วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนเป็นการประกอบการทางธุรกิจ แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของการลงทุนจึงอยู่ที่กำไรและผลประโยชน์ที่พึงได้รับจาการลงทุนนั้น หากไม่เห็นช่องทางที่จะได้กำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้น

หากจำแนกลงไปถึงรายละเอียดถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ จะได้ดังนี้

          1.มุ่งกำไร กำไรเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการลงทุนในต่างประเทศ มีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าที่ได้จากการลงทุนในประเทศของตนเอง

          2. การแสวงหา การรักษา และการขยายตลาด เป็นการลงทุนเพื่อหวังที่จะจำหน่ายสินค้าของตน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ  และเพื่อแข่งขันกับชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนในสินค้าชนิดเดียวกัน

          3. การแสวงหา การรักษา และการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบ เป็นการลงทุนเพื่อหวังจะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ไม้ น้ำมัน ฯลฯ เพื่อนำไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบในประเทศที่ไปลงทุนมีแหล่งวัตถุดิบที่มีราคาถูกเป็นจำนวนมาก

          4. ค่าแรงงานราคาถูก เนื่องจากในประเทศของตนขาดแรงงาน หรือมีค่าแรงงานที่สูง จนทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศสูงขึ้นไปด้วย จึงแสวงหาประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ เพื่อจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและสามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นๆได้

          5. ผลประโยชน์ทางอ้อม การลงทุนในต่างประเทศบางครั้งไม่ได้มุ่งประโยชน์จากการมีกำไร แต่มุ่งประโยชน์ทางอ้อม เช่น เพื่อรักษาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อสร้างตลาด และเพื่อรักษาตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ฯลฯ

          6. หลีกเลี่ยงปัญหาความแออัดและปัญหาความสกปรกต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน

          7. หลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่าผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศของตน

          8. เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอกชนในประเทศที่ไปลงทุน  ด้วยเหตุผลที่ว่า การลงทุนจะเป็นตัวเร่งให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งเป็นการยกระดับรายได้ เป็นการกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้าประเภททุนจากประเทศที่ออกไปลงทุน

ส่วนประเทศที่ไปลงทุนจะได้ประโยชน์จากการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  การไหลเข้่าของเงินทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายหลักของการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศต่างๆ ที่ยอมให้ประโยชน์ต่างๆนานา อยู่ที่แก้ปัญหาการว่างงาน และการเพิ่มผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น(Gross Domestic Product= GDP.) ซึ่งแสดงถึงความสามารถในเชิงตัวเลขของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

จะห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศมีทั้งได้และเสียประโยชน์  ผู้อำนาจในการบริหารประเทศจึงต้องพิจารณาให้จงหนักว่า มาตรการการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ประเทศได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                           จงใฝ่หาความจริง ความจริงจะเผยให้เราเห็น
                   สิ่งที่่เราควรทำ สิ่งที่เราไม่ควรทำ และสิ่งที่เราควรเลิกทำ

                                                                      ปีเตอร์ เซคิริน

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สาเหตุที่ทำให้การกระจายรายได้ระหว่างบุคคลไม่เสมอภาค

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การกระจายรายได้เป็นเป้าหมายที่สำคัญ   เพราะหากมีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาคจะก่อให้เกิดปัญหาตามมากมาย จนยากที่จะแก้ไข ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลไม่เสมอภาค ได้แก่

          1. การกระจายกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร  ทั้งนี้เนื่องจากการมีระบบเจ้าขุนมูลนาย ทหาร และข้าราชการชั้นสูง เป็นกลุ่มอิทธิพลและเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ คนเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินในอัตราสูง และมีโอกาสสะสมทรัพย์สินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นไปได้อีก ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีที่ดินถือครองต่ำ หรือบางรายไม่มีที่ดินเลยต้องเช่าที่ดินทำกิน และเมื่อประเทศพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ จะเปลี่ยนฐานะเป็นพ่อค้า หรือนายทุนอุตสาหกรรม มีรายได้จากการประกอบการสูง ส่วนเกษตรกรและกรรมกร ไม่มีโอกาสที่จะทำงานให้มีรายได้สูงกว่าเดิม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลมากขึ้น

          2. ความเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆเป็นไปอย่างไม่สมดุล  เนื่องจากภาคเศรษฐกิจบางภาค ได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่บางภาคเศรษฐกิจถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น กรณีรัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม มีผลทำให้ผู้ประกอบอาชีพใน ภาคอุตสาหกรรมมีรายได้สูงกว่าผู้ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอื่น ที่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เช่น ภาคเกษตรกรรมซึ่งมีผลผลิตต่ำอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างรายได้ระว่างบุคคลยิ่งห่างออกไปอีก

          3. การกระจายตัวของประชากร ในชนบทมักจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรในอัตราที่สูง การมีลูกหลานเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรที่ดินให้กับลูกหลาน มีผลทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ทำให้การปรับปรุงที่ดินทำได้ลำบาก มีผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำลงกว่าเดิม ทำให้มีรายได้ลดลง แต่ต้องเลี้ยงดูแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำลง ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น

          4. การศึกษาอบรม ผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมจะมีความรู้ความชำนาญ ทำให้มีโอกาสทำงานและประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ เป็นต้น  ส่วนผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาน้อย ต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ  ยิ่งกว่านั้นการศึกษาในชนบท มักจะขาดครูและอุปกรณ์ทางการศึกษา ผู้จบการศึกษาขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ต่ำ มีผลทำให้ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น

          5. การแข่งขันของตลาดเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ เป็นผลทำให้บุคคลบางกลุ่มบางพวกมีอำนาจผูกขาด อยู่ในฐานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะมีรายได้สูงกว่า  ทั้งนี้ เพราะผู้ประกอบการมีน้อย และมักจะรวมตัวกันขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังมีอำนาจที่จะกำหนดค่าจ้างแรงงาน คนงานมักจะถุกนายจ้างเอาเปรียบ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย การกระจายรายได้จึงไม่เสมอภาค

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ไม่เป็นธรรม คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ จะมีอำนาจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆอีกด้วย  หากไม่มีการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคของการกระจายรายได้ระหว่างบุคคลอย่างจริงจัง ถึงจุดหนึ่ง การต่อสู้เพื่อการแย่งชิงอำนาจจะเกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้บ้านเมืองไม่มีปกติสุข
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคำ 

ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการผลิต ปัจจัยการผลิต นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ยังมี ที่ดิน(ทรัพยากรธรรมชาติ) แรงงาน และทุน

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาที่ถูกละเลย

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  เป็นมนุษย์ที่สังคมพึงปราถนา

เมื่อใดที่การศึกษาทำหน้าที่พัฒนาบุคคลให้มีคุณค่าต่อทุกระบบของสังคม ตลอดจน มีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างแท้จริง เมื่อนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าการศึกษาทำหน้าที่พัฒนามนุษย์ที่แท้จริง

แต่จากการศึกษาพบว่า แม้จะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาเต็มที่ ขยายการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่การศึกษาก็ไม่อาจสร้างลักษณะที่พึงประสงค์ขึ้นมาได้ กลับสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมมากมาย มีทั้งขาดความรู้ และทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ จนถึง มีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ที่เป็นเชนนี้ อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ข้อเท็จจริง จนละเลยข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาต่อไปนี้

          1. การศึกษาเป็นสิ่งดี มีความจำเป็นต่อการอยู่ดีกินดีของมนุษย์ การศึกษานอกจากจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีในตัวมันเองแล้ว ยังพบว่าผู้มีการศึกษามีรายได้สูงกว่า เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากกว่า และมักได้รับการยกย่องทางสังคมมากกว่า

          2.การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการและปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม จะทำให้เกิดความสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม

          3. การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้มาก อันเนื่องมาจาก การปลูกฝังลักษณะ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาดังกล่าวนี้ ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาจะต้องตระหนักให้มาก ไม่ควรจะละเลยประการใดประการหนึ่ง

ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาก็เพราะให้ความสำคัญกับข้อตกลงเบื้องต้นประการที่ 1 ที่เชื่อว่าการศึกษายิ่งมากยิ่งดี  เพียงประการเดียว โดยละเลยไม่ให้ความสำคัญกับข้อตกลงเบื้องต้นประการที่ 2 และ 3 จึงมีการขยายการศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นการขยายการศึกษาในเชิงปริมาณ เป็นการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ  ไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมทำให้เกิดปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตามมามากมาย ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

             ในบรรดาสิ่งสกปรกทั้งหลาย ไม่มีอะไรจะสกปรกเท่ากับความเห็นแก่ตัว

                                                                         พุทธทาสภิกขุ
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คุณธรรมที่จำเป็นสำหรับผู้บริหาร

การบริหารที่ใช้แต่อำนาจ ระบียบวินัย และกฎเกณฑ์ต่างๆ บังคับให้คนในองค์การทำงานเพื่อประโยชน์ขององค์การเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการไม่เพียงพอต่อการนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ แต่หากผู้บริหารมีคุณธรรม นอกจากจะช่วยให้องค์การประสบความสำเร็จและการบริหารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังทำให้คนในองค์การทำงานอย่างมีความสุขและมีความสามัคคีอีกด้วย

ด้วยเหตนี้ผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม สำหรับคุณธรรมที่ผู้บริหารจะพึงมี ประกอบด้วยคุณธรรมต่อไปนี้ คือ

         1. ความซื่อสัตย์สุจริต คือ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อหน้าที่การงาน ไม่เป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ  ความซื่อสัตย์สุจริตช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรขององค์การได้เต็มที่ ไม่เกิดการรั่วไหล นอกจากนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตยังทำให้ได้รับการไว้วางใจจากผู้ร่วมงาน ผู้บริหารที่ขาดคุณธรรมข้อนี้ แม้จะบริหารเก่งอย่างไร ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

          2. ความรับผิดชอบ เป็นผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อหน้าที่การงาน คือ เป็นคนกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้ทำหรือตัดสินใจสั่งการ ไม่เอาตัวรอด ความรับผิดชอบทำให้งานสำเร็จตามกำหนดเวลา ไม่คั่งค้างเกิดความล่าช้า อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์การ ผู้บริหารที่รับผิดชอบทำให้บุคคลในหน่วยงานเกิดความเชื่อมั่น

