วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ใช้เมื่อบุคคลมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน จึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อสนองความต้องการที่แต่ละฝ่ายมีอยู่

การแก้ปัญหาวิธีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดปัญหาขึ้นมาใหม่ หาทางเลือกใหม่ๆ  และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่เหลื่อมกันอยู่

วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง สามารถนำไปใช้ได้ทั้งปัญหาระหว่างบุคคล ครอบครัว องค์การ และสังคมโดยรวม

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1.กำหนดปัญหาในรูปของความต้องการ เพราะปกติคนมักจะมองว่าปัญหา และวิธีแก้ปัญหาเกิดจากความขัดแย้ง แต่หากกำหนดเป็นความต้องการ จะสามารถสนองความพอใจของทุกฝ่ายได้ การทราบถึงความต้องการ จะช่วยให้ทราบปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของแต่ละฝ่าย ในขั้นนี้ สิ่งที่ต้องยึดถือคือ ยึดมั่นในความต้องการของตน ฟังเสียงสะท้อนจากคนอื่น จนกระทั่งเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วใช้ความต้องการนั้นสรุปเป็นปัญหา

ขั้นที่ 2 การระดมสมอง การระดมสมอง เป็นวิธีที่ได้แนวความคิดในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เป็นความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้มากที่สุด  การระคมสมองก็เพื่อแสดงว่า วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมไม่ได้มีวิธีเดียว

ขั้นที่ 3 เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย  วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด จะต้องเป็นวิธีการที่ได้รับฉันทามติที่ทุกคนเห็นพ้องกัน

ขั้นที่ 4 วางแผนว่าใครจะทำอะไรที่ไหนและเมื่อไร  ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา จะต้องตัดสินใจว่า ใครทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไร บางครั้งจะต้องต้องตัดสินว่าจะใช้วิธีใดด้วย และต้องเขียนข้อตกลงรวมทั้งรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อเตือนความจำ

ขั้นที่ 5 นำแผนไปปฏิบัติ การนำแผนไปปฏิบัติจะต้องทำให้เสร็จตามกำหนด และเป็นไปตามข้อตกลง

ขั้นที่ 6 ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา เพื่อจะทราบว่าผลของการแก้ปัญหาดำเนินไปได้ดีเพียงใด หากไม่ได้ดีจะได้ปรับแผนใหม่ หรือวางแผนใหม่ ในขั้นนี้ ควรมีการอภิปรายในเรื่องต่อไปนี้ประกอบการประเมินด้วย คือ
          - แต่ละคนรู้สึกอย่างไรกับกระบวนการแก้ปัญหาที่ได้ทำมา
          - แต่ละคนชอบอะไรมากที่สุดในกระบวนการแก้ปัญหา
          - แต่ละคนชอบอะไรน้อยที่สุดในกระบวนการแก้ปัญหา
          - อะไรที่ทำให้บางคนไม่สบายใจ
          - อะไรที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจ
          - สิ่งที่อยากจะทำหรือพูดแต่ไม่ได้ทำหรือพูด
          - สิ่งที่อยากให้คนอื่นพูดหรือทำ
          - ในโอกาสต่อไปมีอะไรที่แต่ละคนจะทำได้ดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม  แม้จะดำเนินการทั้ง 6 ขั้นตอน แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยร่วมมือกัน อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก
        1. ไม่จัดการแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ก่อน ก่อนที่จะเริ่มแก้ปัญหา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังมีอารมณ์รุนแรง จะต้องแก้ไขให้อารมณ์เป็นปกติก่อน
        2. กำหนดปัญหาไม่เหมาะสม  ไม่เป็นไปตามความต้องการของแต่ละฝ่าย
        3. ในระหว่างระดมสมองมีการประเมิน วิจารณ์ ให้ยกตัวอย่าง หรือขอให้อธิบายแนวความคิดของบุคคลที่เสนอ ทำให้ขัดจังหวะในการระดมสมอง ความคิดถูกขวางกั้น
        4. ไม่ทำรายละเอียดให้ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ก่อให้เกิดความร่วมมือ
        5. ไม่ติดตามผล ว่าการดำเนินแต่ละขั้นเป็นอย่างไร  ทำให้ไม่ทราบความก้าวหน้า
        6. มีการปิดบังซ่อนเร้นสาระสำคัญ บางครั้งในการดำเนินการแก้ปัญหา ทุกคนไม่ได้เปิดเผยปัญหาและความต้องการของตนออกมาทั้งหมด มีการปิดบังซ่อนเร้น ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลได้
        7. ดำเนินกระบวนการกลับไปกลับมา  ไม่สามารถหาฉันทามติในการแก้ปัญหาได้จนต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนขั้นต้นๆ  จนทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า

