วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำไมผู้บริหารจึงต้องมีคุณธรรม

ความสำเร็จขององค์การใดองค์การหนึ่ง มิได้ขึ้นอยู่แต่เพียงระบบการเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการลงโทษทางวินัย แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจ และความจงรักภักดีของคนที่มีต่อองค์การ  การจะก่อให้เกิดลักษณะดังกล่าวในองค์การ ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่ยึดบุคคล ยึดหัวหน้า มากกว่ายึดหลักการหรือระบบ

ผู้บริหาร หมายถึง ผู้ที่ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยบุคคลอื่น ความสำเร็จในการบริหารขึ้นอยู่กับ "คน" และ "ความสามารถในการใช้คน"

คุณธรรม หมายถึง แนวทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล  ที่สังคมยอมรับว่าดีงาม ว่าถูกต้อง และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ผู้บริหารที่มีคุณธรรม คือ ผู้บริหารที่มีการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามที่ถูกต้อง ที่ช่วยให้ให้ทุกคนในองค์การ ทำงานด้วยความสงบสุข และเกิดความก้าวหน้า

เพื่อความชัดเจนจะขอจำแนกถึงเหตุผล และความจำเป็น ที่ผู้บริหารจะต้องมีคุณธรรม เพื่อให้ทุกคนในองค์การทำงานด้วยความสงบสุข และเกิดความก้าวหน้า ดังนี้

          1.แนวความคิดและความเชื่อของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเคยเชื่อว่าผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนา ซึ่งเป็นของเฉพาะตัวที่สร้างสมมาแต่อดีต แต่ปัจจุบันความคิดและความเชื่อเช่นนี้ได้เปลี่ยนไป หันไปเชื่อว่า คนที่เป็นผู้บริหารได้นั้น จะต้องเป้นผู้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะทางการบริหาร  ความเชื่อเช่นนี้ ทำให้คนเห็นว่า การเป็นผู้บริหารนั้นใครๆก็เป็นได้ ถ้าได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมมาเพียงพอและมีโอกาส ผู้บริหารที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมในปัจจุบัน จึงมักได้รับการท้าทายอำนาจ ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานเท่าที่ควร

          2.แนวความคิดและศาสตร์ทางบริหารได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีการบริหารเป็นทีม การบริหารแบบมีส่วนร่วม ตลอดจน การบริหารแบบใช้กลุ่มคุณภาพ ได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้มากขึ้น  ซึ่งแนวทางการบริหารเหล่านี้ จำเป็นจะต้องอาศัยผู้บริหารที่มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี การบริหารในลักษณะดังกล่าวจึงจะประสบความสำเร็จ

           3. ผู้บริหารเป็นผู้ใช้อำนาจในการที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บัคบบัญชา เป็นผู้จัดสรรการใช้ทรัพยากรในองค์การ คุณธรรมจึงเป็นแนวทางสำหรับการใช้อำนาจของผู้บริหารนอกเหนือจากระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ  การที่ผู้บริหารมีคุณธรรม จะช่วยให้การใช้อำนาจและการจัดสรรผลประโยชน์เป็นไปอย่างยุติธรรม แต่หากผู้บริหารไม่มีคุณธรรมกำกับ จะปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว และอาจใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้

          4. ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นองค์การใหญ่หรือหน่วยเล็ก ผู้บริหารมักจะถูกมองในแง่อคติในการปกครองบังคับบัญชาอยู่เสมอ ไม่ว่าการเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง การพิจารณาความดีความชอบ ผู้บริหารจะถูกกล่าวหาเสมอ โดยกล่าวหาว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของผู้บริหาร มักจะเป็นผู้ที่ "สืบสายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง เสบียงหลังบ้าน กราบกรานสอพลอ ล่อไข่แดง แรงวิชา ถลามาเอง" อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากความสามารถหรือเสียสละในการทำงาน ซึ่งคำกล่าวนี้ ถ้าผู้บริหารขาดคุณธรรมแล้ว จะช่วยให้อคติในลักษณะดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น คนจะไม่ทำงาน และในที่สุดการบริหารก็จะประสบความล้มเหลว

          5. การบริหารเป็นการทำงานกับคน ซึ่งคนตามหลักจิตวิทยาแล้ว ย่อมมีความต้องการ เช่น ต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ต้องการมีส่วนร่วม ฯลฯ ความต้องการเหล่านี้ ผู้บริหารจะสามารถตอบสนองได้ก็โดยอาศัยคุณธรรมมากกว่าที่จะใช้เทคนิควิธีในเชิงบริหาร และเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง คนในหน่วยงานจะทำงานด้วยความสุข และเกิดความสำเร็จขึ้นในหน่วยงาน

