วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การรู้หนังสือสำคัญอย่างไร

เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักการศึกษาว่า พื้นฐานอารยธรรมที่สำคัญคือการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทำให้มีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้สามารถถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งได้อีกด้วย

ส่วนการพัฒนาที่ใกล้ชิดกับกับการประดิษฐ์ตัวอักษร ก็คือการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับจำนวน การอ่าน การเขียน และเลขคณิตเบื้องต้น

การเรียนรู้ การอ่าน และการเขียน ช่วยให้เข้าใจแหล่งสารสนเทศใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคลและชุมชน

มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัย พบว่า การอ่านออกเขียนได้มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกษตรกรที่สามารถอ่านออกเขียนได้และมีการศึกษาสูง จะมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรในระดับสูง ทำให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ความสัมพันธระหว่างการอ่านออกเขียนได้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ชัดเจนในชุมชนเมือง

และยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีระดับการศึกษาจำกัด จะมีอัตราการมีงานทำต่ำ มีอัตราการว่างงานสูง และงานที่ทำจะเป็นงานที่มีค่าจ้างต่ำด้วย

จากงานวิจัยและประสบการณ์ยังแสดงให้เห็นต่อไปว่า การอ่านออกเขียนได้ยังมีความสัมพันธ์กับความยากจน ผลิตภาพ การสูญเสียบุตร ภาวะทุโภขนาการ  อัตราการเพิ่มของประชากร ตลอดจน เป็นองค์ประกอบของความด้อยพัฒนาทุกด้าน การอ่านออกเขียนได้จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

และประเทศต่างๆได้เห็นถึงความสำคัญของเงื่อนไขที่จำเป็นนี้ จึงได้ประกาศสิทธิมนุษยชนสากลขึ้นในปี พ.ศ.2491ความว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การศึกษาจะต้องให้ฟรีอย่างน้อยในระดับประถมศึกษา  และการศึกษาระดับประถมศึกษาต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับ" ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า การรู้หนังสือ  เป็นการศึกษาสำหรับทุกคนที่จะต้องได้รับ อย่างน้อยที่สุดในระดับประถมศึกษา

การรู้หนังสือ(Literacy) คืออะไร การรู้หนังสือตามความหมายที่ Miller ให้ไว้ มีดังนี้

1. ความหมายของการรู้หนังสือตามประเพณีนิยม(Conventional literacy) หมายถึง มีทักษะเกี่ยวกับการอ่านและเขียนอย่างง่ายๆ เช่น สามารถอ่านและเขียนชื่อของตนเอง สถานที่ เข้าใจความหมายของคำที่มีความหมายทางสังคม และเขียนประโยคง่ายๆเพื่อการสื่อสารได้ ตลอดจนเข้าใจเครื่องหมาย ฉลาก คำสอน หรือคำสั่ง ที่จำเป็นต่อการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

2. ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติการ(Functional literacy) หมายถึง ชุดของทักษะที่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพ ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน เป็นความสามารถของบุคคล ที่จะจัดการกับงานในชีวิตประจำวันด้วยความสามารถและความรับผิดชอบ ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติงาน จึงขึ้นอยู่กับภาระกิจ ทักษะ หรือจุดมุ่งหมายเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความหมายของการรู้หนังสือที่แท้จริง ทีสามารถครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด เพราะแต่ละความหมายถูกกำหนดขึ้นสำหรับความมุ่งหมายหนึ่งความมุ่งหมายใดโดยเฉพาะ ตลอดจนความต้องการที่จะใช้ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือ การรู้หนังสือเป็นขั้นแรกของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในขณะที่โลกของการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีทักษะและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น ความหมายของการรู้หนังสือจะกว้างขึ้น เพราะความต้องการในสถานที่ทำงานไม่ใช่มีเพียงความสามารถในการอ่าน เขียน และคำนวณเท่านั้น  แต่จะต้องมีความสามารถที่จะใช้ทักษะในการแก้ปัญหาด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการรู้หนังสือ ที่เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดให้มีโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือมีดังนี้

