วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

มนุษยสัมพันธ์

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น  เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เพราะเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน เพราะแทบจะไม่มีงานไหนในปัจจุบันที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งนี้เพราะการทำงานในปัจจุบันมีลักษณะที่เน้นคน (people intensive)มากขึ้น  ทุกตำแหน่งจะต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ลักษณะเช่นนี้มีมากกว่า 2-3 ทศวรรษแล้ว

ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังมีความจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ในหลายๆทาง  ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโต หรือการพัฒนาทางด้านความคิดและสังคม

การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดียังช่วยสร้างเอกลักษณ์ส่วนบุคคลในทางบวก มีความรู้สึกมั่นใจ ตลอดจนช่วยในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลให้ปกติหรือดีขึ้น

จาการศึกษาพบว่า ร้อยละ 80 ของคนที่ประสบความล้มเหลวในการทำงาน เกิดจากความไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะประกอบอาชีพอะไร ผู้จัดการ พยาบาล เลขานุการ ช่างไม้ อัยการ แพทย์  ครูอาจารย์ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ล้วนจะต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นทั้งสัิ้น

มนุษย์สัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จึงเป็นความผูกพันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของมนุษย์ทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม
                        --------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                        จงให้ความหวังแก่ตัวเอง  แต่อย่ามองข้ามความจริง

                                                                               Winston Churchill
                                                         -----------------------------------------
                                       

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่

เนื่องจากที่ผ่านมาระบอบเศษฐกิจแบบสังคมนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่สามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ครบถ้วน มีผลทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ขึ้นมา เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม   โดยดึงเอาเฉพาะส่วนที่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจโดยรวมมาปรับใช้ ตามความเหมาะสม  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ระบบเศรษฐกิจของชาติมากขึ้น

สำหรับลักษณะสำคัญของระบบเศรษบกิจแบบทุนนิยมใหม่ มีดังนี้

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ ยังคงยึดถือกรรมสิทธิ์ของเอกชน

ถึงแม้ครัวเรือนและหน่วยธุรกิจยังคงมีบทบาท ในการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิต แต่รัฐบาลในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการควบคุมดูแลให้เศรษฐกิจของชาติดำเนินไปได้ด้วยดี

รัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตในกิจการที่สำคัญๆ

ความเป็นเจ้าของกิจการและการบริหารกิจการจะแยกออกจากกัน คือเจ้าของกิจการไม่จำเป็นจะต้องบริหารกิจการด้วยตนเอง แต่จะจ้างมืออาชีพบริหารแทน

การแข่งขันมีแนวโน้มจะลดลง เพราะมีหน่วยธุรกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้น  โดยเกิดจากการรวมกิจการเล็กๆเข้าด้วยกันด้วยวิธีการต่างๆ  เป็นต้นว่า การซื้อกิจการของคู่แข่ง การตัดราคาจนคู่แข่งที่อ่อนแอกว่าต้องปิดกิจการไป ฯลฯ

รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้ามาดูแลมิให้มี การผูกขาดในกิจการอันอาจเป็นภัยต่อสังคม หรือการค้ากำไรเกินควร

การวางแผนได้เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร  จนบางครั้ง สามารถแทนที่กลไกการตลาดได้มากขึ้น และเกิดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม

อนึ่ง การจะมีระบบเศรษฐกิจแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับ  ภูมิหลังทางวัฒนธรรม ลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจดั้งเดิม โครงสร้างของการเมืองการปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                                   ---------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

ทฤษฎี สำหรับคนทั่วไป หมายถึง คำอธิบายสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเรื่องหนึ่งเรื่องใด  ส่วน สำหรับนักวิทยาศาสตร์  หมายถึง คำอธิบายตามหลักเหตุผล   แสดงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นอย่างมีระบบ  จนสามารถพยากรณ์สิ่งนั้นในอนาคตได้
                                                            ----------------------------------------

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบเศรษฐกิจเสรี มีลักษณะสำคัญคือ

เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต

ครัวเรือนมีเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ตามอำนาจซื้อหรือเงินที่ครัวเรือนมีอยู่

หน่วยธุรกิจมีเสรีภาพที่จะผลิตสินค้าและบริการ ตามจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

รัฐบาลอาจเข้ามาดำเนินการบางอย่างที่เอกชนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เพราะต้องอาศัยทุนจำนวนมาก เช่น การประปา การคมนาคม เป็นต้น

ในระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขันกันมาก เพราะมีหน่วยธุรกิจจำนวนมาก  แรงจูงใจของระบบเศรษฐกิจแบบนี้คือกำไร

การแจกแจงสินค้าและบริการ  เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค  เป็นไปตามอำนาจซื้อของแต่ละคน

จะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีกลไกที่จะช่วยตัดสินใจในการผลิตสินค้าและบริการ  คือกลไกการตลาด  โดยผู้บริโภคและผู้ผลิตจะทำการเสนอซื้อและเสนอขายตามราคาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน
                             -------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคำ

ปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ(ที่ดิน) แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ
                                                                         
หน่วยธุรกิจ หมายถึง หน่วยที่ใช้ทรัพยากรต่างๆ มาทำการผลิตสินค้าและบริการ

ผู้ประกอบการ หมายถึง  บุคคลที่มีความสามารถใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการ

                                                        --------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ระบบเศรษฐกิจอาจแบ่งเป็น 2 ระบบ คือร ะบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม กับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ก็สามารถแบ่งเป็น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ และระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง มีลักษณะสำคัญดังนี้

รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทรัพย์สิน  ยกเลิกสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน  โดยมีเหตุผลว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม  ต่างก็มีสาเหตุจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

รัฐบาลกลางเป็นผู้ตัดสินใจในการใช้ทรัพยากร ทั้งด้านบริโภคและการผลิต โดยวางแผนจากส่วนกลาง  รัฐจะทำหน้าที่แทนผู้บริโภคและหน่วยธุรกิจในระบบทุนนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ไม่อาศัยกำไรเป็นเครื่องจูงใจหลัก แต่ใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องจูงใจ

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม  มุ่งที่จะกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกัน  การแจกจ่ายผลผลิต จะเป็นไปตามความจำเป็นของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมีหลายระดับ  ตามความเหมาะสมของรูปแบบการเมืองการปกครอง จะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น หน่วยเศรษฐกิจที่เป็นรัฐบาล มีบทบาทในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรอย่างมาก
                                            --------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

อุดมการณ์และการปฏิบัติตามอุดมการณ์ต้องไปด้วยกัน  การดำเนินงานทางเศรษฐกิจ จึงจะมีประสิทธิผล
                                                             -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การลงทุนจากต่างประเทศมีผลเสียอย่างไร

แม้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศ  จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมก็ตาม แต่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน  ซึ่งจะเป็นผลเสียในลักษณะต่อไปนี้

ผลเสียด้านแรงงาน เนื่องจากมีแรงงานเหลือเฟือ และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ชาวต่างประเทศที่มาลงทุนจึงจ่ายค่าแรงงานต่ำ บางอุตสาหกรรมยังแก้ปัญหาแรงงานด้วยการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนอีกด้วย  ทำให้การจ้างงานมีการขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และส่วนใหญ่โรงงานมักจะตั้งอยู่ในตัวเมืองหรือใกล้เมืองใหญ่  จึงไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานที่ทำงานไม่เต็มที่ในชนบทได้

การสูญเสียเงินทุน ที่เห็นได้ชัด คือการส่งรายได้ที่เป็นส่วนของเจ้าของทุนกลับประเทศ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ เงินเดือนของพนักงานที่เป็นชาวต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนการสูญเสียเงินทุนที่มองไม่เห็น ได้แก่  การสูญเสียเงินทุนอันเกิดจาการใช้นโยบายคุ้มครอง  การสูญเสียเงินออมอันเกิดจาการซื้อสินค้าที่ชาวต่างประเทศลงทุนผลิตขึ้นในประเทศ ฯลฯ

การใช้วัตถุดิบ  อุตสาหกรรมที่ชาวต่างประเทศมาลงทุน ได้นำวัตถุดิบและสินค้าบางประเภทเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดดุลการค้าในอัตราที่สูง นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่นอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ นอกจากจะใช้วัตถุดิบภายในประเทศน้อยแล้ว ยังมีการนำสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเข้ามาเป็นจำนวนมากอีกด้วย

การลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจและสังคม  นอกจากชาวต่างประเทศจะลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น บาร์ ภัตตาคาร เป็นต้น  ซึ่งการลงทุนประเภทนี้นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการแย่งอาชีพจากเจ้าของประเทศอีกด้วย เพราะเป็นกิจการที่เจ้าของประเทศสามารถดำเนินการเองได้