          6. ผู้บริหารที่มีคุณธรรมจะเป็นแบบอย่าง ให้คนในหน่วยงานมีคุณธรรมด้วย ทั้งนี้ เพราะคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการเลียนแบบ การเป็นตัวแบบที่ดี จะข่วยให้คนในองค์การเกิดศรัทธา เกิดการเรียนรู้ในทางที่ดี

          7. คุณธรรมเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งของผู้บริหาร นักวิชาการทางด้านบริหารเชื่อว่าผู้บิหารที่ประสบความสำเร็จ จะต้องประกอบด้วยพลังต่อไปนี้ คือ
                    7.1 พลังสมอง เป็นผู้มีสติปัญญาดี
                    7.2 พลังจิตใจ เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง
                    7.3 พลังกาย เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
                    7.4 พลังคุณธรรม เป็นผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี

จะเห็นว่า ผู้บริหารนั้นต้องทำงานกับคน และเป็นผู้ใช้คนให้ทำงานเพื่อไปสู่ความสำเร็จขององค์การ หากผู้บริหารขาดคุณธรรมแล้ว  การทำงานก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุดจะประสบความล้มเหลว ทั้งในส่วนตัวของผู้บริหารและความล้มเหลวขององค์การในภาพรวม
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                สาระคิด

               คนที่ถูกลงโทษส่วนใหญ่ มักเนื่องจากสิ่งภายใน คือคุณธรรมของเขาเอง

                                                                                    นิชเช่
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย มีทั้งประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ และประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง

ประชาธิปไตยในความหมายที่แคบ หมายถึง ระบบการเมือง รูปแบบการปกครอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ
          1. ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง
          2. ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว  โดยผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจแทนปวงชน ไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจ
          3.สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง

ส่วนประชาธิปไตยในความหมายที่กว้าง หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต อันประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ คารวะธรรม หมายถึง การเคารพซึ่งกันและกันตามสถานะภาพของแต่ละบุคคล ปัญญาธรรม หมายถึง การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และสามัคคีธรรม หมายถึง การให้ความสำคัญกับส่วนรวมพอๆกับความสำคัญส่วนตน เพื่อประโยชน์ของสังคม

กรณีประเทศไทย การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่นำเข้าจากชาติตะวันตก โดยคนกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนบัดนี้นับได้ 70 กว่าปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีการทำรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว มีรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ แต่ก็ไม่เหมาะที่จะใช้กับนักการเมืองไทยสักฉบับ มีการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างบิดเบือน เพื่อประโยชน์ตนและหมู่คณะ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ

          1. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ
               1.1. คนไทยมีลักษณะอิสระนิยม ชอบเสรี ทำได้ตามใจคือไทยแท้ บางครั้งเสรีมากจนขาดความรับผิดชอบ ลักษณะเสรีนิยมทำให้คนไทยทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกันไม่ได้. การรวมเป็นพรรคการเมืองจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
               1.2. คนไทยมีลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ยึดตนเองเป็นสำคัญมากกว่าคำนึงถึงส่วนรวม สนใจผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าส่วนรวม แม้เชื่อว่ากฎหมายและอุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญ  แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติก็จะคำนึงถึงประโยชน์ของตนก่อน
               1.3. คนไทยมีลักษณะอำนาจนิยม คนไทยชอบมีอำนาจ แสวงหาอำนาจ เพราะอำนาจทำให้สถานะภาพทางสังคมสูงขึ้น คนไทยไม่ชอบให้ใครมาใช้อำนาจกับตน แต่ตนเองชอบใช้อำนาจกับคนอื่น ในขณะเดียวกัน คนไทยยกย่อง เกรงกลัวผู้มีอำนาจ เพราะอำนาจนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจ
               1.4. คนไทยมีลักษณะยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักเกณฑ์หรือหลักการ เพราะเชื่อว่ากฎเกณฑ์เป็นเรื่องที่บุคคลสร้างขึ้น จึงสามารถลบล้างได้ คนไทยจึงทำงานตามความสัมพันธ์กับบุคคลมากกว่าทำตากฎเกณฑ์หรือหลักการ

          2. ขาดการเรียนรู้หลักการของประชาธิปไตยที่ถูกต้องครบถ้วน ให้ความสำคัญแต่เพียงเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพ และมาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายและคุณธรรมประชาธิปไตย

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น หากมีความต้องการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้อย่างจริงจัง ครบถ้วนการหลักการ จะต้องให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป  ในลักษณะต่อไปนี้