          3. ความยุติธรรม หมายถึง การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีเหตุผล ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกติกา ความยุติธรรมทำให้เกิดความเที่ยงธรรม ทำให้เกิดการทำงานที่ยึดหลักเกณฑ์มากกว่ายึดบุคคล ผู้บริหารที่ขาดความยุติธรรมก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในองค์การ  ความยุติธรรมของผู้บริหาร ทำให้ทุกคนในหน่วยงานทำงานเต็มความสามารถ อุทิศตนให้กับงาน เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าและเป็นธรรม

          4. ความเป็นผู้มีใจหนักแน่น คือ เป็นผู้อดทน มั่นคงในอารมณ์  มีสติ มีใจหนักแน่นต่อสถานการณ์ ต่อคำพูดที่ขัดแย้ง และต่อความไม่เป็นมิตรของคนอื่น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้บริหารต้องเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในการทำงานค่อนข้างมาก ความเป็นผู้มีใจหนักแน่นไม่หวั่นไหว จะช่วยให่้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ตลอดจนช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

          5. ความเป็นผู้มีสัจจะ ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ หากไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะต้องบอกให้ทราบ เพราะการหลอกคนอื่นนั้นอาจหลอกได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่จะหลอกตลอดไปย่อมไม่ได้ การรักษาคำมั่นสัญญาจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากผู้อื่น ทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา ความเป็นผู้มีสัจจะก่อให้เกิดศรัทธา

          6. ความเป็นผู้มีระเบียบวินัย ความมีระเบียบวินัยเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานที่ยาก และการทำงานกับคนจำนวนมาก ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างของการมีวินัย เป็นผู้มีวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามระเบียบขององค์การที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ระเบียบใดที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อยและความมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารจะต้องไม่ละเมิดระเบียบนั้นเสียเอง เพราะหากผู้บริหารละเมิดแล้ว คนอื่นๆจะถือเป็นข้ออ้างทำผิดวินัยในลักษณะเดียวกัน ในที่สุดความไร้ระเบียบจะเกิดขึ้นในหน่วยงาน มีผลทำให้งานที่ง่ายกลายเป็นงานที่ยาก

          7. การยอมรับผู้อื่น ผู้บริหารจะต้องยอมรับความรู้ความสามารถของผู้อื่น เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศของความไว้วางใจ เกิดความรับผิดชอบในการทำงานสูง โดยความรับผิดชอบนั้น เกิดจาการรู้จักควบคุมตนเอง การที่ผู้บริหารยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้ผู้บริหารปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมตามที่เขาเป็น

          8. ความเข้าใจในความต้องการของผู้อื่นรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผู้บริหารจะต้องเข้าใจธรรมชาติของคน ว่าคนนั้นย่อมมีความต้องการ เป็นความต้องการทางกาย ทางอารมณ์ และความต้องการทางสังคม ผู้บริหารจะต้องเข้าใจความต้องการเหล่านี้ตามสมควร ตลอดจนหาทางตอบสนองเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะความต้องการทางอารมณ์และความต้องการสังคม เพราะเมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองแล้ว ความพอใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนเกิดความพอใจ การบริหารงานก็จะดำเนินไปด้วยดี เกิดความสงบสุขในองค์การ

คุณธรรมสำหรับผู้บริหารที่กล่าวมา เป็นคุณธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร หากผู้บริหารขาดคุณธรรม ย่อมยากที่จะนำองค์การเป็นสู่ความสำเร็จได้ เพราะผู้บริหารจะไม่ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากเพื่อนร่วมงาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆนานา จนยากที่จะแก้ไขเยียวยา
--------------------------------------------------------------------------------------------------
                                                      สาระคิด

                         จงรับฟังการถกเถียง แต่อย่าเข้าวงถกเถียงด้วย

                                                                   นีโคไล โกกอล

*****************************************************************
หมายเหตุ ควรอ่าน "ทำไมผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม" จาก http://PaisarnKr.blogspot.com ประกอบ เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำไมผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม

ความสำเร็จขององค์การใดองค์การหนึ่ง มิได้ขึ้นอยู่แต่เพียงระบบการเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการลงโทษทางวินัย แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจ และความจงรักภักดีของคนที่มีต่อองค์การ  การจะก่อให้เกิดลักษณะดังกล่าวในองค์การ ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่ยึดบุคคล ยึดหัวหน้า มากกว่ายึดหลักการหรือระบบ

ผู้บริหาร หมายถึง ผู้ที่ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยบุคคลอื่น ความสำเร็จในการบริหารขึ้นอยู่กับ "คน" และ "ความสามารถในการใช้คน"

คุณธรรม หมายถึง แนวทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล  ที่สังคมยอมรับว่าดีงาม ว่าถูกต้อง และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ผู้บริหารที่มีคุณธรรม คือ ผู้บริหารที่มีการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามที่ถูกต้อง ที่ช่วยให้ให้ทุกคนในองค์การ ทำงานด้วยความสงบสุข และเกิดความก้าวหน้า

เพื่อความชัดเจนจะขอจำแนกถึงเหตุผล และความจำเป็น ที่ผู้บริหารจะต้องมีคุณธรรม เพื่อให้ทุกคนในองค์การทำงานด้วยความสงบสุข และเกิดความก้าวหน้า ดังนี้

          1.แนวความคิดและความเชื่อของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเคยเชื่อว่าผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนา ซึ่งเป็นของเฉพาะตัวที่สร้างสมมาแต่อดีต แต่ปัจจุบันความคิดและความเชื่อเช่นนี้ได้เปลี่ยนไป หันไปเชื่อว่า คนที่เป็นผู้บริหารได้นั้น จะต้องเป้นผู้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะทางการบริหาร  ความเชื่อเช่นนี้ ทำให้คนเห็นว่า การเป็นผู้บริหารนั้นใครๆก็เป็นได้ ถ้าได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมมาเพียงพอและมีโอกาส ผู้บริหารที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมในปัจจุบัน จึงมักได้รับการท้าทายอำนาจ ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานเท่าที่ควร

          2.แนวความคิดและศาสตร์ทางบริหารได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีการบริหารเป็นทีม การบริหารแบบมีส่วนร่วม ตลอดจน การบริหารแบบใช้กลุ่มคุณภาพ ได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้มากขึ้น  ซึ่งแนวทางการบริหารเหล่านี้ จำเป็นจะต้องอาศัยผู้บริหารที่มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี การบริหารในลักษณะดังกล่าวจึงจะประสบความสำเร็จ

           3. ผู้บริหารเป็นผู้ใช้อำนาจในการที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บัคบบัญชา เป็นผู้จัดสรรการใช้ทรัพยากรในองค์การ คุณธรรมจึงเป็นแนวทางสำหรับการใช้อำนาจของผู้บริหารนอกเหนือจากระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ  การที่ผู้บริหารมีคุณธรรม จะช่วยให้การใช้อำนาจและการจัดสรรผลประโยชน์เป็นไปอย่างยุติธรรม แต่หากผู้บริหารไม่มีคุณธรรมกำกับ จะปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว และอาจใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้

          4. ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นองค์การใหญ่หรือหน่วยเล็ก ผู้บริหารมักจะถูกมองในแง่อคติในการปกครองบังคับบัญชาอยู่เสมอ ไม่ว่าการเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง การพิจารณาความดีความชอบ ผู้บริหารจะถูกกล่าวหาเสมอ โดยกล่าวหาว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของผู้บริหาร มักจะเป็นผู้ที่ "สืบสายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง เสบียงหลังบ้าน กราบกรานสอพลอ ล่อไข่แดง แรงวิชา ถลามาเอง" อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากความสามารถหรือเสียสละในการทำงาน ซึ่งคำกล่าวนี้ ถ้าผู้บริหารขาดคุณธรรมแล้ว จะช่วยให้อคติในลักษณะดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น คนจะไม่ทำงาน และในที่สุดการบริหารก็จะประสบความล้มเหลว

          5. การบริหารเป็นการทำงานกับคน ซึ่งคนตามหลักจิตวิทยาแล้ว ย่อมมีความต้องการ เช่น ต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ต้องการมีส่วนร่วม ฯลฯ ความต้องการเหล่านี้ ผู้บริหารจะสามารถตอบสนองได้ก็โดยอาศัยคุณธรรมมากกว่าที่จะใช้เทคนิควิธีในเชิงบริหาร และเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง คนในหน่วยงานจะทำงานด้วยความสุข และเกิดความสำเร็จขึ้นในหน่วยงาน

          6. ผู้บริหารที่มีคุณธรรมจะเป็นแบบอย่าง ให้คนในหน่วยงานมีคุณธรรมด้วย ทั้งนี้ เพราะคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการเลียนแบบ การเป็นตัวแบบที่ดี จะข่วยให้คนในองค์การเกิดศรัทธา เกิดการเรียนรู้ในทางที่ดี

          7. คุณธรรมเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งของผู้บริหาร นักวิชาการทางด้านบริหารเชื่อว่าผู้บิหารที่ประสบความสำเร็จ จะต้องประกอบด้วยพลังต่อไปนี้ คือ
                    7.1 พลังสมอง เป็นผู้มีสติปัญญาดี
                    7.2 พลังจิตใจ เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง
                    7.3 พลังกาย เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
                    7.4 พลังคุณธรรม เป็นผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี

จะเห็นว่า ผู้บริหารนั้นต้องทำงานกับคน และเป็นผู้ใช้คนให้ทำงานเพื่อไปสู่ความสำเร็จขององค์การ หากผู้บริหารขาดคุณธรรมแล้ว  การทำงานก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุดจะประสบความล้มเหลว ทั้งในส่วนตัวของผู้บริหารและความล้มเหลวขององค์การในภาพรวม
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

               คนที่ถูกลงโทษส่วนใหญ่ มักเนื่องจากสิ่งภายใน คือคุณธรรมของเขาเอง

                                                                                    นิชเช่
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย มีทั้งประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ และประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง

ประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ หมายถึง ระบบการเมือง รูปแบบการปกครอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ
          1. ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง
          2. ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว  โดยผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจแทนปวงชน ไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจ
          3.สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง

ส่วนประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต อันประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ คารวะธรรม หมายถึง การเคารพซึ่งกันและกันตามสถานะภาพของแต่ละบุคคล ปัญญาธรรม หมายถึง การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และสามัคคีธรรม หมายถึง การให้ความสำคัญกับส่วนรวมพอๆกับความสำคัญส่วนตน เพื่อประโยชน์ของสังคม

กรณีประเทศไทย การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่นำเข้าจากชาติตะวันตก โดยคนกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนบัดนี้นับได้ 70 กว่าปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีการทำรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว มีรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ แต่ก็ไม่เหมาะที่จะใช้กับนักการเมืองไทยสักฉบับ มีการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างบิดเบือน เพื่อประโยชน์ตนและหมู่คณะ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ

          1. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ
               1.1. คนไทยมีลักษณะอิสระนิยม ชอบเสรี ทำได้ตามใจคือไทยแท้ บางครั้งเสรีมากจนขาดความรับผิดชอบ ลักษณะเสรีนิยมทำให้คนไทยทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกันไม่ได้. การรวมเป็นพรรคการเมืองจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
               1.2. คนไทยมีลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ยึดตนเองเป็นสำคัญมากกว่าคำนึงถึงส่วนรวม สนใจผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าส่วนรวม แม้เชื่อว่ากฎหมายและอุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญ  แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติก็จะคำนึงถึงประโยชน์ของตนก่อน
               1.3. คนไทยมีลักษณะอำนาจนิยม คนไทยชอบมีอำนาจ แสวงหาอำนาจ เพราะอำนาจทำให้สถานะภาพทางสังคมสูงขึ้น คนไทยไม่ชอบให้ใครมาใช้อำนาจกับตน แต่ตนเองชอบใช้อำนาจกับคนอื่น ในขณะเดียวกัน คนไทยยกย่อง เกรงกลัวผู้มีอำนาจ เพราะอำนาจนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจ
               1.4. คนไทยมีลักษณะยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักเกณฑ์หรือหลักการ เพราะเชื่อว่ากฎเกณฑ์เป็นเรื่องที่บุคคลสร้างขึ้น จึงสามารถลบล้างได้ คนไทยจึงทำงานตามความสัมพันธ์กับบุคคลมากกว่าทำตากฎเกณฑ์หรือหลักการ

          2. ขาดการเรียนรู้หลักการของประชาธิปไตยที่ถูกต้องครบถ้วน ให้ความสำคัญแต่เพียงเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพ และมาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายและคุณธรรมประชาธิปไตย

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น หากมีความต้องการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้อย่างจริงจัง ครบถ้วนการหลักการ จะต้องให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป  ในลักษณะต่อไปนี้

          1. โรงเรียนควรเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับครู ครูกับนักเรียน ไม่ควรจะมีความสัมพันธ์แบบอัตตาธิปไตย นักเรียนควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในการตัดสินเกี่ยวกับนโยบายเท่าที่วุฒิภาวะของนักเรียนจะอำนวย

           2. โรงเรียนควรจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อาจจัดเป็นหลักสูตรโดยเฉพาะ หรือสอดแทรกในวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆเท่าที่เห็นสมควร สำหรับเนื้อหาและกิจกรรมในหลักสูตรหรือที่สอดแทรกในวิชาต่างๆ ควรเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ
               2.1. พัฒนาด้านบุคลิกภาพที่เกี่ยวโยงกับประชาธิปไตย อันได้แก่ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ที่มีผลต่อพฤติกรรมตามหลักประชาธิปไตย
               2.2. การเรียนรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยเฉพาะ โดยเรียนรู้เกี่ยวกับ
                    2.2.1. การเรียนรู้ในเรื่องบทบาทของการเป็นพลเมืองดี เช่นการผูกพันกับพรรคการเมือง การมีอุดมการณ์ทางการเมือง การมีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมทางการเมือง
                    2.2.2. การเรียนรู้บทบาทในฐานะที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายของบ้านเมือง เช่น ความจงรักภักดีต่อชาติ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ
                    2.2.3. การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการในการเลือกสรรบุคคลเข้าทำงานด้านการเมือง

เมื่อจัดการศึกษาให้มีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักการดังกล่าว เชื่อว่าประชาธิปไตยของไทยจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด
                    
ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

                                                                                 พุทธทาสภิกขุ
****************************************************************

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาชนบท

ถ้าต้องการจะให้การพัฒนาประเทศเป็นความจริง จะต้องพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างชนบทกับเมือง แต่การพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับการสร้างภาวะทันสมัยและการพัฒนาเมือง ที่เชื่อกันว่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง ทำให้ละเลยการพัฒนาชนบทไป 

ดังนั้น หากต้องการจะพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล จะต้องขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในชนบท ด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การพัฒนาชนบทประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพราะประชากรในชนบทส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับกิจกรรมการเษตร

และเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามเป้าหมาย  การพัฒนาชนบทจะต้องเริ่มด้วยการเปลึ่ยนโครงสร้างของสถาบัน ความสัมพันธ์ และกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นประการแรก

ทั้งนี้เพราะ เป้าหมายของการพัฒนาชนบทไม่ได้ติดอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว  แต่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้อยู่ในภาวะสมดุลเช่นเดียวกัน โดยเน้นการกระจายรายได้ที่ยุติธรรม พร้อมๆกับสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ความเป็นเจ้าของที่ดิน สนับสนุนการปรับปรุงเกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ และที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

และประการสุดท้าย จะต้องมีการขยายการศึกษาทั้งในและนอกระบบเพื่อผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งนี้จะต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในชนบท

แต่ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะเป็นระบบการศึกษาที่ลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายการศึกษาของประเทศพัฒนาเหล่านั้น อยู่ที่การเตรียมเด็กให้ผ่านการการสอบมาตรฐาน เพื่อจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงเป็นหลักสูตรที่เอนเอียงไปทางสังคมเมืองอย่างมาก นับเป็นหลักสูตรที่ไม่สนองความต้องการของเด็กส่วนใหญ่ ที่อาศัยและทำงานในชนบท

สำหรับการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาชนบทนั้น ฟิลิป เอช คูมป์ส (Philip H. Coombs) นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ได้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

               1. การศึกษาทั่วไปหรือการศึกษาพื้นฐาน เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้ เลขคณิต ตลอดจนวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

               2. การศึกษาเพื่อชีวิตครอบครัว เป็นการศึกษาในส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น ได้แก่วิชา เกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ การซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน การดูแลเด็ก ตลอดจนการวางแผนครอบครัวและอื่นๆ

               3.การศึกษาเพื่อการปรับปรุงชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อให้กระบวนการและสถาบันในท้องถิ่นและระดับชาติมีความเข้มแข็ง เช่น ให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การสหกรณ์ เป็นต้น

               4. การศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีพ

การศึกษาทั้ง 4 กลุ่มนี้ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากรวมทั้งไทย จะเน้นเฉพาะการศึกษาทั่วไป ส่วนประเภทอื่นๆ แทบจะไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น หากประสงค์จะใช้การศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง จะต้องจัดการศึกษาให้ครบทั้ง 4 ประเภท โดยปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการศึกษาในระบบ รวมทั้งนำการศึกษานอกระบบมาใช้กับประชาชนที่อยู่นอกวัยเรียนอย่างจริงจัง การพัฒนาชนบทจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                         ระบบการศึกษาที่ลอกเลียนจากประเทศอื่นก่อให้เกิดปัญหา                                                           มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒาประเทศ

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องอาศัยทั้งปัจจัยมนุษย์และปัจจัยอื่น การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงต้องจัดโดยมุ่งพัฒนาปัจจัยทั้ง 2 ประการไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อันจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจจะต้องเริ่มด้วยการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม ให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรฐกิจมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการจะปรับปรุงระบบการศึกษาได้ถูกต้องตรงจุด จะต้องเริ่มด้วยการศึกษาวิเคราะห์อย่างจริงจัง แล้วจึงจะแก้ไขปรับปรุง ส่วนวิธีง่ายๆที่จะลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศพัฒนามาใช้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะส่งเสริมการพัฒนา

สำหรับระบบการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรจะจัดในลักษณะต่อไปนี้

          1. เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับปัญหาของประเทศ การแก้ปัญหาให้หมดไปเป็นลักษณะหนึ่งของการพัฒนา การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องสอดคล้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ประสิทธิภาพของแรงงานต่ำ หรือความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องปรากฎอยู่ในการเรียนการสอนทุกระดับชั้น โดยจะแตกต่างกันตามวัยและระดับความรับผิดชอบเมื่อจบการศึกษา

          2. เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับชีวิตการทำงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการทำงาน หากสังคมใดประกอบด้วยคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สังคมนั้นจะพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็ว การศึกษาของแต่ละสังคมจึงต้องสอดคล้องกับชีวิตการทำงานของสังคมนั้น เช่น สังคมที่มีอาชีพการเกษตร สถาบันการศึกษาควรให้การศึกษาเกี่ยวกับอาชีพการเกษตร เป็นต้น นอกจากนั้น การจัดการศึกษาเพื่อการทำงานอาจจัดในลักษณะต่อไปนี้
               2.1 จัดโดยการรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับการทำงาน ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัตควบคู่กันไป
               2.2 จัดโดยการเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ คือจะสอนเฉพาะเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงไม่ใช่สอนเพียงเพื่อให้รู้
               2.3 จัดโดยการกำหนดเนื้อหาจากปัญหาในการปฏิบัติ และมีความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้น เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

และที่สำคัญ คือ การทำงานด้วยมือจะต้องสอดแทรกอยู่ในทุกระดับการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย

          3. เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการทำงานอิสระ  ปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน เป็นปัญหาอันมีสาเหตุมาจากการผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ผู้มีการศึกษาจำนวนหนึ่งต้องว่างาน  เพราะไม่สามารถหางานได้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียนมา ซึ่งปัญหาการว่างงานของมีการศึกษานี้ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว การศึกษาจะต้องส่งเสริมการทำงานอิสระ โดยให้ผู้เรียนได้มองเห็นช่องทางการสร้างงาน มีความริเริ่ม และมีความภูมิใจต่อการเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่ากิจการนั้นจะมีขนาดเล็กใหญ่อย่างไร