ทั้งหมดนี้ เป็นสาเหตุทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลได้ แม้จะดำเนินการตามขั้นตอนของวิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกประการแล้วก็ตาม
                  -----------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

ในการแก้ปัญหาจะต้องระลึกเสมอว่า ทุกปัญหามีวิธีแก้ การปฏิเสธปัญหาไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมา
                                   -------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุปสรรคขวางกั้นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล

ในการแก้ปัญหา  แม้จะมีวิธีการ ทักษะ และกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม แต่กลับพบว่าการแก้ปัญหานั้นไม่ประสบความสำเร็จมีอุปสรรคมากมาย  ดังนั้นในการแก้ปัญหา การตระหนักถึงอุปสรรคเหล่านี้ จะช่วยให้การแก้ปัญหาดีขึ้น ได้แก่

          1.นิสัย การแก้ปัญหาเป็นการกระทำที่แตกต่างออกไปจากที่เคยทำเป็นประจำ  เมื่อกระทำด้วยวิธีการใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหา นิสัยที่เคยชินจะกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาได้

          2. การรับรู้ หมายถึง การเข้าใจและมองเห็นวิธีการแก้ปัญหา  ความสามารถมองเห็นปัญหาและวิธีการที่แตกต่างออกไป เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ แต่การรับรู้ปัญหา และวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ จะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาได้เช่นกัน

          3. ความกลัว ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความกลัว  บางครั้งการแก้ปัญหาอาจถูกขวางกั้นด้วยความกลัว เป็นความกลัวที่เกิดจากจิตใจมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง เช่น กลัวความล้มเหลว กลัวถูกเยาะเย้ย หรือกลัวการถูกปฏิเสธ เป็นต้น

          4. การคาดการณ์ล่วงหน้า ในการแก้ปัญหามีบ่อยครั้ง ที่ยอมรับการคาดการณ์ล่วงหน้าแทนข้อเท็จจริง เพราะต้องการประหยัดเวลา แต่การคาดการณ์ล่วงหน้า อาจมีผลไปจำกัดความมีประสิทธิผลของการแก้ปัญหาได้ เพราะการคาดการณ์ล่วงหน้าอาจจะไม่เกี่ยวกับปัญหา วิธีแก้ปัญหา หรือความพยายามที่จะแก้ปัญหา

          5. ความรู้เดิม การเคยชินกับความรู้ที่มีมาก่อนและวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้ นำไปสู่ความรู้สึกพอใจกับความเคยชินเหล่านั้น มีผลทำให้ไม่พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ หันไปใช้วิธีการแบบเดิมๆทำให้ลดความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้

          6. การข้ามขั้นตอนในกระบวนการ นิสัยบวกกับความกังวล อาจเป็นเหตุให้บุคคลรีบเร่ง ผ่านขั้นตอนในกระบวนการโดยไม่รู้ตัว มีผลทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิภาพได้

          7. การเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อสิ่งใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นความยากลำบากสำหรับทุกคน  การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ ในการแก้ปัญหาแม้เราสามารถเอาชนะปัญหาอื่นๆได้หมด แต่ไม่อาจเอาชนะการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้  การแก้ปัญหาก็จะขาดประสิทธิผล

อุปสรรคทั้ง 7 ประการที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ผู้แก้ปัญหาจะต้องตระหนักไว้เสมอ ถ้าประสงค์จะให้วิธีแก้ปัญหาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล
              ------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

          บางครั้งการรู้จักเปลี่ยนแปลงบางอย่าง จะช่วยให้การแก้ปัญหามีประสิทธิผลได้มากขึ้น
                                     -----------------------------------------------------------
                              

