วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ISO 9000 กับการศึกษา

ISO 9000 เริ่มใช้ครั้งแรกในทวีปยุโรป  เป็นผลงานขององค์การนานาชาติเพื่อการสร้างมาตรฐาน มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า International Organization for Standardization ซึ่งเขียนย่อได้ว่า IOS คล้ายกับภาษากรีกว่า ISOS แปลว่า เอกพันธ์ หรือ รูปแบบเดียวกัน

แต่ IOS ยังออกเสียงคล้าย chaos ซึ่งแปลว่า ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ คำว่า IOS จึงไม่เป็นที่นิยม และได้เปลี่ยนเป็น ISO ซึ่งย่อมาจากคำว่า International Standard Organization แล้วตามด้วย 9000 ซึ่งมีลักษณะเป็นอนุกรม อันประกอบด้วย

ISO 9000 เกี่ยวกับการจัดการเชิงคุณภาพ และมาตรฐานการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นมาตรฐาน ที่บอกแนวทางการเลือกใช้ระบบประกันคุณภาพ

ISO 9001ระบบคุณภาพเกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา การผลิต การติดตั้ง และการบริการ

ISO 9002 ระบบคุณภาพเกี่ยวกับตัวแบบ เพื่อการประกันคุณภาพการผลิตและการติดตั้ง

ISO 9003 ระบบคุณภาพเกี่ยวกับตัวแบบ เพื่อประกันคุณภาพในการตรวจสอบขั้นสุดท้ายและการทดสอบ

ISO 9004 เกี่ยวกับการจัดการเชิงคุณภาพ และปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับระบบคุณภาพ

ISO 9000 เป็นชื่อระบบ แต่ในทางปฏิบัติจะเลือกใช้ ISO 9001  ISO 9002  ISO 9003 หรือ ISO 9004 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าดำเนินการอยู่บนส่วนใด ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นเริ่มตั้งแต่การวิจัย การพัฒนา การออกแบบ และต่อเนื่องไปจนถึงการผลิต การทดสอบ การตรวจสอบ การบรรจุ ไปจนถึงการตลาด จะใช้ ISO 9001
ถ้ามีกรรมวิธีการผลิตอยู่แล้ว ทำการผลิตอย่างเดียว และดำเนินการไปจนถึงการตรวจสอบ จะใช้ ISO 9002  ถ้าเพียงแต่รับสินค้ามาตรวจสอบ ตรวจรับ จะใช้ ISO 9003 และถ้าเพียงแค่หาข้อมูลพื้นฐาน และวิธีดำเนินการของระบบคุณภาพ จะใช้ ISO 9004

ISO 9000 ออกแบบครั้งแรก สำหรับโรงงานอุสาหกรรมการผลิต ต่อมาขยายเป็นอุตสาหกรรมบริการ ฉะนั้น ภาษาและวิธีการจึงไม่คุ้นกับคนในวงการศึกษาส่วนใหญ่ แต่ที่ใช้ในวงการศึกษาได้  เพราะการศึกษาเป็นระบบเช่นเดียวกับการผลิตอื่นๆ ที่ต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ  โดยที่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการพอใจ เพราะสามารถประกันได้ว่าจะต้องมีคุณภาพสม่ำเสมอ

ISO 9000 เป็นเรื่องใหม่ในวงการศึกษา เริ่มนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2532   โดยมีปรัชญาว่า คุณภาพจะต้องสร้างในระบบและการดำเนินการขององค์การ การตรวจสอบหลังการผลิต  ไม่เพียงพอต่อการประกันคุณภาพ เพราะการประกันคุณภาพเป็นเรื่องของการป้องกัน ไม่ให้เกิดความผิดพลาด มากว่าการแก้ไขผลิตภัณฑ์

ISO 9000 เป็นมาตรฐานของระบบคุณภาพชุดหนึ่ง ที่สามารถประกันว่า การผลิตจะมีคุณภาพสม่ำเสมอ เพราะมีระบบที่ได้มาตรฐาน  เป็นระบบองค์การที่มีเป้าหมาย มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน
                  ---------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                                   ความอดทนเป็นยารักษาความทุกข์ยากทั้งปวง
                                                                           สามก๊ก
                                            --------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษาในสาธารณรัฐเกาหลี

หลังจากการศึกษาในสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ได้ขยายเชิงปริมาณจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงหาทางยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางและโครงการปฏิรูปการศึกษาขึ้น  ซึ่งมีรายละเอียดของการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้

