วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของการพัฒนา

การพัฒนามิได้เกิดขึ้นโดยอิสระ   ทันทีทันใด แต่การพัฒนาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถจำแนกรูปแบบและช่วงเวลาของการพัฒนาได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

ระยะแรกของการพัฒนา  ระยะนี้เริ่มตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักการเพาะปลูกเพื่อการยังชีพ  ถึงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป

การดำรงชีพของมนุษย์ในช่วงนี้  มีลักษณะเรียบง่าย สะดวกสบาย มีความเป็นอยู่อย่างพอกินพอใช้ พึ่่งตนเอง ใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านแบบง่ายๆ  ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น
 
การพัฒนาในช่วงนี้  มุ่งเน้นเรื่องการพึ่่งตนเอง  ที่สามารถสนองตอบความจำเป็นของตนเองหรือของท้องถิ่นได้

ระบบสังคมเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค   ระบบตลาดยังไม่มีหรือถ้ามีก็ยังมีอิทธิพลน้อยมาก การดำรงชีพของประชาชนขึ้นอยู่กับธรรมชาติ  เคยชินกับการรอคอยจากรัฐและธรรมชาติ

สังคมสมัยนี้เป็นสังคมปิด มีความผูกพันเหมือนครอบครัวใหญ่ ระบบข้าราชการเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย โดยข้าราชการถือว่าตนเองเป็นนาย

ระยะที่สองของการพัฒนา   ระยะนี้เริ่มตั้งแต่การเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 18  ที่เริ่มใช้เครื่องจักรกลเข้ามาใช้ประโยชน์ในการผลิตแทนแรงงานมนุษย์

การใช้เครื่องจักรกลทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีผลผลิตเพิ่มหลายเท่าตัว ทำให้สังคมยุโรปเปลี่ยนแปลงไปมาก  ประชาชนแบ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค  มีการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถ  สังคมกลายเป็นสังคมเปิด ใช้ระเบียบข้อบังคับควบคุมความประพฤติของคนในสังคมแทนจารีตประเพณี

ผลชัดเจนที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็คือการพัฒนาของประเทศในยุโรปเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จในการพัฒนาของประเทศในยุโรป  ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาประเทศของตน โดยพยายามลอกเลียนแบบและวิธีการจากประเทศในยุโรปไปใช้ในประเทศของตน

ส่งผลให้ประเทศที่เคยล้าหลังเหล่านั้น  เกิดช่องว่างระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท  ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป  เกิดการต่อต้านและการขัดแย้งภายในอย่ารุนแรง เนื่องจากความคาดหวังของประชาชนสูงขึ้น  แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสมัยใหม่

ระยะที่สามของการพัฒนา  เป็นการพัฒนาที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน  และจะดำเนินต่อไปในอนาคต เป็นยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง  และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

จากการใช้เครื่องจักรกลมาใช้อย่างกว้างขวางในระยะที่สอง ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย พลังงานมีราคาสูงขึ้น ประเทศที่พัฒนาไม่สามาถใช้อิทธิพลทางการเมืองหรือการทหารเข้าไปช่วงชิงผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบประเทศด้อยพัฒนาได้อีกต่อไป

ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจน  ทำให้ประเทศพัฒนาเริ่มหายุทธวิธีหรือแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางสำหรับพัฒนาให้กับประเทศยากจนทั้งหลาย เพราะความล้มเหลวในการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาได้ส่งผลกระทบค่อนข้างจะรุนแรงให้กับประเทศพัฒนา  ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม
 
นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศพัฒนาทั้งหลาย  ได้เปลี่ยนแนวทางและวิธีการเพื่อสนองความต้องการของประเทศด้อยพัฒนามากขึ้น

เหล่านี้ มีผลทำให้ยุทธวิธีและแนวทางการพัฒนาได้เปลี่ยนไปจากระยะที่สองที่เน้นการใช้เครื่องจักกล หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและช่วยเหลือประเทศล้าหลังให้สามารถพัฒนาตนเองควบคู่ไปด้วย
                           ---------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                       การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่ใช่การพัฒนา
                                              --------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไทยในช่วงสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน หมายถึงสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมจารีตนิยมไปสู่สังคมสมัยใหม่ หรือถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ หมายถึงสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

สังคมระยะเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมที่มีการขยับตัว  มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลายด้าน มีการย้ายถิ่น รวมทั้งมีการพัฒนาไปสู่สังคมสมัยใหม่แต่ยังไม่อยู่ตัว จึงทำให้เกิดลักษณะผสมผสาน  คือมีทั้งเก่าและใหม่
ในระยะสังคมเปลี่ยนผ่านนี้ จึงเป็นระยะที่ก่อให้เกิดความสับสนแก่คนที่พยายามปรับตัว  โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

โดยทั่วไปสังคมระยะเปลี่ยนผ่านจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

                  1.เกิดเศรษฐกิจเงินตราขึ้น มีการจำหน่ายสินค้าโดยผ่านคนกลาง โดยการนำสินค้าเข้าไปถึงหมู่บ้าน  เช่น วิทยุ โทรทัศน์ จักรยานยนต์ ฯลฯ สินค้าบางอย่างซึ่งเคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในชนบท ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะมีการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร  ในขณะเดียวกัน แม้จะมีเศรษฐกิจเงินตราและระบบตลาดเกิดขึ้น การอุปโภคบริโภคและการช่วยเหลือแบบญาติพี่น้องก็ยังคงมีอยู่

                  2. มีการสร้างอุตสาหกรรมผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคในลักษณะอุตสากรรมทดแทน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหารกระป๋อง ฯลฯ และเมื่ออุตสากรรมดังกล่าวอิ่มตัว จะหันไปผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อส่งออก

                  3. เกิดชุมชนเมิืองขึ้นและมีการย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง โดยเฉพาะแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อหางานทำ  เพราะในชนบทต้องการแรงงานน้อยลง ประกอบกับมีที่ดินจำกัด นอกจากนั้น  มีการเรียนรู้ ที่จะเป็นช่างฝีมือ มีผลให้หลายคนเปลี่ยนสภาพจากชาวนามาเป็นช่างฝีมือ มีโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป  ทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

                  4. มีการลงทุนโดนใช้เงินออมของชาติและการลงทุนโดยต่างชาติ มีการถ่ายทอดความรู้ในการผลิต เทคโนโลยี  การจัดการแบบใหม่ และการตลาด  ทำให้มีแบบแผนการทำงานใหม่ เช่น การตรงต่อเวลา การรับผิดชอบร่วมกันฯลฯ  มีการเรียนรู้วิทยาการ  เครื่องจักรกลและเครื่องมือใหม่ๆมากขึ้น

                  5. กลุ่มผู้นำในสังคมเดิมเริ่มถูกคุกคามในแง่ของอำนาจและสถานะทางสังคม โดยเฉพาะทหารและข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้เพราะ นักธุรกิจมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่วนกลุ่มอำนาจทางการเมืองเก่าต้องเผชิญกับกลุ่มที่เกิดใหม่ จนผู้มีอำนาจเดิมจะต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ  เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และการคุ้มครองทางการเมือง

                  6. สังคมเปิดกว้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเลื่อนชั้นทางสังคม และการเคลื่อนย้ายทางภูมิศาตร์ โดยมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ  ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาขยับเลื่อนชั้นเป็นบุคคลวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย นายช่าง ข้าราชการ ฯลฯ การเลื่อนชั้นทางสังคมทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง เป็นชนชั้นที่มีความรู้มากขึ้น จนทำให้อำนาจทางการเมืองเปลี่ยนเป็นอำนาจของชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักธุรกิจ และกรรมกร

                 7. ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนาจะถูกกระทบกระเทือน  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมและการย้ายถิ่น  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งถือหลักเกณฑ์แบบจารีตนิยมเสื่อมคลายลง และไม่มีค่านิยมใหม่มาทดแทน ทำให้เกิดความสับสนและข้อขัดแย้งทางค่านิยม ศาสนาซึ่งเคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเริ่มทำหน้าที่ได้น้อยลง และมีคนต่างศาสนามากขึ้น ประกอบกับมีการศึกษาแนวใหม่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นครั้งคราว

