วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การลงทุนทางการศึกษา

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ กระบวนการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการทางการศึกษา

สินค้าที่กระบวนการศึกษาผลิต จัดอยู่ในประเภทสินค้าสาธารณะ(public goods) และสินค้าสังคม(social goods) เพราะทำให้เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะตัวผู้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นในสังคมอีกด้วย

นอกจากนั้น ผลผลิตของกระบวนการศึกษายังเป็นสินค้าที่เป็นคุณ(merit goods) เพราะการศึกษาช่วยขจัดความโง่เขลา ช่วยยับยั้งผู้บริโภคการศึกษาไม่ให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ชั่ว

ในทางเศรษฐศาสต์ ยังมองว่าการศึกษาเป็นการผลิตเพื่อการบริโภค ด้วยเหตุที่ว่า การศึกษาสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความพอใจ เกิดความสุข เช่นเดียวกับที่ได้บริโภคสินค้าและบริการอื่นๆ

ส่วนที่มองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนนั้น ก็เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์  และในอนาคตผลผลิตทางการศึกษาจะก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะการสร้างสมทุนมนุษย์มีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนทางการศึกษาจึงเป็นภาระจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในการลงทุนทางการศึกษา มีต้นทุนซึ่งสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

          1. ต้นทุนการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น เงินเดือนครูอาจารย์ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น

          2. ต้นทุนการเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล เป็นการเสียโอกาสที่บุคคลจะมีรายได้ที่ควรจะได้ แต่ต้องเสียไปในขณะที่ศึกษาเล่าเรียน

          3. ต้นทุนที่เกี่ยวกับการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน เช่น ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง  ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

เนื่องจากการศึกษาเป็นการลงทุน แน่นอนว่าจะต้องมีค่าตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนนั้น ผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการลงทุนทางการศึกษา จำแนกได้ดังนี้

          1. ประโยชน์ส่วนบุคคล คือการศึกษาช่วยให้บุคคลมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ฯลฯ ซึ่งความสััมพันธ์ระหว่างรายได้กับการศึกษานั้น จากการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า

              1.1. รายได้มีความสัมพันธ์อย่างสูงกับการศึกษาทุกระดับอายุ ผู้มีการศึกษาสูงจะมีรายได้สูงกว่าผู้มีการศึกษาที่ต่ำกว่า

              1.2. ลักษณะ(profile)ของเส้นรายได้ของกำลังแรงงานที่มีการศึกษาสูง จะชันกว่าของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า จุดสุดยอดของคนทำงานที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าจะสูงกว่าคนทำงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า

              1.3. รายได้ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าจะถึงจุดสุดยอดช้ากว่าผู้มีการศึกษาน้อยกว่า บางกรณี รายได้ของแรงงานที่มีการศึกษาสูงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งเกษียณ

          2. ประโยชน์แก่สังคม การศึกษาทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรม เพราะการศึกษาช่วยให้คนรู้จักรับผิดชอบชั่วดีเพิ่มขึ้น

นั่นคือ การลงทุนทางการศึกษาจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนบุคคลและสังคม เป็นการสร้างทุนมนุษย์อันจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าการศึกษาเพื่อการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

คนในประเทศด้อยพัฒนา เชื่อว่าการศึกษาเป็นวิถีทางที่ทำให้ตนเองห่างไกลจากจากการทำงานที่ต้องใช้มือ หรืองานที่ต้องใช้แรงกาย การศึกษาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำงานเบาๆในสำนักงาน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คุณสมบัติทางเศรษฐกิจของสถาบันการศึกษา

ในทางเศรษฐศาสตร์ สถาบันการศึกษาเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตบริการทางการศึกษา โดยใช้ทรัพยากรพิเศษชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ครูอาจารย์ ผู้บริหาร อาคารเรียน หลักสูตร  และอุปกรณ์ต่างๆ

บริการการศึกษาที่สถาบันการศึกษาจัดขึ้นนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่ได้เป็นการให้บริการฟรี เพราะการให้บริการทางการศึกษาต้องมีค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต และต้องมีอุปทานทางการศึกษา

ในการผลิตบริการเพื่อสนองความต้องการทางการศึกษา จะต้องจำแนกให้ชัดเจนว่า การศึกษานั้นเป็นการศึกษาเพื่อการบริโภค การศึกษาเพื่อการลงทุน หรือ เป็นการศึกษาทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุน

ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการบริโภค เราต้องศึกษาพฤติกรรมของพลเมืองในฐานะผู้บริโภค แต่ถ้ามองว่าการศึกษาเป็นการลงทุน เราต้องจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงผลตอบแทน และการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในฐานะที่สถบันการศึกษาเป็นหน่วยเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ผลิตบริการทางการศึกษา สถาบันการศึกษาจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วย

          1. จะต้องตัดสินใจว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดผลิตอะไร ผลิตกำลังคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร หรือจะผลิตบริการอะไร จึงจะสนองความต้องการทางการศึกษา ที่สังคมเห็นว่าสำคัญและจำเป็น ทั้งนี้ เพราะสถาบันการศึกษาไม่อาจผลิตบริการทางการศึกษาให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่สมาชิกในสังคมต้องการได้

          2. จะต้องตัดสินใจว่า จะผลิตอย่างไร ใช้วิธีการผลิตอย่างไร จึงจะประหยัดที่สุดเท่าที่ประหยัดได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และได้กำลังแรงงานที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด

          3. จะต้องตัดสินใจว่า จะจำแนกแจกจ่ายสินค้าและบริการที่ผลิตนั้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้รับสินค้าและบริการนั้นๆ ในจำนวนเท่าใด และรับบริการอย่างไร ในแง่ของการศึกษาสถาบันการศึกษาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะให้บริการกับใคร  จำนวนเท่าใด และจะรับบริการได้อย่างไร และเมื่อได้รับบริการการศึกษาแล้ว จะไปก่อให้เกิดผลิตภาพต่อไปอีกได้อย่างไร

เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้

          1. กฎอุปสงค์และอุปทาน ในทางการศึกษาอุปสงค์เป็นความต้องการที่จะใช้กำลังคน ส่วนอุปทานเป็นความต้องการที่จะผลิตกำลังคน  สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงกฎข้อนี้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เป็นต้นว่า ปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา อันเกิดจากการผลิตกำลังคนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ

          2. ค่าเสียโอกาส สถาบันการศึกษาจะต้องคำนึงว่า การที่ผู้เรียนต้องเรียนในเรื่องหรือโปรแกรมนั้นๆ ผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปเท่าไร และคุ้มกับประโยชน์ที่ต้องเสียไปหรือไม่  นอกจากนั้น ปัจจัยการผลิตทุกชนิดต่างก็มีต้นทุนแห่งค่าเสียโอกาส  กล่าวคือ เมื่อนำปัจจัยการผลิตไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการอย่างหนึ่ง ก็ย่อมจะหมดโอกาสที่จะนำไปใช้อย่างอื่น  จะต้องคำนวณผลตอบแทนให้กับปัจจัยการผลิตนั้นด้วย

          3. การจัดบริการหลายประเภท  การจัดบริการทางการศึกษาก็เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ คือสินค้าและบริการนั้นควรจะมีความแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือก เกี่ยวเรื่องนี้ สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องให้มีบริการหลายชนิด เพื่อสนองความต้องการของบุคคลและตลาดแรงงาน

          4. ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือสถาบันการศึกษาจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเพิ่มขนาดการผลิต โดยไม่ต้องเพิ่มทุนแลค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เป็นการทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง  เพราะการผลิตจำนวนมากทำให้ประหยัดโดยอาศัยขนาด

 จะเห็นว่า สถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตบริการการศึกษา จะต้องตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและหลักเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับหน่อยผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปโดยใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนองความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

อุปสงค์ (Demand) หมายถึง ความต้องการสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคต้องการจะซื้อภายในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้า หรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการซื้อ)

อุปทาน (Supply) หมายถึง ความต้องการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้ผลิตต้องการผลิตในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น(ความต้องการขาย)

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับเศรษฐกิจ

หากมองว่าสังคมเป็นระบบใหญ่ การศึกษาและเศรษฐกิจจะเป็นระบบย่อย ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยความสามารถในทางการศึกษาและความสามารถในทางเศรษฐกิจจะมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อกัน

สังคมใดที่มีเศรษฐกิจดี แสดงว่าระบบเศรษฐกิจในสังคมนั้นประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วแน่นอนว่าจะช่วยให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

ผลที่ได้จาการศึกษาเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพราะบุคคลผู้มีการศึกษาเหล่านั้นนอกจากจะเป็นกำลังแรงงานแล้ว ยังเป็นผู้ตัดสินใจในการนำปัจจัยการผลิตอื่นๆมาลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นผู้เลือกวิธีการในการดำเนินการทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาจะทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำหน้าที่สร้างทุนมนุษย์ของระบบเศรษฐกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ในระบบเศรษฐกิจ มนุษย์มีความสำคัญที่สุด เนื่องจ ากในบรรดาปัจจัยผลิตทั้ง 4 ประการ อันประกอบด้วย ที่ดินและทรัยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการนั้น มนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตถึง 2ใน 4 คือเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ

การศึกษาได้สร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการอันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  จนกล่าวได้ว่าโครงการทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือขนาดเล้ก จะต้องมีการศึกษาสนับสนุนจึงจะประสบความสำเร็จ

ประเทศเปรู มีโครงการปฏิรูปการเกษตร แต่ในการทำโครงการต้องประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้เพราะโครงการเหล่านั้นไม่มีการศึกษาและการฝึกอบรมสนับสนุน

นอกจากนั้น มนุษย์ยังเป็นผู้สร้างอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าและบริการ ที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตขึ้นได้ และความต้องอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และให้ได้ผลผลิตสูงสุด

จะเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากทุนทางกายภาพเท่านั้นแต่เกิดจากทุนมนุษย์ด้วย  ฉะนั้นในขณะที่มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังแรงงานควบคู่ไปด้วย

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่ประชากรอ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้ จะมีระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย และไม่มีประเทศใดที่ทำให้มีผลผลิตต่อหัวสูงด้วยแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ

นอกจานั้นยังพบว่า การศึกษามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้

          1. ช่วยเพิ่มผลผลิต การเพิ่มความชำนาญให้แก่แรงงาน จะช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นจึงมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

          2. ช่วยลดต้นทุน การที่คนมีการศึกษาสูงขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ลดการกระทำผิด ลดความจำเป็นในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

