วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง

แนวทางการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเองนี้  เป็นแนวทางการพัฒนาที่ต้านแนวทางการพัฒนาที่ก่อให้เกิดภาวะพึ่งพิง

การพึ่งตนเอง (self-reliance) มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า การพึ่งพิง (dependence)  การพึงตนเอง หมายถึง  ความสามารถที่จะยืนอยู่บน ความสามารถ ดุลยพินิจ การตัดสินใจ ทรัพยากรและคุณธรรมที่เป็นอิสระของตนเอง

การพึ่งตนเองไม่ใช่การแยกตัวแบบโดดเดี่ยวจากคนอื่น ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น  แต่เป็นการพึ่งผู้อื่นเพื่อที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเองในที่สุด  โดยมีสัมพันธภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกัน ในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเองได้ด้วย

เงื่อนไขที่จำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง  คือการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการปลูกฝังจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือกันและกัน โดยอาศัยกระบวนการศึกษาในรูปแบบต่างๆ  อันจะทำให้สามารถร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างเป็นตัวของตัวเอง  ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในเชิงพัฒนา

ยุทธวิธีการพึ่งตนเอง  มุ่งยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  ในฐานะผู้กระทำไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ ยึดศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของคนเป็นสำคัญ โดยยึดแนวทางการดำเนินการดังนี้

              1. พัฒนาระบบการผลิตให้สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเอง ลดระดับการพึ่งพิงภายนอก     มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรในสังคมเป็นหลัก ใช้เทคโนโลยีของท้องถิ่น และเหมาะกับสภาวะที่เป็นจริงในสังคมนั้น

               2. ส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการพัฒนาจิตสำนึก ให้มีความมั่นใจ       ในศักยภาพของตนเองและคนในสังคม  ตลอดจนมีการระดมความความคิด การตัดสินใจ และร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อสร้างประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม

                3.จัดระบบการบริหารแบบกระจายอำนาจสู่เบื้องล่าง นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย การ        พัฒนาจิตสำนึกพึ่งตนเอง

                4. จัดระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อแบบพึ่งตนเอง จัดระบบ          การศึกษาที่ส่งเสริมคุณค่า และความหมายของความเป็นคน การพัฒนาความรู้  ความคิดที่จะเป็นอิสระ    เป็นตัวของตัวเอง

ยุทธวิธีการพัฒนาแบบพึงตนเองนี้ ต้องดำเนินการทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศไปพร้อมๆกัน  การพัฒนาแนวนี้จึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
                                           -------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

การพัฒนา  เป็นการต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายที่สำคัญในโลกทุกวันนี้   อันได้แก่ ภาวะทุโภชนาการ โรคภัยไข้เจ็บ ความไม่รู้หนังสือ ชุมชนแออัด การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกัน
                                                                                            Streeten
                                                           -------------------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ลักษณะการพัฒนาแนวใหม่

การพัฒนาแนวใหม่ที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน  เกิดจากการที่การพัฒนาตามแนวคิดเดิม ไม่อาจแก้ปัญหาหลายอย่างดังกล่าวแล้วได้  ทั้งๆที่สังคมมีความมั่งคั่งและมีอัตราการเพิ่มรายได้ต่อหัวสูงขึ้นอย่างน่าพอใจ  และสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้
 
ด้วยเหตุนี้ แนวความคิดการพัฒนาแนวใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญๆดังนี้

          ประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา ดังได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดัชนีบอกผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติหรือการเพิ่มของตัวเลขเท่านั้น แต่การพัฒนาเป็นเรื่องของประชาชนและเพื่อประชาชน  การพัฒนาจึงต้องเริ่มด้วยการกำหนดความต้องการของประชาชน จุดมุ่งหมายของการพัฒนา  คือการยกระดับชีวิตของมวลชน  สร้างโอกาสให้มนุษย์ทั้งมวลมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง  มีงานทำ มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย มีความศรัทธาในความสามารถของตนเอง  ตลอดจนมีชีวิตและการทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย

          กระบวนการพัฒนาจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพ   การพัฒนาไม่ได้มุ่งเน้นการเพิ่มในเชิงปริมาณ  แต่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ  ในรูปของการปรับปรุงปัจจัยการผลิตและเทคนิคการผลิต ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมรวมอยู่ด้วย  ในส่วนของคุณภาพ มีการนำเอา อัตราการตายของทารก ความยืนยาวของอายุ  และการรู้หนังสือ มาใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของชีวิตของประชาชนว่าอยู่ในระดับใด

