วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนเป็นการประกอบการทางธุรกิจ แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของการลงทุนจึงอยู่ที่กำไรและผลประโยชน์ที่พึงได้รับจาการลงทุนนั้น หากไม่เห็นช่องทางที่จะได้กำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้น

หากจำแนกลงไปถึงรายละเอียดถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงมีการลงทุนจากต่างประเทศ จะได้ดังนี้

          1.มุ่งกำไร กำไรเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการลงทุนในต่างประเทศ มีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าที่ได้จากการลงทุนในประเทศของตนเอง

          2. การแสวงหา การรักษา และการขยายตลาด เป็นการลงทุนเพื่อหวังที่จะจำหน่ายสินค้าของตน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ  และเพื่อแข่งขันกับชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนในสินค้าชนิดเดียวกัน

          3. การแสวงหา การรักษา และการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบ เป็นการลงทุนเพื่อหวังจะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ไม้ น้ำมัน ฯลฯ เพื่อนำไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบในประเทศที่ไปลงทุนมีแหล่งวัตถุดิบที่มีราคาถูกเป็นจำนวนมาก

          4. ค่าแรงงานราคาถูก เนื่องจากในประเทศของตนขาดแรงงาน หรือมีค่าแรงงานที่สูง จนทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศสูงขึ้นไปด้วย จึงแสวงหาประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ เพื่อจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและสามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นๆได้

          5. ผลประโยชน์ทางอ้อม การลงทุนในต่างประเทศบางครั้งไม่ได้มุ่งประโยชน์จากการมีกำไร แต่มุ่งประโยชน์ทางอ้อม เช่น เพื่อรักษาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อสร้างตลาด และเพื่อรักษาตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ฯลฯ

          6. หลีกเลี่ยงปัญหาความแออัดและปัญหาความสกปรกต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน

          7. หลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่าผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศของตน

          8. เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอกชนในประเทศที่ไปลงทุน  ด้วยเหตุผลที่ว่า การลงทุนจะเป็นตัวเร่งให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งเป็นการยกระดับรายได้ เป็นการกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้าประเภททุนจากประเทศที่ออกไปลงทุน

ส่วนประเทศที่ไปลงทุนจะได้ประโยชน์จากการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  การไหลเข้่าของเงินทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายหลักของการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศต่างๆ ที่ยอมให้ประโยชน์ต่างๆนานา อยู่ที่แก้ปัญหาการว่างงาน และการเพิ่มผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น(Gross Domestic Product= GDP.) ซึ่งแสดงถึงความสามารถในเชิงตัวเลขของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

จะห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศมีทั้งได้และเสียประโยชน์  ผู้อำนาจในการบริหารประเทศจึงต้องพิจารณาให้จงหนักว่า มาตรการการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ประเทศได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

                           จงใฝ่หาความจริง ความจริงจะเผยให้เราเห็น
                   สิ่งที่่เราควรทำ สิ่งที่เราไม่ควรทำ และสิ่งที่เราควรเลิกทำ

                                                                      ปีเตอร์ เซคิริน

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สาเหตุที่ทำให้การกระจายรายได้ระหว่างบุคคลไม่เสมอภาค

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การกระจายรายได้เป็นเป้าหมายที่สำคัญ   เพราะหากมีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาคจะก่อให้เกิดปัญหาตามมากมาย จนยากที่จะแก้ไข ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลไม่เสมอภาค ได้แก่

          1. การกระจายกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร  ทั้งนี้เนื่องจากการมีระบบเจ้าขุนมูลนาย ทหาร และข้าราชการชั้นสูง เป็นกลุ่มอิทธิพลและเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ คนเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินในอัตราสูง และมีโอกาสสะสมทรัพย์สินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นไปได้อีก ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีที่ดินถือครองต่ำ หรือบางรายไม่มีที่ดินเลยต้องเช่าที่ดินทำกิน และเมื่อประเทศพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ จะเปลี่ยนฐานะเป็นพ่อค้า หรือนายทุนอุตสาหกรรม มีรายได้จากการประกอบการสูง ส่วนเกษตรกรและกรรมกร ไม่มีโอกาสที่จะทำงานให้มีรายได้สูงกว่าเดิม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลมากขึ้น

          2. ความเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆเป็นไปอย่างไม่สมดุล  เนื่องจากภาคเศรษฐกิจบางภาค ได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่บางภาคเศรษฐกิจถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น กรณีรัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม มีผลทำให้ผู้ประกอบอาชีพใน ภาคอุตสาหกรรมมีรายได้สูงกว่าผู้ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอื่น ที่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เช่น ภาคเกษตรกรรมซึ่งมีผลผลิตต่ำอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างรายได้ระว่างบุคคลยิ่งห่างออกไปอีก