          3. ช่วยยกระดับรายได้ การที่คนมีความรู้และทักษะในการผลิตสูงขึ้น จะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น  มีผลทำให้รายได้สูงขึ้น

          4. ช่วยเพิ่มสวัสดิภาพของประชาชน การที่คนมีรายได้สูงขึ้น มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนมีสวัดิภาพมากขึ้น

ะเห็นว่า ประสิทธิภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์  และประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการศึกษา และหากเกิดความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ย่อมสรุปได้ว่า เป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ การศึกษาและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงเป็นส่ิ่งสำคัญควบคู่กันไป และในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคม การศึกษาก็อาจทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงได้เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                             การพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม  นำไปสู่ปัญหาการว่างงาน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

คนเป็นทั้งทุน เจ้าของทุน ผู้ประกอบการ และแรงงาน ในระบบเศรษฐกิจ หากประเทศใดมีคนที่มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะพัฒนาไปได้ด้วยดี

สำหรับลักษณะของคนที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมีดังต่อไปนี้

          1. มีวินัย ความเป็นผู้มีวินัยทำให้เป็นผู้มีระเบียบในการใช้จ่าย ในการบริโภค ตลอดจนในการดำเนินชีวิต

          2. ประหยัด เป็นผู้รู้จักใช้จ่ายตามความจำเป็น มีผลทำให้เกิดการออม การสะสมทุน

          3. มีทัศนคติที่ทันสมัย เป็นคนที่ที่รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆได้ง่าย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นผู้ตระหนักถึงความสำคัญของเวลา กล้าที่จะริเริ่ม ไม่ย่อท้อต่อการที่จะต้องแข่งขัน ฯลฯ

           4. มีลักษณะมุ่งอนาคต การมุ่งอนาคตทำให้รู้จักวางแผนชีวิต รู้จักประหยัด

           5. ศรัทธาในความสามารของตนเอง ทำให้รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้ไม่รอรับการช่วยเหลือจาผู้อื่น โดยไม่ช่วยเหลือตนเองก่อน

           6. มีบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวม เป็นผู้ที่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวม และมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมควบคู่กับประโยชน์ส่วนตน

           7. มีความคิดและความเชื่อว่าการทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์  เกิดเป็นมนุษย์ต้องทำงาน เป็นคนรักการทำงาน และไม่เลือกงาน

อย่างไรก็ตาม การจะได้ประโยชน์สูงสุดจากคน สังคมและวัฒนธรรมจะต้องมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น  McClelland  สรุปว่ามีลักษณะดังนี้

           1.มีวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเพณีนิยม เต็มใจที่จะละทิ้งประเพณีบางอย่าง และเทคนิคต่างๆที่มีอยู่เดิม แล้วหันไปรับสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม

           2. บุคคลในสังคมจะได้รับสถานภาพทางสังคมโดยอาศัยความสำเร็จส่วนตน ซึ่งต่างกับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญอย่างช้าๆ สถานภาพของบุคคลจะได้มาโดยกำเนิด

           3. เป็นสังคมและวัฒนธรรม ที่มักจะเน้นความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และการเป็นผู้รู้จักใช้จ่าย

           4. เป็นสังคมที่ปรารถนาความก้าวหน้า และเน้นการบากบั่น การทำงานหนัก ว่าเป็นเคร่ื่องช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆ

            5. มีการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ใช้ได้กับทุกคน ในลักษณะที่เสมอภาค ยึดลัทธิสากลนิยม (universalism)

จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้ด้วยดี จะต้องถึงพร้อมทั้งลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้ยาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะมีลักษณะของคน สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยจะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กลับมีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

การทำงานแทบจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยว่า เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าในตัวมันเอง ชาวนา คนงาน แทบจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่การทำงานนั่งโต๊ะ หรือการเป็นเจ้าคนนายคนเป็นงานที่ดีกว่า การทำงานยิ่งห่างจากการใช้มือโดยตรงมากเท่าไร จะยิ่งมีเกียรติสูงขึ้นเท่านั้น

                                                                               Mulder

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ค่านิยมและสถาบันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ค่านิยมเป็นการตัดสินใจ หรือการลงความเห็นของบุคคลและของส่วนรวมว่า อะไรเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและควรแสวงหา

ค่านิยมเป็นเครื่องจูงใจให้บุคคลเลือกกระทำหรือหลีกเลี่ยงการกระทำ ค่านิยมมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล เป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสถานการที่ต้องเลือก ค่านิยมเป็นตัวกำหนดว่าอะไร"ถูก" อะไร"เหมาะ"อะไร"ที่จะปฏิบัติ" อะไร"ที่จะเชื่อ"

ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากคนเราจะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญที่จูงใจให้คนเราทำงานคือค่านิยม ค่านิยมต่ออาชีพจึงเป็นรากแก้วของปัญหาการว่างงาน

เนื่องจากแต่ละสังคมมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละสังคมจึงแตกต่างกันด้วย

เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ค่านิยมทำหน้าที่ 2 ประการ คือ ประการแรก ค่านิยมทำให้เกิดเป้าหมายทั้งเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายสาธารณะ ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการผลิต ประการที่สอง ค่านิยมทำให้เกิดนิสัยชอบ หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ฉะนั้น แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากปราศจากการมีระบบค่านิยมที่เหมาะสม ก็ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ระบบค่านิยมที่เหมาะสมจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ส่วนสถาบันมีความหมายเป็น 2 นัย คือในแง่รูปธรรม สถาบันหมายถึง องค์การหรือสมาคม ส่วนในแง่นามธรรม สถาบันหมายถึง ระเบียบหรือระบบการปฏิบัติที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมหนึ่งๆ เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชินและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมนั้น

สถาบันต่างๆของ ระบบการเมือง ระบเศรษฐกิจ และระบบสังคม มีอิทธิพลต่อความพยายามและความตั้งใจในการทำงานของมนุษย์

สถาบันเป็นตัวกำหนดทัศนคติ แรงจูงใจ และเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าสถาบันกระตุ้นให้คนแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน ย่อมจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถาบันทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ

นั่นคือ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องมีสถาบันที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงจะเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยสถาบันจะกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ตลอดจนมีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถาบันทางสังคมที่เหมาะสม

โดยทั่วไปค่านิยมและสถาบันมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้

          1.มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เกี่ยวกับการใช้ความพยายามทางเศรษฐกิจทั่วๆไป เช่น ทัศนคติต่อการทำงาน  การเสี่ยงในการลงทุน เป็นต้น

          2. มีอิทธิพลต่อผลิตภาพของแรงงาน  สถาบันที่เหมาะสมจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน  ส่วนสถาบันที่มักจะเป็นอุปสรรคต่อคุณภาพหรือผลิตภาพของแรงงาน เช่น ระบบการแบ่งทรัพย์สินให้บุตรเท่ากันทุกคน ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นต้น

          3. มีอิทธิพลต่อการออมและการลงทุน ค่านิยมและสถาบันบางลักษณะไม่เอื้อต่อการออมและการลงทุน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การทำบุญเกินกำลัง ลักษณะมุ่งปัจจุบัน เป็นต้น

          4. มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของผู้ประกอบการ การขยายตัวของผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสถาบันและค่านิยม การมีค่านิยมและสถาบันที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของผู้ประกอบการได้มาก เช่น ค่านิยมในการสะสมความมั่งคั่ง เป็นต้น

          5. มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลทางเทคโนโลยีจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ก็ต่อเมื่อทัศนคติของคนในระบบสังคมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใหม่ๆ และสถาบันได้มีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่า ความแตกต่างของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา เกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนามีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มิฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ยาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ยาก และไม่มีคำแนะนำใดๆ พอเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ ลักษณะเฉพาะของคนไทยก็แสดงออกมาทันที คือจะ"เลี่ยง" หรือ"ถอยหนี"จากสถานการณ์ที่ยากนั้น

                                                                                                   Blanchard

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การศึกษาและเทคโนโลยีกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่ที่ว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี แรงงาน ผู้ประกอบการ และสร้างทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน การศึกษายังช่วยให้บุคคลมีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นผู้พร้อมที่จะรับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ส่วนเทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  การผลิต หรือการอุตสาหกรรม

สำหรับเทคโนโลยีทางด้านการผลิต อาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน  คือ ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตแบบประหยัดปัจจัยประเภททุนและแรงงานในสัดส่วนเท่าๆกัน ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผลิตแบบประหยัดปัจจจัยประเภททุนมากกว่าแรงงาน และความทางโทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการประหยัดแรงงานมากกว่าปัจจัยประเภททุน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิผลและผลผลิตในกระบวนการผลิต ในลักษณะต่อไปนี้

          1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ช่วยให้สามารถนำทรัพยากรมาใช้ดำเนินการได้หลายแนวทาง สามารถจัดสรรปัจจัยการผลิตได้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ หากมีแรงงานมากก็อาจเลือกใช้เทคโนโลยีแบบประหยัดทุนกับกระบวนการผลิต

         2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของที่ดินและแรงงาน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

         3. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีผลทำให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ก่อให้เกิดกระบวนการลงทุนและการจ้างงาน

        4. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ หรือวิธีการผลิตใหม่ๆ แทนสินค้าและบริการชนิดเดิม

ที่สำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง ตลอดจนไม่อาจนำทรัพยากรมาใช้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต่อเมื่อ การศึกษาได้สร้างทุนมนุษย์ที่มี ความรู้ และทักษะ เป็นแรงงานที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การผลิต และการอุตสาหกรรม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

ทุนมนุษย์ หมายถึง ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญ ที่สะสมอยู่ในตัวบุคคลแต่ละคน  ในทางเศรษฐศาสต์ ทุนมนุษย์เป็นสินค้าทุน เป็นสินค้าที่ผลิตสินค้าอื่นได้อีก

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ผู้ประกอบการกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการ เป็นบุคคลที่ผสมผสานปัจจัยการผลิตต่างๆ ทำการก่อตั้งสถานธุรกิจ ผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อการจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ก่อให้เกิดการลงทุน เป็นผู้นำในการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ตลอดจนเป็นผู้นำวัตถุดิบชนิดอื่นมาใช้แทนวัตถุดิบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ดัดแปลงสัดส่วนของปัจจจัยการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งผลิตสินค้าและบริการแปลกๆใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางออกไป

ผู้ประกอบการ เป็นผู้ที่สามารถแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์ให้เกิดให้เกิดประกอบการใหม่ๆ

ผู้ประกอบการจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดการผลิต และใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ค้นพบใหม่ๆ ดังที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม การจะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติดังนี้