การผูกขาดกิจการบางประเภท การแข่งขันกันเพื่อที่จะส่งเสริมการลงทุนของประเทศต่างๆ ด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน   จนเกิดการลงทุนในกิจการประเภทเดียวกัน ทำให้เกิดการผูกขาดการค้า เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจกับเจ้าของประเทศ

ผลกระทบต่อมลภาวะ การตั้งโรงงานจากการลงทุนของชาวต่างประเทศ บางครั้งก่อให้เกิดมลภาวะมาก ทั้งทางน้ำ อากาศ และเสียง ซึ่งมีอันตรายต่อมนุษย์และ สัตว์  มีผลทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

จะเห็นว่า การลงทุนจากต่างประเทศนั้น ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย ฉะนั้นการส่งเสริมการลงทุน จึงควรกำหนดเงื่อนไขและสิทธิพิเศษด้วยความรอบคอบรัดกุม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
                                ---------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

                                การมุ่งแต่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพียงประการเดียว
                                             จะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
                                                              --------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การลงทุนจากต่างประเทศมีผลดีอย่างไร

แม้การลงทุนจากต่างประเทศจะมีเป้าหมาย เพื่อที่จะโกยกำไรและผลประโยชน์จากประเทศที่ไปลงทุนก็ตาม แต่ประเทศสกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็พยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ประเทศอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุน ด้วยการส่งเสริมการลงทุน เป็นการให้ผลประโยชน์แก่ชาวต่างชาติ เพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น งดเว้นภาษีรายได้ธุรกิจ ยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ตั้งกำแพงภาษีคุ้มครอง  ไม่ตั้งรัฐวิสหกิจแข่งขัน สัญญาว่าจะไม่มีการโอนกิจการเป็นของรัฐ เป็นต้น  ซึ่งแสดงว่าการลงทุนจากต่างประเทศก่อให้เกิดผลดีกับประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน

จากการศึกษาพบว่าการลงทุนจากต่างประเทศก่อให้เกิดผลดี ดังนี้

ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศทำให้มีการจ้างแรงงานในประเทศมากขึ้น เป็นการลดอัตราการว่างงาน

การลงทุนจากต่างประเทศเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร  เป็นทรัพยากรจากต่างประเทศ  ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ

ช่วยบรรเทาการขาดดุลชำระเงิน เนื่องจากการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศ ที่นำมาใช้เพื่อการลงทุน

ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจที่แพร่กระจายไปสู่สาขาอื่นๆ  กล่าวคือ การนำเครื่องจักรและอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามา ทำให้เกิดวิธีการผลิตและวิธีการจัดการทางธุรกิจใหม่ๆ

ทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าใหม่ๆอยู่เสมอ เนื่องจากบริษัทต่างประเทศเข้ามาบุกเบิกในธุรกิจใหม่ๆ ในกิจการที่บุคคลในประเทศไม่กล้าทำ ไม่กล้าเสี่ยง

ทำให้อัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติสูงขึ้น   การนำเครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้  ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ มีการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญ ที่เพิ่มความรู้และทักษะของแรงงานสูงขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น

จะว่าไป ผลดีเหล่านี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรและผลประโยชน์ที่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้รับ  ก็ไม่มากมายอะไร  แต่ก็ช่วยให้เห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
                                    -----------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มของผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งมีผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
                                                   ------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ

การทำรัฐประหารในประเทศไทย มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการลงทุนจาดต่างประเทศจะลดลง  ทำให้เกิดปัญทางเศรษฐกิจตามมา

แต่จะลดหรือจะเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศจะต้องติดตามดูกันต่อไป ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศนั้น สามารถสรุปคำตอบได้ดังนี้

มุ่งกำไร เป็นวัตุประสงค์เบื้องต้นในการลงทุนจากชาวต่างประเทศ เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จาการลงทุนในประเทศของตน

การแสวงหาทรัพยากรและการขยายตลาด  เป็นการลงทุนเพื่อหวังจะจำหน่ายสินค้าของตน  ลดข้อเสียเปรียบ  ในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต  จะทำให้สามารถแข่งขันสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ หรือแข่งขันกับชาติอื่นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันได้

แสวงหาวัตถุดิบ  การที่ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนก็หวังจะแสวงหาวัตถุดิบ เช่นเหล็ก ทองแดง ไม้ น้ำมัน เพื่อในไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน เพราะประเทศที่ไปลงทุนมักจะมีวัตถุดิบจำนวนมาก