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เทคนิควิธีการระดมสมอง

การระดมสมองเป็นเทคนิคการแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม เกิดจากความเชื่อที่ว่า  มนุษย์แต่ละคนมี ประสบการณ์ ค่านิยม และความรู้  หากคนที่มีประสบการณ์ ค่านิยม และความรู้ต่างกัน แก้ปัญหาร่วมกัน จะได้วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้  มากกว่าที่จะให้แต่ละคนแก้ปัญหาด้วยตนเองเพียงคนเดียว ทั้งนี้ เพราะการแก้ปัญหาด้วยเทคนิคการระดมสมอง  จะกระตุ้นความคิดซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความคิด ทางเลือก และวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย

เทคนิควิธีการระดมสมองมีสาระสำคัญ ดังนี้

กระบวนการระดมสมอง เทคนิคการระดมสมองจะต้องใช้คนกลุ่มละ 3-10 คน โดยมีกระบวนการดังนี้
          1.ในฐานะที่เป็นกลุ่ม จะต้องสร้างแนวความคิดเพื่อแก้ปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และทุกๆคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มความคิด ที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ
          2. แนวความคิดทั้งหมดควรเขียนไว้ในที่ซึ่งทุกคนสามารถมองเห็นได้ เช่น แผ่นพลิก กระดานดำ เป็นต้น
          3. ไม่มีการวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ในทางบวกหรือทางลบ  การวิจารณ์แม้จะวิจารณ์ในทางบวก ก็มีแนวโน้มที่จะปิดกั้นความคิดเชิงสร้างสรรค์
          4. ในแต่ละรอบของการเสนอความคิด ให้ใช้เวลา 4-7 นาที
          5. ทบทวนแนวความคิดทั้งหมด ตัดแนวคิดที่ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ออกไป
          6. สร้างแนวความคิดอีกเป็นรอบที่ 2 โดยใช้เวลา 4-7 นาที
          7. ทบทวนความคิดทั้งหมดที่สร้างจากรอบที่ 2 โดยตัดแนวความคิดที่ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ออกไป

กฎของการระดมสมอง  ในการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา มีกฎที่จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
          1. อย่ามีการตัดสินความคิดของคนอื่น เพราะการตัดสินเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิด ไม่ว่าการตัดสินนั้นจะตัดสินว่าถูกหรือผิด แม้จะมีความคิดแบบเถื่อนๆก็ใช้ได้
          2. พยายามให้ได้ปริมาณวิธีแก้ปัญหามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้น แนวความคิดแต่ละแนว ความคิดแต่ละคน ล้วนมีความสำคัญ
          3. แนวความคิดยิ่งกว้างขวางยิ่งดี เพราะจะทำให้ได้วิธีแก้ปัญหาหลายแง่หลายมุ่ม ทำให้สามารถแก้ปัญได้หมดทุกแง่ทุกมุม
          4.ในการระดมสมองจะต้องดำเนินการไปเรื่อยๆ ใครเสนออกมาเป็นแนวคิดใหม่ให้เพิ่มเติมทันที
          5. หลีกเลี่ยงการเอาชื่อบุคคลไปผูกติดกับแนวความคิดที่บุคคลนั้นเสนอ  เพราะการระดมสมองเป็นการทำงานของกลุ่ม  การเน้นว่าเป็นความคิดของใครเป็นวิธีการที่ผิด

กล่าวโดยสรุป การระดมสมอง ก็เพื่อสร้างแนวความคิดใหม่อย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการขัดจังหวะด้วยการถามถึงเหตุผล และการวิพากษ์วิจารณ์ ขั้นสุดท้ายของการระดมสมอง คือ การได้แนวคิดในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
                   -----------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคิด

ในการแก้ปัญหา นอกจากจะมีวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีทักษะในการแก้ปัญหาแล้ว  ผู้แก้ปัญหาจะต้องมีเทคนิคในการแก้ปัญหาด้วย เพราะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น

                                 ------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กระบวนการแก้ปัญหา

ทุกคนจะต้องแก้ปัญหา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หากเป็นปัญหาเล็กๆ ก็อาจใช้วิธีลองผิดลองถูก การเรียนรู้ในอดีต มาแก้ปัญหาได้ แต่หากเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ปัญหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการ ก็จะช่วยให้การแก้ปัญหาง่ายและมีประสิทธิผล

