วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ตามที่นักอนาคตวิทยาได้ทำนายไว้ จึงได้ทำการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือ

การปฏิรูปของคลื่นลูกแรก (First wave reform)  การปฏิรูปครั้งนี้  เป็นการยกมาตรฐานการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีการใช้ตำราเรียนอย่างฉลาดมากขึ้น  เพิ่มการตรวจสอบครูและนักเรียน เพิ่มเวลาเรียนในแต่ละวันและในแต่ละปี  ตลอดจน ยกระดับความแข็งแกร่งทางการศึกษาของคนอเมริกันโดยทั่วไป

การปฏิรูปของคลื่นลูกที่สอง(Second wave reform)  การปฏิรูปครั้งนี้  มีสาระสำคัญหลายประการ คือ

          1. บริหารจัดการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน โดยโรงเรียนแต่ละโรง มีความสามารถในการตัดสินใจ  ท้องถิ่นควบคุมงบประมาณ ระดับปฏิบัติการมีอิสระ  ตลอดจน มีการผสมผสานความเข้มแข็งของครู นักเรียนนักศึกษา ค่านิยมของชุมชน เข้ากับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของหัวหน้าสถานศึกษา

           2. การใช้เวลาและตารางเรียนมีความยืดหยุ่น เพื่อให้การใช้เวลาในแต่ละชั่วโมงแต่ละวันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เหมาะสมกับความจำเป็นของการเรียนการสอนและการใช้นวัตกรรม

           3. มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของความเป็นเพื่อนและความร่วมมือ

           4. หลักสูตร มีองค์ประกอบที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจว่า "ทำไม" ในสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้  เพิ่มเติมจากการเรียนรู้ว่า "อะไร" และ "อย่างไร"

            5. สอนทักษะการคิดสำหรับเด็กที่มีความสามารถเป็นเลิศ รวมทั้งการคิดแบบสร้างสรรค์  คิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ การใช้เหตุผลในเชิงเปรียบเทียบ การจำแนก  และการเข้าใจความคิดของคนอื่น

             6. เปลี่ยนบทบาทของครู ให้ครูมีอำนาจ มีอิสระ  และมีความรับผิดชอบมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับครูคนอื่นๆ  เพื่อปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น

ดยสรุป เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาของคลื่นลูกที่ 2 จะเน้นความมีอิสระในระดับปฏิบัติ ใช้เวลาอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งเสริมความเป็นเพื่อน มีการสอนเพื่อความเข้าใจ สอนทักษะการคิด เพิ่มบทบาทของครู และยอมรับครูเป็นวิชาชีพมากขึ้น
                        ---------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคิด

                                                     You can because you think you can.
                                           ----------------------------------------------------------

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษา

คำว่า ปฏิรูป (Reform) เป็นคำที่พบเสมอ เมื่อต้องการจะบอกถึงการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง ฯลฯ อย่างคำว่าการปฏิรูปสังคมในความหมายที่กว้าง จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม อุดมการณ์ และโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นหลังปฏิวัติ หรือการยึดครองทางการเมืองที่รุนแรง

การปฏิรูป  อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ หรือบางครั้งการปฏิรูปถูกใช้ในความหมายของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ในทางการศึกษา การปฏิรูปหมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการศึกษาของประเทศ   การปฏิรูปการศึกษาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ซึ่งได้แก่
           1.การจัดสรรทรัพยากรให้กับการศึกษาสาขาต่างๆ
           2. การจัดสรรทรัพยากรให้กับระบบการศึกษาทุกระดับ
           3. ร้อยละของนักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับต่างๆ
           4. ร้อยละของนักเรียนนักศึกษา ที่มาจากสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน  หรือร้อยละของสตรีที่จบจากระบบการศึกษาในระดับต่างๆ
           5. จุดมุ่งหมายของหลักสูตรและเนื้อหาของหลักสูตร

การปฏิรูปการศึกษามักจะเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง  เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเปลี่ยนจากการศึกษาแบบดั้งเดิม  ซึ่งเป็นการศึกษาของคนชั้นสูง เปลี่ยนเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อประชาชนทั่วไป จะเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ระบบโครงสร้างทางการศึกษาที่มีผลต่อการจัดการทรัพยากรและหลักสูตร

การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้ คือ
            1. ความซับซ้อนของการปฏิรูป (Complexity)
            2. ความมุ่งมั่นของทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ (Commitment)
            3. ความมีรูปแบบเดียวกัน(Uniformity)
            4. ทรัพยากร (Reform)

สำหรับยุทธวิธีที่ใช้ในการปฏิรูปการศึกษาที่ใช้กันอยู่มี 2 ยุทธวิธี คือ ยุทธวิธีตรง เป็นยุทธวิธีที่ใช้อำนาจ หรืออำนาจเชิงบริหารดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย กับ ยุทธวิธีโดยอ้อม เป็นยุทธวิธีที่ใช้สิ่งล่อใจ  หรือชักชวนให้เห็นคุณค่าของการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริง  การปฏิรูปจะประสบความสำเร็จเมื่อใช้สองวิธีรวมกัน