          4. เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นผู้ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจน การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการที่การศึกษาส่งเสริมให้เกิดขึ้นนั้นจะต้อง มีใจกล้าเสี่ยง ขยัน รับผิดชอบ มีความสามารถในการจัดการและบริหารงาน เป็นต้น

          5. เป็นการศึกษาที่สร้างคุณลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องสร้างคนให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ มีวินัย ประหยัด มีทัศนคติที่ทันสมัย มุ่งอนาคต ศรัทธาในความสามารถของตนเอง และมีบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวม

         6. จัดให้มีการแนะแนวอาชีพ ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ จะต้องจัดให้มีการแนะแนวอาชีพ มีศูนย์สนเทศการอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นช่องทางการทำงานอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้คุ้นเคยกับโลกของการทำงาน เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาไปแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันที อันจะช่วยลดปัญหาการว่างงานได้ระดับหนึ่ง

แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา ด้วยการสร้างหลักสูตร จัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม ตลอดจนการบริหารในแนวทางที่กล่าวมาแล้ว  การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องเน้นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องอุทิศตนเพื่อประชาชน และเพื่อเป้าหมายทางมนุษยธรรม

                                                                    Julius Nyerere

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การจัดการศึกษเพื่อการพัฒนามวลชน

รูปแบบการพัฒนาที่นิยมกันหลังปี ค.ศ. 1980 คือยุทธวิธีการพัฒนาที่มุ่งการพัฒนามวลชนโดยตรง มุ่งการปรับสภาพการดำรงชีวิตของบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ

เป็นยุทธวิธีการพัฒนาที่ไม่เพียงแต่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพียงประการเดียว แต่ยังมุ่งถึงการใช้ทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ซึ่งรูปแบบการพัฒนาใหม่นี้ มีผลให้มีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น

ทั้งนี้เพราะ ระบบการศึกษาที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนา เป็นการศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และ ค่านิยมที่ช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเพื่อการผลิตในสังคมที่นักเรียนอาศัยอยู่ มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาต้องไปทำงานที่อื่น

โรงเรียนไม่ได้สอนให้เขามีทักษะที่จำเป็น ต่อการที่จะช่วยให้เขามีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เขามีชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้ามเป็นการสอนให้เรียนเพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น เป็นการเรียนประถมศึกษาเพื่อมัธยมศึกษา และเรียนมัธยมศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย

การเรียนการสอน ใช้วิธีแบบท่องจำ ขยันเพื่อสอบ ทำให้เกิด"โรคประกาศนียบัตร"(disease diploma) เป็นการเรียนที่ทั้งพ่อแม่และนักเรียนไม่สนใจที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน คุณค่าของเนื้อหาหลักสูตรอยู่ที่การช่วยให้นักเรียนสามารถสอบได้ เพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น

สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามวลชน สามารถทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

            1. จัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าคนมีการศึกษานั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนา

จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่มีการศึกษาจะแสดงความตั้งใจ และสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินใจทางการเมือง และมีความพยายามที่จะพัฒนาชุมชน

การศึกษาจะช่วยเพิ่มและส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักทดลองนำความคิดใหม่ๆไปปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพ  การวางแผนครอบครัว การทดลองใช้พืชพันธุ์ใหม่ๆ และเทคนิคการเกษตรแบบใหม่ ฯลฯ

ขณะเดียวกันการศึกษาพื้นฐานเพื่อมวลชน ยังสนับสนุนให้ระบบการศึกษามุ่งไปสู่การเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงให้รู้หนังสือ แต่ช่วยให้มีทักษะเพิ่มขึ้น อันจะช่วยให้สามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นด้วย

            2. การปฏิรูปหลักสูตร ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประชากรทั้งมวล จำเป็นจะต้องปรับทิศทางโปรแกรมการศึกษา ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของสังคม คือ การทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีประโยชน์ในตัวมันเองมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว

ในเรื่องของการเรียนการสอน จะต้องให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียน โดยเลิกวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้วิธีท่องจำเป็นหลัก มีการเพิ่มเนื้อหาที่สนองความต้องการของนักเรียนเข้าไปในหลักสูตร โดยหลักสูตรใหม่จะต้องตั้งอยู่บนประสบการณ์ของชีวิตให้มากที่สุด มีเนื้อหาทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนมีชีวิตอยู่

การสร้างหลักสูตร ควรมีการกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถบรรจุเนื้อหาสาระในท้องถิ่นเพิ่มเข้าไปในหลักสูตร อันจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับ พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา

นอกจากนั้น จะต้องสร้างให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐาน มีความเข้าใจสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรม สอนให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในสาขาวิชาที่ช่วยให้เขาสามารถปรับปรุงคุณภาพของชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น โดยเน้นให้รู้จักปรับปรุงสุขภาพ โภชนาการ การปฏิบัติงานเกษตร และทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น

การสอนควรมุ่งเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น วิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆ พืชพันธุ์ใหม่ๆ และวิธีปลูกแบบใหม่ๆ มากกว่าที่จะมุ่งฝึกการผลิตแบบเดิมๆโดยใช้พันธุ์พืชที่อยู่ในชุมชนนั้น

จะเห็นว่า การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนมวลชนนั้น นอกจากจะมีจุดมุุ่งหมายเพื่อความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังมุ่งที่จะจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ และทักษะเพื่อใช้ชีวิตในชุมนที่ตนอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพตลอดจนมีความรู้ใหม่ๆไปใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง และชุมชนที่อาศัยอยู่อีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                สาระคิด

                                     การศึกษายิ่งมากยิ่งดี
          แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นดรรชนีชี้วัดการพัฒนา  ที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าดรรชนีอื่นๆแต่เพียงตัวเดียว

เป็นที่ยอมรับกันว่า ประเทศด้อยพัฒนาเพราะประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีโอกาสขยายศักยภาพและสมรรถภาพ เพื่อทำงานพัฒนาและบริการสังคม

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศใดขาดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวแล้วจะเป็นไปได้ยาก 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คืออะไร  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการเพิ่ม ความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัย ให้กับมนุษย์ในสังคม 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติที่เหมาะสม

นอกเหนือจากการใช้การศึกษาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำได้ด้วยการจัดให้มีบริการสาธารณะสุขและการแพทย์ที่ดี การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงภาวะโภชนาการ และการอพยพย้ายถิ่น

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่บทบาทสำคัญกว่าวิธีการอื่นๆ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถใช้ได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการพัฒนาตนเอง

การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาในระบบโรงเรียน โดยเริ่มตั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอุดมศึกษา ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง

การศึกษานอกระบบ หมายถึง การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบเปิด เป็นการศึกษาที่ช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพ ให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและบริการด้านอื่นๆ

การพัฒนาตนเอง เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหา ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เป็นการศึกษาที่เกิดจากอิทธิพลทางบ้าน สังคม และสื่อต่างๆ

ในการวางแผนเพื่อจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน จำเป็นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน

          1. การจัดการศึกษาภาคบังคับ ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ หรือ ปริมาณ

          2. ระดับอุดมศึกษา  จะให้ความสำคัญกับการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ จะให้ความสำคัญกับ วิชา นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์

          3. การพัฒนาทักษะ  จะพัฒนาก่อนทำงาน หรือ จะพัฒนาในระหว่างทำงาน

          4. การสร้างแรงจูงใจทางการศึกษา จะใช้โครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือน หรือ ปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดแรงงาน

          5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ควรเป็นไปเพื่อสนองความต้องการและความปรารถนาของแต่ละบุคคล  หรือ สนองความต้องการและความปรารถนาของรัฐ

การตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นจะต้องคำนึงถึง งบประมาณ ทรัยากรทางการศึกษา ลักษณะของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของแต่ประเทศ หากตอบผิด การศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปนี้คือ

          1. ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

          2. ปัญหาเรื่องกำลังคนเหลือเฟือ ที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่ผลิตได้ไม่เต็มที่

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในการสร้งหลักสูตรหรือโปรแกรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศหนึ่งประเทศใด จะต้องมีการประเมินในเรื่องต่อไปนี้

          1.ความต้องการกำลังคนในระดับต่างๆ เป็นการคาดคะเนการใช้กำลังคนในอนาคต ว่าต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าใด

          2. การศึกษาในระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีมากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร

          3. สถาบันสำหรับการฝึกอบรมระหว่างประจำการ และการศึกษาผู้ใหญ่ มีมากน้อยเพียงใด

          4.โครงสร้างของแรงจูงใจให้บุคคลเข้ารับการศึกษาเหมาะสมหรือไม่ และการใช้ประโยชน์จากกำลังคนระดับสูงมากน้อยเพียงใด

จะเห็นว่าการใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  ใช่เพียงแค่เปิดสถานศึกษาหรือให้บริการศึกษาเพียงพอเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการกำลังคนที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

you cannot teach a man anything. You can only help him discover it within himself.
                                                              Galileo Galilei
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ

ความเชื่อเรื่องการพัฒนาทรัยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นความเชื่อที่มีการปฏิบัติตามอย่างกว้างขวาง เป็นยุทธวิธีในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะทรัพยากรมนุษย์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม

มนุษย์เป็นแหล่งสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางสังคม  เป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ เพราะมนุษย์เป็นผู้ผลิต ผู้สะสมทุน ผู้กระทำ ผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นผู้สร้างองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นดัชนีที่แท้จริง ที่บอกให้ทราบถึงภาวะของการพัฒนา หรือภาวะความทันสมัย มากกว่าที่จะวัดโดยใช้ดัชนีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ในประเทศด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการด้อยพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพทั้งสิ้น มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่มั่งคั่งด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มีเงินทุนอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถใช้ทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหามากมาย ต้องเสียเปรียบดุลการค้า    มีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม สังคมมีความวุ่นวาย ฯลฯ

