วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น มีความรู้ เพิ่มทักษะและสมรรถนะ ที่เอื้อต่อการพัฒนา ทั้งการพัฒนาตนเอง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

ทรัพยากรมนุษย์เริ่มได้รับความสนใจราวๆช่วงปี พ.ศ. 2493 เนื่องจากมีการวิจัยพบว่า การเพิ่มคุณภาพของแรงงานด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

ประกอบกับยุคสมัยของการเป็นอาณานิคมยุติลง ทำให้ประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ๆ ต้องหันมาสนใจเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อทดแทนคนต่างชาติที่เคยประกอบวิชาชีพเหล่านั้น รวมทั้งความต้องการเร่งรัดการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดแรงกดดันให้ประเทศต้องรีบเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ขาดแคลน ตลอดจนสาขาที่มีความต้องการเร่งด่วน

นอกจากนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า ขีดจำกัดของการพัฒนาประเทศ ไม่ได้อยู่ที่เงินเพื่อการลงทุน แต่อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ จึงทำให้เพิ่มความสนใจเรื่องทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น

ทรัพยากรมนุษย์ได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยค่อยๆเปลี่ยนความสำคัญจากทรัพยากรธรรมชาติและเครื่องจักร มาเป็นทักษะของมนุษย์ที่เป็นรากฐานการผลิต คุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ในแง่ของเศรษฐกิจจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไซมอน คุชเนท(Simon Kuznet) ได้ทำการศึกษาและพบว่า สัดส่วนของรายได้ประชาชาติที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรอื่น ได้ลดลงจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 25 ในขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ช่วยสนับสนุนให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 75

นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีส่วนสำคัญทีทำให้ทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อฐานะและความก้าวหน้าของประเทศมากขึ้น เพราะถ้าหากทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างดี และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดำเนินไปด้วยดี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

ในเรื่องของการวัดระดับการพัฒนาประเทศก็เช่นกัน ทรัพยากรมนุษย์ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาที่สำคัญ  หากประเทศใดที่ทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา   ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นไม่รู้หนังสือ   ขาดทักษะที่จำเป็๋น มีผลิตภาพต่ำ ความชำนาญเฉพาะด้าน ทั้งด้านอาชีพและด้านการค้ามีจำกัด การสร้างผู้ประกอบการขาดประสิทธิผล ประชากรมีค่านิยมตามประเพณีและสถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม ทำให้การจูงใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงลดลง

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ทรัพยากมนุษย์อย่างมีประสิทธิผลเป็นที่น่าประทับใจ คือ ประเทศเกาหลีใต้ มีผลที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่สูง สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะแรกนั้น ประกอบด้วย 

          1. ระบบการศึกษาที่มีการพัฒนาอย่างดี ประสบความสำเร็จในการจัดประถมศึกษาสำหรับทุกคน ประชากรมีความสามารถในการบริหารจัดการและการประกอบการ

          2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกที่เน้นการใช้แรงงานอย่างจริงจัง โดยไม่สนับสนุนการผลิตที่เน้นการใช่ทุน

          3. รักษาระดับค่าจ้างและเงินเดือนของภาคเศรษฐกิจระดับกลางและภาคทันสมัย ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ

          4. ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน พร้อมๆไปกับการปฏิรูปที่ดินและการทำฟาร์มขนาดเล็ก

          5. มีการผลิตกำลังคนที่มีการศึกษาสูง ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผล

ในปีพ.ศ. 2508 การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จัดอยู่ในระดับกลางๆ คืออยู่ระดับที่ 56 จากทั้งหมด 120 ประเทศ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว เท่ากับ 687 ดอลล่าร์สหรัฐ

แต่ในปี พ.ศ.2530 เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาได้สูงสุดประเทศหนึ่ง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีจัดอยูในกลุ่มสูงสุดของโลก คือมีรายได้ 2,690 ดอลล่าร์สหรัฐ จัดอยู่ในกลุ่ม 40 ประเทศที่มั่งคั่ง และเป็นประเทศที่พัฒนาได้ดีที่สุด 5 ประเทศแรก