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศเผชิญเงื่อนไขทางการศึกษาและเศรษฐกิจต่างกัน จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาและใช้ยุทธวิธีในการปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกัน

การปฏิรูปการศึกษา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่และซับซ้อน จำเป็นต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองสูง และต้องมีงบประมาณสนับสนุนสมำ่เสมอ
 
การปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้เกิดจากข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกฝ่ายด้วย
                -------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

                จัดธรรมะให้เป็นระบบการศึกษา  แล้วมนุษย์ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง
                                                                                         พุทธทาสภิกขุ
                                      ---------------------------------------------------------------



วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล

Don Tapscott  ได้เขียนหนังสือชื่อ The Digital Economy ในปีพ.ศ. 2539 (ค.ศ.1996)  กล่าวว่า สถานการณ์ของโลกยุคใหม่  ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ยุคเครือข่ายทางปัญญา คือ เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งข่าวสารทั้งหมดจะอยู่ในรูปดิจิตอล ที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว มากกว่า มีคุณภาพดีกว่า  และสามารถส่งข่าวสารได้หลายรูปแบบ  โดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่

เศรษฐกิจดิจิตอล เป็นเศรษฐกิจของผู้มีความรู้  เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความรู้ เป็นยุคทึ่ทำงานโดยคนมีความรู้  บริโภคโดยคนมีความรู้ มีการแข่งขันเพื่ออนาคตในการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ

เศรษฐกิจดิจิตอล  องค์กรจะแตกตัวเล็กลง เป็นเศรษฐกิจแบบเครือข่าย  มีนวัตกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  เป็นเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์  ที่ถูกผลักดันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

เศรษฐกิจดิจิตอล  ทำให้การศึกษาแบบเดิมไล่ตามความต้องการแบบใหม่ไม่ทัน ทำให้เกิดการศึกษาแบบใหม่ในระบบเศรษฐกิจยุคดิจิตอล  ที่ต้องอาศัยระบบการคิดที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง  มีขอบเขตกว้างขวางกว่าเดิม มีความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับการทำงานมากขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของการศึกษาแบบใหม่มีดังนี้

          1. การทำงานและการศึกษากลายเป็นสิ่งเดียวกัน  เพราะเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่อาศัยความรู้และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ  ทำให้เกิดการรวมกันระหว่างการทำงานกับการศึกษา  เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ คือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา  เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในยุคเศรษฐกิจแบบเก่าความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆมีเพียงเล็กน้อย

          2. การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดชีวิต ในยุคเศรษฐกิจแบบเก่า  ชีวิตถูกแบ่งเป็น 2 ฃ่วง คือช่วงเวลาศีกษากับช่วงเวลาทำงาน  ในช่วงศึกษาจะศึกษาจากสถาบันการศึกษา และใช้เวลาที่เหลือของชีวิตทำงานและเติบโตไปตามสายงาน แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่  ผู้ทำงานจะต้องทบทวนความรู้ที่มีอยู่ตลอดเวลาหรืออาจตลอดชีวิต  การศึกษากลายเป็นกระบวนการที่ต้องทำตลอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญคือผู้ก้าวทันอนาคต การศึกษากลายเป็นศิลปะของการมีชีวิตอยู่

          3. การศึกษาเปลี่ยนจากการเรียนในสถาบันการศึกษาตามปกติไปสู่ภายนอก  เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ต้องอาศัยความรูั ต้องการการศึกษาตลอดชีวิต  เอกชนจึงต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบด้านการศึกษามากขึ้น การศึกษาซึ่งครั้งหนึ่งเรียนรู้กันในวัด ต่อมาเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และสุดท้ายกำลังเปลี่ยนไปอยู่ในมือของภาคธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจแบบใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยความรู้ บริษัทและคนทำงานจะต้องรับผิดชอบในการศึกษา  เพื่อให้การทำงานงานมีประสิทธิภาพ ความรู้คือปัจจัยในการประกอบอาชีพ เทคโนโลยีและรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

           4. สถาบันการศึกษากำลังปรับตัวเพื่อให้ตัวเองยังมีประโยชน์ต่อไป  แต่การปรับตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง  ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล  การศึกษาไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนได้ทั้งหมด  ทำให้สถาบันการศึกษาต้องทบทวนบทบาทของตนเอง คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเตอร์เนตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

           5. ความจำเป็นในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้กลายเป็นจิตสำนึกขององค์กร  องค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเพิ่มความรู้ความสามารถ เพื่อจะได้กระทำในสิ่งที่ต้องการ  องค์กรแห่งการเรียนรู้เกิดจากการทำงานเป็นทีม  มีการแข่งขัน มีวิสัยทัศน์ และการเรียนรู้ร่วมกัน