ในทางตรงกันข้าม หากดูประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าประชาชนส่วนมากมีสมรรถภาพในการดำรงชีวิตสูง เป็นประชาชนที่มีทัศนคติไม่ล้าหลัง มีความรู้ความชำนาญในการทำงาน มีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย มีค่านิยมที่เหมาะกับการพัฒนา เช่น นิยมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำงานหนัก ประหยัด  และมุ่งประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ผลก็คือ ประเทศมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปมาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่อยู่นิ่ง ถ้าไม่มีผู้ใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนมนุษย์เป็นผู้กระทำ เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา

ในทางเศรษฐศาสตร์ มนุษย์เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษบกิจ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้สร้างอุปสงค์ หรือความต้องการสินค้า และบริการที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตได้ และความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตโดยรวมสูงที่สุด

หากพิจารณาถึงการผลิตในระบบเศรษฐกิจ จะพบว่าปัจจัยผลิตทั้งสี่ประการ คือที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ มีมนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือเป็นทั้งแรงงาน และผู้ประกอบการ

สำหรับแรงงาน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง พบว่าประสิทธิภาพในการผลิตของมนุษย์ มีค่ามากกว่าประสิทธิภาพในการผลิตของปัจจัยอื่นรวมกัน

คุณภาพกำลังคนจึงมีผลโดยตรงต่อการผลิตของระบบเศรษฐกิจ การปรับปรุงคุณภาพของมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นเท่ากับหรือมากกว่าการลงทุนทางกายภาพ

ทั้งนี้เพราะประสิทธิภาพของการใช้ทุนทางกายภาพขึ้นอยู่กับทุนมนุษย์ หากมีการลงทุนทางด้านทุนมนุษย์น้อย อัตราการเพิ่มทุนทางกายภาพจะถูกจำกัด เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เทคนิคการผลิต  ทักษะที่จำเป็น เงื่อนไขและโอกาสของตลาด ตลอดจนขาดสถาบันที่เอื้อต่อความพยายามทางเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ ในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีความสามารถที่จะรับทุนทางกายภาพอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เพราะความสามารถของมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนาตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของการสะสมทุนทางกายภาพ

หากจะพิจารณาในแง่อุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ มนุษย์ก็เป็นอุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า มนุษย์มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ทำการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม หากทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนา โอกาสที่จะพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                                ประเทศด้อยพัฒนา เพราะคนในประเทศด้อยพัฒนา

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำไมมนุษย์ต้องเรียนรู้

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องจากการมีประสบการณ์ การเรียน หรือ การศึกษาที่ไม่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ เป็นได้แค่การรับรู้ หรือการมีประสบการณ์ 

สำหรับเหตุผลที่มนุษย์ต้องเรียนรู้นั้น มีดังนี้

1.เศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และรูปแบบการค้านานาชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆ

การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา มีผลทำให้มีการสร้างงานใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ  ความสามารถใหม่ๆที่ได้จากการเรียนรู้

แม้การใช้ชีวิตในบ้าน ก็ต้องการการเรียนรู้ใหม่ๆเหมือนกัน  เพราะแต่ละบ้านจำเป็นจะต้องติดตั้งเครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความสะอาด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ซึ่งเครื่องใช้เหล่านี้ จำเป็นจะต้องดูแลรักษาด้วยตนเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย จึงต้องเรียนรู้การซ่อมแซม และการติดตั้ง นอกจากนั้น การเรียนรู้ยังทำให้มีโอกาสการมีงานทำและหารายได้เพิ่มขึ้น

2. การเมือง เป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคน ที่ต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความรับผิดชอบ ด้วยการเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองควรเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวที่จะกำหนดทิศทาง และย่างก้าวของประเทศ มากกว่าที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพียงประการเดียว

3. สังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะแต่ละคนในสังคมจำเป็นจะต้องเพิ่มทัศนคติ ค่านิยม และทักษะ ที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น สังคมปัจจุบันยังเพิ่มการแบ่งแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการที่ได้จากการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างชาติ ความไม่เชื่อถือต่อกัน ความรู้สึกเป็นศัตรูต่อกัน ตลอดจนการปฏิเสธซึ่งกันและกัน

4. เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอของเทคโนโลยี การเพิ่มสมรรถนะการสื่อสารของโลก และกระบวนการผลิตใหม่ๆ มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งที่ทำงานในภาค เกษตรกรรม ช่างฝีมือ ช่างซ่อม ตลอดจนคนงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้ต้องเพิ่มความต้องการที่จะเรียนรู้มากขึ้นทั้งสิ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า  ที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ก็เพราะ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปจากเดิม หากมนุษย์ไม่มีการเรียนรู้ จะไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้ไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้  จนกลายเป็นคนล้าหลัง ไม่สามารถใช้ประประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคำ

ประสบการณ์ หมายถึง ผลที่ได้จากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัส

การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส

*****************************************************************


--------------------------------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำไมมนุษย์ต้องทำงาน

การทำงานเป็นกิจกรรมที่จำเป็น และเป็นกิจกรรมเฉพาะของมนุษย์ การทำงานของมนุษย์ต่างจากการกระทำตามสัญชาตญาณของสัตว์ การทำงานเป็นการกระทำที่เห็นผลที่เกิดขึ้นในสมองก่อนลงมือทำจริง เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะและความรู้สึก ตลอดจนมีการตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ควรทำ

คำถามมีว่าทำไมมนุษย์ต้องทำงาน ไม่ทำงานไม่ได้หรือ ซึ่งเรื่องนี้ นักจิตวิทยาได้อธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ต้องทำงานไว้ดังนี้

          1. เพื่อสนองตอบความต้องการด้านวัตถุ การทำงานเป็นการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้เป็นสิ่งที่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ทำให้ได้สินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

          2. เพื่อสนองตอบความต้องการการยอมรับตนเอง การทำงานมีความสัมพันธ์กับการยอมรับตนเอง การเห็นคุณค่าของตน เพราะการทำงานทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถเอาชนะได้ทั้งตนเองและสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม หากมนุษย์ประสบความล้มเหลวในการทำงาน จะทำให้คุณค่าของตนลดลง

          3. เพื่อสนองตอบการมีกิจกรรม มนุษย์ทุกคนต้องการทำกิจกรรมเพื่อเลี่ยงความเบื่อหน่าย การทำงานทำให้มนุษย์มีกิจกรรม  มีจิตใจจดจ่อยู่กับงาน จดจ่ออยู่กับสภาวะแวดล้อมของงาน ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นการลดความวิตกกังวล และไม่เกิดความเบื่อหน่ายอันเนื่องมาจากการมีเวลาว่าง

          4. เพื่อสนองตอบความต้องการการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างผลผลิต สร้างสรรค์วิธีทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์เครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ การริเริ่มสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ ทำให้สามารถสนองตอบความต้องการของมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น

นอกจากนั้น  การทำงานยังก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ ดังต่อไปนี้

               1) การทำงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อม ช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคง
               2) การทำงานสนองตอบเป้าหมายทางสังคมของมนุษย์ สถานที่ทำงานช่วยให้บุคคลได้พบปะสร้างความเป็นมิตรต่อกัน แลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถประเมินตนเองได้ว่ามีสมรรถนะอยู่ในระดับใด
               3) รูปแบบการทำงาน เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ทำงานและสมาชิกในครอบครัว
              4) การทำงานช่วยสร้างกฎเกณฑ์ให้แก่ชีวิต สร้างรูปแบบของชีวิต ช่วยกำหนดแนวทางทางการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี การไม่ทำงานหรือไม่มีงานทำ มีผลทำให้บุคคลอยู่ในภาวะที่ไม่มีระเบียบ เป็นภาวะที่บุคคลไม่สามารถวางแผนได้
               5. การทำงานมีส่วนทำให้บุคคลมีศีลธรรมสูงขึ้น พวกลักเล็กขโมยน้อยส่วนใหญ่เป็นคนไม่ทำงาน

จึงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า การทำงานคือชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของชีวิต ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ใช้ความรู้ สติปัญญา และทักษะ เพื่อสนองตอบในโลกของการทำงาน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                             A warrior never worries about his fear.

                                                               Carlos Castaneda
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

การพัฒนาสังคม

คำว่า"การพัฒนา"มีการใช้อย่างกว้างขวาง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ในความหมายที่ว่าเป็นการทำให้หลุดพ้นจากสภาพด้อยพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่ต่อมาพบว่า การพัฒนาที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ได้แก่ ปัญหาความยากจน การถูกกีดกันทางสังคม การเลือกปฏิบัติ การไม่มีส่วนร่วม การแสวงหาผลประโยชน์ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การติดยาเสพติด อาชญากรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง การบริโภคทรัพยากรมากเกินไป และการตัดสินใจโดยคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจ

แนวคิดการพัฒนาสังคมครั้งสำคัญเกิดจากการประชุม "World Summit for Social Development" ที่ได้ข้อสรุปสาระสำคัญของการพัฒนาสังคม คือการให้ความสำคัญกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เพราะคนเป็นองค์ประกอบของสังคม เป็นทั้งผู้ถูกพัฒนาและผู้พัฒนาสังคม

การพัฒนาสังคม จะต้องเริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ การศึกษา สาธารณสุข การผลิต การบริโภค โดยเน้นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานเดิมของสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าว และนำไปสู่การมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้นของประชากรทั้งมวล

ในการพัฒนาสังคม มียุทธวิธีที่สำคัญๆดังนี้

          1. ยุทธวิธีการกระจาย เป็นยุทธวิธีที่มุ่งไปสู่ความเสมอภาคในกระบวนการพัฒนาประเทศ  อันได้แก่ ความเสมอภาคในการกระจายรายได้ กระจายทรัพยากร และความมั่งคั่ง  รวมทั้งความเสมอภาคในโอกาสการทำงาน การบริโภค และการรับบริการทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาในอนาคต

          2. ยุทธวิธีการมีส่วนร่วม เป็นยุทวิธีการพัฒนาสังคมด้วยการปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกส่วนของกระบวนการพัฒนา อันได้แก่ ร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมให้การสนับสนุน และร่วมตัดสินใจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

          3. ยุทธวิธีการพัฒนามนุษย์ มนุษย์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม ในฐานะที่เป็นทรัพยากร เป็นตัวกระทำการพัฒนา และผู้ได้รับผลประโยชน์จาการพัฒนา  ในการพัฒนามนุษย์นั้น มุ่งที่การปรับปรุงเงื่อนไขและคุณภาพชีวิตให้ดีชึ้น โดยพัฒนามนุษย์ทุกด้าน อันได้แก่ ความสามารถในการผลิต ทักษะการมีส่วนร่วม ประสบการณ์เกี่ยวกับสังคม โดยมนุษย์ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน จะต้องได้รับการพัฒนา

          4. ยุทธวิธีการบูรณาการทางสังคม  การพัฒนาสังคมจำเป็นจะต้องใช้วิธีที่ก่อให้เกิดการบูรณาการ ด้วยการนำกลุ่มต่างๆ ชุมชนต่างๆ และภาคต่างๆ มาก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ   ยุทธวิธีการบูรณาการยังมุ่งที่จะลดหรือทำให้ความไม่เสมอภาคระหว่าง ภาค กลุ่ม หรือชุมชนหมดไป

จะเห็นว่า การพัฒนาสังคมให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่ถูกพัฒนาและผู้พัฒนา อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ปลอดจากความยากจน ความไม่รู้ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความหิวโหย ทั้งนี้ จะต้องให้มนุษย์ตระหนักถึง ศักยภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และความพึงพอใจในชีวิตของตนด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                       Nothing great was ever achieved without enthusiasm.