จะเห็นว่า ทรัพยากรมนุษย์โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาที่สำคัญ สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล แม้จะไม่เป็นปัจจัยเดียวก็ตาม

จึงสามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง จะต้องใช้วิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนาที่มุ่งประชาชน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนา มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ และนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนในที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ 

ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง พลังงาน ทักษะ และความรู้ของมนุษย์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและ          บริการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม

                                                                       Frederick H. Harbison

*********************************************************************************




วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

หากจะมองย้อนกลับไปดูระบบการศึกษา จะเห็นว่า การศึกษาเป็นระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานและใช้เงินภาษีอากรมากที่สุด ร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายในระบบการศึกษาถูกจ่ายเป็นค่าจ้างและเงินเดือน

นอกจากนั้น การศึกษายังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยตนเอง การขยายการศึกษาชั้นประถมศึกษาทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพิ่มผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดอุดมศึกษามากขึ้น และเมื่อขยายระดับอุดมศึกษาทำให้เกิดบัณฑิตศึกษามากขึ้น กลายเป็นความต้องการทางการศึกษาที่ไม่รู้จักพอ

การศึกษาเองก็ทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษา การศึกษายิ่งเจริญเติบโตมากขึ้นเท่าไร ประชาชนจะยิ่งต้องการการศึกษามากขึ้นเท่านั้น แต่การเจริญเติบโตทางการศึกษามีลักษณะ"เพิ่มขึ้นแบบเดิมๆ"ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางศึกษาที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาจึงเกิดขึ้น

สำหรับปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มด้วยกัน และแต่ละกลุ่มจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

          1.ผลผลิตของระบบการศึกษา เกือบทุกประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายการประถมศึกษาสำหรับทุกคน ปัญหาอยู่ที่ว่าจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เร็วแค่ไหน เพราะในระยะแรกของการพัฒนา ความสำคัญตกอยู่ที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนามากๆ และการขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาเองก็จำเป็นจะต้องใช้ครู ซึงผลิตโดยระดับอุดมศึกษา

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถบรรลุการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคนได้โดยปราศจากการลงทุนทางการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป

ไม่มีใครแย้งความคิดที่ว่า เด็กทุกๆคนควรมีโอกาสเรียนการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่การจัดการศึกษาให้เด็กด้วยครูที่ไม่มีคุณภาพ ขาดตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ  จะเป็นการหลอกลวงมากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องคุณภาพของเด็กนักเรียน

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เกิดปัญหาว่าจะเลือกการขยายโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำอย่างรวดเร็ว หรือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างช้าๆ แต่พบว่ามักจะเลือกประการแรก ทั้งนี้เพราะเกิดจากความกดดันทางการเมือง และเมื่อขยายการศึกษาระดับประถมศึกษา ความกดดันที่จะให้ขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปจะตามมา ผลก็คือจะได้ผู้เรียนที่จบจากระดับประถมศึกษาที่ด้อยคุณภาพ เพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา  ทำให้ได้ผู้จบการศึกษาในระบบของประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ไม่ค่อยจะตรงกับความความต้องการของประเทศ

            2. การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แทบทุกประเทศ จะพบว่าเด็กในเมืองมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนที่ดีกว่าเด็กในชนบท และกรณีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยจะได้ประโยชน์กว่า การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นระบบการศึกษาสำหรับคนส่วนน้อยโดยค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ และหากพิจารณาในเรื่องความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา จะพบว่าเป็นความเท่าเทียมกันในเชิงปริมาณมากกว่าเท่าเทียมกันในเชิงคุณภาพ

          3. จุดมุ่งของการศึกษา ในประเทศกำลังพัฒนาแทบจะทุกประเทศ จุดมุ่งของการศึกษาในระบบจะมีปัญหาว่าจะสอนอะไร จะเน้นเรื่องอะไร จะเรียนวิชาใด สาขาใด และมีเกณฑ์อะไรที่จะบอกว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งผลผลิตทางการศึกษาไม่เหมือนผลผลิตของระบบอื่นๆที่มีความชัดเจน