          1. มีจิตใจกล้าเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และการทำงานมากกว่าปกติ โดยการเสี่ยงแต่ละครั้ง จะต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจหรืองานที่ทำอยู่มีความก้าวหน้า หรือขยายกิจการใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อการเสี่ยงโชค

         2. มีความขยันขันแข็งในการทำงาน หนักเอาเบาสู้ อดทนไม่ท้อถอย มีความเชื่อว่า ความสำเร็จของชีวิตอยู่ที่การทำงานหนัก และมีไหวพริบในการทำงาน

          3. มีความรับผิดชอบและมีวินัยในตนเอง

          4. เมื่อจะทำกิจการใดๆจะต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับ

          5. มีการคาดการณ์ล่วงหน้าในงานที่ทำ มีการวางแผนระยะยาว มีการแบ่งขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด และแผนที่กำหนดขึ้นนั้นมีผลมาจากการศึกษาถึงสภาพ โอกาส และทรัพยากรที่มีอยู่

          6. มีความสามารถในการจัดการและการบริหารงาน

          7. เป็นผู้มีความกระตือรือร้น และมีความมั่นใจในตนเอง

          8. เป็นคนที่สร้าสรรค์โดยไม่อาศัยแรงจูงใจทางด้านผลกำไร หรือต้องการอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ฉะนั้น ประเทศหรือสังคมใดที่ต้องการความก้าวหน้า จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเอาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  และหากประเทศใดขาดผู้ประกอบการ แน่นอนว่าจะทำให้การเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                                ทุกสังคมมีทรัพยากรจำกัด แต่คนในสังคมมีความต้องการไม่สิ้นสุด

                                จึงควรหาวิธีการที่จะนำทรัพยากรมาใช้ในทางที่ประหยัดที่สุด

                                และสามารถสนองความต้องการได้สูงสุด

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทุนเป็นสินค้าที่ได้มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าตัวอื่นได้ต่อไปในอนาคต

นความหมายทางเศรษฐกิจ ทุน มีความหมายเป็น 2 อย่างคือ ทุนในความหมายอย่างแคบ และทุนในความหมายอย่างกว้าง

ทุนในตวามหมายอย่างแคบ หมายถึง เครื่องจักร เครื่องมือโรงงาน วัตถุดิบ สินค้าที่กำลังผลิตอยู่ในโรงงาน และสินค้าที่ผลิตแล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่าย

ส่วนทุนในความหมายอย่างกว้างนั้น นอกจากจะรวมเอาสิ่งต่างๆที่กล่าวมาแล้วในความหมายอย่างแคบ ยังรวมเอาความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ ที่ประชากรของประเทศได้สร้างสมไว้ซึ่งเรียกว่าทุนมนุษย์และทุนขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่อำนวยบริการให้แก่ระบบการผลิตและการจำหน่าย เช่น ถนนหนทาง เครื่องมือ การขนส่ง การคมนาคม การประปา การไฟฟ้า การสาธาณะสุข การพลังงาน และสาธารณูปโภคอื่นๆ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เห็นว่าทุนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อผลิตภาพและความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ  ในลักษณะต่อไปนี้

         1.การมีทุนเพิ่มขึ้น จะทำให้การผลิตมีโอกาสขยายตัวเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มความชำนาญในการผลิตให้กับแรงงานมากขึ้น

         2. ทุนจำเป็นสำหรับการขยายการผลิตและการจ้างงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนประชากร

         3. ถ้าสามารถสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว จะยังผลให้อุปทานของเครื่องมือและ เครื่องจักร ต่อคนงานแต่ละคนเพิ่มสูงขึ้น มีผลให้แรงงานสามารถทำหน้าที่ของตนได้รวดเร็วขึ้น  นั่นคือประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจะเพิ่มขึ้น

ในประเทศพัฒนาอัตราการสะสมทุนจะมีค่อนข้างสูง ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศด้อยพัฒนาที่มีอัตราการสะสมทุนต่ำ อันเนื่องมาจากการมีผลิตภาพและรายได้ต่ำ มีการนำเงินออกไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ ใช้เงินเพื่อความสนุกสนานและพิธีกรรมต่างๆ  ขาดสิ่งจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจนขาดสถาบันการเงินที่เหมาะสม นอกจากนั้น คนในประเทศด้อยพัฒนามีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูงตามอย่างประเทศที่เจริญแล้วอีกด้วย 

จะเห็นว่า ทุนมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปัจจัยอื่นๆ ฉะนั้นหากประเทศกำลังพัฒนาต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดำเนินไปด้วยดี จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการการสะสมทุนอย่างจริงจัง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

 การพัฒนาเศรษฐกิจที่อาศัยทุนจากต่างประเทศ ไม่่อาจเป็นการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แรงงานกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

แรงงานเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อการผลิตและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณของแรงงาน ชั่วโมงการทำงาน ความตั้งใจในการทำงาน ตลอดจน ความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงาน จะเป็นตัวกำหนดปริมาณของผลผลิตและระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น แรงงานไม่เป็นแต่เพียงปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ฯลฯ จะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตได้เลย หากไม่มีแรงงานเป็นส่วนประกอบในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีทักษะ มีความชำนาญในสาขาต่างๆ เช่น ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การจัดการ การตลาด การเงิน และการบัญชี เป็นต้น

แรงานในระบบเศรษฐกิจ เป็นบุคคลที่ทำงานประกอบอาชีพในการผลิตสินค้าและบริการ แรงงานมีตั้งแต่ผู้ที่ทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถระดับสูง จนถึงผู้ที่ทำงานด้วยการใช้แรงกายและงานไร้ฝีมืออื่นๆ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพของแรงงานมีความสำคัญมาก เพราะถ้าแรงงานมีคุณภาพสูง การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคุณภาพของแรงงานขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

          1) ความเหมาะสมทางกายภาพ ความเหมาะสมทางกายภาพของแรงาน มีผลมาจากแรงงานได้รับการดูแลอย่างดี  มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีอาหารเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีเครื่องพักผ่อ่นอย่อนใจ  และมีบริการสาธาณะสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพ แต่ประเทศด้อยพัฒนามักจะจะขาดปัจจัยที่จำเป็นเหล่านี้ จนส่งผลกระทบต่อแรงงานของประเทศ

         2) การพัฒนาทางด้า่นสติปัญญา คุณภาพด้านสติปัญญา มีความสำคัญต่อแรงงานมาก เพราะแรงงานที่มีสติปัญญาจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสติปัญญาของแรงงาน สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรม

          3) ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา แรงงานที่มีคุณภาพ จะต้องได้รับการกระตุ้นให้มีความปรารถนาที่จะทำงานด้วยความเต็มใจ มีความกระตือรือร้นที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น

         4) การจัดองค์การที่เหมาะสม  การจัดองค์การทางด้านแรงงานที่เหมาะสม จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ทำให้การใช้แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจ  แรงงานมีบทบาทสำคัญ  เพราะหากไม่มีแรงงานการผลิตสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แรงงานจะต้องได้รับการดูแลและได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้แรงงานที่คุณภาพ อันจะนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยดี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

กำลังคน(Man power)  หมายถึง บุคคลที่ทำงานประกอบอาชีพสาขาต่างๆ นับตั้งแต่ผู้ที่ใช้ความรู้ความชำนาญอย่างสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ฯลฯ จนถึงผู้ที่ทำงานด้วยแรงกาย อันได้แก่กรรมกรและคนงานไร้ฝีมืออื่นๆ

กำลังแรงงาน(Labour force) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ที่มีงานทำและไม่มีงานทำ แต่ประสงค์จะทำงานและสามารถทำงานได้

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อันได้แก่ ดิน สินแร่ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ตลอดจน อากาศ และฝน

สำหรับความคิดเห็น ในเรื่องบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่

นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ญึ่ปุ่น หรือ อิสราเอล ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศไปได้ และก็มีหลายประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศได้ ทั้งๆที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอยู่มากมาย

แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มที่หนึ่งเห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติกำหนดแนวทางแห่งความก้าวหน้า ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จะสามารถก้า่วหน้าไปได้ในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศที่ขาดทรัพยากรธรรมชาติ จะเห็นว่าประเทศมั่งคั่งส่วนใหญ่ ล้วนแต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ

แม้จะมีความเห็นแย้งในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจเลย การมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอ ยังส่งผลให้มีการขยายการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม การจ้างงาน รายได้ และการไหลเข้ามาของเงินตราต่างประเทศ

ประเทศที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น จำเป็นจะต้องมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่พอสมควร เพราะทรัพยากรธรรมชาติช่วยในการเริ่มต้นการพัฒนา และเป็นปัจจัยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

ในประเทศกำลังพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติมีบทบาทสำคัญ ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหาร เป็นรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปและเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆตามมา

สำหรับประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจส่วนมาก เป็นประเทศที่ทรัพยากรธรรมชาติยังไม่ได้รับการพัฒนา ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ความจำเป็นประการหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ก็คือความสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่า แม้จะมีความขัดแย้งในทางความคิดกันอยู่ เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจว่ามีมากหรือน้อย แต่ยากที่จะปฏิเสธถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถของแต่ละประเทศ และต้องยอมรับความจริงว่าประเทศด้อยพัฒนาส่วนมากไม่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้เต็มที่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

               การลงทุนจากต่างประเทศ เป็นทางออกสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมขาติที่มากพอ
               แต่ขาดความรู้ความสามารถในการที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

การพัฒนาเศรษฐกิจ มีความหมายมากกว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้มีเป้าหมายแค่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ หรือ การเพิ่มรายได้ แต่มุ่งถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ศาสตราจารย์ ดร เทียนฉาย กีระนันท์ สรุปว่า  การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนามีเป้าหมายดังต่อไปนี้

1.เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติและผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปกติต้องการที่จะให้ผลผลิตมวลรวมแห่งชาติสูงขึ้นในอัตราที่เร่งรัด ซึ่งความต้องการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต เช่น การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงการผลิตที่ใช้แรงงาน และที่ดิน มาเป็นการผลิตที่ใช้ทุน โดยส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าประเภททุนมากขึ้น ตลอดจน การปรับปรุงระบบและวิธีการบริหาร การตลาด การจัดการ เพื่อเร่งการผลิตและการขยายตัวของตลาด ซึ่งการยกระดับรายได้ของประชากรให้สูงขึ้น มีผลทำให้อำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย อันนำไปสู่การสร้างอุปสงค์รวมของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