                                                           Ralph Waldo Emerson
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาของไทย

การพัฒนาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เป้าหมาย เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ

แต่จากการศึกษาการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่ากระบวนการพัฒนามีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อไปนี้

               1) ปัญหาการขาดดุลการค้าและภาระหนี้สินกับต่างประเทศ
               2) ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
               3) ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน
               4) ปัญหาค่านิยมในการใช้สินค้าไทย
               5) ปัญหาความไม่สามารถพึ่งตนเองได้
               6) ปัญหาการสร้างเสริมประชาธิปไตย
               7) ปัญหาการฉ้อราษฎรบังหลวง
               8) ปัญหาการบริโภคของคนไทย
               9) ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ที่มีการผลิตแบบใหม่ แต่ขายแบบเก่า
               10) ปัญหาการกระจายรายได้สู่ชนบท
               11) ปัญหาการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน
               12) ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป
               13) ปัญหาการขาดระเบียบวินัยของคนในชาติ
               14) ปัญหาคนอพยพเข้าเมืองเกิดปัญหาชุมชนแออัด

ซึ่งนักวิชาการการพัฒนาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการพัฒนาของไทยที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. ไทยมีแนวคิดการพัฒนาที่แคบเกินไป โดยมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ได้ละเลยเรื่อง สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

          2. เป็นการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ มีผลทำให้การพัฒนาเกิดความล้มเหลว
               2.1. การกระจายรายได้และทรัพยากร รวมทั้งการกระจายอำนาจ
               2.2. การผลิตโดยมวลชน แต่กลับส่งเสริมการผลิตเพื่อมวลชน
               2.3. การพึ่งตนเอง ยิ่งพัฒนายิ่งต้องพึ่งภายนอกมากขึ้น
               2.4. การพัฒนา ความคิดความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมที่มีผลต่อพฤติกรรมของคนไทย

          3. เป็นวิธีการพัฒนาที่นำเข้าจากต่างประเทศ กล่าวคือ แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทฤษฎียึดตัวแบบ(Imitation Theory) เป็นการพัฒนาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสังคมที่ยึดเป็นตัวแบบ พูดง่ายๆก็คือเลียนแบบการพัฒนาของสังคมอื่น และกลุ่มทฤษฎีสร้างตัวแบบ(Creative Theory) เป็นการพัฒนาตามแนวทางที่สอดคล้องกับสังคมที่เป็นอยู่  โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบ เป็นการพัฒนาที่สร้างตัวแบบขึ้นมาเอง

สำหรับการพัฒนาของไทยนั้น ใช้กลุ่มทฤษฎียึดตัวแบบ โดยยึดแนวทางการพัฒนาของชาติตะวันตกเป็นสำคัญ จนกล่าวได้ว่า เป็นการพัฒนาเพื่อให้เหมือนสังคมตะวันตก(Westernization) โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบริบททาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไทยมากนัก

ในเรื่องของการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็มีการเลียนแบบเช่นกัน โดยเลียนแบบระบบการศึกษาของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และล่าสุดดูเหมือนจะพยายามจะเลียนแบบระบบการศึกษาของสิงคโปร์ อะไรที่คิดว่าดีกับประเทศเหล่านั้น ไทยพยามที่จะนำมาใช้ในระบบการศึกษาไทย จนลืมไปว่าระบบการศึกษาของประเทศใดย่อมเหมาะสำหรับการพัฒนาคนของประเทศนั้นทำให้เกิดปัญหาดังที่เห็นๆกันอยู่

ด้วยกระบวนการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดปัญมากมาย ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้นมาอีก ในการพัฒนา ไทยจะต้องสร้างตัวแบบการพัฒนาขึ้นมาเอง และจะต้องเป็นตัวแบบที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

     If you do not know where you are going, every road will get you nowhere.

                                                               Henry Kissinger
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

ความทันสมัยกับการพัฒนาประเทศ

ความทันสมัยในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่ การพูดภาษาอังกฤษคำไทย มีชื่อรายการโทรทัศน์เป็นภาษาอังกฤษ หรือมีมือถือรุ่นล่าสุดใช้ ซึ่งความทันสมัยในลักษณะนี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนา มากกว่าที่จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้ เป็นความทันสมัยที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ความทันสมัยในที่นี้ เป็นความทันสมัยที่เกิดจากความสัมพันธ์ของตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทฤษฏีการพัฒนาที่อธิบายในเรื่องนี้คือ ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย(The Modernization Theory ) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ใช้อยู่ โดยเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย แต่สังคมดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ นักทฤษฎีกลุ่มนี้ที่สำคัญมี  David McClelland และ Alex Inkeles เป็นต้น

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย มีความเห็นว่า

          1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย มีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ตลอดจนมีความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม

          2. สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยมที่ทันสมัย

          3. โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมตลอดจนการเมืองดั้งเดิมในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส

          4. ประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนา  เกิดจากขาดแคลนทุนเพื่อการลงทุน คนไม่มีค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนขาดทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ความทันสมัยดังต่อไปนี้ จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน  จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน ได้แก่

          1. ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ หมายถึง ความสามารถในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม การพัฒนาสังคมเมือง และการกระจายความเจริญสู่ชนบท ตลอดจนการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในด้านสาธารณูปโภคและกิจกรรมเพื่อการผลิตโดยตรง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ผลที่ตามมาทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดความทันสมัย

          2. ความทันสมัยทางสติปัญญา เป็นการพัฒนาและใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มาปรับใช้กับชีวิตมนุษย์ทุกๆด้าน ตลอดจนพัฒนาสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมให้กว้างไกลและทันสมัย

          3. ความทันสมัยทางสังคม  คนในสังคมมีการเปลี่ยนค่านิยม มีบุคลิกภาพที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันท้ังในแง่กฎหมายและพฤติกรรมทางสังคม

          4. ความทันสมัยทางการเมือง มีการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างมีเหตุผล และเหมาะสม ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกระดับมากขึ้น

หากความทันสมัยทั้ง 4 ด้าน เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะก่อให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกันดังกล่าวแล้ว

จะเห็นว่า ในการพัฒนาประเทศ จะต้องเริ่มต้นด้วยการให้สถาบันทางสังคมสร้างความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และแรงจูงใจที่ทันสมัยให้เกิดขึ้นในสังคม หากสามารถทำได้สำเร็จ การจะนำความทันสมัยไปสู่การพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าความทันสมัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศจะต้องมีความสมดุล เพราะหากไม่มีความสมดุลก็จะมีปัญหาตามมา และการพัฒนาประเทศก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                           สาระคิด

Knowing is not enough we must apply. Willing is not enough we must do.

                                                         Goethe
*****************************************************************





วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

เทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง

ทุกคนคงเคยทำการเจรจาต่อรองมาบ้าง ถ้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็เรื่องอาชีพการงาน อาจเจรจาต่อรองในการซื้อขายสินค้า หรือเจรจาต่อรองเพื่อที่จะทำงานให้แตกต่างไปจากเดิม

หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่รู้สึกว่าการเจรจาต่อรองมีความยุ่งยากซับซ้อนจนเราผิดหวัง

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง ทีช่วยให้การเจรจาต่อรองเกิดประสิทธิผล ไม่ว่าจะเจรจาต่อรองกับลูกค้า แม่ค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือในสถานการณ์อื่นๆ

การเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการที่จะต้องมีคน 2 ฝ่าย หรือมากกว่า ที่มีความต้องการและเป้าหมายต่างกัน มาร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหา ที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน

เนื่องจากการเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการระหว่างบุคคล ในการเจรจาต่อรองแต่ละเรื่องแต่ละครั้งจึงแตกต่างกัน นอกจากนั้น การเจรจาต่อรองแต่ละครั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทักษะ ทัศนคติ และวิธีการของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างกัน

มีบ่อยเหมือนกันที่เราไม่ค่อยชอบการเจรจาต่อรอง เพราะมันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วการเจรจาต่อรองไม่ได้มีลักษณะที่จะนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันหรือต้องโกรธกัน

อุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้การเจรจาต่อรองประสบความสำเร็จ

มองว่าการเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการเผชิญหน้า ความจริงการเจรจาต่อรองไม่ใช่การเผชิญหน้า แต่เป็นการให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา มากกว่าที่จะให้แต่ละฝ่ายพยายามที่จะเอาชนะตามความตั้งใจของฝ่ายตน ในการเจรจาต่อรองจะต้องระลึกเสมอว่า ไม่ว่าทัศนคติที่เป็นศัตรูกัน หรือร่วมมือกัน จะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน และถ้ามองว่าการเจรจาต่อรองเป็นการเผชิญหน้า แน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสู้เกิดขึ้น