กระบวนแก้ปัญหาต่อไปนี้ เน้นกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นระบบเป็นสำคัญ เป็นกระบวนแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาตร์ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆดังนี้

ขั้นที่ 1 การตระหนักรู้ปัญหา  ในการแก้ปัญหา การตระหนักรู้ปัญหามีความสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้ว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้น มีความสำคัญมาก เพราะการตระหนักรู้ปัญหาตั้งแต่ปัญหายังเล็กอยู่ จะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าที่จะปล่อยปัญหาให้ใหญ่โตขึ้นมา ซึ่งบางครั้ง   อาจใหญ่จนไม่สามารถจะแก้ได้ เกิดความหายนะต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลจำนวนมาก

ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูล  ในการแก้ปัญหา ผู้แก้ปัญหาจำเป็นจะต้องรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เข้าใจปัญหาชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องตามเป้าหมายมากขึ้น

ขั้นที่ 3 การกำหนดปัญหา  เป็นขั้นที่ทำความชัดเจนกับปัญหา จนแยกแยะได้ว่า ปัญหาใดมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ปัญหาใดมีความสำคัญรองลงมา  การแยกแยะปัญหาในขั้นนี้ จะต้องยึดข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 2 เป็นสำคัญ เพื่อตอบคำถามว่า "ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร" "มีทางเลือกใดบ้างที่ใช้แก้ปัญหาได้" ฯลฯ

ขั้นที่ 4 การระบุเป้าหมาย ในการแก้ปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องระบุเป้าหมายเฉพาะ หรือผลที่จะได้รับหลังจากแก้ปัญหาให้ชัดเจน  แต่หากไม่กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน กระบวนแก้ปัญหาอาจผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพได้

ขั้นที่ 5 การสร้างวิธีแก้ปัญหา  ความสำเร็จของการแก้ปัญหา จะสัมพันธ์โดยตรงกับความสามารถในการสร้างวิธีแก้ปัญหา ถ้าผู้แก้ปัญหาสามารถสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาได้มากเท่าไร จะเกิดผลดีกับกระบวนแก้ปัญหามากขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญในการสร้างวิธีแก้ปัญหา คือการมี จินตนาการ และการตัดสินใจ และวิธีการที่ใช้ในกันมากในขั้นนี้ คือ การระดมสมอง

ขั้นที่ 6 การเลือกวิธีแก้ปัญหา เริ่มด้วยการจดรายการวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งหมด หลังจากนั้นกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัสินเลือกวิธีแก้ปัญหา  เช่น เวลาที่ใช้ ค่าใช้จ่าย ความมีประสิทธิผล  และการยอมรับ เสร็จแล้วให้ค่าในแต่ละเกณฑ์ จนได้วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม

ขั้นที่ 7 การวางแผนนำวิธีแก้ปัญหาไปใช้  ในการวางแผนนำวิธีแก้ปัญหาไปใช้ ความสำคัญอยู่ที่วิธีแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาที่จะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผล จะต้องเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีคุณภาพ และคนอื่นสามารถรับได้

ขั้นที่ 8 การประเมินผล เป็นการประเมินความมีประสิทธิผลของวิธีแก้ปัญหา คือต้องการจะทราบว่า วิธีแก้ปัญหาทำให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่  เพราะถ้าไม่ จะเกิดปัญหาใหม่ตามมา  แต่ถ้าการแก้ปัญหามีประสิทธิผล  การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตามเป้าหมาย ข้อมูลที่ได้จากการการประเมินผล ถือว่าเป็นข้อมูลป้อนกลับอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการแก้ปัญหาได้

ในทางปฏิบัติ การนำวิธีการและกระบวนแก้ปัญมาใช้นั้น สามารถลดหรือเพิ่มขั้นตอน ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของปัญหา คุณสมบัติของผู้แก้ปัญหา ตลอดจนเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆได้
                    -------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                    การเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาที่ชัดเจน จะเป็นผู้แก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

                                        -----------------------------------------------------------