วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การปฏิรูปการศึกษาจะต้องปฏิรูปการคิด:ตอน 2

หากจะย้อนกลับไปดูการศึกษาที่ผ่านมา ดูการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สำคัญของสังคมไทย จะพบว่ามีวิธีเรียนที่สำคัญ คือ ฟัง สังเกต จด ท่องจำ และสอบ  ในการสอบนักเรียนจะต้องตอบให้ตรงกับที่ครูสอน  ส่วนกิจกรรมการสอนของครู คือบอกและอบรมความประพฤติเป็นสำคัญ

ครูเป็นผู้ชี้ผิดชี้ถูก ถ้าชี้ผิดเป็นผิดก็ดีไป  แต่ถ้าชี้ผิดเป็นถูก  นี่สิ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ผลที่ได้จากวิธีเรียนแบบนี้  คือผู้เรียนจะต้องจำสิ่งที่ครูสอนให้ได้  ไม่กระตือรือร้นที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดลักษณะที่ยึดและเชื่อในตัวบุคคลมากกว่าหลักการและข้อเท็จจริง คิดเองไม่เป็น ต้องมีคนอื่นช่วยบอกช่วยชี้แนะ
 
ผลที่ตามมาคือคนไทยจะรับกระแสต่างๆได้ง่าย  แต่ไม่ค่อยจะลึกซึ้งกับสิ่งที่รับนั้น  เพราะไม่ได้คิดเอง

และเป็นที่น่าสังเกตว่าสังคมไทย  มีนักคิดเพียงไม่กี่คน  คิดได้ทุกเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมหรือวัฒนธรรม  คนเหล่านี้ชี้นำสังคมไทยมาตลอด ผิดบ้างถูกบ้าง  แต่คนไทยก็ยังเชื่อถือและยอมรับ

ในการประชุมสัมมนาครั้งสำคัญๆ  จะปรากฎชื่อนักคิดเหล่านี้เป็นผู้ร่วมอภิปรายอยู่เสมอ  อาจจะเป็นที่ยอมรับเพราะท่านคิดถูกมากกว่าผิด หรืออาจจะยอมรับเพราะไม่ต้องคิดเองให้เปลืองสมอง ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ถ้าหากคนไทยทุกคนช่วยกันคิด คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  มีข้อมูลที่ชัดเจน  ก็เป็นที่แน่นอนว่า ปัญหาของสังคมไทยจะลดลง
                                     ----------------------------------------------

                                                            สาระคิด

อย่าถามเด็ดขาดว่า  ทำไมชีวิตเมื่อก่อนดีกว่าปัจจุบันนี้ เพราะคุณไม่ได้ใช้สติปัญญาของคุณในการถามเลย
                                                                              Ecclesiastes 7:10
                              -----------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การปฏิรูปการศึกษาจะต้องปฏิรูปการคิด:ตอนแรก

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  แต่มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับการศึกษาที่ไม่ค่อยพูดถึงกันคือ การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุย์

ประเทศไทยมีการขยายการศึกษาอย่ากว้างขวางในทุกระดับ  ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการศึกษาระดับอุดมศึกษา  มีการกระจายการศึกษาอันหลากหลายไปทั่วทุกภูิมิภาคของประเทศ  มีผู้จบการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปีในทุกระดับ

ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าการศึกษาส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีขึ้นในทุกๆด้านจริง  ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองเราน่าจะดีขึ้น  ปัญหาต่างๆน่าจะหมดไปหรือลดน้อยลง

แต่หากดูอย่างพินิจพิจารณา  พบว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันปัญหาสังคมไทยมีมากมาย และนับวันจะซับซ้อนมากขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและะวัฒนธรรม แสดงถึงว่าไทยเราน่าจะมีการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด เป็นการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

เรามีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในวงการเมือง ระบบราชการและวงการธุรกิจ

เรามีปัญหาการใช้จ่ายที่เกินตัว มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจส่วนบุคคลและประเทศชาติล่มสลาย จนครั้งหนึ่งถึงกับต้องขอความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ

เรามีระบบอุปถัมภ์ ที่บ่อนเซาะกำลังใจข้าราชการทีมีความรู้ความสามารถแต่ขาดผู้อุปถัมภ์ จนเป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐอ่อนแอลง จนถึงกับขาดประสิทธิภาพ

เรามีปัญหาการรับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขาดการแยกแยะ วิเคราะห์ถึงความเหมาะสม

เรามีปัญหาการบริโภคเทคโนโลยีใหม่ๆ  เพียงเพื่อความทันสมัยและความสะดวกสบายของชีวิต โดยขาดการพิจารณาถึงความจำเป็นที่แท้จริง

ปัญหาเหล่านี้ นับวันแต่จะเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและความซับซ้อน และจะบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

การจะแก้ปัญหาดังที่กล่าวมานี้  ไม่มีวิธีแก้ปัญหาสำเร็จรูป หรือใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีเดียว

แต่หากสังคมไทยยอมรับว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหา และจำเป็นต้องแก้ไข ก็ยังมองไม่เห็นวิธีอื่นดีไปกว่าการรู้จักใช้การคิดที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะการคิดเป็นการเริ่มต้นนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดี การคิดนำไปสู่การเกิดความรู้ใหม่ๆ  การคิดนำไปสู่ความเป็นอิสระและการพึ่งตนเอง และการคิดนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นจะต้องปฏิรูปการคิด ยิ่งเป็นสมัยที่มีข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้ามากมากมายและหลากหลายในขณะนี้ การคิด การรู้จักคิด การเปลี่ยนวิธีคิด หรือการคิดเป็น จะยิ่งมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ
                                          -----------------------------------

                                                          สาระคำ

การศึกษา คือการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และการถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถณา
                                          -----------------------------------

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลูกเทวดา

ใครที่ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง  มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ค่อนข้างจะฮิตติดชาร์ตอยู่หลายเดือนที่เดียว คือเพลงลูกเทวดาโดยสาระของเพลงมีอยู่ว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งอยากมีลูก จึงไปบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และก็ได้ลูกสมปรารถณา เป็นชาย  สามีภรรยาคู่นั้นเลี้ยงดูลูกชายเป็นอย่างดี แบบเรือดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม  งานใดๆไม่ต้องทำ สมกับเป็นลูกเทวดา

กล่าวกันว่าเทวดานั้นเหงื่อออกไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่เหงื่อออกจะต้องจุติมาเกิดในเมืองมนุษย์  เสียความเป็นเทวดาไป  ด้วยเหตุนี้เทวดาจึงเหาะไปเหาะมา ไม่ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ผลการเลี้ยงดูของสามีภรรยาคู่นั้นในลักษณะดังกล่าว  สุดท้ายลูกชายก็เป็นลูกเทวดา งานการไม่ทำ นำเรื่องเดือดร้อนมาให้พ่อแม่ตลอด มีทั้งปัญหาเล็กปัญหาใหญ่

ความจริง ปรากฏการณ์ลูกเทวดามีทั่วโลก ในเมืองจีนสมัยที่เคร่งครัดเรื่องการควบคุมจำนวนประชากร ครอบครัวไหนมีลูกชาย ส่วนใหญ่จะกลายเป็นฮ่องเต้น้อย อยากได้อะไรพ่อแม่ต้องหามาให้  หากไม่ได้ดังใจจะชักดิ้นชักงอ ไม่เลือกเวลาสถานที่

เมืองไทยเราก็มีปรากฏการณ์ลูกเทวดาเช่นกัน ที่รู้จักกันดีก็เห็นจะเป็นลูกเทวดา ที่ชอบถามชาวบ้านว่า "มึงรู้ไหมว่าพ่อกูเป็นใคร" ขนาดตัวเองยังไม่รู้ แล้วคนอื่นจะรู้ได้อย่างไร เห็นจะต้องแนะนำให้ไปถามแม่ตัวเองเพื่อความแน่นอน  เพราะเป็นผู้ที่รู้่ดีที่สุด ส่วนพวกไล่ตีไล่แทงตามท้องถนน ก็ดี เด็กแว้นเด็กสก๊อย ก็ดี หรือพวกที่รีดลูกทิ้ง ก็ดี ส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทลูกเทวดาทั้งสิ้น