          การพัฒนาถูกมองว่าเป็นวิธีการ  คือ การพัฒนาแนวใหม่ถูกมองว่าเป็นวิธีการมากกว่าเป็นผล หมายถึงว่า  การพัฒนาเป็นเครื่องมือและวิธีการที่จะเอาชนะความยากจน ตลอดจนทำให้ความไม่เท่าเทียมกันลดน้อยลง

          การพัฒนาเป็นกระบวนการหลายมิติ คือการพัฒนาไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม  ทัศนคติของประชาชน  เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมทั้งหมด โดยมุ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานและความปรารถนาของแต่ละบุคคลและกลุ่มทางสังคม

          การพัฒนาเป็นกระบวนการที่เกิดจากภายใน  กระบวนการพัฒนาที่เกิดจากภายใน มีลักษณะดังนี้
                 ไม่ใช้วิธีการพัฒนาที่ใช้อยู่ในประเทศพัฒนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทุกประเทศมีสิทธิที่จะเลือกรูปแบบการพัฒนาที่สังคมเห็นว่าเหมาะสมที่สุด

                 ไม่เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความต้องการพึ่งพิงประเทศอุสาหกรรมอื่นๆ  เพราะทำให้ไม่รู้จักพึ่งตนเอง

                 ยุทธวิธีการพัฒนาจะต้องตั้งอยู่บนโครงสร้างของสังคม ประเพณี และค่านิยมทางวัฒนธรรม

                 เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้มุ่งการเพิ่มผลผลิตโดยไม่มีขีดจำกัด   แต่มุ่งสนองความต้องการที่จำเป็นของมวลประชากร

                 เป็นการพัฒนาที่มีฐานอยู่บนการใช้ทรัพยากรภายในประเทศมากที่สุด  และมีนโยบายที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างมีเหตุผล

                 เป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันจะต้องให้การศึกษาและการฝึกอบรมทางเทคโนโลยีแก่ประชาชนด้วย

กล่าวโดยสรุป  จะได้ว่า การพัฒนาตามแนวความคิดเดิมที่ มุ่งไปสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือไปสู่การเป็นสังคมเมือง หรือไปสู่การเป็นสังคมทันสมัย ไม่ได้ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชาชนดีขึ้น จึงทำให้เกิดการพัฒนาแนวใหม่ที่มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวขึ้นมา
                                     ------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

               การพัฒนาจะประสบความสำเร็จโดยแท้จริงก็ต่อเมื่อ  ความยากจน  การว่างงาน
               ความไม่เท่าเทียมกันลดน้อยลง
                                                                        Dudley Seers
                                                    --------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

การพัฒนาแนวใหม่

เดิมมีแนวความคิดว่า การพัฒนานั้น จะต้องเน้นที่องค์ประกอบทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าเมื่อประเทศมีเศรษฐกิจดี จะส่งผลให้ระบบอื่นๆดีขึ้นด้วย
 
การพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาจึงเน้นที่การวางแผนและการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง เน้นการทำให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม  การทำให้ทันสมัย หรือการทำให้เป็นสังคมเมือง ตลอดจนส่งเสริมการสะสมทุน การขอความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและทุนจากต่างประเทศ  เพื่อก่อให้เกิดความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุ  ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประกันความสุขของมนุษย์

แต่จากประสบการณ์พบว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนด  แต่ก็ไม่ทำให้ระดับการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง  ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีการเพิ่มการมีงานทำ  สร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น หรือมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น  ซ้ำร้ายกลับทำให้คนมีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม  ทำให้ภาวะแวดล้อมเป็นพิษ มีการทำลายทรัพยากร  สร้างค่านิยมที่ก่อให้เกิดความกลัว  และความรู้สึกที่ไม่มั่นคงปลอดภัย

ในประเทศกำลังพัฒนา คนส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่จนลง  แต่กลับเพิ่มความหงุดหงิด เพราะขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ตลอดจนน้ำดื่มที่สะอาด