1. วัตถุประสงค์ทางสังคมการเมือง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพในชาติ การมีส่วนร่วมของมวลชน เพื่อให้มวลชนสนับสนุนระบอบการปกครอง

2. วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น  ซึ่งอาจจัดเป็นโปรแกรมที่มุ่งเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ หรือจัดเป็นโปรแกรมทั่วๆไป เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. วัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการ วัตถุประงค์ข้อนี้อาจมีความสำคัญน้อยที่สุด แต่การจัดโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือ เพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะกลุ่มบุคคลและสังคม ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่

นั่นคือ การรู้หนังสือนอกจากจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัยากรมนุษย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคำ

การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลและชุมชน โดยยึดความจำเป็นของบุคคลและ
สังคมเป็นหลัก

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎีทุนมนุษย์กับการพัฒนา

จากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอันยาวนาน บอกให้ทราบว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมนุษย์เป็นผู้ใช้ทักษะและความสามารถ ทำให้เกิดเครื่องจักร สินค้า และบริการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และยังพบว่า ปัจจัยเชิงมนุษย์เป็นแหล่งเพิ่มรายได้ส่วนบุคคล ผลิตภาพของสถาบัน และรายได้ประชาชาติที่สำคัญ

ในขณะที่ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เป็นความคิดของของนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาสังคม โดยเน้นที่ค่านิยมและทัศนคติของแต่ละบุคคล นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาของตนเองขึ้นมา คือ ทฤษฎีทุนมนุษย์(Human Capital Theory) ซึ่งเน้นที่สมรรถนะในการผลิตของทรัพยากรมนุษย์   โดยเชื่อว่า หนทางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ อยู่ที่การปรับปรุงประชากรให้ดีขึ้น

ผู้ที่กล่าวถึงทุนมนุษย์เป็นคนแรก คือ Theodore Schultz ซึ่งกล่าวต่อสมาคมนักเศษฐศาตร์อเมริกัน ในหัวข้อเรื่อง Investment in Human Capital (การลงทุนในมนุษย์)โดยเขามีความเห็นว่า ไม่ควรมองว่าการศึกษาเป็นเพียงการบริโภครูปแบบหนึ่ง แต่ควรมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อการผลิตด้วย เพราะประชากรที่มีการศึกษา ทำให้มีกำลังแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจาก Schultz แล้ว นัดเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆที่มีส่วนในการสร้างทฤษฎีทุนมนุษย์ขึ้นมา ได้แก่ DennisonBecker และ Rubenson

Dennison ด้เขียนหนังสือชื่อ The sources of Economic Growth in the United states (แหล่งเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐ) ซึ่งมีอิทธิพลทำให้การลงทุนทางการศึกษากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์มากขึ้น หนังสือเล่มนี้คู่กับผลงานของ Schultz ได้ส่งผลต่อกระทบต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษาทั่วโลก

ทฤษฎีทุนมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การศึกษาในระบบเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และจำเป็นต่อการปรับปรุงสมรรถนะในการผลิตของประชากรให้ดีขึ้น ประชากรที่มีการศึกษาจะเป็นประชากรที่มีความสามารถในการผลิต

นักทฤษฎีทุนมนุษย์เชื่อว่า การเจริญเเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากปัจัจย 2 ประการต่อไปนี้ คือ

ประการแรก การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีให้สูงขึ้น  เพราะเทคโนโลยีระดับสูงทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น

ประการที่ 2 ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการมีทักษะและแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการผลิต

นักทฤษฎีทุนมนุษย์เชื่อว่า การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อผลิตภาพของมนุษย์ สำหรับปัจจัยอื่นที่ช่วยให้เกิดประโยชน์จาการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพดี ความเป็นอยู่ดี เป็นต้น

ทฤษฎีทุนมนุษย์เหมือนกับทฤษฎีการทำไให้ทันสมัยในแง่ที่ว่า กุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ ลักษณะของแต่ละบุคคลที่ได้รับการพัฒนาโดยอาศัยกระบวนการทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีทุนมนุษย์ได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง เมื่อ Sobel ได้รวมเอา เศรษฐศาสตร์การศึกษา เศรษฐศาสตร์การจำแนก และเศรษฐศาสตร์ความยากไร้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ในชื่อว่า เศรษฐศาสตร์ทรัยากรมนุษย์ ทำให้สามารถครอบคลุมทั้งในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายโอกาสทางการศึกษา มีผลทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในโอกาสของการมีรายได้และอำนาจในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคำ

การเจิญเติบโทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากมีการขยายต้วของกำลังการผลิต

การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันมีผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ประเทศด้อยพัฒนา หมายถึง ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจน และยากจนมาเป้นเวลานาน ความยากจนนี้มิได้เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงาน แต่เกิดจากไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยกับการพัฒนา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องที่ได้รับความสนใจจาก นักสังคมศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และนักการเมืองเป็นอย่างมาก คือเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาในช่วงแรก เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเน้นการพัฒนาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าเมื่อประเทศมีระบบเศรษฐกิจดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบอื่นดีตามไปด้วย

แต่ความเจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ นอกจากการพัฒนาจะต้องมีการพัฒนาหลายมิติ คือ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางวัฒนธรรมแล้ว การพัฒนาที่มุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้น

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (The Modernization Theory) มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ เป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาใช้กันอยู่ โดยเฉพาะนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาสังคมใช้กันมาก

นักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย โดยเน้นความสนใจที่การแปลงรูปสถาบันทางสังคมและการเมืองเป็นเบื้องต้น

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าการทำให้ทันสมัยและการพัฒนา คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การออม การลงทุน รายได้ประชาชาติ ผลิตภาพ และดุลยภาพในการใช้จ่ายเป็นสำคัญ

ทฤษฎีนี้ครั้งแรก เกิดจากการวิเคราะห์ความทันสมัยของ David McClelland และเขาได้เขียนหนังสื่อชือ The Achieving Society (สังคมแห่งความสำเร็จ) หนังสือมีเนื้อหาระบุว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของอารยธรรม ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่ประชากรส่วนใหญ่มีอยู่ สังคมจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ก็เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยประชากรที่มีคุณลักษณะทางบุคลิกภาพที่เรียกว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ได้มาจากการกล่อมเกลาทางสังคม

ในทางสังคมวิทยาได้กล่าวถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความทันสมัยคล้ายกับของ McClelland แต่เน้นเรื่อง ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ มากกว่าที่จะสนใจบุคลิกภาพโดยรวม

ต่อมา Alex Inkeles นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้สร้างคำถามเพื่อวัดทัศนคติขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่ามาตราส่วนวัดความทันสมัย ซึ่งมาตราส่วนนี้ถูกนำไปใช้วัดความทันสมัยอย่างกว้างขวางในระหว่างปี พ.ศ.2503 ถึงปี พ.ศ.2513

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ความทันสมัยเกิดจากความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ซึ่งตัวแปรทั้ง 5 ชุด มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่อไปนี้คือ สถาบันทันสมัย ส่งผลให้เกิดค่านิยมทันสมัย ค่านิยมทันสมัยส่งผลให้เกิดพฤติกรรมทันสมัย และพฤติกรรมทันสมัยส่งผลให้เกิดสังคมทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนเศรษฐกิจในที่สุด นั่นคือ การทำให้เกิดความทันสมัยจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เห็นความสำคัญของการทำให้เกิดความทันสมัย โดยเชื่อว่า

          1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีค่านิยมที่เกี่ยวข้องอื่นๆในจำนวนที่เหมาะสม การทำให้ทันสมัยเป็นการพัฒนา สังคมไม่สามารถพัฒนาได้จนกว่าคนส่วนใหญ่มีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย

          2. การสร้างค่านิยมที่ทันสมัย เกิดจากการวางแผนเกี่ยวกับมนุษย์ โดยสถาบันทางสังคมมีความสำคัญในการพัฒนาค่านิยมเล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ

          3. โครงสร้างทางวัฒนธรรม  สังคม และการเมืองแบบดั้งเดิม ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส เว้นแต่จะทำให้อุปสรรคเหล่านี้หมดไป สังคมจึงจะพัฒนาไปได้ อุปสรรคเหล่านี้จะหมดไปได้ก็โดยการทำให้ทันสมัย