เหตุที่ต้องปฏิรูปการศึกษา มีดังนี้
                1. ระบการศึกษาเดิมขาดความหลากหลาย ขาดความคิดสร้างสรรค์ เน้นการเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา  การเรียนการสอนเน้นการท่องจำ การประเมินผลเน้นการวัดการจำและการแข่งขันเพื่อคะแนน
                2. ระบบบริหารโรงเรียนขาดความอิสระและไม่สร้างสรรค์  นโยบายการบริหารมีรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยรวมศูนย์การบังคับบัญชาที่ส่วนกลาง
                3. ขาดการลงทุนที่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง ห้องเรียน ครู อุปกรณ์การเรียนการสอน และเครื่องมือทางเทคโนโลยีอื่นๆ
                4. ความกระตือรือร้นในการเรียนต่อมีมากเกินไป  ทำให้ชาวเกาหลีทุ่มเทเพื่อให้บุตรหลานและตัวเองได้รับการศึกษาสูงขึ้นอย่างมาก

แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  ได้ประกาศยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา  เพื่อให้ชาวเกาหลีใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ โดยมีแนวทาง ดังนี้คือ
                 1. สร้างระบบพื้นฐานสำหรับรองรับรัฐสวัสดิการทางการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแบบเปิด  ที่เอื้อต่อการศึกษาได้อย่างสะดวก ง่ายดาย มีระบบการศึกษาแบบสะสมเครดิต การเรียนนอกเวลาทำงาน การศึกษาทางไกล มีการสื่อสารหลายมิติ และสะดวกในการโยกย้ายข้ามสาขาวิชา
                 2. ปรับมหาวิทยาลัยให้มีหลากหลายรูปแบบ เพราะการบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีลักษณะคับแคบ และขาดความกระตือรือร้นในการทำงานวิชาการ  ขาดการวิจัยเพื่อการพัฒนา จึงปรับมหาวิทยาลัยให้หลากหลายตามความต้องการของชุมชน มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง และรัฐต้องเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนการวิจัย
                 3. ชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น  โดยสร้างองค์กรชุมชน โรงเรียน และสภาโรงเรียนให้มีอำนาจในการบริหารโรงเรียน การกำหนดนโยบาย การคัดเลือกผู้บริหาร คัดเลือกครู  ทำให้โรงเรียนมีบทบาทตรงกับความต้องการของชุมชนมากขึ้น
                 4. ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และศีลธรรม  มีการนำเอาบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการประเมิน ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
                  5. ปรับวิธีการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อลดการแข่งขันในการสอบเรียนต่อ โดยจะพิจารณาจากผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษา การเขียนเรียงความและการสัมภาษณ์ แทนการสอบวัดความรู้ด้วยข้อสอบประนัยเพียงอย่างเดียว
                  6. ปรับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  ให้ตอบสนองความต้องการและศักยภาพของนักเรียน เช่น จัดโรงเรียนที่เสริมสร้างอัจฉริยภาพของนักเรียนทางด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น  ปรับวิธีการรับเข้าเรียน ปรับปรุงห้องเรียนให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี
                  7. ปรับระบบการประเมินผลและระบบสนับสนุนการเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา ปรับระบบการสนับสนุนการเงินให้สัมพันธ์กับผลการประเมินโรงเรียน  โรงเรียนใดมีผลการประเมินออกมาดี จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินสูง
                  8. พัฒนาและยกระดับวิชาชีพครู  โดบปรับหลักสูตรการผลิตครู ระบบการฝึกอบรมครู ลดชั่วโมงการทำงานของครู โดยจัดให้มีหน่วยสนับสนุนการสอนของครู
                   9. ปรับระบบอาชีวใหม่ เป็นระบบอาชีวตลอดชีวิต  เรียนได้ตามความถนัด  บนพื้นฐานอยู่บนความร่วมมือระหว่าโรงเรียนกับโรงงาน และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการอุตสาหกรรม
                  10. สนับสนุนสถาบันการศึกษาเอกชน  ด้วยการให้อำนาจอิสระในการบริหาร  และให้การสนับสนุนด้านการเงินและวิชาการ
                  11. ปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปมีความชัดเจน  และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามบุคคล
                  12. เพิ่มงบประมาณทางการศึกษาให้ถึงร้อยละ 5 ของรายได้ประชาชาติ เพื่อปรับปรุงปัจจัยต่างๆที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มากขึ้น
              -------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