นอกจากนั้น จากการศึกษาของธนาคารโลกและองค์การสหประชาชาติ ยังพบว่า การช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสมจากประเทศพัฒนา  ทำให้สังคมมีความอ่อนแอและมีลักษณะพึ่งพิงสังคมอื่นเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า  การพัฒนาที่ผ่านมามีความผิดพลาด จึงนำไปสู่การทบทวนยุทธวิธีการพัฒนา และยอมรับว่า  การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงการพัฒนาสังคมทั้งหมด  จึงมีการยึดเอาการพัฒนาประเทศเป็นหน่วยของการพัฒนา ซึ่งหมายถึงว่าการพัฒนา  จะต้องหมายรวมถึงการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างเอกลักษณ์ของชาติ 

แนวความคิดเหล่านี้ ทำให้มีการทบทวนความหมายของการพัฒนากันใหม่  แทนที่จะยึดรายได้เฉลี่ยต่อหัวและผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา กลับหันมาดูความสำเร็จของการพัฒนาจากความสำเร็จในการทำให้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น สุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ตลอดจนมีภาวะการจ้างงานดีขึ้น
                                           -----------------------------------------------

                                                               สาระคิด

การพัฒนา  เป็นการต่อสู้กับความยากจน  ลดภาวะทุโภชนาการ  โรคภัยไข้เจ็บ  การไม่รู้หนังสือ         การว่างงาน   และความไม่เท่าเทียมกัน

                                                                                   Gerald M.Meier
                                                           ---------------------

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

องค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนา

มีความเป็นไปได้  ที่จะให้ความหมายการพัฒนาอย่างกว้างๆว่า  หมายถึง การทำให้สังคมทั้งหมดดีขึ้นหรือมีลักษณะเป็นสังคมมนุษย์มากขึ้น  ส่วนคำถามที่ว่าสังคมที่ดีเป็นอย่างไรนั้น เป็นคำถามที่มีคำตอบใหม่อยู่เสมอ  เปลี่ยนไปตามภาวะแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม  การมีชีวิตที่ดีหรือสังคมที่ดีนั้นอย่างน้อยจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการยังชีพ (life-sustenance)  การนับถือตนเอง (self esteem)  และเสรีภาพ (freedom)

          ความสามารถในการยังชีพ เป็นความสามารถในการจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์  คือมนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งถ้าปราศจากการตอบสนองความต้องการเหล่านั้น  มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ความต้องการที่จำเป็นของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพและการป้องกันรักษา ด้วยเหตุนี้  หน้าที่พื้นฐานของกิจกรรมการพัฒนา จะต้องจัดหาวิธีการให้กับประชาชนเพื่อเอาชนะความสิ้นหวังและความหายนะที่เกิดจาก การขาดอาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพและการป้องกันรักษา ความสามารถในการยังชีพจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นประการแรกในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  ถ้าปราศจากกิจกรรมเพื่อสิ่งเหล่านี้ ยากที่ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงศักยภาพของตนได้

         การนับถือตนเอง หมายถึงความรู้สึกว่าตนเองมีค่า  มีความหมาย  การนับถือตนเองเป็นองค์ประกอบอันดับสองของการพัฒนาชีวิตที่ดี  การนับถือตนเองเป็นลักษณะของผู้ที่ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนอื่นเพื่อประโยชน์ของเขา ธรรมชาติและรูปแบบของการนับถือตนเองอาจจะแตกต่างไปตามลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม  ค่านิยมแบบสมัยใหม่ของประเทศพัฒนา ทำให้สังคมของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเคยมีค่านิยมเป็นของตนเอง  เกิดการเผชิญหน้าทางวัฒนธรรมกับสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี  จนทำให้คนในสังคมกำลังพัฒนาเกิดความรู้สึกไร้ค่า ขาดความศรัทธาในความสามารถของตนเอง และไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด ฉะนั้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องแสวงหาวิธีการพัฒนา  เพื่อสร้างความนับถือตนเองให้มากขึ้น

         เสรีภาพ ในที่นี้หมายถึง การมีอิสระจากความเป็นทาส มีความสามารถในการที่จะเลือก เสรีภาพเป็นองค์ประกอบอันดับสุดท้ายที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนา  เสรีภาพในที่นี้ ไม่เหมือนกับเสรีภาพในความหมายทางการเมือง แต่เป็นเสรีภาพที่ไม่ตกเป็นทาสของเงื่อนไขทางวัตถุ  เป็นอิสระจากความเป็นทาสของธรรมชาติ ความไม่รู้ ความหายนะ และความเชื่อที่ติดยึด  ตลอดจนเป็นอิสระจากความเป็นทาสของคนอื่น  เป็นเสรีภาพที่ทำให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น  และถูกบังคับจากปัจจัยภานนอกน้อยที่สุด