          1. โรงเรียนควรเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับครู ครูกับนักเรียน ไม่ควรจะมีความสัมพันธ์แบบอัตตาธิปไตย นักเรียนควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในการตัดสินเกี่ยวกับนโยบายเท่าที่วุฒิภาวะของนักเรียนจะอำนวย

           2. โรงเรียนควรจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อาจจัดเป็นหลักสูตรโดยเฉพาะ หรือสอดแทรกในวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆเท่าที่เห็นสมควร สำหรับเนื้อหาและกิจกรรมในหลักสูตรหรือที่สอดแทรกในวิชาต่างๆ ควรเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ
               2.1. พัฒนาด้านบุคลิกภาพที่เกี่ยวโยงกับประชาธิปไตย อันได้แก่ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ที่มีผลต่อพฤติกรรมตามหลักประชาธิปไตย
               2.2. การเรียนรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยเฉพาะ โดยเรียนรู้เกี่ยวกับ
                    2.2.1. การเรียนรู้ในเรื่องบทบาทของการเป็นพลเมืองดี เช่นการผูกพันกับพรรคการเมือง การมีอุดมการณ์ทางการเมือง การมีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมทางการเมือง
                    2.2.2. การเรียนรู้บทบาทในฐานะที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายของบ้านเมือง เช่น ความจงรักภักดีต่อชาติ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ
                    2.2.3. การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการในการเลือกสรรบุคคลเข้าทำงานด้านการเมือง

เมื่อจัดการศึกษาให้มีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักการดังกล่าว เชื่อว่าประชาธิปไตยของไทยจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                    สาระคิด
                    
ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

                                                                                 พุทธทาสภิกขุ
****************************************************************

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาชนบท

ถ้าต้องการจะให้การพัฒนาประเทศเป็นความจริง จะต้องพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างชนบทกับเมือง แต่การพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับการสร้างภาวะทันสมัยและการพัฒนาเมือง ที่เชื่อกันว่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง ทำให้ละเลยการพัฒนาชนบทไป 

ดังนั้น หากต้องการจะพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล จะต้องขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในชนบท ด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การพัฒนาชนบทประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพราะประชากรในชนบทส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับกิจกรรมการเษตร

และเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามเป้าหมาย  การพัฒนาชนบทจะต้องเริ่มด้วยการเปลึ่ยนโครงสร้างของสถาบัน ความสัมพันธ์ และกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นประการแรก

ทั้งนี้เพราะ เป้าหมายของการพัฒนาชนบทไม่ได้ติดอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว  แต่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้อยู่ในภาวะสมดุลเช่นเดียวกัน โดยเน้นการกระจายรายได้ที่ยุติธรรม พร้อมๆกับสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ความเป็นเจ้าของที่ดิน สนับสนุนการปรับปรุงเกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ และที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

และประการสุดท้าย จะต้องมีการขยายการศึกษาทั้งในและนอกระบบเพื่อผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งนี้จะต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในชนบท

แต่ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะเป็นระบบการศึกษาที่ลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายการศึกษาของประเทศพัฒนาเหล่านั้น อยู่ที่การเตรียมเด็กให้ผ่านการการสอบมาตรฐาน เพื่อจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงเป็นหลักสูตรที่เอนเอียงไปทางสังคมเมืองอย่างมาก นับเป็นหลักสูตรที่ไม่สนองความต้องการของเด็กส่วนใหญ่ ที่อาศัยและทำงานในชนบท

สำหรับการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาชนบทนั้น ฟิลิป เอช คูมป์ส (Philip H. Coombs) นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ได้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

               1. การศึกษาทั่วไปหรือการศึกษาพื้นฐาน เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้ เลขคณิต ตลอดจนวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

               2. การศึกษาเพื่อชีวิตครอบครัว เป็นการศึกษาในส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น ได้แก่วิชา เกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ การซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน การดูแลเด็ก ตลอดจนการวางแผนครอบครัวและอื่นๆ

               3.การศึกษาเพื่อการปรับปรุงชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อให้กระบวนการและสถาบันในท้องถิ่นและระดับชาติมีความเข้มแข็ง เช่น ให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การสหกรณ์ เป็นต้น