                 8. พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนไป  เนื่องจากมีการเปลี่ยนค่านิยมและการเลื่อนทางชนชั้น ประกอบกับมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในสังคม   การเคารพในฐานะผู้อาวุโสเริ่มลดลง  การย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองของคนในชนบททำให้ต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ  เช่น การขับรถต้องรักษากฎจราจร การข้ามถนนต้องข้ามที่ทางข้าม การทิ้งขยะต้องเป็นที่เป็นทาง

                 9. สถาบันและโครสร้างทางสังคมแบบจารีตนิยมบางอย่างยังคงมีอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆดังกล่าวแล้ว สังคมแบบจารีตยังคงมีอยู่  เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปบ้าง เช่น การเล่นพวก การอุปถัมภ์  การวิ่งเต้น การถือตระกูลเชื้อฃาติ ตลอดจนนับเครือญาติ

 ลักษณะของสังคมระยะเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนและความขัดแย้งในสังคม  มีส่วนทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เกิดขึ้นในสังคมไทยดังที่ปรากฎอยู่  ส่วนจะมากน้อย จะยาวนานแค่ไหน  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของคนในสังคม  ตลอดจนแรงดึงจากสังคมจารีตนิยมกับแรงดันไปสู่สังคมสมัยใหม่ ว่าฝ่ายไหนจะมีมากกว่ากัน
                                      -------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change) หมายถึง กระบวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างและหน้าที่ของระบบสังคม
                                                          --------------------------------

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เทคนิควิธีการพัฒนาตน:การควบคุมตน

การพัฒนาตน จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากจะต้องดำเนินตามขั้นตอนการพัฒนาแล้ว ยังจะต้องมีเทคนิควิธีในการพัฒนาอีกด้วย
  
สำหรับเทคนิควิธีการพัฒนาตน มีหลายวิธี  เช่น  การควบคุมตน  การทำสัญญากับตน การกำกับตน การปรับตน ฯลฯ แต่ในที่นี้จะนำมาอธิบายขยายความเพียง 1 วิธี คือ เทคนิควิธีการควบคุมตน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการใช้เทคนิควิธีอื่นๆ

การควบคุมตน คือ  กระบวนการที่บุคคลใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใด หรือหลายวิธีรวมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือจากลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ไปสู่ลักษณะที่พึงประสงค์ โดยบุคคลผู้นั้นเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมหรือลักษณะเป้าหมาย  และกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยตนเอง

เทคนิควิธีการควบคุมตน มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้

           1.กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย  เริ่มต้นด้วยการที่บุคคละต้องกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่
ต้องการจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยตนเองให้ชัดเจน ในรูปของเป้าหมายเชิงพฤติกรรม เช่น "เลิกบุหรี่" และในการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายนั้น ควรมีลักษณะเชิงบวก  เช่น ถ้าต้องการลดน้ำหนักลง อย่าเขึยนว่า "เพื่อไม่ให้อ้วน" ซึ่งมีลักษณะเป็นลบ แต่ควรเขียนว่า "เพื่อให้ผอมลง" ซึ่งมีลักษณเป็นบวก คือเน้นสิ่งที่ต้องการจะเป็น ไม่ใช่ส่ิ่งที่เป็นอยู่ ในขณะเดียวกันการเลือกเป้าหมายที่บรรลุ ก็ไม่ควรเลือกเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้หรือสูงเกินไป เช่น นักศึกษาสอบได้คะแนนระดับ "C" เป็นประจำ ถ้าตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้ "A" ในภาคเรียนหน้าทุกวิชา ซึ่งแน่นอนว่าต้องล้มเหลว เพราะตั้งเป้าหมายสูงเกินไป

           2.เลือกเทคนิคด้วยตนเอง  ตัวอย่างในกรณีที่บุคคลมีเป้าหมายเพื่อให้ผอมลง ก็มีหลายเทคนิควิธี  ได้แก่ การออกกำลัง การอดอาหารบางมื้อ การรับประทานเฉพาะอาหารที่มีไขมันน้อย เป็นต้น ผู้พัฒนาตนจะต้องเลือกด้วยตนเองว่า จะเลือกใช้เทคนิวิธีใด ถ้าจะเลือกใช้เทคนิควิธีออกกำลังกายก็ต้องชัดเจนว่า จะออกกำลังกายวิธีใด วันละกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที ฯลฯ หรือจะใช้วิธีใช้วิธีผสมผสานระหว่าการออกกำลังกายและการรับประทานอาหาร  ก็แล้วแต่ตนเองจะกำหนด