องค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาดังกล่าวนี้  เป็นองค์ประกอบที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า การพัฒนาประเทศจะต้องนำไปสู่เป้าหมายทั้งสามประการนี้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการพัฒนาที่ล้มเหลว
                                --------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

                           ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยให้มนุษย์มีความสุข
                  แต่ช่วยให้มนุษย์มีทางเลือกและมีเสรีภาพในการที่จะเลือกเพิ่มขึ้น
                                                -------------------------

วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

ลักษณะร่วมทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา

ใครที่ติดตามข่าวการเมือง จะพบว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าไทย อียิปต์ หรือเวเนซูเอลา ล้วนแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะที่คล้ายๆกัน ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีลักษณะร่วมทางการเมืองนั่นเอง

สำหรับลักษณะร่วมทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา พบว่ามีดังนี้

          1. ประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง อันประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพรับราชการ นักบริหาร นักวิชาการ ผู้จัดการ และผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว มีไม่มากพอที่จะรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อต่่อรองทางการเมือง

          2. อำนาจการปกครองและการบริหารประเทศ ตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ อำนาจส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้กำลัง หรือจาการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต การปกครองประเทศ จึงมักจะเป็นแบบเผด็จการหรือคณาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เพราะไม่สนใจหรือขาดความรู้ทางการเมือง

          3. ชนชั้นที่มีอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่มักขาดอุดมการณ์  และขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น ยังมีการขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  ทำให้การพัฒนาประเทศ ไม่เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรโดยรวม

          4. ประเทศกำลังพัฒนามักจะต้องพึ่งพิงประเทศมหาอำนาจทางด้านการเมืองและการทหาร  เพื่อการทำสงครามและการป้องกันประเทศ  ในทางกลับกัน ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นต่างก็พยายามใช้อำนาจทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร  บีบบังคับประเทศกำลังพัฒนาผ่านชนชั้นผู้ปกครองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนเช่นเดียวกัน

          ปัญหาทางการเมืองดังกล่าวนี้  อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศมากยิ่งกว่าปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ้ไป ทั้งนี้เพราะระบอบเศรษฐกิจ จะมีรูปแบบอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่  และปัญหาทางเศรษบกิจอาจแก้ไขได้ยาก  หากการแก้ปัญหานั้น ขัดผลประโยชน์ทางเมืองของกลุ่มคนผู้มีอำนาจ

          อนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ นักอุตสาหกรรม นายธนาคาร  เจ้าของโรงงาน นักธุรกิจ ฯลฯ  กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดว่ายุทธวิธีการพัฒนาใดมีความเป็นไปได้  และเป็นตัวกำหนดว่าการพัฒนาประเทศควรจะไปในทิศทางใด

          ในประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศ โครงสร้างทางการเมืองและกลุุ่มผลประโยชน์จะมีความแตกต่างกัน ตามประวัติความเป็นมาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ  เช่น  ในประเทศลาตินอเมริกาชนชั้นผู้มีอำนาจจะเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่  ประเทศในแอฟริกามักจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง  ส่วนในตะวันออกกลางมักจะเป็นพวกเศรษฐีบ่อน้ำมันและนายทุนทางการเงิน ส่วนประเทศเอเซีย ชนชั้นสูงส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของที่ดิน นายทุน และนักอุตสากรรมผู้มั่งคั่ง
 
ความสนใจของผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว มีผลให้นโยบาย ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม  จะต้องได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงของประเทศเหล่านี้  การเปลี่ยนแปลงจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                          --------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

         ถ้าคุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม พวกเขาก็จะปฏิบัติต่อคุณอย่างเหมาะสมเช่นกัน
                                          -------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ลักษณะร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกัน ดังที่เคยกล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็ยังมีลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันเป็นลักษณะที่ร่วมกันอยู่