2.เพื่อสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจ จนรายได้ประชาชาติสูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่หากรายได้และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นตกอยู่กับกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึี่งเพียงกลุ่มเดียว จะเป็นการไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยากจน และมีมาตรฐานการครองชีพอยู่ในระดับต่ำอย่างเดิม ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกกิจ ต้องมีการกระจายรายได้ให้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ เพื่อลดความแตกต่างฐานะเศรษฐกิจของประชากรให้น้องลง

3. เพื่อลดภาวะการว่างงานการมีงานทำและการทำงานไม่เต็มที่ ระบบเศรษฐกิจจะมั่นคงได้นั้น บุคคลในระบบต้องมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างเพียงพอ แม้ว่าปัญหาการไม่มีงานทำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกระบบเศรษฐกิจ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีลักษณะการทำงานไม่เต็มที่ด้วย โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรกรรม ดังนั้น เมื่อระบบเศรษษฐกิจต้องการจะยกระดับผลผลิตของชาติและรายได้ประชาชาติให้สูงขึ้น จะต้องขจัดปัญหาการว่างงาน การไม่มีงานทำ และการทำงานไม่เต็มที่ไปด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต

3. เพื่อยกระดับสังคมและมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น การทำให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ดี มีภาวะโภชนาการดี มีการศึกษาและอนามัยดี ตลอดจนการมีชีวิตที่ยืนยาว เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะจะช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

ะเห็นว่าการพัฒนาเศราฐกิจ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการมีรายได้ การเพิ่มผลิตมวลรวมของชาติแล้ว การมีงานทำ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดจนการช่วยเหลือดูแลให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น หากละเลยเป้าหมายเหล่านี้ การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                        การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทำได้
        แต่ควรเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ ความรู้ความสามารถของกำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความเป็นมาของการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยทั่วไป การพัฒนาเศรษฐกิิจ(economic development) และการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ(economic growth)  มีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก ในบางกรณีสามารถใช้แทนกันได้ แต่ถ้าจะหาความแตกต่างของคำทั้งสามแล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างในลักษณะต่อไปนี้

การเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของระบบ อันมีผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็๋นอยู่ดีขึ้น

จากคำอธิบายทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งกว้างและครอบคลุมถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นคำที่ใช้อย่างกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดจากการที่ประเทศยากจนมองเห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์มั่งคั่งกับความเป็นอยู่ที่ยากแค้น ทำให้เกิดความตื่นตัว ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น

ในขณะเดียวกันประเทศที่ร่ำรวยและเจริญก้าวหน้า ก็ถือเป็นความรับผิดชอบ และเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เพื่อให้ประชาชนในประเทศยากจนเหล่านั้น มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเเกิดมีการใช้คำว่า "การพัฒนาเศรษฐกิจ"ขึ้นมา และเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในด้านวิชาการและด้านการปฏิบัติ

เดิม การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึง ความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศ ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติสูงขึ้น โดยเชื่อว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโตขึ้นแล้ว ปัญหาความยากจน กระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การว่างงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ จะค่อยๆหมดไป

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  จะประสบความสำเร็จในการทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโต ในอัตราที่สูงตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งรายได้ที่แท้จริงต่อหัวก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ไม่ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป ยังคงมีปัญหาแบบเดิมๆ หรือเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป  ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ไว้แต่เดิมนั้นแคบไป

ในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรมีความหมายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยสม่ำเสมอ และในระยะเวลา อันยาวนาน โดยทำให้รายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามลดหรือขจัดสภาวะที่ไม่พึงปรารถณาของสังคม เช่น ความยากจน การว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน  ตลอดจนมาตรฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆที่ยังต่ำอยู่เหล่านั้น ให้หมดสิ้นไป

จะเห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจนั่้น จะต้องเป็นกระบวนการหลายด้านที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สถาบันต่างๆ ตลอดจนทัศนคติ ความเชื่อเก่าๆของประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่คำตอบ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

         การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นแค่กระบวนการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น
               แต่จะต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันควบคู่ไปด้วย

********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สังคมต้องการอะไรจากการศึกษา

สังคมประกอบด้วยประชาชน หรือกลุมผู้คน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่จะดำเนินไปด้วยกัน แต่ละสังคมจะมีความต้องการอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อให้สังคมหรือกลุ่มคนดำรงต่อไปได้ โดยที่ยังมีวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกัน

หากความต้องการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง กลุ่มผู้คนเหล่านั้นอาจแตกสลาย ไม่สามารถรวมกลุ่มได้ กลายเป็นต่างคนต่างอยู่่ ไม่อาจเป็นสังคมอีกต่อไป

ในบรรดาความต้องการของสังคมจำนวนทั้งหมดนั้น  มีอยู่ส่วนหนึ่งที่สังคมควรได้รับการตอบสนองโดยระบบการศึกษา ได้แก่

          1. การรู้หนังสือ หมายถึง การที่กลุ่มของผู้คนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม สามารถอ่านออกและเขียนภาษาที่ใช้อยู่ในสังคมนั้นได้ อันจะช่วยให้การติดต่อระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน ในกิจการที่ต้องทำร่วมกันสามารถดำเนินไปได้

          2. ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและเทคโนโลยี  เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องให้การศึกษาอบรมคนในสังคมรู้หลักธรรมชาติ ไม่งมงายอยู่กับ โชคลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์  อภินิหาร หรืออำนาจลึกลับ และการศึกษาจะต้องช่วยให้คนในสังคมจำนวนหนึ่ง มีความรู้ลึกซึ้งในวิชาการแต่ละสาขาที่มีประโยชน์ ซึ่งความรู้ทั้งสองประการนี้  จะข่วยให้ให้การดำเนินชีวิตในสังคมราบรื่นไปได้
             
          3. ความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ  หมายถึง การอบรมสั่งสอนให้ที่สมาชิกในสังคมโดยรวม มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับการดำเนินชีวิต จนบรรลุผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นกลุ่มคนที่เกียจคร้าน ท้อถอย งอมืองอเท้า หรือเหนื่อยหน่าย อันจะยังผลให้สังคมไม่ก้าวหน้า เป็นความมุ่งมั่นที่ระบบการศึกษาจะต้องปลูกสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนตั้งแต่วัยเด็ก และหากลักษณะดังกล่าวมีอยู่ในสมาชิกของสังคมใด จะทำให้สังคมนั้นรุ่งโรจน์ในด้านต่างๆที่สังคมต้องการ

          4. น้ำใจสร้างชาติ หมายถึง การที่สมาชิกในสังคมได้รับการสั่งสอนอบรมให้สมาชิกในสังคมมีความสำนึก และมีความตั้งใจร่วมกันสร้างชาติซึ่งเป็นที่อยู่ของสังคมของตน ให้มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆอย่างครบถ้วนบริบูรณ์  ไม่น้อยหน้าชาติอื่น อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงในชาติ

          5. ความสำนึกในความถูกต้อง หมายถึง การที่สมาชิกในสังคมได้รับการสั่งสอนอบรมให้คนในสังคมมีความสำนึก และประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เช่น การทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  ไม่ควรรับประโยชน์ที่ไม่ควรจะได้ ไม่คอรัปชั่น  มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ความสำนึกในความถูกต้องหากมีอยุ่ในสังคมใด สมาชิกในสังคมจะมีความอุ่นใจ ว่าทุกคนในสังคมจะได้รับความยุติธรรม เกิดความไว้วางใจกันและกัน ไม่เกิดความเคียดแค้นขึ้นในสังคม

           6. สุขภาพและอนามัย หมายถึง การที่สังคมโดยทั่วไปมีสุขภาพดี ใส่ใจเรื่องสุขภาพ  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน การที่ผู้คนในสังคมรู้จักรักษาอนามัย ทำให้สังคมประหยัด และช่วยสังคมโดยรวมมีอาณาบริเวณที่อยู่อาศัยน่าอยู่

          7. การมีงานทำ เป็นหน้าที่ของการศึกษา ที่จะต้องเตรียมคนให้พอเหมาะพอดีกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในแต่ละรายอาชีพ หรือมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระ ระบบการศึกษาจะต้องทำการคาดคะเนกำลังคนที่ต้องการในระบอบเศรษฐกิจ  เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงาน อันจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา

         8.การผลิต เพื่อสนองตอบสังคม เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องฝึกสอนสมาชิกในสังคมให้มีความสามารถผลิตสินค้าและบริการอย่างมีคุณภาพ สามารถเทียบเคียงกับต่างประเทศได้ และเพียงพอกับความต้องการ เพื่อประเทศจะได้ไม่เสียดุลการค้า ซึ่งระบบการศึกษาจะต้องคาดคะเนให้ได้ว่า สังคมต้องการเพิ่มผลผลิตสินค้าด้านใด แล้วจัดการฝึกอบรมผู้คนด้านนั้นให้เพียงพอกับตวามต้องการ

         9. ความใกล้เคียงในฐานะทางสังคม  การศึกษาเล่าเรียนนำไปสู่ฐานะทางสังคมของคน การศึกษาจึงต้องให้โอกาสคนในสังคมได้เล่าเรียนอย่างใกล้เคียงกัน  โรงเรียนในที่ต่างๆจะต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกัน  การได้เล่าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้สมาชิกในสังคมมีฐานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน ไม่ทิ้งห่างกันจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความชิงชัง ไม่สามัคคึกัน

          10 บูรณาการในสังคม หมายถึง การที่สมาชิกรวมกันโดยไม่มีส่วนใดหลุดแยกออกไป อันเนื่องจากเหตุต่างๆ เช่น ขัดกันเพราะศาสนา  ขัดกันเพราะลัทธิการเมือง  ขัดกันเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ การศึกษาจะต้องช่วยเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่สมาชิกในสังคมยังเยาว์วัยอยู่  ให้มีและใช้วัฒนธรรมของสังคมร่วมกันได้  การเลือกสรรและถ่ายทอดวัฒนธรรม จึงเป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่จะต้องดำเนินการ เพื่อบูรณาการทางสังคมที่นำไปสู่สังคมสันติสุข

สิ่งที่สังคมต้องการจากการศึกษาดังที่กล่าวมา ในการจัดการศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษาจะต่้องเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจทางการศึกษาจะต้องตระหนักให้มาก ว่าระบบการศึกษาได้สนองความต้องการทางสังคมควบคูู่กับความต้องการของผู้เรียน ได้มากน้อยเพียงใด  เพราะหากละเลยความต้องการเหล่านี้ ก็จะเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ เป็นการศึกษาเพื่อการศึกษา ที่ไม่อาจแก้ปัญหาของประเทศได้ กลับสร้างปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