          3.ใช้เทคนิควิธีควบคุมตนเอง  เป็นขั้นที่นำเทคนิควิธีมาปฏิบัติ ตามเทคนิควิธีและขั้นตอนที่เลือกมาใช้ในขั้นตอนที่ 2

          4.ประเมินตนเอง  เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป้าหมาย ว่าเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดหรือไม่  การประเมินตนเอง ใช้วิธีสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของตนเอง โดยบันทึกตั้งแต่ก่อนใช้เทคนิควิธีการควบคุมตน ในระหว่างใช้เทคนิควิธี และเมื่อสิ้นสุดการใช้เทคนิควิธี ว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร

          5.เสริมแรงหรือลงโทษตนเอง  หลังจากประเมินตนเองแล้ว จะต้องดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนด  ก็จะต้องมีการเสริมแรงด้วยการให้รางวัลแก่ตนเอง  แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องมีการลงโทษตนเองเช่นกัน

ส่วนเทคนิวิธีการพัฒนาตนแบบอื่นๆ  ก็จะมีกระบวนการที่คล้ายๆกัน กล่าวคือ ในแทบทุกเทคนิควิธี จะมีการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย มีการวางแผน มีการประเมิน ตลอดจนมีการเสริมแรงหรือลงโทษ   โดยสามารถใช้เทคนิควิธีในลักษณะผสมผสานกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิผล
                                                ----------------------------------------

                                                                       สาระคำ

ทฤษฎี (Theory)  หมายถึง ความคิดรวบยอดชุดหนึ่งที่กำหนดขึ้น เพื่อการทำนาย  อธิบาย เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์
                                                                  --------------------


วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการพัฒนาตน

การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องอะไร หากประสงค์ที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จะต้องมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

การพัฒนาตนก็เช่นกัน ในการพัฒนาจะต้องดำเนินการอย่างมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ตน  ในการพัฒนาตน บุคคลจะต้องเริ่มด้วยการรู้จักตนเองเสียก่อน จะต้องค้นหาเอกลักษณ์ของตนเองให้พบ แล้วยอมรับตนตามสภาพความเป็นจริงนั้น  นอกจากจะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงแล้ว  ผู้พัฒนาตนจะต้องรู้สถานภาพของตนว่า  ตนมีตำแหน่งเป็นอะไร เช่นเป็นลูก  เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นพี่หรือเป็นน้อง  แล้วจะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ตนได้แสดงบทบาทสอดคล้องกับสถานภาพเพียงใดหรือไม่ เช่น ตนมีสถานภาพเป็นลูก ก็ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าตนเป็นลูกที่ดีหรือไม่ ปฏิบัติตนสมกับที่เป็นลูกหรือไม่

การวิเคราะห์ตนอาจเริ่มด้วยการศึกษาและประเมินตน เพื่อทราบถึงรูปร่างหน้าตา สุขภาพ สติปัญญา ความสามารถพิเศษ ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนกิริยาท่าทาง

การวิเคราห์ตนเป็นขั้นของการทำความรู้จักกับตนเอง ถ้ารู้จักตนเองแบบผิดๆ  ก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เช่น ตนเองเป็นคนขี้เกียจ แต่เข้าใจว่าตนเป็นคนขยัน การพัฒนาเพื่อให้เป็นคนขยันก็เกิดขึ้นไม่ได้

ขั้นที่ 2 วางแผนเพื่อการพัฒนาตน ขั้นนี้เป็นขั้นที่นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ตน มาวางแผนเพื่อการพัฒนาตน เช่น จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นบุคคลที่ชอบเล่นเกมส์มากกว่าอ่านหนังสือเรียน ก็นำผลที่ได้มาวางแผนพัฒนาตน  ให้เป็นคนอ่านหนังสือเรียนมากกว่าเล่นเกมส์ เป็นต้น

การวางแผนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาตน  เพราะจะช่วยให้ทราบแนวทาง วิธีการและเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน  การพัฒนาตนที่ขาดการวางแผน จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปโดยขาดทิศทาง  และอาจประสบความล้มเหลวในที่สุด

