วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ภาวะแห่งตนกับการสื่อสารระหว่างบุคคล

ตามทฤษฎีของเบิร์น (Eric Berne) เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนมี 3 ภาวะอยู่ในคนๆเดียวกัน หรือ บุคลิกภาพของคนประกอบด้วย 3 ภาวะ ได้แก่ ภาวะพ่อแม่ ภาวะผู้ใหญ่ และภาวะเด็ก ทั้ง 3 ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะแห่งตน(Ego Stages) ซึ่งเป็นระบบของความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้น

ภาวะแห่งตน 3 ภาวะ นี้ ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของบุคคล ในขณะที่มีการสื่อสารคนกับอื่นในเวลาใดเวลาหนึ่ง และในขณะที่มีการสื่อสาร ภาวะแห่งตนอาจเปลี่ยนจากภาวะหนึ่งไปยังอีกภาวะหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะแห่งตนทั้ง 3 ภาวะ ไม่ได้สัมพันธ์กับอายุตามปฏิทินของแต่ละบุคคล  ผู้ใหญ่อาจมีภาวะเด็ก หรือเด็กอาจมีภาวะพ่อแม่ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นมีภาวะใดที่มีอิทธิพลเหนือกว่า 

1.ภาวะพ่อแม่ (Parent Ego State)

ภาวะพ่อแม่ เป็นความรู้สึก เจตคติ แนวความคิด และ พฤติกรรม ที่บุคคลได้จากการมีประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นภาพของพ่อแม่หรือบุคคลที่เคยเลี้ยงดู

เมื่ออยู่ในภาวะพ่อแม่ บุคคลจะพูดและทำเหมือนพ่อแม่จริงๆ ในการพูดจะใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นพ่อแม่ เช่น ใช้คำว่า "อย่า" "ควรจะ" "ไม่ควรจะ" "อย่าแตะ" "จงเป็นคนดี" "กินเสีย" "จะทำเอง" "ไม่เจ็บนะ" "อย่ากวนตอนนี้"  "หยุดนะ" "อย่ากังวล" "จะจัดการเอง" ฯลฯ

ภาวะพ่อแม่จะพูดหรือทำในลักษณะของการประเมิน โดยพูดถึง ดี เลว สวยงาม น่าเกลียด ฯลฯ ส่วนที่ใช้ภาษากาย เช่น สั่นหัว กอดอก เป็นต้น

ภาวะพ่อแม่แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พ่อแม่บำรุงรักษา ซึ่งมีพฤติกรรมให้ความเห็นอกเห็นใจลูก ให้ความคุ้มครอง และเอาใจใส่ กับ พ่อแม่ควบคุม ซึ่งมีพฤติกรรมดูแลลูกด้วยการดุ ตักเตือนและลงโทษ ซึ่งพฤติกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ พ่อแม่บางคนก็มุ่งประเภทแรก บางคนก็มุ่งประเภทที่ 2

2.ภาวะผู้ใหญ่ (Adult Ego State)

ภาวะผู้ใหญ่เป็นภาวะที่มองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ใช้ข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ คิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ มีความเยือกเย็น จะแสวงหาคำตอบมากกว่ากล่าวหา

ภาวะผู้ใหญ่เป็นกระบวนการจัดกระทำกับข้อมูล ปฏิบัติหน้าที่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมข้อมูล คาดคะเนความเป็นไปได้ และเสนอข้อมูลอย่างมีตรรกะ มีการประเมินความเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ภาวะผู้ใหญ่ชอบถามคำถามว่า "อะไร" "ทำไม" "เมื่อไร" และ "ที่ไหน" เช่น ถามว่า ในสถานการณ์นี้ เราได้เรียนรู้อะไร

ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ใช่ภาษา ภาวะผู้ใหญ่จะให้ความสนใจอย่างจริงจัง ยืนตัวตรง ประสานสายตา และเข้าใกล้ผู้พูด เพื่อให้เห็นและฟังชัดขึ้น

3. ภาวะเด็ก (Child Ego State)