ในทางจิตวิทยา บุคลิกภาพและพฤติกรรมของคนขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม  พันธุกรรมเป็นลักษณะที่ได้จากพ่อแม่ เช่น รูปร่างหน้าตา สติปัญญา ตลอดลักษณะเด่นและลักษณะด้อยบางอย่าง  ส่วนสิ่งแวดล้อมได้แก่การอบรมเลี้ยงดู ทำให้มีลักษณะต่างๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

จะเห็นว่า เด็กจะเป็นลูกเทวดาหรือไม่ พ่อแม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้ลักษณะทางพันธุกรรมและเป็นสิ่งแวดล้อมของลูก  เมื่อลูกเป็นเทวดาจะไปโทษสังคมหรือสถาบันการศึกษาทีเดียวเห็นจะไม่ได้ เพราะสังคมเป็นแค่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ให้ลักษณะทางพันธุกรรม

สถาบันครอบครัวจึงเป็นตัวกำหนดว่าลูกจะเป็นลูกเทวดาหรือไม่ ความเชื่อและวิธีการต่างๆ ที่พ่อแม่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก  นำไปสู่การสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม หรือสร้างลูกเทวดาให้รบกวนความสงบสุขของตนเองและสังคม

วิธีการอบรมเลี้ยงดู ที่มีผลทำให้ลูกเป็นเทวดา  คือการให้ความสำคัญแก่ลูกมากเกินไป  แบบที่เรียกว่าโอ๋จนเสียผู้เสียคน ไม่อยากเห็นลูกลำบาก ทำแทนลูกทุกอย่าง ปกป้องลูกมากเกินเหตุ จนลูกทำอะไรไม่เป็น แก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ เอาใจด้วยประการต่างๆ จนเด็กกลายเป็นนายคนอื่น ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ของตนเอง  ยิ่งถ้าลูกคนนั้นเป็นลูกโทน ลูกชายหรือลูกหญิงคนเดียว หรือลูกคนสุดท้องไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าเลี้ยงดูโดยไม่ใช้เหตุผล มีโอกาสที่ลูกจะเป็นลูกเทวดามากขึ้น เพราะพ่อแม่ทุ่มเทความรักให้เต็มที่  เข้าทำนองที่ว่า ความรักทำให้คนตาบอด เป็นพ่อแม่ที่ตาบอด มองไม่เห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องของลูก  ลูกทำอะไรไม่เคยผิด

ผลก็คือลูกจะกลายเป็นลูกเทวดา เหาะไปเหาะมา การงานทำไม่ไเป็น มีพ่อแม่เป็นตู้ ATM

หากไม่ต้องการเห็นลูกเทวดาเต็มบ้านเต็มเมือง ก็เห็นจะต้องเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกกันใหม่ คือใช้เหตุผลมากขึ้น สอนให้รู้จักรับผิดชอบ รู้จักทำงานทำการ มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต  ทำได้อย่างนี้  เชื่อว่าลูกเทวดาจะลดน้อยลง จะมีแต่ลูกที่เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากขึ้น
                               ---------------------------------------
                                                     สาระคิด

     โรคภัยทางกายจะเข้าทางปาก ภัยพิบัติก็ออกจากปาก เมื่อจะพูดสิ่งใดจึงควรพิจารณาให้ดี
                                        ----------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาธิปไตยบ้านเรา:คนไทยกับประชาธิปไตย

สำหรับประชาธิปไตยบ้านเรา ที่กล่าวกันว่าล้มลุกคลุกคลาน ก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นระบอบการปกครองที่นำเข้ามาจากประเทศตะวันตกประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งน่าจะมีเหตุมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่ไม่เอื้อต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ

คนไทยมีลักษณะอิสระนิยม ชอบความเสรี ทำได้ตามใจคือไทยแท้ บางครั้งให้ความสำคัญกับอิสระนิยมมากจนขาดความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา  ลักษณะอิสระนิยม  ทำให้คนไทยทำงานเป็นกลุ่มเพื่อเป้าหมายร่วมกันไม่เป็น  การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

คนไทยมีลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ยึดตนเองเป็นสำคัญ  มากกว่าคำนึงถึงส่วนรวม มุ่งสนองความต้องการของตนเอง  สนใจผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าส่วนรวม  แม้เชื่อว่าอุดมการณ์ หลักการ และกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ  แต่จะปฏิบัติตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือถ้าจะปฏิบัติก็ปฏิบัติในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับตน

คนไทยมีลักษณะอำนาจนิยม  ทำให้คนไทยแสวงหาอำนาจ ชอบการมีอำนาจ  เพราะอำนาจทำให้สถานะภาพทางสังคมสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน คนไทย ยกย่อง ให้เกียรติ เกรงกลัว เคารพผู้มีอำนาจ เพราะอำนาจนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง  จึงก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจในที่สุด

คนไทยยึดตัวบุคคลมากกว่ากฎเกณฑ์หรือหลักการ  เคารพตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์หรือข้อบังคับ  เพราะเชื่อว่ากฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นมา คนจึงสามารถลบล้างกฎเกณฑ์ได้  คนไทยไม่ทำงานเพื่อส่วนรวมแต่ทำงานเพื่อบุคคล  ทำงานตามความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าทำตามกฎเกณฑ์

ลักษณะดังกล่าวนี้  จะมีในคนไทยส่วนใหญ่ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล

เมื่อพิจารณาจากลักษณะของคนไทย ควบคู่กับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยดังกล่าวแล้ว  จะพบว่าพฤติกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย   แตกต่างไปจากประเทศแม่แบบ

มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคานอาำนาจทางการเมือง  โดยเริ่มตั้งแต่การสรรหา ตลอดจนข่มขู่คุกคาม

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะมีเสียงครหาว่ามีการซื้อเสียง  เพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่ อ้างว่าเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน  ซึ่งถ้าจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชนยอมลงทุนซื้อเสียงทำไม

พอมีการทำรัฐประหาร คนไทยก็เอาดอกไม้ อาหารไปมอบให้ทหาร  แสดงความชื่นชม  กว่าจะคิดได้ว่าจะต้องต่อต้านการทำรัฐประหารก็ต้องใช้เวลาปีกว่า

มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักการเมือง  แทนที่นักการเมืองจะปรับตัวให้เข้ากับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ส่วนพรรคการเมืองบ้านเรามีหลายรูปแบบ มีทั้งพรรคแบบสหกรณ์ เป็นพรรคที่สมาชิแต่ละคนมีความเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค พรรคแบบริษัทจำกัด ใครถือหุ้นใหญ่คนนั้นมีอำนาจในการบริหารพรรค พรรคแบบเถ้าแก่ เป็นพรรคที่มีนายทุนคนเดียวเป็นเจ้าของพรรค โดยตั้งญาติสนิทมิตรสหายเป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ตอนนี้นักการเมืองกำลังพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นผลไม้พิษ

เหล่านี้เป็นประชาธิปไตยบ้านเรา  ที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพจนเกินพอดี  ขาดการใช้สติวิเคราะห์วิจารณ์ การยกย่องบุคลลโดยอาศัยข้อมูลด้านเดียว และการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย

หากปล่อยให้การเมืองบ้านเราเป็นไปตามแต่นักการเมืองจะจัดการอย่างนี้  อีกไม่นานเชื่อว่าสังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะไร้ระเบียบ เกิดสงครามกลางเมือง และเกิดความหายนะของบ้านเมืองโดยรวมจะตามมา
                                              -----------------------------------
                                                            สาระคิด
                If you can make good use of time. You will surely go where you want to go.
            ถ้าคุณใช้เวลาทุกขณะอย่างคุ้มค่า  แน่นอนว่าชีวิตของคุณย่อมบรรลุเป้าหมาย
                                                 ------------------------------
                                         

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประขาธิปไตยบ้านเรา:ภาคแรก

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นับถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาแปดสิบกว่าปี  แต่ประชาชนส่วนหนึ่ง ก็ยังเห็นว่าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  ล้มลุกคลุกคลาน มีการทำรัฐประหารควบคู่กับการเลือกตั้งเสมอมา ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี หน้ากากขาว ฯลฯ

ม็อบเหล่านี้ส่วนหนึ่งต้องการขับไล่ พตท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเชื่อว่า พตท.ทักษิณ บริหารประเทศแบบคณาธิปไตย คือพรรคพวกและคณาญาติเป็นใหญ่  มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

ม็อบอีกส่วนหนึ่งต้องการให้ พตท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมา เพราะเชื่อว่าพตท.ทักษิณเป็นเสาหลักและสัญญลักษณ์ของประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ประเทศมี"ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