ขั้นที่ 3 พัฒนาตน  ในการพัฒนาตนอาจจำแนกเป็น 2 ด้าน คือ

การพัฒนาตนด้านรูปธรรม คือพัฒนาในส่วนที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอวัยวะสัมผัส เช่น การพัฒนาการแต่งกาย กิริยามรรยาท ฯลฯ ซึ่งทำได้ด้วยการฝึกฝนทั้งกายวาจา ท่าทาง  ตามแผนที่วางไว้ในขั้นที่ 2 อย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย

การพัฒนาตนด้านนามธรรม  เป็นการพัฒนาด้านจิตใจ ให้เป็นคนมีจิตใจดี มีปัญญา มีหูตากว้างไกล ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนการดังที่กล่าวมานี้ จะต้องทำให้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมิได้  มิฉะนั้น การพัฒนาตนจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
                        ---------------------------------------------------------

                                                        สาระคำ

การรู้คุณค่าแห่งตน (Self-esteem)  หมายถึง ความเชื่่อมั่นและความพอใจตนเอง  เป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับตนในเชิงบวกหรือเชิงลบ
                                               ------------------------------

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุณภาพส่วนตัวที่จำเป็นต่อการพัฒนาตน

การพัฒนาตนเป็นงานยากและหนัก ในการจะพัฒนาตนให้สำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีคุณภาพส่วนตัวดังต่อไปนี้เป็นแรงผลักดัน กล่าวคือ

ความกล้าและความมุ่งมั่น ในการพัฒนาตนจำเป็นจะต้องทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ  หรือการทำสิ่งใหม่ๆด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม  ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความกล้า  ทั้งนี้เพราะการทดลองประสบการณ์ใหม่เป็นการกระทำที่ไม่สามารถทราบผลที่แน่นนอน  ในขณะเดียวกัน ในการพัฒนาตนอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สู้ดี หรือเกิดความยุ่งยาก จนเป็นเหตุให้ต้องเลิกถอยกลางคัน จึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยความมุ่งมั่น เพื่อให้พัฒนาตนได้สำเร็จ

การเปิดตัวและความถ่อมตัว  บุคคลไม่สามารถพัฒนาได้  หากไม่รู้จักเปิดตัวเพื่อรับทัศนคติและแนวทางใหม่ๆ  แต่การเปิดตัวนี้  จะต้องอาศัยการถ่อมตัวด้วย มิฉะนั้น  จะกลายเป็นคนรู้สารพัด เป็นคนวางตัวโอ้อวดได้ ในขณะเดียวกันหากถ่อมตัวมากเกินไป จะกลายเป็นคนที่มีปัญหาต่อการพัฒนาตนได้เช่นกัน เพราะทำให้เกิดปมด้อย ขาดความมั่นใจในตนเอง

ความมั่นคงศรัทธา  ถ้าผู้พัฒนาตนมีความรู้สึกมั่นคงและมีความเชื่อมั่น จะทำให้การพัฒนาตนจบลงด้วยดี สามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆ  และยืนหยัดอยู่ได้  อย่างไรก็ตาม หากมีความมั่นคงศรัทธามากจนเกินไป จะเกิดความเย็นใจจนเฉื่อยชา  เชื่อในโชคชะตาไม่ยอมทำอะไร การพัฒนาตนก็ไม่เกิดขึ้น

การมีเป้าหมายและความหวัง  ในการพัฒนาตนนั้นจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน  ที่หวังได้ว่าสามารถบรรลุได้  การไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาตนทำให้ขาดทิศทางในการพัฒนา  ในขณะเดียวกันหากขาดความหวัง จะทำให้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง และการพัฒนาตนจะเกิดขึ้นไม่ได้  เพราะการพัฒนาที่ขาดความหวัง  จะนำไปสู่ความล้มเหลวตั้งแต่ต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว  การพัฒนาตนจะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อผู้พัฒนาตน มีความกล้า มุ่งมั่น เปิดรับสิ่งใหม่ ถ่อมตนพอสมควรแก่เหตุ มีศรัทธา มีเป้าหมาย และมีความหวัง
                                         ------------------------------------------------------