ภาวะเด็กประกอบด้วยความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมแบบเด็ก เป็นส่วนที่บุคคลเคยเป็นเมื่อตอนเป็นเด็ก ฉะนั้น ความรู้สึกและวิธีประพฤติปฏิบัติจึงเหมือนที่ตอนเป็นเด็ก ซึ่งภาวะเด็กแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เด็กโดยธรรมชาติ ศาสตราจารย์น้อย และเด็กที่ปรับตัวได้

          3.1. เด็กโดยธรรมชาติ (Natural Child State) จะมีพฤติกรรมเป็นไปตามธรรมชาติ  และทำในสิ่งที่ต้องการจะทำ  รักความสนุกสนาน ต้องการสำรวจสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์ใหม่ๆ และชอบใช้คำว่า "ทำไม่ได้" "ไม่ต้องการ" "มาเล่นกันเถอะ" "แม่ไม่รักฉัน" "ทุกคนรักฉันหรือ" "อย่าตีฉัน" ส่วนที่ไม่ใช้ภาษา ภ่าวะเด็กจะร้องไห้ ตะโกน และแสดงออกมาโดยไม่คำนึงว่าสถานการณ์ทางสังคมจะเป็นอย่างไร

          3.2. ศาสตราจาย์น้อย(Little Professor) จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และแสดงความยืดหยุ่น  สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใหญ่ และพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง

          3.3. เด็กที่ปรับตัวได้(Adapted Child Stage) จะเชื่อฟังคำชี้แจงจากพ่อแม่ ปรับพฤติกรรมตามที่พ่อแม่บอก ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ และเป็นอย่างที่พ่อแม่ให้เป็นเมื่อโตขึ้น ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เด็กที่ปรับตัวได้ อาจจะถอยหนี ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์ออกมา

ภาวะทั้ง 3 เปรียบเสมือนเสียงภายใน หากบุคคลลองฟังเสียงภายในตนเอง แล้วจะทราบว่า ตนมีภาวะเป็นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือเด็กในตัวเอง ซึ่งภาวะพ่อแม่ ภาวะผู้ใหญ่ และภาวะเด็ก จะทำงานเป็นหน่วยเดียวกัน เป็นบุคลิกภาพของคนๆหนึ่ง

หากใครคนใดคนหนึ่งต้องการที่จะตรวจสอบภาวะแห่งตน เพื่อดูว่าตนอยู่ในภาวะใด สามารถกระทำได้ดังนี้

          1) สังเกตจากพฤติกรรม คือ ดูจาก กริยาท่าทาง วิธียืน นั่ง เดิน น้ำเสียง ตลอดจนคำที่ใช้

          2) สังเกตจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กล่าวคือ ถ้าภาวะพ่อแม่มีอิทธิพลเหนือภาวะอื่น จะเป็นคนรู้ทุกอย่าง ซึ่งจะทำให้ภาวะเด็กที่มีอยู่ในคนอื่นผิดหวัง แต่ถ้าภาวะเด็กมีอิทธิพลเหนือภาวะอื่น จะรักสนุกและมีความสุข ทำให้ภาวะเด็กที่มีในคนอื่นสนุกด้วยกัน แต่ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมแบบภาวะผู้ใหญ่ จะเป็นโอกาสดีที่คนรอบข้างจะแสดงความเป็นผู้ใหญ่ออกมา  นี่คือการตรวจสอบสภาวะแห่งตนจากปฏิกริยาที่คนอื่นแสดงต่อเรา

          3) ตรวจสอบจากชีวิตในวัยเด็ก ทุกคนคงจำได้ว่าในวัยเด็กได้พูดลักษณะใด พ่อแม่พูดอย่างไร และเมื่อโตขึ้น บางครั้งจะสังเกตเห็นว่า เราพูดเหมือนกับที่เคยพูดเมื่อตอนเป็นเด็ก และบางครั้งเราจะพูดเหมือนกับที่พ่อแม่เคยพูดกับเราทุกประการ นั่นคือ ถ้าพูดเหมือนตอนวัยเด็ก แสดงถึงภาวะเด็ก แต่ถ้าพูดเหมือนที่พ่อแม่เคยพูดกับตนในวัยเด็ก แสดงถึงภาวะพ่อแม่ของคนๆนั้น

