วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคอื่นในเชิงบวกด้วยการเป็นตัวแบบ

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคลลอื่นมีทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ เพียงแต่ว่า หากใช้วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงลบ จะได้การตอบสนองในเชิงลบเช่นเดียวกัน

ดังนั้น มนุษย์จึงควรสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในเชิงบวก ทั้งในเรื่องส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาชนะในทางธุรกิจ รักษามิตรภาพ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น

Stephen R. Covey  ผู้เขียนหนังสือ Principle-centered Leadership เห็นว่า การจะสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวก สามารถทำได้ด้วยการเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็น สร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังเพื่อให้คนอื่นรู้สึก เป็นคู่คิดด้วยการบอกเตือนเพื่อให้เขาได้ยิน

สำหรับการเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเป็นใครและมีพฤติกรรมอย่างไร Covey ระบุว่ามีวิธีการดังนี้

1.ละเว้นการพูดที่ขาดความเมตตาหรือพูดในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกยั่วยุหรือเมื่อมีความเหนื่อยอ่อน การไม่พูดด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเป็นการชนะใจตนเอง เป็นความกล้าอย่างหนึ่ง

2. แสดงถึงความอดทนต่อผู้อื่นในขณะที่เครียด บุคคลมักจะขาดความอดทน อาจจะพูดในสิ่งที่ไม่คิดจะพูด หรือตั้งใจจะพูด ขณะที่มีความเครียด ความอดทนแสดงให้เห็นถึงความศรัทธา ความหวัง ปัญญา และความรัก ความอดทนเป็นความฉลาดทางอารมณ์

3. แยกให้ออกระหว่าง ตัวบุคคล พฤติกรรม และการปฏิบัติ ขณะที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือการปฏิบัติที่แย่ บุคคลจะต้องสื่อสารและช่วยสร้างความสำนึกของการมีคุณค่าที่แท้จิงให้กับคนอื่น พร้อมกันกับการเห็นคุณค่าแห่งตย โดยไม่มีการเปรียบเทียบและการตัดสินว่าถูกหรือผิด เป็นการแยกพฤติกรรมและการปฏิบัติออกจากตัวบุคคล

4 บริการโดยไม่หวังผลตอบแทน เมื่อไรก็ตามที่เราทำความดีกับคนอื่น ความสำนึกของการมีคุณค่าที่แท้จริงและการยอมรับตนเองจะเพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้น การบริการโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย การบริการโดยปราศจากการเห็นแก่ตัว เป็นวิธีที่สร้างอิทธิพลที่มีพลังมากที่สุดวิธีหนึ่ง

5. เลือกที่จะตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ เป็นการเลือกของตนเองและตอบสนองด้วยตนเอง  เป็นการเลือกตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่ฝึกการเลือกที่ฉลาด การกระทำของเราจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขต่างๆ การเลือกที่จะตอบสนองด้วยความรับผิดชอบ เป็นสิทธิและพลังในการที่จะตัดสินใจ ว่าจะยอมให้บุคคลหรือสิ่งภายนอกมีอิทธิพลต่อเรามากน้อยเพียงใด

6.รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น การให้สัญญาและการรักษาสัญญาทำให้บุคคลมีอิทธิพลเหนือคนอื่น เพื่อการเป็นคนดีและเป็นการกระทำที่ดี บุคคลจะต้องรักษาสัญญา แต่อย่าให้สัญญาในสิ่งที่ทำตามสัญญาไม่ได้ การรู้จักตนทำให้เรารู้ว่าสัญญาใดที่ทำขึ้นแล้วสามารถรักษาได้หรือรักษาไม่ได้ การรักษาสัญญาเป็นมาตรการที่แสดงถึงความศรัทธาและความมีบูรณาการในตัว

7. มุ่งขยายขอบเขตอิทธิพล เพียงแต่มุ่งทำสิ่งที่เราควบคุมได้ในเชิงบวก ขอบเขตของอิทธิพลก็จะขยายออก ปัญหาใดที่ควบคุมได้จะต้องแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนนิสัยการกระทำและการคิด ส่วนปัญหาที่ควบคุมไม่ได้จะต้องเปลี่ยนวิธีการ