การศึกษา เป็นกระบวนการทางสังคม เพื่อทำหน้าที่ เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถณา

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ข้อเตือนใจในการที่จะเอาชนะปัญหา

ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ ชีวิตจะพัฒนาไปด้วยดี

กระบวนการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับทักษะ ซึ่งทักษะเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา จะต้องเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่การตระหนักว่ามีปัญหา จนไปถึงการประเมินผล

และจะต้องเชื่อว่าปัญหาคือโอกาส และทุกปัญหามีวิธีแก้ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่เคยปลอดจากปัญหา เครื่องหมายแห่งความสำเร็จคือการจัดการกับปัญหาอย่างมีประสิทธิผล

สำหรับข้อเตือนใจที่การที่จะเอาชนะปัญหาสรุปได้ดังนี้

1. อย่ากลัวปัญหา เพราะความกลัวเป็นความคิดในเชิงลบ และความคิดในเชิงลบไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา จิตใจที่สงบ จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าจิตใจที่วิตกกังวล

2. รู้จักศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา  หากคิดเองไม่ได้ ให้ขอคำแนะนำ รู้จักรับความจริงและทำประเด็นของปัญหาให้ชัดเจน

3. เน้นที่วิธีแก้ปัญหา คนส่วนมากสนใจแต่ปัญหา ไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา และอย่าพยายามตำหนิตนเอง คนอื่น หรือสิ่งแวดล้อม  เพราะหากพิจารณาให้รอบคอบ จะพบว่าปัญหาใหม่ๆหลายปัญหา สามารแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ

4. ดำเนินการแก้ปัญหาจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่ไม่รู้ จงใช้ความรู้ที่มีอยู่และวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้ เพื่อนำมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน

5. เลือกวิธีแก้ปัญหาที่เกิดผลดีกับคนอื่นและตนเอง เพราะจะช่วยสร้างความสัมพันธ์และเกิดผลดีกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง

6. ลงมือแก้ปัญหา ยิ่งลงมืแก้ปัญหาเร็วเท่าไรปัญหาจะยิ่งแก้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น จงลงมือแก้ปัญหาแม้ว่าจำเป็นจะต้องเสี่ยง

เมื่อใดที่มีปัญหาและทำให้เกิดความท้อถอย ขอให้ไปที่โรงพยาบาล หรือไปหาเพื่อนที่มีปัญหามากกว่า แล้วจะพบว่าปัญหาที่ตนเองมีอยู่ไม่มากกมายหรือซับซ้อนเท่ากับปัญหาของคนเหล่านั้น

การแก้ปัญหาที่สนุกจะเพิ่มรสชาติให้กับชีวิต ข้อสำคัญคืออย่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่จงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีแก้ปัญหา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

             คนที่ฉลาด คือคนที่สามารถแก้ปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะใหญ่โตจนไม่สามารถที่จะแก้ไขได้

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง เป็นวิธีการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา จะได้สนองความต้องการของแต่ละคน การแก้ปัญหาวิธีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดปัญหาใหม่ ทางเลือกใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เหลื่อมล้ำกันอยู่  เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะไม่มีใครต้องเสีย ไม่มีใครต้องยอม เนื่องจากทุกคนหรือทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์

วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา สามารถนำไปใช้ได้ทั้งปัญหาระหว่างบุคคล ครอบครัว องค์การ และระหว่างสังคม วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ทักษะการฟัง การยืนยัน และวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง

วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาในรูปของความต้องการไม่ใช่ในรูปของวิธีแก้ปัญหา การกำหนดปัญหาที่ถูกต้องจะทำให้ขั้นตอนการแก้ปัญหาในขั้นตอนอื่นๆดำเนินไปได้ และเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายหรือทุกฝ่ายเป็นฝ่ายชนะ(win/win outcome) จึงต้องกำหนดปัญหาในรูปของความต้องการ สนองความพอใจทุกคน การรู้ความต้องการ จะช่วยให้ทราบปัญหาและความต้องการของแต่ละคน ขั้นกำหนดปัญหาจึงเป็นขั้นที่สำคัญและใช้เวลามาก สิ่งที่ต้องยึดถือในขั้นนี้คือ แต่ละคนจะต้องยึดมั่นในความต้องการของตน ฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายอื่น จนกระทั่งเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วใช้ความต้องการทั้งหมดสรุปปัญหา โดยใช้ประโยคยาวๆ ปัญหาที่กำหนดไว้อย่างดี จะสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ครึ่งหนึ่ง

ขั้นที่ 2 การระดมสมอง การระดมสมองเป็นวิธีการที่ช่วยให้ได้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องสร้างความชัดเจน และไม่ต้องประเมิน เป็นความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้มากที่สุด การระดมสมองก็เพื่อแสดงว่า วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะไม่ได้มีวิธีเดียว

ขั้นที่ 3 เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายได้ดีที่สุด วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจะต้องเป็นวิธีการที่ได้รับฉันทามติที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน  ตลอดจนสามารถตรวจสอบผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

ขั้นที่ 4 วางแผนว่าใครจะทำอะไรที่ไหนและเมื่อไร ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจะต้องตัดสินใจว่า ใครทำอะไร ที่ไหนและเมื่อไร บางครั้งจะต้องตัดสินว่า จะใช้วิธีอะไรด้วย โดยเขียนข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งมีรายละเอียดว่า ใครจะทำอะไร เมื่อไร เพื่อไว้เตือนความจำ

ขั้่นที่ 5 นำแผนไปปฏิบัติ ในการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติให้เสร็จตามกำหนด และเป็นไปตามข้อตกลง

ขั้นที่ 6 ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา เป็นการประเมินเพื่อทราบผลของการแก้ปัญา ว่าดำเนินไปได้ดีเพียงใด  และหากการปฏิบัติตามแผนไม่ได้ผลดีควรมีการแก้ไขอย่างไร และจะมีการแก้ไขและวางแผนใหม่อย่างไร ซึ่งในขั้นนี้ ควรให้มีการอภิปรายประกอบการประเมิน ในเรื่องเกี่ยวกับ ความรู้สึกในกระบวนการแก้ปัญหา มีอะไรที่ชอบและที่ไม่ชอบ มีอะไรไที่ทำให้ไม่สบายใจ สิ่งที่อยากจะพุดแต่ไม่ได้พูด และมีอะไรที่จะทำให้ดีกว่านี้ในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าได้ดำเนินตาม 6 ขั้นตอนแล้วก็ตาม การแก้ปัญหาร่วมกันอาจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก

          1)ไม่จัดการแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ก่อนเริ่มการแก้ปัญหา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายหรือกลุ่มมีอารมณ์รุนแรง

          2) การกำนดปัญหาไม่เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน

          3)ในระหว่างระดมสมองมีการขัดจังหวะ ด้วยการประเมิน การวิจารณ์ หรือให้ผู้เสนอยกตัวอย่าง เหล่านี้ทำให้แนวคิดถูกขวางกั้น

          4) ทำรายละเอียดไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความไม่ร่วมมือกัน

          5).ไม่ติดตามผล ทำให้ไม่ทราบความก้าวหน้า

          6) มีการปิดบังซ่อนเร้นสาระสำคัญ เนื่องจากทุกคนไม่ได้เปิดเผยปัญหาและความต้องการของตนออกมาทั้งหมด มีการปิดบังซ่อนเร้น

          7) ดำเนินกระบวนการกลับไปกลับมา เพราะบางครั้งไม่สามารถหาฉันทานุมัติในการแก้ปัญหาได้ จึงต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนต้นๆ ทำให้เสียเวลา ทำให้การแก้ปัญหาต้องล่าช้า

จะห็นว่า การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิผลได้ นอกจากจะต้องดำเนินตามขั้นตอนในการแก้ปัญหาครบทั้ง 6 ขันตอนแล้ว ยังจะต้องขจัดสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลอีกด้วย การแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้งจึงจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

            บุคคลที่มีสติปัญญาเพื่อความสำเร็จ จะเผชิญกับปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาด้วยความรอบคอบ

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

แนวทางการใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นวิธีแก้ปัญหา

นการแก้ปัญหา บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จะช่วยให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่มีความหมายมากขึ้น  สำหรับสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ได้แก่

           1. เปลี่ยนแปลงปัญหา เป็นการแก้ปัญหาด้วยการระบุปัญหาใหม่  แทนปัญหาเดิม แต่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพราะมีหลายครั้งที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการกำหนดปัญหาใหม่ให้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้

          2. เปลี่ยนแปลงวิธีกำหนดปัญหา เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มองปัญหาจากหลายมุมมอง เช่น หากมองในแง่สังคมศาสตร์อาจแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่พฤติกรรมศาสตร์ หรือมองในเชิงคุณภาพ อาจแก้ปัญหาได้ การเปลี่ยนแปลงวิธีกำหนดปัญหาในข้อนี้ แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงในข้อ 1 ในแง่ที่ว่า ข้อ 1 เปลียนแปลงที่ตัวปัญหา ส่วนข้อนี้ไม่ได้มองที่ตัวปัญหาอย่างเดียว แต่มองลึกลงไปในลักษณะของตัวปัญหา ว่าเป็นปัญหาหาลักษณะใด มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

           3. เปลี่ยนแปลงวิธีการ การแก้ปัญหาตามข้อนี้ มุ่งที่วิธีการแก้ปัญหา ว่าจะใช้วิธีใด หากวิธีแก้ปัญหาที่คิดไว้ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ ก็หาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ที่สามาถแก้ปัญหาได้ เป็นการมองที่วิธีแก้ปัญหา ก่อนที่จะพยายามแก้ปัญหา

          4.  เปลี่ยนแปลงเกณฑ์  เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยมองที่เกณฑที่ใช้ในการตัดสินว่า วิธีแก้ปัญหาวิธีใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยเปลี่ยนจากเกณฑ์ที่รับไม่ได้ มาเป็นเกณฑ์ที่สามารถรับได้ เช่น แทนที่จะใช้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับงบประมาณ หรือเทคโนโลยี  มาใช้เกณฑ์เกี่ยวกับเวลา

          5. เปลี่ยนแปลงข้อจำกัด  เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มองปัญหา ด้วยการตรวจสอบข้อจำกัดก่อนที่จะลงมือแก้ วิธีง่ายๆในการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัด เช่น หากมีปัญหายุ่งยากวับซ้อน ก็ให้แก้ปัญหาด้วยการแบ่งปัญหาออกเป็นส่วนๆ  แล้วแก้ปัญหาที่ละส่วน หรือ มองปัญหาให้ไกลไปกว่ากรอบที่กำหนดไว้เดิม การทำอย่างนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัด ทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิผลมากขึ้น