         4) ตรวจสอบจากความรู้สึกของตน ว่าเป็นความรู้สึกของพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือเด็ก เป็นการทดสอบที่สำคัญที่สุด เพื่อทราบภาวะแห่งตนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

อย่างก็ตาม จะต้องระลึกไว้เสมอว่า ทั้ง 3 ภาวะ อยู่ในตัวมนุษย์ และมีความสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์ การตรวจสอบภาวะแห่งตน เป็นเพียงการช่วยให้ทราบว่าภาวะใดที่ควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรมของตนอยู่

การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารระหว่างภาวะแห่งตน ในขณะที่ทำการสื่อสาร บุคคลจะใช้ภาวะใดภาวะหนึ่งเพื่อการสื่อสาร จึงกล่าวได้ว่า การสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นการแลกเปลี่ยนภาวะแห่งตนระหว่างบุคคล ซึ่งอาจจะแลกเปลี่ยนด้วยถ้อยคำที่แสดงความเป็นมิตร หรือด้วยความโกรธ เช่น เมื่อบุคคลหนึ่งกล่าวคำว่า"สวัสดี" กับอีกบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้นจะกล่าวคำว่า"สวัสดี"ตอบเป็นการแลกเปลี่ยน หรือ เมื่อบุคคลหนึ่งถามว่า "ไปไหนมา" อาจได้รับคำตอบว่า "ธุระไม่ใช่" ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะแห่งตนของคู่สนทนา

การแลกเปลี่ยนนี้อาจจะแลกเปลี่ยนภาวะเด็กกับภาวะเด็ก ภาวะเด็กกับภาวะผู้ใหญ่ หรือภาวะพ่อแม่กับภาวะเด็ก ก็ได้ คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่าจะมีอิสระในการเลือกใช้ภาวะแห่งตนได้มากกว่า

เมื่อใดก็ตามที่คน 2 คน มีการสื่อสารกัน แต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกใช้ภาวะแห่งตน ว่าจะส่งไปด้วยภาวะใดและตอบสนองด้วยภาวะใด เช่น คนหนึ่งส่งด้วยภาวะเด็ก คู่สนทนาอาจตอบสนองด้วยภาวะเด็กหรือภาวะผู้ใหญ่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรู้และเจตคติของบุคคลทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ในการสื่อสาร บุคคลจะต้องเลือกใช้ภาวะแห่งตนให้สอดคล้องกับบุคคลที่สื่อสารด้วย เช่น ใช้ภาวะผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ด้วยกัน ใช้ภาวะเด็กกับพ่อแม่ หรือใช้ภาวะเด็กกับเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารดำเนินไปได้ด้วยดี มีประโยชน์ และมีความต่อเนื่อง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

          You can change the negative bias in your head, so that you interpret things more positively.

                                                                                     Dr. Jessamy Hibberd and Jo Usma

*********************************************************************************





วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ทักษะระหว่างบุคคลเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสุขและความสมหวังของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะสัมพันธ์กับคนอื่น แต่การจะสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิผล จำเป็นจะต้องมีทักษะระหว่างบุคคล(interpersonal skills)

สำหรับทักษะระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นทักษะที่บุคคลใช้เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นทักษะเบื้องต้นที่บุคคลจะต้องมีเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี ได้แก่

1. ทักษะการรู้จักและการไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ทักษะการรู้จักและการไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตน การรู้จักตน และการยอมรับตน

ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จำเป็นจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะจะต้องมีการเปิดเผยเรื่องและสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งการเปิดเผยนั้น นอกจากจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว ผู้เปิดเผยจำเป็นจะต้องรู้จักตนและยอมรับตนด้วย

เพราะหากไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับตน บุคคลจะพยายามเก็บซ่อนเรื่องหรือสถานการณ์ที่ตนไม่ยอมรับ และการเก็บซ่อนเรื่องหรือสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่มีการเปิดเผยตน ผลสุดท้าย การสื่อสารและความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้ยาก