8. มีชีวิตภายใต้กฎแห่งความรัก มนุษย์มีความนุ่มนวลภายใน แม้คนที่ดูกระด้างและพึ่งตนเองได้ เราสามารถมีอิทธิพลต่อคนอื่นเพิ่มขึ้นด้วยการแสดงความรัก โดยเฉพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เพราะทำให้บุคคลอื่นรู้สึกว่ามีคุณค่าและปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมเหมือนหรือมีการเปรียบเทียบกับคนอื่น

วิธีการสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวก ทั้ง 8 ประการนี้ เป็นตัวแบบที่ทำให้คนอื่นเห็น เมื่อคนอื่นเห็นการกระทำของเราในลักษณะที่กล่าวมา ทำให้เกิดความรู้สึกในทางที่ดี จะทำให้เรามีอิทะิพลในเชิงบวกเหนือบุคลอื่นได้ในระดับหนึ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                                     ปัญญาย่อมเกิดเพราะการใช้

                                                                        พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)

*********************************************************************************



วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

การพัฒนาตนตามทัศนะของโรเจอร์ส

คาร์ล โรเจอร์ส(Carl Rogers) เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิทยามนุษยนิยม เป็นเจ้าของทฤษฎีเกี่ยวกับตน(Self-Theory) และวิธีการบำบัดที่เรียกว่า Client centered Theory หรือ Non-directive Theory หรือ Person-centered Theory ซึ่งเป็นวิธีบำบัดที่ยึดผู้รับการบำบัดเป็นศูนย์กลาง เพราะเชื่อว่าผู้รับการบำบัดเป็นผู้รู้ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาชองตน

ปัจจุบันทฤษฎีการยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง ได้รับการยอมรับและนำไปประยุกต๋ใช้อย่างกว้างขวาง โดยนำไปใช้กับบุคคลปกติมากขึ้น เพื่อพัฒนาบุคคลให้งอกงามเต็มศักยภาพ

ในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคคล โรเจอร์ส เห็นว่า มนุษย์นั้นมีลักษณะเปราะบาง แต่ยืดหยุ่นได้เหมือนสาหร่ายทะเล  ส่วนบุคลิกภาพจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้ตน(self-perception)และประสบการณ์ หากการรับรู้ตนกับประสบการณ์ทำหน้าที่ผสมกลมกลืนมากเท่าไร ความมั่นคงปลอดภัยจะเกิดขึ้นกับตนเองมากขึ้นเท่านั้น

โรเจอร์ส เห็นว่ามนุษย์มีความปรารถนาที่จะสร้างภาวะสมดุลย์  เพื่อการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น มีอิสระมากขึ้น มีเสรีภาพที่จะแสดงออก มนุษย์ทุกคนสามารถแก้ปัญหาของตนได้ มนุษย์ไม่มีธรรชาติใฝ่ต่ำ แต่สถานการณ์แวดล้อมไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้ และจากประสบการณ์ทำจิตบำบัดของเขา พบว่า มนุษย์ทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดี แต่มีเป้าหมายของชีวิตแตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล

เกี่ยวกับการพัฒนาตน มนุษย์แต่ละคนมีแรงขับเพื่อการพัฒนาตนให้เป็นตนตามความเป็นจริง แต่การมีแรงจูงใจหรือแรงขับอย่างเดียว บุคคลไม่สามารถจะพัฒนาตนไปสู่ความเป็นตนตามความเป็นจริงได้ เพราะมนุษย์มีความต้องการ 2 ประการ คือ ความต้องการที่จะได้รับความนับถือจากบุคคลอื่นในเชิงบวก การยอมรับในที่นี้ หมายรวมถึงการเห็นอกเห็นใจ การให้ความอบอุ่น ฯลฯ กับความต้องการนับถือตนเอง ซึ่งความต้องการทั้ง 2 ประการนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาตนด้วย

การพัฒนาตนเริ่มตั้งแต่วัยทารก โลกของทารกคือการมีประสบการณ์ที่เป็นจริง ที่สัมผัสได้ด้วยตนเอง มีทั้งแรงขับและแรงจูงใจ ที่ผลักดันให้บุคคลต้องการรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เมื่อเด็กโตขึ้นจะสามารถจำแนกประสบการณต่างๆ และรู้ว่าอะไรเป็นของคนอื่นอะไรเป็นของตน