          3. การกระจายตัวของประชากร ในชนบทมักจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรในอัตราที่สูง การมีลูกหลานเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรที่ดินให้กับลูกหลาน มีผลทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ทำให้การปรับปรุงที่ดินทำได้ลำบาก มีผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำลงกว่าเดิม ทำให้มีรายได้ลดลง แต่ต้องเลี้ยงดูแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำลง ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น

          4. การศึกษาอบรม ผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมจะมีความรู้ความชำนาญ ทำให้มีโอกาสทำงานและประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ เป็นต้น  ส่วนผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาน้อย ต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ  ยิ่งกว่านั้นการศึกษาในชนบท มักจะขาดครูและอุปกรณ์ทางการศึกษา ผู้จบการศึกษาขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ต่ำ มีผลทำให้ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น

          5. การแข่งขันของตลาดเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ เป็นผลทำให้บุคคลบางกลุ่มบางพวกมีอำนาจผูกขาด อยู่ในฐานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะมีรายได้สูงกว่า  ทั้งนี้ เพราะผู้ประกอบการมีน้อย และมักจะรวมตัวกันขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังมีอำนาจที่จะกำหนดค่าจ้างแรงงาน คนงานมักจะถุกนายจ้างเอาเปรียบ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย การกระจายรายได้จึงไม่เสมอภาค

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ไม่เป็นธรรม คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ จะมีอำนาจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆอีกด้วย  หากไม่มีการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคของการกระจายรายได้ระหว่างบุคคลอย่างจริงจัง ถึงจุดหนึ่ง การต่อสู้เพื่อการแย่งชิงอำนาจจะเกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้บ้านเมืองไม่มีปกติสุข
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                     สาระคำ 

ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการผลิต ปัจจัยการผลิต นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ยังมี ที่ดิน(ทรัพยากรธรรมชาติ) แรงงาน และทุน

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาที่ถูกละเลย

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ  เป็นมนุษย์ที่สังคมพึงปราถนา

เมื่อใดที่การศึกษาทำหน้าที่พัฒนาบุคคลให้มีคุณค่าต่อทุกระบบของสังคม ตลอดจน มีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างแท้จริง เมื่อนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าการศึกษาทำหน้าที่พัฒนามนุษย์ที่แท้จริง

แต่จากการศึกษาพบว่า แม้จะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาเต็มที่ ขยายการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่การศึกษาก็ไม่อาจสร้างลักษณะที่พึงประสงค์ขึ้นมาได้ กลับสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมมากมาย มีทั้งขาดความรู้ และทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ จนถึง มีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ที่เป็นเชนนี้ อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ข้อเท็จจริง จนละเลยข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาต่อไปนี้

          1. การศึกษาเป็นสิ่งดี มีความจำเป็นต่อการอยู่ดีกินดีของมนุษย์ การศึกษานอกจากจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีในตัวมันเองแล้ว ยังพบว่าผู้มีการศึกษามีรายได้สูงกว่า เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากกว่า และมักได้รับการยกย่องทางสังคมมากกว่า

          2.การศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการและปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม จะทำให้เกิดความสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม

          3. การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้มาก อันเนื่องมาจาก การปลูกฝังลักษณะ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

ข้อตกลงเบื้องต้นทางการศึกษาดังกล่าวนี้ ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาจะต้องตระหนักให้มาก ไม่ควรจะละเลยประการใดประการหนึ่ง

ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาก็เพราะให้ความสำคัญกับข้อตกลงเบื้องต้นประการที่ 1 ที่เชื่อว่าการศึกษายิ่งมากยิ่งดี  เพียงประการเดียว โดยละเลยไม่ให้ความสำคัญกับข้อตกลงเบื้องต้นประการที่ 2 และ 3 จึงมีการขยายการศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นการขยายการศึกษาในเชิงปริมาณ เป็นการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ  ไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมทำให้เกิดปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตามมามากมาย ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

             ในบรรดาสิ่งสกปรกทั้งหลาย ไม่มีอะไรจะสกปรกเท่ากับความเห็นแก่ตัว

                                                                         พุทธทาสภิกขุ
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คุณธรรมที่จำเป็นสำหรับผู้บริหาร

การบริหารที่ใช้แต่อำนาจ ระบียบวินัย และกฎเกณฑ์ต่างๆ บังคับให้คนในองค์การทำงานเพื่อประโยชน์ขององค์การเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการไม่เพียงพอต่อการนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ แต่หากผู้บริหารมีคุณธรรม นอกจากจะช่วยให้องค์การประสบความสำเร็จและการบริหารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังทำให้คนในองค์การทำงานอย่างมีความสุขและมีความสามัคคีอีกด้วย

ด้วยเหตนี้ผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม สำหรับคุณธรรมที่ผู้บริหารจะพึงมี ประกอบด้วยคุณธรรมต่อไปนี้ คือ