2. ทักษะการสื่อสารอย่างเหมาะสมไม่คลุมเครือ

ทักษะการสื่อสารอย่างเหมาะสมไม่คลุมเครือ เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความคิดและความรู้สึกอย่างเหมาะสม ไม่คลุมเครือ เป็นการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นและมีความรู้สึกชอบ เพราะในการสื่อสารถ้าบุคคลไม่รู้สึกชอบซื่งกันและกันความสัมพันธ์จะไม่เกิดขึ้น

ปกติความสัมพันธ์จะเริ่มด้วยการส่งสารและรับสาร แล้วจึงจะเกิดความสัมพันธ์ ต่อจากนั้นจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ และมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงในที่สุด

แต่ในการสื่อสาร ถ้าบุคคลมีความรู้สึกไม่ชอบ หรือมีความรู้สึกไม่อบอุ่น การสื่อสารจะไม่เกิดขึ้น และในที่สุดความสัมพันธ์ก็จะไม่เกิด

3. ทักษะการยอมรับและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทักษะการยอมรับและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนามาจากการช่วยเหลือ หรือการเอาใจใส่บุคคลอื่น

การสื่อสารที่เริ่มต้นด้วยการยอมรับและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการเสริมแรง และการเป็นตัวแบบที่ดี จะทำให้บุคคลมีพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญต่อทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

4. ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์  ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนและพัฒนา ตลอดจนมีผลต่อการรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ยั่งยืน

ควาขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าคน 2 คนจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน หรือมีความใกล้ชิดกันเพียงใด ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในระหว่างเพื่อนที่ดีที่สุด

แต่การเกิดความขัดแย้งไม่สำคัญเท่ากับการจัดการกับความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่ได้รับการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ประกันได้เลยว่า ความขัดแย้งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความลึกซึ้งแทนที่จะทำให้เจือจางลง ถ้าบุคคลทั้ง 2 มีทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

นอกจากทักษะที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นที่น่าพอใจ บุคคลจะต้องมีกลุ่มทักษะต่อไปนี้

          1) ทักษะการฟัง เพราะการฟังช่วยให้เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด

          2) ทักษะการยืนกราน การยืนกรานช่วยให้บุคคลสามารถรักษาการยอมรับตนไว้ได้ สามารถสนองความต้องการ และป้องกันสิทธิของตนโดยปราศจากการข่มขู่หรือคุกคามคนอื่น

          3) ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นทักษะที่ช่วยให้บุคคคลสามารถจัดการกับอารมณ์ เพราะปกติอารมณ์จะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ทักษะในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นความสามารถที่ส่งเสริมความสัมพันธ์เมื่อการถกเถียงผ่านไป

          4) ทักษะการร่วมมือแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่ทุกกลุ่มพอใจ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ตลอดไป

          5) ทักษะการเลือก เป็นทักษะที่ช่วยกำหนดแนวทางให้บุคคลสามารถตัดสินใจ ว่าจะใช้ทักษะการสื่อสารชนิดใดในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่

ที่กล่าวมา เป็นทักษะระหว่างบุคคลที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีประสิทธิผล เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งแทนที่จะทำให้เจือจางลง มีความสุขและความสมหวังด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคำ

          Interpersonal skills are the skills used by a person to interact with other properly.

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

คุณลักษณะที่จำเป็นต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิผล

เป้าหมายของการสื่อสาร ก็คือการมีประสิทธิผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งได้แก่ 1) เข้าใจได้ 2) ยอมรับได้ 3) ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการ และ 4) การเข้าใจคนอื่น

แต่การสื่อสารจะมีประสิทธิผลได้นั้น จำเป็นที่บุคคลจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการต่อไปนี้

1. ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้ หมายถึง การเป็นคนซื่อสัตย์ เปิดเผย เกี่ยวกับ ความรู้สึก ความต้องการ และแนวความคิดของตน เป็นไปอย่างไม่เสแสร้ง

คนที่มีความจริงใจ จะเป็นตัวของตัวเอง รู้จักตนเอง และยอมรับตนเอง คนอื่นจึงจะเห็นเขาอย่างที่เขาเป็นอย่างแท้จริง 