ค่าแรงราคาถูก ทั้งนี้เพราะประเทศอุตสากรรมส่วนใหญ่ขาดแรงงาน หรือไม่ก็ค่าแรงงานสูงจนมีผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงไปด้วย ส่วนประเทศที่ไปลงทุนจะมีแรงงานมาก มีการว่างงาน และค่าแรงงานต่ำ  อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำและสามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นได้

ผลประโยชน์ทางอ้อม การลงทุนจากต่างประเทศ บางครั้งไม่ได้หวังประโยชน์จากกำไร แต่มุ่งผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น เพื่อรักษาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อสร้างและรักษาตลาด เป็นต้น

หลีกเลี่ยงปัญหาความแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมทั่วๆไป  การไปลงทุนต่างประเทศก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ในประเทศของตน

หลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งโดยมากเป็นผู้ประกอบการที่ผลิดสินค้าชนิดเดียวกัน

สนับสนุนให้มีการลงทุนในต่างประเทศ โดยเหตุผลที่ว่า การลงทุนเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การยกระดับรายได้ ทำให้มีการซื้อสินค้าประเภททุนจากประเทศที่ไปลงทุน

จากเหตุผลที่กล่าวมา จะเห็นว่าการทำรัฐประหารไม่น่าจะทำให้การลงทุนจากต่างชาติลดลง ตราบใดที่ไม่ไปกระทบกำไรหรือผลประโยชน์ของประเทศที่มาลงทุน
                                -----------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคำ

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง
                                                      --------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  ส่วนใหญ่มุ่งที่การเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจเจริญเติบโต  จะเป็นขยายโอกาสในการทำงาน และเมื่อประชาชนมีงานทำ  จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

แต่จากประสบการณ์พบว่าไม่เป็นไปเช่นนั้น  เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมองตัวเลขจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็นการไม่เพียงพอ  จะต้องมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมอีกด้วย
  
เพราะหากมีกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีรายได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ  อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะไปตกอยู่ที่คนกลุ่มนั้น  ทำให้เพิ่มพูนรายได้ขึ้นเรื่อยๆ  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้ต่ำ โอกาสที่จะเพิ่มรายได้ให้กับตนเองจะน้อยลง จนก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้  มีทั้งแนวความคิดที่สนับสนุนและคัดค้าน  มีทั้งที่เห็นว่าดีและไม่ดี

แนวคิดที่เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเชื่อว่า การปล่อยให้บุคคลในสังคมมีรายได้ที่แตกต่างกัน จะก่อให้เกิดผลดี ดังนี้

            1. เป็นการส่งเสริมและจูงใจในการทำงาน  การที่บุคคลทำงานแล้วได้ผลตอบแทนอย่างเต็มที่ตามความสามารถ  จะเป็นการกระตุ้นให้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้น  เพราะยิ่งทำมากก็จะยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ผลที่ตามมาจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น
 
            2. เป็นการส่งเสริมให้มีการออมและการสะสมทุนในประเทศมากขึ้น  การมีรายได้ที่ต่างกัน จะช่วยให้บุคคลที่มีรายได้สูง มีการออมและสะสมทุน แต่หากมีรายได้เท่าเทียมกัน การออมของประชากรในประเทศจะลดลง

แนวคิดที่เห็นว่าความไม่เทียมกันของรายได้เป็นสิ่งไม่ดี   โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

             1. เหตุผลด้านความเป็นธรรมในสังคม การที่ประชากรมีรายได้ไม่เท่าเทียมกัน  จะก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ซึ่งมีจำนวนน้อย จะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่อีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีรายได้น้อย อดอยาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ  และมีโอกาสเลื่อนฐานะตนเองได้น้อย ขาดโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพ

             2. เหตุผลทางด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมือง  การที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้น้อย  และตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบทางสังคม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดขี่จากคนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวย อาจจะมีการลุกฮือล้มล้างการปกครองของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ประชาชนมีรายได้เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำได้แต่เพียงพยายามให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันตามความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันรัฐควรให้ความสนใจดูแลสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
                                  --------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคิด

เศรษฐกิจ หมายถึง การมีของกินของใช้ ระยะใดที่ประเทศมีของกินของใช้มาก กล่าวได้ว่าระยะนั้นประเทศมีเศรษฐกิจดี  ในทางตรงกันข้าม ระยะใดที่ประเทศมีของกินของใช้น้อย กล่าวได้ว่าระยะนั้นประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
                                                                                     นิรนาม
                                                      ------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ

แทบทุกประเทศต่างก็เห็นความสำคัญของการศึกษา  มีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในส่วนอื่นๆ  แต่ก็มีหลายประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ  ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ลดน้อยลงได้ กลับทำให้เกิดปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูงขึ้นมาอีก

จากการศึกษาพบว่า ที่เป็นเช่นนี้ มีสาเหตุมาจาก

ขาดการวางแผนที่ดี การวางแผนมีความจำเป็นต่อการดำเนินการทางการศึกษาในอนาคต  แต่พบว่าหลายประเทศยังขาดการวางแผนการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ  ทั้งนี้เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และแม้จะมีการวางแผนแต่มักจะขาดการวิเคราะห์โครงการ หรือมีการประเมินโครงการอย่างจริงจัง ทำให้การจัดการศึกษาไม่ตรงเป้าหมายที่ต้องการ จึงเป็นการศึกษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

การลอกเลียนแบบการศึกษาจากต่างประเทศ  คือเมื่อเห็นว่าประเทศพัฒนาทั้งหลายประสบความสำเร็จในการลงทุนทางการศึกษา จึงนำเอาแบบอย่างของประเทศพัฒนาเหล่านั้นมาใช้โดยไม่ดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัจจัย และสภาพแวดล้อมภายในประเทศ   การศึกษาจึงไม่สามารถใช้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ กลับทำให้เกิดการอพยพของผู้มีการศึกษาสูงไปทำงานต่างประเทศ หรือเกิดนิสัยเลือกงาน

 ะบบการศึกษาขาดประสิทธิภาพ เป็นการจัดการศึกษาที่เตรียมกำลังคนเพื่อเป็นเสมียนหรือทำงานในสำนักงาน  ส่วนการศึกษาระดัยสูงก็เน้นหนักในการเรียนรู้วิชาสามัญต่างๆในเชิงทฤษฎี  เรียนด้วยการท่องจำมากกว่าที่จะสอนให้รู้จักวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการริเริ่ม  นักศึกษาส่วนใหญ่มุ่งแต่ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร ไม่คำนึถึงความรู้ความสามารถที่ควรจะได้  จึงจบการศึกษาอย่างขาดคุณภาพ  ไม่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเพียงพอ นอกจากนั้น    ยังมีแนวโน้มที่จะผลิตคนในบางสาขาวิชามากเกินไป เช่น มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะผลิตได้ง่าย ต้นทุนการผลิตต่ำ  และสังคมยอมรับเท่าๆกับอาชีพนักวิทยาศาสตร์วิศวกรหรือช่างเทคนิค  ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

 ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา เป็นลักษณะการจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง ขาดครู ขาดโรงเรียน มีอุปกรณ์การศึกษาไม่เพียงพอกับความต้องการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาระดับสูง และในการจัดสรรงบประมาณมักจะทุ่มงบประมาณให้กับสถานศึกษาในเมืองมากกว่าในชนบท ทุ่มให้กับสถาบันอุดมศึกษามากว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขาดการให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน คือเน้นการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ขาดการเอาใจใส่ที่จะให้การศึกษากับคนที่อยู่นอกวัยเรียน ทำให้คนจำนวนมากไม่มีโอากสรับการศึกษาอบรม ไม่ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจแน่นนอน

 การสูญเสียกำลังคนที่มีการศึกษาสูง  คนที่มีการศึกษาสูงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เป็นกำลังสำคัญในการผลิตคิดค้นวิทยาการต่างๆ แต่พบว่าผู้มีการศึกษาสูงส่วนหนึ่งออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะมีรายได้สูงกว่า มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ก้าวหน้ากว่า ทำให้สูญเสียกำลังคนที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ไม่เว้นประเทศไทย  สำหรับประเทศไทยเองตอนนี้การศึกษาเริ่มถูกวิจารณ์ในเรื่องคุณภาพอย่างกว้างขวาง แม้ว่าการศึกษาจะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ค่อนข้างสูงก็ตาม จึงถึงเวลาแล้วที่ควรศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
                              ----------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

                                  Education is growth.     การศึกษา คือการเจริญงอกงาม

                                                                                   จอห์น ดิวอี้
                                                                  --------------------------------------