วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

คำถามที่จะนำไปสู่การกำหนดปัญหา

ผู้แก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล จะต้องเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหา ตลอดจนมีทักษะเฉพาะในกระบวนการแก้ปัญหา เช่น ทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา ทักษะในการกำหนดปัญหา ทักษะในการรวบรวมข้อมูล เป็นต้น

อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ กล่าวว่า "การกำหนดปัญหาที่แย่ ทำให้มีวิธีแก้ปัญหาหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด และการกำหนดปัญหามีความจำเป็นมากกว่าวิธีการแก้ปัญหา" จากคำกล่าวนี้ จะเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดปัญหาได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น เพื่อให้การกำหนดปัญหาเกิดความชำนาญจนกลายเป็นทักษะ  การกำหนดปัญหาทุกครั้งจึงต้องตอบปัญหาต่อไปนี้ให้ชัดเจน กล่าวคือ

          1. ปัญหาคืออะไร

          2. ทำไมจึงเป็นปัญหา

          3. ปัญหาใหญ่แค่ไหน

          4. ปัญหาแตกต่างกันอย่างไร

          5. อะไรทำให้เกิดปัญหา

          6. อะไรทำให้ปัญหานี้แตกต่างจากปัญหาอื่น

          7. อะไรเป็นสาเหตุของปัญหานี้

          8. ปัญหานี้เป็นปัญหามานานเท่าไร

          9. ปัญหาเริ่มต้นอย่างไร

         10. มีใครเกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวข้องโดยวิธีใด และทำไมจึงเกี่ยวข้อง

         11. ปัญหาค้นพบเมื่อไร และค้นพบได้อย่างไร

         12.ปัญหาอยู่ที่ไหน

         13. ปัญหาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

         14. สาเหตุเฉพาะของปัญหาคืออะไร มีอะไรเป็นหลักฐาน สาเหตุเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร

         15. ปัญหาคุกคามคนอื่น  องค์การ หรือชุมชนหรือไม่ คุกคามอย่างไร

         16. ปัญหาส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในระยะสั้นหรือระยะยะยาว และส่ง                     ผลกระทบอย่างไร

         17. ปัญหามีความซับซ้อนอย่างไร

         18. ส่วนต่างๆของปัญหาสัมพันธ์กันอย่างไร

         19. ปัญหาสัมพันธ์กับปัญหาอื่นหรือไม่ และสัมพันธ์โดยวิธีใด

         20. ปัจจัยต่างๆจะแยกกันได้หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อปัญหาทั้งหมดอย่างไร

เมื่อผู้แก้ปัญหาตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน การกำหนดปัญหาก็จะมีความชัดเจน และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธืผลในที่สุด
                -------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

                                ประสิทธิผล คือ  การได้ผลตามวัตถุประสงค์ หรือตามเป้าหมาย
                                 -------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ปัญหามีไว้ให้แก้

ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กุญแจสำคัญคือ การเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส เช่นเดียวกับการเปลี่ยนมะนาวให้เป็นน้ำมะนาว

การแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่เราต้องทำทุกวัน เราต้องเผชิญกับปัญหาที่มี ความสำคัญ ขอบข่าย และความซับซ้อนที่แตกต่างกัน ชีวิตของเราเต็มไปด้วยความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหา

ทุกปัญหามีวิธีแก้ ผู้ประสบความสำเร็จในชีวต ไม่เคยมีวันที่ว่างเว้นจากปัญหา เครื่องหมายแห่งความสำเร็จ ก็คือความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหามีแนวคิดที่นำไปสู่การปฏิบัติดังนี้

          1. อย่ากลัวปัญหา จงเผชิญกับปัญหาอย่างสงบ จิตใจที่สงบแก้ปัญหาได้ดีกว่าจิตใจที่วิตกกังวล  และความคิดในเชิงลบไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

          2. ศึกษาและวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหา  การศึกษาปัญหาอาจทำด้วย การรับคำแนะนำ รับข้อเท็จจริง แล้วนำมาวิเคราะห์ทำประเด็นให้ชัด โดยไม่ปล่อยให้จิตใจวุ่นวาย

          3. เน้นที่วิธีแก้ปัญหา คนจำนวนมากสนใจแต่ปัญหา  โดยไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา และอย่าแก้ปัญหาด้วยการตำหนิตนเองหรือคนอื่น หรือกรณีแวดล้อม เพราะปัญหาใหญ่ๆหลายปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ  ฉะนั้น หากต้องการจะแก้ปัญหาให้สำเร็จ จงสนใจวิธีแก้ปัญหาให้มาก