ความจริงใจมีความจำเป็นต่อการสร้างความสัมพันธ์ คนที่มีความจริงใจแม้จะรู้ว่าไม่อาจเปิดเผยตนได้เต็มที่ แต่มีความตั้งใจที่จะเปิดเผยกับคนอื่นด้วยความซื่อสัตย์ บุคคลที่มีความจริงใจจึงทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิผล

2. การยอมรับโดยไม่ครอบงำ

การยอมรับโดยไม่ครอบงำ เป็นการยอมรับ การนับถือ และการสนับสนุนบุคคลอื่นโดยไม่ครอบงำ  และอยู่ในแนวทางที่ให้เขาเป็นอิสระ

การยอมรับโดยไม่ครอบงำเป็นคุณลักษณะประการที่ 2 ที่ส่งเสริมการสื่อสารอย่างมีเป้าหมาย  การยอมรับในที่นี้ เป็นการยอมรับตามที่เขาเป็น เป็นการยอมรับที่ต้องอาศัยความอดทน ความยุติธรรม ความสมำเสมอ ความมีเหตุผล และความกรุณา

และการยอมรับจะมีประโยชน์มาก ถ้าเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ ดังต่อไปนี้

          1) ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ

          2) คนบางคนเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าคนอื่นๆ

          3) ระดับการยอมรับในบุคคลหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

          4) เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีการโปรดปรานใครเป็นพิเศษ

          5) แต่ละคนสามารถทำตนให้เป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้นได้

          6) การยอมรับแบบจอมปลอมเป็นอันตรายต่อคนอื่น และเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์

          7) การยอมรับไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่า เห็นด้วย เช่น ยอมรับในความรู้สึกของเขา แต่ไม่  เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่บุคคลนั้นแสดงออกมา เป็นต้น

3. การเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น

การเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น เป็นความสามารถที่จะเห็น ได้ยิน และเข้าใจคนอื่น จากมุมมองของบุคคลนั้น เป็นความสามารถที่พอๆกับที่เข้าใจตนเอง

การความเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น เป็นคุณลักษณะที่สำคัญ ต่อการเสริมสร้างการสื่อสารระหว่างบุคคลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สำหรับบุคคลที่มีความเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่นจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

          1) สามารถรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้เร็วและถูกต้อง

          2) เข้าใจสถานการณ์ทีทำให้ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น

          3) สื่อสารกับบุคคลอื่นโดยวิธีการที่ทำให้คนอื่นยอมรับ และเข้าใจได้

คุณลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ คาร์ล โรเจอร์ส นักจิตวิทยา เห็นว่าเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ซึ่งต่อมามีงานวิจัยมากกว่า100ชิ้น ที่สนับสนุนทัศนะของโรเจอร์สที่กล่าวมานี้

และจากข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า นักจิตบำบัดที่มีคุณลักษณะทั้ง 3 ประการ จะมีความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับคนไข้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังพบว่าครูอาจารย์ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวนี้ ช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์มากกว่าครูที่ขาดคุณลักษณะดังกล่าว

จึงกล่าวได้ว่า บุคคลที่มีทักษะในการสื่อสารแต่ขาดความจริงใจ การยอมรับโดยไม่ครอบงำ และการเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น จะไม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่น่าพอใจ ฉะนั้น ในการสื่อสารหรือการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น บุคคลจะต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มาก ถ้าหากต้องการให้การสื่อสารและความสัมพันธ์มีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                                          อย่าละเลยที่จะแสดงความยินดี แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ
                                                      และแสดงความเสียใจ แก่ผู้ที่ตกอยู่ในห้วงความโศกเศร้า

                                                                                        ประธานาธิบดี จอห์นสัน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สภาพแวดล้อมของการสื่อสาร

การสื่อสารไม่ได้มีแต่องค์ประกอบของการสื่อสารเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสาร แต่ยังมีสภาพแวดล้อมของการสื่อสารรวมอยู่ด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้มีผลกระทบต่อประสิทธิผลของการสื่อสาร มีทั้งทำให้การสื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ หรือทำให้การสื่อสารประสบความล้มเหลวได้