โดยสรุป ก็คือว่า ทั้งสองฝ่ายต้องการการปกครองแบบประชาธิปไตย  เพราะเชื่อว่าที่เป็นอยู่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ในทางรัฐศาสตร์ การจะเป็นประชาธิปไตย   จะต้องยึดหลัก 5 หลักต่อไปนี้

หลักหนึ่ง คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนจะแสดงความเป็นเจ้าของประชาธิปไตย  โดยใช้สิทธิ์ในการกำหนดผู้ปกครอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

หลักสอง คือหลักเสรีภาพ เป็นหลักที่ประกอบด้วย เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในทรัพย์สิน เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

หลักสาม คือหลักเสมอภาค ประกอบด้วบ ความเสมอภาคทางการเมือง เป็นความเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิ์ทางการเมือง ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ เป็นความเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพตามความรู้ความสามารถ และความเสมอภาคทางสังคม เป็นความเท่าเทียมกันในโอกาสที่จะรับบริการจากรัฐ

หลักสี่ คือหลักกฎหมาย เป็นการปกครองโดยใช้หลักกฎหมาย กล่าวคือในการปกครองแบบประชาธิปไตย กฎหมายจะต้องมีที่มาที่ชอบธรรม  การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน  และประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค

หลักห้าคือหลักเสียงข้างมาก ในการตัดสินใจใดๆ ต้องยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก และเคารพเสียงส่วนน้อย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ประเทศประชาธิปไตยไหนๆก็ยึดหลัก 5 หลักดังกล่าวนี้  และต้องยึดถือปฏิบัติให้ครบทั้ง 5 หลัก ขาดหลักใดหลักหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดก็ไม่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันหากให้ความสำคัญกับหลักใดหลักหนึ่งมากเกินไป เช่นให้ความสำคัญกับหลักเสรีภาพมากเกินไป  หลักกฎหมายก็หย่อนยาน

นั่นคือต้องให้หลัก 5 หลักอย่างผสมผสานกลมกลืน มีดุลยภาพ  และที่สำคัญต้องเพื่ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่

ส่วนรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น มีหลายรูปแบบ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก็มี  ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประธานาธิบบดีเป็นประมุข ก็มี และที่ประธานาธิบดีเป็นทั้งผู้บริหารและเป็นประมุข ก็มี  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศนั้นๆ

ก็ต้องช่วยกันวิเราะห์ดูว่า ปัจจุบันนี้การปกครองของไทยใช้หลักประชาธิปไตยครบทั้ง 5 หลักอย่างมีดุลยภาพแล้วหรือยัง  ถ้ายัง เป็นเพราะเหตุใด
                                     -----------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศประเทศเบื้องต้น

คำว่า ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น  คำนี้คนที่ไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจคงไม่ค่อยจะได้ยิน  หรือได้ยินแต่ไม่ค่อยจะเข้าใจ  แต่ถ้าใช้คำว่า จีดีพี หลายคนคงเคยได้ยิน เพราะรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาพูดบ่อยๆ ว่า จีดีพี เพิ่มหรือลดเท่านั้นเท่านี้ในแต่ละปี  และย้ำว่าถ้า จีดีพี เพิ่มแสดงว่าเศรษฐกิจดีขึ้น  ถ้า จีดีพี ลด   รัฐบาลก็พยายามอธิบายถึงสาเหตุต่างๆนานา

คำว่า จีดีพี หรือ GDP เป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Gross Domestic Product ซึ่งหมายถึงมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศ  ภายในระยะเวลาหนึ่ง  ปกติคิด 1 ปี

ผลิตภัณฑ์ หมายถึง สินค้าและบริการ  สินค้า หมายถึงสิ่งที่สัมผัสได้ เช่น วิทยุ นาฬิกา ฯลฯ ส่วน บริการ หมายถึง สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่นการนำเที่ยว การประกันภัย ฯลฯ

สินค้าและบริการขั้นสุดท้าย หมายถึง สินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อไป เพื่อบริโภค หรือซื้อไปเพื่อเป็นเครื่องมือในการผลิต