พยายามทำทุกอย่างที่จะเอาชนะ แน่นอนว่าเมื่อมีฝ่ายชนะก็ต้องมีฝ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึงว่าจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น ภาพรวมที่ดีที่สุดของการเจรจาต่อรอง คือให้ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้ชนะ  พยายามอย่าให้การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องของการแข่งขันที่นำไปสู่ชัยชนะ

เกิดอารมณ์ในระหว่าเจรจรจาต่อรอง เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ในระหว่างเจรจาต่อรอง แต่อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีอารมณ์มากเท่าไร จะยิ่งทำให้การเจรจาต่อรองอย่างสร้างสรรค์ลดน้อยลงทุกที ฉะนั้น ในการเจรจาต่อรองจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้

ไม่พยายามที่จะเข้าใจคนอื่น เนื่องจากการเจรจาต่อรองเป็นพยายามที่จะหาวิธีแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจและยอมรับถึงความต้องการของบุคคลอื่น ถ้าไม่รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ก็ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้อย่างเหมาะสม มีบ่อยๆหากมีการใช้พยายามที่จะเข้าใจบุคคลอื่น อาจพบว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรมากมาย

เน้นที่บุคลิกภาพของอีกฝ่ายแทนการเน้นที่ประเด็นเจรจาต่อรอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการไม่ชอบอีกฝ่ายมากๆ  ก็จะมีแนวโน้มที่จะออกนอกประเด็นการเจรจาต่อรอง หากคู่เจรจาต่อรองเน้นที่ความยุ่งยาก หรือความน่ารังเกียจที่อีกฝ่ายหนึ่งทำให้เกิดขึ้น  การเจรจาต่อรองที่มีประประสิทธิผลจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ในการเจรจรจาต่อรองจะต้องเน้นที่ประเด็นปัญหา อย่าสนใจในเรื่องชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่าย

การตำหนิคู่เจรจา ในการเจรจาต่อรอง แต่ละฝ่ายมีส่วนทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยดีหรือแย่ลง ถ้ามีการตำหนิอีกฝ่ายว่าทำให้เกิดความยุ่งยาก ก็จะสร้างบรรยากาศของความโกรธแค้นขึ้นมา ดังนั้น ถ้าต้องการจะแก้ปัญหา จำเป็นจะต้องสร้างความรู้สึกของความร่วมมือขึ้นมาให้ได้

เทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง มีดังต่อไปนี้

ขอร้องให้อีกฝ่ายบอกถึงความต้องการที่ชัดเจน ในสถานการณ์การเจรจาต่อรอง การใช้คำถาม ถามถึงความต้องการของอีกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อได้ยินคำตอบแล้ว เพื่อแสดงว่าเข้าใจถูกต้อง ผู้ถามจะต้องกล่าวย้ำในคำตอบนั้นอีกครั้งหนึ่ง

บอกถึงความต้องการของตน แน่นอนว่าในการเจรจาต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็ต้องการจะรู้ถึงความต้องการของอีกฝ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องบอกถึงความต้องการ และเหตุผลที่ต้องการของตนให้อีกฝ่ายทราบ เพราะมีบ่อยครั้งที่เกิดความไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร

เตรียมทางเลือกไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรอง ขอให้เตรียมทางเลือกเพื่อนำเสนอในการเจรจาต่อรอง หากทางเลือกนั้นไม่ได้รับการยอมรับ จะได้เข้าใจว่า ทำไมอีกฝ่ายไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น และจะได้หาทางเลือกใหม่ด้วยกันต่อไป

อย่าถกเถียงโต้แย้ง การเจรจาต่อรองเป็นการหาวิธีแก้ปัญหา แต่การถกเถียงโต้แย้งเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายผิด ถ้าหากการเจรจรจาต่อรองกลายเป็นการหาว่าใครผิดใครถูก การเจรจรจาต่อรองจะก้าวหน้าไปไม่ได้ อย่าเสียเวลาโต้แย้งดีกว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใดๆก็ให้ยืนยันอย่างสุภาพ อย่าพยายามแปลความหมายของอีกฝ่ายผิดๆ หรือต่อสู้เพื่อเอาชนะ

พิจารณาเรื่องเวลา เวลาที่ใช้ในการเจรจาต่อรองมีทั้งเวลาที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม  เวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ทั้ง2 ฝ่ายแสดงถึงความโกรธอย่างรุนแรง มีความเครียดสูงมาก เบื่อหน่ายกับการกระทำของอีกฝ่าย ติดขัดอยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดจนดำเนินต่อไปไม่ได้ ฯลฯ การเจรจาต่อรองควรหลีกเลี่ยงเวลาดังกล่าวนี้ และถ้าหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างเจรจาต่อรอง ควรขอเวลานอกหรือหยุดพักเพื่อให้สงบลง หรือไม่ก็นัดเวลาใหม่ที่เหมาะสมกว่านี้

โดยสรุปจะเห็นว่า การเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการซับซ้อน แต่ถ้าท่านคิดว่าท่านต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว ก็มีคุณค่าพอที่จะมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคิด

                              คนที่ไม่เคยลงน้ำ จะไม่มีวันว่ายน้ำเป็น

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของคนที่รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น เป็นความรู้สึกที่แสดงถึงบุคคลไม่นับถือตนเอง หรือเป็นความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีคุณค่า เป็นความรู้สึกที่เกิดจาการประเมินคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับ ความดี ความมีคุณค่า และความสำคัญตน ด้วยตนเอง

ความรู้สึกที่ว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น จะส่งผลในลักษณะต่อไปนี้

เป็นคนที่ไม่ยอมรับว่าตนเองมีค่า จะแสดงออกถึงความคับข้องใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เป็นคนที่พยามชดเชยความรู้สึกที่ด้อยความสามารถ ด้วยการกระทำที่แสดงถึงการมีปมด้อย และมีผลในเชิงลบต่อบุคลิกภาพ

เป็นคนที่อาจทำให้ตนเองด้อยลงอย่างต่อเนื่อง แม้ตนเองจะประสบความสำเร็จก็ตาม

เป็นคนที่อาจจะมีความทุกข์ อันเกิดมาจากอาการทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่น วิตกกังวล กลัว นอนไม่หลับ ปวดหัว กัดเล็บ ใจสั่น ฯลฯ

เป็นคนที่รู้สึกตื่นกลัว ไม่สบายเมื่อยู่ในสังคม และทำทุกอย่างเพื่อกลบเกลื่อนความอาย และต้องการการยอมรับจากสังคมอย่างมาก

เป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะชักจูงได้ง่าย และมีความโน้มเอียงที่จะทำตัวให้เหมือนคนอื่น

เป็นคนที่มีทัศนคติที่ทำให้ตนเองพ่ายแพ้  เกิดความรู้สึกไร้ค่า

นอกจากนั้น ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับสติปัญญา อารมณ์ การจูงใจ พฤติกรรม และความไม่มีระเบียบ

สำหรับสัญญาณและอาการ  ที่บ่งบอกถึงความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น มีดังนี้

หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคำวิพาษ์วิจารณ์เป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน ที่ทำให้ตนเกิดความเจ็บปวด

ตอบสนองต่อการยกย่องเกินจริง เพราะการยกย่องสรรเสริญทำให้คนที่รู้สึกด้อย มีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ชอบการวิจารณ์คนอื่นจนเกินเหตุ เพราะการวิจารณ์คนอื่นเป็นการป้องกันตัวและเบนความสนใจไปที่อื่น การวิจารณ์คนอื่นเป็นอาการของความก้าวร้าว ใช้เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกด้อย

มีแนวโน้มที่จะตำหนิคนอื่น เพราะการตำหนิทำให้คนอื่นต่ำลง ขณะเดียวกันก็เป็นการยกตัวเองให้สูงขึ้น

มีความรู้สึกว่าตนถูกกลั่นแกล้ง เป็นความเชื่อ ที่เชื่อว่าคนอื่นกำลังทำให้ตนต่ำ เช่น ถ้าครูให้เกรดต่ำ ก็คิดว่าครูไม่ชอบหน้าตน

มีความรู้สึกเกี่ยวกับการแข่งขันในเชิงลบ แม้อยากจะเป็นผู้ชนะเหมือนคนอื่นๆ แต่กลับมองการแข่งขันในแง่ไม่ดี โดยมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยก หรือที่คนอื่นชนะเพราะโชคดี เพราะเป็นคนโปรด และหากมีทัศนคติในเชิงลบต่อการแข่งขันสูง ก็จะปฏิเสธการแข่งขันในทุกเรื่องไปเลย

มีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงและยอมรับอิทธิพลได้ง่าย เพราะการทำตามความเห็นของคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

มีแนวโน้มที่จะแยกตัวขี้อายและขี้ตื่น  ความรู้สึกด้อยปกติจะคู่กับความกลัวระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น  จึงชอบทำตัวลึกลับ เพราะหากไม่มีใครเห็นหรือได้ยิน จะทำให้รู้สึกปลอดภัย

มีความต้องการทางประสาทเพื่อการเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นมากเกินเหตุ  พยายามปรับปรุงตนเองเต็มที่เพราะกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมา ซึ่งเป็นความต้องการในลักษณะที่เป็นอาการทางประสาท(neurotic perfectionist) คือ แม้ว่าตนเองจะทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เคยเห็นว่าดีพอ อย่างน้อยก็ในสายตาของตัวเอง

ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น  จะแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่วนจะมากหรือจะน้อยขึ้นอยู่กับการคิดของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ลองสำรวจตัวเองดูสิว่า ตนเองได้รับรู้ถึงสัญญาณและอาการดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ควรจะต้องหาทางแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิต วิธีง่ายๆที่ใช้แก้ไขความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยการคิดในเชิงบวก และการมองโลกในแง่ดี แค่นี้ก็จะช่วยแก้ไขความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นได้มาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                             สาระคิด

    All your behavior is shaped by who and what you think you are.