1.วัฒนธรรม

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำรงชีวิตในสังคมหนึ่งๆ เกิดจากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม

 กล่าวคือ นอกจากมนุษย์จะกระทำโดยสัญชาตญาณ เช่น หิว กระหาย แล้ว มนุษย์จะกระทำโดยเหตุผลทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น เพราะวัฒนธรรมจะกำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม

ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ จึงเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม และการสื่อสารก็เป็นพฤติกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรม การสื่อสารใดๆที่ขัดกับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ จะเกิดประสิทธิผลได้ยาก

2. สังคม

สังคม หมายถึง การอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่มีการติดต่อสัมพันธ์และมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

คนในสังคมจะมีบรรทัดฐานและสถานภาพ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม ใครทำผิดไปจากบรรทัดฐานจะเป็นคนเบี่ยงเบน

นอกจากนั้น สถานภาพของบุคคลจะกำหนดบทบาทของบุคคลนั้น เช่น มีสถานภาพเป็นลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ มีสถานภาพเป็นนักศึกษา จะต้องมีบทบาทศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น

ในการสื่อสารก็เช่นเดียวกัน จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสถานภาพและบทบาท เช่น เด็กพุดกับผู้ใหญ่จะต้องใช้ภาษาที่สุภาพ แต่หากผู้ใหญ่พูดกับเด็กจะไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องการใช้ภาษามากนัก

การสื่อสารใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามสถานภาพและบทบาทของแต่ละฝ่าย ย่อมจะเกิดประสิทธิผลได้ยากเช่นเดียวกัน

3. จิตวิทยา

จิตวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ สภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา หมายถึง สภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์ อันได้แก่ สิ่งเร้าต่างๆ ที่มีผลทำให้มนุษย์ตอบสนอง เกิดเป็นพฤติกรรม

ในการสื่อสาร มนุษย์จะติดต่อสื่อสารโดยใช้เหตุและผลทางจิตใจมากกว่าใช้ข้อเท็จจริง เช่น การสื่อสารในขณะที่มีอารมณ์เครียด บุคคลจะรับหรือส่งสารในลักษณะที่แตกต่างไปจากขณะที่มีอารมณ์ปกติ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมทั้ง 3 ประการนี้ ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร การสื่อสารใดๆที่ไม่สอดคล้องกับ สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม สังคม หรือสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา จะเป็นการสื่อสารที่เกิดประสิทธิผลได้ยาก และอาจเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดปัญหาตามภายหลังก็เป็นได้ ฉะนั้นในการสื่อสารแต่ละครั้ง จึงจำเป็นที่บุคคลจะต้องให้ความสำคัญเรื่องสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาให้มาก ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใว้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

บรรทัดฐาน คือ ระเบียบแบบแผนของสังคม ที่คนในสังคมยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ

สถานภาพ  คือ ตำแหน่งหน้าที่ที่บุคคลได้รับจากการเป็นสมาชิกในสังคม แบ่งออกเป็นสถานภาพโดยกำเนิด เช่น พ่อ แม่ ลูก ฯลฯ กับสถานภาพทางสังคมที่ได้มาภายหลัง เช่น เภสัชกร แพทย์ ครู ฯลฯ

บทบาท คือ การปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพที่บุคคลมีอยู่

*********************************************************************************






วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน เนื่องจากในการทำงานแทบจะไม่มีงานไหนในปัจจุบันที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งนี้เพราะการทำงานในปัจจุบันมีลักษณะเน้นคน

ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น กลายเป็นปัจจัย สำคัญสำหรับความสำเร็จในแทบจะทุกตำแหน่ง

ความสัมพันธ์ระหว่า่งบุคคล ยังจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีของบุคคลในหลายๆทาง กล่าวคือ ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาทางด้านความคิดและสังคม ช่วยสร้างเอกลักษณ์ส่วนบุคคลในทางบวก มีความรู้สึกมั่นใจ ตลอดจนช่วยในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลให้ปกติหรือดีขึ้น