จะเห็นว่า ปัญหาต่างๆนั้นสามารถแก้ได้ เพียงแต่ผู้ที่ต้องการจะแก้ปัญหา รู้จักที่จะใช้วิธีเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับปัญหานั้นๆ และจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่เพื่อหนีปัญหา การแก้ปัญหานั้นก็จะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                                          คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
                                    ส่วนใหญ่เป็นพวกที่แสวงหาปัญหาแล้วหาแนวทางที่จะแก้ไข

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

ความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติเป็นอย่างไร

ความต้องการในที่นี้ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Need เป็นความต้องการที่จำเป็นขาดไม่ได้ มีความหมายที่กว้าง และลึกกว่า want (ความต้องการ)  Desire (ความปรารถนา) และ Wish (ความมุ่งหวัง)

ความต้องการที่จำเป็น อาจแบ่งเป็น ตวามต้องการทางกาย  เช่น อาหาร น้ำ ฯลฯ ความต้องการทางจิตใจ เช่น ความรัก ความปลอดภัย ฯลฯ และ ความต้องการทางสังคม เช่น ความเป็นพวกเดียวกัน การยกย่องนับถือ ฯลฯ

ที่ว่าเป็นความต้องการที่จำเป็นขาดไม่ได้ ก็เพราะถ้าขาดจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ รุนแรงสุดก็ถึงแก่ชีวิต เบาหน่อย ก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติ

ความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติ ( neurotic needs) ในทัศนะของ Karen Horney ซึ่งเป็นจิตแพทย์ มีคตวามเห็นว่า เป็นความต้องการที่มีผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถูกรบกวน  เป็นความต้องการที่ทำให้เกิดความพอใจได้ยาก  เป็นความต้องการที่เป็นไปไม่ได้ เป็นความต้องการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในตน และจะทำให้ตนเองพ่ายแพ้ในที่สุด

Karen Horney ได้แบ่งความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติ ออกเป็น 10 ประการ  ได้แก่

          1) ความต้องการให้คนอื่นรัก และเห็นด้วยอย่างผิดปกติ

          2) ความต้องการที่จะมีคู่ชีวิตที่จะดูแลชีวิตตนเอง

          3) ความต้องการที่จะจำกัดตัวเองอยู่ในวงแคบๆอย่างผิดปกติ

          4) ความต้องการอำนาจอย่างผิดปกติ

          5) ความต้องการเอาเปรียบผู้อื่นจนผิดปกติ

          6) ความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียงจนผิดปกติ

          7) ความต้องการให้มีผู้นิยมตนจนผิดปกติ

          8) ความต้องการความสำเร็จเกินเหตุ

          9) ความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระจนผิดปกติ

         10) ความต้องการที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบ และไม่ยอมให่้ถูกโจมตีจากคนอื่น

จะเห็นว่า ความต้องการความสัมพันธ์ทั้ง 10 ประการ ล้วนแต่เป็นความต้องการความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ ซึ่งต่อมา  Horney ได้จำแนกความต้องการแบบผิดปกติ 10 ประการ ดังกล่าว ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ความต้องการเข้าหาคนอื่น ความต้องการหนีคนอื่น และ ความต้องการต่อสู้คนอื่น

ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองความต้องการแบบผิดปกติเหล่านั้น บุคคลจึงมุ่งไปที่ตนเองและผู้อื่น  ด้วยการที่ ตนเองวิตกกังวลว่าทำอย่างไรให้คนอื่นชอบเพื่อจะได้ไม่เจ็บปวด ทำอย่างไรตนเองจึงเป็นฝ่ายรุกที่ดี และหรือ ด้วยการไม่เข้าใกล้ชิดคนอื่นเพื่อจะได้ไม่เจ็บตัว ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการที่ไม่ปกติ และจะสร้างปัญหาให้กับบุคคลผู้มีความต้องการแบบผิดปกติเหล่านี้

บุคคลใดที่มีความต้องการความสัมพันธ์แบบผิดปกติในลักษณะดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก  เพราะเป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจอย่างมาก แต่ต้องใช้ความพยายาม เพราะหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                              สาระคิด

                                                    คนอื่นจะคิดอย่างไรกับคุณ ก็ไม่ใช่ธุระของคุณ

                                                                                                 เรจิีนา เบรตต์
*********************************************************************************
                                                                                                          ;

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การสร้างการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกสร้างได้อย่างไร

การรู้คุณค่าแห่งตน(self-esteem)ในเชิงบวก มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในชีวิต จึงจำเป็นที่บุคคลจะต้องสร้างและพัฒนาการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักจิตวิทยาชื่อ Nido R. Qubein   กล่าวว่า การรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวก สามารถสร้างได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

          1.เริ่มต้นด้วยความเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายรักตน  โดยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้วางรากฐานที่แข็งแรงให้กับตน เพื่อให้ตนสามารถสร้างคุณค่าแห่งตนในเชิงบวกให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอนโดยไม่มีข้อสงสัย

          2.ยอมรับตนเองทั้งหมดโดยไม่มีข้อสงสัย  การยอมรับตนเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการรู้คุณค่าแห่งตนที่สำคัญ ที่จะทำให้การรู้คุณค่าแห่งตนสูงขึ้น และต้องเป็นการยอมรับตนเองโดยไม่มีเงื่อนไข

          3.เลิกพูดถึงวิธีการและสิ่งที่ไม่ดีของตนทั้งหมด การวิจารณ์ตนเองในเชิงทำลายเพียงคำเดียว จะทำลายการรู้คุณค่าแห่งตนถึง 10 เท่าของคำวิจารณ์จากคนอื่น คนที่พูดเรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับตนเองอย่างต่อเนื่อง จะเชื่อในสิ่งที่ตนพูดในที่สุด และเมื่อเชื่อในสิ่งที่พูดแล้วจะทำตามในสิ่งที่เชื่อ ในทำนองเดียวกัน ถ้าบุคคลพูดถึงตัวเองในเชิงบวก จะทำให้บุคคลเชื่อสิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งมีผลทำให้การรู้คุณค่าแห่งตนเพิ่มขึ้น การสร้างนิสัยที่พูดถึงตนเองในสิ่งดีๆ พบว่าจะทำให้ชอบตนเองมากขึ้น

          4. ทำในสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ให่ระบุสิ่งที่ตนไม่ชอบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แล้วลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ชอบนั้น โดยจะต้องทำบ่อยๆจนกลายเป็นนิสัย

          5. เรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่นตามที่เขาเป็นและยกย่องเขา ในเชิงสถิติพบว่า ร้อยละ 85 ของคนที่ถูกให้ออกจากงาน มีเหตุมาจากไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้ การเข้า่กับคนอื่น หมายถึงการยอมรับคนอื่นตามที่เขาเป็น กุญแจแห่งความสำเร็จในการคบเพื่อนในทุกเรื่องคือ ไวต่อความเข้าใจต่อความต้องการของคนอื่น และช่วยให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ดังคำพูดที่ว่า ถ้าท่านช่วยคนอื่น คนอื่นจะช่วยท่าน และท่านจะมีเพื่อนมากขึ้น

          6.ใช้ทัศนคติในเชิงบวกและแสวงหาคนที่มีทัศนคติในเชิงบวก ในโลกนี้มีคนอยูี่ 2 พวก คือคนในเชิงบวกและคนในเชิงลบ คนที่มองโลกในแง่ดี จะมีทัศนคติในเชิงบวก ส่วนคนที่มองโลกในแง่ร้าย จะมีทัศนคติในเชิงลบ กฎของการสร้างทัศนคติในเชิงบวก ก็คือ การกระทำในเชิงบวก กับแสวงหาคนที่มีทันคติในเชิงบวก แล้วใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด

          7. ทำค่านิยมของตนให้กระจ่างและรักษาค่านิยมนั้นไว้ คนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ เรียนรู้ที่จะให้คุณค่ากับคนอื่น และรู้คุณค่าของการใช้สิ่งต่างๆ ผู้ที่ต้องงการสร้างการรู้่คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกควรจะรักษาค่านิยมนี้ไว้

          8. พึ่งตนเองแต่ช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่ บุคคลที่รู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวก จะเรียนรู้ที่จะยืนบนขาของตนเอง มนุษย์ทุกคนอยากเป็นอิสระ และโอกาสที่ดีที่สุดที่จะรักษาความอิสระไว้ได้ ก็คือการพึ่งตนเอง คนที่พึ่งตนเองเท่านั้นที่จะรักษาการนับถือตนเองไว้ได้ ในขณะเดียวกันคนที่รู้คุณค่าตนเองในทางบวก มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่น และยิ่งช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งมีความรู้สึกดีต่อตนเองมากขึ้นเท่านั้น คนที่ให้บุคคลื่นอย่างเต็มที่ ท้ายที่สุดจะได้มากกว่าที่เขาได้ให้ไป

          9. ปลูกฝังความกตัญญูให้มั่นคง คนประเภทสร้างตนด้วยตนเองเอง หรือ คนซึ่ง"ไม่มีใครให้อะไรฉันเลย"เป็นคนที่ไม่มีในโลก เพราะมนุษย์ทุกคนจะได้รับจากคนอื่นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จึงต้องมีการปลูกฝังความกตัญญููเพราะความกตัญญุไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะคนส่วนใหญ่สนใจแต่สิ่งที่ต้องการมากกว่าที่จะอยากรู้ว่าตนได้รับอะไรจากใคร  ดังนั้น ถ้าจะสร้างและรักษาภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกจะต้องปลูกฝังความกตัญญูอย่างแท้จริง

          10. ปลูกฝังความสัมพันธ์ที่มั่นคง บุคคลที่ประสบความสำเร็จจะรู้จักคนเป็นจำนวนมาก แต่มีเพื่อนเพียงหยิบมือเดียว ความเป็นเพื่อนก็เหมือนความกตัญญู คือไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เกิดจากการ"ให้"ตัวเรากับคนที่เรารัก ไม่มีการลงทุนใดๆจะยิ่งใหญ่ กินเวลา มากกว่าการลงทุนสร้างความเป็นเพื่อน คนที่รู้ถึงคุณค่าแห่งตน จะปลุกฝังความเป็นเพื่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 จะเห็นว่า การสร้างการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวก จะต้องเริ่มด้วยการมีความคิด ความเชื่อ และทัศนคติในเชิงบวก พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยน เสริมสร้าง ด้วยการปฏิบัติดังที่กล่าวมา การรู้คุณค่าแห่งตนจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                                                                                 สาระคิด