ด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข บุคคลนั้นจะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพจิตดี ส่วนเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบไม่คงเส้นคงวา ตั้งความหวังกับลูกมากเกินไป ลูกเป็นสิ่งชดเชยความรักหรือความขาดแคลนของพ่อแม่ ทำให้เด็กมีตัวตนสับสน เด็กจะพัฒนานิสัยใจคอไปในทางลบ เช่น ชอบหลอกตัวเองและบุคคลอื่น ชอบกล่าวโทษผู้อื่น หนีสังคม มักมองเห็นสังคมและผู้คนรอบข้างไม่น่าไว้วางใจ

และจากประสบการณ์การทำจิตบำบัด ทำให้โรเจอร์สพบความจริงว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตที่ดีตามเป้าหมายของชีวิตที่แตกต่างไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล 

สำหรับชีวิตที่ดีตามทัศนะของโรเจอร์สมีดังนี้

          1.เปิดรับความคิดหรือความรู้สึกของตนอย่างจริงใจ ไม่ว่าความคิดหรือความรู้สึกนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ตลอดจน มีความสามารถในการจัดการกับความคิดหรือความรู้สึกนั้นได้อย่างเหมาะสม

          2.มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ผูกมัดตนเองกับประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งจะมี จะเป็น ในอนาคต

          3. ตัดสินใจเลือกวิถึชีวิตหรือการกระทำด้วยความคิดและสติปัญญาของตน แต่ไม่ได้เป็นคนดื้อรั้นหรือหลงตน โดยไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เป็นบุคคลยอมรับกฎเกณฑ์ท างสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือก

          4. มีอิสระที่จะทำกิจกรรม หรือบทบาทต่างๆด้วยความรับผิดชอบ ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของศีลธรรมจรรยา

          5. มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ทำอะไรโดยผูกติดกับอยู่กับประเพณีและวัฒนธรรมตลอดเวลา

โดยสรุป โรเจอร์สซึ่งเป็นเจ้าทฤษฎีเกี่ยวกับตน และกระบวนการจิตบำบัดโดยยึดบุคลลเป็นศูนย์กลาง มีทัศนะว่่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนดี ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายการมีชีวิตที่ดี แต่ที่ไม่อาจพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้ก็เพราะสิ่งแวดล้อมทางชักนำให้เป็นไป  โดยเฉพาะการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

            มนุษย์ทุคนมีตัวตน 3 แบบ คือตนที่ตนมองเห็น ตนตามที่เป็นจริง และตนตามอุดมคติ

                                                                           Carl Rogers

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ลักษณะบุคคลที่มีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์

ทัศนคติมีความสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์ การจะแสดงพฤติกรรมในลักษณะใดจะขึ้นอยู่กับทัศนคติของบุคคลผู้นั้น 

ในการแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากจะต้องใช้วิธีการและกระบวนวิธีที่ถูกต้องแล้ว ยังจำเป็นที่บุคคลจะต้องมีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์(Scientific Attitude)ด้วย การแก้ปัญหาจึงจะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล

ซึ่งผู้มีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์จะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

          1. มีความอยากรู้อยากเห็นในการที่จะแสวงหาคำตอบที่มีเหคุผลในข้อปัญหาต่างๆ เพราะความอยากรู้อยากเห็นทำให้เกิดความยินดีเมื่อพบปัญหาใหม่ๆ

          2.มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอยเมื่อมีปัญหาอุปสรรค หรือประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหา และหากมีความล้มเหลวเกิดขึ้นให้ถือว่าเป็นข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้

          3. เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับในคำอธิบายเมื่อมีหลักฐานข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ ตลอดจนเป็นผู้อธิบายหรือแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

          4. มีความซื่อสัตย์ เมื่อมีการบันทึก จะต้องบันทึกผลหรือข้อมูลตามความเป็นจริง ถูกต้อง ละเอียด สามารถตรวจสอบได้

          5.เป็นผู้มีระเบียบรอบคอบ และเห็นประโยชน์ของการวางแผน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักไตร่ตรองพินิจพิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ

          6. เป็นผู้มีใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่น รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ข้อโต้แย้ง หรือข้อคิดเห็นที่มีเหตุผลของผู้อื่น โดยไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดของตนฝ่ายเดียว ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อยังหาข้สรุปที่แน่นอนไม่ได้

ทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมา เป็นทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ บุคคลใดที่ต้องการแก้ปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นระบบ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับกระบวนวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

ทัศนคติ(Attitude) หมายถึง กรอบของความคิดที่แสดงออกถึงความชอบ ไม่ชอบ หรือไม่แสดงออก ต่อ บุคคล สถานที่ หรือ เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแนวโน้มของพฤติกรรมตอบสนอง อันเกิดจากการรู้คิด อารมณ์ และพฤติกรรม
                                        *********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แนวทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มต่างๆเป็นอย่างไร

จิตวิทยา คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อเข้าใจ อธิบาย และทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ 

แนวทัศนะทางจิตวิทยาที่สำคัญๆแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มจิตวิเคราะห์(Psychoanalysis)

จิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2443 ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มนี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ เขาเห็นว่า จิตแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก

จิตใต้สำนึกและจิตไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยทางอ้อม จิตไร้สำนึกเป็นเหตุจูงใจให้บุคคลมีพฤติกรรมโดยใช้พลังจิต อันได้แก่ อิด(Id) อีโก(Ego) และซุปเปอร์อีโก(Super Ego) ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมให้เป็นไปตามสัญชาตญาณที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง นักจิตวิทยากลุ่มนี้ศึกษาจากคนป่วยโรคจิต โรคประสาท

นอกจากฟรอยด์แล้ว นักจิตวิทยากลุ่มนี้ยังมี แอดเลอร์(Adler) อีริคสัน(Erikson) เป็นต้น

ฟรอยด์เองไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาตนไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี แต่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในอดีตของมนุษย์มาก

กลุ่มพฤติกรรมนิยม(Behaviorism)

กลุ่มพฤตกรรมนิยมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 วิธีการศึกษาของกลุ่มนี้ใช้วิธีการทดลอง ประกอบด้วยการสังเกตอย่างมีแบบแผน

นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์จะต้องมีสาเหตุ และพฤติกรรมของมนุษย์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้า และเมื่อมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าติดต่อกันเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้

สำหรับแนวทัศนะของกลุ่มพฤติกรรมนิยมสรุปได้ดังนี้

1. การวางเงื่อนไขเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

2. พฤติกรรมของคนส่วนมากเกิดจากการเรียนรู้มากกว่าเป็นไปเองตามธรรมชาติ

3. การเรียนรู้ของคนไม่ต่างจากสัตว์มากนัก จึงสามารถศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ได้จากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนามนุษย์ ก็คือ การจัดสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและทางสังคม หรือด้วยการวางเงื่อนไขที่เหมาะสม

นักจิตวิทยากลุ่มนี้ปฏิเสธเรื่องจิตสำนึก เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นอัตนัยไม่สามารถเห็นหรือสังเกตเห็นได้อย่างเป็นปรนัย

นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัตสัน(Watson) สกินเนอร์(Skinner) เป็นต้น

กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)

กลุ่มมนุษยนิยมเป็นนักจิตวิทยากลุ่มหลังสุด นักจิตวิทยากลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในด้านดีงาม มนุษย์มีธรรมชาติใฝ่ดี รู้คุณค่าในตน มีความรับผิดชอบในชีวิตและการกระทำของตน สุข ทุกข์ ชั่ว ดี เกิดจาการเลือกของมนุษย์เอง และที่สำคัญคือมนุษย์ต้องการรู้จักตนเอง ต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ

ทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ไม่ได้มองว่ามนุษย์ "เลว" หรือ "เหมือนหุ่นยนต์"  แต่มองว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และมนุษย์มีการเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์

กลุ่มมนุษยนิยมเน้นการศึกษามนุษย์ในเชิงบวก มีวิธีการและจิตใจที่เปิดกว้าง ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้

ผู้นำของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ ได้แก่ อับรมฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) และคาร์ล โรเจอร์ส(Carl Rogers)

จะเห็นว่านักจิตวิทยาทั้ง 3 กลุ่ม แม้จะ มีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายไม่ค่อยจะต่างกัน คือต่างก็พยายามจะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ และมองตรงกันว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ

                                                                         Abraham Maslow

*********************************************************************************