ในส่วนของความล้มเหลว พบว่าร้อยละ 80 ของคนที่ล้มเหลวในการทำงาน เกิดจากการไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่ว่าจะทำงานอาชีพ ผู้จัดการ พยาบาล เลขานุการ ช่างไม้ กรรมกร อัยการ แพทย์ เสมียน หรือรัฐมนตรี ล้วนจะต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นทั้งสิ้น

สำหรับความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือมนุษยสัมพันธ์ มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกันไป แต่ ฟิชเชอร์(Fisher) ให้ความหมายว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ก็คือ การสื่อสารระหว่างบุคคล เพราะเขาเห็นว่า "สัมพันธ์"ก็คือ"สื่อสาร"นั่นเอง

สำหรับการสื่อสาร สมิธและเวคเลย์ (Smith and Wakeley) ได้ให้ความหมายว่า การสื่อสาร คือ การให้หรือการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก โดยวิธีการพูด การเขียน หรือการใช้สัญลักษณ์

ถ้าหากจะแบ่งประเภทของการสื่อสาร สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

1. การแบ่งประเภทโดยยึดระเบียบแบบแผน แบ่งได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ

          1.1 การสื่อสารที่เป็นระบบ เป็นการสื่อสารที่มีระเบียบแบบแผนกำหนดไว้ชัดเจน เช่น การติดต่อในระบบราชการ จะต้องทำตามระเบียบแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติทางราชการที่กำหนดไว้

          1.2 การสื่อสารที่ไม่เป็นระบบ เป็นการสื่อสารที่เกิดตากความรู้จักคุ้นเคย มีลักษณะเป็นส่วนตัว

2. การแบ่งประเภทโดยยึดการสื่อสารในองค์การ ซึ่งการสื่อสารในองค์การสามารถแบ่งการสื่อสารออกได้ 3 ประเภท คือ

          2.1 การสื่อสารจากบนลงมาล่าง เป็นการสื่อสารที่เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา โดยมากเป็นเรื่องของการสั่งการให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

          2.2 การสื่อสารจากล่างขึ้นบน กับการสื่อสารจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงผู้บังคับบัญชา เป็นส่งข้อมูลข่าวสารป้อนกลับ เป็นการายงาน ให้ความเห็น ตลอดจนรายงานปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

          2.3 การสื่อสารตามแนวนอน เป็นการสื่อสารของบุคคลในระดับเดียวกัน เพื่อการปรึกษาหารือ ประสานงาน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

3. การแบ่งประเภทโดยยึดพฤติกรรมการสื่อสารของบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

          3.1 การสื่อสารเชิงวัจนะ เป็นพฤติกรรมการสื่อสารที่ใช้ถ้อยคำ อาจเป็นคำพูดหรือข้อเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

          3.2 การสื่อสารเชิงอวัจนะ เป็นพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ใช้ถ้อยคำ เช่น ใช้กิริยาท่าทาง สายตา ตลอดจนการแสดงออกทางสีหน้า

4.การแบ่งประเภทโดยยึดการมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างที่มีการสื่อสาร แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

          4.1 การสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งข่าวสารไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้แสดงปฏิกิริยาโต้กลับ

          4.2 การสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารเปิดโอกาสให้ผู้รับสารมีโอกาสแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ

ในการสื่อสารจะใช้การสื่อสารประเภทใดจึงจะมีประสิทธิผลนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้องการความรวดเร็ว ก็อาจใช้การสื่อสารจากบนลงล่างหรือการสื่อสารทางเดียว แต่หากต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน อาจใช้การสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้มีการซักถาม เป็นต้น

อนึ่ง จะต้องตระหนักเสมอว่าในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการสื่อสาร ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าการสื่อสารขาดประสิทธิผล จะทำให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ยากเช่นเดียวกัน หรืออาจเกิดความสัมพันธ์ในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนาก็เป็นได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคำ

ประสิทธิผล (effectiveness) หมายถึง ได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นการพิจารณาจากการนำผลของงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่ได้ไปเปรียบเทียบ กับวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย ถ้าได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ถือว่ามีประสิทธิผล
*********************************************************************************