               4. การศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีพ

การศึกษาทั้ง 4 กลุ่มนี้ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากรวมทั้งไทย จะเน้นเฉพาะการศึกษาทั่วไป ส่วนประเภทอื่นๆ แทบจะไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น หากประสงค์จะใช้การศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง จะต้องจัดการศึกษาให้ครบทั้ง 4 ประเภท โดยปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการศึกษาในระบบ รวมทั้งนำการศึกษานอกระบบมาใช้กับประชาชนที่อยู่นอกวัยเรียนอย่างจริงจัง การพัฒนาชนบทจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                         ระบบการศึกษาที่ลอกเลียนจากประเทศอื่นก่อให้เกิดปัญหา                                                           มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒาประเทศ

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องอาศัยทั้งปัจจัยมนุษย์และปัจจัยอื่น การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงต้องจัดโดยมุ่งพัฒนาปัจจัยทั้ง 2 ประการไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อันจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจจะต้องเริ่มด้วยการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม ให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรฐกิจมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการจะปรับปรุงระบบการศึกษาได้ถูกต้องตรงจุด จะต้องเริ่มด้วยการศึกษาวิเคราะห์อย่างจริงจัง แล้วจึงจะแก้ไขปรับปรุง ส่วนวิธีง่ายๆที่จะลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศพัฒนามาใช้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะส่งเสริมการพัฒนา

สำหรับระบบการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรจะจัดในลักษณะต่อไปนี้

          1. เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับปัญหาของประเทศ การแก้ปัญหาให้หมดไปเป็นลักษณะหนึ่งของการพัฒนา การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องสอดคล้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ประสิทธิภาพของแรงงานต่ำ หรือความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องปรากฎอยู่ในการเรียนการสอนทุกระดับชั้น โดยจะแตกต่างกันตามวัยและระดับความรับผิดชอบเมื่อจบการศึกษา

          2. เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับชีวิตการทำงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการทำงาน หากสังคมใดประกอบด้วยคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สังคมนั้นจะพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็ว การศึกษาของแต่ละสังคมจึงต้องสอดคล้องกับชีวิตการทำงานของสังคมนั้น เช่น สังคมที่มีอาชีพการเกษตร สถาบันการศึกษาควรให้การศึกษาเกี่ยวกับอาชีพการเกษตร เป็นต้น นอกจากนั้น การจัดการศึกษาเพื่อการทำงานอาจจัดในลักษณะต่อไปนี้
               2.1 จัดโดยการรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกับการทำงาน ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัตควบคู่กันไป
               2.2 จัดโดยการเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ คือจะสอนเฉพาะเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงไม่ใช่สอนเพียงเพื่อให้รู้
               2.3 จัดโดยการกำหนดเนื้อหาจากปัญหาในการปฏิบัติ และมีความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้น เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

และที่สำคัญ คือ การทำงานด้วยมือจะต้องสอดแทรกอยู่ในทุกระดับการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย

          3. เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการทำงานอิสระ  ปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน เป็นปัญหาอันมีสาเหตุมาจากการผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ผู้มีการศึกษาจำนวนหนึ่งต้องว่างาน  เพราะไม่สามารถหางานได้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียนมา ซึ่งปัญหาการว่างงานของมีการศึกษานี้ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว การศึกษาจะต้องส่งเสริมการทำงานอิสระ โดยให้ผู้เรียนได้มองเห็นช่องทางการสร้างงาน มีความริเริ่ม และมีความภูมิใจต่อการเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่ากิจการนั้นจะมีขนาดเล็กใหญ่อย่างไร

          4. เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นผู้ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจน การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการที่การศึกษาส่งเสริมให้เกิดขึ้นนั้นจะต้อง มีใจกล้าเสี่ยง ขยัน รับผิดชอบ มีความสามารถในการจัดการและบริหารงาน เป็นต้น

          5. เป็นการศึกษาที่สร้างคุณลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องสร้างคนให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ มีวินัย ประหยัด มีทัศนคติที่ทันสมัย มุ่งอนาคต ศรัทธาในความสามารถของตนเอง และมีบุคลิกภาพเพื่อส่วนรวม

         6. จัดให้มีการแนะแนวอาชีพ ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ จะต้องจัดให้มีการแนะแนวอาชีพ มีศูนย์สนเทศการอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นช่องทางการทำงานอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้คุ้นเคยกับโลกของการทำงาน เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาไปแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันที อันจะช่วยลดปัญหาการว่างงานได้ระดับหนึ่ง

แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา ด้วยการสร้างหลักสูตร จัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม ตลอดจนการบริหารในแนวทางที่กล่าวมาแล้ว  การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องเน้นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องอุทิศตนเพื่อประชาชน และเพื่อเป้าหมายทางมนุษยธรรม

                                                                    Julius Nyerere

*****************************************************************