                               ผู้รอบรู้มักถ่อมตัว ผู้โง่เขลามักหยิ่งยะโส
                                                                 สามก๊ก
                      ----------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่ง  ที่ปฏิรูปการศึกษาเพื่อต้อนรับคริสต์ศตวรรษที่ 21  ในการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานของญี่ปุ่น คณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดบทบาทของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน เพื่อการศึกษาไว้ดังนี้

การศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัด คณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้
                   1. ปรับเนื้อหาในหลักสูตรให้เหลือสิ่งที่เป็นพื้นฐาน  ลดจำนวนชั่วโมงเรียนในแต่ละวิชา รวมทั้งลดการเรียนด้วยการท่องจำ
                   2. ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตามแนวที่เขาถนัด โดยหลักสูตรจะต้องมีวิชาเลือกมากขึ้น
                   3. ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพและจริยธรรม โดยจัดกิจกรรมอาสาสมัคร การเล่นกีฬาจนเป็นนิสัย เป็นต้น
                   4. จัดเวลาให้เด็กได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้มา
การที่จะช่วยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้  คณะกรรมการปฏิรูปได้เสนอแนะว่า
                               1) จะต้องพัฒนาครูทั้งโรงเรียน โดยคุณภาพและทักษะของครูจะต้องได้รับการปรับปรุง
                               2) ผู้ทำงานในส่วนอื่นๆ จะต้องให้ความร่วมมือ  ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน  และจะต้องมีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ
                               3) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียนจะต้องได้รับการปรับปรุง
                               4) การศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนจะต้องได้รับการส่งเสริม
                               5) เด็กพิการทางกายและสมอง จะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

การศึกษาที่บ้าน คณะกรรมการปฏิรูปสรุปว่า บ้านจะต้องรับผิดชอบลักษณะนิสัยของเด็ก เพราะบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาทุกแขนง  บ้านจึงต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และความมีระเบียบวินัยขั้นพื้นฐาน โดยคณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดแนวปฏิบัติ  ดังนี้
                      1. จะต้องจัดให้มีเครือข่าย ที่จะช่วยให้พ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของลูก
                      2. ขยายกิจกรรมที่ พ่อ แม่ ลูก จะต้องทำร่วมกันให้มากขึ้น
                      3. สนับสุนด้วยวิธีการต่างๆ  ให้พ่อแม่ได้มีส่วนร่วมในการให้การศึกษาที่บ้าน

โปรแกรมการศึกษาที่ชุมชนจะต้องมีสวนร่วม คณะกรรมการปฏิรูปได้เสนอแนะแนวปฏิบัติไว้ดังนี้
                      1. แต่ละชุมชนจะต้องมีสถานที่ที่เด็กสามารถทำกิจกรรมได้
                      2. ขยายโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมในชุมชน
                      3. ส่งเสริมให้มีผู้นำชุมชนเกี่ยวกับกิจกรรมของเด็ก
ในการนี้ จำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาในชุมชน  โดยผ่านคณะกรรมการการศึกษาของท้องถิ่น

ความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน บ้าน และ ชุมชน คณะกรรมการปฏิรูปให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
                      1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียน เชิญคนในชุมชน และพ่อแม่เข้าร่วมในโปรแกรมต่างๆของโรงเรียน
                      2. ลดภาระของโรงเรียนในด้านอบรมดูแลระเบียบวินัย  ตลอดจนการแนะแนวลง
                      3. หาวิธีให้โรงเรียน  สามารถประเมินผลกิจกรรมภายนอกโรงเรียนของเด็กได้
                      4. ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของสมาคมครูผู้ปกคองอย่างจริงจัง

สำหรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปฏิรูปกำหนดขึ้น เพื่อการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวม มีดังนี้
                      1. โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน จะต้องมีบทบาทในลักษณะร่วมมือกัน
                      2. จะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล
                      3. จะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษาที่เป็นสากล การศึกษาที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโรงเรียน พ่อแม่ และชุมชน ในการพัฒนาเด็กให้เหมาสมกับความถนัดของตน และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 21
                 ----------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                  ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมพ่ายแพ้แก่ความพยายามที่สม่ำเสมอ
                                                                       หลวงวิจิตรวาทการ
                                         -----------------------------------------------------------