                                                                            สาระคำ

ภาพลักษณ์แห่งตน (self-image) คือระบบความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเอง  บุคคลจะกระทำ รู้สึก หรือมีพฤติกรรมลักษณะใดขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์แห่งตน
                                                               ----------------------------
                                                         

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

สิ่งปิดกั้นการพัฒนาตน

การพัฒนาตน หรือการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตนเองวางไว้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นมาแนะนำสั่ง ควบคุมหรือชี้แนะ  บุคคลที่ต้องการความก้าวหน้าและเติบโตในหน้าที่การงานตลอดจนการดำเนินชีวิต จะต้องมีความสามารถในการพัฒนาตน

แต่การพัฒนาตนไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำได้สำเร็จทุกคน  เพราะมีสิ่งต่อไปนี้มาเป็นอุปสรรคปิดกั้น ไม่ให้บุคคลที่ต้องการพัฒนาเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือ

การรับรู้  เกิดจากการที่บุคคลที่ต้องการพัฒนาตน ไม่สามารถมองเห็นปัญหา และโอกาสที่จะพัฒนา

วัฒนธรรม  ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม ว่าทำอะไรถูกทำอะไรผิด  ทำอะไรดีเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำอะไรที่สังคมรับไม่ได้ บรรทัดฐานดังกล่าว  เป็นตัวกำหนดไม่ให้บุคคลทำอะไรที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่นในสังคมได้มากนัก นอกจากนั้น ความเชื่อและค่านิยมทางสังคม  ทำให้ปิดกั้นการพัฒนาตนได้เหมือนกัน เช่น "ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน" อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์" เป็นต้น

อารมณ์  ในสถานการณ์ที่บุคคลไม่รู้สึกปลอดภัย จะไม่สามารถปฏิบัติตามความคิดและความเชื่่่อของตน ผลก็คือ  บุคคลไม่อาจเริ่มหรือพัฒนาตนให้ก้าวหน้าต่อไปได้

สติปัญญา  การขาดสมรรถนะทางสมอง การขาดทักษะการเรียนรู้ การขาดประสบการณ์ในการแก้ปัญหา ตลอดจนขาดวิธีการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้อง  จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตน

การแสดงออก   ในการพัฒนาตน หากขาดทักษะในการสื่่อสาร  ทำให้ไม่สามารถสร้างคววามสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม

ที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถจะปิดกั้นการเรียนรู้และอุปสรรคในการพัฒนาตนได้ ในขณะเดียวกันหากปัจจัยดังกล่าว  มีผลในทางเอื้ออำนวย การพัฒนาตนก็จะดำเนินไปได้ด้วยดีจนประสบความสำเร็จ
                                                   ---------------------------------------------

                                                                                สาระคำ

ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตน (Self -concept) หมายถึง ความเชื่อทั้งหมด  ที่บุคคลมีต่อตนเอง
                                                                    ----------------------------

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาตน

การพัฒนาตน มีความจำเป็นสำหรับบุคลที่ต้องการความสำเร็จ และความสุขในชีวิต
  
การจะเข้าใจ การพัฒนาตน จำเป็นจะต้องเข้าใจความหมายของ คำว่า "ตน(Self)"  และ คำว่า "การพัฒนา(Development)" 

คำว่า ตน หรือ Self หมายถึง ความรู้ ความรู้สึก และแนวคิดเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ตนเป็นองค์ประกอบของความตระหนักรู้ ซึ่งทำให้คนเราเกิดความสำนึกว่าเป็นตน    ตนไม่ใช่เป็นเพียงร่างกายที่ห่อหุ้มด้วยหนัง แต่เป็นโครงสร้างทางจิตใจที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ

ตนอาจแบ่งได้เป็น ตนในฐานะที่เป็นวัตถุ เป็นตนที่มีอยู่จริง กับ ตนในฐานะที่เป็นกระบวนการทางจิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบของบุคลิกภาพ

คำว่า การพัฒนา หรือ Development  หมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย ในการพัฒนาจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วจึงมีการกระทำเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น  การเปลี่ยนแปลงใดๆที่ไม่มีเป้าหมายไม่เรียกว่าการพัฒนา

สำหรับ การพัฒนาตน เป็นการเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นการกระทำด้วยตนเอง  ถ้าเป็นการเรียนรู้ก็เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีครู  เป็นการศึกษาเอกเทศ โดยผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบ ตัดสินใจในทุกระดับของกระบวนการเรียนรู้