ในเรื่องโอกาสและจุดมุ่งทางการศึกษา จะต้องสามารถวัดได้จากคุณภาพไม่ใช่วัดจากค่านิยม แต่เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะในประเทศกำลังพัฒนา การได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยมีผลอย่างสำคัญต่อการมีรายได้สูง มีตำแหน่งสูง และการมีอำนาจ มากกว่ากรณีของประเทศพัฒนา การที่มีคนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงไม่ได้หมายความว่า จะได้ผู้จบการศึกษาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ

ประกอบกับในสถาบันอุดมศึกษาเองก็พอใจที่จะสอนวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย และสังคมศาสตร์มากกว่าที่จะเปิดสอนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จนกลายเป็นคุณลักษณะของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ที่ผลิตแพทย์ วิศวกร และบุคลากรที่เกี่ยวกับช่างเทคนิคน้อยมาก แต่ผลิตนักกฎหมาย ศิลปะ และนักมนุษยศาสตร์มากเกินพอ มากจนทำให้เกิดการว่างงานของผู้มีการศึกษา

นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า การศึกษาระดับมัธยมศึกษาไม่สามารถเตรียมนักศึกษาเพื่อเรียนสาขาวิชาที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นฐานได้ ที่เป็นเช่นนี้ อาจมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่าสาขาอื่นๆ หรืออาจจะเป็นเพราะการจัดการศึกษาที่ทีคุณภาพต่ำให้กับคนส่วนมากง่ายกว่าที่จะสอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

          4. การจัดสรรงบประมาณ ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มการศึกษาในระบบ เหตุผลสำคัญก็คือ มีเด็กในวัยเรียนเพิ่มขึ้น มีอัตราผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกระดับ ประกอบกับแรงกดดันให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนารุนแรงมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่อาจจัดสรรงบประมาณได้อย่างเป็นธรรมเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาได้

           5. ข้อจำกัดขององค์การและคน เป็นการไม่ถูกต้องนักที่สรุปว่า ในการจัดการการศึกษา ข้อจำกัดทางการเงินสำคัญที่สุด ซึ่งความจริงแล้ว ทรัพยากมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูอาจารย์และผู้บริหารเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การศึกษาไม่สามารเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนไม่สามารถปรับปรุงการศึกษาในระบบให้ดีขึ้น

ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูง คือขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีสมรรถนะ ทำให้ยากที่จะพัฒนาการศึกษาในยุคสารสนเทศได้

ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่เกิดจากการขยายตัวทางการศึกษาอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับไทยก็มีปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งรัด คือเรื่องความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีลักษณะเสมอภาคในเชิงปริมาณ แต่ขาดความเสมอภาคในเชิงคุณภาพ ด้วยการจัดการศึกษา ให้เด็กในชนบทได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่คุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง เพื่อช่วยให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นทั้งระบบ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                               สาระคิด

                                           จงระวังความรู้ที่ผิดๆ เพราะความชั่วร้ายทั้งมวลเกิดจากสิ่งนี้

*********************************************************************************




วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

บุคลิกภาพมนุษย์ตามทฤษฎีของเชลดอน

บุคลิกภาพ(personality) หมายถึง ผลรวมของคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่ ความสนใจ เจตคติ อุปนิสัย ความสามารถ การพูดจา ลักษณะภายนอก และการปรับตัว

บุคลิกภาพเป็นลักษณะของแต่ละบุคคลที่แสดงให้เห็นเด่นชัด ความเด่นของลักษณะนั้นๆมีเหนือลักษณะอื่นๆ  บุคลิกภาพเป็นลักษณะที่ได้รับการหล่อหลอมจากสังคม อันมีผลทำให้บุคคลนั้นๆแตกต่างไปจากคนอื่นๆ

เชลดอน(William Sheldon) มีความเชื่อว่า บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติและรูปร่างของบุคคล  เชลดอนได้ศึกษาวิเคราะห์รูปร่างของคนจำนวนมาก และสรุปว่า โดยพื้นฐาน มนุษย์มีรูปร่างได้ 3 แบบ คือรูปร่างอ้วน รูปร่างล่ำสัน และรูปร่างผอม