สำหรับลักษณะร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนามีดังนี้

          ระดับการครองชีพต่ำ ในประเทศกำลังพัฒนา  คนส่วนใหญ่จะมีระดับการครองชีพที่ต่ำ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศที่ร่ำรวย  หรือจะเปรียบเทียบกับชนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆภายในประเทศเดียวกัน ประชากรที่มีรายได้ต่ำในประเทศกำลังพัฒนา จะมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอและไม่ถูกสุขลักษณะ สุขภาพอนามัยไม่ดี การศึกษามีจำกัด ตลอดจนผลิตกำลังคนที่ไม่เหมาะกับความต้องการของประเทศ ทารกแรกเกิดมีอัตราการตายสูง ความคาดหวังในการทำงานและความหวังในชีวิตต่ำ  นอกจากนั้น ยังพบว่า ในประเทศกำลังพัฒนามีการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันสูง คือร้อยละ 20 ของประชากรที่มีรายได้สูง จะมีรายได้สูงกว่าผู้มีรายได้ต่ำถึง 5-10 เท่า

         ประสิทธิภาพของการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เป็นผลมาจากขาดแคลนปัจจัยในการผลิตที่จะใช้ร่วมกับแรงงาน เช่น ในทางเกษตรกรรม จะขาดที่ดินขนาดใหญ่  ขาดการบำรุงรักษาดินที่ดี ไม่มีระบบชลประทานที่เพียงพอ  ตลอดจนไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนในทางอุตสาหกรรม ก็ยังขาดปัจจัยการผลิตเช่นกัน เช่น ทุน วัตถุดิบฯลฯ ตลอดจนขาดทักษะการจัดการของผู้ประกอบการ

         อัตราการเพิ่มของประชากรและภาระการเลี้ยงดูอยู่ในระดับสูง ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะมีอัตราการเพิ่มของประชากรค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพราะอัตราการเกิดของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในระดับที่คงที่ีหรือลดลงอย่างช้าๆ ในขณะที่มีอัตราการตายลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากเงื่อนไขเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมโรคสำคัญๆได้ ทำให้ประชากรในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่าประเทศที่พัฒนา

         การว่างงานและการทำงานต่ำกว่าระดับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น  การว่างงานมีใน 2 ลักษณะ คือ การทำงานต่ำกว่าระดับ หมายถึงการทำงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะคิดในแง่จำนวนชั่วโมง ต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อฤดูกาล และรวมถึงการทำงานเต็มเวลาแต่มีผลผลิตต่ำ อีกลักษณะหนึ่ีงเป็นการว่างงานของแรงงานที่มีความสามารถที่จะทำงานและอยากที่จะทำงาน  แต่ไม่มีงานที่เหมาะสมให้ทำ  เมื่อรวมทั้ง 2 ลักษณะเข้าด้วยกัน อัตราการว่างงานในประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราสูงถึงร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด

         เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรและการส่งออกผลผลิตขั้นปฐมเป็นสำคัญ  ในประเทศกำลังพัฒนาประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำการผลิตขั้นปฐม ได้แก่ การกสิกรรม ป่าไม้ ปศุสัตว์และการประมง  รายได้ส่วนใหญ่จะผูกพันกับรายได้สินค้าออก   ซึ่งเป็นผลผลิตขั้นปฐม อันได้แก่ อาหาร วัตถุดิบ และแร่ธาตุต่างๆ ประเทศกำลังพัฒนาจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ  เพราะไม่สามารถควบคุมอุปสงค์และอุปทานของสินค้าขั้นปฐมได้

         ความสัมพันธ์กับต่างประเทศมีลักษณะถูกครอบงำพึ่งพิงและไม่มั่นคง  ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่  มักจะผูกพันพึ่งพิงอยู่กับประเทศที่พัฒนา ทั้งในด้านการค้า การช่วยเหลือทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และปัจจัยทุนประเภทต่างๆ จึงทำให้ประเทศที่พัฒนามีอิทธิพลครอบงำเหนือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยประเทศกำลังพัฒนาจะรับเอา ค่านิยม ทัศนคติ มาตรฐานความเป็นอยู่และรูปแบบของสถาบัน ที่ไม่เหมาะสมกับระบบเศรษบกิจและสังคมของประเทศตนมาใช้ จนก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้น การพึ่งพิงของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ความหวังที่จะพัฒนาให้รู้จักพึ่งตนเองมีโอกาสน้อยลง และเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

         ลักษณะทางสังคม  ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีเมืองใหญ่ๆไม่กี่แห่ง ซึ่่งเป็นศูนย์กลางของรัฐบาล เป็นเมืองท่า ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับต่างประเทศ เมืองใหญ่เหล่านั้นมักจะมีปัญหาความแออัดเนื่องการอพยพเข้าเมือง  เพื่อหางานทำของประชากรในชนบท  เมืองใหญ่ๆจึงกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษและปัญหาสังคมอื่นๆ  อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะต้องใช้เงินและทรัพยากรมากมาย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในส่วนของขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม พบว่า ประชากรในประเทศกำลังพัฒนายังมีทัศนคติแบบเก่าๆที่บางครั้งก็ขัดกับการพัฒนาประเทศ