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน

ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน โดยมีความรู้และทักษะเพื่อการทำงานมากกว่าสถาบันใดๆ

ส่วนครอบครัว ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญมาแต่เดิมนั้น ปัจจุบันไม่อาจสร้างประสบการณ์การทำงานได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป

แต่จากการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการผลิตคนเพื่อการทำงาน ทำหน้าที่ได้แค่เพียงการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยเป็น หรือไม่ค่อยทำอะไร ตลอดจนรังเกียจงานที่ต้องใช้แรงงาน  แม้แต่การทำงานในสำนักงานก็เป็นพนักงานที่ขาดระเบียบวินัย

นอกจากนั้น การศึกษาในสถาบันการศึกษา ยังก่อให้เกิดผลในลักษณะต่อไปนี้อีกด้วย คือ

               1) การเรียนการสอนไม่ได้สร้างทักษะเพียงพอ

               2) โรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจบการศึกษาไปโดยปราศจากการฝึกอบรมเพื่อการทำงานอาชีพ

               3) กระบวนการเรียนการสอนตามตำรา ทำให้ได้ผู้จบการศึกษาที่มีทัศนคติชอบการทำงานในสำนักงาน

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบการศึกษาในโรงเรียนเสียใหม่ ซึ่งแนวทางการปรับปรุงอาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้

               1) ควรปรับปรุงหลักสูตรแต่ละระดับ ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ไม่รู้สึกแปลกแยก เมื่อจบการศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง และผลที่ได้จากการปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและรักท้องถิ่นของตนเองแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นช่องทางที่จะประกอบอาชีพต่อไปภายหน้าอีกด้วย

               2) จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้
                    ลักษณะที่ 1 จัดหลักสูตรโดยรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับการทำงาน เป็นลักษณะการเรียนครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่ง ผู้เรียนต้องเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป
                    ลักษณะที่ 2 จัดหลักสูตรโดยการเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ เป็นการสอนเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง หรือสอนทุกสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่สอนเพียงเพื่อให้รู้
                    ลักษณะที่ 3 จัดหลักสูตรโดยการกำหนดเนื้อหาจากปัญหาในการปฏิบัติและมีความจำเป็นจะต้องแก้ปัญหานั้น ซึ่งจะต้องเริ่มด้วยการที่โรงเรียนสำรวจปัญหาของชุมชน แล้วหาทางแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

จะเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน มุ่งให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับโลกของการทำงาน

 อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงานมิได้มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำงาน รักงาน มองเห็นช่องทางการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพในภายหน้า

               3) การเรียนการสอนควรเปลี่ยนวิธีการจากการบอก มาให้เด็กปฏิบัติจริง ควรให้เด็กมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ควรลดการป้อนเนื้อหา  ทุกวิชาจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเสมอ การวัดผลการศึกษาจะต้องวัดทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติควบคู่กันไป การเรียนการสอนครูควรเน้น"การเสนอแนวปฏิบัติ"มากกว่า"ห้าม"

               4) ครูไม่ควรสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับนักเรียน อาจจำเป็นจะต้องจัดอบรมครู เพื่อการเปลี่ยนแปลง แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานเสียใหม่ เพราะหากครูยังมีความคิดแบบดั้งเดิม ย่อมยากที่จะเปลี่ยนความคิดของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ควรมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ"การศึกษาเพื่อการทำงาน" ทั้งนี้ เพื่อให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ของวิชา

               5) จัดให้มีการแนะแนวอาชีพทุกระดับชั้น ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นช่องทางการทำงาน ตลอดจนช่วยให้เด็กมีข้อมูลเพียงพอที่จะช่วยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม  การจัดบริการแนะแนวอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ  ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กสนใจการทำงานมากขึ้น

จะเห็นว่า การจะพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ให้มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนการมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญ หากโรงเรียนมุ่งแต่การให้ความรู้ทางด้านทฤษฎี โดยไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงดังที่ผ่านมา เชื่อได้เลยว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคนต่างชาติอย่างแน่นอน 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย เน้นความรู้ เน้นการแข่งขัน การเรียนการสอนในโรงเรียน จึงพยายามปรับปรุงให้สอนความรู้มากขึ้น ให้ดีขึ้น  ครูแต่ละคนต่างก็มีหน้าที่กรอกน้ำของตนลงขวด  โดยไม่สนใจเด็กแต่ละคน(ขวดแต่ละใบ)  จนทำให้เด็กไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง
                                                                              สมาน  แสงมลิ
*****************************************************************


วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ครอบครัวกับการฝีกอบรมเลี้ยงดูเด็กให้รู้จักการทำงาน

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กมาก  ลักษณะของพ่อแม่ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี  จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังเด็กโดยการอบรม ทั้งโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เกี่ยวกับการทำงานก็เช่นกัน ชีวิตภายในบ้านเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์และความคุ้นเคยในการทำงาน เด็กจะได้รับการปลูกฝังค่านิยมและนิสัยการทำงานโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น หากประสงค์จะให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรจะเริ่มให้การศึกษาอบรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มที่ครอบครัว

แต่จากการวิจัยพบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง  พ่อแม่จะแสดงความรักลูกด้วยการช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ยอมให้ลูกทำอะไร ถนอมลูกมากเกินไป ไม่ยอมให้ลูกลำบาก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะไม่สามารถทำงานช่วยตัวเองได้เท่านั้น ยังทำให้เด็กมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์  ไม่ยอมผูกพันตัวเองกับกฎเกณฑ์ของสังคมอีกด้วย

สำหรับแนวทางการฝึกอบรมเด็ก เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ควรจะกระทำในลักษณะต่อไปนี้

อบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง งานใดที่เด็กสามารถทำได้  อย่าช่วยเหลือจนเด็กทำอะไรไม่เป็น อบรมให้เด็กรู้จักทำงานที่เป็นหน้าที่ของตน เช่น รู้จักเก็บรักษาเครื่องใช้ของตน ซักรีดเสื้อผ้า จัดเก็บที่หลับที่นอน ฯลฯ การจะให้เด็กทำงานเพื่อช่วยตัวเองในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ จะช่วยให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่คิดจะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพ ความจริงการให้ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานนั้น ครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในที่นี้ เป็นเพียงการสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เช่น ให้เด็กมีแนวคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ทำงานสุจริตทุกชนิดเป็นผู้มีเกียรติ มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ ถ้าพยายาม ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ฝึกนิสัยของผู้ทำงานที่ดี ให้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบัน ตลอดจนรู้จักใช้จ่ายเงินที่หามาได้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับประสบการณ์ในการทำงาน ควรเริ่มด้วยการให้เด็กรู้จักทำงานง่ายๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำงานทุกชนิด การให้เด็กทำงานนั้น อย่าให้เด็กทำเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ให้เด็กทำเพื่อฝึกการทำงาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เด็กทำงานจึงต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำด้วยเสมอ

การอบรมเลี้ยงดูไม่ควรตามใจหรือ"โอ๋"เด็กมากจนเกินไปจนทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น อย่ากลัวว่าเด็กจะลำบาก อย่ามุ่งแต่สร้างความพอใจให้เด็กเป็นสำคัญ เพราะการอบรมเลี้ยงดูในลักษณะนั้น เป็นการทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ไม่ยึดถือระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมผูกพันตัวเองเพื่อรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง

ควรหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการชี้แนะที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ โชคชะตา อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ บุญกรรมแต่ปางก่อน ฯลฯ เพราะความเชื่อในลักษณะนี้ มีผลทำให้เด็กเชื่ออำนาจภายนอก มากกว่าที่จะเชื่อความสามารถของตนเอง(self-reliance) ซึ่งคนที่เชื่ออำนาจภายนอกจะมีลักษณะเฉื่อย(passive) ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม

ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อตนเองและสังคมแล้ว จะต้องเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็กให้รู้การทำงาน และคนที่เป็นพ่อแม่จะต้องจำไว้เสมอว่า  รักลูกต้องสอนให้ลูกรู้จักทำงาน เพราะการทำงานแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

เด็กไทยไม่ได้รับการสอนให้พึ่งตนเอง(self-dependent) แต่ค่อนข้างจะสอนให้พึ่งคนอื่น เพื่อสนองความต้องการของตน

                                                               Niels Mulder
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การฝึกอบรมเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก (2)

2. ในวัยเด็กคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ

จากการวิเคราะห์เอกสารที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สรุปได้ว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการทำงาน แต่เน้นที่จะสร้างลักษณะอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่รักของผู้ใหญ่และคนอื่นๆ ที่จะเป็นที่พึ่งได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การเรียนการสอนในโรงเรียน ก็ไม่ได้มุ่งให้นักเรียนทำงาน หรือรู้จักเตรียมตัวเพื่อการทำงาน  การเรียนการสอนมุ่งที่จะเตรียมตัวนักเรียนให้สามารถเรียนต่อสูงขึ้น

เด็กไม่ได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น เด็กรู้สึกรังเกียจการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานใช้แรงกาย แม้จะเรียนมาทางสายอาชีพ ก็ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะประกอบอาชีพได้

การเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานอาชีพได้รับการละเลย  ทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน

การทำงานมีความสำคัญควบคู่กับความเป็นมนุษย์ มนุษย์เกิดมาโดยไม่ทำงานไม่ได้  การฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานจึงเป็นภาระหน้าที่ของสังคม

การฝึกอบรมที่ไม่ส่งเสริมให้คนรู้จักการทำงาน เป็นการฝึกอบรมที่ไม่ช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือการฝึกอบรมที่เน้นแต่ให้ทำงานโดยใช้สมองเพียงประการเดียว ให้ละเลยหรือรังเกียจการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย ก็เป็นการฝึกอบรมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไม่มีสังคมใดที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานโดยใช้สมองหรือแรงกายเพียงอย่างเดียว

การที่พบว่า คนไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ ก็ดี หรือการสอนให้ดูถูกงานที่ต้องใช้แรงงาน ก็ดี เป็นเรื่องที่ควรแก้ไขโดยรีบด่วน มิฉะนั้นสังคมไทยจะประกอบสมาชิกที่ไร้ความสามารถในการทำงาน  เป็นสังคมที่นิยมการบริโภคมากกว่าการผลิต
           -----------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                 สาระคิด

ความมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาที่จัดให้เรียน และวิธีสอน ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า"มิใช่"รู้เพื่อปฏิบัติ" และถ้าเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของผู้เรียน ก็มักจะเล็งไปที่"สิ่งที่ไม่ควรประพฤติ"มากกว่า"วิธีที่จะประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม"
                                                                   เฉลียว บุรีภักดี
*****************************************************************