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษาในออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง เอื้อกับยุคโลกาภิวัตน์ เอื้อกับยุคสังคมสารสนเทศ โดยที่สภาที่ปรึกษาการวางแผนทางเศรษฐกิจ ได้เสนอรายงานชื่อ "การศึกษาและการฝึกอบรมในทศวรรษที่ 1990 (Education and Training in the 1990s)" ต่อรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา  ในรายงานที่เสนอต่อรัฐบาล มีสาระสำคัญดังนี้

          1. การขยายการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ  ต่อการปรับปรุงสังคมและเศรษฐกิจให้ดีขึ้น  ซึ่งการปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นสามารถทำได้หลายระดับและหลายวิธี  เช่น การปรับปรุงเทคนิคการสอน การปฏิรูปสถาบันการศึกษา การปรับปรุงการเข้าไปตรวจสอบ และการมีส่วนรับผิดชอบของนักเรียนนักศึกษา พ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้บริหาร

          2. จะต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การศึกษาที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีลักษณะ เช่น มีมาตรฐานการศึกษาสูง เน้นการเตรียมการด้านอาชีพสำหรับนักเรียนนักศึกษา ยอมรับว่าอาชีพครูเป็นวิชาชีพ มีทางเลือกที่หลากหลายเพื่อที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนสถาบันการศึกษากับนายจ้างมีควมสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเป็นระบบการศึกษาที่สามารถในการแข่งขันและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย

          3. ระบบการศึกษาจะต้องสามารถเข้าไปตรวจสอบได้  โดยผู้ตรวจสอบอาจจะเป็นผู้เรียน ครู พ่อแม่ สถาบันการศึกษา รัฐบาล นายจ้าง และชุมชน

          4. การศึกษาและการวิจัย มีความสำคัญต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากร ปรับปรุงการผลิตและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพโดยรวม

          5. การศึกษาในออสเตรเลีย  จะต้องจัดเพื่อความเป็นเลิศของระบบการศึกษาและของผู้เรียน มีความเท่าเทียมกันในโอกาส มีพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อและการฝึกอบรม ตลอดจนมีพื้นฐานในการทำงานและการใช้ชีวิตในบ้าน

          6. การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม จะต้องปฏิรูปให้สามารถตอบสนองความต้องการทางอุตสาหกรรม และอุปสงค์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโครงสร้างทางอุตสาหกรรม ตลอดจนเพื่อการปรับปรุงคุณภาพ ปริมาณ ให้ดีขึ้น

          7. สถาบันอุดมศึกษาจะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เกี่ยวกับคุณภาพของการสอนและการสอนเพื่อคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ

          8. ผู้จบการศึกษาจะต้องมีสมรรถนะที่นายจ้างต้องการ

จากแนวทางการปฏิรูปดังกล่าว ทำให้การศึกษาในออสเตรเลียมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

                  (1) เน้นการทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นกลุ่มโดยมีความรับผิดชอบร่วมกัน และสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

                   (2) การศึกษาระดับต่างๆ  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

                   (3) มีความเป็นผู้นำร่วมกัน แต่ละคนมีอำนาจในตน โดยไม่ยึดบทบาทตามตำแหน่ง

                   (4) เป็นการบริหารจัดการที่มีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์

                   (5) เปลี่ยนหลักสูตรที่ยึดเนื้อหาแบบดั้งเดิม มาเป็นการบูรณาการเนื้อหาวิชามากขึ้น

                   (6) มุ่งสร้างสมรรถนะการทำงานและการเรียนรู้ เช่น การแก้ปัญหา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการเรียนรู้วิธีเรียน เป็นต้น

                   (7) จัดหลักสูตรทีสนองความต้องการของผู้เรียน  มากกว่าที่จะสนองเนื้อหาวิชา

                   (8) ผู้บริหารมีความชัดเจนในตำแหน่ง ในเรื่องการตรวจสอบอำนาจ และความรับผิดชอบ

จะเห็นว่า  การปฏิรูการศึกษานั้นไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบเฉพาะบุคคลในวงการศึกษาเท่านั้น แต่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย  การปฏิรูปการศึกษาจึงจะประสบความสำเร็จ
              ---------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

                       องค์การ สำนักงาน และแหล่งธุกิจต่างๆ ต้องการคนที่ทำงาน
                             แต่ไม่ต้องการคนที่มีปริญญาสูงๆ  แต่ไม่ทำอะไร
                        --------------------------------------------------------------------------------