ารพัฒนาตน เป็นการพัฒนาบุคคลที่ริเริ่มด้วยตนเอง ทำด้วยตนเอง  เป็นความรับผิดชอบของผู้พัฒนาว่าจะพัฒนาอะไร เมื่อไรและอย่างไร และตนเองจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาจากการตัดสินใจเหล่านั้น

ในทางจิตวิทยา การพัฒนาตน เป็นการพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตน ภาพลักษณ์ของตน และการรู้คุณค่าแห่งตน

การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตนเอง

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมจะต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง คำตอบคือว่า นอกจากเพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว การพัฒนาตนด้วยตนเองมีความจำเป็นด้วยเหตุผลต่อไปนี้

มีพฤติกรรมหลายอย่าง ที่ไม่สามารถปรับพฤติกรรมของตนด้วยคนอื่น เช่น พฤติกรรมทางเพศ หรือการมีปฏิกิริยาทางอารมณ์

เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการมีปฏิกิริยาต่อตนเอง ซึ่งเป็พฤติกรรมทางสมอง เช่น การคิด การใฝ่ฝัน จินตนาการ หรือการวางแผนชีวิต

มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงยาก เปลี่ยนแล้วทำให้ขาดความสุข การขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ก็ไม่ทำให้เกิดมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะเปลี่ยน จึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

เป็นพฤติกรรมใหม่ที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยแรงจูงใจที่เข้มแข็ง

พฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ด้วยการพัฒนาตนด้วยตนเอง

นอกจากนั้น การพัฒนาตน ยังเป็นการกระทำที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาตนด้วยตนเองจึงจำเป็น เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

จึงสามารถสรุปได้ว่า  คนที่หวังความก้าวหน้า จะต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง มิฉะนั้นจะเป็นคนที่มีความรู้และทักษะที่ล้าสมัย กลายเป็นคนไร้ค่า เป็นคนไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
                                                   -------------------------------------

                                                                  สาระคำ

          พฤติกรรม หมายถึง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า

          การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์
                                                              --------------

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

หน้าที่ทางเศรษฐกิจเป็นหน้าที่อันจำเป็นของสังคม  เป็นหน้าที่ที่สังคมจะต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อความอยู่รอดของสังคม  หากสังคมใดไม่จัดให้มี  หรือไม่สนใจหน้าที่ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร  สังคมนั้นก็จะเสื่อมสลาย เพราะสมาชิกในสังคมไม่มีกินไม่มีใช้ หรือมีแต่ไม่เพียงพอกับความต้องการที่จำเป็น
  
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเป็นกิจกรรมที่สังคมต้องจัดให้มีขึ้น  เพื่่อสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม  และยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย

เศรษฐกิจและสังคมจึงมีอิทธิพลซึ่่งกันและกัน  กล่าวคือ  เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและหน้าที่ของสังคม  จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตามไปด้วย  ในขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนายังพบอีกว่า ความแตกต่างของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ก็เกิดมาจากความแตกต่างของแบบแผนทางสังคมที่แตกต่างกันเป็นส่วนใหญ่

แบบแผนทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในประเทศด้อยพัฒนามักจะไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  กล่าวคือ จะมีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม หรือมีวัฒนธรรมที่ไม่กระตุ้นให้คนทำงานหนัก มีการเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจน ไม่กระตุ้นให้เกิดการอดออม

จึงสามารถสรุปได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ดี มีผลมาจากความพยายามของสมาชิกในสังคม ส่วนสมาชิกจะมีความพยายามมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของสมาชิกในสังคมนั้น  ว่าเป็นอุปสรรคหรือส่งเสริมการพัฒนา

ดังนั้น การพัฒนาตามแนวความคิดใหม่ จึงมุ่งที่การปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นทุกๆด้าน หรืออย่างน้อยจะต้องดีขึ้นใน 3 ด้านใหญ่ๆต่อไปนี้ คืิอ

          1. มีสิ่งสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างเพียงพอ  ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ตลอดจนบริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข

          2. มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  อันเกิดจากการมีการศึกษาและการมีงานทำ รวมทั้งมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม

          3. มีเสรีภาพทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น เสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ การเลือกถิ่นที่อยู่ และการเลือกบริโภค เป็นต้น

นั่นคือ ถ้าจะศึกษาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้เข้าใจได้ดีขึ้น จำเป็นจะต้องศึกษาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน  ในขณะเดียวหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน จะต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย
                                                 -------------------------------------

                                                                       สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  หมายถึง การเพิ่มผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจาก  การเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
                                                              --------------------

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นเรื่องเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆให้ความสนใจอย่างมาก  ต่างก็มีความตื่นตัวที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของพลเมืองให้ดีขึ้น การค้นหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย  ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจเป็นเรื่องของความพยายามในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย กิจกรรมเกี่ยวกับ  การผลิต  การแลกเปลี่ยนหรือการซื้อขาย   การจำแนกแจกจ่ายหรือการกระจายผลผลิตหรือรายได้  และ การบริโภค  ให้เกิดการประหยัดมากที่สุด  แต่สามารถสนองตอบความต้องการของประชากรได้สูงสุด

ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เรียกว่า หน่วยเศรษฐกิจ ได้แก่ ครัวเรือน และธุรกิจต่างๆ

หากเศรษฐกิจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดี ทำให้มีรายได้สูง มีกำไรมาก  หรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและขายผลผลิตได้ราคาสูง กล่าวกันว่า มีภาวะเศรษฐกิจดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าหน่วยเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ มีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย  เรียกว่า มีภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

ดังนั้น เศรษฐกิจ สามารถอธิบายอย่างง่ายๆว่า หมายถึง การมีของกินของใช้  ในระยะใดที่ประเทศมีของกินของใช้มาก เรากล่าวว่าได้ว่า ในระยะนั้นประเทศมีฐานะเศรษฐกิจดี  ในทางตรงกันข้าม  ในระยะเวลาใดที่ประเทศมีของกินของใช้น้อย ในระยเวลานั้น  ประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ทั้ง 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจระบบใด ย่อมจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  โดยมีการผลิตเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ  กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ  ในขณะเดียวกัน รูปแบบของการบริโภค การแจกจ่าย และการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น จะสะท้อนกลับไปยังการผลิตอีกทอดหนึ่ง

การบริโภค การแจกจ่าย และการแลกเปลี่ยน อาจเป็นไปในในลักษณะส่งเสริมหรือขัดขวางการพัฒนาการผลิต ก็ได้ เช่น สินค้าใดที่ผลิดขึ้นมาแล้วเป็นที่ต้องการเพื่อการบริโภค มีการกระจายสินค้าและ จำหน่ายจ่ายแจกอย่างกว้างขวางทั่วถึง  สินค้านั้นจะได้รับการพัฒนาการผลิตได้มากขึ้น ในทางกลับกันสินค้าใดที่ผลิตแล้ว ไม่เป็นที่นิยมที่จะบริโภค จะส่งผลถึงการยุติการผลิดสินค้าตัวนั้นได้

พฤติกรรม  การผลิต การบริโภค การแลกเปลี่ยน และการจำแนกแจกจ่าย นี้จะแตกต่างไปตามรูปแบบของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของสังคม

สำหรับปัจจัยการผลิต ซึ่งมีผลต่อการผลิตอย่างมาก เป็นตัวกำหนดการผลิตที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ ที่ดิน หมายถึง สิ่งที่ได้มาตามธรรมชาติ เช่น พื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แรงาน หมายถึง แรงงานของมนุษย์ อันประกอบด้วยความรู้ความสามารถ และความชำนาญต่างๆ ทุน หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสะสมไว้ใช้เพื่อการผลิต เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร เงินสด ฯลฯ
ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการผลิต มีหน้าที่ตัดสินใจและรวบรวมทรัพยากรต่างๆมาทำการผลิต

ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเป็นลักษณะใด มีความซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทาง เศรษฐกิจ และสังคม
                                                 -------------------------------------------------

                                                                                สาระคำ

ทุนมนุษย์ (Human Capital)  หมายถึง ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ในตัวบุคคล  ที่เป็นกำลังแรงงานของประเทศ  ประเทศใดที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูง ประเทศนั้นจะพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า
                                                                    --------------------------