รูปร่างอ้วน มีลักษณะอ้วนเตี้ย หน้ากลม มีเนื้อและไขมันมาก ร่างกายเต็มไปด้วยไขมัน พุงยื่นหนา ชอบสนุกร่าเริง ชอบอยู่สบายๆ เปิดเผย กินเก่งเพราะระบบย่อยทำงานดี มีความเชื่องช้า  อืดอาด โกรธง่ายหายเร็ว มีบุคลิกภาพประเภทรักความสะดวกสบาย ชอบสังคม ปล่อยอารมณ์ตามสบาย เป็นคนง่ายแก่การคบหาสมาคมด้วย

รูปร่างล่ำสัน มีรูปร่างแข็งแรง มีมัดกล้ามเนื้อ ร่างกายสมส่วน สง่า ไหล่กว้าง ตะโพกเล็ก ชอบกีฬาการต่อสู้ ชอบผจญภัย กระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว มีน้ำใจเป็นนักกีฬา กำยำล่ำสัน ชอบใช้กำลังหรือก้าวร้าว ขยันขันแข็ง มีพลังงานมาก มีบุคลิกภาพประเภทรักการต่อสู้ผจญภัย ชอบการเสี่ยง มักกระทำการใดๆ ที่เป็นการแสดงว่ามีอำนาจและพลังมาก

รูปร่างผอม มีลักษณะเป็นคนผอมสูง เอวบางร่างน้อย กล้ามเนื้อน้อย ไหล่ห่อ นิ้วมือเรียวยาว แขนขายาว ท่าทางบอบบาง ผิวและเส้นผมละเอียด หน้าอกแฟบ ทรวดทรงชะลูด ประสาทไวต่อความรู้สึกมาก ชอบหนีสังคม ไม่ค่อยกล้า ไม่กระตือรือร้น ใจน้อย ชอบสันโดษ ชอบอยู่ตามลำพัง อารมณ์อ่อนไหว วิตกกังวล ช่างคิด มีบุคลิกภาพประเภทไม่ชอบสังคม มีความเครียดอยู่เป็นนิจ ตัดสินใจอะไรรวดเร็ว เด็ดขาด โดยเฉพาะการแก้ปัญหา ไม่ชอบทำอะไรที่เป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

บุคลิกภาพมนุษย์ที่กล่าวมา ไม่ได้บอกว่าบุคลิกภาพใดดีกว่า แต่เป็นทฤษฎีบุคลิกภาพที่จะช่วยให้เข้าใจบุคลิกภาพมนุษย์ อันนำไปสู่การเข้าใจทีท่าของมนุษย์ เข้าใจตนเองและผู้อื่น  อันจะช่วยให้ดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติสุข
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
-
                                                                     สาระคิด

                  Some people dream of success ... while others wake up and work hard at it.

                                                                                                        Anonymous

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

บุคลิกภาพมนุษย์ตามทฤษฎีของจุง

บุคลิกภาพ(personality) หมายถึง แบบแผนของพฤติกรรมที่มีลักษณะคงที่ เป็นพฤติกรรมที่ขึ้นอยู่กับรากฐานของความคิด ความรู้สึก และการรับรู้

จุง(Carl G. Jung) จิตแพทย์ชาวสวิส ซึ่งศึกษาและพัฒนาจิตวิทยาจิตวิเคราะห์ ได้แบ่งบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (introvert) และ บุคลิกภาพแบบแสดงตัว(extravert)

บุคลิกภาพแบบเก็บตัว เป็นบุคลิกภาพที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบมีเพื่อนมาก ยึดมั่นความรู้สึกของตัวเอง บางขณะจะรู้สึกว้าเหว่า ชอบอยู่ตามลำพัง สันโดษ ชอบอ่านหนังสือ เหงา จิตใจไม่มั่นคง รุนแรง ชอบคิดแต่เรื่องเกี่ยวกับตนเอง เก็บความรู้สึกได้เก่ง ไม่ชอบทำตัวเด่นเมื่อออกสังคม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม มีหลักการที่แน่นอนในการที่จะควบคุมตนเอง มีความเชื่อมั่นตนเองสูง ในสายตาของคนอื่นเห็นว่ามีลักษณะเย็นชา กล่าวโดยสรุปผู้มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว มีลักษณะดังนี้