        ลักษณะทางเทคโนโลยีและวิชาการอื่นๆ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในระดับต่ำ เทคนิควิธีการผลิตที่มีความยุงยากซับซ้อนที่ใช้อยูในประเทศที่พัฒนามีน้อย ประสิทธิภาพการผลิตจึงค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ  ระบบการคมนาคมและการขนส่ง ตลอดจนการติดต่อสื่อสารต่างๆก็มีไม่เพียงพอ  มีผลต่อการแพร่หลายของวิทยาการต่างๆไม่ทั่วถึง

       ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวนีี้เป็นลักษณะร่วม  แต่จะมีลักษณะดังกล่าวมากหรือน้อย  อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำ่ ขึ้นอยู่กับความแตกต่างในแต่ละประเทศ
                             ------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

               การพึ่งพิงประเทศพัฒนา ทำให้ความหวังที่จะพัฒนาให้รู้จักพึ่่งตนเองลดลง
                                                          -----------------------

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของคำว่า"ประเทศกำลังพัฒนา"

คำว่า "ประเทศกำลังพัฒนา"  เป็นคำที่เกิดทีหลังคำว่า ประเทศด้อยพัฒนา  ซึ่งกำหนดโดยยึดสภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีประเทศอุตสาหกรรมเป็นเกณฑ์มาตรฐาน  ในการที่จะบอกว่าประเทศใดด้อยหรือไม่ด้อยพัฒนา

ประเทศด้อยพัฒนา  จึงหมายถึงประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำ เมื่่อเทียบกับรายได้ของประชากรสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรปตะวันตก ประเทศด้อยพัฒนาในที่นี้จึงตรงกับความหมายของประเทศยากจน

ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว   หมายถึงประเทศที่ร่ำรวย  มีลักษณะทางเศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรม เช่น ประเทศในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมิรกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

แต่เมื่อเริ่มทศวรรษของปี ค.ศ. 1960  ประเทศด้อยพัฒนามีบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น คำว่าประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งถูกมองว่าเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ไม่ดี ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้คำว่า ประเทศกำลังพัฒนาแทน  อันเป็นคำแสดงให้เห็นว่าอยู่ในช่วงของการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นคำที่ยอมรับและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ความหมายของคำว่า ประเทศกำลังพัฒนา ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจึงหมายรวมถึง ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อย ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศล้าหลัง และประเทศยากจน เอาไว้่ด้วยกัน ความแตกต่างของประเทศเหล่านี้อยู่ที่ความมากน้อยของความยากจน

นอกจากคำว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับความนิยมแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่นิยมพูดกันในหมู่นักวิชาการและนักการเมืองระหว่างประเทศคือ ประเทศในโลกที่สาม ซึ่งใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1959 โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นหลัก เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ค่ายหนึ่งค่ายใด ไม่ว่าจะเป็นค่ายนายทุนซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ หรือค่ายสังคมนิยมซึ่งมีสหาภาพโวเวียต(ในสมัยนั้น)เป็นผู้นำ

ประเทศในโลกที่สาม ไม่ได้บ่งชี้ว่าประเทศนั้นมีโครงสร้างทางเศาฐกิจและสังคมเป็นแบบใด เพียงแต่แสดงว่าประเทศนั้นๆอยู่ในระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงจากสภาพดั้งเดิมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ประเทศในโลกที่สามจึงจัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาได้เช่นกัน

ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในโลกที่สาม ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สภาวะทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการเมือง และโครงสร้างทางสังคม  แต่ก็มีความยากจนเป็นลักษณะร่วม
                            ----------------------------------------------------------

                                                            สาระคำ

ประเทศในโลกที่สี่  เป็นประเทศที่คณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจขององค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้น เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด เพราะมีรายได้ต่อหัวต่ำ มีสถิติคนไม่รู้หนังสือสูง ขาดแรงงานด้านต่างๆ มีเกษตรกรรมเป็นเศรษฐกิจหลัก
                                                      ------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