          4. ดำเนินแก้ปัญหาจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่ไม่รู้  ในการแก้ปัญหาบางครั้ง จะต้องใช้ความรู้ที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่แล้วๆมา เพื่อนำมาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

          5. เลือกวิธีแก้ปัญหาที่เกิดผลดีสำหรับตนเองและคนอื่น เพราะจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นผลดีกับตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน

          6. ลงมือแก้ปัญหา การแก้ปัญหายิ่งลงมือได้เร็วเท่าไร  จะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นเท่านั้น  ฉะนั้น จงลงมือแก้ปัญหาให้เร็วเท่าที่จะทำได้ แม้จำเป็นต้องเสี่ยงก็ตาม การปล่อยปัญหาไว้โดยไม่แก้ จะทำให้เกิดความหายนะ  เพราะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น จนยากที่จะแก้ไข

เมื่อไรที่มีปัญหาและรู้สึกท้อถอย ให้ไปที่โรงพยาบาล ดูคนเจ็บป่วย หรือดูเพื่อนที่มีปัญหามากกว่า จะทำให้รู้สึกว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่าปัญหาของคนป่วยในโรงพยาบาล  หรือปัญหาของเพื่อนที่ประสบอยู่

จงจำไว้ว่า การแก้ปัญหาที่สนุกจะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับชีวิต และอย่าทำตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่จงเป็นวิธีแก้ปัญหา
                           ----------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                                 การแก้ปัญหาที่ขาดประสิทธิผล จะได้รับการลงโทษเสมอ
                                           ---------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

ลักษณะของคนที่พัฒนาเต็มศักยภาพ

ตามทฤษฎีของมาสโลว์ กล่าวว่าความต้องการพื้นฐานมี 5 ลำดับขั้น ความต้องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพเป็นความต้องการขั้นสุดท้าย และบุคคลจะมีความต้องการถึงขั้นนี้ได้ จะต้องได้การตอบสนอง ความต้องการทางสรีระ ความต้องการความปลอกภัย ความต้องการเป็นเจ้าของและความรัก และความต้องการนับถือตนเองเสียก่อน ความต้องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพเป็นความต้องการขั้นสุดท้ายและเป็นขั้นสูงสุด

หากความต้องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพได้รับการตอบสนอง  บุคคลจะมีลักษณะของคนที่พัฒนาเต็มศักยภาพ (self-actualizing people) ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง และมีความรับรู้มากกว่าคนอื่นๆ

          2. ยอมรับตนเอง บุคคลอื่น และธรรมชาติของโลกอย่างที่มันเป็น

          3. มีความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมากระตุ้น

          4. ในการทำภาระกิจ จะยึด ปัญหา หน้าที่ และพันธกิจ เป็นหลัก มากกว่าที่จะยึดตนเอง

          5. ชอบสันโดษ และมีความเป็นส่วนตัว ต้องการสมาธิอย่างจริงจังในเรื่องที่สนใจ

          6. เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระจากวัฒนธรรม  และสภาพแวดล้อม

          7. ชอบคน และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มากกว่าแบบเดิมๆ

          8. มีความลึกซึ้งกับสิ่งที่ลึกลับ และจิตวิญญาณ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ตาม

          9. เข้าใจมนุษย์ และสนใจสังคม

          10. มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์และรักคนไม่กี่คน แต่ลึกซึ้ง มากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์กับคน                      ทั่วๆไปอย่างผิวเผิน

          11. มีค่านิยม และทัศนคติแบบประชาธิปไตย

          12. ไม่สับสนระหว่างวิธีการ  และผลอันเกิดจากการกระทำ สามารถแยกแยะระหว่างความดีกับ                        ความชั่ว

          13. มีอารมณ์ขันอย่างมีสติ มากกว่าที่จะใช้อารมณ์ขันที่ก่อให้เกิดศัตรู

          14. มีความคิดสร้างสรรค์สูง

          15. ต่อต้านการกระทำอะไรที่เหมือนๆกัน เพียงแค่ให้เป็นไปตามวัฒนธรรม

          16. เข้าใจสภาพแวดล้อม  มากว่าที่จะไปจัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

ลักษณะของคนที่พัฒนาเต็มศักยภาพตามอุดมคติ ถือว่าเป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่เปิดรับประสบการณ์ได้ทั้งหมด อย่างกว้างขวาง ปราศจากการใช้กลวิธาน เกิดขึ้นเองโดยไม่มีคนกระตุ้น เป็นคนมุ่งปัญหา เป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม และเป็นผู้ที่มีความเห็นใจอย่างลึกซึ้งต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลจะพัฒนาเต็มศักยภาพ ก็ต่อเมื่อความต้องการในขั้นต้นได้รับการการตอบสนองดังกล่าวแล้ว จึงมีคนไม่มากนักที่จะพัฒนาถึงขั้นนี้