ผลิตภัณฑ์เบื้องต้น หมายถึง มูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้หักค่าเสื่อมราคาหรือค่าสึกหรอ
ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หมายถึง สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ  ไม่ว่าจะผลิตด้วยทรัพยากรของชนชาติใด ก็๋ถือว่าเป็นผลผลิตของประเทศนั้น เช่น คนญี่ปุ่น นำเงินทุน เครื่องจักร์ แรงงาน ฯลฯ มาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย  ก็จะถูกนับรวมใน GDP ของไทย

ปกติ GDP ใช้บอกความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ไำด้บอกถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ  หากไม่มีการ กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
                                    -----------------------------------------------------
                                                  สาระคำ
การพัฒนา (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย และการไปสู่เป้าหมายได้จะต้องมีแผน และแผนที่ดีจะต้องเกิดจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ  การพัฒนาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ทิศทาง

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Law)

เกณฑ์ทีใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนี้ ใช้เกณฑ์องค์กรผู้ตรากฎหมายเป็นหลัก  กล่าวคือ ถ้าระบบการเมืองการปกครองถือว่าองค์กรใดสูงสุด  กฎหมายที่ออกโดยองค์กรนั้นก็จะสูงสุดตามไปด้วย   ส่วนองค์กรที่สำคัญรองลงมา กฎหมายที่ออกโดยองค์กรนั้น  มีศักดิ์ลดหลั่นรองลงไป

ประเทศไทยถือว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุด  รัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมร่างจึงมีศักดิ์สูงสุด ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย  3  องค์กร คือ รัฐสภา  รัฐบาล และศาล  กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา  รัฐบาล จะมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมา  ก็มีความสำคัญไม่เท่ากัน  กล่าวคือ รัฐสภาจะสูงกว่ารัฐบาล  กฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น โดยหลักจึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่รัฐบาลตราขึ้น

นอกจากนั้นในฝ่ายบริหารเอง  ฝ่ายบริหารระดับชาติ  ย่อมมีความสำคัญและมีฐานะสูงกว่าฝ่ายบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลจึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ศักดิ์ของกฎหมายมีผลในทางกฎหมาย  3  ประการ  กล่าวคือ
          1. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะตราออกใช้ก็โดยอาสัยกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
          2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะตรากฎหมายเกินอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ากำหนดไว้ไม่ได้  ถ้าตราเกินอำนาจถือว่ากฎหมายนั้นไม่มีผลบังคับ
          3. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า  จะขัดหรือแย้งกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้  กรณีที่ขัดหรือแย้งกัน  ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ  ไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะตราออกใช้ก่อนหรือหลัง

                                                -------------------------------------

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การงานคือการปฏิบัติธรรม

                                         อันการงาน  คือคุณค่า  ของมนุษย์
                                         ของมีเกียรติ  สูงสุด  อย่าสงสัย
                                         ถ้าสนุก  ด้วยการงาน  เบิกบานใจ
                                         ไม่เท่าไร  ได้รู้ธรรม  ฉ่ำซึ้งจริง


                                         เพราะการงาน  เป็นตัวการ  ประพฤติธรรม
                                         กุศลกรรม  กล้ำปนมา  มีค่ายิ่ง
                                         ถ้าจะเปรียบ  ก็เปรียบคน  ฉลาดยิง
                                         นัดเดียววิ่ง  เก็บนก  หลายพกมา


                                         คือการงาน  นั้นต้องทำ  ด้วยสติ
                                         มีสมาธิ  ขันติ  มีอุตสาห์
                                         มีสัจจะ  มีทมะ  มีปัญญา
                                         มีศรัทธา  และกล้าหาญ  รักงานจริง


                                                                    พุทธทาสภิกขุ

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จะดูโลกในแง่ดี

          จงดูเถิด  โลกนี้  มีหลายแง่
          ดูให้แน่  น่าสรวล  เป็นชวนหัว
          หรือชวนเศร้า  โศกสลด  ถึงหดตัว
          ดูให้ทั่ว  ถ้วนความ  ตามแสดง


          จะดูมัน  แง่ไหน  ตามใจเถิด
          แต่ให้เกิด  ปัญญา  มาเป็นแสง
          ส่องทางเดิน  ชีวา  ราคาแพง
          อย่าให้แพลง  พลาดพลั้ง  ระวังเอย

                         พุทธทาสภิกขุ