         1. ความซื่อสัตย์สุจริต คือ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อหน้าที่การงาน ไม่เป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ  ความซื่อสัตย์สุจริตช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรขององค์การได้เต็มที่ ไม่เกิดการรั่วไหล นอกจากนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตยังทำให้ได้รับการไว้วางใจจากผู้ร่วมงาน ผู้บริหารที่ขาดคุณธรรมข้อนี้ แม้จะบริหารเก่งอย่างไร ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

          2. ความรับผิดชอบ เป็นผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อหน้าที่การงาน คือ เป็นคนกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้ทำหรือตัดสินใจสั่งการ ไม่เอาตัวรอด ความรับผิดชอบทำให้งานสำเร็จตามกำหนดเวลา ไม่คั่งค้างเกิดความล่าช้า อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์การ ผู้บริหารที่รับผิดชอบทำให้บุคคลในหน่วยงานเกิดความเชื่อมั่น

          3. ความยุติธรรม หมายถึง การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีเหตุผล ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกติกา ความยุติธรรมทำให้เกิดความเที่ยงธรรม ทำให้เกิดการทำงานที่ยึดหลักเกณฑ์มากกว่ายึดบุคคล ผู้บริหารที่ขาดความยุติธรรมก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในองค์การ  ความยุติธรรมของผู้บริหาร ทำให้ทุกคนในหน่วยงานทำงานเต็มความสามารถ อุทิศตนให้กับงาน เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าและเป็นธรรม

          4. ความเป็นผู้มีใจหนักแน่น คือ เป็นผู้อดทน มั่นคงในอารมณ์  มีสติ มีใจหนักแน่นต่อสถานการณ์ ต่อคำพูดที่ขัดแย้ง และต่อความไม่เป็นมิตรของคนอื่น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้บริหารต้องเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในการทำงานค่อนข้างมาก ความเป็นผู้มีใจหนักแน่นไม่หวั่นไหว จะช่วยให่้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ตลอดจนช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

          5. ความเป็นผู้มีสัจจะ ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ หากไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะต้องบอกให้ทราบ เพราะการหลอกคนอื่นนั้นอาจหลอกได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่จะหลอกตลอดไปย่อมไม่ได้ การรักษาคำมั่นสัญญาจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากผู้อื่น ทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา ความเป็นผู้มีสัจจะก่อให้เกิดศรัทธา

          6. ความเป็นผู้มีระเบียบวินัย ความมีระเบียบวินัยเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานที่ยาก และการทำงานกับคนจำนวนมาก ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างของการมีวินัย เป็นผู้มีวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามระเบียบขององค์การที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ระเบียบใดที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อยและความมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารจะต้องไม่ละเมิดระเบียบนั้นเสียเอง เพราะหากผู้บริหารละเมิดแล้ว คนอื่นๆจะถือเป็นข้ออ้างทำผิดวินัยในลักษณะเดียวกัน ในที่สุดความไร้ระเบียบจะเกิดขึ้นในหน่วยงาน มีผลทำให้งานที่ง่ายกลายเป็นงานที่ยาก

          7. การยอมรับผู้อื่น ผู้บริหารจะต้องยอมรับความรู้ความสามารถของผู้อื่น เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศของความไว้วางใจ เกิดความรับผิดชอบในการทำงานสูง โดยความรับผิดชอบนั้น เกิดจาการรู้จักควบคุมตนเอง การที่ผู้บริหารยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้ผู้บริหารปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมตามที่เขาเป็น

          8. ความเข้าใจในความต้องการของผู้อื่นรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผู้บริหารจะต้องเข้าใจธรรมชาติของคน ว่าคนนั้นย่อมมีความต้องการ เป็นความต้องการทางกาย ทางอารมณ์ และความต้องการทางสังคม ผู้บริหารจะต้องเข้าใจความต้องการเหล่านี้ตามสมควร ตลอดจนหาทางตอบสนองเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะความต้องการทางอารมณ์และความต้องการสังคม เพราะเมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองแล้ว ความพอใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนเกิดความพอใจ การบริหารงานก็จะดำเนินไปด้วยดี เกิดความสงบสุขในองค์การ

คุณธรรมสำหรับผู้บริหารที่กล่าวมา เป็นคุณธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร หากผู้บริหารขาดคุณธรรม ย่อมยากที่จะนำองค์การเป็นสู่ความสำเร็จได้ เพราะผู้บริหารจะไม่ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากเพื่อนร่วมงาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆนานา จนยากที่จะแก้ไขเยียวยา
--------------------------------------------------------------------------------------------------
                                                      สาระคิด

                         จงรับฟังการถกเถียง แต่อย่าเข้าวงถกเถียงด้วย

                                                                   นีโคไล โกกอล

*****************************************************************
หมายเหตุ ควรอ่าน "ทำไมผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม" จาก http://PaisarnKr.blogspot.com ประกอบ เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วน
--------------------------------------------------------------------------------------------------