          4. ประเทศยากจนหรือด้อยพัฒนา เป็นเพราะขาดโครงสร้างภายในที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำไปสู่ระบบอุตสาหกรรม คุณสมบัติเหล่านั้น ได้แก่ ทุนเพื่อการลงทุน ค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เป็นทฤษฎีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศตะวันตกในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มอย่างจริงจังในโครงการฟื้นฟูประเทศยุโรปตะวันตกและแผ่ขยายออกไปในประเทศด้อยพัฒนาในช่วงปีพ.ศ. 2493-2503

ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยจะต้องดำเนินการทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด และความรู้ของคนในสังคมไปพร้อมๆกัน จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคำ

แรงจูงใจ คือ พลังผลักดันอันเกิดจาก ความต้องการ แรงขับ และความปรารถนา ให้คนมีพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย

ค่านิยม คือ สิ่งที่บุคคลหรือสังคมเห็นว่ามีค่า ทำให้อยากเป็นอยากมี

ทัศนคติ หรือ เจตคติ คือ ความรู้สึกที่แสดงออกถึงความชอบหรือไม่ชอบต่อบุคคล สถานที่ สิ่งของ หรือเหตุการณ์

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หลักเกณฑ์การลงทุนทางการศึกษาในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์

การลงทุนทางการศึกษา นอกจากจะต้องคำนึงถึงความมีประสิทธภาพ ความเสมอภาค และความมีคุณภาพแล้ว การตัดสินใจลงทุนทางการศึกษา จะต้องตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์หลายอย่าง ดังต่อไปนี้

1.ในแง่ของการกระจายการลงทุนทางการศึกษา การจะกระจายการลงทุนทางการศึกษา จะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ คือ ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากการลงทุนได้กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วถึงหรือไม่ มีการกระจายในระหว่างชายและหญิงหรือไม่ กระจายในกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจหรือไม่ มีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาได้เท่าเทียมกันหรือไม่ มีการกระจายการเงินและผลตอบแทนทางการศึกษาหรือไม่ ฯลฯเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้จัดการศึกษาจะต้องตอบ ถ้าต้องการการลงทุนทางการศึกษาที่มีความเสมอภาค

2. การศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะที่การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมีประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประสิทธิภาพทางการศึกษา สามารถแสดงได้ใน 2 ลักษณะ คือ

          2.1 ประสิทธิภาพภายใน ดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษากับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่จบการศึกษา ดูว่าปัจจัยป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษาช่วยใ้ห้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ สำหรับประสิทธิภาพภายในสามารถปรับปรุงได้ด้วยการจัดตำราเรียนให้กับผู้เรียน หรือปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดีขึ้น การมีตำราเรียนอาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของภายในของสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น ประสิทธิภาพภายในของแต่ละสถาบันการศึกษาจะเปรียบเทียบผลผลิตกับเป้าหมายของสถาบันมากกว่าที่จะเปรียบเทียบกับเป้าหมายของสังคม

          2.2 ประสิทธิภาพภายนอก สามารถตัดสินได้จากหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

                    2.2.1 โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการฝึกอบรม จะต้องสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ และผู้จบการศึกษาได้ถูกดูดซับเข้าไว้ในตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด มีงานทำหรือไม่ มีรายได้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ตลอดจนสามารถใช้ทักษะที่ได้จากสถาบันการศึกษาทำงานเพื่อการรับจ้างได้มากน้อยเพียงใด

                    2.2.2 ความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางการศึกษากับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยวัดจากผลิตภาพของของคนทำงานที่มีการศึกษาว่าสูงขึ้นหรือไม่

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การเพิ่มการลงทุนทางการศึกษาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้เกิดการพัฒนา ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงทุนทางการศึกษาจะต้องตอบคำถามที่สำคัญต่อไปนี้ เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร จัดการศึกษาเพื่ออะไร การศึกษาที่จัดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง และแต่ละประเภทจัดมากน้อยเท่าไร วิธีจัดการศึกษาวิธีใดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