                                                  คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำเท่านั้น ที่จะพูดว่า "ตัวใครตัวมัน"

                                                                                                    Nido R. Qubein
*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การรู้คุณค่าแห่งตนสำคัญอย่างไร

การรู้คุณค่าแห่งตน คือ การตัดสินของแต่ละบุคคลต่อการมีหรือไม่มีคุณค่าของตน เป็นความรู้สึกในเชิงบวกหรือลบ การมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตนในทางบวก เป็นการรู้คุณค่าแห่งตนสูง ส่วนการมีความเห็นเกี่ยวกับตนในทางลบ เป็นการรู้คุณค่าแห่งตนต่ำ ซึ่งการรู้คุณค่าแห่งตนมีผลมาจากการประเมินตนเอง

นักจิตวิทยาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การรู้คุณค่าแห่งตน เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตน และเป็นแกนนำที่แท้จริงของบุคลิกภาพของมนุษย์  การรู้คุณค่าแห่งตนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

การรู้คุณค่าแห่งตนขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ที่อยู่ในใจของบุคคลนั้นๆ บุคคลที่มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก เป็นบุคคลที่ชอบและยอมรับตนเองอย่างแท้จริง จะแสดงออกถึงการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกสูง และจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเชิงสร้างสรรค์

นักจิตวิทยา ยังได้สรุปถึงการรู้คุณค่าแห่งตนว่า มีลักษณะดังนี้

          1) การรู้คุณค่าแห่งตน สามารถเปลี่ยนแปรตามสถานการณ์ เหตุการณ์ สุขภาพ ฯลฯ

          2) การณุ้คุณค่าแห่งตนเป็นส่วนผสมระหว่างความเชื่อมั่นภายในกับผลสัมฤทธิ์ภายนอก

          3) การรู้คุณค่าแห่งตนเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถเพิ่มได้และรักษาให้อยู่ในระดับสูงๆได้

          4) การรู้คุณค่าแห่งตน มีผลกระทบมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก

          5) ระดับการรู้คุณค่าแห่งตน จะสะท้อนจากการตัดสินใจของบุคคลนั่นเอง

          6) ความเชื่อและค่านิยมบางอย่าง ทำให้ยากต่อการรักษาการรู้คุณค่าแห่งตนให้อยู่ในระดับสูงได้

เกี่ยวกับบุคลิกภาพ การรู้คุณค่าแห่งตนมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล คนที่มีการรู้คุณค่าแห่งตนต่ำจะพยายามชดเชยความรู้สึกที่ว่าตนด้อยความสามารถ ด้วยการกระทำที่แสดงถึงการมีปมด้อยและปมเด่น การรู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีผลโดยตรงกับระดับสติปัญญา อารมณ์  การจูงใจ และพฤติกรรม จึงมีผลกระทบในเชิงลบต่อบุคลิกภาพของมนุษย์

นักจิตวิทยาส่วนมากเชื่อว่า การรู้คุณค่าแห่งตนต่ำเป็นปัจจัยสำคัญกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของความไร้ระเบียบ  ไม่ยอมรับว่าตนเองมีคุณค่า จึงแสดงออกด้วยการคับข้องใจ และความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ อาจทำให้ตนเองเล็กลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม ในขณะที่คนรู้คุณค่าแห่งตนสูง อาจเปลี่ยนแปลงความล้มเหลวให้เป้นความสำเร็จในเวลาไม่นาน

บุคคลที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความยุ่งยาก เช่น มีเอกลักษณ์ของตนไม่มั่นคง จะมีความทุกข์ อันเกิดจากอาการทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่น วิตกกังวล กลัว นอนไม่หลับ ปวดหัว กัดเล็บใจสั่น ส่วนคนที่รู้คุณค่าแห่งตนสูงจะไม่มีความทุข์ยากจากอาการเหล่านี้

คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ จะรู้สึกตื่นกลัว และรู้สึกไม่สบายเมื่ออยู่ในสังคม และจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความอาย  เป็นคนที่ต้องการการยอมรับอย่างมาก นอกจากนั้น คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีแนวโน้มที่จะชักจูงได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะพยายามทำอะไรเหมือนคนอื่น มีทัศนคติที่จะทำให้ตัวเองพ่ายแพ้ เกิดความรู้สึกไร้ค่า

คนที่มีการรู้คุณค่าแห่งตนสูงจะเรียนรู้ว่าอะไรสำคัญในชีวิต จะไม่รู้สึกไขว้เขวเพราะรู้สึกผิด กลัว หรือมีความสงสัยในตน(self-doubt)  สามารถตัดสินใจได้โดยปราศจากการประนีประนอม ค่านิยม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

ด้วยเหตุนี้ การรู้คุณค่าแห่งตนจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นตัวกำหนดลักษณะที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะแตกต่างไปตามความแตกต่างของการรู้คุณค่าแห่งตนของแต่ละคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

นอกจากนั้น การรู้คุณค่าแห่งตนจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องต่อไปนี้ คือ การเลือกคู่ครอง การเลือกอาชีพ การเลือกเพื่อน การเลือกกิจกรรมในยามว่าง ทัศนคติที่มีต่อคนเองและคนรอบข้าง สมรรถนะในการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ การกระทำแลปฏิกิริยาโต้ตอบ ความสุขหรือการขาดความสุข ความสัมพันธ์ในครอบคัว ความสัมพันธ์ในอาชีพ และความสัมพันธ์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับการสวดมนต์อ้อนวอน การละเล่นและชมชน

จะเห็นว่า การรู้คุณค่าแห่งตนมีความสำคัญต่อความสำเร็จของชีวิตอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้่างและพัฒนา การรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อที่มีต่อตนเองไปในทิศทางบวกอย่างจริงจัง มิฉะนั้นความสำเร็จในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยาก  
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                                                           สาระคิด

                ความเจ็บป่วยทางจิตใจ เป็นอันตรายร้ายแรงกว่า ความเจ็บป่วยทางร่างกายมากนัก

                                                                                 ซิเซโร
*********************************************************************************

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก:นำสู่ชีวิตที่ดี

ภาพลักษณ์แห่งตน มีความสำคัญต่อการชี้นำบุคคลไปสู่ได้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์แห่งตนที่บุคคลมองเห็นตัวเอง หากมองเห็นภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกจะชี้นำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ แต่หากมองภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบก็จะชี้นำชีวิตไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน

สำหรับภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกที่จะนำชีวิตแห่งตนไปสู่ความสำเร็จ มีชีวิตที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. ยอมรับตนเองตามที่เป็น การยอมรับตนเองอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นก้าวแรกของการสร้างภาพแห่งตนในเชิงบวก มนุษย์ทุกคนมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ีง คือ ไม่พอใจตนเอง คิดอยู่แต่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ คิดว่าตนเองจะต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ การเริ่มต้นด้วยการยอมรับตนเองตามที่เป็นอยู่ จะช่วยให้สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้

           2. มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและไม่ตัดสินใจแทนคนอื่น บุคคลที่มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง รู้ว่าการเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นความสูญเปล่า คนที่ตัดสินใจแทนคนอื่น คือคนที่ไม่ยอมรับคนอื่น เป็นคนที่มีบุคลิกภาพไม่มั่นคง

           3. มีความตั้งใจที่จะเสี่ยง ปกติบุคคลที่เปิดตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ต้องเสี่ยงกับความเจ็บปวด เพราะงานใหม่ สถานที่ใหม่ และสถานการณ์ใหม่ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อความสุขและความปรารถนาส่วนบุคคลที่บุคคลนั้นมีอยู่ คนที่มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก จะต้องรู้จักชั่งน้ำหนักถึงความเป็นไปได้ การที่คิดจะไม่ทำอะไรเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด คือความผิดพลาดอันใหญ่หลวง

           4. หาวิธีการในเชิงบวกเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง คนที่ยอมรับตนเองและไม่กังวลว่า คนอื่นจะคิดถึงตนอย่างไร เขาจะแสดงถึงลักษณะและความรู้สึกภายในที่เป็นเอกภาพ คนที่มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก จะพอใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดเกี่ยวกับตัวเขาอย่างไร

          5. พึ่งตนและตัดสินใจด้วยตนเอง คนที่มีความรู้สึกที่ดีต่อคนเอง  จะไม่ตำหนิคนอื่น กรณีแวดล้อม หรือระบบ แต่เขาจะมองตัวเองเพื่อหาคำตอบ เกี่ยวกับวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เขาจะไม่แสวงหาการตำหนิ แต่จะแสวงหาวิธีการที่จะดึงทรัพยากรภายในตนเพื่อการแก้ปัญหา เป็นคนไม่ชอบรับความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่ชอบที่จะให้ จะไม่พูดถึงเสรีภาพ เพราะเขามีอิสระอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์แห่งตนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สร้างขึ้นมาใหม่ได้ สำหรับการสร้างภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกจนเป็นทักษะ สามารถทำได้โดยมีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้

                     1) ยกเลิกข้อมูลเก่าที่เป็นลบ

                     2) ทดแทนด้วยข้อมูลใหม่ที่เป็นบวก

                     3) ยอมรับภาพลักษณ์ใหม่ของตน

                     4) เน้นที่ภาพลักษณ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จ

                     5) ฝึกตนเองให้มีทัศนคติและพฤติกรรมใหม่ตามภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมา

เมื่อฝึกฝนตนเองตามขั้นตอนดังกล่าว จะช่วยให้เกิดภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนอย่างมีเป้าหมาย นำไปสู่ชีวิตที่ดีได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                                                                         สาระคิด

                                  People are disturbed not by events,but by their view of those events.

