งหมด

          4) มนุษย์แต่ละคน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากตามที่ตนต้องการ แต่สามารถตอบสนองได้เพียงร้อยละต่อไปนี้ สนองตอบความต้องการทางสรีระได้ร้อยละ 85 ความต้องการความปลอดภัยได้ร้อยละ 70 ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ได้ร้อยละ 50 ความต้องการมีคุณค่าได้ร้อยละ 40 และสนองตอบความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

แรงจูงใจของมนุษย์เกิดจากภายในตัวบุคคล มากกว่าถูกจูงใจจากสิ่งแวดล้อม ผู้ใฝ่ดีและคนที่ต้องการ

พัฒนา จะต้องได้รับการกระตุ้นจากการรู้คุณค่าของตน ภายในตน และด้วยตนเอง

                                                                              Abraham Maslow

*********************************************************************************