บุคคลที่ มาสโลว์ยอมรับว่าเป็นบุคคลที่พัฒนาเต็มศักยภาพ ได้แก่ Lincoln,  Jefferson, Whiteman, Beethoven, William James, F.D.Roosvelt, Einstein, Eleaner Roosvelt, และ Albert Schweitzer

ถามว่า ทำไมจึงมีแต่คนทางตะวันตก ไม่มีคนทางตะวันออกบ้าง คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะ มาสโลว์เป็นคนตะวันตก

ลักษณะของคนที่พัฒนาเต็มศักยภาพ เป็นลักษณะที่ดี ที่พึงประสงค์ของสังคม จึงมีประโยชน์กับคนทั่วไปที่จะนำไปถือปฏิบัติ แม้ว่าจะถือปฏิบัติได้เพียงบางประการก็ตาม
               -----------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

                                    มนุษย์ทุกคนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้
                                    เพียงแต่รู้จักเผชิญกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา
                                    และยอมรับปัญหาตามความเป็นจริง
                                                              Carl  Rogers
                                --------------------------------------------------------------------------

             

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

ความต้องการพื้นฐานตามลำดับขั้นของมาสโลว์

มาสโลว์ (Abraham  Maslow) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า โดยพื้นฐานมนุษย์ทั้งหลายเป็นคนดี มีเหตุผล และชอบเข้าสังคม
  
จิตวิยากลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือก และมนุษย์สามารถสร้างอนาคตของตนเองได้จิตวิทยามีหน้าที่  ช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงสุด เพื่อการมีสุขภาพที่ดี มีความสุขและเจริญเติบโต

มาสโลว์ เน้นความสำคัญของการเรียนรู้  และการสร้างสรรค์ หากมนุษย์ไม่มีการแสวงหาความรู้ จะทำให้เกิดภาวะคงที่ อย่างไรก็ตาม  สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้  ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความเชื่อมั่นตนเอง

การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ  ที่ไขไปสู่การพัฒนาตน การศึกษาที่ดี  จะช่วยให้บุคคลมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง  ซึ่งอาจจะสอดคล่้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามที่คนอื่นเห็นก็ได้

มาสโลว์ ได้แบ่งความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ออกเป็นลำดับขั้น ดังนี้

1.ความต้องการทางสรีระ หมายรวมถึง  ความต้องการทางกายทั้งหมด ได้แก่ อาหาร น้ำ อากาศ เพศ การนอนหลับ ความอบอุ่น การออกกำลังกาย การพักผ่อน และอื่นๆ

2. ความต้องการความปลอดภัย เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอัตราย และการคุกคามทางกาย

3. ความต้องการเป็นเจ้าของและความรัก เมื่อเกิดความต้องการขั้นนี้เกิดขึ้น มนุษย์อยากมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ความเปล่าเปลี่ยวเป็นความเจ็บปวดของผู้ที่มีความต้องการในขั้นนี้

4. ความต้องการนับถือตนเอง  ความต้องการในขั้นนี้มี 2 ลักษณะ คือ
         4.1 ความต้องการที่จะประสบผลสัมฤทธิ์ มีความรอบรู้ มีสมรรถนะ มีอิสระ และความเชื่อมั่น
         4.2 ความต้องการเกียรติยศ สถานะภาพ ความสนใจ ความมีชื่อเสียง การมีอำนาจ และเป็นที่นับถือของคนอื่น

5. ความต้องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เป็นความต้องการของบุคคลที่จะเจริญเติบโต พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ มีประสิทธิภาพ เป็นความต้องการขั้นสูงสุด เป็นระยะที่มีสมรรถนะเต็มที่

ทำไมจึงเรียกว่า  เป็นความต้องการตามลำดับขั้น ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะ เมื่อความต้องการในขั้นต่ำกว่าได้รับการตอบสนอง ความต้องการในขั้นที่สูงกว่าจึงจะเกิดขึ้น และเมื่อความต้องการในขั้นที่สูงกว่าเกิดขัดข้อง ความต้องการของบุคคลจะถอยไปอยู่ขั้นที่ต่ำกว่า จนกว่าจะได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจ

มาสโลว์สรุปว่า โดยธรรมชาติมนุษย์มีพื้นฐานเป็นคนดี ที่มนุษย์ทำชั่วก็เพราะความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง
                     ----------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

                  เราไม่สามารถบังคับบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ก้าวหน้าได้  ถ้าเขาไม่พร้อมที่จะก้าวหน้า
                                                                                 Abraham Maslow
                                          -------------------------------------------------------------------