แนวความคิดเรื่องการพัฒนา

แนวคิดแรกๆของการพัฒนา หมายถึง กระบวนการที่ทำให้รายได้ที่แท้จริงของชาติเพิ่มสูงขึ้น และถ้าอัตราการเพิ่มรายได้สูงกว่าอัตราการเพิ่มของประชากร จะทำให้รายได้ต่อบุคคลที่แท้จริงจะเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาในระยะเริ่มแรก  จึงมีความหมายเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดได้จากอัตราการเพิ่มของรายได้ประชาชาติหรือรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล
 
แนวคิดการพัฒนา ในระยะแรกๆเป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งการเพิ่มรายได้ประชาชาติหรือรายได้ต่อบุคคลให้สูงขึ้นเพียงประการเดียว  ส่วนการขจัดปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ ถือว่าเป็นผลพลอยได้  โดยเชื่อว่ารายได้ประชาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น จะกระจายไปสู่ประชาชนผู้ยากจนของประเทศ ในรูปของการว่าจ้างแรงงาน การซื้อขายวัตถุดิบและผลผลิต  ตลอดจนขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการพัฒนาในระยะนั้น จึงให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิตเป็นพิเศษ อันได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ

แต่จากการพัฒนาตามความคิดดังกล่าว พบว่าการครองชีพของคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  แสดงว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดพลาด จริงอยู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อองค์ประกอบการพัฒนา  แต่ไม่ใช่การพัฒนาทั้งหมด
 
การพัฒนามีความหมายมากกว่าวัตถุสิ่งของเงินทอง  การพัฒนาจะต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง สถาบัน สังคม การบริหาร ตลอดจนเจตคติ  ประเพณีและความเชื่อของคน  การพัฒนาควรเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน  ต่อสู้กับการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนแก้ปัญหาการว่างงาน
 
และยังพบว่าการพัฒนาที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและสังคมได้ และในบางประเทศกลับก่อให้เกิดความยุ่งยากด้วยซ้ำไป

จนในที่สุด เซียร์ส (Seers) ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาการพัฒนาคนหนึ่ง  สรุปว่า การจะดูว่าประเทศใดพัฒนาจริงหรือไม่ ให้ดูจาก  ประเทศนั้นจัดการกับความยากจนอย่างไร  ประเทศนั้นจัดการกับการว่างงานอย่างไร  และ ประเทศนั้นจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันอย่างไร ถ้าประเทศนั้นมีปัญหาทั้งสามประการปรากฎอยู่  จะเรียกว่าเป็นประเทศพัฒนาไม่ได้ แม้จะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มเป็น 2 เท่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เป็นความคิดที่หลากหลาย แต่ อาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง กล่าวคือ

กลุ่มทฤษฎีการยึดตัวแบบ กลุ่มนี้มุ่งที่จะกำหนดเงื่อนไขทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ให้สอดคล้องกับที่มีอยู่ในประเทศตัวแบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันกับสังคมที่เป็นตัวแบบนั้น โดยทั่วไปมักจะยึดตัวแบบการพัฒนาของชาติตะวันตก

กลุ่มทฤษฎีสร้างตัวแบบ  กลุ่มนี้เชื่อว่า การพัฒนามิได้หมายถึงเฉพาะลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่ยังไม่พัฒนาก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ลักษณะใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว  แต่จะต้องเลือกสรรแสวงหาวิธีการในการเปลี่ยนแปลง ให้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมนั้นๆ  ตลอดจนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง

ซึ่งทั้ง 2 แนวความคิดนี้ยังคงใช้เป็นแนวทางการพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนความหมายของการพัฒนาก็เช่นกัน  มีผู้ให้ความหมายอย่างกว้างขวางและแตกต่างกันไปตามกลุ่มอาชีพ แต่สรุปได้ว่า การพัฒนา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย อย่างมีทิศทาง เพื่อให้บุคคลและสังคมดีขึ้น ส่วนจะดีขึ้นในลักษณะและทิศทางใดขึ้นอยู่กับค่านิยมของบุคคลและสังคม
  
การพัฒนาจึงเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลง การวางแผน การกำหนดทิศทาง และค่านิยม
                                 ------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคำ

การพัฒนา (Development) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความก้าวหน้า (Advancement) การทำให้เป็นสังคมเมือง (Urbanization) การทำให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม (Industrialization)  และ การทำให้เหมือนสังคมตะวันตก (Westernization)
                                                            ---------------------------------------