หากไม่ตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน พบว่ามีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น มีผู้จบทางวิศวกรรมศาสตร์มากกว่าผู้จบช่างเทคนิคระดับกลาง หรือมีการผลิตแพทย์มากกว่าพยาบาล เป็นต้น ผลที่สุด คือจบการศึกษาในระดับวิชาชีพต้องทำงานในหน้าที่ที่ใช้เพียงกำลังคนระดับกลาง เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาและปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

ประสิทธิภาพ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่าปัจจัยป้อนกับผลผลิตในเชิงเปรียบเทียบ หากใช้ปัจจัยป้อนน้อยแต่ได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ถือว่ามีประสิทธิภาพ

ประสิทธิผล หมายถึง สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศ จะให้ความสำคัญและเป้าหมายในการจัดการศึกษาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละประเทศ  

ถ้าจะจัดแบ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายออกเป็นกลุ่มๆ โดยยึดแนวทางการจัดการศึกษา  สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเลือกขยาย(Selective expansion) ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มนี้จะต้องพัฒนาระบบการส่งมอบความรู้ โดยอาจใช้วิทยุ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยู่ในโรงเรียน ให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี มีอาหารเพียงพอ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนจะต้องปรับปรุง เพื่อให้มีอุปกรณ์การสอนที่ดี ครูได้รับการฝึกอบรมให้มีความสามารถเพื่อลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ประเทศเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษานอกระบบเป็นอย่างมาก

2. กลุ่มส่งเสริมความเท่าเทียมกัน (Promotion of equality) ประเทศในกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย มีอัตรานักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสูงกว่า มีบางประเทศที่ต้องเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกระบบ ประเทศเหล่านี้จะต้องปรับปรุงสิ่งล่อใจและการสอน ให้ความสำคัญพิเศษกับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนมีการระดมทรัพยากรจากองค์กรเอกชนเพื่อเป็นทุนทางการศึกษา

3. กลุ่มปรับปรุงคุณภาพและสภาพภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น (Improvement of quality and teaching-learning condition) ประเทศในกลุ่มนี้มีระดับรายได้ปานกลาง การศึกษามีเป้าหมายใกล้จะถึงระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน มีอัตราผู้เข้าเรียนสูงในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยมศึกษา เป็นประเทศที่สนใจการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้

4. กลุ่มสร้างความมั่นคงและขยายการปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น (Consolidation and extension of improvement) ประเทศในกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กำลังอยู่ในระยะพัฒนาระบบการศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่สามารถผลักดันอัตราการรู้หนังสือได้สูงกว่าร้อยละ 90 และสามารถจัดการอบรมคนงานให้มีทักษะได้ตามความจำเป็น เป็นประเทศที่ปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรและวิธีสอน มีการขยายการฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่งเสริมโครงการการทำวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่พยายามทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาหมดไป

5. กลุ่มจัดการเพื่อลดความแตกต่างระหว่าภูมิภาค ( Managing differences in regional priorities) ประเทศในกลุ่มนี้มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ละภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมาก และมีความแตกต่างในเรื่องความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ มีเด็กในประเทศกลุ่มนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ถึง 11 ปีประมาณร้อยละ 40 อยู่นอกระบบโรงเรียน เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และวิศวกร โดยถือว่าการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะระดับสูงเป็นเรื่องสำคัญ

อนึ่ง ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องไม่มองข้ามเรื่องการเพิ่มความเป็นเมือง ความกดดันทางวัฒนธรรม อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการกำหนดรูปแบบของสังคม ตลอดจนแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันผู้วางนโยบายทางการศึกษาจะต้องคำนึงถึง การแก้ไขการขาดดุลทางการศึกษา พยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ให้ทุกคนรู้หนังสือ  การลดความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ขยายการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึง การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

โดยสรุป จะเห็นว่า การจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงหลักทางการศึกษา คุณภาพชีวิต ความเสมอภาค ความสอดคล้อง ความหลากหลาย เศรษฐกิจ   สังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคำ

การศึกษา คือ กิจกรรมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดควาสามารถที่มีประยชน์

ความสามารถที่มีประโยชน์ คือ ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

                                                                Theodore W Schultz.
                                                           นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน

*********************************************************************************