                     +ชอบทำงานเงียบๆคนเดียว ไม่ชอบปรึกษาหารือ และทำงานได้ดี

                     +มีความวิตกเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น กลัวคนนินทาว่าร้าย กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ เป็นต้น

                     +ชอบสนใจข่าวลือ

                     +ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น

                     +ชอบเขียนมากกว่าพูด

                     +ชอบนั่งเฉยๆ นั่งคิดอยู่คนเดียว

                     +ชอบให้ยกยอ ยุขึ้น ชอบคำชมเชย

                     +ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง คนอื่นเป็นตัวประกอบเท่านั้น

บุคลิกภาพแบบแสดงตัว เป็นลักษณะของบุคคลที่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลภายนอก มีเป้าหมายที่เป็นจริงมาก ชอบหาประสบการณ์ด้วยตนเอง ชอบเข้าสังคม ชอบมีเพื่อนมาก ชอบพูดมากกว่าฟัง ช่างพูด จิตใจมั่นคง ร่าเริงแจ่มใส ปรับตัวได้ดี แสดงคว่ามก้าวร้าวได้รุนแรง ขาดการควบคุมอารมณ์ ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ เปลี่ยนแปลงความเคยชินหรือลักษณะนิสัยของตนเองได้ง่าย  กล่าวโดยสรุป ผู้มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว มีลักษณะดังนี้

                     +ถือสังคมเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำอะไรตามใจตัว

                     +ชอบทำงานเป็นหมู่พวก เป็นนักประชาธิปไตย

                     +คิดและทำตามหลักความจริง ตามข้อมูลต่างๆที่ได้มาจริงๆ

                     +ไม่สนใจตัวเองมากนัก

                     +เป็นคนทันสมัย พร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่ดึงดันยึดมั่นในอุดมการณ์เก่าๆ

                     +มีอารมณ์ดี สนุกสนาน ไม่เครียดกับการใช้ความคิด

                     +ทำอะไรทำจริงจัง ทุ่มเททุกอย่าง

                     +ชอบคิดถึงอดีต

                     +ชอบหยอกล้อ

ส่วนพวกที่อยู่กลางๆ จะมีบุคลิกภาพแบบกลางๆ(ambivert) เป็นพวกที่ไม่เก็บตัวหรือแสดงตัวมากเกินไป

ในปี พ.ศ.2464  จุงได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "รูปแบบทางจิตวิทยา(psychological Types)" ในหนังสือเล่มนี้ เขาได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

          1. พวกช่างคิด เป็นพวกที่รู้จักจำแนกแยกแยะข้อเท็จจริง สนใจศีลธรรมปรัชญา พวกนี้มีความคิดดี พยายามค้นคว้าหาความรู้ใส่ตน

          2. พวกชอบแสดงออกตามความรู้สึก เป็นพวกที่ชอบแสดงออกตามความเป็นจริง มีอารมณ์รุนแรง

          3. พวกสนใจแต่ความรู้สึกของตน เป็นพวกที่ไม่เคร่งครัดระเบียบ ไม่มีวินัยในตนเอง เป็นประเภทนึกเอาเอง และมักมีพฤคิกรรมที่คิดไม่ถึง

          4. พวกรู้สึกเร็ว เป็นพวกที่แสดงกิริยาตอบรับเร็ว ไม่ค่อยมีปรัญาชีวิต ทำอะไรลงไปตามอำนาจความรู้สึกมากกว่าใช้ความคิด

 ทฤษฎีบุคลิกภาพของจุงที่กล่าวมานี้ เป็นทฤษฎีที่มีมานาน แต่ยังนิยมใช้อ้างอิงกันอยู่ เพราะช่วยให้ทุกคนเข้าใจบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจโครงสร้างทางจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง

อย่างก็ตาม บุคลิกภาพของมนุษย์ที่กล่าวมา ไม่ได้บอกว่าบุคลิกภาพใดดีกว่า เพียงแต่ต้องการจำแนกให้เห็นถึงความแตกต่างของบุคลิกภาพมนุษย์เท่านั้นเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

                      การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส ด้วยอวัยวะสัมผัส

*********************************************************************************