           6. สื่อแนวใหม่สามารถเปลี่ยนระบการศึกษาทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศเพื่อใช้ในการทำงานและการเรียนพร้อมกัน สำหรับเศรษฐกิจยุคดิจิตอล พื้นฐานด้านสารสนเทศและวัฒนธรรมที่สร้างโดยมนุษย์ กำลังกลายเป็นสิ่งที่พบได้ในทางด่วนข้อมูล ช่วยให้สามารถฝึกอบรมความสามารถพิเศษต่างๆ เช่น เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ ฯลฯ ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ในที่ทำงาน ในรถยนต์ หรือที่บ้านก็ได้  จะเห็นว่า  นอกจากสถาบันการศึกษาจะเปลี่ยนระบบการศึกษาให้อยู่ภายในมือของเอกชนมากขึ้นแล้ว  เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเปลี่ยนสถาบันการศึกษาได้ เทคโนโลยีอาจทำให้ครูมีหน้าที่กระตุ้น  อำนวยความสะดวก แทนการพูดแต่ข้อเท็จจริงซ้ำไปซ้ำมา การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุด สื่อประสมทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้น และเกิดขึ้นต่อๆไป  เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลากหลาย โดยมีเทคโนโลยีนำ
                  ---------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                      โลกเป็นโรงเรียนฝึกฝนตนเองชั้นเยี่ยม   
                       เป็นสถานที่ซึ่งช่วยให้เราได้เรียนรู้บทเรียนอันหลากหลาย  
                                       ตลอดจนความสุขและความทุกข์ของชีวิต
                                                                     E.R.M.K.Gupta
                                           --------------------------------------------------------


วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

ครูในยุคของการเปลี่ยนแปลง

จากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว(ในตอนก่อนๆ) ส่งผลกระทบต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการศึกษาเองมีประสิทธิภาพประการหนึ่ง  กับเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ มีลักษณะเหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป สามารถสนองตอบความต้องการที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ อีกประการหนึ่ง

การปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น  สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา จนถึงระดับประเทศ สามารถปรับปรุงตั้งแต่เรื่องเล็กๆ  วิธีการง่ายๆ  จนถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างกว้างขวาง

การปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น อาจเป็นเพียงการปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มวัสดุการเรียนการสอน เพิ่มเวลาสอน จนถึงการปรับรื้อโครงสร้างใหม่ หรือ นำวิธีการทางธุรกิจ  อุตสาหกรรมมาใช้ทางการศึกษา

ครูเป็นศูนย์กลางของกระบวนการทางการศึกษา การปรับปรุงการศึกษาจะต้องมุ่งปรับปรุงครู จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง  การปรับปรุงครูจะต้องปรับปรุงในเรื่องต่อไปนี้

          1. การรับครู จะต้องรับคนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู ถือเป็นความสำคัญอันดับแรก  แต่พบว่าคนเก่งคนดีทั้งชายหญิงหันไปสนใจอาชีพอื่น ทั้งนี้ เพราะรางวัลและแรงจูงใจต่ำ เมื่อเปรียนเทียบกับการประกอบอาชีพอื่น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู  การเป็นครูจึงควรได้รับค่าจ้างเท่ากับที่จ่ายให้อาชีพชั้นสูงอื่นๆ  การจ่ายเงินเดือนครู จะต้องพิจารณาจากการสอนและผลิตภาพ มากกว่าที่จะพิจารณาจากการถือครองตำแหน่ง

          2. การเตรียมครู จะต้องเหมาะสมกับการทำงานในระดับวิชาชีพชั้นสูง จึงจำเป็นจะต้องปฏิรูปสถาบันการฝึกหัดครูใหม่ ให้เป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และการทดลองอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง  เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางของการใช้นวัตกรรม เป็นสถานที่ทดลองการวิจัยและกระตุ้นให้นำผลการวิจัยไปใช้ เป็นสถาบันการฝึกหัดครูที่ใกล้ชิดกับสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่างานของสถาบันสอดคล้องกับสังคม  ในขณะเดียวกัน สถาบันจะต้องใกล้ชิดกับโรงเรียนและครู รวมทั้งสถาบันการฝึกหัดครูจะต้องมีพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ไม่ใช่พยายามรักษาสภาพเดิมไว้

           3. ครู จะต้องเป็นครูที่มีผลิตภาพสูง จึงจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การสอนแบบโปรแกรม การสอนเป็นทีม ตลอดจน ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่า เทคโนโลยีจะกลายเป็นนายของครู  แต่ครูควรมีเจตคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการของตนและนักเรียน

จะเห็นว่า การปรับปรุงครู  เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมสารสนเทศ สังคมแห่งการเรียนรู้ จะต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สถาบันการฝึกหัดครู การรับครู การจ้างครู และการทำงานของครู   จึงจะได้ครูสอดคล้องกับยุคของการเปลี่ยนแปลง สามารถสนองตอบความต้องการที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้
           ------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                                             เสรีภาพ ไม่ใช่การตามใจ
                               -------------------------------------------------------------------------