                                                                                                         Epictetus
*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบ:นำไปสู่ชีวิตที่ล้มเหลว

นักจิตวิทยาเชื่อว่า คนที่ล้มเหลวเกิดจากภาพลักษณ์แห่งตน ไม่ใช่เพราะขาดความรู้ความสามารถ ภาพลักษณ์แห่งตนที่เหมาะสมจึงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า เป็นยุทธวิธีที่จำเป็นต่อการเพิ่มพลังอำนาจให้กับบุคคล และเป็นกำลังสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขความเจ็บป่ว่ยทางสังคม

การเสริมสร้างภาพลักษณ์แห่งตน เป็นความจำเป็นเบื้องต้น สำหรับเป้าหมายของความสำเร็จ แต่ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบ ทำให้ไม่สามารถสร้างเป้าหมายได้ ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกเท่านั้น ที่จะสร้างเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะทำให้เกิดระบบชี้นำอัตโนมัติไปสู่ความสำเร็จ

สำหรับภาพลักษณ์แห่งตนมีลักษณะสำคัญดังนี้

          1) ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบ ทำให้ระบบชี้นำอัตโนมัติไปสู่ความสำเร็จทำงานผิดพลาด

          2) ภาพลักษณืแห่งตนเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้

          3) ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบ สามารถลบออกได้ และเมื่อลบออกแล้ว สามารถสร้างขึ้นใหม่ เป็นภาพลักษณ์แห่งตนที่มีลักษณะเป็นบวกได้

นั่นคือ ภาพลักษณ์แห่งตน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ สร้างให้เป็นภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวกได้

สำหรับผู้มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. ยึดตนเองเป็นศูนย์ บุคคลที่คิดถึงแต่ปัญหาของตนเอง ความต้องการของตนเอง  การร่วมมือกับคนอื่นเพื่อความสำเร็จ เกือบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นควาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจและความผิดหวัง คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญ จะเกิดความกดดันทางด้านจิตใจอย่างสม่ำเสมอ และในที่สุดคนที่ยึดตนเองเป็นศูนย์ จะมีความว้าเหว่และหมดหวัง ซึ่งเป็นแรงขับที่อาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในที่สุด

          2. มีความพอใจส่วนบุคคลและเป็นความพอใจที่คับแคบ บุคคลที่มีภาพลักษณ์แห่งตนเป็นลบ จะมีความพอใจส่วนบุคคลที่คับแคบ ไม่ชอบการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ เพราะทำให้ต้องเสี่ยง ซึ่งบุคคลที่มีภาพลักษณ์แห่งตนเป็นลบ ไม่ต้องการที่จะเสี่ยงหรือต้องการความเจ็บปวด เขาจะเป็นเท่าที่เขาจะเป็นได้

          3. ดูถูกคนอื่น คนที่ดูถูกคนอื่น เป็นคนที่ไม่คิดถึงตนเองในเชิงบวก  เป็นคนที่พยายามทำให้ตนเองสูงขึ้นด้วยการดึงคนอื่นให้ต่ำลง ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาดมาก

ภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบดังกล่าว ทำให้บุคคลมี ความคับข้องใจ ความก้าวร้าว ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ความว้าเหว่ ความไม่สม่ำเสมอ ความขุ่นเคือง และความว่างเปล่า ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่นำชีวิตไปสู่ความล้มเหลว

ดังนั้น หากบุคคลใดเมื่อดูตัวเองแล้ว พบว่ามีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงลบดังกล่าว จะต้องรีบแก้ไข เปลี่ยนแปลง ให้เป็นภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก มิฉะนั้นความล้มเหลวในชีวิตจะตามมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                           สาระคิด

                     มนุษย์เหมือนจักรยาน จะรักษาดุลยภาพไว้ได้ ก็ต่อเมื่อจักรยานเคลื่อนไปข้างหน้า
                 การพยายามรักษาดุลยภาพโดยให้จักรยานจอดนิ่งๆอยู่กับที่ จักรยานจะลื่นและล้มในที่สุด

                                                                                             Maxwell Maltz

*********************************************************************************

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ภาพลักษณ์แห่งตนกับความสำเร็จในชีวิต

ภาพลักษณ์แห่งตน (self image) คือ ระบบความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเอง เป็นสิ่งที่บุคคลมองเห็นเมื่อบุคคลมองที่ตนเอง  มองเห็นว่าตนเองเป็นคนอย่างไร มีทั้งลักษณะทางร่างกายและจิตใจ มีทั้งความสามารถและไม่มีความสามารถ มีทั้งเข้มแข็งและอ่อนแอ มีทั้งบวกและลบ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่เกี่ยวกับทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับตน 

แมกเวลส์ มอลท์ซ (Maxwell Maltz) ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยาไซเบอร์เนติคส์ (psycho-cybernetics) เชื่อว่า ภาพลักษณ์แห่งตน มีความสำคัญต่อการชี้นำบุคคลไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว เช่นเดียวกับระบบชี้นำเครื่องบินที่ทำการบินอัตโนมัติ

พฤติกรรมทั้งหมด การกระทำทั้งหมด ความรู้สึกทั้งหมด สมรรถนะของมนุษย์ทั้งหมด จะถูกกำหนดโดยภาพลักษณ์แห่งตน บุคคลไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์แห่งตน

ภาพลักษณ์แห่งตน ใช้ทำนายพฤติกรรมได้ถูกต้องกว่าระดับสติปัญญา บุคคลจะกระทำ จะรู้สึก และมีพฤติกรรมในลักษณะใด ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์แห่งตน

การสร้างภาพลักษร์แห่งตนที่เหมาะสม จึงเป็นยุทธวิธีที่จำเป็นต่อการเพิ่มพลังอำนาจให้กับบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีกว่า นำชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

ปกติบุคคลสามารถมองเห็นภาพตัวเองได้ทั้งทางบวกและทางลบ ในทางบวก เช่น มองว่าตนเองเป็นคนมีค่า มีศักดิ์ศรี  ส่วนในทางลบ เช่น มองว่าตัวเองต่ำต้อย ไร้ศักดิศรี เป็นต้น การจะมองเห็นในลักษณะใดนั้นล้วนมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลนั้น

บคคลที่มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก เป็นบุคคลที่ชอบและยอมรับตนเองอย่างแท้จริง จะแสดงออกถึงการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกสูง และจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเชิงสร้างสรรคฺ์

เมื่อบุคคลมีภาพลักษณ์แห่งตนเป็นบวก จะมีผลทำให้บุคคลมีลักษณะดังนี้

          1. มีคุณค่า มีหลักการ และมีความมั่นคงเพียงพอ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อจำเป็น

          2. สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ดีที่สุด แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วย

          3. ไม่วิตกเกี่ยวกับอนาคต หรือคิดถึงความผิดพลาดในอดีตมากนัก

          4. รู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนที่จะจัดการกับปัญหา

          5. รู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่น โดยไม่รู้สึกว่าเด่นกว่าหรือด้อยกว่า

          6. รู้สึกว่าเป็นบุคคลที่น่าสนใจและมีคุณค่า

          7. สามารถรับได้ทั้ง การยกย่องชมเชย การถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยปราศจากการมีอารมณ์

          8. ต่อต้านความพยายามของคนอื่น ที่พยายามจะมีอำนาจเหนือตน

          9. มีประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้สึกหลายอย่าง โดยที่ไม่แสดงความรู้สึกนั้นออกมา

          10. พอใจกับกิจกรรมอันหลากหลาย เช่น การทำงาน การเล่น การแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ ฯลฯ

นั่นคือ หากบุคคลต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องสร้างภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และความเชื่อ ที่มีต่อตนเองเสียใหม่ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางบวก เพื่อเสริมสร้าง ศักยภาพ สมรรถนะ ความสามารถ และ ความเข้มแข็งยิ่งขึ้น แล้วชีวิตจะประสบกับความสำเร็จ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

                                            There is nothing good or bad, but thinking makes it so.

                                                                                               Shakespeare

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์ มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายในความต้องการการเรียนรู้มีสาเหตุมาจาก ความต้องการเรียนเพื่อแสวงหาความรู้ เพื่อการนำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสันติสุข และเพื่อให้ตนเองอยู่ได้อย่างอิสระ

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น มนุษย์ต้องการการเรียนรู้อันเนื่องมาจากปัจจัยต่อไปนี้

เศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการค้านานาชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆของคนงานหลายล้านคน ซึ่งมีทั้งผู้จัดการ วิศวกร นักวิจัยทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

ในหลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา มีคนเป็นจำนวนนับล้านที่ต้องสร้างงานใหม่ขึ้นมา และเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ คนงานจะต้องมีสมรรถภาพในการแก้ปัญหา และมีมนุษยสัมพันธ์ในฐานะปัจเจกบุคคล รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่ที่แตกต่างวออกไป

ในประเทศอุตสากรรมเอง ก็มีการเพิ่มความต้องการการเรียนรู้มากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะทุกบ้านจำเป็นจะต้องมีเครื่องทุนแรง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความสะอาด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องดูแลรักษาด้วยตนเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ชำนาญในเครื่องมือเหล่านั้น จึงต้องเรียนรู้ทั้งการซ่อมและติดตั้ง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา รายได้ของครอบครัวเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ที่สำคัญ คือเรียนเพื่อต้องการรายได้เพิ่ม และเรียนเพราะไม่มีโอกาสเรียนในระบบโรงเรียน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน นอกจากนั้นโอกาสการมีงานทำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์

การเมือง เป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคน ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความรับผิดชอบ ในการที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง เป็นผู้ที่มีความกระจ่างแจ้งและสนใจประเด็นปัญหาต่างๆ ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

อนึ่ง ประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผล ต้องการพลเมืองที่ยอมรับว่า ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ก็โดยการเจรจาต่อรองประนีประนอม และคำนึงถึงประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆที่แตกต่างออกไป

พลเมืองในระบอบประชาธิแปไตย ต้องการการเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า สามารถที่จะเห็นปัญหาของท้องถิ่น ปัญหาของชาติ และปัญหาของโลกในระยะเริ่มแรก เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการอยู่รอด

พลเมืองควรได้รับการศึกษา เพื่อเตรียมตัวที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทาง และย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลง มากกว่าที่จะปรับตัวตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงประการเดียว

สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะแต่ละบุคคลจำเป็นจะต้องเพิ่ม ทัศนคติ ค่านิยม และทักษะที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพราะสังคมปัจจุบันกำลังเพิ่มการแบ่งแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิผล ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างกัน

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือระหว่างชาติ มีผลมาจากการขาดการสร้างและรักษาความพอใจที่จะเกิดจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ความไม่เชื่อถือต่อกัน ความเป็นศัตรู และการปฏิเสธ เหล่านี้จะต้องแก้ไขด้วยการเรียนรู้

เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอของเทคโนโลยี การเพิ่มสมรรภาพของการสื่อสารของโลก และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแรงงานที่ทำงานในภาคทันสมัยเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมขนาดย่อม ช่างฝีมือ และประชาชนในภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลทำให้เพิ่มความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆมากขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อการเป็นทรัพยากรมนุษย์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการการเรียนรู้ จะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศตนเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะลอกเลียนแบบการศึกษาของประเทศอื่น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะจะเป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้เกิดการแปลกแยกและเกิดปัญหาต่างๆตามมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคิด

                                              การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
                                   แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ ก็สามารถทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

*********************************************************************************